ขั้นตอนการตรวจสอบคุณภาพสินค้า

        8.1  แผนภูมิควบคุมคุณภาพ  (Quality  control  charts)

               การควบคุมคุณภาพในการผลิตวิธีหนึ่งก็คือ  การสร้างแผนภูมิคุณภาพ  เป็นการสร้างแผนภูมิคุณภาพจากการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ด้วยตัวแปร  ( Inspection  sampling   by   variable )  ทั้งนี้เพราะว่า  เราไม่จำเป็นจะต้องทราบถึงรายละเอียด  (Detail)  ที่เกี่ยวกับลักษณะของผลิตภัณฑ์  (Quality  of  products)  มากนักเพียงแต่ต้องทราบถึงคุณลักษณะ  (Attribute)  ของผลิตภัณฑ์ว่า  ใช้ได้หรือใช้ไม่ได้  มีข้อบกพร่องอะไร  หรือมีตำหนิอะไร  ในผลิตภัณฑ์นั้น เช่น  การตรวจสอบคุณภาพของเสื้อผ้าที่ผลิตในแต่ละวันเพื่อรายงานผลการปฏิบัติงานที่เกิดขึ้นจริงกับแผนที่วางไว้จึงมีการใช้แผนภูมิควบคุมคุณภาพ (Quality  control  charts)  ซึ่งวิธีการนี้เป็นวิธีการตรวจสอบคุณภาพผลิตภัณฑ์แบบหยาบ ๆ ง่ายและสะดวกในการตรวจสอบการทดสอบและการตรวจสอบคุณภาพ  (Testing  For  Quality  Control  and  inspection)

        การควบคุมคุณภาพหรือการตรวจสอบคุณภาพของผลิตภัณฑ์ นอกจากจะตรวจสอบด้วยแผนภูมิแล้ว ยังมีวิธีการตรวจสอบ โดยวิธีการสุ่มด้วยดังนี้

            1) วิธีตรวจสอบทุกชิ้น  (Screening  inspection)   การตรวจสอบทุกชิ้นเป็นการตรวจสอบสินค้าแบบ  100%    ( 100%  inspection)  วิธีนี้เป็นวิธีที่ง่ายและใช้กันทั่วไป  เพื่อเป็นการหา  ของเสีย  (defective)  จากกระบวนการผลิตแต่กระนั้นก็ยังไม่มั่นใจว่าจะได้ผลิตภัณฑ์  (Product)  ที่สมบูรณ์เพราะวิธีการนี้จะทำให้เกิดความเบื่อหน่าย  (Monotony)  และเป็นเหตุเกิดความเมื่อยล้า  (fatigue)  และความตั้งใจของพนักงานก็ลดลงเรื่อย ๆ ตามลำดับในทางปฏิบัติไม่มีผู้ตรวจสอบ  (Inspector)  วิธีการตรวจสอบทุกชิ้นจะเปลืองเงิน และเปลืองเวลามากงานบางอย่างก็ไม่สามารถจะกระทำได้ 100%  เช่น  การตรวจสอบความคมของใบมีดโกน หรือสารเคลือบใบมีดทอสอบได้ก็ต้องใช้กับความร้อนซึ่งการทดสอบแบบนี้   จะทำลายผลิตภัณฑ์การทดสอบการรับแรงกัดของท่อคอนกรีตวิธีการก็คือการสุ่มตัวอย่างทดลอง  (Sampling)  วิธีนี้มักนิยมทดสอบในกรณีที่ประกอบเป็นชิ้นงานเสร็จเรียบร้อยแล้ว  และลักษณะงานก็จะกลายเป็นงานประจำของอีกแผนกหนึ่งคือ  แผนกควบคุมคุณภาพ  (Section  quality  contorl) 

