ท้อง 5 สัปดาห์ มีเลือดออก ปวด ท้องน้อย

อาการเลือดออกระหว่างตั้งครรภ์ นับเป็นอาการที่พบได้บ่อยมาก ๆ เลยนะคะ ซึ่ง 1 ใน 3 ของคุณแม่ตั้งครรภ์จะมีอาการเลือดออกในช่วงตั้งครรภ์ไตรมาสแรก หรือช่วงเดือนที่ 1-3 ของการตั้งครรภ์ ซึ่งอาจเป็นเลือดจุดสีน้ำตาลจนถึงสีแดง บางครั้งอาจออกมาเป็นจำนวนมาก พร้อมกับมีก้อนเลือดผสมออกมาด้วยค่ะ

อาการเลือดออกระหว่างตั้งครรภ์ สามารถเกิดได้ในทุกระยะของการตั้งครรภ์ เพียงแต่มีโอกาสเกิดบ่อยช่วงตั้งครรภ์ไตรมาสแรก ดังนั้น คุณแม่ทุกคนควรทราบว่านี่ไม่ใช่สัญญาณว่าเกิดปัญหาเสมอไป แต่อย่างไรก็ตาม หากมีเลือดออกในช่วงตั้งครรภ์ไตรมาสที่ 2 และ ตั้งครรภ์ไตรมาสที่ 3 อาจเป็นตัวบ่งบอกว่าเกิดปัญหาก็เป็นได้ โดยการมีเลือดออกทุกครั้งและทุกระยะคุณแม่ควรเข้ารับการตรวจกับแพทย์เสมอ เพราะมีเหตุผลมากมายที่ทำให้มีเลือดออกทางช่องคลอดระหว่างการตั้งครรภ์ค่ะ

 

ปัญหาการมีเลือดออกในระหว่าง ตั้งครรภ์ไตรมาสที่ 1

การตั้งครรภ์ในไตรมาสที่ 1 หรือช่วงระยะ 3 เดือนแรก มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดอาการแท้งได้ประมาณ 1 ใน 5 ของผู้หญิงตั้งครรภ์ โดยคุณแม่อาจเกิดอาการแท้ง ก่อนที่จะเข้าสู่สัปดาห์ที่ 12 ของการตั้งครรภ์ แต่อย่างไรก็ตาม การมีเลือดออกระหว่างตั้งครรภ์ ไม่ใช่ตัวบ่งบอกถึงการแท้งเสมอไป เพราะคุณแม่ตั้งครรภ์ประมาณครึ่งหนึ่งที่มีเลือดออกไม่ได้มาจากการแท้ง โดยเฉพาะหากมีอาการเลือดออกช่วง 6-12 วันหลังการปฏิสนธิ เพราะนั่นคือเลือดที่เรียกว่า Implantation Bleeding หรือเลือดน้ำล้างหน้าเด็ก ซึ่งเกิดจากการที่ตัวอ่อนไปฝังตัวอยู่ที่ผนังมดลูกทำให้มีการทำลายเนื้อเยื่อและเส้นเลือดทำให้มีเลือดไหลออกมา ซึ่งการมีเลือดล้างหน้าเด็กนั้นจะมีเพียง 1-2 วันเท่านั้นและอาการที่พบจะหายไปเองค่ะ

สำหรับสัญญาณที่แสดงถึงการแท้งลูก คือ คุณแม่จะมีเลือดออกทางช่องคลอด โดยเลือดที่ออกมาระยะแรกจะเป็นหยด จากนั้นจะมีเลือดออกมามากขึ้นเรื่อย ๆ โดยอาจออกมาเป็นลิ่มเลือดหรือไม่เป็นลิ่มเลือดก็ได้ นอกจากนี้ ยังมีอาการปวดเนื่องจากเป็นตะคริวในมดลูก ซึ่งจะคล้ายกับตอนปวดประจำเดือนนั่นเองค่ะ

ไม่เพียงเท่านั้น คุณแม่อาจรู้สึกว่ามีบางอย่างผิดปกติและทำให้รู้สึกวิตกกังวล โดยบางคนอาจรู้สึกถึงอาการต่าง ๆ ที่หายไป เช่น อาการคลื่นไส้ อาเจียน รวมถึงอาการคัดตึงหน้าอกก็จะหายไปด้วยเช่นกันค่ะ

