แผนปฏิบัติการอนุรักษ์พลังงาน 20 ปี ในปี พ.ศ. ใด


คณะรัฐมนตรีรับทราบแผนอนุรักษ์พลังงาน และแนวทาง หลักเกณฑ์ เงื่อนไขและลำดับความสำคัญของการใช้จ่ายเงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ในช่วงปี 2551-2554 ตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ ดังนี้
1. ผลการดำเนินงานตามแผนอนุรักษ์พลังงานในช่วงปี 2548-2550
การดำเนินงานตามแผนอนุรักษ์พลังงาน ในช่วงปี 2548-2550 ในด้านต่างๆ ทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในภาคอุตสาหกรรม และการจัดการด้านการใช้พลังงานที่ครอบคลุมอาคารสำนักงาน ธุรกิจและการบริการ สถานที่ราชการ บ้านอยู่อาศัย และภาคขนส่ง และการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนประเภทต่างๆ สามารถลดการใช้พลังงานได้ 1,518 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ ในขณะที่ด้านการพัฒนาพลังงานทดแทนได้เพิ่มปริมาณการใช้พลังงานทดแทนได้ถึง 3,713 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ คิดเป็นมูลค่าพลังงานที่ประหยัดได้รวม 105,531 ล้านบาท โดยในปีที่ผ่านมาการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ น้ำมันแก๊สโซฮอล์ได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 70 จากระดับ 3.4 ล้านลิตรต่อวัน เป็น 6 ล้านลิตรต่อวัน และสำหรับน้ำมันไบโอดีเซลบี 100 ได้เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 1,654 หรือ 16.5 เท่า จากระดับ 24,000 ลิตรต่อวัน เป็น 421,000 ลิตรต่อวัน และการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็วบี 2 และ บี 5 อยู่ในระดับ 18.4 และ 2.8 ล้านลิตรต่อวัน ตามลำดับ
นอกจากนั้น มาตรการการให้ส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ได้เป็นจุดเริ่มต้นของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่หลากหลาย เช่น ขยะ พลังน้ำขนาดเล็ก พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ นอกเหนือจากพลังงานชีวมวลที่มีมา โดยภายใต้นโยบายนี้ได้ทำให้เกิดโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่จะขายเข้าสู่ระบบในอนาคตได้ไม่ต่ำกว่า 1,120 เมกะวัตต์
2. สรุปแผนอนุรักษ์พลังงาน และแนวทาง หลักเกณฑ์ เงื่อนไขและลำดับความสำคัญของการใช้จ่ายเงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ในช่วงปี 2551-2554
จากผลการดำเนินงานในปี 2550 ทำให้ทราบศักยภาพและแนวทางการดำเนินการที่ชัดเจนในช่วงปี 2551 - 2554 โดยสรุปแล้วแผนอนุรักษ์พลังงานยังคงเดิม แต่มีการปรับเป้าหมายและการดำเนินการให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ดังรายละเอียดปรากฏตามสิ่งที่ส่งมาด้วย สรุปสาระสำคัญดังนี้
2.1 แผนอนุรักษ์พลังงานในช่วงปี 2551-2554 กำหนดเป้าหมายจะลดปริมาณการใช้พลังงานลง 7,820 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ หรือคิดเป็นร้อยละ 10.8 ของความต้องการใช้พลังงานทั้งหมดของประเทศในปี 2554 และกำหนดเป้าหมายการนำพลังงานหมุนเวียนมาใช้แทนพลังงานเชิงพาณิชย์ 8,858 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ หรือคิดเป็นร้อยละ 12.2 ของความต้องการใช้พลังงานในปี 2554
2.2 แผนอนุรักษ์พลังงานประกอบด้วย 4 ด้านหลัก คือ (1) การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน (2) การใช้พลังงานทดแทน (3) การพัฒนาบุคลากร และ (4) การประชาสัมพันธ์ โดยสรุปแนวทางดำเนินการในแต่ละด้านได้ดังนี้
(1) ด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน
