จารึกที่วัดพระเชตุพนมีความสำคัญต่อสังคมไทยอย่างไร

             กระบวนการสำรวจและจัดทำทะเบียนจารึกวัดโพธิ์ครั้งนี้ยังพบว่ามีต้นฉบับหนังสือไทยที่ร่างเตรียมไว้เพื่อที่จะจารึกลงบนแผ่นศิลาแต่งยังไม่ได้จารึกให้ปรากฏเป็นหลักฐาน เช่น " สำเนาจาฤกแผ่นศิลาว่าด้วยการปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพน สำเนาพระราชดำริห์ว่าด้วยการทรงสร้างพระพุทธไสยาศนวัดพระเชตุพน และพระราชกฤษฎีการาชานุสาสน์ วัดพระเชตุพน "  เป็นต้น

จารึกที่วัดพระเชตุพนมีความสำคัญต่อสังคมไทยอย่างไร

ในสภาวะ เหตุบ้านการเมืองที่วุ่นวาย ณ ขณะนี้ ข้าวของขึ้นราคา น้ำมันแพง การตรวจสอบคดีความการทุจริตอีกหลายคดี การโยกย้ายข้าราชการ เพื่อให้ได้มาซึ่งความเหมาะสมกับตำแหน่ง ล้วนแล้วแต่สร้างปัญหา และรอคอยการแก้ไขจากบุคคลที่มีความสามารถ แต่หนึ่งในความวุ่นวายที่รอการแก้ปัญหาอยู่นี้ ก็มีเรื่องให้น่ายินดีสำหรับประเทศไทย นั่นคือ การที่จารึกวัดโพธิ์ มีมติรับรองได้รับการขึ้นทะเบียนรับรองให้ขึ้นทะเบียนเป็นเอกสารมรดกความทรงจำของโลกในส่วนภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยได้มีการรับรองจากองค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือองค์การยูเนสโก (UNESCO) ที่มีการประชุมที่ประเทศออสเตรเลียที่ผ่านมา พร้อมมีการส่งมอบประกาศนียบัตรมรดกความทรงจำแห่งโลกให้แก่วัดพระเชตุพนฯในวันที่ 31 มีนาคม ที่ผ่านมา

หลายคนคงอาจสงสัยว่า การที่ประเทศไทยได้รับการยกย่องจากองค์การยูเนสโกให้จารึกวัดโพธิ์ (วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร) เป็นมรดกความทรงจำแห่งโลกมีความสำคัญแตกต่างกับมรดกโลกอย่างไร โดยมรดกความทรงจำแห่งโลก หรือ Memory of the World เป็นมรดกเอกสารที่บันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร (Documentary Heritage) ในรูปแบบหนังสือ สิ่งตีพิมพ์ รูปภาพ ฟิล์ม สื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่ต้องมีคุณค่ามากในระดับโลก สมควรพิทักษ์รักษาไว้ไม่ให้สูญสลาย เพื่อให้โลกได้ศึกษา ซึ่งแสดงให้เห็นวิวัฒนาการของความคิด การค้นพบ และผลงานของสังคมมนุษย์ ที่เป็นมรดกตกทอดจากสังคมในอดีตให้แก่สังคมปัจจุบัน เพื่อสืบสานต่อไปในอนาคต

ส่วน ‘มรดกโลก’ หรือ World Heritage เป็นมรดกที่มีการแบ่งตามอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองทางวัฒนธรรมและธรรมชาติของโลก คือ 1. มรดกโลกทางวัฒนธรรม 2. มรดกโลกทางธรรมชาติ และมรดกโลกแบบผสมผสาน ซึ่งประกอบไปด้วยแหล่ง หรือสถานที่ ทั้งที่เป็น “แหล่งธรรมชาติ” หรือ “แหล่งทางวัฒนธรรม” ที่มนุษย์สรรค์สร้างขึ้น เช่น อนุสรณ์สถาน หรือเมือง ซึ่งเป็นแหล่งที่มีคุณค่าเป็นเอก สากล สมควรที่ทั่วโลก จะช่วยกันปกป้องรักษา อนุชนรุ่นหลังได้รู้จัก และให้ชื่นชมกับสิ่งมีค่าที่เหล่าบรรดาบรรพบุรุษได้เก็บรักษาไว้ให้อย่างดีสืบต่อไป

