มาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 16 ปรับปรุง 2563

ประเด็นสำคัญเกี่ยวกับมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 16 เรื่อง ที่ดิน อาคารและอุปกรณ์

25 Jan

มาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 16 ปรับปรุง 2563

 

มาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 16 ปรับปรุง 2563


ประเด็นสำคัญเกี่ยวกับมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 16 เรื่อง ที่ดิน อาคารและอุปกรณ์

IMPORTANT ISSUES ABOUT TAS 16 PROPERTY, PLAN AND EQUIPMENT
 

หนึ่งฤทัย เมืองใหม่

Nuengruekthai Mueangmai

[email protected]
 

นักศึกษาหลักสูตรบัญชีมหาบัณฑิต คณะบัญชี มหาวิทยาลัยศรีปทุม

บทคัดย่อ
          มาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 16 เรื่อง ที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ ถูกจัดทำเป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดขึ้นโดยมาตรฐานการบัญชีระหว่างประเทศ ซึ่งมาตรฐานฉบับนี้จะมีวัตถุประสงค์เพื่อจะกำหนดวิธีการปฏิบัติทางบัญชีสำหรับรายการที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์ โดยประเด็นหลักในทางบัญชีจะได้แก่ (1) การรับรู้รายการสินทรัพย์ กิจการจะรับรู้ต้นทุนของรายการที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์ เมื่อเข้าเงื่อนไขทุกข้อต่อไปนี้ มีความเป็นไปได้ค่อนข้างแน่ที่กิจการจะได้รับประโยชน์เชิงเศรษฐกิจในอนาคต และสามารถวัดมูลค่าได้อย่างน่าเชื่อถือ (2) การกำหนดมูลค่าตามบัญชีซึ่งการวัดมูลค่าของรายการที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์ที่เข้าเงื่อนไขการรับรู้รายการเป็นสินทรัพย์โดยใช้ราคาทุน โดยราคาทุนของที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์ประกอบด้วย ราคาซื้อรวมอากรขาเข้า และต้นทุนทางตรงอื่นๆ เป็นต้น (3) การคิดค่าเสื่อมราคาในแต่ละวิธีตัวอย่างเช่น วิธีเส้นตรง วิธียอดคงเหลือลดลง และวิธีจำนวนผลผลิต (4) การตัดรายการ ซึ่งกิจการต้องตัดรายการมูลค่าตามบัญชีของรายการที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์ เมื่อเข้าข้อใดข้อนึงต่อไปนี้ กิจการจำหน่ายสินทรัพย์ หรือกิจการคาดว่าจะไม่ได้รับประโยชน์เชิงเศรษฐกิจในอนาคตจากการใช้สินทรัพย์หรือการจำหน่ายสินทรัพย์ รวมไปถึงการรับรู้ผลขาดทุนจากการด้อยค่าของสินทรัพย์ และการเปิดเผยข้อมูลในงบการเงิน  
 
คำสำคัญ : มูลค่าตามบัญชี, มูลค่ายุติธรรม, ค่าเสื่อมราคา, อายุการใช้ประโยชน์
 
Abstract
           TAS 16 Property, Plant and Equipment are according to the criteria established by the International Accounting Standards. The objective of this standard is to define guidance accounting practices for property, plant and equipment. The main accounting issues are including (1) Recognition of assets the cost of property, plant and equipment is recognized when the business follow all of the conditions, there is a high possibility will receive economic benefits in the future and can measure the value reliably. (2) Determination of book value in which the measurement of items of property, plant and equipment that qualify for recognition as assets are measured at cost, where the cost of property, plant and equipment consists of the purchase price includes import duty and other direct costs. (3) Depreciation in any method. For example straight line method, declining balance method and productive output method (4) Cutting the list an entity shall write off the carrying amount of property, plant and equipment when any of the following are met asset disposal or the entity expects no future economic benefits from the use or disposal of the asset including the recognition of loss from impairment of assets and disclosure of information in the financial statements
 
