จารึกวัดโพธิ์เป็นภูมิปัญญาไทยในด้านใด

คอลัมน์: การศึกษา: 'จารึกวัดโพธิ์' มรดกความทรงจำแห่งโลก

          นับเป็นข่าวดีและน่าภาคภูมิใจของคนไทยทั้งประเทศ หลังจากที่ประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษานานาชาติว่าด้วยแผนงานความทรงจำแห่งโลกขององค์การศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ(ยูเนสโก) ครั้งที่ 10 เมืองแมนเชสเตอร์ สหราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคมที่ผ่านมา ประกาศขึ้นทะเบียนจารึก 1,140 แผ่นของวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร หรือเรียกกันติดปากว่า วัดโพธิ์ เป็นมรดกความทรงจำแห่งโลก (Memory of The World) ในบัญชีนานาชาติ
          ต้องยอมรับว่าสรรพวิชาและสรรพศาสตร์ของวัดโพธิ์ ซึ่งถูกบันทึกบนแผ่นศิลาและฝาผนังวัดถือว่าเป็นมรดกทางการศึกษา การแพทย์ประวัติศาสตร์ โบราณคดี และวิชาวรรณคดีอันล้ำค่าที่บรรพบุรุษได้จารึกภูมิปัญญาอันทรงคุณค่าทิ้งไว้เป็นลายลักษณ์อักษรให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา
          วัดโพธิ์ เดิมชื่อ วัดโพธาราม เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงสถาปนากรุงเทพฯ เป็นราชธานีและทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บูรณะปฏิสังขรณ์วัดโพธาราม เมื่อปี 2331 แล้วพระราชทานชื่อว่าวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาวาศ ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม
          จารึกวัดโพธิ์ เริ่มสร้างในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 พระองค์ต้องการให้วัดแห่งนี้เป็น มหาวิทยาลัยสำหรับประชาชนทั่วไป เพราะสมัยนั้นยังไม่มีโรงเรียน ไม่มีหนังสือเรียน การเล่าเรียนส่วนใหญ่อยู่ตามวัด จึงโปรดเกล้าฯ ให้นำองค์ความรู้จากปราชญ์และสรรพวิชาการ เช่นตำราการแพทย์ โบราณคดี และวรรณกรรมโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ทั้งหลาย ฯลฯจารึกลงบนแผ่นหินอ่อน 1,140 แผ่น แล้วประดับไว้ตามบริเวณผนัง-เสาระเบียงรอบพระอุโบสถ พระวิหาร พระวิหารคด และศาลารายรอบพระมณฑปภายในวัด เพื่อให้คนได้เรียนรู้
          ขณะที่ คุณหญิงแม้นมาส ชวลิต ประธานคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยแผนงานความทรงจำแห่งโลกของไทย บอกถึงเหตุผลการขึ้นทะเบียนจารึกวัดโพธิ์เป็นมรดกความทรงจำแห่งโลก ว่า วัดโพธิ์เคยได้รับขึ้นทะเบียนเป็นมรดกความทรงจำแห่งโลก ระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เมื่อปี 2551 มาแล้ว ครั้งนี้เป็นการขึ้นทะเบียนในบัญชีนานาชาติ โดยแบ่งเป็น 5 หมวด อาทิ หมวดประวัติศาสตร์จารึกรัชกาลที่ 1 เรื่องสร้างวัดพระเชตุพนฯและเรื่องพระธาตุนครน่าน รายการปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนฯ ถอดจากโครงดั้น
          อีกหมวดเป็นพระพุทธศาสนา อาทิ จารึกเรื่องพระสาวกเอกทัคคะ จารึกเรื่องอุบาสกเอกทัคคะ จารึกเรื่องอุบาสิกาเอกทัคคะ จารึกเรื่องอศุภ 10 และญาณ 10 จารึกเรื่องฎีกาพาหุง และหมวดวรรณคดี จารึกเรื่องนารายณ์ 10 ปาง และเรื่องเบื้องต้นรามเกียรติ์ จารึกเรื่องสิบสองเหลี่ยม รวมทั้งหมวดประเพณี ได้แก่จารึกเรื่องเมืองมอญกวนข้าวทิพย์ จารึกเรื่องมหาสงกรานต์ จารึกริ้วขบวนแห่กฐินพยุหยาตราทางสถลมารค
          ด้านพระราชเวที ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดโพธิ์เล่าว่า จารึกวัดโพธิ์ทั้ง 1,140 แผ่นนั้นจารึกรัชกาลที่ 1 ถือว่าเก่าแก่ที่สุด โดยบันทึกการสร้างวัดพระเชตุพนฯ เมื่อปี 2331 ทำจากแผ่นหินชนวนกว้าง 1 เมตร ยาว 2 เมตร ติดไว้ในวิหารพระพุทธโลกนาถ ภายหลังก่อสร้างวัดพระเชตุพนฯ เสร็จ 7 ปี 5 เดือน 28 วันมีอายุกว่า 200 ปี
          จุดเด่นของจารึกวัดโพธิ์ ที่กล่าวขานในหมู่นักท่องเที่ยว หากเดินทางมาวัดโพธิ์ต้องดูชม คือ จารึกฤๅษีดัดตน ตำราแพทย์ฉบับหลวง ที่สำคัญวัดแห่งนี้เป็นที่ตั้งโรงเรียนแพทย์แผนโบราณและการนวดแผนโบราณ ที่มีชื่อเสียงก้องโลก นักท่องเที่ยวนานาประเทศหลายคนหนีหนาว ข้ามน้ำข้ามทะเลมานวดแผนโบราณแบบต้นฉบับแท้ๆ
          จากสถิติแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวมาชมความงามของวัดแห่งนี้ กว่า 1,200,000 คน เฉลี่ย 1 แสนคนต่อเดือน
          แต่ก็น่าใจหายเมื่อพระราชเวที เล่าให้ฟังว่าขณะที่ชาวต่างชาติ นักวิชาการประเทศต่างๆดิ้นรนเดินทางมาชมความงามของจิตรกรรมและสถาปัตยกรรมต่างๆ ของวัด เพื่อศึกษาองค์ความรู้ของจารึกอันทรงคุณค่าตลอดทั้งปีไม่ขาดสายนั้น กลับสวนทางกับคนไทย เด็กรุ่นใหม่ ซึ่งแต่ละปีมีสัดส่วนคนไทยน้อยมากที่เดินทางมาวัดโพธิ์
          คนไทยรุ่นใหม่ๆ หลายคนไม่รู้ว่าวัดโพธิ์เป็นมหาวิทยาลัยเปิดแห่งแรกของฆราวาส ทั้งนี้รัชกาลที่ 3 ทรงเห็นว่าการพัฒนาประเทศไม่ใช่เพียงชนชั้นปกครอง แต่ประชาชนด้วยที่ต้องมีความรู้ จึงได้ระดมผู้ชำนาญการต่างๆเขียนวิชาความรู้ลงบนแผ่นศิลาแขวนไว้ในวัดในอดีตหากใครจะมาเรียนรู้วิชาต่างๆ ในวัดโพธิ์ต้องนำเทียนมาส่องและนำแป้งมาทา อาศัยจำกันไปวันละท่อนสองท่อน แต่คนก็อดทนมาเรียนรู้กันมาก แต่ทุกวันนี้คนไทยจำนวนมากไม่มีใครสนใจ นับวันจะมีแต่ชาวต่างชาติ และนักวิชาการที่มาชมและศึกษาเท่านั้น พระราชเวทีบอก
          ทั้งนี้ เพื่อให้คนไทยหันมาสนใจมรดกภูมิปัญญาของบรรพบุรุษมากขึ้น ทางวัดจึงรวบรวมจารึกทั้ง 1,140 แผ่น ลงเว็บไซต์และทำเป็นข้อมูลดิจิตอล เพื่อให้ค้นคว้าได้ง่ายและเข้าถึงคนรุ่นใหม่ ที่ผ่านมาวัดโพธิ์ได้ร่วมกับศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) รวมรวบองค์ความรู้เรื่องฤๅษีดัดตนฉบับดิจิตอลเผยแพร่ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดี จนใครหลายๆคนขนานนามให้วัดแห่งนี้ เปรียบเสมือนมหาวิทยาลัยเปิดสำหรับคนทั่วโลกที่ต้องการเดินทางมาศึกษาองค์ความรู้ที่ถือว่าเป็นสากลและได้รับการยอมรับจากทุกวงการว่าทรงคุณค่า
          สอดคล้องกับ น.ส.จันทร์สุดา รักษ์พลเมือง รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.)
          มองว่า จารึกเหล่านี้เป็นสิ่งหายาก ไม่สามารถหาที่ไหนได้อีกแล้ว สมัยก่อนวัดโพธิ์เป็นเหมือนห้องสมุดประชาชน เปรียบเสมือนมหาวิทยาลัยเปิดให้คนเข้ามาศึกษาเรียนรู้วิทยาการต่างๆ แต่ขณะนี้ถือได้ว่าได้รับการยกย่องให้เป็นห้องสมุดของโลก
          ฉะนั้น ในโอกาสช่วงสมโภชจารึกวัดโพธิ์ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกความทรงจำแห่งโลก ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 19-27 พฤศจิกายน 2554 เด็กรุ่นใหม่และคนไทยควรถือโอกาสครั้งสำคัญนี้ เข้ามาเที่ยวชมจารึกวัดโพธิ์ ทั้งนี้ จะยึดตามจารึกรัชกาลที่ 1 เมื่อครั้งสร้างวัดเสร็จ และเป็นแบบย้อนยุคซึ่งเชื่อว่าหาชมได้ยากนักในยุคนี้
          ว่าไปแล้ว เอกสารของประเทศไทยที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นความทรงจำแห่งโลกมาแล้ว1 ชิ้นนั่นคือ ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราชส่วนจารึกวัดโพธิ์ เป็นลำดับที่ 2 และหลายคนอาจตั้งคำถามว่าแล้วเอกสารหรือว่าบันทึกเรื่องราวอะไร ที่คาดว่าจะได้ขึ้นทะเบียนเป็นลำดับถัดไป
          คำตอบเรื่องนี้ คุณหญิงแม้นมาสบอกว่าแผนงานเสนอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกความทรงจำแห่งโลกเพิ่มเติมนั้น ขณะนี้คณะทำงานลงพื้นที่ศึกษาข้อมูลและเอกสารของ จ.เพชรบุรีเพราะเป็นจังหวัดที่มีเรื่องราวความสำคัญเกิดขึ้นในอดีตมากมาย และยังคงความสมบูรณ์ที่สำคัญมีความเก่าแก่ ซึ่งศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ได้กล่าวอ้างถึง จ.เพชรบุรีนอกจากนี้ที่ จ.เพชรบุรี พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงวางรากฐานวิชาดาราศาสตร์ และทรงทำนายการเกิดสุริยุปราคาเต็มดวงได้อย่างแม่นยำ ดังนั้น จะใช้เวลาสักระยะหนึ่งประมวลข้อมูลทั้งหมดครบตามหลักเกณฑ์ยูเนสโกและสามารถเสนอขึ้นทะเบียน
          แอบหวังลึกๆ ว่าการขึ้นทะเบียนจารึกวัดโพธิ์ จะสะกิดใจคนไทยหันมาปกป้องมรดกบรรพบุรุษและทำให้คนที่ไม่เคยรู้จัก วัดโพธิ์ มีโอกาสเข้าไปเรียนรู้ คลังมรดกความทรงจำแห่งโลก แห่งนี้