             2)  วิธีการสุ่มตัวอย่างจากแต่ละรุ่น  (Lot  by  lot   inspection  or  sampling)   การสุ่มตัวอย่างจากแต่ละรุ่น  เป็นการหลีกเลี่ยงวิธีตรวจสอบแบบ  100%  การผลิตผลิตภัณฑ์จำนวนมาก ๆ รวมกันเป็นกลุ่มก้อนจะเรียกว่า  รุ่น  (Lot)  เช่น  วัสดุที่ส่งเข้ามาในโรงงานชิ้นส่วนประกอบเสร็จบางส่วนหรือผลิตภัณฑ์ที่สมบูรณ์แทนที่การตรวจสอบจะทำการตรวจสอบทุกชิ้น  ก็จะเลือกตรวจสอบบางชิ้นส่วนเท่านั้นและจะจัดสินใจว่ายอมรับ (Accept) หรือปฏิเสธ (Reject) ทั้งรุ่น (Lot)

                    วิธีการตรวจสอบจากการสุ่มตัวอย่างจากทีละรุ่น ในการตรวจสอบคุณภาพจากการสุ่มตัวอย่างจากทีละรุ่นมีวิธีดำเนินการตามขั้นตอน  4  ขั้นตอน  ดังนี้

                     ขั้นที่  1  จัดตั้งการตรวจสอบเป็นรุ่นขนาดของรุ่น  (Lot  Size)  ที่จะตรวจสอบอาจประกอบด้วยจำนวนตั้งแต่  300  ชิ้นขึ้นไป  หากการผลิตได้น้อยกว่า  300 ชิ้นต่อหนึ่งรุ่น  ผู้ตรวจสอบก็อาจจะใช้วิธีการคอยถึง  2  หรือ  3  รุ่น  ก่อนก็ได้ให้ได้ขนาดรุ่นไม่น้อยกว่า 300 ชิ้น จึงจะเป็นการประหยัดหรือถ้าหากชิ้นงานที่จะตรวจสอบน้อยกว่า  300  ชิ้นผู้ตรวจก็อาจจะเลือกวิธีการตรวจสอบด้วยวิธีการอื่น ๆ แทน

                     ขั้นที่  2  จัดเรียงรุ่นตามประเภทเดียวกัน  คำว่า  “รุ่นประเภทเดียวกัน”  (Rational    Lot)  หมายถึงหน่วยที่ผลิตออกมาจากแหล่งเดียวกันรุ่นหนึ่ง ๆ โดยจะต้องเป็นชิ้นงานที่ผลิตจากแบบเดียวกันขบวนการเดียวกันวัตถุดิบเดียวกันแต่ในทางปฏิบัติจะจัดแบ่งรุ่นตามประเภทเดียวกันได้ยาก  แต่ก็ควรจะให้ใกล้เคียงกันที่สุดที่จะทำได้

                     ขั้นที่   3  กำหนดระดับคุณภาพในการยอมรับในความเป็นจริงในการผลิตจำนวนมาก ๆ เป็นการยากที่จะให้สินค้านั้นดีทุกชิ้น  100% เพียงแต่เปอร์เซ็นต์ของเสียอยู่ในขีดที่ผู้ผลิต (producer)  หรือผู้ซื้อพอใจ  (Satisfy)  ก็ถือว่ายอมรับได้ดีกว่าที่จะเสียงบประมาณเพิ่มในการตรวจสอบคุณภาพ   100%   ทั้งรุ่นการกำหนดระดับคุณภาพในการยอมรับคุณภาพก็คือเปอร์เซ็นต์ของเสียในรุ่นส่งมา  หรือเปอร์เซ็นต์ของเสียที่ผลิตออกมาในรุ่น  (Acceptable  Quality  Level  :  AQL)  ที่ผู้ซื้อยอมรับได้  เช่น  ผู้ผลิตผลิตสินค้าออกมาให้ลูกค้าจำนวน  100  ชิ้น   ลูกค้าหรือผู้สั่งสินค้ายอมให้เสียได้จาก  100  ชิ้นค่า AQLบริษัทผู้ซื้อจะเป็นผู้กำหนดเองและค่า AQL จะเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาการซื้อขาย

            ขั้นที่  4  เลือกแผนการสุ่มตัวอย่างและการเลือกแผนการสุ่มตัวอย่างจะต้องตอบคำถาม  ข้อ  1-3  ดังนี้