Keywords : book value, fair value, Depreciation, useful life

บทนำ
          จากจุดเริ่มต้นปีพุทธศักราช 2491 ที่กลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีเพียงกลุ่มเล็กรวมตัวกันก่อตั้งสมาคม โดยมีเจตนารมณ์ที่แน่วแน่ในการสร้างความเป็นปึกแผ่น และพัฒนาวิชาชีพทางบัญชีให้เป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ โดยสถาปนาสมาคมนักบัญชีและผู้สอบบัญชีรับอนุญาตแห่งประเทศไทยและต่อมาก็เป็นสภาวิชาชีพบัญชี เพื่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียว และให้ปฏิบัติไปในทิศทางเดียวกัน มีมาตรฐานสากลและเทียบเท่านานาประเทศ ซึ่งขั้นตอนการกำหนดมาตรฐานการบัญชีไทยตามพระราชบัญญัติวิชาชีพบัญชี พ.ศ.2547 กำหนดให้คณะกรรมการกำหนดมาตรฐานการบัญชีเป็นผู้กำหนดและปรับปรุงมาตรฐานการบัญชี (วัชราวดี สังข์เอียด, 2560) ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยได้นำเอามาตรฐานการรายงานทางการเงินระหว่างประเทศ (IFRS) มาอ้างอิงเพื่อพัฒนามาตรฐานการรายงานทางการเงินของไทย (TFRS) โดยมาตรฐานการรายงานทางการเงินแต่ละฉบับได้กำหนดวิธีการปฏิบัติทางการบัญชีเกี่ยวกับการรับรู้รายรายการ การวัดมูลค่า และการเปิดเผยข้อมูล (สุมาลี เอกพล, 2562) ซึ่งมาตรฐานการบัญชีที่สำคัญฉบับหนึ่งคือ มาตรฐานการบัญชีฉบับที่ 16 ที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์ ฉบับนี้เป็นมาตรฐานที่มีความจำเป็น และเกือบทุกกิจการจะต้องใช้ เนื่องจากการประกอบธุรกิจโดยทั่วไป กิจการส่วนใหญ่มักเป็นเจ้าของหรือมีสิทธิในการใช้ทรัพย์สินถาวร ได้แก่ ที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์ เพื่อใช้สำหรับการดำเนินธุรกิจ โดยทรัพย์สินดังกล่าวจะก่อให้เกิดผลประโยชน์เชิงเศรษฐกิจแก่กิจการมากกว่า 1 รอบระยะเวลาบัญชี ดังนั้นกิจการจำเป็นต้องศึกษามาตรฐานการบัญชีฉบับที่ 16 ที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์ ให้ละเอียดและเข้าใจ โดยเฉพาะผู้ทำบัญชีควรเข้าใจ ในวิธีการและข้อกำหนดตามมาตรฐานการบัญชี ซึ่งจะช่วยส่งผลให้กิจการสามารถจัดทำบัญชีเกี่ยวกับที่ดินอาคารและอุปกรณ์ ได้ถูกต้อง และเป็นไปตามมาตรฐานกำหนด
 
วัตถุประสงค์
          1. เพื่อให้รู้ และเข้าใจเกี่ยวกับข้อกำหนดวิธีการปฏิบัติทางบัญชีสำหรับรายการที่ดิน อาคารและอุปกรณ์
          2. เพื่อให้สามารถนำวิธีการ และข้อกำหนดตามมาตรฐานฉบับนี้ไปปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง
          3. เพื่อให้ผู้ใช้งบการเงินทราบข้อมูลเกี่ยวกับการลงทุนของกิจการในรายการที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ และการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากการลงทุนดังกล่าว

