การทำบุญให้ทานมีส่วนประกอบที่สำคัญอย่างไร

วัตถุบริสุทธิ์ หมายถึง สิ่งของที่จะทำทานจะเป็นอะไรก็ตาม จะซื้อเขามาหรือขอเขามาก็ได้ แต่ต้องเป็นสิ่งของที่เราทำมาหาได้โดยสุจริต ไม่ได้ลักขโมย คดโกง เบียดเบียน หรือหลอกลวงเขามา ถ้าเป็นของซื้อ เงินที่ซื้อจะต้องเป็นเงินที่เราทำมาหากินได้โดยสุจริต

ที่สำคัญของที่จะนำมาให้ผู้อื่นนั้น ต้องไม่เป็นโทษแก่ผู้รับเช่นไม่ใช่สิ่งเสพติด อาวุธ หรือสื่อยั่วยุทางกามารมณ์ อย่างหนังโป๊ หรือหนังสือภาพลามกประเภทต่างๆ วัตถุทานที่ไม่เสริมให้เกิดกิเลสทั้งหลายจึงจะชื่อว่าเป็นวัตถุทานที่บริสุทธิ์โดยแท้

  1. 2.              เจตนา

การให้ทานที่ได้ผลมากที่สุดก็คือการให้ทานด้วย “เจตนาหรือความตั้งใจ” ที่หวังให้ผู้อื่นเป็นสุข แม้ทานนั้นจะเป็นสิ่งเล็กน้อยแค่ไหนก็ตามก็ย่อมให้ผลมาก เจตนาบริสุทธิ์ หมายถึง เจตนาของผู้ที่ให้ จะต้องให้ด้วยความบริสุทธิ์ใจจริงๆ มุ่งให้เกิดความดีงาม

เจตนานั้นต้องไม่ได้ให้เพื่ออวดมั่งมี อวดรวย อวดดี หรือเพื่อโอ้อวดอย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะการให้เช่นนั้น จะเป็นการให้ที่มีเจตนาเห็นแก่ตัว ทำไปแล้วใจไม่สบาย ใจไม่บริสุทธิ์ เจตนาที่บริสุทธิ์แห่งการให้จะมีความสมบูรณ์ในเจตนาทั้งสามระยะคือ

2.1 เจตนาระยะช่วงก่อนให้ทาน

ช่วงที่เราจะให้ทานใดๆ คือในระยะการแสวงหาทรัพย์หรือสิ่งของที่กำลังจะนำไปทำทาน หรือแม้แต่ทานที่ออกมาจากใจ อย่าง ธรรมทานหรืออภัยทานก็ตาม จิตใจของเรามีแต่ความสุขเบิกบานยินดี  เช่น ขณะที่กำลังทำงานหาเงินอยู่ จิตใจก็มีความร่าเริงเพราะดีใจที่จะได้เอาเงินที่หามาได้อย่างสุจริตนี้ไปทำบุญ การตั้งเจตนาไว้อย่างนี้ทานจึงมีผลมาก

2.2      เจตนาระยะช่วงในขณะที่กำลังให้ทาน

ระยะที่เรากำลังให้ทานไม่ว่าจะเป็น ทานที่เป็นทรัพย์ภายนอกหรือ ที่เป็นทรัพย์ภายใน ขณะที่กำลังให้อยู่ จิตใจก็มีความสุขเบิกบานยินดีในทานนั้น เช่น ในขณะที่กำลังตักข้าวใส่บาตรพระก็มีจิตใจที่เปี่ยมด้วยความสุขเบิกบานใจ เต็มใจให้

2.3      เจตนาระยะช่วงหลังจากให้ทานไปแล้ว

คือเมื่อได้ให้ทานไปแล้ว หลังจากนั้นก็ดี หรือผ่านมานานแค่ไหนแล้วก็ตามเมื่อได้หวนกลับไปคิดถึงว่าตอนนั้นเราได้ทำทานด้วยความสุขใจ ยิ่งคิดถึงก็ยิ่งมีความสุขเบิกบานขึ้นรู้สึกยินดีที่ได้ทำทานอย่างนั้นก็จะยังอานิสงส์และความสุขให้เกิดขึ้นอีกมาก

