ภาวะโภชนาการ ในผู้ป่วย เบาหวาน

บทคัดย่อ

วัตถุประสงค์:เพื่อประเมินพฤติกรรมการบริโภคอาหารและภาวะโภชนาการของผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่  2  ที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี

รูปแบบและวิธีการวิจัย:เป็นการวิจัยเชิงพรรณนาแบบภาคตัดขวาง (Descriptive Cross – sectionalstudy) กลุ่มเป้าหมายคือผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเกาะสมุยจังหวัดสุราษฎร์ธานีจำนวน163คนเก็บข้อมูลโดยการใช้แบบสัมภาษณ์ความรู้ทัศนคติและการปฏิบัติด้านการควบคุมอาหารแบบสัมภาษณ์ความถี่ในการบริโภคอาหารประเมินภาวะโภชนาการโดยใช้ดัชนีมวลกายโดยใช้เกณฑ์คนเอเชียเก็บข้อมูลระหว่างเดือนตุลาคม  2558 ถึงเมษายน  2559วิเคราะห์ข้อมูลด้วยการหาค่าความถี่  ร้อยละ  คะแนนเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน

ผลการศึกษา:  พบว่าผู้ป่วยเบาหวานร้อยละ51.5 เป็นเพศหญิงอายุเฉลี่ย 61 ปี   ส่วนใหญ่มีสถานภาพคู่ร้อยละ 68.7 ระยะเวลาเป็นเบาหวาน  0-5  ปีร้อยละ 71.8  ส่วนใหญ่มีระดับคะแนนความรู้ปานกลางร้อยละ 55.8 มีระดับคะแนนทัศนคติปานกลางร้อยละ 62.6ระดับคะแนนผู้ป่วยเบาหวานควบคุมอาหารบ้างไม่ควบคุมบ้างร้อยละ 65.64  รับประทานครบทั้ง 3 มื้อ ผู้ป่วยเบาหวานรับประทานข้าวจ้าวเป็นหลักร้อยละ 80.98   ในด้านความถี่การบริโภคอาหารผู้ป่วยส่วนใหญ่บริโภคข้าวขัดขาว   หมู และนมจืดทุกวันร้อยละ62.64, 92.02และ 61.35ตามลำดับบริโภคอาหารประเภทผัดทุกวันร้อยละ50.92  ผู้ป่วยมีภาวะอ้วน (BMI ≥25.0 kg/m2)ร้อยละ53.9 และมีระดับน้ำตาลในเลือดขณะอดอาหาร ≥  130   mg/dl  ร้อยละ 61.97 

คำสำคัญ  :  พฤติกรรม,ภาวะโภชนาการ,ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่  2 

Downloads

Download data is not yet available.

References

สุพรรณ ศรีธรรมมา. กรมการแพทย์กระทรวงสาธารณสุข.กระทรวงสาธารณสุข, นนทบุรี ; 2555.

ราม รังสินธ์ และคณะ. ผลการศึกษาการประเมินผลการดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 และความดันโลหิตสูงของโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขและโรงพยาบาลในสังกัดกรุงเทพมหานคร ประจำปี 2553 – 2555 : 33 -60 .

มยุราอินทรบุตร. การรับรู้และการปฏิบัติด้านการควบคุมอาหารของผู้ป่วยโรคเบาหวานประเภทที่ 2. วิทยานิพนธ์ปริญญาสาธารณสุขศาสตรมหาบัณฑิตสาขาวิชาโภชนาการ
ชุมชนบัณฑิตวิทยาลัยมหาวิทยาลัยขอนแก่น :ขอนแก่น ; 2550.

โรงพยาบาลเกาะสมุยข้อมูลฝ่ายทรัพยากรบุคคล จังหวัดสุราษฏร์ธานี 2559.(เอกสารสำเนา)

ธิรยาวชีรเมธาวี. ความสัมพันธ์ของปัจจัยนำปัจจัยเอื้อและปัจจัยเสริมกับการปฏิบัติตัวของผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ที่ไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ในโรงพยาบาลขอนแก่นจังหวัดขอนแก่น. วิทยานิพนธ์ปริญญาสาธารณสุขศาสตรมหาบัณฑิตสาขาวิชาสุขศึกษาและการส่งเสริมสุขภาพบัณฑิตวิทยาลัยมหาวิทยาลัยขอนแก่น; 2550.

