ข้อ ใด ไม่ใช่ องค์ประกอบ ของระบบการบริการ

2. ผู้ปฏิบัติงานบริการ คือ ผู้ที่ให้บริการ หรือ ผู้ที่รับความจํานงนั้นๆ ไปปฏิบัติให้ตรงความ ต้องการมากที่สุด

3. องค์การบริการ คือ หน่วยงาน ส่วนงานที่ให้บริการ

4. ผลิตภัณฑ์บริการ คือ สิ่งที่จับต้องได้และเป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้

5. สภาพแวดล้อมของการบริการ คือ องค์ประกอบด้านต่างๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการให้บริการ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พุทธศักราช 2525 (2525: 167) ได้ให้ความหมายของครอบครัวไว้ว่า หมายถึง ผู้ร่วมครัวเรือน คือ สามี ภรรยาและบุตร เป็นต้น

ความหมายของครอบครัวในเชิงสหสาขาวิทยา

1) ในแง่ชีววิทยา  ครอบครัว หมายถึง กลุ่มคนที่เกี่ยวพันกันทางสายโลหิต เช่น สามี  ภรรยา มีบุตร บุตรเกิดจากอสุจิของบิดาผสมกับไข่สุกของมารดา  ฉะนั้น บิดามารดากับบุตรจึงเกี่ยวพันทางสายโลหิตแล้วแต่โครโมโซมและยีนที่บุตรได้รับมาจากทั้งบิดาและมารดา (ทวีรัสมิ์ ธนาคม, 2518)

2) ในแง่กฎหมาย  ชายหญิงจดทะเบียนสมรสกัน มีบุตร คนเหล่านี้เป็นครอบครัวเดียวกันตามกฎหมาย บุตรมีสิทธิ์ได้รับมรดกจากบิดามารดา ถ้าไม่มีบุตรผู้สืบสายโลหิตโดยตรงหรือจดทะเบียนเป็นบุตรบุญธรรม  ก็นับว่าเป็นครอบครัวเดียวกันตามกฎหมาย

3) ในแง่สังคม  ครอบครัว หมายถึง กลุ่มที่รวมอยู่ในบ้านเดียวกัน อาจเกี่ยวหรือไม่เกี่ยวพันทางสายโลหิตหรือทางกฎหมายแต่มีปฏิสัมพันธ์กัน ให้ความรักและความเอาใจใส่ต่อกัน มีความปรารถนาดีต่อกัน

4) ในแง่สังคมวิทยา  ครอบครัว คือ สถาบันพื้นฐานทางสังคมที่มีความสำคัญใกล้ชิดกับการเปลี่ยนแปลงในสภาพสถาบันอื่น ๆ (ทวีรัสมิ์  ธนาคม, 2518)

สุพัตรา  สุภาพ (2540:26) ได้กล่าวว่า ครอบครัวเป็นสถาบันที่สำคัญที่สุดของสังคม เป็นหน่วยย่อยของสังคมที่มีความสัมพันธ์และร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด เป็นสถาบันที่คงทนที่สุดและยังไม่เคยปรากฏว่า สังคมมนุษย์เป็นสังคมที่ไม่มีสถาบันครอบครัว  เพราะมนุษย์ทุกคนต้องอยู่ในสถาบันครอบครัว เนื่องจากเป็นกลุ่มสังคมกลุ่มแรก  ที่มนุษย์ทุกคนเจอ ตั้งแต่แรกเกิดจนกระทั่งเติบโต และมีครอบครัวแยกออกมา  ครอบครัวจะให้ตำแหน่ง ชื่อ และสกุลซึ่งเป็นเครื่องบอกสถานภาพ บทบาทตลอดจนกำหนดสิทธิหน้าที่ที่สมาชิกมีต่อกันและต่อสังคม  ครอบครัวเป็นสถาบันแห่งแรกและแห่งสำคัญของสังคมในการกำหนดพฤติกรรมของมนุษย์ให้เป็นไปตามระเบียบแบบแผน  ซึ่งมีการกำหนดมาตรฐานความประพฤติของครอบครัว

คณะกรรมการส่งเสริมและประสานงานสตรีแห่งชาติ(2537:15)  ได้กล่าวว่า  ครอบครัว หมายถึง กลุ่มบุคคลที่มีความผูกพันกัน ทางอารมณ์และจิตใจมีการดำเนินชีวิตร่วมกัน รวมทั้งพึ่งพิงกันทางสังคมเศรษฐกิจ  มีความสัมพันธ์กันทางกฎหมายและทางสายโลหิต

สนิท สมัครการ (2538:1)  ให้ความหมายครอบครัวไว้ว่า  “กลุ่มของญาติสนิทกลุ่มหนึ่งซึ่งอยู่ร่วมหลังคาบ้านเดียวกัน  หรืออยู่ในบริเวณรั้วบ้านเดียวกัน  (ในกรณีที่มีบ้านมากกว่าหนึ่งหลัง)  ตามปกติแล้วครอบครัวย่อมทำหน้าที่เบื้องต้นที่จำเป็นต่าง ๆ เพื่อสนองความต้องการพื้นฐาน(Basic need) ของมนุษย์  อย่างไรก็ดีหน้าที่บางประการของครอบครัวอาจเปลี่ยนแปลงไปตามวิวัฒนาการของสังคมและวัฒนธรรม  ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อภาวะความเป็นญาติของสมาชิกแต่ละครอบครัวทั้งแบบชีวภาพและแบบสังคมกำหนดก็ได้”

ประสบ  บุญเดช (2531:1) ให้ความหมายครอบครัวว่า “ เป็นหน่วยงานย่อยพื้นฐานของสังคมโดยปกติมักประกอบด้วย สามี  ภรรยา  และบุตร  ฐานะการเป็นครอบครัวเริ่มขึ้นเมื่อชายและหญิงได้ทำการสมรสกัน  และดำเนินต่อไปจนกระทั่งเกิดบุตรคนแรก คนที่สองและคนถัด ๆ ไป  ครอบครัวบางครอบครัวอาจไม่มีบุตรตลอดชีวิตของสามีภริยาก็ได้ และในทำนองเดียวกันครอบครัวบางครอบครัวก็มีเพียงบิดา  หรือมารดากับบุตรเท่านั้น  ซึ่งอาจเกิดขึ้นเพราะสามีหรือภริยาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งถึงแก่ความตายหรือหย่าร้างเลิกรากันไป”

