โรคที่เกิดจากน้ำเป็นสื่อ มีอะไรบ้าง

   คำนิยามของโรคที่เกิดจากน้ำเป็นสื่อ ก็คือ โรคที่เกิดโดยการนำของน้ำซึ่งมีสิ่งต่าง ๆ เจือปนอยู่ สิ่งที่เข้าไปเจือปนนี้อาจจะเป็นพวกเชื้อบักเตรี หรือพวกเชื้อจุลินทรีย์ที่เป็นอันตรายหรือเป็นพวกสารเคมีที่เป็นพิษก็ได้ เข้ามาปนเปื้อนอยู่ในน้ำจำนวนมาก เกินมาตรฐานที่กำหนดไว้ โรคพวกนี้มักจะเป็นโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหารทั้งนั้น

    โรคที่เกิดจากน้ำเป็นสื่อนี้อาจเกิดขึ้นจากตัวเชื้อ หรือสาเหตุต่าง ๆ กันดังนี้

1.เกิดจากบักเตรี (Bacterial infection) ได้แก่ โรคไข้รากสาด (Typhoid fever) โรคบิดไม่มีตัว (Bacillary dysentery) และอหิวาตกโรค (Cholera) เป็นต้น

2.เกิดจากโปรโตชัว (Protozoa infection) เช่น โรคบิดชนิดมีตัว (Amebiasis)

3.เกิดจากวิสา (Virus infection) เช่น โรคตับอักเสบ (infectious hepatitis) และโรคโปลิโอ (Poliomyelitis) เป็นต้น

4.เกิดจากพยาธิต่าง ๆ (Helminth infection) เช่น พยาธิใบไม้ในตับ (Chlornorchiasis) ซึ่งมีหอยเป็นพาหะและมี life cycle เจริญเติบโตอยู่ในน้ำ จึงเป็นโรคที่มากับน้ำ นอกจากนี้ก็มีโรคพยาธิใบไม้ในลำไส้ (Fasciolepsiasis) พยาธิไส้เดือนกลม (Ascariasis) และพยาธิแส้ม้า (Trichuriasis) เป็นต้น พวกนี้มักจะเกิดเพราะเรารับประทานสัตว์น้ำที่เป็นพาหะในวงจรชีวิตของมันเสียมากกว่าการดื่มน้ำโดยตรง

3.โรคที่เกิดจากสารเคมีเป็นพิษ (Chemical poisoning) สารเคมีที่ปนเปื้อนลงไปในน้ำแล้วกลับเข้าสู่ร่างกายมนุษย์โดยเราดื่มน้ำนี้เข้าไป สามารถแบ่งออกเป็นพวกใหญ่ ๆ ได้ 2 พวกด้วยกันคือ

(ก) เกิดจากโลหะหนัก (Heavy metal) ซึ่งส่วนมากจะไปทำลายพวก living organ ต่าง ๆ เช่น

ปรอทเป็นพิษ (Mercury poisoning) ทำให้เกิดเป็นโรคที่เรียกว่า มินามาตะ (Minamata) จะทำให้ประสาทพิการเป็นอัมพาต และอาจถึงตายได้

แคดเมียมเป็นพิษ (Cadmium poisoning) ทำให้เกิดโรคที่เรียกว่า “อิไต-อิไต” (Itai-itai) คือแคดเมียมจะเข้าไปสะสมอยู่ที่กระดูก จะทำให้ปวดตามข้อและในกระดูก กระดูกจะเปราะและมีโครงสร้างเฉเกไป

นอกจากนี้ก็มีโรค

ตะกั่วเป็นพิษ (Lead poisoning)

ทองแดงเป็นพิษ (Cupper poisoning)

สังกะสีเป็นพิษ (Zinc poisoning)

(ข) เกิดจากสารพิษปราบศัตรูพืช (Pesticides) ซึ่งอาจจะอยู่ในรูปสารพิษตกค้างในน้ำ หรือปนเปื้อนมากับน้ำโดยตรงก็ได้ สารพิษปราบศัตรูพืช เราจะรวมถึงสารพิษฆ่าแมลง (Insecticide) สารพิษฆ่าหญ้า (Herbicide) สารพิษฆ่าสาหร่าย (Algaecide) และอื่น ๆ ฯลฯ ด้วย

แต่ถ้าพูดถึงสารพิษฆ่าแมลง (Insecticide) แล้วต้องเป็นพวกพิษตกค้างได้นาน และปนเปื้อนลงไปในแหล่งน้ำได้มาก ซึ่งจะแบ่งออกเป็นพวกใหญ่ ๆ ได้ 3 พวกด้วยกันคือ

พวก Organochlorine (หรือ Clorinated Hydrocarbon) เป็นสารประกอบที่ในโมเลกุลประกอบด้วยธาตุ C, H, O และ CI เป็นตัวประกอบที่สำคัญได้แก่พวก DDT, Aidrin และ Diedrin เป็นต้น ฯลฯ พวกนี้จะเป็นพวกที่อยู่ตัวมาก และเมื่อปนเปื้อนลงไปในน้ำแล้วจะปนเปื้อนอยู่กับตะกอนใต้น้ำและสะสมอยู่ในตัวของสัตว์น้ำได้เป็นเวลานานนับเป็นสิบปี