วาสนาธรรมวงศา. พฤติกรรมการบริโภคอาหารและภาวะโภชนาการของผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ที่มารับบริการที่โรงพยาบาลมโหสดนครหลวงเวียงจันทน์สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว. ปริญญาสาธารณสุขศาสตรมหาบัณฑิตสาขาวิชาโภชนศาสตร์เพื่อสุขภาพบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น;2554: 45

ธมารินทร์เงินทิพย์. ทัศนคติด้านการบริโภคอาหารของผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ที่มารับบริการที่คลินิกเบาหวานโรงพยาบาลไสยจังหวัดกาฬสินธุ์. วารสารวิจัยและพัฒนาระบบ
สุขภาพ; 2553 : 3(2), 40-45.

รติรัตน์ กสิกุล.ความรู้และทัศนคติเกี่ยวกับการบริโภคอาหารตามการนับคาโบไฮเดรตและอาหารที่ได้รับของผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ที่ได้รับคำปรึกษาวิธีนับคาโบไอเดรต.วารสารโรงพยาบาลมหาสารคาม ,ปีที่ 11 ฉบับที่ 1 เดือนมกราคม –เมษายน 2557:…..-……

วิไลลักษณ์ไทยศิริ. ความสัมพันธ์ระหว่างความรู้ทัศนคติและการปฏิบัติตนระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเบาหวานที่เข้ารับบริการในคลินิกผู้ป่วยโรคเรื้อรังโรงพยาบาล.ปากช่องนานาส.บ.มหาสารคาม: มหาวิทยาลัยมหาสารคาม;2550.

ศรีวิทย์นราธรสวัสดิกุล. ผลการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเบาหวานที่ติดตามการรักษาและปัจจัยที่เกี่ยวข้องในคลินิกเบาหวานโรงพยาบาลพิจิตร: การศึกษาระยะเวลา1 ปี. วารสารวิชาการสาธารณสุข; 2551: 17(3), 470-476.

ศุภลักษณ์ฮามพิทักษ์. พฤติกรมมการบริโภคอาหารและการดูแลตนเองของผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ที่มีและไม่ภาวะไขมันในเส้นเลือดสูงแทรกซ้อนที่มารับบริการในคลินิกโรคเบาหวานโรงพยาบาลสุวรรณคูหาจังหวัดหนองบัวลำภู.วิทยานิพนธ์ปริญญาสาธารณสุขศาสตรมหาบัณฑิตสาขาวิชาโภชนศาสตร์เพื่อสุขภาพบัณฑิตวิทยาลัย
มหาวิทยาลัยขอนแก่น; 2550.

ภาวะโภชนาการ ในผู้ป่วย เบาหวาน

How to Cite

License

วารสารนี้เป็นลิขสิทธิ์ของโรงพยาบาลมหาสารคาม

ปัจจุบันผู้ป่วยเบาหวานสามารถเลือกรับประทานอาหารต่างๆ ได้เช่นเดียวกับคนปกติ แต่จำเป็นต้องเรียนรู้ว่าจะรับประทานอาหารได้มากน้อยเพียงใดจึงจะไม่ทำให้น้ำตาลในเลือดสูง การรับประทานข้าวแต่น้อยหรือไม่รับประทานเลยแล้วไปเพิ่มอาหารอย่างอื่น เช่น ผลไม้เนื้อสัตว์ ในปริมาณมากๆ ไม่ใช่วิธีการปฏิบัติที่ถูกต้องทั้งยังอาจทำให้ระดับน้ำตาลและไขมันในเลือดสูงอีกด้วย

วิธีการทานอาหารที่ถูกต้อง สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน

ผู้ป่วยควรเลือกรับประทานอาหารหลากหลายชนิดเพื่อให้ได้สารอาหารครบถ้วนที่ร่างกายต้องการ โดยเลือกรับประทานอาหารตามกลุ่มต่างๆ ดังนี้

กลุ่มที่ 1 คาร์โบไฮเดรต เป็นกลุ่มที่มีผลกระทบต่อระดับน้ำตาลในเลือดโดยตรง คนส่วนใหญ่เข้าใจว่าคาร์โบไฮเดรต มีเฉพาะในอาหารกลุ่มข้าวและแป้ง  แต่ที่แท้จริงคาร์โบไฮเดรตยังซ่อนอยู่ในอาหารพวก ผลไม้ นม ผักประเภทหัว น้ำตาลทราย น้ำผึ้ง

อาหารจำพวก ข้าว ก๋วยเตี๋ยวขนมปัง เผือกมัน ถั่วเมล็ดแห้ง 1 ส่วนประกอบด้วย คาร์โบไฮเดรต 15 กรัม โปรตีน 3 กรัม ให้พลังงาน 80 กิโลแคลอรีนั่นคือ

ข้าวสุก ½ ถ้วยตวง (ประมาณ 1 ทัพพีเล็กในหม้อหุงข้าวไฟฟ้า)

ก๋วยเตี๋ยวเส้นใหญ่, เส้นเล็ก ½ ถ้วยตวง (ประมาณ 1 ทัพพีเล็ก)

ถั่วเขียว, ถั่วดำ, ถั่วแดงสุก ½ ถ้วยตวง

ข้าวต้ม ¾ ถ้วยตวง (2 ทัพพีเล็ก), วุ้นเส้นสุก ½ ถ้วยตวง

ขนมจีน 1 จับ, บะหมี่ ½ ก้อน

ขนมปังปอนด์ 1 แผ่น, มันฝรั่ง 1 หัวกลาง

ข้าวโพด 1 ฝัก ( 5 นิ้ว ), แครกเกอร์สี่เหลี่ยม 3 แผ่น

ผู้ป่วยโรคเบาหวานรับประทานอาหารในกลุ่มนี้ได้เช่นเดียวกับคนปกติไม่จำเป็นต้องงดหรือจำกัดมากเกินไป เพราะข้าวเป็นแหล่งของพลังงานที่ร่างกายต้องการใช้เพื่อการทำกิจกรรมต่างๆ ส่วนจะรับประทานได้เท่าไรนั้น ขึ้นกับอายุ น้ำหนักตัวและกิจกรรมหรือแรงงานที่ผู้ป่วยทำ

ผู้ป่วยโรคเบาหวานควรเลือกรับประทานข้าวซ้อมมือ ข้าวกล้อง ธัญพืชที่ผ่านกระบวนการขัดสีน้อยหรือขนมปังที่ทำจากแป้งที่ไม่ขัดสี เพื่อจะได้ใยอาหารเพิ่มขึ้นควรพยายามหลีกเลี่ยงกลุ่มอาหารที่มีส่วนผสมของน้ำตาล เช่น น้ำหวาน น้ำอัดลม น้ำผลไม้  ขนมหวานทั้งแบบไทยและแบบฝรั่ง

กลุ่มที่ 2 ผักชนิดต่างๆ 1 ส่วน มีคาร์โบไฮเดรต 5 กรัม โปรตีน 2 กรัม ให้พลังงาน 25 กิโลแคลอรี

แครอต, ฟักทอง, ข้าวโพดอ่อน ½ ถ้วยตวง

ผักคะน้า, บรอกโคลี ½ ถ้วยตวง

ถั่วแขก, ถั่วลันเตา, ถั่วฝักยาว ½ ถ้วยตวง

น้ำมะเขือเทศ, น้ำแครอต ½ ถ้วยตวง

          อาหารกลุ่มนี้มีวิตามิน เกลือแร่ และใยอาหารสูง ผู้ป่วยเบาหวานควรรับประทานให้มากขึ้นในทุกมื้ออาหาร โดยเฉพาะผักใบสีเขียวสดหรือสุกรับประทานได้ตามต้องการ ถ้านำผักมาคั้นเป็นน้ำ ควรรับประทาน กากด้วยเพื่อจะได้ใยอาหาร จะช่วยลดการดูดซึมน้ำตาลและไขมันในอาหารทำให้ระดับน้ำตาลและไขมันในเลือดลดลง ผู้ป่วยโรคเบาหวานควรรับประทานผักวันละ 2-3 ถ้วยตวง ทั้งผักสดและผักสุกเพื่อให้ได้ใยอาหาร 15 กรัมต่อวัน

