ด้านการเมือง ด้านบวก ด้านลบ แนวทางแก้ไข

การเมืองในแง่บวกและแง่ลบ

เผยแพร่: 12 ก.ค. 2549 20:07   โดย: ศ.ดร.ลิขิต ธีรเวคิน

การเมืองเป็นกระบวนการต่อสู้เพื่อได้มาซึ่งอำนาจรัฐ การต่อสู้ดังกล่าวจะนำไปสู่การจับกลุ่ม เป็นฝักเป็นฝ่าย และในระบอบการปกครองที่พัฒนาแล้วนั้นการจับกลุ่มจะออกมาในลักษณะของพรรคการเมือง พรรคการเมืองจึงเป็นสถาบันทางการเมืองหรือองค์กรจัดตั้งทางการเมือง ที่รวมกลุ่มคนที่มีความคิดทางการเมืองตรงกัน มีอุดมการณ์ร่วมกัน เพื่อให้มีการรวมสรรพกำลังซึ่งนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงโดยอำนาจในการต่อรอง การเมืองจึงเป็นส่วนหนึ่งของการปกครองบริหาร เป็นกระบวนการที่มีทั้งผลบวกและผลลบ ผลบวกในทางการเมืองมีหลายประการด้วยกัน แต่จะขอกล่าวเฉพาะข้อสำคัญๆ ดังต่อไปนี้ คือ

1. การเมืองที่รวมกันเป็นพรรคการเมืองนำไปสู่การจัดตั้งสถาบัน ซึ่งสามารถจะดำรงอยู่ได้เกินกว่าอายุขัยของมนุษย์ธรรมดา ถึงแม้ตัวบุคคลผู้ก่อตั้งและผู้รับภาระรุ่นหลังจะล้มหายตายจากไป หรือลาออกไป ตัวพรรคการเมืองเองจะดำรงอยู่ในฐานะสถาบัน มีชีวิตและกิจกรรมในรูปขององค์กร มีตัวตายตัวแทน มีความสืบเนื่องของกิจกรรมต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบาย นอกจากนี้ยังจะมีการพัฒนาวัฒนธรรมขององค์กรอีกด้วย

2. พรรคการเมืองที่จัดตั้งเป็นสถาบันนั้นจะมีส่วนในการพั
ฒนาบุคลิกภาพของสมาชิกในพรรคนั้นๆ วิธีการมองปัญหา การคิดวิเคราะห์ แนวทางการแก้ปัญหา จะถูกกำหนดโดยบุคลิกภาพซึ่งมีค่านิยมและปทัสถานตามที่ถูกกล่อมเกลาจากการเป็นสมาชิกในพรรคการเมืองนั้นๆ เช่น สมาชิกพรรคนาซีจะมีวิธีมองปัญหา มีค่านิยม มีปทัสถานในรูปแบบหนึ่ง สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ก็จะมีลักษณะเดียวกัน สมาชิกพรรคอนุรักษนิยมของอังกฤษ สมาชิกพรรคแรงงาน ก็จะมีบุคลิกแตกต่างกันไป

3. ในแอฟริกาเมื่อตอนได้รับเอกราชใหม่ๆ มีความแตกแยกกันเป็นเผ่าต่างๆ มากมาย จนไม่สามารถจะรวมกันได้เมื่อมีการตั้งพรรคการเมืองขึ้นมา หรือสถาปนากลุ่มที่ร่วมกันต่อต้านชาวต่างชาติที่เป็นเจ้าอาณานิคมจนได้รับเอกราชนั้น พรรคการเมืองดังกล่าวก็จะทำหน้าที่เป็นสถาบันที่เป็นแกนในการรวมเป็นรัฐชาติ รัฐชาติเช่นนี้เกิดขึ้นจากการมีพรรคที่มีอุดมการณ์ตัดข้ามความแตกต่างทางเผ่าพันธุ์ ภาษา และวัฒนธรรม ของชนเผ่าต่างๆ รัฐอย่างนี้เรียกว่า Party-States