จารึกวัดโพธิ์อดีตสู่ปัจจุบัน

จารึกวัดโพธิ์มีที่มาตามคำบอกเล่าของ พระราชเวที ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดโพธิ์ โดยจารึกดังกล่าวเป็นพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) มีพระราชประสงค์ให้วัดโพธิ์เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ของมหาชน ไม่เลือกชั้นบรรดาศักดิ์ ไม่ว่าผู้ดี ไพร่ เจ้านาย สามัญชน ให้มีโอกาสเข้ามาศึกษาเล่าเรียนจากบันทึกต่างๆที่รวบรวมไว้บนแผ่นจารึก แบ่งเป็นกลุ่มๆ เช่น ภาษา วรรณคดีไทย ตำราโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน เรื่องราวเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ประวัติพระพุทธเจ้า พระสาวก หลักธรรมคำสอน ความรู้ทั่วๆไป เช่น ตำรับตำรายา ตำรานวด ประวัติศาสตร์ของการปกครอง เรื่องของชาติพันธุ์มนุษย์ เรื่องเหล่านี้ล้วนจารึกไว้ที่วัดโพธิ์ โดยติดตามเสา ผนัง อาคาร สิ่งก่อสร้างทุกหลังที่สามารถจะติดได้ เพื่อให้ประชาชนมาศึกษาเล่าเรียน ซึ่งความรู้เหล่านี้ได้รับการคัดสรรโดยมีการประชุมนักปราชญ์ ราชบัณฑิต พระสงฆ์ หรือเหล่าบรรดาคนที่มีความรู้วิทยาการด้านต่างๆ นำมารวบรวมไว้ ดังนั้น วิชาการที่นี่จึงเป็นวิชาการชั้นสูง เหมาะที่จะให้คนศึกษาเล่าเรียน หรือใครก็ตามที่มีใจรักวิชา ซึ่งทุกคนสามารถมีโอกาสเรียนรู้ และนำไปใช้ได้จริง จึงถือได้ว่าวัดโพธิ์แห่งเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรก

จารึกวัดโพธิ์มีทั้งหมด 8 หมวด คือหมวดพระพุทธศาสนา หมวดวรรณคดี หมวดทำเนียบ หมวดประเพณี หมวดประวัติวัด หมวดสุภาษิต หมวดอนามัย หมวดตำรายา โดยแต่ละหมวดจะมีเนื้อหาที่แตกต่างกัน เช่น หมวดประวัติศาสตร์ที่เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติของพระพุทธศาสนา อย่างการเผยแผ่ศาสนาจากอินเดียมาสู่ลังกา จากลังกามาสู่ไทย ประวัติพระพุทธเจ้า และพระสาวก ประวัติชนชาติต่างๆ ที่ติดต่อกับประเทศไทยตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงรัชกาลที่ 3 โดยมีภาพเขียน โคลง บอกเล่าเรื่องราวของชาติต่างๆ ประมาณ 32 ชาติที่เข้ามาติดต่อกับประเทศไทยในสมัยนั้น หมวดทำเนียบที่กล่าวถึงเรื่องการปกครอง ตำแหน่งสมณศักดิ์ ทำเนียบหัวเมืองและผู้ปกครอง

หมวดประเพณี เช่น ประวัติวันสงกรานต์ นางสงกรานต์ รามัญข้าวทิพย์ การบอกถึงวิถีชีวิตในวันปีใหม่ของคนไทยสมัยนั้น แต่น่าเสียดายที่จารึกส่วนนี้จางและสูญหายเป็นส่วนใหญ่ หลงเหลือเพียงบางส่วน รวมถึงภาพที่กำกับการบอกเล่าเรื่องราวนั้นก็เลือนหายไป เพราะสมัยก่อนวัดไม่มีทุนทรัพย์ในการทำนุบำรุงรักษา มีปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ ซึ่งแต่เดิมการดูแลรักษาเป็นเรื่องของพระเจ้าแผ่นดินตั้งแต่สมัยรัตนโกสินทร์มาจนถึงรัชกาลที่7 จนมีการเปลี่ยนแปลงระบบการปกครอง

