อุตสาหกรรมบริการในปัจจุบัน

อุตสาหกรรมที่จะมีความสำคัญในอนาคต เช่น การแพทย์ การท่องเที่ยวเชิงส่งเสริมสุขภาพ รวมถึงโลจิสติกส์ และการบินต่างก็อยู่ในภาคบริการ ในขณะที่อุตสาหกรรมอื่นๆ อาทิ หุ่นยนต์ อาหารสำหรับอนาคต และ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะก็ล้วนแต่ต้องพึ่งพางานจากภาคบริการ การบริการการศึกษาก็ให้บริการการฝึกอบรมและทักษะที่จำเป็นสำหรับเศรษฐกิจสมัยใหม่และนวัตกรรม

ทำไมภาคบริการจึงมีความสำคัญกับเศรษฐกิจไทย? ภาคบริการมีพลวัตและการเติบโตซึ่งสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยได้  ประเทศที่พัฒนาแล้ว อาทิ สหรัฐอเมริกา และประเทศในทวีปยุโรปต่างขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยภาคบริการซึ่งมีมูลค่าถึงร้อยละ 70-80 ของจีดีพี  มูลค่าสินค้าจากภาคการผลิตส่วนใหญ่ก็มาจากภาคบริการไม่ใช่จากการผลิต  ตัวอย่างเช่น สองในสามของมูลค่าสมาร์ทโฟน อาทิ แอปเปิ้ลไอโฟน หรือ โนเกีย N95 ล้วนเกิดจากการสนับสนุนจากภาคบริการ อันได้แก่ ลิขสิทธิ์ การค้าปลีก การกระจายสินค้า และกำไรจากการปฏิบัติการ ส่วนการประกอบมีมูลค่าน้อยกว่าร้อยละ 10 ของมูลค่าสินค้าทั้งหมด นอกจากนี้ ภาคบริการยังเพิ่มมูลค่าสินทรัพย์ไม่มีตัวตนสุทธิให้กับแจ๊กเกตที่ผลิตในประเทศจีนและนำไปขายที่สหรัฐอเมริกาในรูปของลิขสิทธิ์ทรัพย์สินทางปัญญา และผลกำไร  ในขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชียเป็นผู้ผลิตและผู้ประกอบชิ้นส่วนรายใหญ่ของโลกนั้น หากแต่ผลกำไรส่วนใหญ่กลับไปตกอยู่ในมือของภาคบริการในประเทศที่พัฒนาแล้ว

ภาคบริการของไทยเป็นอย่างไร? ภาคบริการของไทยมีสัดส่วนคงที่ประมาณร้อยละ 50 ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมที่มีผลิตภาพต่ำซึ่งจ้างงานแรงงานทักษะต่ำ และมีสัดส่วนในภาคการส่งออกต่ำโดยส่วนใหญ่เป็นภาคบริการแบบพื้นฐานทั่วๆ ไป  ภาคบริการในประเทศไทยยังไม่ได้เพิ่มสัดส่วนมากขึ้นอย่างยั่งยืนเหมือนในประเทศที่มีลักษณะคล้ายกันอื่นๆ ในกลุ่มอาเซียนหรือนอกกลุ่มอาเซียน รวมถึงประเทศที่พัฒนาแล้ว ตัวอย่างเช่น ภาคบริการของจีนกำลังเพิ่มสัดส่วนในจีดีพีอย่างรวดเร็ว และกำลังจะไล่ตามประเทศไทยทัน

ทำอย่างไรประเทศไทยจะใช้ศักยภาพของภาคบริการได้เต็มที่? หากดูจากตัวอย่างประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซียนพบว่าการผสานความริเริ่มจากภาคเอกชนและการสนับสนุนจากภาครัฐจะช่วยให้เกิดธุรกิจ และการติดตามมาตรฐานคุณภาพจะช่วยเพิ่มผลผลิตและการส่งออกของภาคบริการ ตัวอย่างเช่น ภาคบริการการเงินในสิงคโปร์ การอุดมศึกษาในมาเลเซีย การบริการสุขภาพในไทย และการให้บริการเกี่ยวกับด้านโทรคมนาคมในฟิลิปปินส์