เนื้อหาของบทความ 
          1. บทนำ
           มาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 16 ที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์ เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดขึ้นโดยมาตรฐานการบัญชีระหว่างประเทศ ฉบับที่ 16 เรื่องที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์ (IAS 16 Property, Plant and Equipment)
         2. คำสำคัญ
          ที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์ หมายถึง กิจการมีไว้เพื่อประโยชน์ในการผลิตในการจำหน่ายสินค้าหรือให้บริการ เพื่อให้เช่า และเพื่อใช้ในการบริหารงาน และกิจการคาดว่าจะใช้ประโยชน์ได้มากกว่าหนึ่งรอบระยะเวลาบัญชี
          มูลค่าตามบัญชี หมายถึง จำนวนเงินของสินทรัพย์ที่รับรู้หลังจากหักค่าเสื่อมราคาสะสม และผลขาดทุนจากการด้อยค่าสะสมของสินทรัพย์
           มูลค่ายุติธรรม หมายถึง ราคาที่จะได้รับจากการขายสินทรัพย์ หรือจะจ่ายเพื่อโอนหนี้สินในรายการที่เกิดขึ้นในสภาพปกติระหว่างผู้ร่วมตลาด ณ วันที่วัดมูลค่า
           ค่าเสื่อมราคา หมายถึง การปันส่วนจำนวนที่คิดค่าเสื่อมราคาของสินทรัพย์อย่างมีระบบตลอดอายุการให้ประโยชน์ของสินทรัพย์นั้น
           อายุการใช้ประโยชน์ หมายถึง กรณีใด กรณีหนึ่งต่อไปนี้ ระยะเวลาที่กิจการคาดว่าจะมีสินทรัพย์ไว้ใช้หรือ จำนวนผลผลิตหรือจำนวนหน่วยในลักษณะอื่นที่คล้ายคลึงกันซึ่งกิจการคาดว่าจะได้รับจากสินทรัพย์
         3. วัตถุประสงค์
          กำหนดวิธีปฏิบัติทางการบัญชีสำหรับที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์ (การรับรู้รายการ การวัดมูลค่า และการเปิดเผยข้อมูล เป็นต้น )   
         4. ขอบเขต
          ให้ถือปฏิบัติกับการบัญชีสำหรับที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์ ยกเว้นกรณีที่มาตรฐานฉบับอื่นบังคับใช้   
        5. การรับรู้รายการ
         กิจการต้องรับรู้รายการที่ดิน อาคารและอุปกรณ์เป็นสินทรัพย์ เมื่อเป็นไปตามเงื่อนไขทุกข้อ ต่อไปนี้ (1) มีความเป็นไปได้ค่อนข้างแน่ที่กิจการจะได้รับประโยชน์เชิงเศรษฐกิจในอนาคตจากรายการนั้น (2) กิจการสามารถวัดมูลค่าต้นทุนของรายการนั้นได้อย่างน่าเชื่อถือ
            ประเภทของรายการ ที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์
            ประเภทของที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์ หมายถึง กลุ่มของสินทรัพย์ที่มีลักษณะและประโยชน์การใช้งานที่คล้ายคลึงกันต่อการดำเนินงานของกิจการ ตัวอย่างเช่น ที่ดิน อาคาร เครื่องจักร ยานพาหนะ เป็นต้น ซึ่งมาตรฐานไม่ได้กำหนดว่ารายการที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์ ประกอบด้วยรายการใดบ้าง และกิจการจะต้องแยกส่วนประกอบของรายการที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์ แต่ละส่วนที่มีนัยสำคัญแยกต่างหากจากกัน
         6. การรับรู้รายการและวัดมูลค่าตามวงจรสินทรัพย์ ดังนี้
            1. การรับรู้และการวัดมูลค่าต้นทุนเริ่มแรก 
            แนวคิดหลักการวัดมูลค่าเริ่มแรก กิจการต้องวัดมูลค่าของรายการที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์ที่เข้าเงื่อนไขการรับรู้รายการเป็นสินทรัพย์ ด้วยราคาทุน (ราคาทุน หมายถึง จำนวนเงินสดหรือรายการเทียบเท่าเงินสดที่กิจการจ่ายไป หรือมูลค่ายุติธรรมของผลตอบแทนอื่นที่กิจการมอบให้เพื่อให้ได้มาของสินทรัพย์ ณ เวลาที่ได้สินทรัพย์นั้นมาหรือ ณ เวลาที่ก่อสร้างสินทรัพย์นั้น) “รายการ ชิ้นส่วนอะไหล่ อุปกรณ์ที่สำรองไว้ใช้งาน และอุปกรณ์ซ่อมบำรุงจะถูกรับรู้ตามมาตรฐานฉบับนี้ ต่อเมื่อเป็นไปตามคำนิยามของที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์ หากไม่เข้าเงื่อนไข จะจัดประเภทเป็นสินค้าคงเหลือ”               องค์ประกอบของราคาทุน
                (1)ราคาซื้อรวมอากรขาเข้า และภาษีที่เรียกคืนไม่ได้หลังหักส่วนลดการค้าและจำนวนที่ได้รับคืนจากผู้ขาย (2)ต้นทุนทางตรงอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดหาสินทรัพย์นั้นอยู่ในสถานที่และสภาพที่พร้อมจะใช้งานได้ตามความประสงค์ของฝ่ายบริหาร (3)ต้นทุนที่ประมาณเบื้องต้น สำหรับการรื้อ การขนย้าย และบูรณะสถานที่ตั้งของสินทรัพย์ ซึ่งเป็นภาระผูกพันของกิจการที่เกิดขึ้นเมื่อกิจการได้รับสินทรัพย์นั้นมาหรือเป็นผลจาการใช้สินทรัพย์นั้นในช่วงเวลาหนึ่งเพื่อวัตถุประสงค์ต่างๆ
                การวัดมูลค่าเริ่มแรกของต้นทุนที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์ จำแนกตามที่มา
                1. การซื้อสินทรัพย์ ประกอบด้วย ซื้อด้วยเงินสด ซื้อด้วยการผ่อนชำระ
                     การซื้อด้วยเงินสด ประกอบด้วย ราคาซื้อ + ค่าภาษี + ภาษีซื้อที่เรียกคืนไม่ได้ + ต้นทุนทางตรงอื่น – ส่วนลดการค้า - ภาษีที่จะได้รับคืน
                    การซื้อด้วยการผ่อนชำระ บันทึกด้วยมูลค่าเทียบเท่ากับการซื้อด้วยเงินสด ผลต่างระหว่างราคาเงินสดและราคาที่ต้องชำระจริงให้ตัดดอกเบี้ยจ่ายตลอดอายุของการได้สินเชื่อ
                2. การก่อสร้างเอง ประกอบด้วย วัตถุดิบทางตรง ค่าแรงงานทางตรง ค่าใช้จ่ายอื่นที่เกิดขึ้นจากการก่อสร้าง ต้นทุนในการรื้อ ขนย้าย บูรณะ ต้นทุนการกู้ยืม TAS 23
                3. การเปลี่ยนสินทรัพย์ มีเนื้อหาเชิงพาณิชย์ (ใช้มูลค่ายุติธรรมของสินทรัพย์ที่นำไปแลก ถ้าไม่มี หรือไม่น่าเชื่อถือ ให้ใช้มูลค่ายุติธรรมของสินทรัพย์ที่ได้มา หากขาดเนื้อหาเชิงพาณิชย์ (ใช้มูลค่าตามบัญชีของสินทรัพย์ที่นำไปแลกเปลี่ยน) ถ้ากระแสเงินสดในอนาคตของกิจการเปลี่ยนไปแสดงว่ามีเนื้อหาเชิงพาณิชย์ โดยทั่วไปในทางปฏิบัติสินทรัพย์เก่าอาจมีมูลค่าที่สามารถนำไปเป็นส่วนลดได้จึงทำให้กิจการจ่ายเงินน้อยลง
                *การรับรู้จะสิ้นสุดเมื่อที่ดิน อาคารและอุปกรณ์จะสิ้นสุดเมื่อสินทรัพย์นั้นอยู่ในสถานที่และสภาพที่พร้อมจะใช้งานตามได้ตามความประสงค์ของฝ่ายบริหาร
            2. การรับรู้และการวัดมูลค่าต้นทุนที่เกิดขึ้นในภายหลัง (อาจมีหรือไม่มีก็ได้)
                ต้นทุนที่เกิดขึ้นภายหลัง
                การรับรู้ ถ้าต้นทุนที่เกิดขึ้นทำให้กิจการได้รับประโยชน์เชิงเศรษฐกิจในอนาคตเพิ่มและสามารถวัดมูลค่าต้นทุนรายการได้อย่างน่าเชื่อถือต้องรับรู้ เป็นที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์
                ประเภทของรายการที่เกิดขึ้นภายหลัง การทำเพิ่ม (Additions) การเปลี่ยนแทนหรือปรับปรุง (Replacements and Improvements) การย้ายที่ตั้งของสินทรัพย์ (Rearrangement or Reorganization) การซ่อมแซม (ประจำ(Ordinary Repairs)/ ยกเครื่องครั้งใหญ่ (Major Repairs or Overhaul)

