ปัญหาการเรียนภาษาอังกฤษของนักเรียนไทยมีอะไรบ้าง?

ภาษาอังกฤษ ถือได้ว่าเป็นภาษาต่างประเทศที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย เป็นภาษากลางที่ใช้สื่อความหมายไปเกือบทั่วโลก ปัจจุบัน มีคนทั่วโลกใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลักในการสื่อสารมากกว่า 2,000 ล้านคน หรือ 1 ใน 3 ของประชากรของโลก ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะส่งเสริมให้ประชากรไทยได้เรียนรู้ภาษาอังกฤษในระดับที่จะสื่อสารได้ เป็นเครื่องมือในการแสวงหาความรู้ และการประกอบอาชีพ ตลอดจนการเจรจาต่อรองสำหรับการแข่งขันด้านเศรษฐกิจและสังคมในเวทีสากล

อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมา ประเทศไทยได้มีความพยายามที่จะเพิ่มขีดความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษ  แต่ความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษก็ยังไม่เกิดผลสัมฤทธิเท่าที่ควร ดังจะเห็นได้จากผลการประเมินด้านผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาภาษาอังกฤษ ในหลายๆ ปีการศึกษา ที่ผ่านมาของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มัธยมศึกษาปีที่ 3 และมัธยมศึกษาปีที่ 6 ไม่ว่าจะเป็นผลสอบ O-NET หรือ GAT พบว่ามีคะแนนผลสัมฤทธิ์อยู่ในระดับต่ำ และเมื่อเปรียบเทียบกับวิชาอื่นๆ พบว่า คะแนนผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาภาษาอังกฤษแทบจะอยู่ในระดับต่ำสุด

บทความวิชาการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสภาพปัญหาการเรียนภาษาอังกฤษของคนไทยในด้านทักษะทั้ง 4 คือ การฟัง การพูด การอ่านและการเขียน จากศึกษาพบว่า คนไทยจะมีปัญหาในการเรียนภาษาอังกฤษมากกว่าประเทศเพื่อนบ้าน เช่น พม่า ลาว กัมพูชา ฟิลิปปินส์เป็นต้น ในด้านทักษะทั้ง 4 คือ ทักษะการฟัง ทักษะการพูด ทักษะการอ่านและทักษะการเขียนพบว่า คนไทยมีปัญหาในด้านทักษะการฟัง เช่น การฟังและเข้าใจบทสนทนาภาษาอังกฤษที่ใช้ในชีวิตประจำวัน การฟังวิทยุภาคภาษาอังกฤษและการฟังเสียงต้นฉบับจากภาพยนตร์ต่างประเทศเป็นต้นมากที่สุด ต่อมาทักษะการพูด เช่น การพูดทักทาย การแนะนำตนเอง การบอกทาง การสนทนาในชีวิตประจำวัน การอภิปรายเป็นภาษาอังกฤษมากที่สุด รองลงมาคือ  ทักษะการเขียนปัญหาที่พบคือ การเขียนรายงานเป็นภาษาอังกฤษ การจดคำบรรยายเป็นภาษาอังกฤษ การเขียนคำบรรยายสิ่งต่าง ๆ เป็นภาษาอังกฤษ การเขียนประวัติตนเองเป็นภาษาอังกฤษและทักษะการอ่านมีปัญหาน้อยที่สุด

ตั้งแต่เริ่มมีการเรียนการสอนออนไลน์ในวันที่ 18 พ.ค. ที่ผ่านมา หลายคนพูดถึงปัญหาที่พบเจอปัญหาระหว่างเรียนไม่ว่าจะเป็นเรื่อง เว็บไซต์และแอพพลิเคชั่นล่ม ผู้สอนสอนเร็วเกินไป ฯลฯ

แถมเมื่อไม่กี่วันก่อน ยังมีดราม่าครูสอนภาษาอังกฤษระดับ ป.6 ท่านหนึ่ง ที่โดนหลายคนวิจารณ์ว่าออกเสียงและใช้ไวยากรณ์ภาษาอังกฤษมีปัญหา แต่ก็มีคนที่ออกมาปกป้องครูท่านนี้เช่นกัน จนเกิดเป็นแฮซแท็ก #Saveครูวัง ขึ้นมา

The MATTER อยากจะพาทุกคนไปดูว่า ปัญหาของการสอนภาษาอังกฤษในโรงเรียนไทยมีอะไรบ้าง

 

ปัญหาการเรียนภาษาอังกฤษของนักเรียนไทยมีอะไรบ้าง?

