การแก้ปัญหาการทุจริตของประเทศไทย

          �����䢻ѭ�ҷب�Ե��ͧ���Թ������ҧ��ԧ�ѧ���к� �������§����óç����餹�Ӵ� ����Ÿ��� ��ͧ���ҵá�û�ͧ�������ը֧���Դ��  �����䢻ѭ�ҷب�Ե�����������觪ҵ����ͤ�������ö㹡���觢ѹ����繸����ͧ�Ҥ��áԨ�� ��������ȪҵԢͧ����ش˹������ҧ����׹

เรามักได้ยินข่าวเกี่ยวกับ “การทุจริตคอร์รัปชัน (corruption)” ในหน่วยงานภาครัฐอยู่บ่อยครั้ง ทั้ง ๆ ที่ในช่วงเวลาที่ผ่านมา เรามีความพยายามในการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้มาโดยตลอด จนหลายต่อหลายคนต่างกล่าวว่าปัญหานี้เป็นปัญหาที่ฝังรากลึกในสังคมไทยจนยากเกินที่จะเยียวยา

การทุจริตคอร์รัปชัน เป็นพฤติกรรมด้านมืดของสังคม เป็นการใช้อำนาจที่ได้รับมอบหมายหรือที่มีอยู่ในทางมิชอบเพื่อจะได้มาซึ่งผลประโยชน์ส่วนตน สำหรับในประเทศไทยแล้ว การคอร์รัปชันมีมาตั้งแต่สมัยประวัติศาสตร์ ปรากฏหลักฐานตั้งแต่ครั้งสมัยสุโขทัยว่ามีการทุจริตเกิดขึ้นในระบบราชการ และมีวิวัฒนาการมาตามลำดับ ในปัจจุบันการทุจริตได้เปลี่ยนแปลงไปมาก วิธีการทุจริตได้มีการพัฒนาไปในทิศทางที่สลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้น และมักเกิดขึ้นกับโครงการขนาดใหญ่ของรัฐที่อิงแอบอยู่กับผลประโยชน์ของประชาชน อาศัยข้าราชการในการหาเหตุผลที่แนบเนียน เป็นการกระทำทุจริตโดยรอบคอบ มีการจัดเตรียมอย่างเป็นระบบ และมีบุคคลที่เกี่ยวข้องสนับสนุน ซึ่งปัญหาเหล่านี้ยังคงเป็นปัญหาที่แก้ไม่ตกและนับวันมีแต่จะเพิ่มมากขึ้น

ดัชนีภาพลักษณ์การคอร์รัปชันในประเทศไทย

จากดัชนีภาพลักษณ์การคอร์รัปชัน (Corruption Perceptions Index) ซึ่งจัดทำโดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International) ได้มีการจัดอันดับความโปร่งใสของประเทศต่าง ๆ ในช่วงทุก ๆ 1-2 ปี โดยจัดทำครั้งล่าสุดในปี พ.ศ. 2561 ซึ่งประเทศไทยถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 99 มีคะแนนคือ 36 คะแนน ลดลงจากปี 2560 ที่ได้คะแนนอยู่ที่ 37 คะแนน และอยู่ในอันดับที่ 96 จาก 180 ประเทศ (คะแนนจะมีตั้งแต่ระดับ 0-100 คะแนน ต่ำสุดคือ 0 หมายถึง มีการคอร์รัปชันสูงมาก และคะแนนเต็ม 100 คะแนน หมายถึง มีความโปร่งใสมากที่สุด) ตัวเลขดังกล่าวสะท้อนให้เราเห็นถึงปัญหาการคอร์รัปชันในประเทศไทยที่ทุกคนกำลังให้ความสนใจ