           7. การแสดงรายการ ณ วันสิ้นงวด
               วิธีราคาทุน ต้องแสดงรายการที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์ด้วยราคาต้นทุนหักค่าเสื่อมราคาสะสม และผลขาดทุนจากการด้วยค่าสะสมของสินทรัพย์
               วิธีการตีราคาใหม่  ต้องตีราคาใหม่กับสินทรัพย์ทุกรายการที่จัดอยู่ในประเภทเดียวกันหากสามารถวัดมูลค่ายุติธรรมของสินทรัพย์ได้อย่างน่าเชื่อถือต้องแสดงด้วยราคาที่ตีใหม่ และแสดงรายการเหมือนวิธีราคาทุน ต้องตีราคาอย่างสม่ำเสมอ ความถี่ในการตีราคาขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงในมูลค่ายุติธรรมของรายการสินทรัพย์นั้น
                 ตีราคาเพิ่ม ต้องรับรู้มูลค่าตามบัญชีของสินทรัพย์เพิ่มขึ้นจากการตีราคาใหม่ไปยังกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จอื่นและรับรู้จำนวนสะสมไปยังส่วนของเจ้าของภายใต้หัวข้อ “ส่วนเกินทุนจากการตีราคาสินทรัพย์” (รับรู้ไม่เกินจำนวนที่เคยตีราคาลดลงในอดีตและเคยรับรู้ในกำไรหรือขาดทุน)
                ตีราคาลดลง ต้องรับรู้มูลค่าตามบัญชีของสินทรัพย์ที่ลดลงในกำไรขาดทุน ต้องนำส่วนที่ลดลงไปรับรู้ในกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จอื่นในจำนวนที่ไม่เกินยอดคงเหลือด้านเครดิตที่มีอยู่ในบัญชี “ส่วนเกินทุนจากการตีราคาสินทรัพย์” รายการเดียวกันที่ทำให้บัญชีนี้ลดลงด้วย
                 * กิจการอาจโอนส่วนเกินทุนฯ ไปกำไรสะสมโดยตรงเมื่อตัดรายการสินทรัพย์นั้น จำหน่าย หรือ เลิกใช้ หรืออาจทยอยโอนในระหว่างที่ใช้งานด้วยจำนวนที่เกิดผลต่างระหว่างค่าเสื่อมราคาที่ตีราคาใหม่กับราคาทุนเดิม
          8. ค่าเสื่อมราคา
               นิยาม การปันส่วนจำนวนที่คิดค่าเสื่อมราคาของสินทรัพย์อย่างมีระบบตลอดอายุการให้ประโยชน์ของสินทรัพย์นั้น
                หลักการ กิจการต้องคิดค่าเสื่อมราคาสำหรับส่วนประกอบของรายการที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์แต่ละส่วนแยกต่างหากจากกันเมื่อส่วนประกอบแต่ละส่วนนั้นมีต้นทุนที่มีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับต้นทุนทั้งหมดของสินทรัพย์นั้น
               การรับรู้ กิจการต้องรับรู้ค่าเสื่อมราคาที่เกิดขึ้นในแต่ละงวดบัญชีในกำไรหรือขาดทุนยกเว้นกรณีที่ต้องนำค่าเสื่อมราคาดังกล่าวไปรวมเป็นมูลค่าตามบัญชีของสินทรัพย์นั้น เช่น รวมเป็นต้นทุนของสินค้าคงเหลือ
                ข้อพิจารณาเกี่ยวกับค่าเสื่อมราคา
                     1. อายุการให้ประโยชน์ คือ ระยะเวลาที่กิจการคาดว่าจะมีสินทรัพย์ไว้ใช้ หรือ จำนวนผลผลิตหรือจำนวนหน่วยในลักษณะอื่นที่คล้ายคลึงกันซึ่งกิจการคาดว่าจะได้รับจากสินทรัพย์ โดยการกำหนดอายุการให้ประโยชน์ควรพิจารณาดังนี้ (1)ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ (2)การชำรุดเสียหาย (3)ความล้าสมัยทางด้านเทคนิค (4)ข้อกำหนดทางกฎหมาย
                    2. จำนวนที่คิดและระยะเวลา จำนวนที่คิดค่าเสื่อมราคาเท่ากับจำนวนเงินหลังหักมูลค่าคงเหลือ ซึ่งมูลค่าคงเหลือคือจำนวนเงินที่กิจการคาดว่าจะได้รับในปัจจุบันเมื่อขายสินทรัพย์ตามสภาพที่เป็นอยู่ในอนาคต และต้องทบทวนมูลค่าคงเหลืออย่างน้อยที่สุดทุกสิ้นรอบปีบัญชี จะมีการเริ่มคิดค่าเสื่อมเมื่อสินทรัพย์พร้อมใช้งานและคิดต่อไปตราบที่มูลค่าคงเหลือไม่สูงกว่ามูลค่าตามบัญชี โดยจะหยุดคิดค่าเสื่อมราคาเมื่อตัดรายการสินทรัพย์หรือจัดเป็นสินทรัพย์ที่ถือไว้เพื่อขาย