ในยุคแรกที่ไม่มีคนมาเที่ยวชม ทางวัดจึงต้องรับภาระด้วยการช่วยกันบริจาคตามกำลังจากญาติโยมและพระในวัด แต่ว่าสิ่งก่อสร้างต่างๆ รวมถึงจารึกวัดโพธิ์ที่มีมากจึงเกินกำลัง จึงไม่ได้มีการบูรณะเท่าที่ควร

จากนี้ไป พระครูราชเวทีต้องการกระตุ้นให้คนรู้สึกสำนึกว่าไทยเราก็มีของดีที่ต้องช่วยกันรักษา หวงแหน ร่วมมือกันประชาสัมพันธ์ที่ดี โดยเฉพาะสื่อต้องให้ความรู้แก่คนเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้หันมาสนใจเที่ยวชมและบริจาคเงินเพื่อทำนุบำรุง จึงจะสามารถรักษาทรัพย์สินต่างๆ ได้มากขึ้น โดยทางวัดได้มีการคัดลอกข้อความบนแผ่นจารึกทุกแผ่น โดยรวบรวมพิมพ์เป็นหนังสือพิมพ์ชื่อ ประชุมจารึกวัดโพธิ์ หากใครต้องการจะศึกษา ต้องไปเปิดดูในหนังสือ แต่อาจไม่ได้ศึกษาในรูปแบบเดิมจากแผ่นศิลา เพราะทางวัดต้องการจะเก็บรักษาไว้ให้เป็นออริจินัล โดยจะไม่ทำจารึกจำลองแผ่นใหม่ขึ้นมาแทนแผ่นเก่า

เกณฑ์การคัดเลือก

ดร.ประจักษ์ วัฒนานุสิทธิ์ คณะกรรมการและเลขานุการซึ่งเป็นหนึ่งในผู้แทนของไทยในการเข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ เล่าว่า

“ความเป็นมาขององค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือองค์การยูเนสโก (UNESCO) ดำเนินการโครงการ Memory of the world เป็นโครงการที่ต้องการส่งเสริม อนุรักษ์ และเผยแพร่ ความทรงจำของมนุษย์ ที่เป็นด้านเอกสาร หนังสือ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการมีวัฒนธรรม การศึกษา การเคลื่อนไหว ความเป็นไปของมนุษย์ ที่มนุษย์ต้องจดบันทึกความจำต่างๆ ไว้ ดังนั้นยูเนสโกจึงกระตุ้น ส่งเสริมให้ทุกชาติ รวบรวม รักษา อนุรักษ์ เผยแพร่เอกสาร ไม่ว่าจะเป็นในห้องสมุด ศูนย์เอกสารหรือตามสถานที่ต่างๆ ที่มีเอกสาร เพื่อให้มนุษย์ได้สามารถสืบค้นว่าข้อมูลในอดีตมีความเป็นมาอย่างไร

“ด้านประเทศไทยกับโครงการ มรดกความทรงจำโลก หรือ Memory of the world เรามีการเสนอชื่อ หลักศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง ซึ่งมีอายุกว่า 700ปี ในปี 2546 ซึ่งถือว่าเป็นหลักศิลาที่มีประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติ ในเรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เรื่องของสิทธิเสรีภาพของมนุษย์ในการค้าขาย ตัวอักษรไทย และประวัติของพ่อขุนรามคำแหงเองในสมัยสุโขทัยให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา ซึ่งถือว่าเป็นเอกสารสำคัญชิ้นแรกของไทยที่ได้จดทะเบียนขึ้นเป็นมรดกความทรงจำโลก

"การเสนอชื่อจารึกวัดโพธิ์ให้เข้าร่วมในโครงการนี้ โดยคณะกรรมการจะมีการประชุมกันทุกเดือน โดยผู้เชี่ยวชาญว่าประเทศไทยมีเอกสาร ข้อมูล หรือบันทึกใดที่ตรงหลักเกณฑ์ของยูเนสโก ซึ่งได้เล็งเห็นว่าจารึกวัดโพธิ์ ที่มากกว่า 1,360 แผ่น มีความสำคัญมากของไทยตรงที่ ร.3 ทรงเล็งเห็นและมองการณ์ไกลในสมัยรัตนโกสินทร์ที่มีต่างชาติเข้ามาในไทย และมีการล่าอาณานิคมจากชาติต่างๆ เป็นเมืองขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ท่านจึงพยายามเผยแพร่ความรู้ไทยๆ ที่เก็บรวบรวมมาจากที่ต่างๆ มาจารึกไว้เพื่อให้คนที่มาวัด มาอ่านหนังสือเพื่อรู้ทันต่างชาติในสมัยนั้น และสามารถเอาไปใช้ได้จริงจากการศึกษาจากแผ่นจารึกต่างๆ เหล่านี้”