Kingsley Davis (1966:392 อ้างถึงใน วรณาภรณ์ โภคภิรมย์, 2545:6) ให้ความหมายไว้ว่า ครอบครัวเป็นสถาบันพื้นฐานและสากลที่สุดสำหรับทุกสถาบัน มุ่งอธิบายครอบครัว 2 แนวทางด้วยกัน

1) แนวจิตวิทยา     มุ่งชี้ให้เห็นว่าครอบครัวเป็นกลุ่มปฐมภูมิ  เพราะเนื่องด้วยความผูกพันกันอย่างใกล้ชิดของบรรดาสมาชิกของกลุ่มที่อยู่ในครอบครัวเดียวกัน  มีการพบปะและแสดงอาการตอบสนองต่อกันและกัน

2) แนวสังคมวิทยา  ถือว่าบรรดาสมาชิกในครอบครัวนั้นต่างฝ่ายต่างให้ และรับประสบการณ์จากกันและกัน ซึ่งถือว่าต่างฝ่ายต่างถ่ายทอดพฤติกรรมให้แก่กันและกัน อันเป็นกระบวนการเรียนรู้ทางสังคม

จากความหมายทั้งหมดสรุปได้ว่า  ครอบครัวเป็นหน่วยย่อยที่เล็กที่สุดในสังคม ประกอบด้วย กลุ่มคนที่มีความสัมพันธ์ทางสายเลือดหรือโดยการแต่งงาน  มีความผูกพันกันทางอารมณ์และจิตใจ  เป็นหน่วยย่อยของสังคมที่มีความคงทนที่สุด เป็นสถาบันที่สำคัญในการกำหนดพฤติกรรมของมนุษย์  และเป็นสถาบันที่จะสร้างสมาชิกใหม่ให้กับสังคม ในรูปของเด็กเกิดใหม่และอบรมให้เด็กเหล่านั้นเข้ากับสังคมได้

2. ประเภทของครอบครัว[top]

ครอบครัวไทยแบ่งออกเป็น 4 รูปแบบใหญ่ (สนิท สมัครการ, 2538:4-7) คือ

1) ครอบครัวเนื้อแท้ หรือครอบครัวพื้นฐาน (Nuclear or Elementary Family) หรือครอบครัวเบื้องต้น  ประกอบด้วย 2 Generation คือ บิดา มารดา และบุตรธิดา แต่ในทางวัฒนธรรมก็จะมีญาติอยู่ด้วย เช่น ในสังคมไทย  บางครอบครัวต้องเลี้ยงบิดามารดาของฝ่ายสามีหรือภรรยา  หรือบางครอบครัวมีพี่หรือน้องของสามีที่ยังเป็นโสดอาศัยอยู่  การที่มีญาติอาศัยบ้างก็มิได้ทำให้ ครอบครัวเนื้อแท้กลายเป็นครอบครัวแบบอื่นไปเพราะ อำนาจของหัวหน้าครอบครัว  ก็ยังมีอยู่อย่างสมบูรณ์ ครอบครัวแบบนี้เกิดขึ้นง่าย  บางคนนิยมเรียกว่า “ครอบครัวพื้นฐาน” เพราะครอบครัวแบบนี้เป็นรากฐาน ของครัวครัวแบบอื่น ๆ

2) ครอบครัวขยาย (Extended or Joint Family) ประกอบด้วยสมาชิก 3 ระดับ คือ  พ่อ แม่ ลูกและปู่ ย่า ตา ยายอยู่ในครอบครัวเดียวกัน  การใช้จ่ายทรัพย์สินในลักษณะของ “กงสี”

3) ครอบครัวผสมหรือครอบครัวซ้อน (Composite or Compound Family) หมายถึง ครอบครัวที่ชายหรือหญิงมีคู่ชีวิตได้มากกว่า 1 คน และนำมาอยู่อาศัยรวมกันในครอบครัวเดียวกัน

4) ครอบครัวสาระ (Essential Family) คือ ครอบครัวที่มีเฉพาะแม่และลูก ๆ พ่อต้องไปหางานทำในเมือง ซึ่งกำลังทวีจำนวนมากขึ้น

3. หน้าที่สำคัญของครอบครัว[top]

สุพัตรา  สุภาพ (2540:68-69) กล่าวถึงหน้าที่ของครอบครัวไว้ ดังนี้

1) สร้างสรรค์สมาชิกใหม่ (Reproduction) เพื่อให้สังคมสามารถดำรงอยู่ได้ การมีสมาชิกใหม่ต้องมีให้สมดุลกับทรัพยากรภายในประเทศ

2) บำบัดความต้องการทางเพศ(Sexual Gratification) ซึ่งออกมาในรูปของการสมรสเป็นการลดปัญหาทางเพศบางอย่าง เช่น ข่มขืน การสมรสจึงเป็นสิ่งจำเป็นในสังคมที่มีการจัดระเบียบ เพราะการสมรสคือ วิธีการหนึ่งที่สังคมเข้ามาควบคุมความสัมพันธ์ให้อยู่ในขอบเขต

3) เลี้ยงดูผู้เยาว์ให้เจริญเติบโตขึ้นในสังคม(Maintenance of Immature Children) ครอบครัวจึงมีหน้าที่เลี้ยงดูบุตรตั้งแต่แรกเกิดจนกระทั่งเติบใหญ่ การเลี้ยงดูจากที่อื่นแม้ทำได้ก็ไม่ดีเท่ากับครอบครัว ครอบครัวจึงเป็นสถาบันที่สำคัญมากต่อระบบการพัฒนาทางร่างกายและจิตใจของเด็ก เป็นสถานที่ที่เลี้ยงดูเด็กให้เป็นคนที่เจริญเติบโตสมบูรณ์ ไม่ให้เกิดปัญหาสังคม

4) ให้การอบรมสั่งสอนแก่เด็กให้รู้จักระเบียบของสังคม (Socialization)  ครอบครัวเป็นแหล่งการอบรมเบื้องต้นที่มีอิทธิพลต่อเด็กมากที่สุด เป็นสถาบันเตรียมตัวเด็กให้ออกไปเผชิญกับสิ่งแวดล้อม ช่วยอบรมเด็กให้รู้จักกฎหมายคุณค่าแบบของความประพฤติ ฯลฯ สอนให้เด็กปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมในสังคม

5) กำหนดสถานภาพ (Social Placement) เราได้ชื่อสกุลมาจากครอบครัว ซึ่งส่วนมากก็เปลี่ยนได้ในเวลาต่อมา สถานภาพเป็นสิ่งที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด เช่นเป็นลูกคนรวย เป็นลูกพ่อค้า เป็นลูกชาวนา สถานภาพอาจเปลี่ยนแปลงได้ ขึ้นอยู่กับสังคมที่บุคคลนั้นเป็นสมาชิกอยู่

6) ให้ความรักความอบอุ่น(Affection)  ครอบครัวเป็นแหล่งที่สมาชิกได้รับความรักความอบอุ่นอย่างบริสุทธิ์ใจ เป็นแหล่งที่ให้หลักประกันว่าจะมีคนที่รักเราจริงและรักเราเสมอ ครอบครัวจะเป็นแหล่งให้กำลังใจและปลุกปลอบใจ เพื่อให้สมาชิกสามารถผ่านอุปสรรคไปได้ สรุปแล้วครอบครัวจึงเป็นแหล่งให้ความรัก ความคุ้มครองและความมั่นคงทางด้านจิตใจแก่สมาชิกทำให้สมาชิกมีพลังใจในการฝ่าฟันอุปสรรคต่าง ๆให้ลุล่วงไปได้ด้วยดี

นอกจากนี้ ศรีสว่าง พั่ววงค์แพทย์ (2537)ได้กล่าวถึงบทบาทหน้าที่ของครอบครัว สามารถพิจารณาได้ทั้ง 3 มิติ คือ

ด้านสังคม ครอบครัวเป็นสถาบันพื้นฐานเก่าแก่ที่สุด ทำหน้าที่หล่อหลอมความเป็นมนุษย์ด้วยการเลี้ยงดูอบรม  ให้การเรียนรู้แก่ลูก แก่เด็กให้มีพัฒนาการรอบด้าน ทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ สติปัญญา สังคม อารมณ์ บุคลิกภาพที่เหมาะสมตามวัย  โดยเฉพาะบทบาทการเป็นพ่อแม่นั้นคงลาออกไม่ได้

บทบาทสำคัญในฐานะเป็นสถาบันในสังคมอีกประการหนึ่ง คือ การสั่งสมบ่มเพาะขัดเกลาเด็กให้มีการเรียนรู้เชิงสังคมให้เติบโตเป็นคนดีมีคุณธรรม ไม่เบียดเบียนผู้อื่นไม่ละเมิดสิทธิผู้อื่น มีจิตใจเอื้ออาทร  มีจิตสำนึกต่อสังคมส่วนรวม สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีสันติสุข  ทั้งนี้การทำตนเป็นแบบอย่างที่ดีของพ่อแม่ และสมาชิกผู้ใหญ่ในครอบครัว จะเป็นการเรียนรู้ที่ดียิ่งสำหรับเด็ก

ด้านเศรษฐกิจ  สมาชิกครอบครัวต่างก็เป็นผู้ผลิตและผู้บริโภค  ในฐานะเป็นผู้ผลิตไม่ว่าจะอยู่ในฐานะผู้ใช้แรงงาน ผู้ประกอบการ  ผู้ลงทุน  ถ้าไม่ผ่านการขัดเกลาจากครอบครัว บ่มเพาะนิสัยให้รักการทำงาน  มีความซื่อสัตย์ต่อวิชาชีพ  ต่ออาชีพของตน  มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์  มีวินัยในตนเอง ก็จะเป็นผู้ผลิตในเชิงเศรษฐศาสตร์ที่ไม่มีคุณภาพ

ในฐานะเป็นผู้บริโภค  ถ้าได้รับการอบรม ขัดเกลาให้เป็นผู้บริโภคที่มีคุณภาพ คือ รู้ทันกัน  เลือกสรรบริโภคอย่างมีประโยชน์อย่างประหยัดและปลอดภัย  ไม่ว่าจะเป็นสินค้าบริการ หรือสื่อมวลชนก็ตาม ย่อมรู้จักใช้จ่ายอย่างมีเหตุผล  อย่างรู้จักประมาณ อย่างรู้จักพอ อย่างมีภูมิคุ้มกัน  การที่ประชากรของสังคมได้รับการบ่มเพาะให้เป็นผู้ผลิตและผู้บริโภคที่มีคุณภาพดังกล่าว ย่อมเป็นพื้นฐานเป็นพลังในการสร้างเศรษฐกิจส่วนรวมต่อไป

ด้านการเมืองการปกครอง  ครอบครัวเป็นหน่วยสังคมพื้นฐานที่บ่มเพาะทักษะทางการเมืองให้เกิดขึ้นในครอบครัวได้  ซึ่งหมายถึงการอยู่ร่วมกันอย่างมีกติกา  การมีบทบาทหน้าที่รับผิดชอบของสมาชิกในครอบครัว  มีความเอื้ออาทรต่อกัน ตัดสินใจร่วมกัน รู้จักเจรจาประนีประนอมกันด้วยความรักความเข้าใจและเหตุผล มีความเคารพซึ่งกันและกัน มีการรู้จักอภัยกัน ซึ่งเป็นทักษะของการเมืองการปกครองในระดับครอบครัว อันจะเป็นพื้นฐานของวิถีชีวิตในครรลองประชาธิปไตยต่อไปอย่างดี

ถ้าสถาบันครอบครัวสามารถปฏิบัติภารกิจทั้ง 3 มิติหลักดังกล่าวได้อย่างสมบูรณ์  ครอบครัวนั้นก็จะมีภูมิคุ้มกัน  มีความมั่นคงเข้มแข็ง  เป็นพลังหลักในการสร้างสันติสุขในสังคม ในวงกว้างออกไปได้ไม่ยาก

4. ลักษณะของครอบครัวไทย[top]

