ค่านิยม ในเรื่องหัวใจชายหนุ่ม

๑.ตัวละคร

    -ประพันธ์  คือ  ตัวแทนชายหนุ่มไทยที่ไปศึกษาที่ต่างประเทศและได้ประทับใจในวัฒนธรรมของต่างประเทศอีกทั้งยังเปรียบ “รักไทยเหมือนพ่อแม่ รักเมืองอังกฤษเหมือนรักเมีย”เมื่อพบอุไรสาวไทยผู้ทันสมัยมีแนวคิดและมีค่านิยมแบบตะวันตกเต็มที่ประพันธ์จึงดูจะมีความสุขมากขึ้น และทั้งสองได้มีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิด จนอุไรตั้งครรภ์จึงต้องแต่งงานกันโดยเร็ว เวลาผ่านไปประพันธ์ได้รู้ว่าเข้าและอุไรไม่เหมาะสมกันและทั้งคู่ได้หย่ากัน ทำให้ประพันธ์ได้คิดว่า “ผู้หญิงที่เหมาะสมกับเขานั้นไม่ใช่ผู้หญิงที่คร่ำครึอย่างแม่กิมเน้ย หรือทันสมัยอย่างแม่อุไร แต่ควรเป็นผู้หญิงที่มีลักษณะผสมผสานกันระหว่างความเป็นไทยกับความเป็นตะวันตก นั้นก็คือ ศรีสมาน

    -อุไร เป็นสาวทันสมัยใจตะวันตก และทำให้ประพันธ์ถูกใจและชื่นชมมาก จึงได้คบหาสมาคมสนิทสนมจนได้แต่งงานกัน หลังจากแต่งงานพฤติกรรมของอุไรก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลง อุไรก็ยังไม่ได้ทำหน้าที่แม่บ้านและข่มขู่สามีดูถูกคนอื่น แม้กระทั่งหลังจากแท้งลูกจนถึงกระทั่งไปข้างแรมบ้านชายอื่น ทำให้ประพันธ์ขอหย่าอุไรจึงไปอยู่กับพระยาตระเวนนคร ซึ่งได้เรียกว่าเป็นชายชู้ ต่อมาได้หวนกลับมาขอคืนดีกับประพันธ์อีกเพราะถูกพระยาตระเวนนครทอดทิ้ง แต่ประพันธ์ปฏิเสธ อุไรจึงกลับไปอยู่บ้านพ่อและแต่งงานกับหลวงพิเศษพานิชพ่อค้าผู้มั่งคั่ง

๒.ฉาก

    ในเรื่องนี้เป็นสมัยที่คนไทยโดยเฉพาะคนชั้นสูงได้รับอิทธิพลของวัฒนธรรมตะวันตกใหม่ๆ สภาพบ้านเมืองเริ่มมีความเจริญแบบตะวันตก คือ มีถนนหนทาง มีรถยนต์ ห้างร้าน เกิดขึ้นมาก มีการใช้หนังสือพิมพ์ในการสื่อสาร ภาษาไทยที่มีคำทับศัพท์และมีสำนวนภาษาอังกฤษมาปะปนอยู่ เป็นต้น การอ่านเรื่องหัวใจชายหนุ่ม จึงเท่ากับการเข้าไปมีประสบการย้อนยุคร่วมกับคนในสมัยนั้นอีกด้วย

๓.กลวิธีการแต่ง

    หัวใจชายหนุ่ม เป็นนวนิยายขนาดสั้นนำเสนอในรูปแบบจดหมาย นับเป็นการนำเอาวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามาในวงวรรณกรรมไทย แม้เรื่องนี้จะเป็นเรื่องสมมุติ แต่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงใช้กลวิธีที่ทำให้ผู้อ่านรู้สึกว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องจริง

๔.ทัศนกวี

    พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแสดงพระราชดำริของพระองค์ผ่านทางตัวละครต่างๆ เช่น ทรงให้ประพันธ์แสดงทัศนะประเพณีคลุมถุงชน การแต่งงานกับผู้หญิงต่างชาติ การมีภรรยาหลายคนเป็นต้น แต่ทัศนะที่ทรงนำเสนอผ่านประพันธ์ ก็หาใช่พระราชดำริของพระองค์เสียทั้งหมด เช่น ทัศนะของประพันธ์ต่อการเต้นรำ เป็นทัศนะของชายหนุ่มที่ขาดประสบการณ์ ไม่สุขุม จึงมองสังคมและวัฒนธรรมอย่างฉาบฉวยและไม่ได้เข้าถึงวัฒนธรรมของต่างชาติอย่างแท้จริง