             1.  ในหนึ่งรุ่นมีตัวอย่างกี่ชิ้น  (Sample  Size)
             2.  จะยอมรับรุ่มเมื่อไหร่  (Acceptance  limit)
             3.  จะปฏิเสธรุ่นเมื่อไหร่  (Rejection  limit)

                     เพื่อให้เข้าใจง่าย  โปรดศึกษากรณีตัวอย่าง

                      กรณีตัวอย่าง 1 สมมติ AQL คือ  2%  ขนาดรุ่นมี  750  ชิ้นจะหาแผนการสุ่มตัวอย่าง  มีขั้นตอนต่อไปนี้
                      ขั้นที่  1  จากตาราง  10-2  แผนการสุ่มตัวอย่าง  ช่วงที่  1  แสดงขนาดรุ่น  (Lot  Size)  คือ  500  ถึง  799  ชิ้น   ช่วงที่  2  แสดงจำนวนตัวอย่าง  (Sample  Size)  คือ  40 , 60 , 80 , 100  และ 120  ชิ้น

                      ขั้นที่  2  ดูค่า  AQL  คือ  เปอร์เซ็นต์ของเสียในรุ่นที่ส่งมาในที่นี้คือ  2%  และ  A  แสดงจำนวนยอมรับ  R  , แสดงจำนวนปฏิเสธ  ดังนี้


                        A  :  0 , 1 , 1 , 2  และ 4
                        R  :  3 , 4 , 5 , 5  และ 5

                      ขั้นที่  3  นำตัวเลขมาจัดเรียงใหม่จะได้แผนการสุ่มตัวอย่างที่สมบูรณ์  คือ

ขนาดตัวอย่าง

จำนวนยอมรับ  (A)

จำนวนปฏิเสธ  (R)

40

0

3

60

1

4

80

1

5

100

5

5

120

4

5

                      ขั้นที่  4  เลือกแผนการสุ่มตัวอย่างโดยจากการเลือกตัวอย่าง  40  ชิ้นโดยที่หยิบแบบสุ่มตัวอย่างทั่วทั้งรุ่น  และถ้าไม่พบของเสีย  (defective)  เลยก็ยอมรับรุ่นนั้น ๆ เพราะจำนวนยอมรับคือ 0  แต่ถ้าพบของเสียมากกว่าหรือเท่ากับ 3 ชิ้น  ก็ปฏิเสธรุ่นนั้น ๆ  เพราะจำนวนปฏิเสธในแนวนี้  คือ  3   แต่ถ้าพบของเสีย  1 หรือ  2  ชิ้นจะยอมรับ  (Accept)  หรือปฏิเสธ  (Reject)  ไม่ได้  และให้ดำเนินการต่อไปก็คือเพิ่มขนาดตัวอย่างอีก  20 ชิ้น จากรุ่นนั้น   ซึ่งจะทำให้จำนวนของขนาดของตัวอย่างรวมเป็น  60  ชิ้น  จากนั้นก็ให้สุ่มจากตัวอย่างต่อไปอีก  การนับให้นับจำนวนของเสียรวมครั้งที่แล้วด้วยและเทียบกับ  ตาราง  10-2  อีกด้วยว่าจะยอมรับ  (A)  หรือปฏิเสธ  (R)  หากการสุ่มขึ้นมาใหม่  และนับรวมกันกับการสุ่มครั้งที่แล้วไม่สามารถจะยอมรับ  หรือปฏิเสธได้    ก็ให้เพิ่มขนาดของตัวอย่างขึ้นไปอีก  วิธีการนี้จะดำเนินการไปเรื่อย ๆ จนจำนวนของขนาดตัวอย่างเป็น  120  ชิ้น ดังกล่าวแล้วซึ่งจุดนี้จะไม่มีช่องว่างระหว่างการยอมรับหรือปฏิเสธอีกแล้ว จึงเป็นการยุติการสุ่มตัวอย่างต่อไป  และก็จะสรุปได้ว่า  จะยอมรับหรือปฏิเสธรุ่น  (Lot)  นั้น ๆ  จากตัวอย่างที่กล่าวมานี้  จะเห็นว่าจำนวนยอมรับเมื่อพบของเสียเป็น  4  ชิ้น  จะยอมรับเมื่อพบของเสีย  120  ชิ้น   เพียง  3.3%  เมื่อเทียบกับค่า  AQL   แล้วนั่นคือ   แต่ละรุ่นที่มีของเสียระหว่าง   2%  ถึง  3.3%  จะผ่านการยอมรับทั้งนี้จะไม่คำนึงถึงโชคของการหยิบตัวอย่าง  จากตัวอย่างที่กล่าวมานี้  หมายความว่า  ผลิตภัณฑ์ที่มีขนาดรุ่นเท่ากับ  750  ชิ้น  ผู้ซื้อจะยอมรับรุ่นหรือยอมรับผลิตภัณฑ์  ต่อเมื่อขนาดตัวอย่าง  120  ชิ้น  ที่สุ่มมานั้นจะมีของเสียปะปนมาเพียงไม่เกิน 4  ชิ้น เท่านั้น  ถ้าคิดรวมทั้งรุ่น  คือ  750  ชิ้น  จะมีของเสียปะปนมาด้วยไม่เกิน  25  ชิ้น  เพื่อให้เกิดความเข้าใจกรณีตัวอย่าง  1   โปรดศึกษาการสมมติ  การสุ่มตัวอย่าง  1  ก.  และตัวอย่าง  1  ข.  นี้

