กระบวนการบริหารการศึกษายุคใหม่

โลกวันนี้ก้าวไปข้างหน้าอย่างไร้ขีดจำกัดในเกือบทุกมิติ จากการปรับสร้างพื้นฐานความคิดยุคใหม่ ความก้าวหน้าใหม่ การสร้างการงานใหม่ คุณภาพชีวิตยุคใหม่ ฯลฯ ซึ่งความเปลี่ยนแปลงนี้สะท้อนว่า ระบบการศึกษาจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนอย่าง ‘ถอนรากถอนโคน’ เพราะการเรียนการสอนแบบเก่าๆ ไม่อาจสร้างความงอกเงยก้าวหน้าได้ต่อไป มันเพียงดำรงอยู่ในฐานะของความสูญเปล่า – ความล้มเหลว ซ้ำเติมความป่วยไข้ให้สังคมซ้ำแล้วซ้ำเล่ากับความล้าหลัง – ลวงโลก – ลวงตัวเองยิ่ง!

โลกของการศึกษาไทยปรับตัวไม่ทัน เพราะไม่เข้าใจ – ไม่เห็นความเปลี่ยนแปลง!ส่งผลให้การศึกษาไทยเน่านิ่งอยู่กับที่ในความล้มเหลว – สูญเปล่าในโลกแบบเดิมๆ

เราจึงต้องเผชิญกับสภาพบัณฑิตตกงานสั่งสมไว้เกือบ 5 แสนคน! และกว่าครึ่งที่ต้องทำงานไม่ตรงกับสาขาที่เรียน รวมทั้งผู้สำเร็จการศึกษาที่ทำงานตรงสาขา แต่ได้ค่าแรงต่ำ – ขาดความก้าวหน้าจริงจัง! ขณะที่สถาบันการศึกษามีแนวโน้มจะปิดตัวเอง – ไม่ก็ผลิตคนออกสู่สังคมที่ขาดคุณภาพ เหตุจากการปรับตัวไม่ทันโลก!

กระบวนการบริหารการศึกษายุคใหม่

ภาพรวมนี้จำเป็นยิ่งที่การศึกษาจะต้องปรับจาก “ระบบการจัดการศึกษาแบบอุปสงค์” สู่ “อุปทาน” (จาก Supply สู่ Demand) นี่คือหลักสำคัญที่จะเชื่อมการศึกษากลับสู่โลกที่เป็นจริงได้!

การสร้างการศึกษาแบบอุปสงค์หรือ “การศึกษาที่ตอบโจทย์ความต้องการ” ต้องปรับสร้างความคิดพื้นฐานและกระบวนการใหม่หลายประการ เริ่มที่วิธีคิดมุมมองการศึกษาใหม่ ที่ต้องตระหนักถึงความสูญเปล่าที่เกิดขึ้น ต้องเปลี่ยนวิธีคิดเป็น “การศึกษาที่มุ่งสร้างประโยชน์และความก้าวหน้าใหม่” ขจัดการตกงานสู่การมีงานทำ เปลี่ยนมุมมองจากการทำมาหากินกับการศึกษา – วุฒิทางการศึกษา สู่การสร้างทุนมนุษย์ศตวรรษที่ 21 ที่สอดคล้องกับความก้าวหน้าของวันนี้สู่อนาคต ไม่ใช่ทุนมนุษย์ยุคที่ครูบาอาจารย์เติบโตมา!

นี่คือพื้นฐานวิธีคิดที่จำเป็นต่อการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น!

กระบวนการจัดการศึกษาด้วยวิธีคิดใหม่นั้น “สถาบันการศึกษา” ต้องหยุดความเข้าใจผิดที่ว่า ตัวเองเป็นศูนย์กลางของความรู้ – ความเก่ง – ความชำนาญทั้งหลาย ต้องเปิดตัวไปร่วมมือกับผู้ประกอบการทั้งภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม และกลุ่มนวัตกรรมทางความคิดที่ก้าวหน้าสร้างสรรค์ เพื่อออกจากการเรียน – การสอนที่เคยชินอยู่แต่ในห้องเรียน สู่ประสบการณ์จริงผ่านช่องทางความร่วมมือในทุกมิติ เพื่อทั้งสถาบันและผู้เรียนจะได้มีประสบการณ์จริงที่สัมผัสได้ กับความก้าวหน้า – การทำงาน – ความล้มเหลว – ความสำเร็จจริง ซึ่งเชื่อมโยงจากวิชาการและประสบการณ์ที่ร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมหรือผู้ประกอบการ

กระบวนการบริหารการศึกษายุคใหม่

โลกวันนี้ ผู้เรียนต้องการ โค้ช – ผู้ชี้แนะ มากกว่า ครู เพราะมีแหล่งวิทยาการด้านเทคโนโลยีที่ผู้คนเข้าถึงได้หลากหลาย – เปิดกว้าง – ไร้พรมแดน – ไร้กาลเวลา การชี้แนะ – ร่วมคิด – ร่วมทำ เป็นการสร้างการเรียน – การสอน – การเรียนรู้ ที่ช่วยพัฒนาความคิด – ความเข้าใจ จากฐานประสบการณ์ที่เป็นจริง ไม่เป็นผู้ผูกขาดชี้นำแบบเดิมๆ อีกต่อไป!