4. การเมืองในรูปของพรรคการเมืองจะนำไปสู่การสร้างอุดมการณ์ อันมีผลต่อการวิเคราะห์ปัญหาสังคมและการวางนโยบาย จะเกิดเพื่อนร่วมอุดมการณ์ขึ้น จะทำให้มีการพัฒนาองค์กรในลักษณะชีวภาพ (organic) ขณะเดียวกันโครงสร้างและกลไกที่วางในพรรคด้วยการแบ่งหน้าที่ความชำนัญการต่างๆ โยงใยเป็นเหมือนจักรกล (mechanic) พรรคการเมืองจึงมีลักษณะทวิภาพอันประกอบด้วยชีวภาพและจักรกล

5. การเมืองในรูปของพรรคการเมืองจะมีบทบาทต่อสู้เพื่อความยุติธรรมในสังคม โดยพรรคจะมีนโยบายปกปักรักษาผลประโยชน์ของชาติ พิทักษ์ผลประโยชน์ของชนกลุ่มน้อยหรือผู้เสียเปรียบในสังคม ดูแลผู้ที่อ่อนแอกว่า เช่น เด็กและเยาวชน สตรีและคนชรา คนพิการทางกายและทางจิตใจ พรรคการเมืองที่ดีจะต่อสู้เพื่อความยุติธรรมและความเสมอภาคในทางสังคม

6. การเมืองในรูปของพรรคการเมืองจะมีส่วนอย่างสำคัญยิ่งในการแก้ไขข้อขัดแย้งโดยสันติวิธี เพื่อนำไปหาข้อยุติอันจะมีส่วนทำให้คนในสังคมอยู่ร่วมกันต่อไปโดยสันติ จนไม่ถึงกับต้องใช้กำลังเข้าห้ำหั่นกัน ในยามปกติการแก้ปัญหาจะเดินตามกติกาของการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งและตามกติกาของกฎหมายสูงสุดคือรัฐธรรมนูญ

7. การเมืองในรูปของพรรคการเมืองจะมีส่วนในการนำไปสู่การวางนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหา เพื่อพัฒนาสังคมและประเทศชาติ นำไปสู่การใช้ทรัพยากรอย่างมีเหตุและผลโดยประชาชนส่วนใหญ่จะมีส่วนร่วมในการวางนโยบายดังกล่าวได้ ซึ่งย่อมขึ้นอยู่กับระบบการเมืองของแต่ละสังคม

8. การเมืองในรูปของพรรคการเมืองจะมีบทบาทสำคัญในการสร้างวัฒนธรรมทางการเมือง ซึ่งถ้าเป็นระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยก็จะมีส่วนสร้างค่านิยม ปทัสถาน และจิตวิญญาณของความเป็นประชาธิปไตย ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ มีกระบวนการวิเคราะห์ปัญหาโดยการอภิปรายถกเถียงปัญหา และหาทางแก้ข้อขัดแย้งด้วยวิธีการที่เป็นเหตุเป็นผล การตัดสินใจอาจต้องใช้การลงคะแนนเสียงโดยถือเสียงข้างมาก ทั้งหลายทั้งปวงนี้คือการพัฒนาวัฒนธรรมทางการเมืองแบบประชาธิปไตย

9. การเมืองและพรรคการเมืองมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชน ซึ่งได้แก่ สิทธิในการแสดงความคิดเห็น การรวมกลุ่มเป็นสมาคม ชมรม สิทธิในการเดินทาง สิทธิในชีวิตและร่างกาย สิทธิในการเลือกที่อยู่ ฯลฯ ที่สำคัญศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์จะได้รับประกันโดยระบบการเมืองที่เป็นประชาธิปไตย

10. การเมืองในรูปของพรรคการเมืองที่มีเสถียรภาพ มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสืบทอดอำนาจโดยสันติวิธีตามกติกา จะมีส่วนช่วยพัฒนาการเมืองและการปกครองบริหารให้ดีขึ้นตามลำดับ อันจะเป็นฐานสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในภาพรวมต่อไป