3) วิธีตรวจสอบตามขบวนการผลิต (Process  Inspection) การตรวจสอบขบวนการผลิต ผู้ตรวจจะถูกกำกับในขอบเขตบริเวณที่หนึ่ง ๆ เพื่อตรวจเครื่องมือวิธีการผลิต    และชิ้นส่วนบางอย่างจากวัตถุดิบ  (Raw   Materials)  วิธีการตรวจสอบวิธีนี้จะได้แก้ข้อผิดพลาดทันทีที่พบเห็น  เช่น  การตรวจสอบในสายการผลิต  โดยพนักงานทุกคนที่ทำงานในสายการผลิตทุกจุดเป็นผู้ตรวจสอบไปในตัวด้วย  เป็นต้น  ข้อจำกัดของการตรวจสอบวิธีนี้ก็คือผู้ตรวจไม่สามารถจะตรวจชิ้นงาน  หรือ  ทุกเครื่องได้   ชิ้นงานบางชิ้นงานจะพลาดการตรวจ  หากจะตรวจให้ครบทุกเครื่องได้จะต้องเพิ่มผู้ตรวจมากขึ้น

8.2  มาตรฐานการรับรองระบบคุณภาพโรงงาน  ISO 9000

                              ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในปัจจุบันได้มีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว และมีการแข่งขันกันอย่างสูงเพื่อให้ธุรกิจของตนได้เป็นผู้นำในอุตสาหกรรมนั้น ๆ ไม่ว่าจะเป็นทางด้านการบริการ อุตสาหกรรมการผลิต เป็นต้น บทความนี้เราจะมาทำความรู้จักกับ คำว่า ISO ว่ามันคืออะไร และมีบทบาทสำคัญมากน้อยแค่ไหนในเชิงธุรกิจ  ไอเอสโอจริง ๆ แล้ว เป็นชื่อของหน่วยงานหนึ่ง ตั้งอยู่ที่สวิสเซอร์แลนด์เมื่อพูดคำว่า ISO ออกมาแล้ว คนทั่วไปที่ไม่ได้อยู่ในวงการนี้ แต่อาจจะพอเห็น หรือได้ยินมาบ้างทาง โทรทัศน์ ตามป้ายโฆษณา หรือตาม web site ต่าง ๆ ก็ดี คงจะนึกไปถึงอะไรที่มันเกี่ยวกับสินค้า, เกี่ยวกับโรงงาน, เกี่ยวกับการผลิต ซึ่งจริง มันก็ใช่ แต่ก็ไม่ถูกต้องไปทั้งหมดเสียทีเดียว