กลุ่มที่ 3 กลุ่มผลไม้ 1 ส่วน มีคาร์โบไฮเดรต 15 กรัม ให้พลังงาน 60 กิโลแคลอรี

กล้วยน้ำว้า 1 ผล, ฝรั่ง ½ ผลใหญ่, ส้ม 1 ผล (2 ½ นิ้ว)

กล้วยหอม ½ ผล, แอปเปิล 1 ผลเล็ก, ชมพู่ 2 ผล

มะม่วงอกร่อง ½ ผล, เงาะ 4-5 ผล, ลองกอง 10 ผล

มะละกอสุก 8 ชิ้นขนาดคำ, แตงโม 10 ชิ้นขนาดคำ

น้ำผลไม้ 1/3 ถ้วยตวง

          ผลไม้ทุกชนิดมีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบ ถึงแม้จะมีใยอาหารแต่หากรับประทานมากกว่าปริมาณที่กำหนด จะทำให้น้ำตาลในเลือดสูงได้ ผู้ป่วยโรคเบาหวานควรเลือกรับประทานผลไม้ 1 ชนิดต่อมื้อ วันละ 2-3 ครั้งหลังอาหาร ควรหลีกเลี่ยงผลไม้หวานจัด เช่น ทุเรียน ขนุน ละมุด หรือ ผลไม้ตากแห้ง ผลไม้กวนผลไม้เชื่อม ผลไม้แช่อิ่ม ผลไม้กระป๋อง การรับประทานผลไม้ครั้งละมากๆ แม้จะเป็นผลไม้ที่ไม่หวานก็ทำให้น้ำตาลในเลือดสูงได้

กลุ่มที่ 4 โปรตีน อาหารที่ให้โปรตีนเป็นหลักคือกลุ่มเนื้อสัตว์ กลุ่มนมและผลิตภัณฑ์จากนม ควรทานโปรตีนร้อยละ 15-20 ของพลังงานทั้งหมด

เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน 1 ส่วน มีโปรตีน 7 กรัม ไขมัน 3 กรัม ให้พลังงาน 55 กิโลแคลอรี

เนื้อหมู, เนื้อวัว ไม่ติดมันและหนัง หั่น 8 ชิ้น (ประมาณ 2 ช้อนโต๊ะ)

เนื้อไก่, เป็ด ไม่ติดมันและหนัง หั่น 8 ชิ้น

ปลาทู (ขนาด 1 ¼ นิ้ว) 1 ตัว, ลูกชิ้น 6 ลูก

เต้าหู้ขาว ½ หลอด, ไข่ขาว 3 ฟอง

          อาหารกลุ่มนี้ให้โปรตีนเป็นหลัก ผู้ป่วยโรคเบาหวานควรได้รับทุกมื้อ มื้อละ 4-6 ช้อนกินข้าวพูนน้อยๆ และควรเลือกเนื้อสัตว์ชนิดไม่ติดมันและหนัง รับประทานปลา 2 ครั้งต่อสัปดาห์ เพื่อให้ได้โอเมก้า 3  และควรเลือกดื่มนมพร่องมันเนยปริมาณ 1 กล่อง (225-250 ม.ล.) ต่อวัน