  1. 3.              บุคคลผู้รับทานบริสุทธิ์

คำว่าบุคคลผู้รับทานบริสุทธิ์ หมายถึง บุคคลสองฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับทานนั้น คือ ผู้ให้และผู้รับ ต้องเป็นคนที่บริสุทธิ์ โดยที่ผู้ให้ต้องเป็นผู้มีศีลธรรม ฉะนั้นก่อนถวายทานจึงมักต้องมีการสมาทานศีลก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้รับต้องมีศีลมากและมีความงดงามในความประพฤติ มีคุณธรรมสูง ดังที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ ตรัสถึงความสำคัญของผู้ให้และผู้รับไว้ใน ทักขิณาวิภังคสูตร7 ว่า

 

“ผู้ใดมีศีล ได้ของมาโดยธรรม มีจิตเลื่อมใสดี เชื่อกรรมและผลของกรรมอย่างยิ่ง ให้ทานในคนมีศีล เรากล่าวทานของผู้นั้นแลว่า มีผลไพบูลย์ ผู้ใดปราศจากราคะแล้ว ได้ของมาโดยธรรม มีจิตเลื่อมใสดี เชื่อกรรมและผลของกรรมอย่างยิ่ง ให้ทานในผู้ปราศจากราคะ ทานของผู้นั้นนั่นแลเลิศกว่าอามิสทานทั้งหลาย”

ตัวผู้รับทานนั้นมีส่วนแห่งบุญกุศลมากและผลแห่งทานเกิดขึ้นมากนั้นจริงมากน้อยแค่ไหน พึงพิจารณาตัวอย่างดังต่อไปนี้

อังกุระและอินทกะเทพบุตร

สมัยเมื่อพระพุทธเจ้าได้เสด็จขึ้นไปบนสวรรค์ ชั้นดาวดึงส์เพื่อโปรดพระพุทธมารดา พระองค์ได้ประทับอยู่ที่บัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ ในเวลานั้นมีเทวดา 2 องค์มาเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าก่อนคนอื่นทั้งหมด ยกเว้นไว้แต่พระอินทร์ หรือท่านท้าวสักกะเทวราช พระอินทร์นั้นท่านเป็นเจ้าภาพเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในสวรรค์ชั้นนี้ท่านจึงต้องรีบมารับเสด็จอยู่ก่อน

มีเทวดาองค์หนึ่งมาเข้าเฝ้า นามว่าอินทกะเทพบุตรมานั่งอยู่เบื้องขวาที่พระบาทของพระพุทธองค์ และท่านเทวดาอีกตนชื่อ อังกุระเทพบุตร มานั่งข้างเบื้องซ้ายของพระบาทเช่นกัน

สักพักก็มีเหล่าเทวดามากันมากมายหมดทั้งสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ลงมาเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าพร้อมกันทั้งหมดโดยที่ ท่านอินทกะเทพบุตรได้นั่งอยู่ตรงที่เดิม ส่วนท่านอังกุระเทพบุตรต้องถอยไปอยู่ท้ายสุดของเหล่าขบวนเทวดา ต้องนั่งอยู่ริมนอกเพราะเป็นเทวดาที่มีบุญน้อยที่สุดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์นี้เนื่องจากรัศมีของท่านอังกุระสว่างน้อยกว่าใครจึงจำเป็นต้องหลีกให้เทวดาที่มีบุญมากกว่า

พระพุทธเจ้าตรัสถามอังกุรเทพบุตรว่า

“อังกุระ เมื่อสมัยเมื่อตถาคตขึ้นมาสวรรค์ใหม่ๆ มาถึงใหม่ เธอนั่งใกล้ ข้างขาข้างซ้าย เวลานี้เทวดาทั้งหลายมากันครบถ้วนแล้ว แต่ว่าเธอกลับต้องมานั่งอยู่ท้ายผู้อื่น ตถาคตอยากจะทราบว่าในสมัยที่เธอเป็นมนุษย์ เธอทำบุญอะไรไว้จึงได้เป็นเทวดาที่มีบุญน้อยที่สุดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์แห่งนี้”

อังกุระเทพบุตร จึงได้กราบทูลพระพุทธเจ้าว่า

 