ภาคอุตสาหกรรม และการจัดการด้านการใช้พลังงาน โดยครอบคลุมอาคารสำนักงาน ธุรกิจและการบริการ สถานที่ราชการ และบ้านอยู่อาศัย โดยสานต่องานด้านนโยบาย เช่น เร่งรัดการจัดการออกกฎกระทรวงตามพระราชบัญญัติการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน เพื่อให้โรงงานและอาคาร ปรับปรุงการใช้พลังงานในกิจการให้เป็นปอย่างมีประสิทธิภาพ และเร่งประกาศให้มาตรฐานประสิทธิภาพการใช้พลังงานขั้นต่ำและขั้นสูงมีผลบังคับใช้กับเครื่องจักร อุปกรณ์ และวัสดุเพื่อการอนุรักษ์พลังงานที่ผลิตและใช้ในประเทศ รวมทั้งการติดฉลากแสดงระดับประสิทธิภาพอุปกรณ์ไฟฟ้า (ฉลากเบอร์ 5) และรณรงค์ให้เกิดการใช้หลอดตะเกียบแทนหลอดไส้ที่ยังมีในระบบจำนวน 30 ล้านหลอด ตลอดจนสนับสนุนการใช้หลอดผอมมากที่ใช้ไฟฟ้าเพียง 28 วัตต์ แทนหลอดผอมที่ใช้ไฟฟ้า 36 วัตต์
นอกจากนั้นได้เพิ่มมาตรการส่งเสริมรูปแบบใหม่ เช่น การจัดการด้านการใช้พลังงานโดยวิธีประกวดราคา การจัดตั้งกองทุนเพื่อร่วมลงทุนและส่งเสริมการลงทุนให้โครงการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน และการประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก ระบบ Cogeneration เป็นต้น ส่งเสริมการฝึกอบรมทักษะเรื่องการอนุรักษ์พลังงาน จัดตั้งศูนย์บริการให้คำปรึกษาด้านการอนุรักษ์พลังงานให้กระจายอยู่ทั่วประเทศเพื่อให้คำปรึกษาได้รวดเร็วและสามารถนำไปปฏิบัติได้ผลจริง พร้อมทั้งสนับสนุนให้หน่วยงานของภาครัฐและเอกชนร่วมมือกันดำเนินการอนุรักษ์พลังงานในโรงงาน อาคารและบ้านอยู่อาศัย ในระยะ 5 ปีข้างหน้า คาดว่าจะลดการใช้พลังงานได้ถึง 4,406 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ/ปี
ภาคขนส่ง ส่งเสริมการลงทุนในโครงการพัฒนาระบบขนส่ง เร่งรัดการจัดการจราจรและการขนส่งทั้งการขนส่งคนและสินค้า การจัดเตรียมพื้นที่จอดและจรเพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้ขนส่งสาธารณะ สนับสนุนการขนส่งสินค้าอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ระบบโลจิสติกส์ การขนส่งทางรถไฟ และทางเรือ เป็นต้น ให้ความรู้กับประชาชนเพื่อความร่วมมือประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิง การเลือกใช้น้ำมันเชื้อเพลิงให้ถูกประเภท การส่งเสริมการใช้รถยนต์ประหยัดพลังงาน (eco-car) ในระยะ 5 ปีข้างหน้า คาดว่าจะช่วยให้ลดการใช้น้ำมันและเชื้อเพลิงอื่นๆ ได้ถึง 3,413 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ/ปี
(2) ด้านการใช้พลังงานทดแทน โดยเร่งผลักดันให้เกิดการลงทุนและพัฒนาพลังงานทดแทนที่เหมาะสมกับประเทศไทย ดังนี้
- ส่งเสริมการผลิตก๊าซชีวภาพ จากฟาร์มสุกร โรงงานแป้งมันสำปะหลัง และน้ำเสียจากโรงงาน เป็นต้น โดยมีเป้าหมายจะผลิตก๊าซชีวภาพ 1,060 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ทดแทนพลังงานเทียบเท่าน้ำมันดิบปีละ 397,000 ตัน คิดเป็นมูลค่า 6,970 ล้านบาทต่อปี ทำให้เป้าหมายก๊าซชีวภาพทางด้านไฟฟ้าเพิ่มขึ้น จาก 30 MW เป็น 60 MW และด้านความร้อนเพิ่มขึ้น จาก 186 ktoe เป็น 370 ktoe
- ส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำ การแปรรูปขยะเป็นพลังงาน การส่งเสริมวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรเป็นพลังงาน ส่งเสริมพลังงานจากลม และแสงอาทิตย์ โดยมีแผนปฏิบัติการและรายละเอียดวิธีดำเนินงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในแต่ละด้านที่ชัดเจนยิ่งขึ้น
- กำหนดเป้าหมายมาตรการส่งเสริมการใช้เอทานอล 2.4 ล้านลิตรต่อวัน โดยประชาสัมพันธ์เชิงรุกเพื่อให้ประชาชนเข้าใจเกี่ยวกับน้ำมันแก๊สโซฮอล์ และรักษาส่วนต่างราคาเพื่อจูงใจผู้ใช้ เพิ่มแรงจูงใจแก่ผู้จำหน่ายน้ำมันแก๊สโซฮอล์ ส่งเสริมให้มีรถยนต์ที่สามารถใช้ E20 เป็น 150,000 คัน ในปี 2544 และให้รถจักรยานยนต์ใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์
- กำหนดเป้าหมายมาตรการส่งเสริมการใช้ไบโอดีเซล 3 ล้านลิตรต่อวัน โดยเร่งรัดมาตรการบังคับบริษัทน้ำมันทุกแห่งขายน้ำมันไบโอดีเซลบี 2 (ดีเซล 98% ไบโอดีเซล 2%) แทนน้ำมันดีเซลในปั๊มน้ำมันทั่วประเทศในวันที่ 1 กุมภาพันธุ์ 2551 ส่งเสริมการผลิตและใช้ไบโอดีเซลจากน้ำมันปาล์มที่เหลือจากการบริโภคในปี 2552 และปี 2553 เร่งส่งเสริมการปลูกปาล์มน้ำมันในปี 2551 เพื่อให้ไบโอดีเซลเพียงพอกับความต้องการที่จะผสมกับดีเซลหมุนเร็ว 5% ในปี 2554