 

กรณีภาวะแท้งคุกคามและมีเลือดออก

กรณีนี้นับเป็นกรณีที่ควบคุมได้ยากนะคะ เนื่องจากเป็นกระบวนการทางธรรมชาติที่ต้องขับตัวอ่อนที่มีความผิดปกติในระดับพันธุกรรมที่ไม่สมบูรณ์ออกไป โดยร่างกายพยายามเอาตัวอ่อนที่สมบูรณ์เก็บไว้ เพราะฉะนั้นจึงเป็นความจำเป็นที่ทำให้เกิดอาการแท้งนั่นเองค่ะ

สำหรับการแท้งคุกคามหมายความว่าการที่เด็กไม่สมบูรณ์แต่ยังคงฝังตัวในมดลูก โดยการแท้งอย่างสมบูรณ์นั้น มดลูกจะต้องว่างเปล่า ไม่มีตัวอ่อนอยู่แล้วและตัวอ่อนจะต้องถูกขับออกมา ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องทำ D&C นั่นคือ การขยายและขูดมดลูก ซึ่งเป็นการขูดเอาตัวอ่อนออก เพื่อให้พร้อมต่อการฝังตัวรอบใหม่ ไม่อย่างนั้นจะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อและยังมีเลือดออกอยู่เรื่อย ๆ ค่ะ

ท้อง 5 สัปดาห์ มีเลือดออก ปวด ท้องน้อย

ข้อควรรู้ หากมีเลือดออกระหว่างการตั้งครรภ์

- แนะนำให้ใช้แผ่นอนามัยรอง อย่าลืมนับว่าแต่ละวันใช้ไปกี่ชิ้นและต้องเปลี่ยนบ่อยแค่ไหน จากนั้นให้บันทึกไว้ เพื่อปรึกษาแพทย์ และไม่ควรใช้ผ้าอนามัยแบบสอดค่ะ
- หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ช่วงที่มีเลือดออก
- เมื่อมีอาการเลือดออกควรสอบถามจากแพทย์ โดยไม่ควรคิดเองว่าเลือดที่ออกมานั้นเกิดจากการแท้งบุตร เนื่องจากผู้หญิงหลายคนที่มีเลือดออกระหว่างการตั้งครรภ์ แต่ก็ยังตั้งครรภ์และคลอดลูกน้อยให้มีสุขภาพแข็งแรงค่ะ

ภาวะท้องนอกมดลูก

ภาวะที่เกิดขึ้นเมื่อตัวอ่อนฝังตัวนอกมดลูก โดยเฉพาะบริเวณท่อนำไข่ ซึ่งเป็นจุดที่พบบ่อย หากเกิดภาวะนี้จะค่อนข้างเป็นปัญหา เพราะท่อนำไข่ไม่ได้ถูกออกแบบมาให้สามารถขยายตัวได้อย่างมดลูก อีกทั้งยังไม่มีกล้ามเนื้อแบบมดลูก จึงอาจทำให้เกิดการแตกของท่อนำไข่ได้ค่ะ

การท้องนอกมดลูก จะเกิดขึ้นประมาณ 1 ต่อ 60 ของคุณแม่ตั้งครรภ์และพบได้บ่อยในผู้หญิงที่เคยมีปัญหาการผ่าตัดท่อนำไข่ เคยมีปัญหาท้องนอกมดลูกหรือเคยมีประวัติการติดเชื้อที่บริเวณเชิงกรานค่ะ

 