ที่ผ่านมา เรามีนักวิชาการที่ก้าวหน้า – มีงานวิจัยบนกระดาษมากมาย มีตำแหน่งทางวิชาการชั้นสูงมาก แต่กลับไม่สามารถสร้างความก้าวหน้าให้ประเทศ – ไม่สามารถเชื่อมความคิดจากวิชาการสู่ภาคปฏิบัติได้ ทั้งยังไม่ช่วยสร้างกล้ามเนื้อทางความคิด นวัตกรรมการผลิตสินค้า บริการ และภาคเศรษฐกิจขึ้นจริงได้! เมื่อความสูญเปล่านี้ผนวกเข้ากับความล้าหลัง – คร่ำครึของระบบการศึกษา – การเรียนการสอน จึงทำให้ความสูญเปล่า – ล้มเหลวพอกพูนขึ้นมหาศาล ไม่สามารถนำพาประเทศสู่ความเปลี่ยนแปลงให้เท่าทันโลก! จึงต้องเร่งปรับตัวและความคิดให้พ้นจากกระบวนระบบคิดเดิมๆ สู่ความเท่าทันที่สอดคล้องกับโลกยุคใหม่

กรณีการปรับตัวในด้านการศึกษามีอย่างน้อย 3 เรื่องที่สำคัญ ซึ่งนอกจากการปรับวิธีคิดพื้นฐานแล้ว สถาบันการศึกษาต้องจัดสร้างการศึกษายุคใหม่ กล่าวคือ

1) ต้องปรับระบบการเรียนการสอนรายวิชาที่รกรุงรังไม่สอดรับความเปลี่ยนแปลง ไปสู่การสร้างหลักสูตรแบบโมดูล (Module)

แต่ละโมดูลจะสร้างความรู้ – ความคิด – ประสบการณ์เพื่อพัฒนาทักษะในแต่ละขั้นตอน จากโมดูลที่ 1 จนไปถึงสุดท้าย เด็กที่สำเร็จการศึกษาจะมีประสบการณ์ – ตัวชี้วัดที่บ่งบอกพัฒนาการของทักษะ ความรู้ ความก้าวหน้า ที่แต่ละคนได้รับอย่างชัดเจน ซึ่งนั่นคือความสำเร็จในการพัฒนาทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ที่สอดคล้องกับโลกของความเป็นจริงตามประสบการณ์ที่เด็กได้รับ

กระบวนการบริหารการศึกษายุคใหม่

2) ต้องปรับเปลี่ยนข้อกำหนดเรื่องระยะเวลา – ชั้นปี – ช่วงเวลาของการจบการศึกษา สู่การบริหารจัดการแบบสะสมเครดิต (Credit Bank)

เพื่อให้เกิดการเรียนการสอนอย่างต่อเนื่องและสอดรับการดำเนินชีวิตในโลกยุคใหม่ที่สัมพันธ์กับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การบริหารจัดการแบบสะสมเครดิตแบงก์จึงเป็นแนวที่เหมาะสม เนื่องจากสามารถลดต้นทุนของผู้เรียน – เพิ่มการเข้าถึง – และเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต จะช่วยสร้างความคิด – ประสบการณ์ – การรู้จักตัวเอง – และจัดปรับตัวเองในกระบวนการเรียนการสอน ที่มีการจัดการแบบสะสมหน่วยกิต – เลือกเวลาจบได้ตามความเหมาะสมของตัวบุคคล และสามารถเชื่อมโยงความต้องการความรู้จากกลุ่มวิชาต่างๆ – คณะต่างๆ ในมหาวิทยาลัยหรือระหว่างมหาวิทยาลัยได้ (กรณีนี้การจัดแบ่งคณะ (faculty) อาจต้องทบทวนจัดปรับให้สอดคล้องกับความเป็นจริงใหม่ ที่มุ่งพิจารณาถึงวิทยาการ – ประสบการณ์ – นวัตกรรม – ความคิด – ความรู้แบบผสมผสาน มากกว่าการคิดแบบแยกแยะส่วนอย่างที่ผ่านมา ซึ่งต้องปรับแก้ให้เกิดความยืดหยุ่น – เชื่อมโยง – ปรับตัว – เพิ่มพูนทักษะความรู้อย่างต่อเนื่องใหม่) 

3) มหาวิทยาลัยต้องเชื่อมประสานกัน – ระหว่างกัน และกับทุกระดับ ตั้งแต่ระดับพื้นฐานถึงอาชีวะและมหาวิทยาลัย และต้องเชื่อมโยงกับผู้ประกอบการในสังคมอย่างเข้มข้น

การเชื่อมประสานส่วนต่างๆ เข้าด้วยกันก็เพื่อสร้างความก้าวหน้าให้กับการศึกษาและการพัฒนาในเชิงนวัตกรรม – เทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง ทั้งหมดนี้จะเป็น การศึกษายุคใหม่ในสถาบันการศึกษาที่จะหยุดความสูญเปล่า สร้างการปรับตัวให้ทันความเปลี่ยนแปลงในโลกยุคใหม่ ซึ่งจะก่อเกิดผลลัพธ์ที่ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ – ได้ความพึงพอใจ – ได้ความก้าวหน้าร่วมกัน

นี่คือกระบวนระบบก้าวแรกของความคิดและการบริหารจัดการที่จะนำพาสถาบันการศึกษา – ผู้เรียน – ผู้สอน – ผู้เกี่ยวข้องทั้งมวล พ้นจากหายนะของการศึกษาที่กัดกร่อนสังคมมานับศตวรรษ!