กลุ่มที่ 5 ไขมัน  ไม่ควรรับประทานไขมันเกินร้อยละ 30 ของพลังงานรวมแต่ละวัน  ควรเน้นเลือกรับประทานไขมันชนิดที่ดี ที่มีกรดไขมันอิ่มตัวตำแหน่งเดียว (monosaturated fatty acid; MUFA) ร้อยละ 10-15 ของพลังงานรวม  และกรดไขมันไม่อิ่มตัวหลายตำแหน่ง (polyunsaturated fatty acid; PUFA) ไม่เกินร้อยละ 10 ของพลังงานรวม   ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานไขมันชนิดไม่ดีที่มีกรดอิ่มตัว (Saturated fatty acid: SF) ไม่เกินร้อยละ 7 ของพลังงานรวม และไขมันทรานส์ (เนยขาว) ไม่เกินร้อยละ 1 ของพลังงานรวม

ไขมัน 1 ส่วนมีไขมัน 5 กรัมให้พลังงาน 45 กิโลแคลอรี

น้ำมันพืช/น้ำมันหมู 1 ช้อนชา, เนย 1 ช้อนชา, กะทิ 1 ช้อนโต๊ะ

มายองเนส 1 ช้อนชา, เบคอนทอด 1 ชิ้น, ครีมเทียม 4 ช้อนชา

เมล็ดมะม่วงหิมพานต์ 6 เมล็ด, ถั่วลิสง 20 เมล็ด

        น้ำมันทั้งพืชและสัตว์ให้พลังงานเท่ากัน แต่น้ำมันพืชไม่มีคอเลสเตอรอล ส่วนน้ำมันมะพร้าวและกะทิ มีกรดไขมันอิ่มตัวจำนวนมากทำให้มีการสร้างคอเลสเตอรอลในร่างกายเพิ่มขึ้น  ผู้ป่วยเบาหวานควรเลือกใช้น้ำมันพืช เช่น น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันรำข้าวในการประกอบอาหารจานผัดและจานทอดที่ไม่ใช้ความร้อนสูง ส่วนน้ำมันมะกอกเหมาะในการใช้ทำน้ำสลัด

กลุ่มที่ 6 น้ำนม 1 ส่วนมีโปรตีน 8 กรัมคาร์โบไฮเดรต 12 กรัมจำนวนพลังงานแตกต่างกันตามปริมาณไขมันในน้ำนมชนิดนั้นๆ

น้ำนมไขมันเต็ม 240 มล. มีไขมัน 8 กรัม ให้พลังงาน 150 กิโลแคลอรี

น้ำนมพร่องมันเนย 240 มล. มีไขมัน 5 กรัม ให้พลังงาน 120 กิโลแคลอรี

น้ำนมไม่มีไขมัน 240 มล. มีไขมันน้อยมาก ให้พลังงาน 90 กิโลแคลอรี

โยเกิร์ตชนิดครีมไม่ปรุงแต่งรส 240 มล.ปริมาณพลังงานขึ้นกับชนิดของนมที่นำมาทำโยเกิร์ต ถ้าใช้ไขมันเต็ม จะให้พลังงาน 150 กิโลแคลอรี เท่ากับน้ำนม

       ผู้ป่วยโรคเบาหวานควรหลีกเลี่ยงนมปรุงแต่งรส โยเกิร์ตชนิดครีมปรุงแต่งรสนมเปรี้ยวพร้อมดื่ม เพราะนมเหล่านี้มีการเติมน้ำตาลหรือ น้ำหวานควรเลือกดื่มนมพร่องมันเนย

       จะเห็นว่าผู้ป่วยโรคเบาหวานในปัจจุบัน มีอิสระในการเลือกอาหารมากขึ้นและอาหารที่แนะนำให้ผู้ป่วยโรคเบาหวานก็มิได้แตกต่างจากอาหารคนปกติ แต่จะเป็นลักษณะของอาหารที่มีน้ำตาลน้อย ไขมันต่ำ รสอ่อนเค็ม ซึ่งเป็นอาหารที่เหมาะสมสำหรับทุกคน ไม่ใช่เฉพาะผู้ป่วยเบาหวานเท่านั้น เพียงแต่ผู้ป่วยเบาหวานจำเป็นต้องเรียนรู้วิธีการเลือกชนิดอาหาร ปริมาณที่รับประทานการแลกเปลี่ยนและการทดแทนอาหารเพื่อจะสามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้อย่างสม่ำเสมอ