พวก Organophosphate ในโมเลกุลจะประกอบไปด้วยธาตุ C, H, O, S และ P เป็นตัวประกอบที่สำคัญ ได้แก่พวก Malathion, Parathion เป็นต้น ฯลฯ พวกนี้เป็นพวกที่สลายตัวได้ง่าย ไม่มีพิษตกค้าง แต่มีพิษรุนแรงมาก เพราะฉะนั้นมันจะปนเปื้อนลงไปในน้ำได้โดยตรง

พวก Carbamate พวกนี้ไม่อยู่ตัวและพิษไม่รุนแรงนัก เราจึงพบในน้ำเฉพาะกรณีที่พึ่งปนเปื้อนลงไปในน้ำใหม่ ๆ เท่านั้น

อาการของโรคที่เกิดจากน้ำเป็นสื่ออย่างย่อ ๆ

1.โรคบิดแบซิลลารี หรือบิดไม่มีตัว (Becillary dysentery) โรคนี้เกิดจากเชื้อ Shigella sonner, Shigella flexor และ/หรือ Shigella Shiga ซึ่งมักจะมีระยะฟักตัว 1-12 ชั่วโมง บางทีก็นานถึง 1-5 วัน จะทำให้มีไข้ ท้องเดิน และอุจจาระจะมีกลิ่นคาวจัดบางครั้งอาจจะมีมูกเลือดปนอยู่ด้วย

2.โรคบิดอมีบิค หรือบิดชนิดมีตัว (Amoebic dysentery) ซึ่งเกิดจากเชื้อ Etamoeba histolytica มีระยะฟักตัวประมาณ 2-14 วัน จะมีอาการปวดท้องแบบถ่วง ๆ ลักษณะของอุจจาระมักจะเหลวและมีมูกเลือดปน มีกลิ่นคาว แต่ไม่คาวจัดเหมือนแบซิลลารีและมักไม่มีไข้

3.ไข้รากสาด (Typhoidfever) เกิดจากเชื้อ Typhoid bacillus จะมีระยะการฟักตัวตั้งแต่ 3-38 วัน จะทำให้ผู้ป่วยมีไข้ติดต่อกันไป อาจจะมีจุดแดง ๆ ขึ้นตามตัวและมีท้องผูกสลับกับท้องเดิน

4.ไข้รากสาดเทียม (Paratyphoid-fever) โรคนี้เกิดจากเชื้อ Salmonella paratyph : A., Salmonella schottmullari B และ/หรือ Salmonella hirschfeldii C จะมีระยะฟักตัว 1-10 วัน และมีอาการเป็นไข้ติดต่อกันไป ท้องจะเดินบางครั้ง จะมีจุดแดง ๆ ขึ้นตามตัวเหมือนไข้รากสาด

5.อหิวาตกโรค (Cholera) เกิดจากเชื้อ Vibrio cholera และ/หรือ Vibrio commar จะมีระยะฟักตัวเพียง 2-3 ชั่วโมงเท่านั้น จะมีอาการท้องเดินอย่างแรง ลักษณะของอุจจาระเหมือนน้ำซาวข้าว อาเจียน หิวน้ำมาก จะกระสับกระส่าย และถึงตายได้ถ้าท้องเดินมาก ๆ ร่างกายเสียน้ำและเกลือแร่มาก

6.โรคพยาธิไส้เดือนกลม (Ascariasis) โรคนี้เกิดจากเชื้อ Ascarislumbricoides ซึ่งจะมีระยะฟักตัวนานถึง 1-2 เดือน โรคนี้จะมีอาการท้องผูกหรือท้องเดินก็ได้ แต่เวลาถ่ายอุจจาระมักจะมีพยาธิออกมาด้วย และถ้าหากมีจำนวนมาก ๆ อาจทำให้เกิด Intestinal obstruction ได้

การป้องกันและควบคุมโรคที่เกิดจากน้ำเป็นสื่อ

เนื่องจากโรคเหล่านั้นมีแหล่งกำเนิดมาจากอุจจาระของผู้ป่วยทั้งสิ้น และสามารถติดต่อไปยังผู้อื่นได้โดยอาศัยน้ำเป็นสื่อ จึงต้องมีการกำจัดอุจจาระให้ถูกหลักสุขาภิบาล ระวังอย่าให้อาหารและน้ำดื่มใช้ปนเปื้อนด้วยอุจจาระเป็นอันขาด มีการกำจัดน้ำโสโครกให้ถูกวิธีและปรับปรุงคุณภาพน้ำดื่มน้ำใช้ให้ถูกลักษณะ เช่นในกิจการประปา เป็นต้น นอกจากนี้ยังควรให้สุขศึกษาและอนามัยส่วนบุคคลแก่ประชาชนทั่วไปด้วย มีการบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคบางโรค เช่น อหิวาตกโรค เป็นต้น

จะเห็นได้ว่าน้ำสะอาดจำเป็นมากสำหรับผู้อุปโภคบริโภค เพราะถ้าน้ำไม่สะอาดพอมันก็จะบั่นทอนสุขภาพอนามัยของมนุษย์อย่างมาก และชีวิตอาจจะสิ้นสุดลงอย่างรวดเร็วได้ เราจึงต้องมีการลงทุนค่าใช้จ่ายในการทำกรรมวิธีต่าง ๆ ที่จะให้ได้น้ำสะอาด โดยดึงเอามวลสารและเชื้อโรคต่าง ๆ ที่เป็นพิษเป็นภัยชีวิตและปะปนอยู่ในน้ำออกจากน้ำให้หมด หรือให้ลดน้อยลงไปให้อยู่ในเกณฑ์ที่ปลอดภัย