สำหรับประเทศไทย การสนับสนุนด้านกฏระเบียบแวดล้อมเพื่อความสะดวกในการประกอบธุรกิจ การลดข้อจำกัดทางนโยบายทั้งในและระหว่างประเทศ การเปิดแข่งขัน และการรวมตัวทางการค้า อาทิ การดำเนินการตามข้อตกลงประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะผลักดันให้ผลิตภาพเติบโตขึ้น รวมถึงนวัตกรรมใหม่ๆ ในภาคบริการ นอกจากนี้ การให้ความสำคัญในเรื่องทักษะที่ยังขาดแคลน และทำให้การศึกษามีคุณภาพสำหรับประชาชนทุกคนต่างก็เป็นประเด็นสำคัญที่จะช่วยสร้างความพร้อมให้แรงงานไทย

รายงานของธนาคารโลกพบว่าประเทศไทยมีกฏระเบียบในภาคบริการมากกว่าค่าเฉลี่ยเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในกลุ่มอาเซียน หรือในภูมิภาคอื่นๆ ของโลก โดยเฉพาะในภาคบริการวิชาชีพ อาทิ การบัญชี กฎหมาย สถาปัตยกรรม วิศวกรรม และการให้คำปรึกษาด้านการบริหาร ตัวอย่างเช่น ทันตแพทย์จากฟิลิปปินส์จะต้องสอบผ่านข้อสอบที่เป็นภาษาไทยจึงจะสามารถทำงานที่ไทยได้

ในขณะที่ประเทศไทยได้เก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากการเปิดเสรีทางการค้าในอดีตทั้งจากภาคการผลิต การค้าขายสินค้า และการนำเข้าสินค้าทุนที่ต้องเสียภาษีศุลกากรซึ่งอัตราลดลงจากร้อยละ 40 ในช่วงปีพ.ศ. 2523-2532 (ยุค ค.ศ. 1980s) เหลือร้อยละ 9 ในปีพ.ศ. 2549 แต่การเปิดการค้าเสรีไม่ได้คลอบคลุมไปถึงภาคบริการ  นอกจากนี้ หน่วยงานที่ให้บริการ รัฐวิสาหกิจ และอุตสาหกรรมที่ให้บริการในประเทศหลายหน่วยงานต่างก็ได้รับการคุ้มครองจากการเปิดแข่งขัน อาทิ การมีข้อจำกัดที่เข้มงวดต่อการเข้ามาลงทุนและการให้บริการจากบริษัทต่างชาติ การให้บริการด้านการศึกษาและสุขภาพนั้นต้องเป็นบริษัทที่คนไทยถือหุ้นส่วนใหญ่  ในภาคการให้บริการทางการเงินนั้นมีความก้าวหน้าในการเปิดให้บริการทางการเงินแต่ยังมีข้อจำกัดด้านกฎหมาย

เศรษฐกิจของประเทศไทยคาดว่าจะเติบโตได้ถึงร้อยละ 3.1 ในปีพ.ศ. 2559 และเติบโตร้อยละ 3.2 ในปีพ.ศ. 2560 ซึ่งเติบโตกว่าร้อยละ 2.8 เมื่อปีที่ผ่านมา  แม้ว่าจะมีความท้าทายจากปัจจัยภายนอกอันเนื่องมาจากแนวโน้มความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ดี ประเทศไทยยังมุ่งมั่นที่จะปฏิรูปโครงสร้างอย่างต่อเนื่องซึ่งจะเปิดโอกาสให้ภาคบริการได้แสดงศักยภาพอย่างเต็มที่อันจะช่วยให้เศรษฐกิจไทยเดินสู่เส้นทางการเติบโตมากกว่าร้อยละ 4 ต่อปีในระยะยาว ปัจจัยเหล่านี้จะส่งผลให้ประเทศไทยก้าวจากประเทศที่มีรายได้ปานกลางไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูงในที่สุดเศรษฐกิจของไทยกำลังก้าวอยู่บนเส้นทางการฟื้นฟูและการสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคบริการอันจะช่วยให้เกิดงานที่ดีใหม่ๆ มีรายได้สูงขึ้น และสร้างโอกาสให้กับคนไทยทุกคน ใครจะรู้ว่า บางทีคุณก็อาจจะมีโอกาสเป็น แจ๊ค มา หรือ โทนี เฟอร์นานเดส ของไทยได้เช่นกัน