                        ISO มาจากคำว่า International Standardization and Organization มีชื่อว่าองค์การมาตรฐานสากลหรือองค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการมาตรฐาน ก่อตั้งเมื่อปีค.ศ.1946 หรือพ.ศ.2489 มีสำนักงานอยู่ที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์มีวัตถุประสงค์คล้ายๆกับองค์การการค้าอื่นๆของโลก คือจัดระเบียบการค้าโลกด้วยการสร้างมาตรฐานขึ้นมา ใครเข้าระบบกติกานี้ถึงจะอยู่ได้

                             ช่วงที่ ISO ก่อตั้งขึ้น เป็นช่วงสงครามโลกก็เพิ่งจะจบลงใหม่ๆดังนั้นประเทศต่างๆก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากนัก ต่างคนต่างขายของโดยมีระบบมาตรฐานไม่เหมือนกันจนกระทั่งในปี 2521 เยอรมนีเป็นตัวตั้งตัวตีให้ทั่วโลกมีมาตรฐานคุณภาพสินค้าเดียวกันส่วนองค์กรมาตรฐานโลกก็จัดตั้งระบบ ISO/TC176 ขึ้นต่อมาอีก1ปีอังกฤษพัฒนาระบบคุณภาพที่เรียกว่า BS5750 ใช้ในเชิงพาณิชย์ได้สำเร็จ จากนั้นในปี 2530 ISO จึงจัดวางระบบการบริหารเพื่อการประกันคุณภาพที่สามารถตรวจสอบได้ผ่านระบบเอกสารหรือที่เรียกว่า อนุกรมมาตรฐาน ISO 9000 เป็นมาตรฐานที่กำหนดใช้ในทุกประเทศทั่วโลก

                            ตัวเลข 9000 เป็นชื่ออนุกรมหนึ่งที่แตกแยกย่อยความเข้มของมาตรฐานงานออกเป็นอีก 3 ระดับ คือ ISO 9001 , ISO 9001 และ ISO 9003 นอกจากนี้ยังมีอีกอนุกรมหนึ่งคือ ISO 14000 เป็นเรื่องของสิ่งแวดล้อมและระบบคุณภาพ   9000 เป็นแนวทางในการเลือกและกรอบในการเลือกใช้มาตรฐานชุดนี้ให้เหมาะสม  ISO 9001 มีระดับความเข้มมากที่สุดคือหน่วยงานที่จะได้รับอนุมัติว่ามีระบบคุณภาพมาตรฐานสากลในระดับนี้จะต้องมีรูปแบบลักษณะการทำงานในองค์กรตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ 20 ข้อ โดยมีการกำกับดูแลตั้งแต่การออกแบบ การพัฒนา การผลิตและการบริการยกตัวอย่างชื่อหัวข้อที่พอจะเข้าใจ เช่น กลวิธีทางสถิติการตรวจสอบการย้อนกลับของผลิตภัณฑ์ การจัดเก็บการเคลื่อนย้าย เป็นต้น 

ISO 9002 ก็จะเหลือเพียง 19 ข้อ ดูแลเฉพาะระบบการผลิต การติดตั้งและการบริการ (ตัดกลวิธีทางสถิติออกไป)  ส่วน ISO 9003 เหลือแค่ 16 ข้อดูแลเฉพาะการตรวจสอบขั้นสุดท้าย  9004 เป็นแนวทางในการบริหารระบบคุณภาพเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดเป็นต้น  ถ้าอธิบายด้วยภาษาง่ายๆ ISO 9000 ก็คือการกำหนดมาตรฐานสากลในการจัดระบบงานของหน่วยงานให้ตรงตามที่มาตรฐาน ISO 9000 กำหนดไว้   หน่วยงานที่คิดว่าตนเองจัดรูปแบบได้ตามที่ ISO 9000 กำหนดไว้แล้วจะมีหน่วยงานที่เข้ามาตรวจสอบและออกใบรับรองให้อย่างเป็นทางการ คือสมอ. หรือ สำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ถนนพระราม 6 กรุงเทพฯ 10400โทร. 0-2202-3428 และ 0-2202-3431 อย่างไรก็ตามมีบริษัทต่างชาติที่เข้ามาเป็นผู้ตรวจสอบและสามารถออกใบรับรองให้ได้ 