การแก้ปัญหาการทุจริตของประเทศไทย

ในการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้หากเรามองแบบผิวเผิน เราอาจเสนอให้มีการเพิ่มโทษแก่ผู้กระทำผิดเพื่อลดแรงจูงใจ แต่อย่างไรก็ตาม ปัญหาการทุจริตนี้ไม่อาจแก้ปัญหาได้ด้วยการออกกฎหมายเพิ่มโทษผู้กระทำผิดเพียงอย่างเดียว เพราะเป็นปัญหาเชิงสังคมและวัฒนธรรม ดังนั้นการจัดการกับปัญหาการทุจริตจึงต้องใช้หลากหลายวิธีการผสมผสานกัน หนึ่งในนั้นคือ การเสริมสร้างให้ภาคประชาสังคมเข้มแข็ง และให้ประชาชนมีบทบาทในการทำงานร่วมกันกับภาครัฐเพื่อเสริมสร้างระบบธรรมาภิบาล อันนำไปสู่การป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน โดยความหมายของ “ภาคประชาสังคม” ในที่นี้หมายถึง ประชาชนในระดับต่าง ๆ มีการรวมตัวกันอย่างเข้มแข็ง เพื่อการมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินทางสาธารณะที่มีผลกระทบต่อการบริหารจัดการบ้านเมืองและการพัฒนาการในด้านต่าง ๆ ของท้องถิ่นและประเทศชาติ เพื่อเสริมสร้างประชาธิปไตยให้เข้มแข็ง

โครงการวิจัยเรื่อง “ประชาสังคมกับการเสริมสร้างธรรมาภิบาลท้องถิ่น เพื่อพัฒนาระบบและกลไกในการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชัน กรณีศึกษาจังหวัดนครราชสีมา” ทำการศึกษาเพื่อนำเสนอประโยชน์ของหลักธรรมาภิบาล รวมทั้งนำเสนอแนวทางในการเสริมสร้างหลักธรรมาภิบาลให้เกิดขึ้นในสังคมไทย

ภาคประชาสังคมกับการแก้ไขปัญหาการคอร์รัปชัน

ในปัจจุบัน ได้มีการก่อตั้งขึ้นขององค์กรภาคประชาสังคมหลายองค์กร เช่น ในจังหวัดนครราชสีมามีองค์กรภาคประชาสังคมที่มีบทบาทโดดเด่นในเรื่องการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน เช่น กลุ่มหมาเฝ้าบ้าน ที่มีบทบาทในการเฝ้าระวังการทุจริตคอร์รัปชันในหน่วยงานราชการและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อนำไปสู่การชี้เบาะแสให้กับ ป.ป.ช แต่อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาพบว่า นครราชสีมา ก็ยังคงมีปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันมาจนถึงปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการคอร์รัปชันในการจัดซื้อจัดจ้าง การใช้ทรัพย์สินของทางราชการเพื่อประโยชน์ส่วนตน การคอร์รัปชันในการสอบคัดเลือกเข้ารับราชการ เป็นต้น จากตัวอย่างข้อมูลการทุจริตคอร์รัปชันในจังหวัดนครราชสีมา สะท้อนถึงการที่หน่วยงานภาครัฐยังขาดหลักธรรมาภิบาลในการดำเนินงานทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ ถือเป็นปัญหาใหญ่ที่สังคมไทยไม่ควรนิ่งนอนใจ และควรหาแนวทางป้องกันและปราบปรามเพื่อให้ปัญหาดังกล่าวลดน้อยลงหรือหมดไป

“หลักธรรมาภิบาล” สู่การแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันอย่างยั่งยืน

หลายคนคงเคยได้ยินคำว่า “ธรรมาภิบาล” แต่คงไม่ใช่ทุกคนที่รู้ความหมายและความสำคัญของคำ ๆ นี้ ในส่วนของความหมาย คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (UNESCAP) ได้ให้ความหมายว่า เป็นการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี ซึ่งเกี่ยวข้องกับการจัดการโครงสร้างและความสัมพันธ์ของสถาบันทางการเมือง การตัดสินใจจัดสรรทรัพยากรเพื่อบริหารกิจการของบ้านเมืองและแก้ไขปัญหาของสังคม ตลอดจนกระบวนการเข้ามามีส่วนร่วมของภาคส่วนหรือฝ่ายต่าง ๆ ในการกำหนดนโยบายสาธารณะ และการนำนโยบายสาธารณะไปสู่การปฏิบัติภายใต้กรอบและกระบวนการทางกฎหมายอันชอบธรรม หรือกล่าวอย่างง่ายคือเป็นหลักการในการดำเนินงานของภาครัฐที่โปร่งใส สามารถตรวจสอบได้โดยผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่าง ๆ ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อทำให้มั่นใจได้ว่าข้อเรียกร้องหรือความต้องการของทุกฝ่ายในสังคมจะได้รับการรับฟัง และเพื่อทำให้ปัญหาทุจริตหรือประพฤติมิชอบลดลงและหมดไปในท้ายที่สุด