ส่วนดีทางการเมืองยังมีอีกมากซึ่งไม่ขอกล่าวในที่นี้ เนื่องจากการเมืองเป็นเรื่องของการต่อสู้ช่วงชิงอำนาจโดยเฉพาะอำนาจรัฐ ทำให้มีความพยายามที่จะเอาชนะคู่ต่อสู้ด้วยวิธีการต่างๆ จนบางครั้งกระทำโดยนอกกติกา ขาดความยุติธรรมและเที่ยงธรรม ผลเสียของการเมืองในรูปแบบของพรรคการเมืองจึงมีดังต่อไปนี้ คือ

1. เนื่องจากการเมืองจะชนะกันได้อยู่ที่การได้รับคะแนนเสียงการเลือกตั้ง จึงมีความพยายามให้ได้คะแนนเสียงมากกว่าคู่ต่อสู้ด้วยวิธีการต่างๆ ด้วยการใช้เงินซื้อเสียง หรือซื้อตัวบุคคลที่ได้รับคะแนนนิยมมาอยู่ในพรรค ใช้วิธีโกงการเลือกตั้งโดยซื้อเจ้าหน้าที่ของรัฐตอนนับคะแนนเสียง หรือวิธีการอื่นใดซึ่งขัดต่อศีลธรรมและจริยธรรม เป็นการละเมิดกฎกติกาอันเป็นที่ทราบกันอยู่ทั่วไป นี่คือจุดด่างดำของระบบการเมืองที่มีการเลือกตั้งที่ไม่บริสุทธิ์และเที่ยงธรรม

2. เพื่อจะเอาชนะคู่ต่อสู้จึงจะมีความพยายามทำลายบุคลิกภาพของคู่ต่อสู้ (character assassination) ด้วยการใส่ความ ปล่อยข่าวว่ามีพฤติกรรมที่น่ารังเกียจ เช่น มีปัญหาเรื่องชู้สาว เรื่องความซื่อสัตย์สุจริต ฉ้อราษฎร์บังหลวง มีจิตใจฝักใฝ่ต่างชาติ มีจิตใจคิดกบฏ เป็นบุคคลอันตรายของสังคม เพื่อทำให้บุคคลนั้นหมดความน่าเชื่อถือ

3. เกี่ยวพันกับข้อที่กล่าวมาคือ การพยายามในการสร้างภาพของผู้ปฏิบัติงานทางการเมือง โดยทำให้เกิดความรู้สึกในหมู่สาธารณะว่า ตนเป็นบุคคลที่มีความรู้ความสามารถ บางคนถึงกับยอมหาทางลัดให้ตนได้รับปริญญาเอก เพื่อจะได้ใช้คำว่าด็อกเตอร์นำหน้า มีความพยายามที่จะแสดงเป็นบุคคลที่มีมารยาท มีความดี รู้จักอุ้มเด็กขึ้นมาแสดงความเอ็นดู เพื่อจะมองว่าเป็นคนรักครอบครัว ว่าจ้างคนไปคอยแจกดอกกุหลาบหรือสวมพวงมาลัย ผูกมิตรกับสื่อให้เขียนชมเชย ทั้งหลายทั้งปวงดังกล่าวนี้คือการสร้างภาพเพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง และส่วนใหญ่เป็นเรื่องไม่จริง

4. ผู้ปฏิบัติงานทางการเมืองบางคน รวมทั้งนักวิชาการหรือคนทั่วไป มีแนวโน้มที่จะคุกคามผู้อื่นโดยมาตรฐานทางศีลธรรม (moral blackmail) โดยใช้ภาษาจาบจ้วง ดูหมิ่นดูแคลน ว่าเป็นคนไม่มีศีลธรรม ไม่มีจริยธรรม เป็นคนไม่น่าเชื่อถือ ทั้งๆ ที่ตนเองก็ไม่ได้เป็นคนมีศีลธรรม มีจริยธรรมสูงส่ง แต่ทึกทักว่าตนเองเป็นผู้ซึ่งเหนือกว่าจึงใช้วิธีการคุกคามโดยการพูดแบบดูถูก (talk down) เสมือนหนึ่งตนเป็นผู้วิเศษ บริสุทธิ์ผุดผ่อง และบ่อยครั้งบุคคลที่ใช้วิธีการ moral blackmail คือบุคคลที่มีมาตรฐานศีลธรรมต่ำสุดแต่พยายามปกปิดความต่ำทางศีลธรรมและจริยธรรมของตนเองด้วยการ blackmail ผู้อื่นด้วยมาตรฐานทางศีลธรรม