Molar Pregnancy

Molar Pregnancy หรือที่ภาษาไทยเรียกว่า ครรภ์ไข่ปลาอุก เป็นภาวะการตั้งครรภ์เกิดขึ้นไม่สมบูรณ์ โดยตัวอ่อนและรกไม่เจริญเติบโตตามปกติ เนื้อเยื่อของตัวอ่อนจะกลายเป็นเนื้องอกชนิดหนึ่งแต่ไม่ร้ายแรง ซึ่งปกติแล้วรกจะทำหน้าที่ในการลำเลียงสารอาหารไปเลี้ยงทารกและทำหน้าที่กำจัดของเสีย โดยภาวะนี้จะทำให้เกิดถุงน้ำลักษณะคล้ายพวงองุ่นหรือไข่ปลา เจริญเติบโตภายในมดลูกอย่างรวดเร็ว (แทนที่จะโตเป็นทารกก็จะกลายเป็นพวงองุ่น) ซึ่งแม้ว่าจะเป็นเนื้องอกที่ไม่ร้ายแรง แต่ถือว่ามีความเสี่ยงต่อการเพิ่มโอกาสเป็นมะเร็งเนื้อรกในอนาคตได้ และแม้ว่าจะเป็นภาวะที่พบไม่บ่อย แต่เมื่อเกิดขึ้นก็จะทำให้มีเลือดออกระหว่างการตั้งครรภ์ได้ค่ะ

กรณีนี้หากมีการตรวจก็จะไม่พบสัญญาณชีพใด ๆ ของตัวอ่อน โดยการตรวจอัลตราซาวด์จะเป็นตัวบ่งบอกว่านี่คือครรภ์ไข่ปลาอุกหรือไม่ และมีโอกาสน้อยมากนะคะที่คุณแม่ตั้งครรภ์จะเป็นไข่ปลาอุก แต่หากตรวจพบต้องทำการรักษาโดยการใช้เคมีบำบัด เนื่องจากนี่อาจเป็นต้นเหตุของการเกิดมะเร็งได้ค่ะ

การติดเชื้อในมดลูก

การติดเชื้อในมดลูกควรให้แพทย์วิเคราะห์สาเหตุ เพื่อการรักษาอย่างตรงจุด โดยหากเป็นการติดเชื้อแบคทีเรียจะต้องใช้ยาปฏิชีวนะที่มีความไวต่อเชื้อ และหากมีเลือดออกมากจำเป็นต้องนอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล เพื่อความปลอดภัยค่ะ

 

การติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ หรือ Unitary Tract Infections

การติดเชื้อลักษณะนี้จะทำให้มีเลือดออกระหว่างการตั้งครรภ์ได้ทั้งจากส่วนของมดลูกและจากกระเพาะปัสสาวะ ซึ่งการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะโดยทั่วไปจะให้ผลดีแต่อาจต้องใช้เวลาเล็กน้อย โดยหากคุณแม่ตั้งครรภ์ไม่รักษาการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะจะทำให้เกิดภาวะไตอักเสบและทำให้คลอดลูกก่อนกำหนดได้นั่นเองค่ะ

การมีเลือดออกหลังมีเพศสัมพันธ์

คุณแม่ตั้งครรภ์หลายคนพบว่ามักมีเลือดออกเล็กน้อยหลังการมีเพศสัมพันธ์ โดยสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากปากมดลูกมีการอักเสบ เพราะเป็นบริเวณที่มีเลือดไปเลี้ยงมากและมีความบอบบางมากกว่าช่วงก่อนตั้งครรภ์ นั่นจึงทำให้มีเลือดออก เพราะฉะนั้นวิธีป้องกันคือหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์สักระยะค่ะ

ปัญหารกเกาะต่ำ

สำหรับภาวะนี้ คือ ภาวะที่รกปิดขวางหรือคลุมปากมดลูก เพราะโดยปกติแล้วรกจะอยู่ด้านบนของมดลูกและอยู่ห่างจากปากมดลูก แต่ในช่วงใกล้คลอด มดลูกจะมีการขยายตัวทำให้เส้นเลือดที่เชื่อมระหว่างรกกับมดลูกฉีกขาด จึงมีเลือดออกได้ ทั้งตอนก่อนคลอดและขณะคลอดค่ะ

สำหรับปัญหารกเกาะต่ำนั้น เกิดจากการที่รกไปปกคลุมบริเวณปากมดลูก ซึ่งทำให้เสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด โดยแพทย์ของคุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีภาวะรกเกาะต่ำ จำเป็นต้องเลือกวิธีการผ่าคลอด ซึ่งอาจเกิดขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 2 หรือไตรมาสที่ 3 ของการตั้งครรภ์ได้