                    3.วิธีการคิดค่าเสื่อมราคา จะต้องสะท้อนรูปแบบของประโยชน์เชิงเศรษฐกิจในอนาคต และต้องทบทวนวิธีการคิดค่าเสื่อมราคาอย่างน้อยที่สุดทุกสิ้นรอบปีบัญชี ซึ่งสามารถใช้ได้หลายวิธีเช่น วิธีเส้นตรง วิธีจำนวนผลผลิต และวิธียอดคงเหลือลดลง
                    “การเปลี่ยนแปลงอายุการให้ประโยชน์ มูลค่าคงเหลือ และวิธีการคิดค่าเสื่อมราคาเมื่อมีข้อมูลใหม่ที่ดีกว่าถือเป็นการเปลี่ยนแปลงประมาณการ TAS8”
                การคำนวณค่าเสื่อมราคาตามวิธีเส้นตรง
                แนวคิด วิธีนี้มีข้อสมมติว่ากิจการจะได้รับผลประโยชน์จากการใช้สินทรัพย์เท่ากันทุกปีตลอดอายุการให้ประโยชน์ของสินทรัพย์นั้น 
                วิธีการ ค่าเสื่อมราคาแต่ละงวด (ราคาทุน – มูลค่าคงเหลือ)/อายุการให้ประโยชน์  หากใช้ไม่เต็มปี ควรคิดตามสัดส่วนของการได้รับประโยชน์จริงในแต่ละงวด
                ผลลัพธ์ ค่าเสื่อมราคามีจำนวนคงที่ตลอดอายุการให้ประโยชน์ของสินทรัพย์ หากมูลค่าคงเหลือของสินทรัพย์ไม่เปลี่ยนแปลง
                การคำนวณค่าเสื่อมราคาตามวิธียอดลดลง
                แนวคิด โดยหลักความเป็นจริงสินทรัพย์ที่ซื้อเข้ามาใหม่ ย่อมมีประสิทธิภาพในการใช้งานสูง ดังนั้นจึงควรปันส่วนราคาทุนของสินทรัพย์เป็นค่าเสื่อมราคาประจำงวดในปีแรกๆ ของการใช้งานมากกว่าช่วงหลัง
                วิธีการ วิธียอดลงทวีคูณ วิธีผลรวมจำนวนปี
                ผลลัพธ์ จำนวนค่าเสื่อมราคาสูงในปีแรกๆ และลดลงเรื่อยๆ ในแต่ละปี
          9. การตัดรายการที่ดิน อาคารและอุปกรณ์
              มี 2 กรณีใหญ่ๆ (1)การจำหน่ายเช่น การขาย การให้เช่าภายใต้สัญญาเช่าการเงิน การบริจาค (2)คาดว่าจะไม่ได้รับประโยชน์เชิงเศรษฐกิจในอนาคตจากการใช้สินทรัพย์หรือการจำหน่ายสินทรัพย์
              “ ไม่ว่ากิจการจะตัดจำหน่ายสินทรัพย์เพราะสาเหตุอะไร กิจการต้องรับรู้ผลกำไรขาดทุนเมื่อตัดสินทรัพย์ (ไม่เป็นรายได้) ผลกำไรขาดทุนคือผลต่างระหว่างสิ่งตอบแทนสุทธิที่ได้รับจากการจำหน่ายสินทรัพย์กับมูลค่าตามบัญชีของสินทรัพย์”
         10. การเปิดเผยข้อมูล
          กิจการต้องเปิดเผยรายการต่อไปนี้ทุกข้อในงบการเงินสำหรับที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์ดังนี้เกณฑ์การวัดมูลค่า วิธีการคิดค่าเสื่อมราคา อายุการให้ประโยชน์ มูลค่าตามบัญชีก่อนหักค่าเสื่อมราคาสะสม ค่าเสื่อมราคาสะสม และผลขาดทุนจากการด้อยค่าของสินทรัพย์ ณ วันต้นงวดและสิ้นงวด เป็นต้น
          11. การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญระหว่างมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 16 (ปรับปรุง 2558) กับ มาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 16 (ปรับปรุง 2557)
                 การวัดมูลค่าภายหลังการรับรู้รายการ วิธีการตีราคาใหม่
                 มาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 16 (ปรับปรุง 2558)
                 วิธีการตีราคาใหม่ ปรับปรุงมูลค่าตามบัญชีก่อนหักค่าเสื่อมราคาในลักษณะที่สม่ำเสมอกับการตีราคาใหม่กับมูลค่าตามบัญชีของสินทรัพย์นำค่าเสื่อมราคาสะสมไปหักออกจากมูลค่าตามบัญชีก่อนหักค่าเสื่อมราคาสะสมของสินทรัพย์
                 การถือปฏิบัติและการเปลี่ยนแปลง  ต้องถือปฏิบัติตามการปรับปรุงการตีราคาใหม่ทั้งหมดที่มีการรับรู้ในงบการเงินสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มหรือหลังวันที่ถือปฏิบัติ โดยอาจนำเสนอข้อมูลเปรียบเทียบที่ปรับปรุงสำหรับงวดก่อนหน้าอื่นก็ได้ ถ้าหากไม่ได้ปรับปรุงต้องระบุใหชัดเจนสำหรับข้อมูลที่ไม่ได้ปรับปรุงให้ระบุและอธิบายถึงเกณฑ์ที่แตกต่าง
 