การแก้ปัญหาการทุจริตของประเทศไทย

สำหรับองค์ประกอบของธรรมาภิบาล สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาราชการ ซึ่งเป็นองค์กรภาครัฐที่ได้นำหลักธรรมาภิบาลมาประยุกต์ใช้ในระบบราชการไทย ได้แบ่งองค์ประกอบออกเป็น 4 หลักการสำคัญ ได้แก่

หลักการแรกคือ การบริหารจัดการภาครัฐแนวใหม่ ประกอบด้วย หลักประสิทธิภาพ (ใช้ทรัพยากรอย่างประหยัด เกิดผลิตภาพ และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อส่วนรวม) หลักประสิทธิผล (สามารถให้บริการได้อย่างมีคุณภาพ เสร็จภายในเวลาที่กำหนด) และ หลักการตอบสนอง (ต้องตอบสนองความต้องการของประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย)

หลักการต่อมาคือ ค่านิยมประชาธิปไตย ประกอบด้วย หลักภาระรับผิดชอบ/สามารถตรวจสอบได้ (ต้องสามารถตอบคำถามและชี้แจ้งได้เมื่อมีข้อสงสัย) หลักความเปิดเผย/โปร่งใส (ต้องปฏิบัติงานด้วยความซื่อสัตย์ ตรงไปตรงมา เปิดเผยข้อมูลที่จำเป็นให้ประชาชนรับทราบ) หลักนิติธรรม (ต้องใช้อำนาจของกฎหมาย ข้อบังคับในการปฏิบัติงานอย่างเคร่งครัด ไม่เลือกปฏิบัติ) และหลักความเสมอภาค (ต้องให้บริการอย่างเท่าเทียม ไม่แบ่งแยก)

หลักการที่สามคือ ประชารัฐ ประกอบด้วย หลักการกระจายอำนาจ (มอบอำนาจกระจายการตัดสินใจให้แก่ผู้ปฏิบัติงานในระดับต่าง ๆ อย่างเหมาะสม) หลักการมีส่วนร่วม/การมุ่งเน้นฉันทามติ (รับฟังความคิดเห็น รวมทั้งเปิดให้ประชาชนมีส่วนรวมในการรับรู้ แสดงทัศนะ เสนอปัญหา)

และหลักการสุดท้ายคือ ความรับผิดชอบทางการบริหาร ประกอบด้วย หลักคุณธรรม/จริยธรรม (มีจิตสำนึกความรับผิดชอบในการปฏิบัติงาน)

สำหรับในประเทศไทย “หลักธรรมาภิบาล” เข้ามามีบทบาทอย่างมากในช่วงหลังวิกฤติเศรษฐกิจ 2540 ทำให้ทุกฝ่ายในสังคมหันมาให้ความสนใจในเรื่องธรรมาภิบาลมากขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาข้อบกพร่องอันเกิดจากการขาดระบบบริหารงานที่มีประสิทธิภาพ ไม่มีการควบคุมและตรวจสอบถ่วงดุลอย่างเป็นระบบ ขาดการปลูกฝังจิตสำนึกจริยธรรม ทำให้เกิดรอยรั่วไหล การกระทำผิด ฉ้อฉลและทุจริตในการปฏิบัติหน้าที่โดยเฉพาะในส่วนของภาครัฐ แต่อย่างไรก็ตามในปัจจุบันปัญหาเหล่านี้ก็ยังไม่หมดไปและยังคงขยายขอบเขตมากขึ้นในสังคมไทย ดังนั้นเราควรตระหนักและเร่งปลูกฝังผลักดันให้หลักการนี้เกิดขึ้นและมีผลได้จริง

