เพราะ เหตุ ใด ประเทศไทย จึงมีผู้นับถือศาสนา ต่างๆ มากมาย

บทสรุปผู้บริหาร

รัฐธรรมนูญห้ามเลือกปฏิบัติด้วยเหตุจากความเชื่อทางศาสนาและคุ้มครองเสรีภาพในการนับถือศาสนา กฎหมายให้การรับรองกลุ่มศาสนาทั้งหมด 5 กลุ่มอย่างเป็นทางการ ได้แก่ กลุ่มพุทธ กลุ่มมุสลิม กลุ่มพราหมณ์-ฮินดู กลุ่มซิกข์ และกลุ่มคริสต์ กระทรวงยุติธรรมอนุญาตให้นำหลักชะรีอะฮ์มาใช้เป็นกระบวนการตามกฎหมายแบบพิเศษ แม้ว่าจะไม่ได้บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่ง และใช้บังคับกับชาวมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายครอบครัว ซึ่งรวมถึงมรดก ในเดือนกันยายน ศาลอาญากรุงเทพพิพากษาว่า ชาวมุสลิม 9 คนจากจังหวัดชายแดนภาคใต้มีความผิด หลังรับสารภาพว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับแผนการวางระเบิดในกรุงเทพมหานครเมื่อ พ.ศ. 2559 ตามข้อมูลจากทางการ อย่างไรก็ตาม จำเลยต่างรายงานว่าถูกทรมานในเรือนจำก่อนให้การรับสารภาพ แต่ศาลตัดสินว่าคำกล่าวอ้างนั้นไม่มีมูล รัฐบาลกล่าวว่าได้ขยายปฏิบัติการเข้าตรวจค้นผู้อพยพให้กว้างขึ้น ส่งผลให้เจ้าหน้าที่จับกุมและกักตัวผู้ต้องสงสัยว่าเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายหลายร้อยคน รวมไปถึงชนกลุ่มน้อยทางศาสนาซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบางจำนวนหนึ่ง บางคนในจำนวนนี้ได้ยื่นขอหรือกำลังยื่นขอสถานะผู้แสวงหาที่พักพิงหรือผู้ลี้ภัยกับสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) รัฐบาลชี้แจงว่า การจับกุมเหล่านี้ไม่ได้เป็นผลจากการนับถือศาสนาใดและผู้ที่ถูกจับกุมมาจากหลากหลายกลุ่มศาสนา องค์การนอกภาครัฐรายงานว่า ผู้ถูกกักตัวประกอบไปด้วยชาวคริสต์และชาวมุสลิมอัมมาดียะห์จากปากีสถาน ซึ่งลี้ภัยด้วยเหตุทางศาสนา และชาวคริสต์กลุ่มมงตาญาร์ 181 คนจากเวียดนามที่องค์การนอกภาครัฐระบุว่ามีสถานะเป็นผู้แสวงหาที่พักพิงหรือผู้ลี้ภัย นอกจากนี้ องค์กรนอกภาครัฐยังกล่าวว่า ชาวมงตาญาร์กลุ่มนี้ถูกกักตัวในวันที่ 28 สิงหาคม โดยผู้ใหญ่ถูกส่งตัวไปยังสถานกักตัวคนต่างด้าว ในขณะที่เด็กประมาณ 50 คน ถูกส่งตัวไปยังสถานพักพิงสำหรับเด็ก กระทรวงศึกษาธิการแก้ไขเพิ่มเติมระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2551 เพื่อกำหนดให้นักเรียนในสถานศึกษาที่ตั้งอยู่ในพื้นที่วัดสวมเครื่องแบบตามที่สถานศึกษาและวัดตกลงร่วมกัน มหาเถรสมาคมออกประกาศห้ามใช้พื้นที่ของวัดจัดกิจกรรมทางการเมือง การชุมนุม การประชุม หรือการสัมมนาเพื่อวัตถุประสงค์ที่ละเมิดกฎหมายหรือกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ ความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หลังจากที่ชายชาวมาเลเซียอายุ 41 ปีคนหนึ่งแต่งงานกับเด็กหญิงชาวไทยอายุ 11 ปีในจังหวัดชายแดนภาคใต้ สำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยได้ออกระเบียบให้ผู้ที่จะแต่งงานต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 17 ปีบริบูรณ์

ทั้งนี้ ความรุนแรงที่เกี่ยวข้องกับเหตุความไม่สงบยังคงเกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมาเลย์มุสลิม ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความขัดแย้งแบ่งแยกดินแดนมายาวนาน โดยที่อัตลักษณ์ทางศาสนาและทางชาติพันธุ์มีส่วนสัมพันธ์กับปัญหาดังกล่าวอย่างใกล้ชิด เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม มีรายงานว่า มือปืนยิงนายอดุล ซิมา ครูชาวมุสลิม ขณะกำลังกลับจากมัสยิดหลังพิธีละหมาดที่อำเภอไม้แก่น จังหวัดปัตตานี คณะกรรมการการเลือกตั้งและสภาประมุขแห่งบาทหลวงโรมันคาทอลิกแห่งประเทศไทยได้ร่วมลงนามในข้อตกลงความร่วมมือเพื่อให้การศึกษา ฝึกอบรม สนับสนุน และพัฒนาศักยภาพของชุมชน เครือข่าย โรงเรียน และนักเรียน ว่าด้วยประเด็นที่เกี่ยวข้องกับประชาธิปไตย

เจ้าหน้าที่สถานทูตสหรัฐอเมริกาและสถานกงสุลใหญ่เข้าพบเจ้าหน้าที่กระทรวง ผู้นำทางศาสนา นักวิชาการ และเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อส่งเสริมพหุนิยมทางศาสนาและความสมานฉันท์ รวมถึงอภิปรายประเด็นทางศาสนาที่ซับซ้อนในสังคม เช่น อัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์และการเมือง นอกจากนี้ สถานทูตสหรัฐฯ และสถานกงสุลใหญ่ยังจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการว่าด้วยสันติภาพ และอำนวยการให้วิทยากรจากสหรัฐฯ มานำการเสวนาระหว่างความเชื่อและการคลี่คลายความขัดแย้งอีกด้วย

ตอนที่ 1. ประชากรที่นับถือศาสนา

รัฐบาลสหรัฐฯ ประมาณการไว้เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2561 ว่าจำนวนประชากรทั้งประเทศอยู่ที่ 68.6 ล้านคน จากข้อมูลการสำรวจสำมะโนประชากรเมื่อปี 2553 ร้อยละ 93 ของประชากรนับถือศาสนาพุทธนิกายเถรวาท ส่วนอีกร้อยละ 5 เป็นชาวมุสลิม อย่างไรก็ตาม องค์การนอกภาครัฐ นักวิชาการ และกลุ่มศาสนากล่าวว่า ร้อยละ 85-95 ของประชากรนับถือศาสนาพุทธนิกายเถรวาท ส่วนอีกร้อยละ 5-10 ของประชากรนับถือศาสนาอิสลาม มีประชากรจำนวนน้อยกว่าร้อยละ 5 ที่นับถือภูตผี ศาสนาคริสต์ ลัทธิขงจื๊อ ศาสนาฮินดู ศาสนายูดาห์ ศาสนาซิกข์ และลัทธิเต๋า