๕.แนวคิดในการแต่ง

    ทรงมีพระราชดำริว่า “คนไทยควรจะภูมิใจในวัฒนธรรมไทยไม่ควรหลงนิยมวัฒนธรรมตะวันตกเกินไป  จนละเลยความเป็นไทย  ควรรู้จักเลือกสรรสิงที่เหมาะสมมาเสริมกับความเป็นไทยให้โดดเด่นยิ่งขึ้น”

    นวนิยายเรื่องนี้จึงแสดงให้เห็นว่า  การแต่งงานของหนุ่มสาวที่มาจากการชอบพอกันแต่เปลือกนอก  ขาดการรู้จักและเข้าใจกันอย่างแท้จริงย่อมไม่มีทางจีรังยั่งยืนและผู้หญิงที่ชิงสุกก่อนห่ามและใช้เสรีภาพในทางที่ผิดต้องประสบชะตาชีวิตอย่างไร  ทั้งสองประการนี้เป็นแนวคิดที่ผู้ทรงพระราชนิพนธ์ต้องการเสนอ 

๖.คุณค่าด้านปัญญาและความคิด

    -รอยต่อวัฒนธรรม ในช่วงที่ประเทศกำลังเปลี่ยนแปลงไปเป็นแบบสมัยใหม่ว่า  เราควร

เลือกรับแต่สิ่งที่ดีและรู้จักปรับใช้ให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมไทยที่ดีงาม  เพื่อให้สังคมเจริญก้าวหน้าอย่างแท้จริง

    -ปลูกเรือนตามใจผู้อยู่  ผูกอู่ตามใจผู้นอน  การแต่งงานต้องตามใจหนุ่มสาว  บิดามารดามีหน้าที่ให้คำแนะนำ  สั่งสอน อบรม ให้ลูกสาวและลูกชายเป็นคนดี  ส่วนเรื่องความรักเป็นเรื่องส่วนตัวของเขาเอง ถ้ามีพื้นฐานดี ความคิดดีแล้ว การตัดสินใจน่าจะมีข้อผิดพลาดน้อยที่สุด

    -การศึกษาดี  ช่วยให้คิดดี  ประพันธ์ผู้ที่ได้รับการศึกษาจากชาติตะวันตกแล้วมองสังคมไทยในสิ่งที่ไม่เป็นสากล คือ ไม่ชอบเข้าทำงานโดยใช้เส้นสายอยากทำงานโดยใช้ความรู้ความสามารถของตนเอง       

ค่านิยม ในเรื่องหัวใจชายหนุ่ม

                                  เรื่องหัวใจชายหนุ่ม

สาระที่ ๕  เข้าใจและแสดงความคิดเห็น  วิจารณ์วรรณคดีและวรรณกรรมไทยอย่างเห็นคุณค่าและนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตจริง

ตัวชี้วัด :  สิ่งที่นักเรียนพึงรู้และปฏิบัติได้

     ๑.     วิเคราะห์และวิจารณ์วรรณคดีและวรรณกรรมตามหลักการวิจารณ์เบื้องต้น

     ๒.    วิเคราะห์ลักษณะเด่นของวรรณคดีเชื่อมโยงกับการเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ และวิถีชีวิตของสังคมในอดีต

     ๓.    วิเคราะห์และประเมินคุณค่าด้านวรรณศิลป์ของวรรณคดีและวรรณกรรมในฐานะที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ

     ๔.    สังเคราะห์ข้อคิดจากวรรณคดีและวรรณกรรมเพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตจริง

สาระการเรียนรู้

     ๑.     การวิเคราะห์และวิจารณ์วรรณคดีเรื่องหัวใจชายหนุ่มตามหลักการวิจารณ์เบื้องต้น

     ๒.    การวิจารณ์ลักษณะเด่นของวรรณคดีเรื่องหัวใจชายหนุ่มเชื่อมโยงกับการเรียนทางประวัติศาสตร์และวิถีชีวิตของสังคมในอดีต

     ๓.    การวิเคราะห์และประเมินค่าด้านวรรณศิลป์ของวรรณคดีเรื่องหัวใจชายหนุ่มในฐานะที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ

     ๔.    การสังเคราะห์ข้อคิดจากวรรณคดีเรื่องหัวใจชายหนุ่มเพื่อไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน

 สาระการเรียนรู้แกนกลาง

        การวิเคราะห์และประเมินคุณค่าวรรณคดีและวรรณกรรมเรื่องหัวใจชายหนุ่ม

สาระสำคัญ

        หัวใจชายหนุ่มเป็นบทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  ทรงใช้นามปากกาว่า "รามจิตติ" เพื่อพระราชทานตีพิมพ์ในหนังสือดุสิตสมิตเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๔  ลักษณะการพระราชนิพนธ์เป็นนวนิยายร้อยแก้วในรูปแบบจดหมาย  ทรงสร้างตัวละครเป็นชายหนุ่ม(นักเรียนนอก) เป็นผู้ถ่ายทอดแนวคิดที่เห็นว่าสังคมไทยยังล้าหลังตะวันตกในหลายๆ เรื่อง เช่น ประเพณีการคลุมถุงชน  การแต่งกาย  การประพฤติปฏิบัติตัวของหนุ่มสาว  จนได้รับบทเรียนจากการดำเนินชีวิตจึงได้ปรับเปลี่ยนความคิด