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในสมัยที่ข้าพระพุทธเจ้าเป็นมนุษย์นั้น เป็นมหาเศรษฐีมีทรัพย์มาก ในสมัยนั้นเป็นต้นกัป มนุษย์มีอายุยืนยาวมากอายุถึง 80,000 ปีจึงจะสิ้นอายุไข ต่อมาสมัยที่ข้าพระพุทธเจ้าเป็นคนแก่มีชีวิตเหลืออีก 20,000 ปีจึงจะสิ้นอายุ จึงได้ให้บริวารตั้งโรงทานเอาไว้ถึง 80 แห่ง

 

โรงทานนี้มีไว้บริจาคทานให้แก่คนยากทั้งหลาย คือ คนเดินทาง ทั้งกลางวันและกลางคืน ทั้งอาหารการบริโภค เสื้อผ้าของใช้ตามสมควร แต่ว่าช่วงเวลานั้นเป็นช่วงที่ว่างจากพระพุทธศาสนา คนไม่มีศีลไม่มีธรรมมีอยู่เป็นจำนวนมากเพราะไม่มีพระพุทธเจ้าทรงสอนบุญที่ได้จึงน้อยพระพุทธเจ้าข้า”

หลังจากนั้นพระพุทธองค์จึงตรัสถาม ท่านอินทกะเทพบุตร ว่า

 

“อินทกะ เมื่อตถาคต มาถึงใหม่ๆ เธอมาถึงแล้วก็นั่งตรงนี้เวลานี้ เทวดาทั้งหลายมาหมดสวรรค์ชั้นดาวดึงส์แล้ว เธอก็ยังได้นั่งอยู่ตรงนี้ตถาคตอยากจะทราบว่า ในสมัยที่เป็นมนุษย์เธอสร้างความดี คือบุญกุศลอะไรไว้ เธอจึงเป็นเทวดาที่มีศักดาใหญ่รองลงมาจากพระอินทร์เล่า”

ท่านอินทกเทพบุตรจึงกราบทูลพระพุทธเจ้าว่า

 

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ การที่ข้าพระพุทธเจ้าสมัยยังเป็นมนุษย์นั้น นับได้ว่าเป็นคนที่จนที่สุด หมายความว่าเป็นคนจนมากต้องอาศัยอยู่ในป่าต่อมาท่านพ่อตายเหลือแต่ท่านแม่ ข้าพเจ้าก็มีความกตัญญูรู้คุณพ่อแม่เลี้ยงแม่ด้วยการตัดฟืน เหนื่อยยากลำบากขนาดไหนก็ไม่สนใจ สนใจอย่างเดียวว่าทำอย่างไรแม่จึงจะมีความสุขตามกำลังที่จะให้ท่านได้

 

ข้าพเจ้าอยู่มาวันหนึ่งมีพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาเดินทางมาก็เป็นเวลาที่พอดีมีอาหารอยู่บ้าง ตามฐานะของคนจน ยามปกติไม่มีของบางครั้งพระมาก็ไม่มีอะไรจะถวาย ก็เลยต้องจำใจนิ่งไว้ เพราะอยากจะถวาย วันนั้นพอดีของในครัว พอมีอยู่บ้างพระท่านก็มาพอดี จึงมีโอกาสได้อาราธนาพระ ถวายเป็นสังฆทานได้ครั้งเดียวในชีวิต 

 

ในชีวิตของข้าพระพุทธเจ้า เป็นคนจนแม้ถวายสังฆทานครั้งเดียวแต่ก็มีความกตัญญูรู้คุณกับแม่ด้วย พอตายจากความเป็นคน จึงได้มาเกิดเป็นเทวดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เป็นเทวดาที่มีอานุภาพมากกว่าเทวดา อื่นๆ รองจากพระอินทร์พระเจ้าข้า”

จากเรื่องนี้แสดงให้เห็นว่า ทานจะให้ผลมากและสมบูรณ์ต่อเมื่อได้ถวายแด่ผู้รับที่บริสุทธิ์ เป็นทักขิไณยบุคคลหรือผู้ที่สมควรจะรับทานนั้น ผู้รับจึงมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่จะทำให้ทานนั้นเกิดประโยชน์สูงสุด