ขาดครูที่มีทักษะทางด้านภาษาอังกฤษ

ปัญหานี้ถูกพูดถึงมานานแล้ว และเป็นปัญหาใหญ่ เมื่อทักษะภาษาอังกฤษของครูไม่ดี ครูก็ไม่สามารถสอนให้นักเรียนมีทักษะภาษาอังกฤษที่ดีได้ คุณภาพการศึกษาก็แย่ตามมา 

แอนดรูว์ กลาส ผู้อำนวยการบริติช เคานซิล ประเทศไทย เปิดเผยว่า ค่าเฉลี่ยทักษะภาษาอังกฤษของครูภาษาอังกฤษระดับชั้นประถม-มัธยมศึกษามากกว่า 75 % (ตามกรอบมาตรฐานการประเมินความสามารถทางภาษาจากประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป หรือ CEFR ) อยู่ในระดับ A2 หรือต่ำกว่าพื้นฐาน

ส่วน นงนุช สิงหเดชะ คอลัมนิสต์ประจำสํานักพิมพ์มติชน เคยกล่าวเมื่อปี พ.ศ.2552 ว่า ความล้มเหลวของการเรียนการสอนภาษาอังกฤษนั้น มีสาเหตุมาจากประสิทธิภาพของครู และครูผู้สอนบางคนนอกจากพูดเป็น ประโยคไม่ได้ ฟังไม่ออกแล้ว ยังมีปัญหาเรื่องการออกเสียงผิด

ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษายิ่งทำให้ปัญหานี้รุนแรงมากขึ้น เมื่อคนที่มีทุนสามารถเรียนในโรงเรียนที่ดีและได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ ส่วนคนที่มีทุนน้อยกว่า ต้องเรียนในโรงเรียนที่ขาดแคลนครูที่มีคุณภาพ 

ในบทความของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ (PIER) เรื่อง มองผลสัมฤทธิ์และความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาผ่านการประเมินผล PISA ของประเทศไทย ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์การศึกษาและผู้เขียนบทความ ระบุว่า นักเรียนไทยมีการแบ่งแยกกันเรียนในโรงเรียนตามระดับเศรษฐฐานะที่ค่อนข้างชัดเมื่อเทียบกับหลายๆ ประเทศ กล่าวคือ นักเรียนที่มีเศรษฐฐานะดีกับนักเรียนกลุ่มด้อยโอกาส มีสัดส่วนของการเรียนร่วมกันในโรงเรียนเดียวกันที่ต่ำ ในขณะที่นักเรียนที่มีเศรษฐฐานะสูง มีผลคะแนนสอบที่ดี มักจะกระจุกตัวกันอยู่ในโรงเรียนจำนวนไม่กี่แห่ง

ภูมิศรัณย์ ได้กล่าวในบทความด้วยว่า ประเทศที่มีลักษณะการแบ่งแยกทางการศึกษาเช่นนี้ทำให้นักเรียนกลุ่มด้อยโอกาสหรือโรงเรียนที่อยู่ในกลุ่มล่าง ๆ ทางเศรษฐฐานะได้รับผลกระทบ เช่น ทำให้เด็กด้อยโอกาส ขาดต้นแบบที่ดีในการเรียนที่มาจากเด็กในกลุ่มอื่น รวมไปถึง ทำให้ครูที่เก่งมีความต้องการไปสอนในโรงเรียนที่มีเด็กกลุ่มด้อยโอกาสมีน้อยลง เพราะโดยทั่วไปหากเลือกได้ครูมักพอใจที่จะสอนเด็กที่มีความพร้อมมากกว่า

 

ปัญหาการเรียนภาษาอังกฤษของนักเรียนไทยมีอะไรบ้าง?