ยูเนสโกมีการส่งเสริมให้ทุกชาติได้มีโอกาสเข้ารับเลือกให้ได้มรดกความทรงจำโลกในชาติของตน การประชุมในครั้งนี้จึงไม่ใช่การแข่งขัน ซึ่งเกณฑ์ในการตัดสิน ดร.ประจักษ์ เล่าว่า “มีการร่างส่วนประกอบต่างๆของจารึกวัดโพธิ์ให้ยูเนสโกได้พิจาณา โดยมีเกณฑ์ด้านต่างๆ หลายประการ คือ ความเป็นของแท้ ของจริง มากน้อยเพียงใด ซึ่งข้อนี้ถือว่าเป็นของแท้แน่นอนที่ รัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าให้จารึกไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2373 มีความโดดเด่น และไม่อาจทดแทนได้ ซึ่งจารึกวัดโพธิ์หากสูญหาย หรือเสื่อมสภาพไปถือว่าหาสิ่งใดมาทดแทนไม่ได้

ความสำคัญระดับโลก ที่ถือว่าจารึกวัดโพธิ์เป็นสิ่งที่ไม่มีชาติใดเหมือน ซึ่งมีความสำคัญตามกาลเวลา โดยเป็นจารึกที่เกิดในช่วงเวลาที่เหมาะสม หากทำช้ากว่านี้อาจไม่มีประโยชน์ เพราะช่วงนั้นเป็นช่วงของชาติตะวันตกพยายามเอาวิวัฒนาการ ความคิดใหม่ๆ เข้ามาในไทย รัชกาลที่ 3 จึงอยากต่อสู้ทางด้านวิธีการและแนวความคิดจึงโปรดเกล้าฯให้จารึกเรื่องราว ความรู้ต่างๆ ของไทยไว้ก่อน เพื่อให้ประชาชนได้เรียนรู้ ด้านสถานที่ ซึ่งถือว่าเป็นวัดโพธิ์ เป็นวัดประจำรัชกาลที่ 1และประจำศาสนา ซึ่งศูนย์รวมของประชาชน ทั้งยังเป็นที่สถิตของปราชญ์ ราชบัณฑิตที่มีความรู้ ความชำนาญ เปรียบเหมือนเป็นมหาวิทยาลัยเปิด และหอสมุดแห่งแรกของชาติที่ให้คนได้เข้าไปอ่านหนังสือ

ด้านบุคคล รัชกาลที่3 ทรงโปรดกล้าฯให้จารึกเรื่องราวต่างๆ ที่เป็นเหตุการณ์สำคัญ ในด้านความเจริญและการเสื่อมถอยต่างๆ ทั้งยังเป็นเอกสารที่บ่งบอกถึงพฤติกรรมของมนุษย์ และการพัฒนาในด้านสังคม ศิลปะและด้านอื่นๆ เพื่อให้ประชาชนได้เข้ามาเรียนรู้ ด้านเนื้อหาสาระโดยแนวคิดในจารึกวัดโพธิ์ เป็นเนื้อหาเกี่ยวกับการพัฒนาด้านสติปัญญาของคนไทย ในเรื่องธรรมชาติวิทยา สังคมวิทยา การเมือง แนวความคิดของชาติ หรือศิลปวัฒนธรรม การกีฬา ดังจะเห็นได้จาก การออกกำลังกายแบบโยคะ หรือแบบฤาษีดัดตนในปัจจุบัน