  1. 4.              อาการของการให้

อาการของการให้ทานเป็นองค์ประกอบอย่างสุดท้ายที่มีผลต่อทานที่ให้นั้น ครั้งหนึ่งท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี มีความสงสัยว่าทานที่ตนเองให้แก่พระพุทธเจ้าและเหล่าพระสาวกจะมีผลมากน้อยเพียงใดเพราะในขณะนั้นท่านยากจนลงมาก ไม่อาจถวายของประณีตได้เช่นเคย พระพุทธเจ้าจึงตรัสแสดงธรรมถึงอาการแห่งการให้นั้นมีผลมากกว่าตัวของวัตถุทานมาก

การให้ทานนั้นจะเป็นของดีหรือไม่ก็ตาม ผลแห่งทานจะมีความสมบูรณ์หากได้ให้ด้วยอาการแห่งการให้ที่สมบูรณ์ที่เรียกว่า “สัปปุริสทาน” แยกได้เป็น 3 ประเภทได้แก่

 

สัปปุริสทานอย่างที่หนึ่ง

อาการแห่งการให้ทานนั้นเป็นไปโดยให้โดยความเคารพ 1 ให้โดยอ่อนน้อม 1ให้ด้วยมือตนเอง 1                                       ให้ของไม่เป็นเดน 1 และเห็นผลที่จะมาถึงการให้ 1

 

สัปปุริสทานอย่างที่สอง

พระพุทธเจ้าตรัสว่า “สัตบุรุษย่อมให้ทาน ด้วยศรัทธา 1  ย่อมให้ทานโดยเคารพ 1 ย่อมให้ทานโดยกาลอันควร , เป็นผู้มีจิตอนุเคราะห์ให้ทาน 1 และย่อมให้ทานไม่กระทบตนเองและผู้อื่น 1” ขอนำมาขยายความดังนี้ได้ว่า

1. ให้ทานด้วยศรัทธา คือให้ด้วยความเลื่อมใสในกฎแห่งกรรมว่า ทำดีย่อมได้ผลที่ดี ทำชั่วก็ได้ผลเป็นทุกข์ให้เดือดเนื้อร้อนใจ เชื่อว่าสัตว์ทั้งหลายนั้น ย่อมมีกรรมเป็นของตน ล้วนต่างเป็นไปตามกรรมที่ตนกระทำ คนที่รู้จักให้ย่อมเป็นผู้ที่ได้รับ

 

2. ให้ทานด้วยความเคารพ คือเคารพในตัวบุคคล มีความอ่อนน้อม เช่น การให้ของโดยการยกประเคนด้วยมือทั้งสอง รวมทั้งให้ด้วยกิริยาอาการที่เคารพในทาน เช่น ยกขึ้นเหนือหัวแล้วจึงให้ ผู้ที่ให้ทานด้วยความเคารพย่อมเป็นผู้มั่งคั่งมีทรัพย์มากและจะเป็นผู้ที่มีบุตร ภรรยา บริวารคนใช้หรือคนงาน ที่อยู่ในโอวาทคอยเชื่อฟังคำสั่งสอนเป็นอย่างดี

 

3.ให้ทานตามกาล คือ การให้ในเวลาที่สมควร ซึ่งเป็นเวลาจำเพาะที่จะต้องให้ในช่วงนี้เท่านั้นหากเลยเวลานี้ไปก็ไม่สำเร็จประโยชน์หรือเกิดผลแห่งทานแล้ว เช่น การถวายผ้ากฐินแด่สงฆ์ ซึ่งต้องกระทำในช่วงภายหลังจากออกพรรษาในเวลา 1 เดือนเท่านั้น เป็นต้น สำหรับ “กาลทาน”อื่น ๆทั่วไป พระพุทธทรงแสดงไว้ใน กาลทานสูตร มีอีก 5 อย่าง คือ

 

– อาคันตุกะทาน การให้ทานแก่ผู้มาสู่ถิ่นของตน เมื่อมีแขกเหรื่อต่างถิ่นมาก็ควรให้ความช่วยเหลือ

–  คมิกะทาน การให้ทานแก่ผู้ที่เตรียมตัวจะเดินทางไปยังที่ต่างๆ ที่ไม่ใช่ท้องถิ่นตนก็ควรให้กับคนเหล่านี้เพื่ออนุเคราะห์ไม่ให้เขาได้ลำบากระหว่างการเดินทาง