บล็อกนี้เขียนขึ้นจากข้อมูลที่ได้จาก รายงานตามติดเศรษฐกิจไทย ฉบับเดือน ธันวาคม 2559 โดยธนาคารโลก และได้ตีพิมพ์เป็นบทความลงหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์

ภาคบริการไทยเป็นภาคเศรษฐกิจที่ใหญ่และมีความสำคัญที่สุดต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยมาโดยตลอด มูลค่าผลผลิตภาคบริการมีขนาดใหญ่เป็นสองเท่าของภาคอุตสาหกรรม สัดส่วนภาคบริการใน GDP มีมูลค่าสูงสุดและมีแนวโน้มขยายตัวดีอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมและภาคการเกษตรกลับมีแนวโน้มลดลง รวมถึงการส่งออกบริการที่ขยายตัวอยู่ในระดับดี เช่น บริการส่วนของธุรกิจท่องเที่ยว บริการด้านวิชาชีพ และบริการธุรกิจขนส่ง ซึ่งสอดคล้องกับโครงสร้างการส่งออกบริการของโลกและอาเซียน

อุตสาหกรรมบริการในปัจจุบัน

 

เมื่อพิจารณามูลค่าส่งออกในรูปแบบมูลค่าเพิ่ม (Value-Added) จะพบว่าภาคบริการเป็นภาคเศรษฐกิจที่มีบทบาทสำคัญที่สุด โดยสัดส่วนในมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 27.3 เป็นร้อยละ 42.3 เนื่องจากภาคบริการมีค่าความเชื่อมโยงไปข้างหน้า (forward linkage) สูง จึงเป็นปัจจัยการผลิตต้นน้ำให้กับภาคอุตสาหกรรมการผลิตซึ่งมีสัดส่วนในการส่งออกรวมสูง ดังนั้น ภาคบริการจึงมีมูลค่าการส่งออกทางอ้อมสูง และทำให้มีสัดส่วนในมูลค่าการส่งออกแบบมูลค่าเพิ่มรวมสูงไปด้วย สาขาที่มีความเชื่อมโยงไปข้างหน้าสูง ได้แก่ บริการทางการเงิน บริการสาธารณูปโภค การกระจายสินค้า และการสื่อสาร

โครงการ “การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการค้า และบทบาทของภาคบริการ” จึงเกิดขึ้นเพื่อศึกษาการส่งออกบริการที่คำนึงถึงความเชื่อมโยงไปข้างหน้าและความเชื่อมโยงไปข้างหลังด้วยฐานข้อมูลของ OECD และ World Bank รวมทั้งวิเคราะห์ศักยภาพของธุรกิจเกี่ยวกับภาคบริการไทยและผลกระทบต่อเนื่องไปยังผู้ประกอบการอุตสาหกรรมที่มีการใช้กิจกรรมบริการในฐานะปัจจัยการผลิตและปัจจัย

อุตสาหกรรมบริการในปัจจุบัน

ความสำคัญของภาคบริการกับอุตสาหกรรมการผลิตอื่น

วิวัฒนาการทางเทคโนโลยีสารสนเทศและข้อมูลข่าวสารในยุคแห่งเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) ทำให้ทุกกิจกรรมในภาคเศรษฐกิจมีความเชื่อมโยงกันอย่างใกล้ชิด เช่นเดียวกับภาคบริการและภาคอุตสาหกรรมที่มีความเกี่ยวโยงกันมากขึ้น ทั้งนี้ ภาคบริการส่วนหนึ่งถูกใช้เป็นปัจจัยการผลิตขั้นกลาง (Intermediate input) ให้แก่ภาคการผลิต อาทิ บริการขนส่ง บริการก่อสร้าง บริการทางการเงิน เป็นต้น ขณะเดียวกัน แรงงานในภาคอุตสาหกรรมก็มีความเกี่ยวข้องกับด้านบริการมากขึ้น โดยเฉพาะแรงงานที่มีทักษะสูงที่ใช้ความรู้เฉพาะหรือเป็นแรงงานวิชาชีพ อาทิ นักกฎหมาย นักบัญชี นักคอมพิวเตอร์ วิศวกร และแพทย์ เป็นต้น ซึ่งร่วมอยู่ในกระบวนการผลิตในภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่นเดียวกัน

ภาคบริการจึงกลายเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับภาคอุตสาหกรรมการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำ เช่น การวิจัยและพัฒนา การออกแบบ การจัดหาวัตถุดิบ จนถึงปลายน้ำตลอดห่วงโซ่คุณค่า ได้แก่ การขนส่งและการกระจายสินค้า การสร้างแบรนด์ให้แก่สินค้า การบริการหลังการขาย ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมนอกจากจะผลิตและซื้อบริการแล้ว ยังขายและส่งออกบริการเพิ่มมากขึ้น กระบวนการเพิ่มบทบาทของภาคบริการในภาคอุตสาหกรรมการผลิตนี้ถูกนิยามว่า “Servicificaiton” หรือ “Servicify” โดยภาคบริการถูกใช้ในการผลิตสินค้าอุตสาหกรรม (services embodied in goods) และในฐานะกิจกรรมต่อเนื่องหลังการผลิต (embedded services) ทั้งนี้มูลค่าส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นกว่าหนึ่งในสามมาจากมูลค่าเพิ่มของภาคบริการ

อุตสาหกรรมบริการในปัจจุบัน

ความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยการผลิตที่เกี่ยวข้องด้านบริการกับการประกอบการอุตสาหกรรม

ผู้ประกอบการที่มีค่าใช้จ่ายด้านบริการที่เพิ่มขึ้นจะมีส่วนช่วยเพิ่มยอดขายและการส่งออกให้เพิ่มมากขึ้น สอดคล้องกับงานวิจัยในประเทศที่พัฒนาแล้วที่พบว่า ปัจจัยด้านบริการที่รวมถึงเทคนิคการจัดการเชิงวิศวกรรมมีส่วนช่วยประหยัดเวลาในขั้นตอนการผลิตและช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต รวมทั้งช่วยให้ผู้ประกอบการในภาคผลิตมองเห็นช่องทางการขนส่งสินค้าไปยังตลาดต่างประเทศ โดยค่าใช้จ่ายด้านบริการส่งผลกระทบต่อผู้ส่งออกมากกว่าผู้ประกอบการที่ผลิตเพื่อขายเฉพาะในประเทศอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากค่าใช้จ่ายด้านบริการที่เพิ่มสูงขึ้นกลายเป็นต้นทุนที่ผู้ส่งออกต้องแบกรับทั้งในรูปแบบของต้นทุนคงที่ (fixed) เช่น การทำบัญชี กฎหมาย ล่ามแปลภาษา และต้นทุน แปรผัน (variable cost) อาทิ ค่าขนส่งสินค้า เป็นต้น

นอกจากนี้ ข้อมูลสำมะโนอุตสาหกรรมของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พ.ศ. 2555[1] พบว่าผู้ประกอบการที่มีขนาดใหญ่ผู้ประกอบการที่มีสัดส่วนแรงงานฝีมือเข้มข้น (skilled-intensive firm) และผู้ประกอบการที่มีระยะเวลาในการดำเนินกิจการมายาวนาน มักเป็นผู้ประกอบการที่มีค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมบริการสูง และผู้ประกอบการที่เป็นผู้ส่งออกมีค่าใช้จ่ายด้านบริการที่สูงกว่าผู้ประกอบการที่ผลิตเพื่อขายในประเทศอย่างมีนัยสำคัญ  โดยผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมการผลิตมีค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาโดยเฉลี่ยสูงที่สุด รองลงมาคือค่าใช้จ่ายด้านบริการขนส่ง ค่าซ่อมแซมบำรุงเครื่องจักร และค่าบริการโฆษณา

[1] เป็นรายงานสถานประกอบการ (firm-level) ในภาคอุตสาหกรรมการผลิต คลอบคลุม 23 สาขาอุตสาหกรรมตามการจัดประเภท มาตรฐานอุตสาหกรรมสากล (ISIC Revision 3) เพื่อวิเคราะห์หาความเชื่อมโยงระหว่างปัจจัยด้านบริการ และผลการดำเนินงานของสถานประกอบการในมิติต่างๆ