แก่นของเรื่อง

       การรู้จักอนุรักษ์วัฒนธรรมอันดีงามของไทยและรู้จักเลือกวัฒนธรรมตะวันตกมาปรับใช้ให้เหมาะสม

คุณค่าของเรื่อง

        ๑.  ด้านเนื้อเรื่อง  หัวใจชายหนุ่มเป็นเรื่องที่แสดงให้เห็นพระปรีชาสามารถในงานพระราชนิพนธ์  มีแก่นเรื่องชัดเจน   น่าอ่าน  น่าติดตาม  สนุกด้วยลีลาและโวหารอันเฉียบคม  แฝงพระอารมณ์ขัน เช่น การแต่งกายของกิมเน้ยที่แต่งตัวดีแต่มีเครื่องเพชรมากเกินไป

       ๒. ด้านความคิด  เรื่องหัวใจชายหนุ่มมุ่งเสนอให้ผู้อ่านเห็นว่า นักเรียนนอกในสมัยนั้นเป็นผู้นำ "แฟแช่น" อย่างสุดโต่ง เมื่อปฏิบัติไปแล้วผิดพลาดก็ค้นพบตัวเองว่าต้องหาทางเลือกใหม่ที่เหมาะสม  ทำให้ได้คิดว่า  เราควรรับและปรับใช้ให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมที่ดีงามของไทย

       ๓. ด้านความรู้  เรื่องหัวใจชายหนุ่มแสดงให้เห็นวัฒนธรรมการแต่งกายที่เริ่มไว้ผมยาว  ค่อยๆ เลิกนุ่งโจงกระเบน หันมานุ่งผ้าซิ่น   การแสดงละครที่ใช้ชายจริงหญิงแท้  การใช้คำทับศัพท์และสำนวนต่างประเทศเพื่อแสดงความเป็นนักเรียนนอกของคนในสมัยนั้น 

แนวคิด

         หัวใจชายหนุ่มมีเนื้อหาแสดงให้เห็นการรับวัฒนธรรมตะวันตกในสังคมไทย  โดยนำเสนอผ่านชีวิตของหนุ่มนักเรียนอกที่เพิ่งจบการศึกษาจากประเทศอังกฤษ  มีการใช้ภาษาที่เหมาะสมกับเนื้อเรื่องเพื่อถ่ายทอดความคิดเห็นและสภาพสังคมไทยในขณะนั้น

หัวใจชายหนุ่ม  หมายถึง ความรู้สึก  ความคิด  ทัศนะและอารมณ์ของคนวัยหนุ่ม  เมื่อ ผ่านพ้นวัยนี้ไปแล้วจะเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา 

สิ่งที่ควรปฏิบัติและศึกษาเพิ่มเติม

     ๑.  การสรุปเรื่องหัวใจชายหนุ่มจากจดหมายทั้ง ๑๘ ฉบับ

     ๒.  สังเกตรูปแบบการเขียนจดหมาย การใช้คำขึ้นต้น,คำลงท้ายของจดหมายและรวบรวมนวนิยายที่เขียนในรูปแบบจดหมาย

     ๓.  เมืองดุสิตธานีและหนังสือพิมพ์ดุสิตสมิต

     ๔.  การวิเคราะห์ทัศนคติของนายประพันธ์ที่มีต่อสังคมไทยในด้านการประกอบอาชีพ  การแต่งกาย  สถาบันครอบครัว และการประพฤติปฏิบัติตัวของหนุ่มสาว

     ๕.  รวบรวมคำทับศัพท์และสำนวนต่างประเทศๆ จากเรื่องหัวใจชายหนุ่ม

     ๖.  ศึกษาเปรียบเทียบการรับวัฒนธรรมต่างชาติของหนุ่มสาวจากเรื่องหัวใจชายหนุ่มกับหนุ่มสาวในยุคปัจจุบัน 

     ๗.  เขียนแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรม และตั้งชื่อบทความให้น่าสนใจ  เช่น เอกลักษณ์ไทยคือหัวใจของชาติ

     ๘.  เขียนจดหมายส่วนตัวถึงเพื่อน เล่าประสบการณ์การเรียน, การทำงานร่วมกับเพื่อนในชั้นเรียนและแสดงความคิดเห็นในเชิงสร้างสรรค์  