ภาวะรกเกาะต่ำอาจเกิดจากรกทั้งหมดหรือบางส่วนก็ได้นะคะ โดยรกเกาะต่ำมีหลายระดับ ซึ่งขึ้นอยู่กับว่ามีปากมดลูกถูกรกปกคลุมมากแค่ไหน กรณีปกคลุมทั้งหมดก็จะไม่มีทางให้ลูกน้อยคลอดด้วยวิธีธรรมชาติจึงจำเป็นต้องใช้การผ่าออกค่ะ

สำหรับผู้หญิงที่เคยมีปัญหาในการคลอดหรือว่าเคยมีลูกแฝดจะเพิ่มโอกาสเกิดภาวะรกเกาะต่ำ รวมถึงผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ตอนอายุมากอีกด้วยค่ะ ประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ ของคุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีปัญหารกเกาะต่ำจะมีอาการเลือดออก โดยไม่รู้สึกเจ็บ สำหรับอีก 20 เปอร์เซ็นต์ จะรู้สึกเป็นตะคริวในช่องท้องร่วมกับการมีเลือดออก และอีก 10 เปอร์เซ็นต์ อาจไม่มีอาการใด ๆ ให้สังเกตได้ค่ะ

นอกจากนี้ ยังมีภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด โดยภาวะนี้เป็นภาวะฉุกเฉินที่อาจอันตรายถึงชีวิตของลูกน้อยและคุณแม่ ซึ่งภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนดจะพบบ่อยช่วงไตรมาสสุดท้ายของการตั้งครรภ์ เนื่องจากรกมีการแยกตัวออกจากผนังมดลูก และจะทำให้มีอาการปวดท้องร่วมด้วย โดยกรณีนี้จะใช้วิธีรักษาโดยการผ่าตัดออกทางหน้าท้องค่ะ

สำหรับผู้หญิงที่มีลูกมากกว่า 4 คนขึ้นไป หรือผู้หญิงที่เคยใช้โคเคน ยาสูบ ยาเสพติด หรือตั้งครรภ์ตอนอายุมากกว่า 35 ปี มีประวัติรกลอกตัวก่อนกำหนด อีกทั้งยังเคยผ่าตัดมดลูก ผู้หญิงเหล่านี้นับเป็นกลุ่มเสี่ยงที่พบได้มาก โดยจากสถิติพบว่ามีมาก 1 ใน 200 การตั้งครรภ์

ผู้หญิงที่มีปัญหารกลอกตัวก่อนกำหนดประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ จะมีเลือดออกมากและมีลิ่มเลือดออกจากช่องคลอด สำหรับอีก 20 เปอร์เซ็นต์ จะไม่มีเลือดออกมาให้เห็น ซึ่งเมื่อมีการลอกตัวออกมาแล้วจะทำให้ลูกน้อยในครรภ์ขาดสารอาหารและออกซิเจน เนื่องจากรกไม่อยู่ในสภาพสมบูรณ์ที่จะมอบสารอาหารแก่เด็กได้ค่ะ

การคลอดก่อนกำหนด

คุณแม่อย่าลืมสังเกตด้วยนะคะว่ามีอาการเลือดออกหรือไม่ เพราะการมีเลือดออกเป็นสิ่งที่บ่งบอกว่าร่างกายของคุณแม่นั้นพร้อมที่จะคลอดก่อนเวลาที่กำหนดไว้ ซึ่งทางการแพทย์ถือว่าการคลอดก่อนกำหนด คือการคลอดเร็วกว่าช่วงเวลาที่แพทย์คำนวณไว้ประมาณ 3 สัปดาห์ขึ้นไป หรือคลอดก่อนอายุครรภ์ 38 สัปดาห์นั่นเองค่ะ