เน้นสอนไวยากรณ์ ไม่เน้นสอนให้ใช้ภาษา

คนที่เคยผ่านการท่องจำศัพท์ภาษาอังกฤษเป็นร้อยเป็นพันคำ หรือ การจดจำเทนส์ต่างๆ เพื่อไปใช้ในการสอบ คงเข้าใจปัญหานี้เป็นอย่างดี ซึ่งนักวิชาการบางคนก็มองว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาเหมือนกัน 

อย่าง อ.มินตรา ภูริปัญญวานิช จากสถาบันภาษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยพูดถึงปัญหาการเรียนการสอนภาษาอังกฤษในประเทศไทยกับสำนักข่าวบีบีซีไทยว่า ครูรุ่นเก่าและใหม่คุ้นชินกับการสอนที่เน้นไวยากรณ์ และระบบการเรียนการสอนมุ่งเน้นให้เด็กสอบผ่าน ไม่ได้เน้นการฝึกใช้ภาษา 

เมื่อการสอนภาษาอังกฤษเน้นให้ท่องจำคำศัพท์และไวยากรณ์ไปสอบ มากกว่าเน้นให้เด็กใช้ภาษาอังกฤษเป็น พอเด็กสอบเสร็จแล้วก็ลืมเนื้อหาความรู้ ดังนั้น การสอนภาษาอังกฤษแบบนี้ ก็ไม่ได้ทำให้เด็กเห็นความสำคัญของการใช้ภาษาที่สอง

และทำให้เด็กขาดแรงจูงใจในการเรียนภาษาอังกฤษได้ด้วย เพราะรู้สึกว่าการเรียนภาษาอังกฤษเป็นเรื่องน่าเบื่อ ต้องเรียนไวยากรณ์ยากๆ และจำศัพท์จำนวนมาก 

ยังมีปัญหาที่เด็กไม่กล้าใช้ภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวัน เพราะกลัวว่า หากใช้ผิดไวยากรณ์แล้ว จะดูเป็นคนโง่ในสายตาของคนอื่น 

ปัญหาเหล่านี้ล้วนเป็นอุปสรรค์ต่อการพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษของคนไทย

 

ครูมีภาระงานเยอะเกินไป

นอกจากครูจะขาดทักษะภาษาอังกฤษที่ดีมากพอจะสอนเด็กได้แล้ว ภาระงานที่มากเกินไปยังทำให้ครูไม่มีเวลาในการพัฒนาทักษะภาษาอักฤษของตัวเอง

สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.)  ได้กำหนดเกณฑ์ชั่วโมงการสอนขั้นต่ำ อยู่ที่ 6 ชั่วโมง / สัปดาห์ (ปฐมวัย) และ 12 ชั่วโมง / สัปดาห์ (ประถมและมัธยม) แต่ข้อมูลจากโครงการติดตามสภาวะการณ์ครูรายจังหวัด (Teacher Watch) โดยสถาบันรามจิตติ พบว่าครูมีชั่วโมงการสอนเฉลี่ย 22 ชั่วโมงต่อสัปดาห์

ครูต้องทำภาระงานอื่นๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นงานเอกสาร งานธุรการ ต่างๆ ซึ่งผลการสำรวจของสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ระบุว่า ครูใช้เวลากับภาระงานอื่นมากถึง 13 ชั่วโมงต่อสัปดาห์