ชาวพุทธส่วนใหญ่นำพิธีกรรมของศาสนาฮินดูและการนับถือภูตผีมาประกอบศาสนพิธีของตนด้วย พระสงฆ์ในนิกายเถรวาทแบ่งออกเป็น 2 นิกายหลักด้วยกัน ได้แก่ มหานิกายและธรรมยุติกนิกาย โดยมหานิกายมีความเก่าแก่และเป็นที่แพร่หลายมากกว่าในชุมชนสงฆ์

อิสลามเป็นศาสนาที่มีผู้นับถือมากที่สุดใน 4 จังหวัดจาก 5 จังหวัดทางใต้สุดของประเทศ (นราธิวาส ยะลา สตูล และปัตตานี) ที่ติดชายแดนประเทศมาเลเซียที่เรียกว่า “จังหวัดชายแดนภาคใต้” ชาวมุสลิมส่วนใหญ่ในจังหวัดเหล่านี้มีเชื้อสายมาเลย์ แต่ประชากรมุสลิมทั้งประเทศมีหลายเชื้อชาติ ซึ่งรวมทั้งลูกหลานของผู้อพยพจากเอเชียใต้ จีน กัมพูชา และอินโดนีเซีย รวมทั้งเชื้อสายไทยด้วย จากข้อมูลของกรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม ชาวมุสลิมร้อยละ 99 นับถือนิกายสุหนี่

ผู้ที่มีเชื้อสายจีนและเวียดนามส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธนิกายมหายานหรือเถรวาท นอกจากนี้ ผู้ที่มีเชื้อสายจีนจำนวนมากรวมทั้งชาวเมี่ยน ยังนับถือลัทธิเต๋าในรูปแบบต่างๆ ด้วย

ชาวคริสต์ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีเชื้อสายจีน และกว่าครึ่งหนึ่งของชุมชนชาวคริสต์นับถือนิกายโรมันคาทอลิก

ตอนที่ 2. สถานะด้านการเคารพเสรีภาพในการนับถือศาสนาของรัฐบาล

กรอบทางกฎหมาย

รัฐธรรมนูญกำหนดให้มนุษย์ทุกคนเท่าเทียมกันตามกฎหมาย โดยไม่คำนึงถึงความเชื่อทางศาสนา และอนุญาตให้ทุกคนนับถือศาสนา ปฏิบัติตามหลักศาสนา และประกอบกิจทางศาสนาใดก็ได้ตามที่ต้องการ ตราบใดที่เสรีภาพดังกล่าวมิได้ “เป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ” รัฐธรรมนูญให้อำนาจรัฐในการอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา ตลอดจนศาสนาอื่นๆ แต่ก็ได้เพิ่มบทบัญญัติให้คุ้มครองศาสนาพุทธนิกายเถรวาทเป็นพิเศษโดยการให้ความรู้ เผยแผ่หลักคำสอนของศาสนา และกำหนดมาตรการและกลไก “ในการป้องกันมิให้มีการบ่อนทำลายพระพุทธศาสนาไม่ว่าในรูปแบบใด”

ในปี 2559 รัฐบาลทหารมีคำสั่งพิเศษให้รัฐอุปถัมภ์และคุ้มครอง “ทุกศาสนาอันเป็นที่ยอมรับ” ในประเทศ แต่ก็ได้กำหนดให้หน่วยงานของรัฐทั้งหมดดูแลให้มี “การเผยแพร่หลักธรรมคำสอนที่ถูกต้อง” ตามแนวทางของศาสนาโดยไม่ “บิดเบือนให้เป็นความขัดแย้งในหมู่ศาสนิกชน” กฎหมายห้ามไว้โดยเฉพาะมิให้มีการดูหมิ่นหรือเหยียดหยามศาสนาพุทธและพระสงฆ์ ผู้ฝ่าฝืนจะต้องโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท (620 เหรียญสหรัฐ) หรือทั้งจำทั้งปรับ ประมวลกฎหมายอาญาห้ามดูหมิ่นหรือก่อความรบกวนในศาสนสถานหรือศาสนพิธีของกลุ่มศาสนาที่ทางราชการรับรอง มิฉะนั้น จะต้องโทษจำคุกตั้งแต่ 1-7 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2,000-14,000 บาท (62-430 เหรียญสหรัฐ) หรือทั้งจำทั้งปรับ

กฎหมายรับรองกลุ่มศาสนาอย่างเป็นทางการทั้งหมด 5 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มพุทธ กลุ่มมุสลิม กลุ่มพราหมณ์-ฮินดู กลุ่มซิกข์ และกลุ่มคริสต์ ด้วยนโยบายแล้ว รัฐบาลจะไม่รับรองกลุ่มศาสนาใหม่ใดๆ อีกนอกจาก 5 กลุ่มหลักข้างต้น แม้ว่าประเทศไทยจะไม่มีศาสนาประจำชาติอย่างเป็นทางการ แต่รัฐธรรมนูญยังคงบัญญัติให้พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะ และทรงเป็น “อัครศาสนูปถัมภก”

กลุ่มศาสนาที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มศาสนาที่ทางราชการรับรองทั้ง 5 กลุ่มมีสิทธิขอจดทะเบียนเพื่อรับสิทธิประโยชน์จากรัฐ เช่น ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐ ได้รับยกเว้นภาษีทรัพย์สินและภาษีเงินได้ และได้รับการพิจารณาวีซ่าพักอาศัยเป็นพิเศษสำหรับเจ้าหน้าที่ชาวต่างชาติ ทั้งนี้ ทางการไม่บังคับกลุ่มศาสนาให้จดทะเบียน และกลุ่มศาสนาต่างๆ อาจยังคงดำเนินการได้โดยไม่ถูกรัฐบาลแทรกแซง ไม่ว่าจะได้รับการจดทะเบียนหรือการรับรองอย่างเป็นทางการหรือไม่ก็ตาม ตามกฎหมายแล้ว กรมการศาสนารับผิดชอบในการจดทะเบียนกลุ่มศาสนาต่างๆ ยกเว้นกลุ่มพุทธที่มีสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติดูแล ซึ่งเป็นหน่วยงานอิสระของรัฐภายใต้การกำกับดูแลโดยตรงของนายกรัฐมนตรี

กรมการศาสนาอาจจดทะเบียนนิกายใหม่ของกลุ่มศาสนาที่ทางราชการรับรองทั้ง 5 กลุ่มเฉพาะในกรณีที่นิกายดังกล่าวมีคุณสมบัติต่อไปนี้ 1. มีสาวกทั่วประเทศอย่างน้อย 5,000 คน 2. มีหลักคำสอนอันเป็นเอกลักษณ์ในทางศาสนศาสตร์ 3. ไม่ได้ดำเนินกิจกรรมทางการเมือง และ 4. ได้รับการอนุมัติอย่างเป็นทางการจากที่ประชุมซึ่งกรมการศาสนาจัดขึ้น โดยมีตัวแทนจากกระทรวงที่เกี่ยวข้องและกลุ่มศาสนาที่ทางราชการรับรองทั้ง 5 กลุ่ม ผู้นำกลุ่มศาสนาที่ประสงค์จดทะเบียนกับกรมการศาสนา จะต้องยื่นเอกสารแสดงวัตถุประสงค์และวิธีดำเนินการ ความสัมพันธ์ใดๆ กับต่างประเทศ บัญชีรายชื่อสมาชิกบริหารและเจ้าหน้าที่อาวุโส ตลอดจนที่ตั้งของสถานที่บริหาร ศาสนสถาน และสำนักสอนศาสนา