                 มาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 16 (ปรับปรุง 2557)
                 วิธีการตีราคาใหม่ ให้ปรับค่าเสื่อมราคาสะสมเป็นสัดส่วนกับการเปลี่ยนแปลงของมูลค่าตามบัญชีก่อนหักค่าเสื่อมราคาสะสมและผลขาดทุนจากการด้อยค่าสะสมและปรับมูลค่าสุทธิให้เท่ากับราคาที่ตีใหม่วิธีนี้ใช้กับอาคาร
                 การถือปฏิบัติและการเปลี่ยนแปลง มาตรฐานฉบับเดิมไม่ได้กล่าวถึงข้อนี้
          12. วิจัยที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 16 ที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์ 
            วัชราวลี สังข์เอียด (2560) ได้ทำการศึกษาเรื่องปัญหาที่อาจเกิดจากการปฏิบัติตามมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 16 (ปรับปรุง 2558) ที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาคือ บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ กลุ่มตัวอย่างทั้งหมดคือ 400 บริษัท โดยใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูล ผลการศึกษาพบว่า ปัญหาที่อาจจะเกิดจากการปฏิบัติตามาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 16 (ปรับปรุง 2558 ) เรื่อง ที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์ พบว่า มีปัญหาด้านการวัดมูลค่าภายหลังการรับรู้รายการ และปัญหาด้านการถือปฏิบัติในช่วงเปลี่ยนแปลง ในภาพรวมมีปัญหาในระดับกลาง ซึ่งผลการทดสอบสมมติฐานพบว่า ลักษณะทางด้านประชากรศาสตร์ อายุ ประสบการณ์ด้านบัญชี การฝึกอบรมเกี่ยวกับมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 16 และตำแหน่งงาน มีผลต่อปัญหาด้านการวัดมูลค่าภายหลังการรับรู้รายการและปัญหาด้านการถือปฏิบัติในช่วงเปลี่ยนแปลง ส่วนด้านลักษณะของธุรกิจ ประเภทธุรกิจ ทุนจดทะเบียน ระยะเวลาในการดำเนินกิจการ ขนาดของสินทรัพย์รวม ขนาดของรายการที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์ มีผลต่อปัญหาด้านการวัดมูลค่าภายหลังการรับรู้รายการ และปัญหาด้านการถือปฏิบัติในช่วงเปลี่ยนแปลง
            สุมาลี, สมเกียรติ์ และกิตติมา (2562) ได้ทำการศึกษาเปรียบเทียบวิธีการวัดมูลค่าภายหลังการรับรู้รายการที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ กับผลการดำเนินงานในอนาคตของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาคือ บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กลุ่มตัวอย่างทั้งหมดคือ 438 บริษัท ผลการศึกษาพบว่า มูลค่าของที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์ที่วัดมูลค่าด้วยวิธีการตีราคาใหม่มีความสัมพันธ์เชิงบวกกับผลการดำเนินงานในอนาคตอย่างมีนัยสำคัญ และค่าความสัมพันธ์ของตัวแบบทดสอบของกลุ่มบริษัทที่ใช้วิธีการตีราคาใหม่มีค่ามากกว่าความสัมพันธ์ของกลุ่มบริษัทที่ใช้วิธีราคาทุน