เกณฑ์ลักษณะอื่นๆ เช่น ความหายาก ของจารึกวัดโพธิ์มีหนึ่งเดียวในโลกที่ไม่มีชาติใดทำและมีรวบรวมไว้ที่ไทยเพียงที่เดียว ด้านความบริบูรณ์ของจารึกวัดโพธิ์ถือว่ามีความบริบูรณ์พอสมควร ถึงแม้จะมีบางส่วนที่หายไป แต่ก็มีการรวบรวมไว้ไห้ได้มากและดีที่สุด ด้านความเสี่ยงที่ต้องมีการป้องกันไม่ให้จารึกวัดโพธิ์ เสื่อมสภาพหรือถูกทำลาย และด้านโครงการบริหารจัดการ ที่มีการเก็บรักษาอนุรักษ์ เผยแพร่จารึกวัดโพธิ์ให้ประโยชน์ และมีประสิทธิภาพ

จารึกวัดโพธิ์ มรดกความทรงจำโลกแห่งเอเชียแปซิฟิก

การประชุมจะมีทุก 2 ปีต่อครั้ง จึงเป็นโอกาสที่ให้แต่ละประเทศได้มีโอกาสกลับไปปรับปรุงเนื้อหา และหลักฐานของประเทศตน การที่ประเทศใดจะได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกความทรงจำโลกนั้นมี 2 ระดับ คือระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและระดับโลกที่สำนักงานใหญ่ที่กรุงปารีส ซึ่งหลักศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงไทยได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกความทรงจำโลกอยู่ที่กรุงปารีสและอยู่ในระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เพราะหากเอกสารหรือหลักฐานชิ้นใดขึ้นทะเบียนเป็นระดับโลกแล้วจะถือว่าเป็นของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกด้วย ซึ่งจารึกวัดโพธิ์เป็นมรดกความทรงจำโลกที่อยู่ในระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่คณะกรรมการพยายามจะเสนอให้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกความทรงจำแห่งโลกที่กรุงปารีสต่อไปหากคุณสมบัติพร้อม

ในการประชุมครั้งนี้ที่ผ่านมาเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2551 ประเทศที่ได้มีการประกาศมรดกความทรงจำโลกระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเหมือนของไทยเรา ได้แก่ เอกสารรัฐธรรมนูญของออสเตรเลีย เอกสารจดหมายเหตุด้านพิพิธภัณฑ์ของเขมรที่เกี่ยวกับเรื่องของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ พงศาวดารราชวงศ์หนึ่งของอินโดนีเซีย

วิวัฒนาการที่ดีของจารึกวัดโพธิ์

ปรีดา ตั้งตรงจิตร ผู้จัดการโรงเรียนการแพทย์แผนโบราณ (วัดโพธิ์) เล่าว่า “จากจารึกวัดโพธิ์ที่มีการนวดอยู่คู่กับคนไทยมานานจนถึงปัจจุบัน นำมาสู่โรงเรียนการแพทย์แผนโบราณ (วัดโพธิ์) ได้เปิดสอนทั้งหมด 4 สาขา คือ เวชกรรม เภสัชกรรม ผดุงครรภ์ การนวดแผนโบราณ โดยมีชาวต่างชาติหันมาให้ความสนใจศาสตร์ด้านนี้ โดยมีการเข้ามาเรียนจนถึงปัจจุบันประมาณ 121 ชาติ ซึ่งเนื้อหาที่มาจากจารึกวัดโพธิ์เหล่านี้ บางส่วนได้นำมาปรับประยุกต์ใช้ จนได้มีการพัฒนาไปในด้านที่เป็นแบบเฉพาะ โดยมีวิธีการนวดต่างกัน โดยเฉพาะการนวดเพื่อเพิ่มพลังร่างกายให้แก่เด็กออทิสติก และโครงการรับการนวดให้แก่ผู้ป่วยระยะสุดท้ายให้เขาเหล่านี้ได้ตายโดยสงบ โดยมีการหยิบท่าฤาษีดัดตนมาผสมกับการนวดพอสมควร