ลักษณะของครอบครัวไทยเราตั้งแต่โบราณมาถือได้ว่าเป็นครอบครัวที่มีความอบอุ่นในด้านความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในครอบครัวเป็นอย่างยิ่ง  ทั้งนี้สืบเนื่องมาจากขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมของเราที่ได้อบรมสั่งสอนสืบทอดต่อ ๆ กันมา  กล่าวคือ  ผู้เยาว์จะต้องเคารพเชื่อฟังผู้ใหญ่  ลูกหลานจะต้องมีความกตัญญูกตเวทีต่อบิดามารดาหรือญาติผู้ใหญ่  ซึ่งสิ่งเหล่านี้หาได้ไม่มากนักในสังคมทางซีกโลกตะวันตก  ลักษณะที่สำคัญ ๆ ของครอบครัวไทย  มีดังนี้ (ไพฑูรย์ เครือแก้ว, 2518)

1. เป็นครอบครัวขยายหรือครอบครัวใหญ่มากกว่าครอบครัวแบบอื่น ๆ โดยเฉพาะในชนบท ซึ่งประกอบด้วย  พ่อ แม่ ลูก ปู่ ย่า (หรือตา ยาย) รวมทั้งพี่น้องของฝ่ายสามีหรือภรรยา

2. ให้อำนาจผู้ชายหรือสามีเป็นผู้นำครอบครัว  โดยภรรยาต้องใช้นามสกุลของสามี  สามีต้องมีหน้าที่อุปการะเลี้ยงดู  ให้ความจุนเจือในทางเศรษฐกิจ แต่ในปัจจุบันนี้ ฝ่ายภรรยาเริ่มมีบทบาทมากขึ้น  เพราะต้องช่วยกันหาเงินหาทองมาช่วยยกฐานะของครอบครัว มิฉะนั้นฐานะทางเศรษฐกิจของครอบครัวจะอยู่ในภาวะลำบาก

3. ลูก คือ โซ่ทองคล้องใจพ่อแม่  รวมไปถึง ปู่ ย่า ตา ยาย หรือ พี่ ป้า น้า อาด้วย จะเห็นได้ว่าเมื่อเวลามีเด็กเล็กในครอบครัว  ผู้ใหญ่ทุกคนมักมุ่งความสนใจไปที่ตัวเด็ก

4. มีความเคารพเชื่อฟังกันตามลำดับอาวุโสของสมาชิกในครอบครัว

5. ลูกผู้ชายได้รับการยกย่องให้เป็นผู้สืบสกุล  นั่นคือ จะต้องคอยระมัดระวังความประพฤติให้อยู่ในกรอบของศีลธรรม  ถ้ามีความประพฤติเสียหาย ก็เท่ากับเป็นการทำลายวงศ์สกุล

6. ลูก ๆ จะต้องแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อบิดามารดา กล่าวคือ ต้องคอยอุปการะเลี้ยงดูท่านเมื่อท่านอยู่ในวัยชรา  ลูกหลานจะต้องให้ความอุปการะเลี้ยงดูญาติผู้ใหญ่ของตนเป็นลักษณะที่สำคัญอย่างหนึ่งของครอบครัวไทย  คนไทยได้รับการสั่งสอนอบรมเรื่องความกตัญญูกตเวที ให้รู้จักช่วยเหลือและอุปการะแก่ญาติผู้ใหญ่ของตน โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในวัยชราและขาดความมั่นคงทางเศรษฐกิจ  ความกตัญญูกตเวทีเป็นคุณธรรมที่สังคมยกย่องอย่างสูง

7. ภรรยา  ถึงแม้จะไม่ใช่ผู้นำครอบครัว  แต่ก็มีบทบาทอย่างมาก โดยอิทธิพลเหนือฝ่ายชายในการอบรมเลี้ยงดูบุตรธิดา  การใช้จ่ายในครอบครัวตลอดจนการดูแลบ้านเรือน

8. ความผูกพันทางสายโลหิต  บิดามารดารักและห่วงใยลูกของตนเสมอ  แม้ว่าจะแต่งงานไปแล้วก็ตาม  ทำนองเดียวกับญาติพี่น้องจะช่วยเหลือเผื่อแผ่กันและกัน  ญาติทั้งฝ่ายหญิงและฝ่ายชายมีความเท่าเทียมกัน  และนับเชื้อสายทั้งฝ่ายชายฝ่ายหญิง  พ่อแม่มักอุปการะเลี้ยงดูลูกที่เป็นคนโสดตลอดไป  ถ้าคู่สมรสใหม่จำเป็นต้องอยู่ร่วมกับครอบครัวเดิม  มักเลือกการอยู่ร่วมบ้านเดียวกันกับครอบครัวฝ่ายหญิงมากกว่าฝ่ายชาย  เพื่อเป็นหลักประกันว่าจะไม่มีการใช้อำนาจเหนือภรรยาเกินขอบเขต

ดังนั้น ความรักภายในครอบครัวไทยจะเป็น  ดังนี้

1)      ความรักและเคารพระหว่างสามีภรรยา

2)      ความรักของบิดามารดาต่อบุตร

3)      ความรักและความกตัญญูต่อผู้เคยอุปการะ

4)      ความรักในสายเลือด

5. ทฤษฎีพัฒนาการครอบครัว (Developmental Family Theory)[top]

ทฤษฎีนี้มีจุดเริ่มต้นราวทศวรรษที่ 1930 โดย Hill & Hanson กล่าวว่า ระบบครอบครัวมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ไม่ใช่สิ่งที่ตายตัว มีขอบข่ายมุมมองที่กว้างขวาง รวมทั้งมีลักษณะที่เป็นพลวัตร (Dynamic) มากกว่าสถิตย์ (Static) กล่าวคือ ชีวิตครอบครัวมักเริ่มต้นที่การแต่งงานของหญิงชายและสิ้นสุดลงเมื่อคู่แต่งงานสิ้นชีวิต ในช่วงของการดำเนินชีวิตครอบครัว ลักษณะของสมาชิกครอบครัวจะกำหนดกิจกรรมต่าง ๆ เป็นระยะ ๆ ซึ่งครอบครัวส่วนใหญ่จะผ่านระยะต่าง ๆ และกิจกรรมหลักที่คล้ายคลึงกัน แต่จะแตกต่างกันถ้าลักษณะโครงสร้างของสมาชิกในครอบครัวแตกต่างกัน ระยะต่าง ๆ ของครอบครัวตั้งแต่หญิงชายเริ่มแต่งงานกันจนกระทั่งคู่แต่งงานสิ้นชีวิตลงไปนี้ เรียกว่า วงจรชีวิตครอบครัว (Family life cycle)

แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าครอบครัวนั้นจะเป็นชนชาติใด มีสีผิวอย่างไร ในระยะต่าง ๆ ของชีวิตครอบครัวก็จะมีกิจกรรมการเกิด การเข้าศึกษาเล่าเรียน การเข้าสู่วุฒิภาวะหรือเติบโตเต็มที่และก็เข้าสู่วัยชราเหมือนกันทุกครอบครัว แต่ถ้าครอบครัวใดไม่มีลูกก็จะไม่มีกิจกรรมการเกิด การที่ลูกจะเข้าศึกษาเล่าเรียน เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีนักการศึกษาอีกหลายท่านที่ได้แบ่งวงจรชีวิตครอบครัวแตกต่างกันออกไปตามลักษณะของผู้ศึกษา โดยบางกลุ่มแบ่งออกเป็น 3 ขั้น คือ ครอบครัวเริ่มต้น ขยาย หด บางกลุ่มแบ่งออกเป็น 7 ขั้น คือ เริ่มมีครอบครัว มีลูกวัยทารก วัยก่อนเข้าเรียน ปีที่ลูกอยู่ในโรงเรียนประถม วัยรุ่นตอนแรก วัยรุ่นตอนปลาย ผู้ใหญ่ในวัยหนุ่มสาว และปีหลัง ๆ ของชีวิตในขณะที่ ฟิลลิส เจ. ไมเคิลจอนท์ (Phyllis J. Meiklejohn อ้างถึงใน พรรณทิพย์ ศิริวรรณบุศย์, 2538:38) ได้แบ่งวงจรชีวิตครอบครัวออกเป็น 9 ขั้นตอน กล่าวคือ

1. ระยะเริ่มสมรสพัฒนาครอบครัว ระยะนี้ต่างฝ่ายต่างพยายามปรับตัวเข้าหากัน ซึ่งในระยะเริ่มแรกไม่มีปัญหามากนัก เพราะยังอยู่ในระยะหวานชื่น แต่เมื่อนานวันเข้า การปรับตัวจะทวีคูณขึ้นถ้าปรับตัวเข้าหากันได้ดี ทำให้ทั้งคู่ย่อมรักกันมากขึ้น แต่เมื่อผ่านระยะน้ำผึ้งพระจันทร์ การปรับตัวทำได้ยากขึ้น

2. ระยะแรกตั้งครรภ์ ในช่วงตั้งครรภ์มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมายทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจของภรรยา และการทำหน้าที่แม่บ้านของภรรยาอาจทำได้ไม่เต็มที่ และถ้าไม่ร่วมกันวางแผนสำหรับทารกที่จะเกิดมาอาจจะทำให้สัมพันธภาพระหว่างสามีและภรรยาไม่ดี

3. ระยะเริ่มเป็นบิดามารดาในช่วงแรก บิดาและมารดาอาจจะตื่นเต้นต่อภาระและหน้าที่ที่เพิ่มขึ้นทั้งสองฝ่ายอาจจะทำให้เกิดปัญหาต่อคู่สมรส

4. ปีที่ว้าวุ่น การประมาณระยะการมีบุตรไม่ให้ใกล้กันเกินไปจะทำให้สภาพครอบครัวดีขึ้น ในระยะนี้เป็นระยะที่ใช้จ่ายสูงที่สุด ภรรยานอกจากต้องว้าวุ่นกับการเลี้ยงบุตร สามีและภรรยาก็ต้องรักษาสัมพันธภาพระหว่างกันและกัน ทั้งเรื่องความพึงพอใจในเพศรส การสันทนาการและเรื่องอื่น ๆ เพื่อคงสภาพสมรสที่ดีไว้

5. ระยะบุตรเข้าโรงเรียน เนื่องจากบิดามารดาต้องการให้สิ่งที่ดีที่สุดแก่บุตรของตน ดังนั้นจะพยายามที่จะส่งบุตรไปโรงเรียนให้เร็วที่สุด เมื่อบุตรเข้าโรงเรียนภาระด้านการเลี้ยงดูบุตรอาจจะลดน้อยลง แต่ต้องให้ความสำคัญแก่รายได้เพื่อใช้ในการศึกษาของบุตรให้มากที่สุด

6. ระยะบุตรเข้าสู่วัยรุ่น ในช่วงชีวิตนี้บิดามารดาอาจจะมีการสร้างสรรค์มากขึ้นหรือทางตรงข้ามอาจจะมีความรู้สึกว่าขาดความตื่นเต้น ชีวิตครอบครัวราบเรียบจนน่าเบื่อหน่าย ในบางกรณีมารดาอาจจะวุ่นอยู่กับบุตรที่กำลังเจริญเติบโต และฝ่ายบิดาก็วุ่นวายอยู่กับการหาเงินมาใช้จ่ายในครอบครัวทำให้มีเวลาทำกิจกรรมร่วมกันลดน้อยลง ถ้าหากว่าทั้งคู่ต่างขาดความสนใจซึ่งกันและกันอาจจะก่อให้เกิดความรู้สึกว่าขาดสิ่งที่ยึดเหนี่ยวเข้าไว้ด้วยกัน อาจจะทำให้เกิดความเหินห่างและต่างคนต่างอยู่ได้

7. ระยะบุตรแยกครอบครัว ในระยะที่บุตรแยกครอบครัวนี้อาจจะเป็นเวลาที่บิดามารดาใกล้ปลดเกษียณ ฉะนั้น ปู่ย่าหรือตายาย มักจะรู้สึกยินดีที่ได้เลี้ยงหลาน และมีความรู้สึกว่าเป็นโอกาสที่ตนเองจะได้รับความรักอีกครั้งหนึ่ง ช่วยให้เกิดความรู้สึกมีคุณค่าเนื่องจากได้ทำประโยชน์ให้แก่สมาชิกในครอบครัว

8. ระยะบ้านว่างเปล่า ในระยะนี้ครอบครัวที่มีขนาดใหญ่เมื่อบุตรได้แยกย้ายกันออกไปหมดแล้วก็ย่อมมีความรู้สึกว่าบ้านว่างเปล่า หากสามีภรรยาไม่มีความสนใจทำกิจกรรมอื่น ๆ ความว่างเปล่าในบ้านก็จะทำให้รู้สึกอ้างว้างมากยิ่งขึ้น