โดยลักษณะการเสียเลือด คือ เลือดจะเป็นลักษณะน้ำใส ๆ มีเมือกปนออกมา เนื่องจากเนื้อเยื่อมีการฉีกขาด รวมถึงมีน้ำคร่ำปนออกมากับเลือด โดยการฉีกขาดของมดลูกมักเกิดในช่วงปลายของการตั้งครรภ์ค่ะ ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องธรรมดาของคุณตั้งครรภ์ โดยเฉพาะคุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีลูกตั้งแต่ 4 คนขึ้นไป เนื่องจากผนังมดลูกมีความอ่อนแอ นอกจากนี้ หากเคยผ่านการผ่าตัดบริเวณมดลูกหรือเคยผ่าคลอดลูกมาก่อนก็จะทำให้มดลูกฉีกขาดได้ ซึ่งนับเป็นภาวะฉุกเฉินอันตรายเร่งด่วนที่ต้องรีบส่งโรงพยาบาล เพื่อรักษาอย่างฉุกเฉินต่อไปค่ะ

 

ปัญหาเส้นเลือดดำโป่งพองในมดลูก

ปัญหานี้พบได้น้อย ลักษณะ คือ มีเส้นเลือดอยู่ในมดลูกหรืออยู่บริเวณปากมดลูกจึงทำให้มีเลือดออก โดยผู้หญิงที่เคยประสบอุบัติเหตุในช่องคลอดหรือมีเส้นเลือดโป่งพองจะมีเลือดออกมาตามความรุนแรงของอาการ

เลือดออกจากตัวอ่อน

ภาวะเลือดออกจากตัวอ่อนจะพิจารณาแยกจากเลือดแม่ได้ด้วยการตรวจพิเศษทางการแพทย์ ซึ่งเซลล์ของตัวอ่อนจะถูกวินิจฉัยว่ามีการปนออกมากับเลือดทางช่องคลอดของคุณแม่หรือไม่ค่ะ

ท้อง 5 สัปดาห์ มีเลือดออก ปวด ท้องน้อย

เมื่อไหร่ที่ต้องขอความช่วยเหลือจากแพทย์

• ต้องบอกว่าไม่ว่าคุณแม่ตั้งครรภ์จะมีเลือดออกในช่วงใดของการตั้งครรภ์ ควรได้รับการตรวจวินิจฉัยจากแพทย์ แม้ว่าอาจเป็นเรื่องปกติที่จะมีเลือดออกในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ แต่ก็ถือเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องให้แพทย์วินิจฉัยและสรุปว่าเกิดจากสาเหตุใด เพื่อความปลอดภัยของตัวคุณแม่เองค่ะ
• คุณแม่บางท่านอาจคาดเดาสาเหตุด้วยตัวเอง โดยวิธีดังกล่าวอาจทำให้คุณแม่คาดการณ์ผิดได้ ทำให้คุณแม่ไม่พบสาเหตุที่แท้จริงและดูแลตัวเองอย่างไม่ถูกต้องได้ค่ะ
• สำหรับการหาสาเหตุที่แท้จริงต้องบอกว่าการตรวจอัลตราซาวด์เป็นเทคนิคที่นิยมมากนะคะ เพราะช่วยในการมองหาตำแหน่งของจุดที่เลือดออกและใช้ในการบอกว่าตัวอ่อนยังอยู่หรือไม่อีกด้วยค่ะ ทั้งนี้ แน่นอนว่าการพบแพทย์มีประโยชน์อย่างยิ่ง เมื่อคุณแม่มีปัญหาเลือดออกจากทางช่องคลอด ดังนั้น อย่าลืมปรึกษาแพทย์เพื่อความสบายใจนะคะ
• หากคุณแม่ตั้งครรภ์รู้สึกเหมือนเป็นตะคริวที่ท้อง มีอาการปวดท้อง หรือรู้สึกว่าลูกไม่ดิ้นและการดิ้นของลูกน้อยเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ร่วมกับอุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้น อาจบ่งบอกว่าคุณแม่มีอาการติดเชื้อ เพราะโดยทั่วไปอุณหภูมิของคนเราจะอยู่ที่ 36.1 ถึง 37.7 องศาเซลเซียส ดังนั้น หากคุณแม่เลือดออกมากก็มีโอกาสเสียเลือดมาก และอาจจะมีลิ่มเลือดปนออกมาด้วย แนะนำว่าให้รีบพบแพทย์ดีกว่าค่ะ
• หากคุณแม่รู้สึกวิงเวียนศีรษะ หน้ามืด จะเป็นลม หายใจตื้นขึ้น และมีอาการปวดมากบริเวณหัวไหล่ นี่ก็ถือว่าเป็นสัญญาณที่ไม่ดีที่ควรรีบพบแพทย์เช่นกัน
• หากเกิดภาวะแท้งลูกและมีเลือดออกมากขึ้นเรื่อย ๆ ร่วมกับอาการปวดท้อง ก็เป็นอีกหนึ่งสัญญานที่ต้องรีบพบแพทย์นะคะ
• นอกจากนี้ ยังมีผู้หญิงบางคนที่ไม่เชื่อว่าตนเองตั้งครรภ์และมักหาสาเหตุด้วยตัวเองว่าเลือดเหล่านั้นเกิดจากอะไร แทนที่จะรีบไปพบแพทย์ทำให้ไม่สามารถหาสาเหตุได้อย่างแท้จริง ซึ่งเรื่องนี้มักเกิดขึ้นกับผู้หญิงที่มีประจำเดือนมาไม่ปกติและมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกันค่ะ