 

– ทุพภิกขะทาน คือการให้ทานในช่วงเวลาที่ข้าวยากหมากแพงหรือเศรษฐกิจตกต่ำหรือประสบภาวะอุบัติภัยทั้งหลาย เช่น น้ำท่วม ไฟไหม้ แผ่นดินไหว ปรากฏการณ์เหล่านี้เป็นเหตุการณ์ที่ควบคุมไม่ได้มีผู้เดือดร้อนจำนวนมากจำเป็นที่ผู้มั่งมีควรบริจาคช่วยเหลือ

– นวสัสสะทานให้ทานเมื่อมีข้าวใหม่ๆ ก็นำมาทำทานก่อน คือการให้ของที่ประณีตที่สุดแก่ผู้รับ ข้าวใหม่หรือข้าวปากหม้อนั้นเป็นข้าวที่เนื้อดีที่สุดควรนำมาให้ก่อน

– นวผละทานให้ทานเมื่อมีผลไม้ออกใหม่ก็นำมาทำทานก่อน ผลไม้ที่สุกใหม่ออกผลใหม่มีความสดมากแสดงถึงเจตนาแห่งการให้ที่จะให้ของดีๆ แก่ผู้รับ เป็นการแสดงเจตนาละความโลภได้ดี

 

4. ให้ทานด้วยจิตอนุเคราะห์ เช่นเป็นผู้ที่มีจิตเป็นพรหมหรือมีพรหมวิหารธรรมในใจเมื่อเห็นคนตกทุกข์ได้ยากขาดแคลนปัจจัย 4 ก็มีจิตอนุเคราะห์ช่วยเหลือโดยไม่หวังผลตอบแทน ผู้ที่ให้ทานด้วยจิตอนุเคราะห์แล้วย่อมเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มากและเป็นผู้มีจิตน้อมไปสู่เพื่อบริโภคกามคุณทั้ง 5 ที่สูงยิ่งขึ้น ในที่ที่ทานนั้นส่งผล

 

5. ให้ทานโดยไม่กระทบตนเองและผู้อื่น คือ การให้โดยไม่ทำลายคุณความดีของตนเองและผู้อื่น ไม่ผิดศีลไม่ทำให้ตัวเองเดือดร้อนเพื่อถวายทาน เช่น ฆ่าสัตว์ทำอาหารเพื่อถวาย พระ เพราะการให้ทานอย่างนี้ เป็นการทำลายคุณงามความดีของตนเอง อีกนัยหนึ่งคือไม่ทำทานด้วยการทำให้คนอื่นเดือดร้อน หมดกำลังใจ เกิดอาการกระทบกระเทือนใจ เช่นทำบุญเพื่อข่มคนอื่น ดูถูกดูแคลนคนที่ทำน้อยกว่า

 

สัปปุริสทานอย่างที่สาม

อาการแห่งการให้นี้เรียกว่า “สัปปุริสทาน 8 ประการ” อันได้แก่ การให้ทานด้วยของที่ สะอาด 1ให้ของที่ประณีต 1 ให้ตามกาล 1ให้ของที่สมควร 1 เลือกที่จะให้ 1 ให้อย่างเนืองนิตย์ 1 เมื่อให้แล้วจิตผ่องใส 1 และให้แล้วดีใจ 1

อาการที่ให้ทานและวัตถุที่ให้ทานมีความประณีตเช่น การให้ ข้าวและน้ำที่ สะอาดและมีความประณีตในการตั้งใจแสวงหาและทำมาให้ รวมถึงให้ตามกาลสมควร ให้อย่างเป็นประจำเนืองนิตย์ เลือกที่จะให้กับคนที่ดีหรือ ผู้ประพฤติพรหมจรรย์อย่างนักบวช  บริจาคของหรือให้ไปมากแล้วก็ไม่รู้สึกเสียดาย นั้นย่อมส่งผลให้อานิสงส์แห่งทานนั้นเกิดแก่ผู้ให้อย่างสมบูรณ์

 