รัฐธรรมนูญห้ามนักบวช สามเณร พระสงฆ์ และพระอื่นๆ ในศาสนาพุทธลงคะแนนเสียงเลือกตั้งหรือลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภา จากข้อมูลของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเมื่อเดือนกันยายน มีวัดพุทธกว่า 41,000 แห่งทั่วประเทศ และมีพระสงฆ์ประมาณ 335,000 รูป ซึ่งไม่มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งหรือลงสมัครรับเลือกตั้ง นอกจากนี้ ยังห้ามนักบวชในศาสนาคริสต์สวมใส่เครื่องแต่งกายทางศาสนาไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ยกเว้นจุฬาราชมนตรี (ผู้ตัดสินชี้ขาดสูงสุดทางศาสนาอิสลาม) อิหม่ามไม่ถือว่าเป็นพระหรือนักบวช ดังนั้น จึงลงคะแนนเสียงเลือกตั้งและดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้

มหาเถรสมาคมทำหน้าที่เป็นหน่วยงานปกครองคณะสงฆ์ในประเทศไทย ในเดือนกรกฎาคม สภานิติบัญญัติแห่งชาติแก้ไขเพิ่มเติมข้อกฎหมายให้การแต่งตั้งหรือถอดถอนกรรมการมหาเถรสมาคมเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ตามพระราชอัธยาศัย ไม่ว่าจะเป็นพระสงฆ์ที่มีสมณศักดิ์ใดก็ตาม โดยไม่ต้องมีความเห็นชอบหรือการปรึกษาหารือกับสมเด็จพระสังฆราชก่อน

ในเดือนมิถุนายน กระทรวงศึกษาธิการแก้ไขเพิ่มเติมระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2551 ซึ่งเดิมอนุญาตให้นักเรียนแต่งกายตามความเชื่อทางศาสนาได้ โดยกำหนดให้นักเรียนของสถานศึกษาซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่วัดต้องสวมเครื่องแบบตามที่สถานศึกษาและวัดตกลงร่วมกัน

กฎหมายบัญญัติให้สถานศึกษาทั้งระดับชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษาให้ความรู้เกี่ยวกับศาสนากับนักเรียนทุกคนโดยไม่มีข้อยกเว้น หลักสูตรต้องมีเนื้อหาเกี่ยวกับกลุ่มศาสนาที่ทางราชการรับรองทั้ง 5 กลุ่ม นักเรียนที่ต้องการจะศึกษาศาสนาใดศาสนาหนึ่งอย่างละเอียดอาจเข้าเรียนที่โรงเรียนสอนศาสนาของเอกชน และโอนหน่วยกิตไปยังโรงเรียนรัฐบาลได้ โรงเรียนที่ร่วมมือกับองค์กรบริหารท้องถิ่นของตนได้รับอนุญาตให้เปิดวิชาศาสนศึกษาเพิ่มเติมได้ มหาวิทยาลัยคริสเตียนของเอกชนที่เปิดให้ประชาชนเข้าศึกษาหลักสูตรทางศาสนามีอยู่ด้วยกัน 2 แห่ง นอกจากนี้ ยังมีโรงเรียนคาทอลิกของเอกชนระดับประถมศึกษาที่กระทรวงศึกษาธิการดูแลด้านหลักสูตรและการจดทะเบียนอยู่ทั้งหมด 10 แห่ง มหาเถรสมาคมจัดทำหลักสูตรพิเศษด้านพุทธศาสนศึกษา และคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยจัดทำหลักสูตรพิเศษด้านอิสลามศึกษา ซึ่งอยู่ในภาคบังคับของโรงเรียนรัฐบาล

คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยประกอบด้วยสมาชิกชาวมุสลิมที่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง และมีหน้าที่ให้คำแนะนำเกี่ยวกับประเด็นทางศาสนาอิสลามแก่กระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงมหาดไทย รัฐบาลให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่สถาบันการศึกษาศาสนาอิสลาม รวมถึงมอบเงินทุนสำหรับการก่อสร้างมัสยิดและการเข้าร่วมพิธีฮัจญ์ มีโรงเรียนอิสลามระดับชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษาหลายร้อยแห่งทั่วประเทศ นักเรียนสามารถรับการศึกษาศาสนาอิสลามในจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย 4 วิธีดังต่อไปนี้ 1. จากโรงเรียนที่รัฐบาลให้เงินอุดหนุนและเปิดสอนศาสนาอิสลามตามหลักสูตรระดับประเทศ 2. จากโรงเรียนอิสลามของเอกชนที่อาจเปิดสอนวิชาอื่นๆ นอกเหนือจากวิชาคัมภีร์อัลกุรอาน เช่น วิชาภาษาต่างประเทศ (ภาษาอาหรับและภาษาอังกฤษ) อย่างไรก็ดี หลักสูตรดังกล่าวอาจไม่ได้รับอนุมัติจากรัฐบาล 3. จากปอเนาะดั้งเดิมหรือโรงเรียนอิสลามของเอกชนประเภทไปกลับที่เปิดสอนศาสนาอิสลามตามหลักสูตรของโรงเรียนให้กับนักเรียนทุกวัย และ 4. จากตาดีกา ซึ่งเป็นหลักสูตรหลังเลิกเรียนสำหรับเด็กชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 ที่มักจะจัดสอนที่มัสยิด

กระทรวงยุติธรรมอนุญาตให้นำหลักชะรีอะฮ์มาใช้เป็นกระบวนการตามกฎหมายแบบพิเศษ แม้ว่าจะไม่ได้บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่ง และใช้บังคับกับชาวมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายครอบครัว ซึ่งรวมถึงมรดก ศาลจังหวัดบังคับใช้กฎหมายนี้ และผู้เชี่ยวชาญด้านชะรีอะฮ์เป็นผู้ให้คำแนะนำแก่ผู้พิพากษา กฎหมายได้วางโครงสร้างบริหารของชุมชนชาวมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ไว้อย่างเป็นทางการ รวมถึงกระบวนการในการแต่งตั้งจุฬาราชมนตรีที่พระมหากษัตริย์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาราชการด้านกิจการศาสนาอิสลาม

กรมการศาสนาจำกัดจำนวนผู้สอนศาสนาชาวต่างชาติที่ได้รับอนุญาตให้ขึ้นทะเบียนและปฏิบัติงานในประเทศไทยไว้ดังต่อไปนี้ ชาวคริสต์ 1,357 คน ชาวมุสลิม 6 คน ชาวฮินดู 20 คน และชาวซิกข์ 41 คน การขึ้นทะเบียนจะทำให้ได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ เช่น การได้รับวีซ่าที่อายุนานขึ้น

ทั้งนี้ ปัจจุบันประเทศไทยเป็นรัฐภาคีแห่งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง

แนวทางปฏิบัติของรัฐบาล

เนื่องจากศาสนาและชาติพันธุ์มักมีส่วนสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด จึงเป็นการยากที่จะจำแนกเหตุการณ์ความรุนแรงหลายครั้งที่เกิดจากผู้ก่อความไม่สงบชาวมาเลย์มุสลิมว่ามีพื้นฐานจากอัตลักษณ์ทางศาสนาเพียงอย่างเดียวเท่านั้น

ข้อมูลของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ซึ่งเป็นองค์การนอกภาครัฐระบุว่า มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 146 รายจากความรุนแรงที่เกิดจากการก่อความไม่สงบ ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนสิงหาคม ในจำนวนดังกล่าว เป็นชาวมุสลิม 128 คน และชาวพุทธ 18 คน รวมทั้งมีผู้ได้รับบาดเจ็บ 196 รายระหว่างช่วงเวลาดังกล่าว โดยเป็นชาวมุสลิม 91 คน และชาวพุทธ 105 คน ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้รายงานว่า ตลอดปี 2560 มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ความไม่สงบเป็นชาวมุสลิม 187 คน ชาวพุทธ 64 คน และไม่ระบุอีก 12 คน องค์การนอกภาครัฐในพื้นที่รายงานว่า ผู้ก่อความไม่สงบมักมองว่าครูและทหารที่อารักขาครูมีความเกี่ยวข้องกับรัฐ จึงถือเป็นเป้าโจมตีอันชอบธรรม จากข้อมูลของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ณ เดือนสิงหาคม มีครูชาวมุสลิมเสียชีวิต 1 ราย ชาวพุทธ 1 ราย และนักเรียนชาวมุสลิมได้รับบาดเจ็บ 6 ราย

ในเดือนกันยายน ศาลอาญากรุงเทพพิพาษาจำคุกชาวมุสลิม 9 คนจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นเวลา 4 ปีในความผิดฐานร่วมกันเป็นอั้งยี่และซ่องโจร และพิพากษาจำคุกจำเลย 1 รายเพิ่มอีก 2 ปีในความผิดฐานมีวัตถุระเบิดในครอบครองโดยผิดกฎหมาย แต่เนื่องจากจำเลยทั้งหมดให้การรับสารภาพ จึงได้รับโทษลดลงกึ่งหนึ่ง ศาลยกฟ้องจำเลยจำนวน 5 ราย จากข้อมูลของกลุ่มสิทธิมนุษยชน พบว่า จำเลยอย่างน้อย 7 รายกล่าวว่าถูกทรมานขณะอยู่ในเรือนจำ โดยถูกเฆี่ยนตีและสาดน้ำใส่ จากนั้นถูกปล่อยทิ้งไว้ในห้องที่มีความเย็นก่อนให้การสารภาพ แต่ศาลพบว่าข้อกล่าวหาไม่มีมูลและปราศจากหลักฐาน คดีเหล่านี้เกิดจากการจับกุมในปี 2559 โดยมีความเกี่ยวข้องกับแผนการวางระเบิดในกรุงเทพมหานคร ตามคำกล่าวของทางการ

มีรายงานว่า ทางการยังคงใช้พระราชกำหนดการบริการราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินและพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก ที่บังคับใช้ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มาตั้งแต่ พ.ศ. 2548 และ 2547 ตามลำดับ ซึ่งให้อำนาจอย่างมีนัยสำคัญแก่ทหาร ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือน ในการจำกัดสิทธิพื้นฐานบางประการ ซึ่งรวมถึงการกักตัวก่อนการพิจารณาคดีและการเข้าตรวจค้นโดยไม่มีหมายศาล ทางการให้อำนาจบางประการด้านความมั่นคงภายในแก่กองทัพ ซึ่งมักส่งผลให้เกิดข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม

ในเดือนสิงหาคม หนังสือพิมพ์ออนไลน์ประชาไทรายงานว่า ชุดเจ้าหน้าที่ไม่ระบุสังกัดเข้าจับกุมชาวมาเลย์มุสลิม 5 คน ในจำนวนดังกล่าว เป็นนักเคลื่อนไหวรณรงค์เรียกร้องความสงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ 2 คน ญาติของผู้ถูกจับกุมไม่รับทราบเกี่ยวกับข้อกล่าวหา แต่ทางการระบุว่า ทั้งห้าถูกจับภายใต้ “กฎหมายพิเศษ”

ข้อมูลของกลุ่มสิทธิมนุษยชนพบว่า ผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่พักพิงจำนวนหนึ่งในประเทศไทยหลบหนีการข่มเหงทางศาสนามาจากที่อื่น UNHCR รายงานว่า คนเหล่านี้จำนวนมากอาศัยอยู่ในประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องตามกฎหมาย จึงเป็นไปได้ที่จะถูกจับกุม กักตัว และส่งตัวกลับประเทศ เช่นเดียวกับผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่พักพิงคนอื่นๆ ไม่ว่าจะได้ลงทะเบียนกับทางหน่วยงานไว้แล้วหรือไม่ก็ตาม ในระหว่างปี เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองรายงานว่า มีการตรวจค้นเป้าหมายผู้ที่อาศัยอยู่ในประเทศโดยผิดกฎหมายหลายครั้ง จากปฏิบัติการดังกล่าว ทำให้มีผู้ถูกจับกุมหลายพันคน รวมถึงผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่พักพิงที่ลงทะเบียนกับ UNHCR ไว้แล้วบางส่วน UNHCR รายงานว่า ผู้ที่ถูกจับกุมซึ่งได้ลงทะเบียนไว้ได้รับการปล่อยตัวหลังจากนั้นไม่นาน ทางการแจ้งว่า การเข้าตรวจค้นไม่ได้เจาะจงกลุ่มศาสนาใดเป็นการเฉพาะ และจับกุมบุคคลที่เกี่ยวข้องกับศาสนาต่างๆ หลากหลาย สื่อมวลชนรายงานโดยสอดคล้องกันว่า การจับกุมเป็นส่วนหนึ่งของการขยายการปราบปรามการเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย และไม่ได้มีแรงจูงใจที่เกี่ยวกับศาสนา รัฐบาลและ UNHCR กล่าวว่า ทางการไม่ได้ส่งตัวผู้ลี้ภัยหรือผู้แสวงหาที่พักพิงที่ได้ลงทะเบียนกับ UNHCR ซึ่งถูกจับกุมจากการเข้าตรวจค้นเหล่านี้กลับประเทศ และได้อนุญาตให้เจ้าหน้าที่ UNHCR เข้าพบบุคคลเหล่านี้ได้ ในเดือนกันยายน อินเตอร์เนชั่นแนล คริสเตียน คอนเซิร์น ซึ่งเป็นองค์การนอกภาครัฐ รายงานว่า ชาวคริสต์เชื้อสายปากีสถานมากกว่า 70 คน ถูกคุมตัวไว้ที่ศูนย์กักตัวของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองกรุงเทพฯ ในสภาพที่ “ทำลายศักดิ์ศรี สกปรก และแออัดยัดเยียด” องค์การดังกล่าวยังรายงานอีกว่า เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม มีผู้ลี้ภัยจากเวียดนามซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวคริสต์กลุ่มมงตาญาร์ (หรือเดการ์) จำนวน 181 คนถูกจับกุม โดยผู้ใหญ่ถูกกักตัวอยู่ที่สถานกักตัวในกรุงเทพฯ และเด็กกว่า 50 คน ถูกแยกจากบิดามารดาและส่งตัวไปยังสถานพักพิง 3 แห่ง