จากมาตรการต่างๆ นั้น จะทำให้มีการผลิตพลังงานทดแทนมากขึ้น ในระยะ 5 ปีข้างหน้า คาดว่าจะช่วยให้ลดการใช้พลังงานเชิงพาณิชย์ได้ถึง 8,858 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ/ปี
แม้กระทรวงพลังงานได้เร่งส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนอย่างเต็มที่แล้ว แต่ก็ยังไม่เพียงพอ เมื่อเทียบกับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปี ดังนั้น การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์จะเป็นทางเลือกหนึ่งของประเทศในอนาคต โดยในช่วงปี 2551-2553 จะมีการดำเนินการเพื่อเตรียมความพร้อมในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์ เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลที่ครบถ้วนและการยอมรับของประชาชน อันจะนำไปสู่การตัดสินใจอนาคตของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ถูกต้องต่อไป
(3) ด้านการพัฒนาบุคลากร เพื่อเพิ่มจำนวนและคุณภาพของบุคลากรให้เพียงพอในการนำเป้าหมายของแผนอนุรักษ์พลังงานไปสู่การปฏิบัติ โดยให้ทุนการศึกษาระดับปริญญาตรี โท และเอก ทั้งในและต่างประเทศ การนำอาจารย์และนักศึกษาที่มีพื้นฐานทางวิศวกรรมมาเข้ารับการฝึกอบรมด้านพลังงานจัดตั้งเป็นทีมเทคนิคเข้าไปให้คำปรึกษาแนะนำกับโรงงานเพื่อการประหยัดพลังงาน การร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการบูรณาการความรู้เรื่องพลังงานอยู่ในหลักสูตรประถมศึกษาและมัธยมศึกษา และส่งเสริมการเรียนการสอนและห้องปฏิบัติการด้านการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนในระดับอุดมศึกษา
(4) ด้านการประชาสัมพันธ์ ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทั่วไปทราบถึงความสำคัญและผลกระทบของการใช้พลังงานอย่างไม่มีประสิทธิภาพ และเผยแพร่วิธีประหยัดพลังงานที่ทำได้ง่ายในชีวิตประจำวัน การให้ความรู้ สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับพลังงานทางเลือก เช่น ก๊าซธรรมชาติ น้ำมันแก๊สโซฮอล์ น้ำมันไบโอดีเซล ถ่านหิน นิวเคลียร์ เป็นต้น เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายเห็นความสำคัญของการกระจายแหล่งเชื้อเพลิง การพัฒนาพลังงานทดแทนน้ำมัน การเลือกใช้พลังงานใหม่ๆ ที่เหมาะสมกับประเทศ เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายมีความรู้ มีความเข้าใจ เกิดความมั่นใจและมีทัศนคติที่ดีต่อพลังงานแต่ละรูปแบบ และยอมรับในนโยบายของรัฐ พร้อมให้การสนับสนุน ร่วมมือกับภาครัฐในการพัฒนาเลือกใช้พลังงานที่เหมาะสม
2.3 ตามแผนอนุรักษ์พลังงานในช่วงปี 2551 — 2554 จะใช้เงินจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานในกรอบวงเงินรวม 87,849 ล้านบาท เข้าไปช่วยเหลือ อุดหนุนหรือใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนเพื่อเร่งรัดให้การดำเนินงานเกิดผลสัมฤทธิ์บรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ ประกอบด้วย 3 แผนงาน ได้แก่ 1) แผนพลังงานทดแทน วงเงิน 7,332 ล้านบาท 2) แผนเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน วงเงิน 80,267 ล้านบาท และ 3) แผนงานบริหารทางกลยุทธ์ วงเงิน 250 ล้านบาท โดยกองทุนฯ มีเงินที่จะได้รับคืนเนื่องจากเป็นเงินทุนหมุนเวียนรวม 4,400 ล้านบาท ประกอบด้วย โครงการเงินหมุนเวียนเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน 2,000 ล้านบาท โครงการส่งเสริมการลงทุน (ESCO) 500 ล้านบาท และโครงการส่งเสริมการใช้หลอดผอมใหม่ (T5) 1,900 ล้านบาท
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีชุดพลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 18 ธันวาคม--จบ--