ใกล้เคียงกับ moral blackmail ก็คือการทึกทักเอาเองว่าตนมีวิชาความรู้เหนือกว่าคนอื่น วิพากษ์วิจารณ์งานเขียนของผู้อื่นโดยเลือกตีความเฉพาะจุดด้วยความอคติ และคำวิพากษ์วิจารณ์ดังกล่าวก็ผิดไปจากข้อเท็จจริงทางวิชาการ เช่น เมื่อมีการยกสภาพทางเศรษฐกิจและการเปลี่ยนแปลงสังคมก่อน 14 ตุลาคม 2516 เพื่อชี้ให้เห็นการเสียดุลระหว่างการพัฒนาระบบการเมืองแบบมีส่วนร่วม กับความตื่นตัวทางการเมืองของประชาชนอันเกิดจากความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเศรษฐกิจ ก็มีการวิจารณ์ว่าตัวเลขปี 2516 ล้าสมัย ต้องใช้ตัวเลขปัจจุบันซึ่งเป็นคนละประเด็นกับการชี้ให้เห็นถึงสภาพสังคมและเศรษฐกิจก่อนเหตุการณ์ใหญ่ในปี 2516 การวิพากษ์วิจารณ์ที่มองผิดประเด็นเช่นนี้ ถ้าอ่านอย่างผิวเผินก็จะคล้อยตาม แต่ในความเป็นจริงกลับกลายเป็นสิ่งที่บ่งชี้ถึงการขาดความรู้ของผู้วิพากษ์วิจารณ์ หรือจากการพยายามจับผิดจนแสดงความเชยออกมา

ผู้วิพากษ์วิจารณ์ผู้อื่นทั้งๆ ที่ตนไม่ได้อยู่ในฐานะที่จะวิพากษ์วิจารณ์นั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในลักษณะดูถูกดูแคลน ยกตนข่มท่าน ลืมคำเตือนของเพลโตที่ว่า “สำหรับคนบางคนบางสถานะ อย่าว่าแต่วิจารณ์ผู้อื่นเลย แม้จะกล่าวชมก็ยังไม่มีสิทธิ เพราะคนที่จะชมผู้อื่นนั้นจะต้องมีความรู้และความลึกซึ้งมากพอ”

5. ผู้ปฏิบัติงานทางการเมืองที่มุ่งเน้นแต่การได้มาซึ่งอำนาจโดยไม่คำนึงถึงสิ่งอื่น จะขาดหิริโอตตัปปะ (shame) ขาดความรู้สึกผิดชอบชั่วดี (guilt) สามารถจะกระทำการอันใดก็ได้เพื่อได้มาซึ่งอำนาจและผลประโยชน์ด้วยการฉ้อราษฎร์บังหลวง ใช้อำนาจโดยละเมิดหลักนิติธรรม และไม่รู้สึกว่าสิ่งที่ตนกระทำนั้นเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมายและจริยธรรมทางการเมือง

6. ผู้ปฏิบัติงานทางการเมืองหลายคนจะมีจริยธรรมตามสถานการณ์ (situational ethic) ในสถานการณ์หนึ่งก็จะพูดจริยธรรมแบบหนึ่ง แต่ในอีกสถานการณ์หนึ่งก็จะเปลี่ยนโดยไม่คำนึงถึงความขัดแย้งกับสิ่งที่เคยพูดไว้ ไม่คำนึงถึงความถูกความผิด ซึ่งเหมือนจิ้งจกหรือกิ้งก่าที่จะเปลี่ยนสีไปตามสภาพแวดล้อม ในแง่หนึ่งก็คือคนที่ไม่มีกระดูกสันหลัง หรือเป็นหัวหอมที่เมื่อแกะแล้วไม่มีแกนกลาง คนพวกนี้จะเปลี่ยนข้าง เปลี่ยนฝักเปลี่ยนฝ่าย โดยไม่รู้สึกละอายใจ