กลุ่มสิทธิมนุษยชนและกลุ่มช่วยเหลือผู้ลี้ภัยรายงานว่า ผู้อพยพชาวมุสลิมและเอเชียใต้มีอุปสรรคในการขอสถานะทางกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากพระราชกำหนดฉบับใหม่มีผลบังคับใช้เมื่อช่วงต้นปี ผู้อพยพชาวมุสลิมจากพม่ากล่าวว่า ไม่สามารถขอเอกสารที่จำเป็นจากพม่าได้ โดยหลายคนรายงานว่า ได้หนีมาจากการข่มเหง ในเดือนเมษายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานของไทยกล่าวว่า ผู้อพยพกว่า 250,000 คน ต้องเดินทางออกจากประเทศไทย

กลุ่มนักเคลื่อนไหว เช่น ฮิวแมนไรท์วอทช์ แสดงความกังกลเกี่ยวกับปฏิกิริยาที่รัฐบาลอาจจะมีต่อคำร้องขอจากจีนให้ส่งตัวผู้ต่อต้านรัฐบาลจีนกลับประเทศ ซึ่งรวมไปถึงผู้เกี่ยวข้องกับกลุ่มศาสนาที่ถูกห้ามในประเทศจีน อย่างไรก็ตาม ไม่มีสมาชิกคนใดของกลุ่มศาสนาที่ถูกห้ามถูกบังคับส่งตัวกลับประเทศจีนในระหว่างปี เมื่อเดือนมีนาคม ตำรวจท่องเที่ยวจับกุมชาวจีน 7 คนในความผิดฐานแจกจ่ายเอกสารของกลุ่มฝ่าหลุนกง และปรับโทษฐานพำนักเกินระยะวีซ่า

ในการปราบปรามการทุจริตของรัฐบาล ในช่วงฤดูใบไม้ผลิ ทางการจับกุมพระเถระชั้นแนวหน้าจำนวน 6 รูป ซึ่งรวมถึงพระชั้นผู้ใหญ่ที่มีตำแหน่งในมหาเถรสมาคม สองอดีตผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศในกรุงเทพมหานคร และพระพุทธะอิสระ พระสงฆ์ที่ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาทุจริตเงินทอนวัดก่อนหน้านั้น รายงานของสื่อรายหนึ่งระบุว่า การกระทำดังกล่าวเป็นความพยายามในการอ้างสิทธิอำนาจของรัฐบาลที่มีต่อวัด ขณะที่กลุ่มผู้สังเกตการณ์ใกล้ชิดโดยทั่วไปมองว่า การจับกุมเกิดจากเหตุผลทางการเมือง และมีวัตถุประสงค์เพื่อเร่งให้เกิดความนิยมก่อนหน้าการเลือกตั้งปี 2562 ในกลุ่มผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่มีความสนใจเกี่ยวกับรายงานการทุจริตของพระสงฆ์

ในเดือนกันยายน ตำรวจสั่งห้ามผู้สื่อข่าวต่างประเทศจัดการเสวนาเพื่อพูดคุยเรื่องการเอาผิดผู้นำกองทัพพม่าฐานละเมิดสิทธิมนุษยชนกรณีที่กองกำลังทหารกระทำต่อชาวมุสลิมโรฮีนจาและชนกลุ่มน้อยทางชาติพันธุ์อื่นๆ สื่อรายงานว่า ตำรวจประมาณ 12 นาย เดินทางมาถึงสถานที่จัดงาน ณ สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT) ก่อนเวลา และสั่งห้ามไม่ให้จัดการเสวนาดังกล่าว

นับตั้งแต่ พ.ศ. 2527 รัฐบาลไม่ได้ให้การยอมรับกลุ่มศาสนากลุ่มใดๆ เพิ่มเติม ถึงแม้ว่าจะไม่มีการยอมรับหรือจดทะเบียนอย่างเป็นทางการตามกฎหมาย กลุ่มประชาสังคมยังคงรายงานว่า กลุ่มศาสนาที่ไม่ได้จดทะเบียนดำเนินการได้อย่างเสรี และการที่รัฐบาลไม่ได้ให้การยอมรับหรือจดทะเบียนกลุ่มศาสนาเพิ่มเติมก็ไม่ได้จำกัดการดำเนินกิจกรรมของกลุ่มเหล่านี้แต่อย่างใด แม้ว่าการจดทะเบียนจะให้สิทธิประโยชน์บางประการ เช่น การได้รับวีซ่าที่อายุนานขึ้น แต่กลุ่มศาสนารายงานว่า การไม่จดทะเบียนไม่ได้เป็นอุปสรรคสำคัญต่อกิจกรรมการประกาศศาสนา และครูสอนศาสนาต่างชาติที่ไม่ได้จดทะเบียนจำนวนมากทำงานในประเทศได้โดยไม่ถูกรัฐบาลแทรกแซง

ในวันที่ 10 ตุลาคม พระภิกษุกลุ่มหนึ่งเรียกร้องให้คณะกรรมการการเลือกตั้งแก้ไขกฎหมายที่จำกัดสิทธิทางการเมืองของพระสงฆ์

ในเดือนกุมภาพันธ์ ภิกษุณีกลุ่มหนึ่งยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติขอให้ติดตามคำร้องเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2560 ขอแก้ไขกฎหมายรับรองภิกษุณีเป็นคณะสงฆ์ อย่างไรก็ตาม ณ เดือนกันยายน ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ มหาเถรสมาคมยังคงห้ามผู้หญิงบวชเป็นภิกษุณี ผู้หญิงที่ประสงค์ครองสมณเพศมักเดินทางไปเข้ารับการอุปสมบทที่ศรีลังกา จากจำนวนนักบวชในพระพุทธศาสนา 360,000 รูปทั่วประเทศ มีภิกษุณี 229 รูป เนื่องจากกฎหมายว่าด้วยความเท่าเทียมระหว่างเพศยกเว้นกรณีที่เกี่ยวข้องกับ “การปฏิบัติตามหลักการทางศาสนา” นักบวชหญิง (ภิกษุณี) จึงไม่ได้รับการคุ้มครองด้านความเท่าเทียมระหว่างเพศจากรัฐบาล เจ้าหน้าที่ทางการยังคงมิได้ต่อต้านหรือสนับสนุนการอุปสมบทภิกษุณีอย่างเป็นทางการ และยังอนุญาตให้ภิกษุณีปฏิบัติศาสนกิจและก่อตั้งอารามและวัดได้ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากไม่ได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการ อารามของภิกษุณียังคงไม่สามารถรับสิทธิโยชน์ใดๆ จากรัฐบาลเหมือนที่วัดในพระพุทธศาสนาได้รับ โดยหลักแล้ว ได้แก่ การยกเว้นภาษี การรักษาพยาบาลโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และเงินอุดหนุนสำหรับการก่อสร้างและดำเนินโครงการด้านสวัสดิการสังคม ภิกษุณีไม่ได้รับความคุ้มครองเป็นพิเศษจากรัฐบาลจากการประทุษร้ายทางวาจาและทางกาย เหมือนเช่นที่ภิกษุสงฆ์ได้รับ บางครั้งการประทุษร้ายดังกล่าวเกิดจากพระภิกษุที่ต่อต้านการบวชภิกษุณี