เมื่อครูหมดเวลาไปกับการทำงานหลายๆ อย่าง ไม่ค่อยมีเวลาในการทำอย่างอื่น เช่น เตรียมสอน หรือ พัฒนาภาษาอังกฤษ ทำให้ ครูก็สอนภาษาอังกฤษแบบเดิมๆ ต่อไปเรื่อยๆ และผลร้ายที่สุดที่ตามมาคือ เด็กก็ไม่ได้รับการศึกษาวิชาภาษาอังกฤษที่เหมาะสม เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมาอีก เช่น โอกาสในการศึกษาต่อในโรงเรียนที่ดีน้อยลง หรือ โอกาสที่จะได้งานที่ดีก็น้อยลง

ในบทความของสำนักข่าวโพสต์ทูเดย์ ชื่อ คุณครูจ๋า…เมื่อไหร่จะว่างสอนหนู? ได้มีความคิดเห็นของ อ.พรทิพย์ เย็นจะบก ที่กล่าวถึง สาเหตุทั่วไปที่ครูไม่มีเวลาสอน ได้แก่ 1.ครูมีงานพิเศษต้องทำ เช่น งานการเงิน พัสดุ วิชาการ บริหารทั่วไป กิจการนักเรียน บริหารบุคคล 2.มีการอบรมบ่อยครั้ง ครูบางคนทำงานหลายอย่างก็ต้องอบรมหลายครั้ง 3.ครูเอาเวลาไปทำผลงานวิชาการ อย่างมากก็แค่แจกใบงานแก่นักเรียน จึงเป็นปัญหาว่าครูมีผลงานทางวิชาการสูง แต่ผลสัมฤทธิ์นักเรียนต่ำ 4.ครูหลายคนไม่มีความรับผิดชอบ ไม่มีจิตวิญญาณในการเป็นครู

“ครู และผู้บริหาร ในแต่ละโรงเรียนเหนื่อยกันมาก มีงานให้ทำมากมายเกินจำเป็น วันๆ ครูก็แทบจะเอาตัวเองจะไม่รอดอยู่แล้ว น่าเห็นใจเป็นที่สุด น่าแปลกที่บนภาระของครูที่มากมายนั้น ไม่ได้ทำให้เด็กเก่งหรือดีขึ้นแม้แต่น้อย ครูถูกดึงเวลาออกไปจากเด็กมากจนวันๆ แทบไม่ได้สอนหนังสือ เราน่าจะไปผิดทาง เพราะเมื่อเราเหนื่อยขึ้น งานมากขึ้น เด็กๆ กลับแย่ลง ปัญหาสังคมเยาวชน และผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาทั่วประเทศก็ตกต่ำอย่างน่าใจหาย”  ความเห็นของ อ.พรทิพย์ ในบทความ

เด็กที่มีทุนอาจไปเรียนพิเศษเพื่อหาความรู้เพิ่มเติมได้ แต่เด็กด้อยโอกาสที่ไม่มีทุนมากพอและมีจำนวนมากในประเทศไทย ไม่ได้มีโอกาสเช่นนั้น มันก็สะท้อนให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของประเทศไทยเช่นกัน

 

ทักษะภาษาอังกฤษของคนไทยตกลง 3 ปีซ้อน

ปัญหาการเรียนการสอนภาษาอังกฤษถูกสะท้อนผ่านทักษะภาษาอังที่กฤษของคนไทยย่ำแย่ 

อ้างอิงจาก องค์กรนานาชาติ EF Education First (EF) ที่จัดทำรายงานดัชนีการจัดอันดับทักษะภาษาอังกฤษจากกลุ่มประเทศที่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษ หรือ EF English Proficiency  ประจำปี ค.ศ.2019 ระบุว่า ทักษะภาษาอังกฤษของคนไทยอยู่ในอันดับที่ 74 จาก 100 ประเทศ โดยมีคะแนนรวมอยู่ที่  47.62  จัดอยู่ในเกณฑ์ระดับต่ำมาก (very low)     

ย้อนกลับไปดูรายงานของปีก่อนหน้า ได้แก่ ปี ค.ศ.2017 ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 53 จาก 80 ประเทศ ด้วยคะแนนรวม 49.7  และปี ค.ศ.2018 ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 64 จาก 88 ประเทศ ด้วยคะแนนรวม 48.54