อุตสาหกรรมบริการในปัจจุบัน

บทบาทของภาคบริการในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในภาคอุตสาหกรรม

ระดับการแข่งขันในภาคบริการมีความสัมพันธ์เชิงบวกกับผลิตภาพการผลิตของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไทย หากตลาดบริการมีระดับการแข่งขันที่เพิ่มสูงขึ้น จะช่วยเพิ่มจำนวนผู้ให้บริการและยกระดับคุณภาพของการให้บริการ ส่งผลให้ผู้ซื้อบริการได้รับประโยชน์จากบริการที่หลากหลาย มีคุณภาพ และมีต้นทุนที่ถูกส่งผลเชิงบวกต่อผลิตภาพการผลิต โดยเฉลี่ยของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมปลายน้ำที่ต้องใช้กิจกรรมบริการเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการผลิต นอกจากนี้ ตลาดบริการที่มีการแข่งขันสูงจะช่วยลดอุปสรรคในการเข้าถึงตลาดต่างประเทศและเพิ่มโอกาสในการส่งออกของผู้ประกอบการไทย ซึ่งภาคบริการมีส่วนสำคัญในการสร้างให้เกิดความแตกต่างในตลาดโลกที่มีการแข่งขันสูง เพราะเพียงแค่การแข่งขันด้านราคาและคุณภาพในตลาดโลกไม่เพียงพออีกต่อไป

การยกระดับผลิตภาพการผลิตในภาคอุตสาหกรรมไทย ซึ่งเป็นภาคที่ผลิตสินค้าส่งออกเกือบร้อยละ 80 ของมูลค่าส่งออกทั้งหมด และเป็นกลจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ภาครัฐต้องพัฒนาประสิทธิภาพของสาขาบริการต้นน้ำ ส่งเสริมให้มีการเปิดเสรีภาคบริการ และสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการแข่งขันที่จะช่วยสร้างความเข้มแข็งไม่เฉพาะกับภาคบริการแต่รวมถึงภาคเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มการขยายตัวที่ชะลอตัวลง

ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่เหมาะสมต่อการปฏิรูปสาขาบริการ

ข้อมูลงบการเงิน จากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เกี่ยวกับโครงสร้างธุรกิจบริการสนับสนุนของไทย พบว่าบุคคลในสาขาบริการสนับสนุนทางธุรกิจเกือบทั้งหมดเป็นวิสาหกิจขนาดเล็ก ธุรกิจบริการสนับสนุนบางสาขา อาทิ บริการทางสถาปัตยกรรมและวิศวกรรม การทดสอบและวิเคราะห์ทางเทคนิค บริการทางการวิจัยและพัฒนาเชิงวิทยาศาสตร์ยังมีมูลค่าและจำนวนนิติบุคคลน้อย และมีผลประกอบการที่ไม่ดีนัก การส่งเสริมพัฒนาความสามารถในการแข่งขันธุรกิจประเภทนี้จึงจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนอย่างครบวงจรและต่อเนื่องจากภาครัฐ

นอกจากนี้ ภาคบริการต้นน้ำที่สำคัญยังมีการกระจุกตัวของรายได้ค่อนข้างสูง เช่น กิจกรรมวิชาชีพวิทยาศาสตร์และกิจกรรมทางวิชาการ ข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร การขนส่ง และสถานที่เก็บสินค้า และเมื่อพิจารณาในรายละกิจกรรมวิชาชีพวิทยาศาสตร์และกิจกรรมทางวิชาการ  พบว่ากิจกรรมทางบัญชีเป็นกิจกรรมที่มีการกระจุกของรายได้สูงมาก เทียบได้กับการผูกขาดโดยสมบูรณ์ ดังนั้นสาขาบริการเหล่านี้จึงควรได้รับการปฏิรูปให้มีการแข่งขันที่สูงขึ้น โดยเฉพาะการปฏิรูปกฎหมายการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 ที่ยังคงมีข้อจำกัดอยู่หลายประการ