“ในขณะนี้มีการศึกษาเรื่องท่าฤๅษีดัดตนอย่างละเอียดอยู่ประมาณ 30 จาก 80 ท่า เป็นท่าที่ใช้ดัดกระดูกสันหลัง ซึ่งเป็นศาสตร์ที่มีความคล้ายคลึงกับไคโรแพกติก ท่าฤๅษีดัดตนเหล่านี้นำมาสู่การการพัฒนาโปรแกรมให้แก่คนที่นั่งทำงานอยู่กับคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน โดยโปรแกรมนี้จะคอยเตือน ทุกๆ 45 นาที เพื่อให้มีโอกาสได้บริหารร่างกายของตนเองตามท่าที่เรากำลังพัฒนาอยู่ว่าท่าไหนบ้างที่ดี และสามารถนำไปปรับใช้ได้ เพราะในระยะยาวของคนที่นั่งทำงานนานๆ เหล่านี้ จะพบว่าสุขภาพทางร่างกายไม่ดี ซึ่งจะส่งผลต่อประสิทธิภาพของงานที่ไม่ดีตามมา”

นอกจากนี้ท่าฤๅษีดัดตนยังนำไปสู่การฟื้นฟูการบริหารของผู้ป่วยติดที่นอนและผู้ป่วยที่นั่งรถเข็นให้สามารถขยับเขยื้อนร่างกายได้โดยไม่ต้องนั่งหรือนอนป่วยเพียงอย่างเดียว การทำเป็นตำรายาและหนังสือเกี่ยวกับวิชาแพทย์แผนโบราณที่นำมาปรับปรุงในเรื่องการใช้ภาษาให้เข้ากับยุคปัจจุบันมากที่สุด

อาจารย์ปรีดากล่าวถึงการที่จารึกวัดโพธิ์ที่ได้ทำคุณประโยชน์ ซึ่งส่งผลให้วงการวิชาแพทย์แผนโบราณเฟื่องฟูมาจนถึงปัจจุบัน โดยขอกราบเบื้องพระยุคลบาทรัชกาลที่ 3 ที่ทรงให้ความรู้ในด้านนี้ และ คุณหญิงแม้นมาส ชวลิต ที่เป็นคนผลักดันและสนับสนุนให้จารึกวัดโพธิ์เป็นมรดกความทรงจำแห่งโลก ซึ่งวิชาการความรู้แพทย์แผนไทยเหล่านี้ค่อนข้างจะสอดคล้องกับความเป็นจริง ความเป็นธรรมชาติในปัจจุบันที่เหมาะสำหรับการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม มากกว่าการรักษาแบบเดี่ยวอย่างการตัดแข้งตัดขา จึงอยากให้นักวิชาการทั้งหลายกลับมาให้ความสนใจ และหยิบยกความรู้บางส่วนออกไปเป็นประโยชน์ต่อสาธารณชนจากวิชาตรงนี้ ซึ่งเรายินดี เพราะรัชกาลที่ 3ได้ให้เจตจำนงแล้วว่าเพื่อประโยชน์กับมวลมนุษยชาติ ต่อจากนี้ไปคงไม่ต้องถกเถียงกันเรื่องของสิทธิบัตรและตำราการนวดต่างๆ เพราะหลังจากได้รับการประกาศจากยูเนสโกในครั้งนี้ ทุกชาติต้องรู้ว่าเป็นของชาติเราอย่างแน่นอน

นอกจากนี้ พระราชเวที ผู้ช่วยเจ้าอาวาส ยังได้กล่าวถึงวิวัฒนาการที่ดีในปัจจุบันว่า “จากหมวดต่างๆ ของจารึกวัดโพธิ์ ยังสามารถส่งผลต่อปัจจุบันได้ในหลายแขนงไม่ว่าจะเป็นในวงการการศึกษา เช่น หมวดของวรรณคดี หมวดสุภาษิต ตามหลักสูตรจะมีปรากฏให้เห็นในแบบเรียน หมวดอนามัย อย่างแพทย์แผนไทย โดยอาศัยจารึกวัดโพธิ์เป็นหลักความรู้ในการพัฒนาต่อไป