หากเราสามารถทำให้หลักธรรมาภิบาลนี้เกิดขึ้นได้จริง ในขั้นตอนการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ  ย่อมทำให้เกิดประโยชน์กับประเทศชาติและสังคมโดยรวม ไม่ว่าจะเป็นการทำให้ระบบบริหารของภาครัฐมีความโปร่งใส ยุติธรรม ทำให้ระบบการตัดสินใจและการบริหารจัดการโดยรวมของหน่วยงานภาครัฐสามารถตรวจสอบได้ เสมอภาค และมีความยุติธรรมอย่างแท้จริง อันจะนำมาซึ่งความเชื่อมั่นแก่ประชาชนและผู้มารับบริการ ทำให้ภาพลักษณ์ของหน่วยงานภาครัฐเป็นที่ศรัทธา เชื่อมั่น และได้รับความไว้วางใจจากประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมทั้งเป็นที่ยอมรับในระดับสากล อันจะส่งผลทำให้การพัฒนาของประเทศเป็นไปอย่างยั่งยืน

การแก้ปัญหาการทุจริตของประเทศไทย

แนวทางการพัฒนาเสริมสร้างธรรมาภิบาลและการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชัน

จากการศึกษา ได้มีการเสนอแนวทางการพัฒนาเสริมสร้างธรรมาภิบาลและการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชัน ที่จะเป็นประโยชน์แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้จริง ดังนี้ แนวทางแรก ควรมีการพัฒนาระบบการป้องกันและปราบปราม เพื่อไม่ให้ระบบอุปถัมภ์ ระบบพวกพ้อง ระบบอำนาจที่ฉ้อฉล เหล่านี้สามารถทำงานได้ ควรมีการดำเนินการพัฒนาระบบการให้ข้อมูลข่าวสารที่เปิดเผย โดยเฉพาะข้อมูลในเรื่องที่มีความเสี่ยงต่อการทุจริตเช่น ข้อมูลรายละเอียดโครงการของรัฐ การจัดซื้อจัดจ้าง การคัดเลือกคนเข้าทำงาน การเลื่อนตำแหน่ง ฯลฯ ประกอบกับควรส่งเสริมแนวคิดเกี่ยวกับธรรมาภิบาลให้เป็นที่ยอมรับของทุกภาคส่วนในสังคม

แนวทางต่อมา ควรกำหนดให้หน่วยงานที่กำกับดูแล ตรวจสอบการคอร์รัปชัน เช่น สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พัฒนาฐานข้อมูลให้มีความถูกต้อง ทันสมัย สามารถเชื่อมต่อกับระบบฐานข้อมูลของหน่วยงานอื่น ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อปลูกจิตสำนึกและสร้างเสริมจริยธรรมและคุณธรรม ป้องกันและตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชันได้มากขึ้น

แนวทางที่สาม ควรมุ่งไปที่การปลูกฝังเยาวชนให้เห็นความสำคัญของการป้องกันการทุจริต การเปลี่ยนแปลงทัศนคติ ค่านิยมและบรรทัดฐานของประชาชนทุกภาคส่วน เพื่อส่งเสริมให้เกิดค่านิยมที่ไม่ยอมรับการคอร์รัปชัน โดยการประชาสัมพันธ์ และร่วมมือกันใช้ธรรมาภิบาลในหน่วยงาน นอกจากนี้ควรประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่อต้านการทุจริตอื่น ๆ และบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน เพื่อให้เกิดการต่อต้านการคอร์รัปชันอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ

ประการสุดท้าย ควรเพิ่มบทบาทของภาคประชาสังคม การเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบ ติดตาม การทำงานของแต่ละหน่วยงาน เป็นกระบอกเสียงของประชาชน เพื่อป้องกันการทุจริตคอร์รัปชัน รวมทั้งควรจัดกิจกรรมเสริมสร้างธรรมาภิบาลให้กับหน่วยงานต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง

ถึงเวลาแล้วหรือยัง ที่คนในสังคมไทยควรจะหันมาตระหนักถึงเรื่องนี้อย่างจริงจัง โดยอาจเริ่มจากการปลูกฝังเยาวชนไทยเกี่ยวกับ “หลักธรรมาภิบาล” ให้ไม่นิ่งดูดายให้กับปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันมาบ่อนทำลายสังคมไทยมากไปกว่านี้

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

โครงการวิจัย “ประชาสังคมกับการเสริมสร้างธรรมาภิบาลท้องถิ่น เพื่อพัฒนาระบบและกลไกในการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชัน กรณีศึกษาจังหวัดนครราชสีมา”