การทําสัญญาซื้อขายรถยนต์

การทำสัญญาซื้อขายรถยนต์จากผู้เช่าซื้อซึ่งอยู่ระหว่างผ่อนชำระค่าเช่าซื้อ โดยมีเงื่อนไขเกี่ยวกับการชำระราคาส่วนที่เหลือพร้อมโอนกรรมสิทธิ์ภายหลังทำสัญญาซื้อขาย จึงมิใช่สัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด อันมีผลทำให้กรรมสิทธิ์ในรถยนต์โอนไปยังผู้ซื้อตั้งแต่ขณะทำสัญญาซื้อขายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 458 รถยนต์จึงยังเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ให้เช่าซื้อ หากมีการซื้อขายรถยนต์คันที่เช่าซื้อในระหว่างที่ยังชำระค่าเช่าซื้อไม่ครบกรรมสิทธิ์ในรถยนต์จึงไม่ตกเป็นของผู้เช่าซื้อ ผู้ซื้อรถยนต์จากผู้เช่าซื้อจึงยังไม่มีกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ หากผู้เช่าซื้อหรือบุคคลที่ครอบครองแทนผู้เช่าซื้อขายรถยนต์คันที่เช่าซื้อให้แก่บุคคลภายนอก จึงมิใช่เป็นการเบียดบังเอารถยนต์โดยทุจริตอันจะเป็นมูลความผิดทางอาญาฐานยักยอกทรัพย์ คงเป็นเรื่องผิดสัญญาทางแพ่งเท่านั้น

(อ้างอิง) : คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2952/2559

โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 352 ให้จำเลยคืนรถยนต์ หมายเลขทะเบียน ขข 2529 ชลบุรี แก่ผู้เสียหายหากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาเป็นเงิน 850,000 บาท

จำเลยให้การปฏิเสธ

ระหว่างพิจารณา นางสาวอารียา ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ศาลชั้นต้นอนุญาต

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 352 (ที่ถูก มาตรา 352 วรรคแรก) จำคุก 3 ปี ให้จำเลยคืนรถยนต์หมายเลขทะเบียน ขข 2529 ชลบุรี แก่โจทก์ (ที่ถูก แก่โจทก์ร่วม) หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาเป็นเงิน 530,000 บาท

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

โจทก์และโจทก์ร่วมฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า เดิมจำเลยเป็นผู้เช่าซื้อและครอบครองรถยนต์นั่งส่วนบุคคล หมายเลขทะเบียน ขข 2529 ชลบุรี ซึ่งทำสัญญาเช่าซื้อมาจากธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) ต่อมาเดือนกันยายน 2556 จำเลยตกลงกับนางสาวนาฎยา มารดาโจทก์ร่วมว่าจะขายรถยนต์ดังกล่าวซึ่งอยู่ระหว่างผ่อนชำระค่าเช่าซื้อในราคา 850,000 บาท โดยโจทก์ร่วมเป็นผู้ซื้อ นางสาวนาฎยาให้นายธนัญชย์ ผู้จัดการบริษัทของนางสาวนาฎยาโอนเงินผ่านเครื่องฝากถอนเงินอัตโนมัติ (เอทีเอ็ม) เข้าบัญชีของจำเลยเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2556 รวม 10 ครั้ง ครั้งละ 25,000 บาท เป็นเงิน 250,000 บาท จำเลยลงลายมือชื่อเป็นผู้ขายในหนังสือสัญญาซื้อขายที่โจทก์ร่วมลงลายมือชื่อเป็นผู้ซื้อให้ไว้แก่นางสาวนาฎยา เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2556 พนักงานของธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) ติดตามเพื่อยึดรถยนต์ที่ให้เช่าซื้อคืนเนื่องจากจำเลยผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อ นางสาวนาฏยาจึงชำระค่าเช่าซื้อค้างแทนจำเลยรวม 6 งวด เป็นเงิน 151,368 บาท จำเลยโอนเงิน 40,000 บาท คืนให้แก่นางสาวนาฎยา วันที่ 10 มกราคม 2557 โจทก์ร่วมมอบอำนาจให้นางสาวนาฎยาไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่จำเลยในข้อหาโกงเจ้าหนี้ โดยกล่าวหาว่าจำเลยยืมรถยนต์คันดังกล่าวซึ่งอยู่ในความครอบครองของนางสาวนาฎยาแล้วไม่นำมาคืน จากนั้นวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2557 นางสาวนาฎยาให้การเพิ่มเติมต่อพนักงานสอบสวนว่า จำเลยโอนขายรถยนต์ที่ซื้อขายให้แก่บุคคลภายนอกและปิดบัญชีที่ค้างชำระค่าเช่าซื้อกับธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) ผู้ให้เช่าซื้อตั้งแต่วันที่ 20 มกราคม 2557 พนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาแก่จำเลยว่ายักยอกทรัพย์ ชั้นสอบสวนและชั้นพิจารณาจำเลยให้การปฏิเสธ