เมื่อเดือนสิงหาคม มหาเถรสมาคมออกประกาศห้ามใช้พื้นที่ของวัดจัดกิจกรรมหรือชุมนุมทางการเมือง การประชุม หรือการสัมมนาเพื่อวัตถุประสงค์ที่ละเมิดกฎหมายหรือกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ ความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน นอกจากนี้ คำสั่งดังกล่าวยังสั่งย้ำข้อห้ามภิกษุสงฆ์และสามเณรมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางการเมืองอีกด้วย

ในเดือนเดียวกัน สำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยออกระเบียบกำหนดอายุสมรสขั้นต่ำเป็น 17 ปีบริบูรณ์ กฎหมายกำหนดให้ผู้ที่จะแต่งงานต้องมีอายุ 17 ปีขึ้นไป ไม่ว่าจะนับถือศาสนาใดก็ตาม ระเบียบดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากกรณีชายชาวมาเลย์อายุ 41 ปี แต่งงานกับเด็กหญิงชาวไทยอายุ 11 ปี เมื่อเดือนพฤษภาคมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เด็กหญิงถูกส่งตัวกลับไปหาครอบครัวของตนในเดือนสิงหาคม

มหาวิทยาลัยฟาฏอนี มหาวิทยาลัยอิสลามแห่งเดียวในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ได้รับการรับรองจากรัฐบาล ยังคงเปิดสอนหลักสูตรพิเศษให้กับนักเรียนชาวมุสลิม โดยจัดการเรียนการสอนเป็นภาษาไทย อังกฤษ อาหรับ และมลายู จัดให้มีหลักสูตรสันติศึกษาเป็นหลักสูตรบังคับ และผนวกหลักการทางศาสนาเข้ากับหลักสูตรส่วนใหญ่ที่เปิดสอน ณ วันที่ 30 กันยายน มหาวิทยาลัยฟาฏอนีมีนักศึกษาประมาณ 3,300 คน และบุคลากรวิชาการ 480 คน

ในเดือนมกราคม ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาสในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ออกคำสั่งให้บรรจุวิชาประวัติศาสตร์ชาติไทยและบุญคุณของพระมหากษัตริย์ไทยไว้ในหลักสูตรที่สอนในปอเนาะ

ในเดือนพฤษภาคม กระทรวงศึกษาธิการแต่งตั้งคณะกรรมการจำนวน 13 คนเพื่อพัฒนาการเรียนการสอนพระพุทธศาสนาในสถานศึกษา โดยปัจจุบัน กำหนดให้มีเวลาสอนพระพุทธศาสนามากกว่าศาสนาอื่นๆ

หลังจากข้อพิพาทในเดือนพฤษภาคมกรณีที่ผู้อำนวยการโรงเรียนรัฐบาล ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณวัดพุทธในจังหวัดปัตตานีในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ปฏิเสธคำร้องขอจากผู้ปกครองของนักเรียนชาวมุสลิมให้อนุญาตเด็กใส่ผ้าคลุมผมไปโรงเรียนได้ ในเดือนมิถุนายนกระทรวงศึกษาธิการได้แก้ไขระเบียบว่าด้วยการแต่งกายของนักเรียนตามข้อตกลงกับทางโรงเรียนและทางวัด แม้ว่าร้อยละ 40 ของนักเรียนในโรงเรียนเป็นชาวมุสลิม แต่โรงเรียนมีกฎให้นักเรียนสวมเครื่องแบบนักเรียน และไม่อนุญาตให้แต่งกายตามข้อกำหนดของศาสนา เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม ศาลปกครองจังหวัดสงขลาซึ่งมีอำนาจในการตัดสินคดีในจังหวัดปัตตานี ได้ออกคำสั่งห้ามโรงเรียนลงโทษนักเรียนที่สวมเครื่องแต่งกายตามหลักศาสนาอิสลาม

กลุ่มบุคคลและคณาจารย์ในมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงในจังหวัดชายแดนภาคใต้รายงานว่า อาจารย์และครูสอนศาสนาอิสลามถูกตรวจสอบน้อยลง อย่างไรก็ตาม กองทัพยังคงตรวจสอบครูชาวมุสลิมที่โรงเรียนเอกชนอย่างต่อเนื่อง

กลุ่มด้วยใจ ซึ่งสนับสนุนสิทธิมนุษยชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ รายงานในเดือนกุมภาพันธ์ว่า เจ้าหน้าที่ทหารกลุ่มหนึ่งไปที่ศูนย์การศึกษาอิสลามประจำมัสยิด (ตาดีกา) แห่งหนึ่งในจังหวัดปัตตานี และขอข้อมูลรายชื่อนักเรียนและภาพถ่ายบัตรประจำตัวของครู นอกจากนี้ สื่อยังรายงานว่า รัฐบาลกล่าวว่า โรงเรียนกระทำการทุจริต และนำเอางบอุดหนุนรายหัวไปสนับสนุนกลุ่มก่อความไม่สงบ โรงเรียนดังกล่าวยังคงเปิดสอนขณะที่มีการสืบสวนสอบสวน หลายรายงานระบุว่า เจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงตรวจค้นโรงเรียนอิสลามหลายแห่งโดยกล่าวหาว่ามีการทุจริตและอาจเชื่อมโยงกับการให้เงินสนับสนุนกลุ่มก่อความไม่สงบ

ตั้งแต่ปีงบประมาณ 1 ตุลาคม 2560 ถึง 30 กันยายน 2561 รัฐบาลโอนย้ายงบประมาณสำหรับโครงการริเริ่มเกี่ยวกับศาสนาต่างๆ นอกจากพระพุทธศาสนาประมาณ 410 ล้านบาท (12.67 ล้านเหรียญ) จากกรมการศาสนามาอยู่ภายใต้การบริหารจัดการของกระทรวงมหาดไทย งบประมาณดังกล่าวประมาณ 333 ล้านบาท (10.29 ล้านเหรียญ) จัดสรรไว้สำหรับวางแผนเชิงยุทธศาสตร์เพื่อการส่งเสริมศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม ในจำนวนนั้นเป็นเงินสนับสนุนเพื่อบำรุงรักษาและบูรณะศาสนสถานของกลุ่มศาสนาที่ทางราชการรับรอง นอกเหนือจากพระพุทธศาสนาจำนวน 5 กลุ่มประมาณ 18 ล้านบาท (556,000 เหรียญ) และเบี้ยเลี้ยงรายปีของจุฬาราชมนตรี 240,000 บาท (7,400 เหรียญ) ตามรายงาน ชุมชนมุสลิมกล่าวว่าต้องการให้กระทรวงมหาดไทยเป็นผู้บริหารจัดการงบประมาณเนื่องจากติดต่อได้ง่ายกว่า และกระทรวงมหาดไทยมีศักยภาพในการบริหารจัดการงบประมาณมากกว่า

สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติได้รับเงินทุนแยกต่างหากจากกรมการศาสนาเป็นจำนวน 4,900 ล้านบาท (151.47 ล้านเหรียญ) โดยเป็นงบประมาณสำหรับโครงการส่งเสริมความสามารถและพัฒนาทุนมนุษย์จำนวน 1,900 ล้านบาท (58.73 ล้านเหรียญ) งบบริหารงานบุคคล 1,600 ล้านบาท (49.46 ล้านเหรียญ) โครงการศึกษา 1,200 ล้านเหรียญ (37.09 ล้านเหรียญ) ซึ่งรวมถึงการให้ความรู้กับพระภิกษุและสามเณรเกี่ยวกับพระธรรมวินัยและการบันทึก และโครงการแก้ไขความขัดแย้งและพัฒนาพื้นที่ชายแดนภาคใต้ 256 ล้านบาท (7.91 ล้านเหรียญ)

รัฐบาลยังคงให้การรับรองคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดที่ได้รับการแต่งตั้งทั้งหมด 39 แห่งทั่วประเทศ โดยคณะกรรมการดังกล่าวมีหน้าที่ในการให้คำแนะนำแก่ผู้ว่าราชการจังหวัดเกี่ยวกับประเด็นด้านศาสนาอิสลาม ตัดสินใจเกี่ยวกับการตั้งมัสยิด การย้ายมัสยิด การรวมมัสยิด และการยุบเลิกมัสยิด การแต่งตั้งอิหม่าม รวมทั้งการออกประกาศและการอนุมัติเกี่ยวกับศาสนกิจของศาสนาอิสลาม ยังคงมีรายงานว่า สมาชิกคณะกรรมการในจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้คำปรึกษาด้านการจัดการกับความขัดแย้งทางเชื้อชาติและศาสนาในพื้นที่แก่เจ้าหน้าที่รัฐบาล

ไม่มีรายงานว่ากลุ่มศาสนาถูกแทรกแซงขณะชักชวนคนให้เปลี่ยนศาสนา พระสงฆ์ไทยเผยแผ่ศาสนาให้แก่กลุ่มชาติพันธุ์ของประเทศได้ โดยเฉพาะในบริเวณพื้นที่ชายแดน และได้รับเงินทุนบางส่วนจากรัฐบาล จากข้อมูลของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ พระสงฆ์ที่เผยแผ่พระพุทธศาสนาทั่วประเทศมีจำนวน 5,426 รูป โดยจะต้องผ่านการฝึกอบรมและเข้าร่วมโครงการการศึกษาที่มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ก่อนที่จะได้รับการแต่งตั้งจากมหาเถรสมาคมให้เผยแผ่พระพุทธศาสนา ทั้งนี้ ตามกฎข้อบังคับของทางการ พระภิกษุต่างชาติไม่ได้รับอนุญาตให้เป็นผู้เผยแผ่พระพุทธศาสนาภายในประเทศ

กลุ่มครูสอนศาสนาต่างชาติที่จดทะเบียนและมีวีซ่าดำเนินงานในประเทศตลอดทั้งปีมีจำนวน 11 กลุ่ม ได้แก่ ศาสนาคริสต์ 6 กลุ่ม ศาสนาอิสลาม 1 กลุ่ม ศาสนาฮินดู 2 กลุ่ม และศาสนาซิกข์ 2 กลุ่ม ทั้งนี้ มีองค์กรเผยแผ่ศาสนาคริสต์ที่จดทะเบียนจำนวน 1,357 องค์กร ถึงแม้ว่าศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้าย (มอรมอน) จะไม่ได้เป็นกลุ่มคริสต์ที่ทางราชการรับรอง แต่ก็ได้รับอนุญาตจากกระทรวงการต่างประเทศและสภาความมั่นคงแห่งชาติ ให้มีผู้สอนศาสนาจำนวน 200 คนได้เป็นพิเศษ กลุ่มมุสลิม ซิกข์ และฮินดูมีครูสอนศาสนาในประเทศในจำนวนที่น้อยกว่า ครูสอนศาสนาต่างชาติจำนวนมากเข้าประเทศโดยใช้วีซ่าท่องเที่ยว และชักชวนคนให้เปลี่ยนศาสนาได้โดยไม่ต้องได้รับอนุญาตจากกรมการศาสนา ครูสอนศาสนาต่างๆ นอกจากพระพุทธศาสนาไม่ได้รับเงินทุนหรือเงินช่วยเหลือจากรัฐ

ตอนที่ 3. สถานภาพของการให้ความเคารพทางสังคมต่อเสรีภาพในการนับถือศาสนา

กลุ่มก่อความไม่สงบชาวมาเลย์ยังคงโจมตีชาวพุทธและมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในปี 2560 ไม่มีรายงานว่าชาวมุสลิมสนับสนุนให้กระทำความรุนแรงต่อชาวพุทธ กลุ่มสิทธิมนุษยชนและภาคประชาสังคมระบุว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องร่วมทศวรรษได้ลดปฏิสัมพันธ์ระหว่างชุมชนชาวมุสลิมและชุมชนชาวพุทธลง กลุ่มด้วยใจรายงานว่า การห้ามแต่งกายตามหลักศาสนาอิสลามในบางโรงเรียน ยิ่งทำให้ประชากรจากสองชุมชนดังกล่าวห่างเหินกันมากขึ้น ในภายหลัง กฎห้ามดังกล่าวถูกยกเลิกไป รายงานของสื่อบางรายระบุว่า มีกระแสต่อต้านชาวมุสลิมมากขึ้นในประเทศ เว็บไซต์ข่าวดอยช์ เวเลย์ (Deutsche Welle) ของเยอรมนีรายงานว่า ชาวพุทธในประเทศไทยและประเทศอื่นๆ มองว่าพระพุทธศาสนากำลังถูกคุกคาม และ “เกรงว่า ‘ศาสนาอิสลามและชาวมุสลิมกำลังพยายามเข้ามาครองประเทศ’ ” อย่างไรก็ตาม ผู้นำของทั้งศาสนาพุทธและอิสลามกล่าวว่า คนส่วนใหญ่ในชุมชนของตนยังคงสนับสนุนการเสวนาระหว่างศาสนาและความเข้าใจทางวัฒนธรรม ดังที่ปรากฏให้เห็นจากการที่สื่อท้องถิ่นรายงานผลการสำรวจระดับภูมิภาคเกี่ยวกับลัทธิสุดโต่งและหัวรุนแรง จัดทำโดยศูนย์ศึกษาวิจัยความคิดเห็นเมอร์เดกา (Merdeka Center for Opinion Research) ในประเทศมาเลเซีย พบว่า แม้ว่าผู้ตอบแบบสำรวจในประเทศใกล้เคียงจะเผยให้เห็นว่ามีอัตราการไม่ยอมรับผู้ที่มีความเชื่อต่างในระดับสูง แต่ชาวมุสลิมและชาวพุทธในประเทศไทยมีความเห็นทางบวกต่อกัน