                            ขั้นตอนการขอ ISO 9000 เริ่มจากการขอข้อมูล ยื่นคำขอ ตรวจประเมินออกใบรับรอง ตรวจติดตาม ตรวจประเมินใหม่  ส่วนการเตรียมระบบคุณภาพมี 4 ข้อใหญ่ๆ

                                 1.  ทบทวนสถานภาพกิจการปัจจุบัน

                                 2.  จัดทำแผนการดำเนินงานและระบบเอกสาร

                                 3.  นำระบบบริหารงานคุณภาพไปปฏิบัติ

                                 4.  ตรวจสอบประสิทธิภาพของระบบคุณภาพ  

                                 ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการเรื่องนี้ตกประมาณ 2-3 แสน ถ้าเป็นสินค้าหรือบริการส่งออก รัฐบาลจะช่วยออกเงินให้ครึ่งหนึ่งส่วนเวลาดำเนินการจะประมาณ 6 เดือนถึง 1 ปี
                                  ISO ใช้วัดคุณภาพ ทั้งด้าน 1.โรงแรม ภัตตาคารและการท่องเที่ยว 2.กลุ่มคมนาคม สนามบิน และการสื่อสาร 3.สาธารณสุข โรงพยาบาล คลินิก 
4. ซ่อมบำรุง 5. สาธารณูปโภคต่างๆ 6.ก ารจัดจำหน่าย 7. มืออาชีพ การสำรวจ ออกแบบ ฝึกอบรม และที่ปรึกษา 8. บริหารบุคลากรและบริการในสำนักงาน 9.วิทยาศาสตร์ การวิจัยและพัฒนา

                                   ISO 9000 สามารถประยุกต์ใช้ได้กับทุกองค์กรไม่ว่าจะเป็นองค์กรชนิดใดขนาดใหญ่ หรือเล็ก  ผลิตสินค้า หรือ ให้บริการอะไร  การนำระบบการบริหารงานคุณภาพตามมาตรฐาน ISO 9000ไปใช้อย่างแพร่หลายจะเป็นประโยชน์แก่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องดังนี้

                                    1. องค์กร/บริษัท

                                  - การจัดองค์กร การบริหารงาน การผลิตตลอดจนการให้บริการมีระบบและมีประสิทธิภาพ

                                 - ผลิตภัณฑ์และบริการเป็นที่พึงพอใจของลูกค้าหรือผู้รับบริการและได้รับการยอมรับ

                                 - ก่อให้เกิดภาพลักษณ์ที่ดีแก่องค์กร

                                 - ประหยัดค่าใช้จ่ายในระยะยาว

                                 2. พนักงานภายในองค์กร/บริษัท

                                 - มีการทำงานเป็นระบบ

                                 - เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน

                                 - พนักงานมีจิตสำนึกในเรื่องของคุณภาพมากขึ้น

                                 - มีวินัยในการทำงาน

                                 -พัฒนาการทำงานเป็นทีมหรือเป็นกลุ่มมีการประสานงานที่ดี และสามารถ

                                 -พัฒนาตนเองตลอดจน   เกิดทัศนคติที่ดีต่อการทำงาน

                               3. ผู้ซื้อ/ผู้บริโภค

                                - มั่นใจในผลิตภัณฑ์และบริการ ว่ามีคุณภาพตามที่ต้องการ

                                - สะดวกประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายโดยไม่ต้องตรวจสอบคุณภาพซ้ำ

                                - ได้รับการคุ้มครองด้านคุณภาพความปลอดภัยและการใช้งาน

                         สรุป : ISO ถือเป็่นสัญลักษณ์ ของผลิตภัณฑ์/บริการ นั้น ๆ  ซึ่งถูกรับรองว่ามีมาตรฐานสากล และมีคุณภาพอย่างสูงต่อลูกค้า, แสดงถึงศักยภาพการบริหารงาน/การผลิตสินค้าขององค์กร ที่มีต่อบุคคลภายนอก, และยังคำนึงถึงสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ด้วย ดังนั้น ก่อนที่จะซื้อสินค้า หรือ บริการ พวกเราควรศึกษาข้อมูลของบริษัทนั้นว่าผลิตภายใต้คุณภาพของ ISO หรือไม่