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมว่า จำเลยกระทำความผิดฐานยักยอกตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ตามหนังสือสัญญาซื้อขาย ข้อ 3 มีข้อความว่า "หมายเหตุ ทรัพย์สิน รถยนต์ดังกล่าวยังมีสถานะผ่อนชำระกับธนาคารธนชาต ซึ่งผู้ขายจะดำเนินการเคลียร์ปิดบัญชีและโอนให้ผู้ซื้อภายใน 31 ธันวาคม 2556 พร้อมจ่ายส่วนที่เหลือ" แสดงว่าโจทก์ร่วมทราบดีว่าขณะทำสัญญาซื้อขายนั้นกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ที่ซื้อขายเป็นของธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) ผู้ให้เช่าซื้อ จำเลยเป็นเพียงผู้เช่าซื้อ จำเลยมีสิทธิเพียงครอบครองใช้ประโยชน์รถยนต์พิพาทซึ่งอยู่ระหว่างผ่อนชำระค่าเช่าซื้อ สัญญาซื้อขายรถยนต์พิพาทมีเงื่อนไขเกี่ยวกับการชำระราคาส่วนที่เหลือพร้อมกับโอนกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ภายหลังจากการทำสัญญาซื้อขาย สัญญาซื้อจึงมิใช่สัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาดอันมีผลให้กรรมสิทธิ์ในรถยนต์ที่ซื้อขายโอนไปยังผู้ซื้อตั้งแต่ขณะทำสัญญาซื้อขายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 458 ตราบใดที่โจทก์ร่วมและนางสาวนาฎยายังมิได้ชำระราคารถยนต์ยนต์ที่เหลือเพื่อให้จำเลยปิดบัญชีกับธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) ผู้ให้เช่าซื้อแล้วจดทะเบียนโอนรถยนต์ให้แก่ผู้ซื้อ กรรมสิทธิ์ในรถยนต์ที่ซื่อขายก็ยังเป็นของธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) ผู้ให้เช่าซื้อ หากจำเลยส่งมอบรถยนต์ตามสัญญาซื้อขายให้แก่โจทก์ร่วมหรือนางสาวนาฎยาครอบครองใช้ประโยชน์ ก็ถือว่าเป็นการครอบครองแทนจำเลยซึ่งเป็นผู้เช่าซื้อ โจทก์ร่วมมิใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์ตามกฎหมาย ดังนั้น การที่โจทก์และโจทก์ร่วมอ้างว่าจำเลยยืมรถยนต์ที่ซื้อขายขณะอยู่ในความครอบครองของนางสาวนาฎยาแล้วไม่ยอมส่งคืน แต่จำเลยกลับนำรถยนต์ไปขายให้แก่บุคคลภายนอกโดยนางสาวนาฎยาส่งมอบรถยนต์ที่ซื้อให้จำเลยเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2556 แล้วจำเลยไม่ยอมนำรถยนต์มาคืน ได้ความว่าจำเลยขายรถยนต์ที่เช่าซื้อให้แก่บุคคลภายนอกเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2557 ซึ่งเป็นระยะเวลาภายหลังที่ครบกำหนดตามสัญญาซื้อขาย โจทก์ร่วมยังมิใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์ ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) ผู้ให้เช่าซื้อปิดบัญชีสัญญาเช่าซื้อเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2556 กรรมสิทธิ์ในรถยนต์ที่เช่าซื้อตกเป็นของจำเลยเมื่อจำเลยชำระค่าเช่าซื้อครบถ้วนในวันที่ 20 มกราคม 2557 เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2556 จำเลยยังชำระค่าเช่าซื้อไม่ครบ กรรมสิทธิ์ในรถยนต์จึงไม่ตกเป็นของจำเลย โจทก์ร่วมจึงยังไม่มีกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ กรณีจำเลยมาขอยืมรถยนต์ไปแล้วไม่ส่งคืนแต่กลับนำรถยนต์ไปขายให้แก่บุคคลภายนอก จึงมิใช่เป็นการเบียดบังเอารถยนต์ของโจทก์ร่วมโดยทุจริต อันจะเป็นมูลความผิดทางอาญาฐานยักยอก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคแรก การกระทำของจำเลยตามที่โจทก์และโจทก์ร่วมอ้างคงเป็นเรื่องผิดสัญญาในทางแพ่งเท่านั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมฟังไม่ขึ้น