รายงานข่าวระบุว่า เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม เกิดเหตุคนร้ายยิงนายอดุล ซิมา ครูชาวมุสลิมเสียชีวิต ขณะกำลังกลับจากมัสยิดหลังพิธีละหมาดในอำเภอไม้แก่น จังหวัดปัตตานี ทางการเชื่อว่าเหตุการณ์ครั้งนี้เกี่ยวข้องกับการก่อความไม่สงบ

กลุ่มด้วยใจ กลุ่มลูกเหรียง สภานักเรียนโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และเครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพ ออกแถลงการณ์ประณามเหตุการณ์ยิงหญิงชาวพุทธและลูกสาววัย 13 ปี ขณะขี่รถจักรยานยนต์ไปตลาดเมื่อวันที่ 11 สิงหาคมในจังหวัดนราธิวาส ชายชาวมุสลิมคนหนึ่งถูกจับกุมและสารภาพว่าเป็นผู้ก่อเหตุ นอกจากนี้ ฮิวแมนไรท์วอทช์และเครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพยังออกแถลงการณ์ประณามการวางกับระเบิดหลายครั้งในเดือนมิถุนายนและกรกฎาคม เพื่อทำร้ายคนสวนชาวพุทธในจังหวัดยะลา

นักเคลื่อนไหวชาวพุทธยังคงรณรงค์เพื่อให้พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ ในเดือนมิถุนายน กลุ่มชาวพุทธในจังหวัดบึงกาฬจัดรณรงค์ประกาศพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำจังหวัด และยกย่องจังหวัดให้เป็นเมืองหลวงของพระพุทธศาสนาในประเทศไทย

ในเดือนกุมภาพันธ์ คณะกรรมการการเลือกตั้งและสภาประมุขบาทหลวงโรมันคาทอลิกแห่งประเทศไทยได้ลงนามบันทึกความร่วมมือเพื่อให้ความรู้ ฝึกอบรม ส่งเสริมศักยภาพ และพัฒนาความสามารถของชุมชน เครือข่าย โรงเรียน และนักเรียนชาวคาทอลิกในประเด็นเกี่ยวกับประชาธิปไตย

ตอนที่ 4. นโยบายและการมีส่วนร่วมของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา

เจ้าหน้าที่สถานทูตสหรัฐฯ และสถานกงสุลใหญ่หารือเรื่องเสรีภาพทางศาสนา รวมทั้งขั้นตอนในการสร้างความปรองดองระหว่างศาสนา กับเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงจากกรมการศาสนาสังกัดกระทรวงวัฒนธรรม และสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

เอกอัครราชทูตเข้าเฝ้าสมเด็จพระสังฆราช ผู้ทรงดำรงตำแหน่งประธานกรรมการมหาเถรสมาคม เพื่อกราบทูลถามและขอประทานพระอธิบายเกี่ยวกับการนำชุมชนต่างศาสนาความเชื่อมาใกล้ชิดกัน เพื่อลดความขัดแย้งและความเข้าใจผิด รวมถึงความเป็นไปได้ที่สหรัฐฯ จะมีบทบาทในการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับความสัมพันธ์ระหว่างศาสนา นอกจากนี้ เอกอัครราชทูตยังได้พบกับจุฬาราชมนตรีเพื่อหารือเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างชาวพุทธและมุสลิม รวมทั้งบทบาทของชุมชนระหว่างประเทศในการช่วยให้มีการยอมรับกันทางศาสนามากยิ่งขึ้น เจ้าหน้าที่คนอื่นๆ ของสถานทูตสหรัฐฯ และสถานกงสุลใหญ่หารือเกี่ยวกับความปรองดองกันทางศาสนา ร่วมกับพระชั้นผู้ใหญ่ของวงการสงฆ์

เจ้าหน้าที่สถานทูตสหรัฐฯ และสถานกงสุลใหญ่เข้าพบผู้นำทางศาสนาอิสลามและศาสนาพุทธ นักวิชาการ และเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในความพยายามของสถานทูตสหรัฐฯ เพื่อส่งเสริมการยอมรับกันและความสมานฉันท์เกี่ยวกับประเด็นทางศาสนาที่ซับซ้อนในสังคม ซึ่งรวมถึงอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์และการเมืองด้วย เมื่อเดือนพฤษภาคม สถานทูตสหรัฐฯ จัดกิจกรรมค่ายเทคโนโลยีเรื่องการผลักดันและจัดการการรณรงค์ที่เกี่ยวข้องกับการเสวนาระหว่างความเชื่อและการคลี่คลายความขัดแย้ง ในเดือนตุลาคม สถานทูตสหรัฐฯ จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการระหว่างศาสนาว่าด้วยสันติภาพในจังหวัดปัตตานี โดยมีวิทยากรชาวสหรัฐฯ ที่มีชื่อเสียงด้านการเสวนาระหว่างความเชื่อและการคลี่คลายความขัดแย้งมาร่วมงานด้วย สถานทูตสหรัฐฯ สนับสนุนนักวิชาการด้านเสรีภาพทางศาสนาที่มีชื่อเสียงให้เดินทางไปยังสหรัฐฯ ในโครงการผู้นำด้านการเสวนาระหว่างศาสนาและเสรีภาพทางศาสนา

สถานทูตสหรัฐฯ จัดให้มีโครงการหลายโครงการในจังหวัดยะลาซึ่งเน้นให้บุคคลมีส่วนร่วมระหว่างกันเพื่อประสานความขัดแย้ง ทั้งยังจัดให้มีการอภิปรายเกี่ยวกับพหุนิยมทางศาสนาและมุสลิมในอเมริกา โดยมีศิษย์เก่าโครงการแลกเปลี่ยนของรัฐบาลสหรัฐฯ เป็นผู้นำการอภิปราย

สถานทูตสหรัฐฯ และสถานกงสุลใหญ่ในเชียงใหม่ ประสานงานเป็นประจำกับชนกลุ่มน้อยทางศาสนา อันได้แก่ ชาวมุสลิม ชาวคริสต์ สมาชิกศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้าย และชาวฮินดู ในกิจกรรมต่างๆ เช่น การเสวนาระหว่างความเชื่อเพื่อสนับสนุนการเคารพสิทธิส่วนบุคคลในการนับถือศาสนา และความสำคัญของพหุนิยมทางศาสนา โดยใช้สื่อสังคมออนไลน์ในการยกระดับความสำคัญของการประชุมและโครงการต่างๆ เหล่านี้ อันเป็นการสร้างเสรีภาพและการยอมรับกันทางศาสนามากยิ่งขึ้น

ชุมชนชาวมุสลิมในประเทศปฏิเสธที่จะเข้าร่วมงานเลี้ยงอิฟตาร์ที่สถานทูตสหรัฐฯ และสถานกงสุลใหญ่จัดขึ้นเหมือนเช่นที่ผ่านมา เนื่องจากรัฐบาลสหรัฐรับรองเยรูซาเล็มเป็นเมืองหลวงของอิสราเอล อย่างไรก็ตาม สถานทูตสหรัฐฯ และสถานกงสุลใหญ่ ยังคงได้รับการสนับสนุนจากชุมชนมุสลิมท้องถิ่นในการจัดกิจกรรมร่วมกันเพื่อส่งเสริมการยอมรับกันทางศาสนา