สรุป
          มาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 16 ที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์  เป็นมาตรฐานที่เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดขึ้นโดยมาตรฐานการบัญชีระหว่างประเทศ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดวิธีปฏิบัติทางบัญชีสำหรับรายการที่ดินอาคารและอุปกรณ์ เพื่อให้ผู้ใช้งบการเงินจะได้ทราบข้อมูลเกี่ยวกับการลงทุนของกิจการในรายการที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์ คำนิยามของที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์ คือ สิ่งที่กิจการมีไว้เพื่อประโยชน์ในการผลิตในการจำหน่ายสินค้าหรือให้บริการ เพื่อให้เช่า เพื่อใช้ในการบริหารงานและกิจการคาดว่าจะใช้ประโยชน์ได้มากกว่าหนึ่งรอบระยะเวลาบัญชี ซึ่งประเด็นสำคัญก็คือ การรับรู้รายการซึ่งมีด้วยกัน 2 ประเภท คือ ต้นทุนเริ่มแรก และต้นทุนที่เกิดขึ้นภายหลัง การวัดมูลค่าเมื่อรับรู้รายการประกอบด้วย ส่วนประกอบของราคาทุน และการวัดมูลค่าของราคาทุน การวัดมูลค่าภายหลังการรับรู้รายการ ประกอบด้วย วิธีราคาทุน วิธีการตีราคาใหม่ ในส่วนของค่าเสื่อมราคา ซึ่งเป็นการปันส่วนจำนวนที่คิดค่าเสื่อมราคาของสินทรัพย์อย่างมีระบบตลอดอายุการให้ประโยชน์ของสินทรัพย์นั้น ซึ่งมีหลายวิธี อย่างเช่น วิธีเส้นตรง และวิธียอดลดลง เป็นต้น รวมไปถึงการเปิดเผยข้อมูลที่จำเป็นเช่น เกณฑ์การวัดมูลค่า วิธีการคิดค่าเสื่อมราคา อายุการให้ประโยชน์ มูลค่าตามบัญชีก่อนหักค่าเสื่อมราคาสะสม ค่าเสื่อมราคาสะสม ซึ่งมาตรฐานฉบับนี้เป็นมาตรฐานที่มีความจำเป็น และเกือบทุกกิจการจะต้องใช้ ดังนั้นการศึกษามาตรฐานการบัญชีฉบับที่ 16 ที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์ ให้ละเอียดและเข้าใจ จะช่วยส่งผลให้กิจการสามารถจัดทำบัญชีเกี่ยวกับที่ดินอาคารและอุปกรณ์ ได้ถูกต้อง และเป็นไปตามมาตรฐานกำหนด
 