สิ่งที่ต้องทำ เมื่อมีเลือดออกระหว่างตั้งครรภ์

• อันดับแรก คุณแม่ควรรีบไปตรวจร่างกายกับสูตินารีแพทย์หรือแพทย์ที่ฝากครรภ์ไว้ เพื่อตรวจหาอย่างละเอียดทางช่องคลอด โดยจะมีการทดสอบการตั้งครรภ์ เจาะเลือดเพื่อหาค่าเม็ดเลือดต่าง ๆ ประเมินหมู่เลือด RH ซึ่งเป็นหมู่เลือดอีกระบบที่แตกต่างจากระบบ ABO ซึ่งถือเป็นการตรวจที่สำคัญเช่นเดียวกัน เพราะคุณแม่ที่มีหมู่เลือด RH- กับลูกน้อยที่มีหมู่เลือด RH+ อาจทำให้เสี่ยงต่อการแท้งลูกได้ค่ะ
• การตรวจปัสสาวะ มีการนับเซลล์และหาเชื้อแบคทีเรีย คืออีกหนึ่งวิธีที่บ่งบอกการติดเชื้อได้เช่นเดียวกัน
• การอัลตราซาวด์ จะช่วยตรวจสอบว่าลูกน้อยของคุณแม่ยังอยู่หรือไม่ ตัวอ่อนมีการฝังตัวในตำแหน่งที่เหมาะสมหรือไม่ หรือมีปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้คุณแม่ตั้งครรภ์มีเลือดออก
• ในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ คุณแม่ควรดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อให้กระเพาะปัสสาวะเต็ม เพราะจะช่วยยกระดับมดลูกให้สูงขึ้น ทำให้เวลาอัลตราซาวด์จะทำให้เห็นลูกน้อยชัดเจนขึ้น
• นอกจากนี้ การมีเลือดออกระหว่างการตั้งครรภ์อาจส่งผลต่อภาวะอารมณ์ของคุณแม่และทำให้ทั้งคุณพ่อและคุณแม่รู้สึกไม่สบายใจ อย่างไรก็ตาม ผู้หญิงหลายคนแม้ต้องเจอกับเหตุการณ์เลือดออก แต่ก็สามารถคลอดได้ลูกน้อยที่สุขภาพดีออกมาได้นะคะ ในขณะที่บางคนต้องยอมรับว่าเป็นเพราะปัญหาสุขภาพจริง ๆ ดังนั้น สิ่งที่ดีที่สุดคือการให้กำลังใจกัน รวมถึงการตรวจและได้รับคำแนะนำอย่างถูกต้องจากทีมแพทย์ค่ะ

คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์สามารถติดตามอ่านข้อมูลในหัวข้ออื่น ๆ เพิ่มเติมจากเว็บไซต์ Huggies หากมีคำถามหรือข้อสงสัยเพิ่มเติม สามารถพูดคุยกับเราได้ที่ Facebook Huggies Thailand และอย่าลืม! กด สมัครสมาชิก เพื่อรับสินค้าทดลอง พร้อมรอรับข่าวสารและอัพเดตเทคนิคดี ๆ จากเรานะคะ