แบบทดสอบ

คำสั่ง   นักเรียนเลือกตอบข้อที่คิดว่าถูกต้องมากที่สุดเพียงข้อเดียว

๑.   เรื่องหัวใจชายหนุ่มเป็นงานเขียนประเภทใด

                ก.   จดหมายเหตุ              

                ข.   นวนิยาย

                ค.   เรื่องสั้น                                                  

                ง.   เรื่องเล่า

๒.  เรื่องหัวใจชายหนุ่มพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์เล่มใด

                 ก.   ลักวิทยา                                          

                 ข.   ดุสิตสมิต                                               

                 ค.   วิทยาจารย์                                           

                 ง.   บางกอกรีคอเดอร์

๓.   ผู้ใดประพันธ์เรื่องหัวใจชายหนุ่ม  

                ก.   พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

                ข.   พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

                ค.   พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

                ง.    พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว

๔.   “ชายหนุ่ม” ในจินตนาการของผู้ประพันธ์  มีลักษณะเด่นอย่างไร 

                ก.   หนุ่มนักเรียนนอกที่คลั่งไคล้วัฒนธรรมตะวันตก

                ข.   หนุ่มนักเรียนนอกที่มียึดมั่นในความคิดเป็นตัวเองสูง

                ค.   หนุ่มนักเรียนนอกที่คลั่งไคล้วัฒนธรรมตะวันตกและคบคนที่เปลือกนอก

                ง.   หนุ่มนักเรียนนอกที่คลั่งไคล้วัฒนธรรมตะวันตกจนขาดความเป็นตัวของตัวเอง

๕.  ข้อใดใช้คำว่า “ศิวิไลซ์” ได้ถูกต้อง

                ก.    น้องฉันชอบทำตัวศิวิไลซ์  อะไรก็ไม่ทำ

                ข.    วิภาปฏิเสธความศิวิไลซ์โดยสิ้นเชิง

                ค.    วิธานเขาแต่งตัวได้ศิวิไลซ์มาก

                ง.    บ้านนี้ตกแต่งได้ศิวิไลซ์จริง ๆ

๖.   การแต่งงานโดยที่หนุ่มสาวไม่เต็มใจหรือไม่ยินยอม ตรงกับสำนวนไทยว่าอย่างไร

                ก.   คลุมถุงชน                                              

                ข.   ขมิ้นกับปูน                                     

                ค.   กิ่งทองใบหยก                                   

                ง.    บุพเพสันนิวาส

๗.   “ในส่วนที่หล่อนกับฉันจะกลับดีกันใหม่นั้น  ไม่แลเห็นหนทางที่จะเป็นไปได้  และผลที่จะได้ก็จะมีแต่ความร้อนใจไร้สุขด้วยกันทั้งคู่”

           จากข้อความนี้ ผู้พูดมีความคิดเกี่ยวกับชีวิตคู่ของเขาเป็นอย่างไร

              ก.      เขาสองคนไม่สามารถคืนดีกันได้

              ข.      เขาสองคนเป็นคู่สามีภรรยาที่ไม่เหมาะสม

              ค.      เขาสองคนอยู่ร่วมกันไม่ได้เพราะทั้งสองเป็นคนใจร้อน

              ง.      เขาสองคน ถ้าต้องอยู่ด้วยกันแล้วต้องทะเลาะกันตลอดเวลา

 ๘.   “การที่แม่อุไรได้ผัวใหม่เป็นเนื้อเป็นตัวเสียแล้วเช่นนี้   ทำให้ฉันเองรู้สึกสิ้นความตะขิดตะขวงห่วงใย”  ข้อความนี้แสดงให้เห็นว่า  ผู้พูดมีความรู้สึกอย่างไร  

                ก.   เข้าใจ                                              

                ข.    หมดห่วง

                ค.   ไม่อับอายแล้ว                                       

                ง.    หมดความกังวลใจ                                   

  ๙.  ข้อใดคือสาระสำคัญของเรื่อง

                ก.   เรื่องราวเกี่ยวกับความรักของหนุ่มนักเรียนนอก

                ข.   เรื่องราวการศึกษาในต่างประเทศของหนุ่มนักเรียนนอก

                ค.   เรื่องราวในชีวิตประจำวันที่น่าสนใจของหนุ่มนักเรียนนอก

                ง.   เรื่องราวชีวิตและประสบการณ์ต่างๆ ของหนุ่มนักเรียนนอก

   ๑๐. ข้อใดคือข้อคิดสำคัญจากเรื่องหัวใจชายหนุ่ม

                ก.   ความรู้สึกที่ทันสมัยของตัวละครเด่น

                ข.   ความคิดแก้ปัญหาระหว่างคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่

                ค.   ความคิดที่ขัดแย้งระหว่างค่านิยมเก่ากับค่านิยมใหม่

                ง.   สภาพสังคมและค่านิยมที่มีความแตกต่างของคนในสังคม