          --มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 24 - 30 มิ.ย. 2554--


จารึกวัดโพธิ์ อยู่ตรงไหน

จารึกวัดโพธิ์ติดอยู่บนเสาพระระเบียงชั้นในรอบๆพระอุโบสถ

จารึกวัดโพธิ์เป็นจารึกเกี่ยวกับเรื่องใด

โดยองค์การยูเนสโกพิจารณาว่าจารึกวัดโพธิ์ ที่ถ่ายทอดเรื่องพระพุทธศาสนา วรรณกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งศิลาจารึกเรื่องฤาษีดัดตนมีความเป็นสากล และเป็นประโยชน์ต่อวงการแพทย์

การนวดแผนโบราณวัดโพธิ์จัดเป็นภูมิปัญญาด้านใด

“และเมื่อวัดพระเชตุพนจะจัดงาน “ฉลองนวดไทยมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม” ซึ่งเป็นโอกาสที่จะเผยแพร่ความรู้และภูมิปัญญาด้านสุขภาพของประเทศไทย ทั้งการนวดไทย และฤๅษีดัดตน ที่มีทั้งจารึกตำรา และรูปหล่อฤๅษีดัดตน จึงนับเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์กับมวลมนุษยชาติ ซึ่งผมในฐานะคนไทย และไวยาวัจกรของวัดพระเชตุพน รู้สึกยินดีในการจัดงานฉลอง ...

ตำราการแพทย์แผนไทยที่เป็นมรดกทางภูมิปัญญาจารึกอยู่ที่วัดใด

ทั้งนี้จารึกตำราการแพทย์แผนไทยวัดโพธิ์ เป็นวิชาการแพทย์แผนไทยที่เป็นความรู้สืบทอดมาแต่โบราณ สันนิษฐานว่า เมื่อครั้งสมัยอยุธยาในยามที่บ้านเมืองมีสงคราม ทำให้ตำรับตำราด้านการแพทย์สูญหายกระจัดกระจาย ต่อมาสมัยกรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงสนพระทัยและโปรดให้มีการเก็บรวบรวมและฟื้นฟูวิชาการแพทย์แผนไทย สืบต่อ จนถึง ...