9. ระยะปัจฉิมวัย ระยะนี้สมรรถภาพทางกายของคู่สมรสเริ่มเสื่อมลงไม่สามารถที่จะทำกิจกรรมที่เคยทำมาก่อนได้ทั้งงาน ทางด้านร่างกายและทางด้านการใช้สติปัญญา รวมทั้งอาจเกิดความเจ็บป่วยเป็นครั้งคราวหรือเจ็บป่วยเรื้อรังขึ้นอยู่กับการปฏิบัติตนในวัยผู้ใหญ่

การศึกษาเรื่องครอบครัวนั้นเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า ความพึงพอใจในชีวิตสมรสของบุคคลจะเปลี่ยนแปลงไปตามช่วงชีวิตในลักษณะรูปตัวยู (U-SHAPE) ตามวงจรชีวิตครอบครัว (Family life cycle) กล่าวคือ สามีภรรยาจะมีความพึงพอใจในชีวิตครอบครัวมากที่สุดเมื่อเริ่มต้นชีวิตครอบครัว จากนั้นความพึงพอใจจะเริ่มลดลงอย่างรวดเร็วเมื่อมีบุตรคนแรก และลดลงอย่างเรื่อย ๆ จนถึงระยะบุตรอยู่ในวัยเรียน และลดลงต่ำที่สุดเมื่อบุตรอยู่ในช่วงวัยรุ่น David H. Olson (1983: 236) หลังจากนั้นความพึงพอใจในชีวิตครอบครัวจะเริ่มมากขึ้นจนถึงระยะที่บุตรเริ่มมีครอบครัวและออกจากบ้านไป (Eshleman J. Ross,1994: 380) จากทฤษฎีพัฒนาการครอบครัวที่กล่าวมาข้างต้นนี้ สามารถชี้ให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงแบบแผนความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นภายในครอบครัวในช่วงระยะต่าง ๆ

6. คุณภาพชีวิตสมรส (Marital quality)[top]

Lewis and Spanier (1979 : 450) กล่าวว่า คุณภาพชีวิตสมรสเป็นสิ่งที่มีความหมาย ครอบคลุมองค์ประกอบหลายอย่างที่แสดงถึงคุณค่า  และการประเมินความสัมพันธ์ของการสมรส โดยประเมินในลักษณะที่เป็นความต่อเนื่องของการปฏิสัมพันธ์ระหว่างคู่สมรส คุณภาพชีวิตสมรสที่ดีเกี่ยวข้องกับการปรับตัวที่ดี  การสื่อสารระหว่างคู่สมรสที่ดี มีความสุขในชีวิตสมรสสูง  มีความพึงพอใจซึ่งกันและกัน  มีความขัดแย้งต่ำ มีการประสานกันระหว่างคู่สมรสเป็นอย่างดี  ซึ่งคุณภาพชีวิตสมรสในลักษณะดังกล่าวนี้  อาจจะสูงหรือต่ำขึ้นอยู่กับการปฏิสัมพันธ์ของคู่สมรสว่า จะสามารถแสดงออกกันได้ดีเพียงใด  และขึ้นอยู่กับหน้าที่ของชีวิตสมรสว่า คู่สมรสจะปฏิบัติตามบทบาทหน้าที่ของการเป็นสามีภรรยาได้มากน้อยเพียงใด

1.6.1 องค์ประกอบคุณภาพชีวิตสมรส

Lewis and Spanier  (อ้างถึงใน  บุญประคอง  ภาณุรัตน์,2531:20-21) ได้เสนอแนวคิดของคุณภาพชีวิตสมรส ซึ่งมีองค์ประกอบต่อไปนี้

1) การปรับตัวในชีวิตสมรส(Marital adjustment) หมายถึง การที่คู่สมรสมีความคิดเห็นที่สอดคล้องกัน และการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจและทำกิจกรรมร่วมกัน มีการแสดงออกให้เห็นความรักและความไว้วางใจต่อกัน รวมถึงการปรับตัวในเรื่องเพศรส

2) ความพึงพอใจในชีวิตสมรส(Marital satisfaction) หมายถึง ความรู้สึกที่ก่อให้เกิดความเพลิดเพลินและสบายใจในการใช้ชีวิตร่วมกันของคู่สมรส ที่มีต่อสถานการณ์ชีวิตสมรสในแง่มุมต่าง ๆ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมและจิตวิทยา

3) ความสุขในชีวิตสมรส(Marital happiness) หมายถึง การที่คู่สมรสทั้งสองฝ่ายรู้สึกตรงกันว่า ตนเองและคู่สมรสอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข  มีความอบอุ่นทั้งด้านร่างกายและจิตใจ

4) ความขัดแย้งในชีวิตสมรส (Marital conflict) หมายถึง ความคิดหรือการแสดงออกของคู่สมรสในเรื่องต่าง ๆ ที่ไม่สามารถตกลงกันได้ เช่น การใช้อำนาจในการตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ การคำนึงถึงผลประโยชน์ที่ตนเองจะได้รับ การโต้แย้ง ตลอดจนถึงการทำร้ายร่างกายซึ่งกันและกัน

5) การสื่อสารระหว่างคู่สมรส(Marital communication) หมายถึง การที่คู่สมรสได้พูดคุยปรึกษาหารือ หรือทำความเข้าใจซึ่งกันและกันในเรื่องต่าง ๆ รวมถึงการแสดงออกโดยไม่ใช้ภาษาพูด เช่น การแสดงสีหน้า ท่าทาง แววตา และมีความเชื่อมโยงกับการมีความเข้าใจและความเห็นอกเห็นใจกัน

6) การผสมผสานในชีวิตสมรส (Marital integration) หมายถึง การรวมหน่วยที่แยกกันเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน กลายเป็นสิ่งที่รวมกันขึ้นมาใหม่ ซึ่งมีลักษณะแตกต่างไปจากผลรวม ซึ่งเกิดจากการบวกเอาส่วนต่าง ๆ เข้าด้วยกัน เช่น กลุ่มที่มีความสามัคคีร่วมมือกันเป็นอย่างดี เรียกว่า มีการบูรณาการรวมหน่วยสูง ย่อมจะทำงานได้ผลรวมทั้งหมดมากกว่าผลรวมของงานที่สมาชิกแยกกันทำ