7. มารยาททางการเมือง (political etiquette) ซึ่งอยู่ในประเทศพัฒนาทั้งหลายนั้น จะขาดไปจากผู้ปฏิบัติงานทางการเมืองในประเทศกำลังพัฒนา ถึงแม้จะทำงานผิดพลาดก็จะพยายามหาทางแก้ตัวแบบน้ำขุ่นๆ ไม่มีจิตสำนึกที่จะลาออกจากตำแหน่ง การขาดจิตสำนึกดังกล่าวนี้นำไปสู่ความเสียหายอย่างมหาศาลต่อระบบและต่อสังคม

8. การพูดจาโกหก (perjury) ถือเป็นอาชญากรรมสำคัญในประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่นสหรัฐอเมริกา ประธานาธิบดีพูดโกหกจะร้ายแรงเท่าคดีอาญา ในทางการเมืองถือว่ามีความผิดอย่างมหันต์ แต่เนื่องจากสังคมที่กำลังพัฒนานั้นประชาชนส่วนใหญ่ขาดข่าวสารข้อมูล และไม่มีระบบความคิดในลักษณะคิดวิเคราะห์ ก็เลยถูกป้อนข้อมูลที่เป็นเท็จ โดยการพูดจาที่โกหกพกลมของผู้ปฏิบัติงานทางการเมือง ก่อให้เกิดความสับสนโดยเฉพาะเมื่อมีเจตนาซ่อนเร้นเพื่อชักจูงให้ร่วมขบวนการทางการเมือง จนมีแนวโน้มที่จะนำไปสู่การประจัญหน้า หมิ่นเหม่ต่อการนำไปสู่ความเสียหายต่อสังคมอย่างมหันต์

9. การเมืองจะนำไปสู่ความเป็นฝักเป็นฝ่าย (partisan) ทำให้เกิดความแตกแยกทางความคิดและจุดยืนของคนในสังคม และความแตกแยกดังกล่าวอาจเข้าไปสู่คนในครอบครัว สามีภรรยา พ่อแม่กับลูก พี่กับน้องเกิดความขัดแย้งกัน ในนิยายเรื่องสี่แผ่นดินของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช มีตอนหนึ่งที่พลอยตัวเอกของเรื่องกล่าวทำนองว่า “นี่มันอะไรกัน พี่น้องแตกแยกกันหมดเพราะการเมือง”

10. ผู้ปฏิบัติงานทางการเมืองที่ขาดอุดมการณ์ ขาดหลักการ และความเสียสละ อาจใช้โอกาสและอำนาจทางการเมืองเพื่อหาผลประโยชน์ส่วนตัว เพื่อส่งเสริมพรรคพวก ญาติโกโหติกา ละเมิดต่อหลักการและอุดมการณ์ที่เคยประกาศไว้เนื่องจากความโลภและหลงอำนาจ กระทำสิ่งซึ่งขัดต่อหลักศีลธรรมและจริยธรรมโดยไม่รู้สึกกระทบต่อจิตสำนึกในเรื่องความดีความชั่ว จุดเน้นอยู่ที่ผลประโยชน์ดังคำกล่าวที่ว่า “ผลประโยชน์เท่านั้นนิรันดร”

การเมืองจึงมีทั้งผลบวกและผลลบ ขึ้นอยู่กับระดับทางศีลธรรมและจริยธรรม จิตวิญญาณ ของผู้ปฏิบัติงานทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองระดับสูง แต่ที่ต้องพึงสังวรไว้ก็คือคำกล่าวที่ว่า ความดีหรือความชั่วจากการกระทำจะถูกตราไว้ในแผ่นดินตราบชั่วนิรันดร์