ทานที่คนจนทำแบบครบองค์แล้วให้ผลรวยทันตาเห็น กับ นายปุณณะ

ในสมัยพุทธกาลพระพุทธเจ้าทรงประทับอยู่ที่เวฬุวันมหาวิหารเมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ ครั้งนั้นมีคนยากจนคนหนึ่งที่ชื่อ  “ปุณณะŽ” อยู่ในเมืองนั้นพร้อมกับภรรยาและลูกสาว ปุณณะมีอาชีพเป็นลูกจ้างของสุมนเศรษฐี อยู่มาวันหนึ่งมีการจัดงานเล่นมหรสพในเมืองอย่างสนุกสนาน สุมนเศรษฐีก็ถามปุณณะว่า

“ปุณณะเอ๋ย เธออยากจะไปเที่ยวงานเล่นมหรสพ หรือว่าจะทำงานŽดี” ปุณณะก็ตอบว่า

“การไปเที่ยวเล่นงานมหรสพเป็นงานที่ต้องเสียเงินมาก เป็นเรื่องของคนที่มีทรัพย์เขาทำกัน ผมเป็นคนยากจน เป็นคนหาเช้ากินค่ำข้าวจะกินพรุ่งนี้ก็ยังไม่มี ผมจะไปรื่นเริงได้อย่างไรกัน ผมขอไปไถนาทำงานตามปกติดีกว่าขอรับŽ”

เศรษฐีจึงมอบวัวให้เขาไปไถนา เมื่อได้วัวแล้วปุณณะก็ไปหาภรรยา แล้วบอกว่า

“ที่รัก วันนี้ชาวเมืองเขาไปเล่นมหรสพกันแต่เราเป็นคนจน เราจะทำอย่างเขาไม่ได้ ดังนั้นวันนี้ฉันจะไปไถนา ขอให้เธอช่วยต้มผักให้มากขึ้นอีกสองเท่าไปให้ฉันด้วยนะŽ” พอสั่งภรรยาปุณณะแล้วก็รีบออกไปไถนาทันที

ในวันนั้นเองพระสารีบุตรเพิ่งจะออกจากนิโรธสมาบัติใหม่ๆ จึงตรวจดูว่าควรจะไปสงเคราะห์ ใครดีที่มีความเหมาะสม ท่านก็ได้เห็นนายปุณณะในญาณของท่าน จึงใคร่ครวญพิจารณาว่า เขาจะมีศรัทธาหรือเปล่า เขาสามารถที่จะถวายอาหารได้หรือไม่ ครั้นทราบว่า ปุณณะมีจิตใจดีและเป็นผู้มีศรัทธา มีความสามารถที่จะถวายอาหารได้ และถ้าได้ถวายอาหารแล้ว จะได้สมบัติอันยิ่งใหญ่

พระสารีบุตรครองจีวรเสร็จก็เดินถือบาตรไปยังที่ นายปุณณะไถนาอยู่ พอนายปุณณะเห็นพระสารีบุตรเข้าก็ดีใจ เข้ามากราบไหว้ และคิดว่าท่านคงต้องการไม้สีฟันในยามนี้ จึงทำไม้สีฟันถวาย พระเถระก็เอาบาตรและ ผ้ากรองน้ำมาให้เขา

นายปุณณะพอได้รับก็ทราบว่าพระสารีบุตรคงต้องการน้ำดื่ม จึงรับเอาบาตรและ ผ้ากรองน้ำไปกรองน้ำมาถวาย พระสารีบุตรคิดอยู่ว่า นายปุณณะนี้เป็นคนรับใช้ของคนอื่น ถ้าตนเองจะไปรับภัตตาหารที่เรือนของเขาเสียตอนนี้ ภรรยาของนายปุณณะก็จะไม่เห็นพระสารีบุตรเพราะมัวไปทำงานและกำลังจะเอาข้าวและน้ำมาให้สามีจึงคิดที่จะสงเคราะห์ภรรยาของปุณณะด้วย

พระสารีบุตรจึงจะอยู่ที่นั่นจนกว่าภรรยาของเขาจะนำอาหารมาให้ ท่านนั่งรออยู่ครู่หนึ่ง ทราบด้วยญาณว่าภรรยาของนายปุณณะกำลังมาถึงแล้ว จึงออกเดินมุ่งหน้าไปยังตัวพระนคร ภรรยาของนายปุณณะ เมื่อได้พบพระสารีบุตรในระหว่างทางคิดว่า