ในเรื่องของตำรายาในปัจจุบันซึ่งถือว่าคนไทยเริ่มตื่นตัว กระทรวงสาธารณสุขก็ให้ความสำคัญ โดยพยายามรวบรวม และจดทะเบียนสิทธิบัตรตำรายาให้เป็นของชาติไทย ตั้งสถาบันการแพทย์แผนไทยที่ศิริราช และทีมค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับตำราแพทย์แผนโบราณ เรียกได้ว่าเป็นการถอยหลังเข้าคลองที่นำเอาความรู้เก่ากลับมาใช้ใหม่ ในขณะที่ประเทศจีน มีการแพทย์แผนจีนที่ใช้รักษาดีและมีมานาน แต่ประเทศไทยเรามียุคหนึ่งที่เชื่อฝรั่ง จึงละเลยในส่วนนี้ไป แต่ในปัจจุบันมีต่างชาติหันมาสนใจ พยายามจะรื้อฟื้นศึกษาตำรายาและสมุนไพรบางตัว รวมถึงคนไทยก็เริ่มตื่นตัวไปพร้อมๆ กับต่างชาติ โดยถือว่าจารึกวัดโพธิ์เป็นต้นแบบตำราที่ใช้ในการศึกษา

ในปัจจุบันการนวดได้รับความนิยม จนตั้งเป็นสถาบันโรงเรียนแพทย์แผนโบราณที่ถือว่าเก่าแก่และเป็นต้นฉบับที่ต่างชาติให้ความนิยม ถึงขนาดว่าต้องจบการนวดมาจากวัดโพธิ์

หมวดอนามัยที่มีโคลงภาพของฤๅษีดัดตนที่ใช้รักษาตนเอง ที่ต่างจากการนวดซึ่งใช้ในสมัยก่อนที่การแพทย์ยังไม่เจริญเพื่อกดจุดรักษาคนอื่น ต่อมาในยุคที่การแพทย์เจริญจึงทำให้เรื่องนี้ถูกลดความสำคัญลง จนมาถึงในยุคปัจจุบันที่มีการเชื่อในกระแสของการพึ่งพาตนเอง อย่างเศรษฐกิจพอเพียงได้นำวิธีการเหล่านี้นำกลับมาใช้ประโยชน์ได้อีกครั้งหนึ่ง เพราะยาสมัยนี้บางอย่างค่อนข้างแพง คนไทยจึงเห็นว่า ทำไมต้องจ่ายเงินเพื่อซื้อยาแพงๆ ในขณะที่ยาบางตัวเป็นยารักษาโรคมะเร็งที่มีมาตั้งแต่อดีต

เนื่องจากยาฝรั่งบางตัวมีผลข้างเคียง อย่างบางคนที่รู้จักไปฉายแสงมา จะเห็นได้ว่าอาการค่อนข้างทรุดเร็ว แต่ระยะหลังที่คนหันมาใช้ยาไทยๆ ซึ่งก็ได้ผลดี ผลข้างเคียงไม่มีเหมือนยาฝรั่ง แต่อาจจะใช้เวลานาน หรือรักษาแบบค่อยเป็นค่อยไป สิ่งนี้ถือว่าเป็นเรื่องน่ายินดีที่คนไทยหันกลับมาให้ความสนใจภูมิปัญญาแบบไทยมากขึ้น ถ้าหากเราตั้งทีมค้นคว้าที่ดีเราอาจจะได้ยาที่มีประสิทธิภาพ”

จากจารึกวัดโพธิ์ที่ติดอยู่ตามเสา กำแพง หรือสิ่งก่อสร้างต่างๆ ภายในวัด ที่คนผ่านไปผ่านมา รู้บ้าง ไม่รู้บ้างว่ามันสำคัญอย่างไร นับแต่วันนี้คงรู้ถึงประวัติความเป็นมา และสิ่งที่ส่งผลดีต่อประเทศไทยในปัจจุบันได้อย่างน่าทึ่ง

เห็นทีคนไทยต้องหันมาใส่ใจและนำความรู้หรือวิถีชีวิตแบบโบราณไปปรับใช้กันดูบ้าง เพราะอาจส่งผลดีกว่าวิถีทางในปัจจุบันที่เป็นอยู่ อย่าต้องรอให้ยูเนสโกประกาศ หรือสร้างความมั่นใจโดยชาวต่างชาติก่อน ไม่อย่างนั้นเราจะไม่เหลือภูมิปัญญาไทยไว้เป็นของเราเลย คุณว่าอย่างนั้นไหม?

******************

เรื่อง-หทัยรัตน์ เอมอ่อง
จารึกที่วัดพระเชตุพนมีความสำคัญต่อสังคมไทยอย่างไร