ข้อเสนอแนะ
          เนื่องจากบทความฉบับนี้ถูกจัดทำขึ้นด้วยการพิจารณา ไตร่ตรอง และสรุป จากผู้ทำซึ่งไม่ได้นำเนื้อหาของมาตรฐานฯ มาใส่โดยครบถ้วน ซึ่งหากผู้อ่านสนใจที่จะศึกษา และเข้าใจในมาตรฐานฉบับนี้โดยชัดเจน และละเอียดสามารถศึกษาได้จากมาตรฐานการบัญชีฉบับที่ 16 เรื่อง ที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์ ฉบับเต็มใน http://www.tfac.or.th หรือคู่มืออธิบายมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 16 เรื่อง ที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์

บรรณานุกรม
วัชราวลี สังข์เอียด. (2558). ปัจจัยที่มีผลต่อการปฏิบัติงานของคณะกรรมการตรวจสอบของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย. งานนิพนธ์ บริหารธุรกิจมหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยบูรพา.
สภาวิชาชีพบัญชี ในพระบรมราชูปถัมภ์. (2562). ประกาศสภาวิชาชีพบัญชี ที่ 36/2562 เรื่อง มาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 16 เรื่อง ที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์. สืบค้นเมื่อ 25 กรกฎาคม 2564, จากเว็บไซต์: https://www.tfac.or.th/upload/9414/L0MtN14QDC.pdf.
สภาวิชาชีพบัญชี ในพระบรมราชูปถัมภ์. (2563). คู่มืออธิบายมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 16 เรื่อง ที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์. สืบค้นเมื่อ 25 กรกฎาคม 2564, จากเว็บไซต์: https://acpro-std.tfac.or.th/uploads/files/TAS16-Manual.pdf

Share this post

มาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 16 ปรับปรุง 2563
มาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 16 ปรับปรุง 2563
มาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 16 ปรับปรุง 2563
มาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 16 ปรับปรุง 2563

SHARES

View 2497