“ตัวเราบางคราวพอมีไทยธรรม ก็ไม่พบพระเถระที่ดีผู้เป็นเนื้อนาบุญ บางคราวพอได้พบพระเถระแต่ก็ไม่มีไทยธรรม วันนี้เราพบพระเถระด้วยไทยธรรมก็มีมาด้วยขอให้เราได้สงเคราะห์พระเถระรูปนี้เถิด”

ครั้นแล้วนางวางภาชนะใส่อาหารลง ไหว้พระสารีบุตรพลางกล่าวว่า

“ขอท่านผู้เจริญจงโปรดอย่าคิดว่าอาหารนี้เลวหรือประณีตเลย ขอจงโปรดรับอาหารนี้ เพื่อ สงเคราะห์แก่คนยากจนเช่นดิฉันด้วยเถิดŽ”

พระสารีบุตรก็น้อมบาตรเข้าไป เมื่อนางเกลี่ยอาหารใส่ในบาตรครึ่งหนึ่งแล้ว พระเถระก็เอามือปิดบาตร นางจึงกล่าวต่อไปว่า

“อาหารนี้เป็นแค่ส่วนเดียว ดิฉันไม่อาจจะทำเป็นสองส่วนได้ขอท่านอย่าสงเคราะห์เพียงแค่ในโลกนี้เลย ช่วยกรุณาสงเคราะห์ดิฉันในโลกหน้าด้วย ดิฉันขอถวายทั้งหมดŽ” ว่าแล้วนางใส่อาหารทั้งหมดลงไปใน บาตรของพระสารีบุตรแล้วพระสารีบุตรก็กล่าวอนุโมทนาให้พรว่า

“ขอความปรารถนาที่เธอตั้งไว้ดีแล้วจงสำเร็จเถิดŽ”  จากนั้นท่านก็หาที่ฉันภัตตาหารในบริเวณนั้น ส่วนนางต้องรีบกลับไปบ้านเพื่อหุงข้าวให้แก่สามีเสียอีกครั้งหนึ่ง

ฝ่ายนายปุณณะไถนาไปได้มากแล้ว เกิดความหิวจนทนไม่ไหว จึงปล่อยวัวไว้ แล้วตัวเองก็เข้าไป นั่งพักใต้ร่มไม้ รอภรรยานำอาหารมาให้อยู่เป็นเวลานาน กว่าภรรยาของเขาจะถืออาหารมาให้ก็สายมาก นางจึงเกิดความกลัวว่า สามีจะหิวมากแล้วพาลโกรธนางขึ้นหรืออาจจะมีโทสะจนกระทั่งทำร้ายนางได้ สิ่งที่ตนเองทำบุญไว้ก็จะไม่เกิดประโยชน์ คิดอย่างนั้นแล้วจึงรีบตะโกนมาแต่ไกลทันทีว่า

“ท่านพี่ จงทำจิตให้ผ่องใสสักวันหนึ่งเถิด อย่าได้ทำสิ่งที่ฉันทำไว้ดีแล้วให้เสียประโยชน์ไปเลย ฉันได้นำอาหารมาแต่เช้าตรู่ พอดีมาเจอกับพระสารีบุตรจึงถวายส่วนของท่านแด่พระเถระไปแล้ว และได้ไปหุงมาให้ท่านใหม่จึงมาสาย ขอท่านจงเลื่อมใสในบุญนี้เถิดŽ”

ฝ่ายนายปุณณะได้ยินชื่อพระสารีบุตรก็ถามซ้ำอีกครั้งหนึ่งเพื่อความแน่ใจ พอได้รับการยืนยันอย่างเดิมก็ดีใจพร้อมกับกล่าวว่า

“เธอทำดีแล้วที่ได้ถวายภัตตาหารแด่พระสารีบุตรเถรเจ้า แม้ตอนเช้านี้เองฉันก็ได้ถวายน้ำบ้วนปาก และไม้ชำระฟันแด่ท่านแล้วเช่นกันŽ”

ทั้งสองสามีภรรยาต่างมีใจเลื่อมใส และเพลิดเพลินในบุญของกันและกัน นายปุณณะพอกินข้าวเรียบร้อยแล้ว ด้วยความอ่อนเพลียจึงเอาศีรษะหนุนตักภรรยาแล้วก็หลับไป พอตื่นขึ้นมามองไปที่ท้องนา เห็นนาที่ตนไถไว้กลายเป็นสีทองคำ จึงถามภรรยาด้วยความไม่แน่ใจว่า

“ช่วยดูทีเถอะว่า ที่ฉันเห็นตาลายไปหรือเปล่า ไปดูซิว่ารอยไถที่ไถไว้มันกลายเป็นทองคำหรือนั่นŽ”

ภรรยาของเขามองเห็นนาที่ไถแล้วเป็นทองคำเหมือนกัน จึงเดินไปดูพร้อมกับหยิบก้อนทองนั้นฟาด กับที่งอนไถ เกิดเสียงดังกังวาน ทำให้รู้ว่าสิ่งที่ตนมองเห็นนั่นเป็นทองคำจริงๆ จึงอุทานด้วยความเบิกบานใจว่า

“น่าอัศจรรย์จริงๆ สิ่งที่เราถวายแด่พระสารีบุตรนั้นให้ผลทันตาเห็นทีเดียวŽ”

ปุณณะและภรรยาไม่อาจจะปกปิดทรัพย์ที่มากมายขนาดนั้นได้ จึงคิดว่าควรที่จะกราบทูลพระราชาให้ทรงทราบ ดีกว่า แล้วได้นำเอาทองคำจำนวนหนึ่งใส่ถาดไปเฝ้าพระราชา กราบทูลเรื่องทั้งหมดให้ทรงทราบ พระราชาส่งราชบุรุษไปขนทองคำที่ท้องนาของเขามาไว้ที่พระลานหลวง

แต่ในขณะที่ราชบุรุษพากันไปขนทองคำกลับกล่าวว่า “ทองคำนี้เป็นของพระราชา”Ž เวลาเททองคำออกมาทองคำทั้งหมดก็กลายเป็นก้อนดินไป พระราชาทอดพระเนตรเห็น ดังนั้นรู้สึกประหลาดใจมาก จึงถามว่า  “พวกเธอไปพูดอะไรผิดไปหรือเปล่าก่อนจะมาถึงที่นี่Ž”

พวกราชบุรุษกราบทูลว่า “พวกข้าพระองค์กล่าวว่า ได้ขนสมบัติของพระราชามาŽยังพระลานหลวงพระเจ้าข้า”

พระราชาจึงกล่าวตำหนิว่า “เธอกล่าวอย่างนั้นไม่ถูก เธอต้องคิดแล้วกล่าวเสียใหม่ว่า นี่เป็นสมบัติของนายปุณณะŽต่างหากหาใช่สมบัติของเราไม่เลยสักนิดเดียว”

เหล่าราชบุรุษพากันทำตามที่พระราชารับสั่ง และแล้วสมบัตินั้นก็กลายเป็นทองคำในทันที พระราชารับสั่ง ให้เหล่าอำมาตย์มาประชุมกันและมีมติแต่งตั้งและมอบตำแหน่งเศรษฐีให้แก่นายปุณณะและได้พระราชทานตั้งชื่อให้ใหม่ว่า ”พหุธนเศรษฐีŽ” แปลว่า เศรษฐีผู้มีทรัพย์มาก

นายปุณณะและภรรยานั้นเรียกได้ว่าได้ทำบุญให้ทานอย่างครบองค์ คือ มีผู้รับ ได้แก่พระสารีบุตร เป็นพระอรหันต์ เป็นผู้สมควรกราบไหว้ ปัจจัยที่ถวายก็ได้มาด้วยความบริสุทธิ์ แม้จะเป็นอาหารของ ชาวบ้านธรรมดา แต่เป็นของบริสุทธิ์ เจตนาของเขาทั้งสองคนดีครบทั้ง 3 กาล คือก่อนให้ก็ดีใจ กำลังให้ก็เลื่อมใส ให้แล้วก็เบิกบานยินดี  พระสารีบุตรเองก็เพิ่งจะออกจากนิโรธสมาบัติใหม่ๆ ฉะนั้น ผลบุญนี้จึงมากมายมหาศาล ส่งผลนายปุณณะและภรรยาได้ร่ำรวยแบบทันตาเห็น