ฉันทนา วุฒิไกรจำรัส (2546:6-10)  กล่าวถึงปัจจัยที่มีผลต่อความสัมพันธ์ของครอบครัว  แบ่งเป็นกลุ่มปัจจัย 2 กลุ่ม  คือ กลุ่มปัจจัยด้านความพึงพอใจวิถีชีวิตของคู่สมรส  และกลุ่มปัจจัยที่เป็นผลจากการปฏิสัมพันธ์ระหว่างคู่สมรส ดังมีรายละเอียดต่อไปนี้

กลุ่มปัจจัยด้านความพึงพอใจ  ในชีวิตของคู่สมรสเป็นปัจจัยด้าน  ความพึงพอใจในวิถีชีวิตของคู่สมรส  ที่มีผลต่อคุณภาพชีวิตสมรส  ได้แก่  สถานภาพทางเศรษฐกิจและอิทธิพลของสังคมรอบตัว  ดังนี้

สถานภาพทางเศรษฐกิจของคู่สมรสส่วนใหญ่จะ หมายถึง รายได้ของครอบครัว ซึ่งน่าจะเป็นรายได้รวมทั้งสามีภรรยาและเป็นรายได้ที่นำมาใช้จ่าย  เพื่อทำให้ครอบครัวมีความสุขมีความมั่นคง การวัดรายได้ของคู่สมรสนี้อาจจะไม่ได้หมายถึง  ความมากน้อยของจำนวนเงินที่รับ

อิทธิพลของสังคมรอบตัว  ซึ่งสังคมรอบตัวของคู่สมรส ได้แก่ ญาติ เพื่อน รวมไปถึงบุคคลที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ เช่น เพื่อนร่วมงาน เพื่อนบ้าน ฯลฯ  หากกลุ่มคนเหล่านี้ให้การยอมรับค่าของความเป็นสามีภรรยาเป็นอย่างดี  ยอมรับว่าเป็นคู่สมรสที่เหมาะสม  หรือยอมรับบุคคลทั้งคู่ไม่รังเกียจฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง  ย่อมทำให้คู่สมรสมีความพึงพอใจในชีวิตสมรสได้  หรือการที่คู่สมรสมีโอกาสร่วมกิจกรรมในชุมชนมาก(หมายถึงการที่ทั้งคู่ได้รับการยอมรับจากชุมชน) จะทำให้คู่สมรสมีความพึงพอใจในชีวิตสมรสได้เช่นกัน

กลุ่มปัจจัยที่เป็นผลจากการปฏิสัมพันธ์ระหว่างคู่สมรสเป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อคุณภาพชีวิต  ที่เป็นกลุ่มปัจจัยที่สำคัญที่สุด น่าจะเป็นปฏิสัมพันธ์ระหว่างคู่สมรส เนื่องจากชีวิตสมรสคือการเริ่มต้นชีวิตของคนสองคน ปฏิสัมพันธ์ในแง่บวกระหว่างทั้งสองมีมากเท่าใด ความมั่นคงในชีวิตสมรสก็มีมากเท่านั้น ในทางกลับกันหากคู่สมรสมีปฏิสัมพันธ์กันไม่ดี การอยู่ร่วมกันย่อมไม่ราบรื่น แม้มีปัจจัยแวดล้อมเหมาะสมหรือเอื้ออำนวยให้คู่สมรสได้อยู่รวมกันอย่างดีเพียงใดก็ตาม สิ่งที่ตามมาอาจจะ เป็นความจำยอม ในการอยู่ด้วยกัน หรือในที่สุดอาจจะถึงกับแยกทางกันเดินก็ได้

การปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันของคู่สมรส  สามารถดูได้จากการแสดงออก หรือผลของปฏิสัมพันธ์ ในหลาย ๆแง่มุม เช่น  การยอมรับกันและกันในทุกๆ ด้าน(สรีระร่างกาย จิตใจ เพศสัมพันธ์ ฯลฯ) ความสนิทเสน่ห์หาที่มีต่อกัน การสื่อสารกันอย่างมีประสิทธิภาพ การมีบทบาทที่สอดคล้องกัน(ความสมานฉันท์ทางบทบาท) และการมีความสัมพันธ์กัน แบบเพื่อนคู่ชีวิต  ซึ่งรายละเอียดของผลของปฏิสัมพันธ์เหล่านั้น มีดังนี้

1) การยอมรับกันและกัน  เป็นสิ่งสำคัญเบื้องต้นของการที่คู่สมรสจะอยู่ด้วยกันได้ เพราะการสมรสย่อม หมายถึงการต้องการใช้ชีวิตร่วมกันตลอดชีวิต  ต้องเห็นหน้ากันทุกวันต้องมีกิจกรรมร่วมกัน ต้องปรึกษาหารือกัน แก้ปัญหาร่วมกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  การยอมรับกันในแง่มุมทำให้ทั้งคู่อยู่ด้วยกัน โดยไม่มีความขัดแย้งทางความคิดและอารมณ์ ไม่รำคาญกัน ไม่เบื่อกัน ไม่ดูถูกกัน ไม่เกลียดกัน ลักษณะการยอมรับกันและกันได้ มีตัวชี้วัดต่าง ๆ เช่น การมองอีกฝ่ายในแง่ดี  พอใจในคู่ชีวิตทั้งรูปร่างหน้าตา สติปัญญา  ความคิดเห็นและจิตใจ ซึ่งจะทำให้ทั้งคู่สื่อสารกันได้อย่างราบรื่น  แม้ต่อการตอบสนองทางเพศสัมพันธ์ที่คู่สมรสมอบให้  ยอมรับในตัวตนรวมไปถึงค่านิยมต่าง ๆ ของอีกฝ่ายหนึ่ง เป็นต้น

2) ความสนิทเสน่หาต่อกันเป็นปัจจัยด้านอารมณ์  ที่จะทำให้คู่สมรสรู้สึกผูกพันกันอย่างลึกซึ้ง ซึ่งเป็นเรื่องของการแสดงออกซึ่งความรักใคร่ ความต้องการทางเพศและรสนิยมทางเพศที่สอดคล้องกัน  มีความสุขในการมีเพศสัมพันธ์ร่วมกันรวมไปถึงการสนับสนุนส่งเสริมเป็นที่พึ่งทางใจ มีความเสมอภาคกัน (ไม่มีการได้เปรียบเสียเปรียบหรือการกดขี่ทางเพศ) ขณะเดียวกันก็ไม่ละเมิดสิทธิส่วนตัวของกันและกัน  ให้เกียรติกัน เคียงข้างกันออกสังคม  ให้สังคมยอมรับและชื่นชมในการเคียงคู่กันของทั้งสอง ฯลฯ

3) การสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ หมายถึง การที่คู่สมรสสื่อสารกันได้มีความเข้าใจกัน พูดคุยกันในเรื่องหลากหลาย มีเวลาพูดคุยกันและที่สำคัญ คือ  เห็นความสำคัญของการพูดคุยกัน

การมีบทบาทที่สอดคล้องกันหรือความสมานฉันท์ทางบทบาท  หมายถึง ความเห็นที่สอดคล้องกันระหว่างสามีภรรยา  ว่าใครควรจะมีบทบาทใด  ซึ่งครอบคลุมการแสดงออกต่าง ๆ เช่น การสามารถตอบสนองความต้องการของอีกฝ่ายได้อย่างสมบูรณ์ที่สุด  การทำหน้าที่ตามควรแห่งบทบาทของตน (การเป็นสามีภรรยา  เป็นหัวหน้าครอบครัว ดูแลรักษาบ้านทรัพย์สินฯลฯ) ได้อย่างดี  และทำบทบาทได้ใกล้เคียงกับบทบาทที่คาดหวังให้ได้มากที่สุด แบ่งบทบาทกันทำอย่างยุติธรรม (ร่วมกันรับผิดชอบด้านเศรษฐกิจ การทำงานบ้าน การเลี้ยงดูลูก เป็นผู้เลี้ยงดูลูก  อบรมสั่งสอน แม้แต่การลงโทษลูก ฯลฯ)  การมีบุคลิกภาพที่คล้ายคลึงกัน มีการปรองดองกันสูง ฯลฯ

4) การมีความสัมพันธ์ระหว่างสามีภรรยา ในการเป็นเพื่อนคู่ชีวิต หมายถึง การที่คู่สมรส มีการพึ่งพาอาศัยกันและกัน  ในแง่อารมณ์และความคิด มีการทำกิจกรรมร่วมกันมีการไปไหนมาไหนด้วยกันและร่วมกันแก้ปัญหาของครอบครัว  อาจรวมถึงมีการไปวัดด้วยกันด้วย  ดังนั้น แนวคิดทางการศึกษาคู่สมรสไทยจึงน่ารวมไปถึงการมีความสอดคล้องกันในแง่การนับถือศาสนา การปฏิบัติตนตามแนวทางศาสนาร่วมกันเช่น ทำแต่ความดี  ละเว้นความชั่ว  ยึดหลักฆราวาสธรรมรวมไปจนถึงการทำบุญไปวัด ฯลฯ ด้วยกัน

การวัดความเป็นเพื่อนคู่ชีวิต ครอบคลุมการวัดกิจกรรมของการพูดคุยกัน การเข้าใจและยอมรับในกันและกัน  การไปเยี่ยมเพื่อนฝูงด้วยกัน หรือไปพักผ่อนด้วยกัน เป็นต้น

7. ความมั่นคงในชีวิตสมรส (Marital Stability)[top]

ความมั่นคงในชีวิตสมรส  เป็นเป้าหมายชีวิตสมรสประการหนึ่ง ซึ่งหมายถึง  การที่ชีวิตสมรสดำเนินต่อไปได้และชีวิตสมรสจะสิ้นสุดต่อเมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียชีวิต  ส่วนชีวิตสมรสที่ไม่มั่นคงจะสิ้นสุดด้วยการกระทำอย่างจงใจ  โดยคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่าย  ในการที่จะแยกกัน หรือหย่าร้างกัน (Lewis and Spanier, 1979:269)

นอกจากนี้ยังมี Levinger (1979:36)  กล่าวถึง “ความมั่นคงในชีวิตสมรส” ว่าเป็นชีวิตสมรสที่ดำเนินไปอย่างปกติ ไม่มีปัญหาอะไรเกิดขึ้นระหว่างคู่สมรส  ตรงข้ามกับ “ความไม่มั่นคงในชีวิตสมรส”  เป็นลักษณะที่แสดงว่ามีปัญหาเกิดขึ้นในชีวิตสมรสซึ่งอาจเกิดขึ้นในลักษณะที่เป็น “รูปแบบ” หรือ “ ไม่เป็นรูปแบบ” ตามกฎเกณฑ์ของสังคม  กล่าวอีกอย่างหนึ่งคือ การสมรสที่มั่นคงจะมีการสิ้นสุดก็ต่อเมื่อเกิดการตายโดยธรรมชาติของคู่สมรส  แต่การสมรสที่ไม่มั่นคงเป็นการจบชีวิตสมรส  โดยการจงใจของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งโดยการหย่าร้างหรือแยกกันอยู่  การแยกกันอยู่จัดเป็นการเลิกกันแบบไม่เป็นทางการ  ส่วนการหย่าร้างหรือแยกกันอยู่ การแยกกันอยู่จัดเป็นการเลิกกันแบบไม่เป็นทางการ  ส่วนการหย่าร้างกันตามกฎหมายและการละทิ้งจากไปของคู่สมรส  จัดเป็นการเลิกกันแบบเป็นทางการ  ดังนั้นจึงจำแนกในรูปแบบความมั่นคงในชีวิตสมรสตามกฎเกณฑ์ของสังคมได้ 2 ประการ  คือ เป็นทางการและไม่เป็นทางการ ดังรายละเอียดดังต่อไปนี้

                   ความมั่นคง

รูปแบบ

สมบูรณ์แบบ(มั่นคง)

ไม่สมบูรณ์แบบ(ไม่มั่นคง)

เป็นทางการ

แต่งงานกันตามกฎหมาย

แยกกันตามกฎหมาย หย่าร้างเลิกกันตามกฎหมาย

ไม่เป็นทางการ

แต่งงานไม่เปิดเผย

การแยกกันโดยการตกลงอย่างไม่เป็นทางการการทอดทิ้ง

ที่มา : Levinger, 1979:36

Alan Booth and David Johnson (1983:387) ให้ความหมายของความไม่มั่นคงในชีวิตสมรสว่า เป็นคำที่อาจหมายถึงความล้มเหลวในชีวิตสมรส การหย่าร้าง การแตกแยกในชีวิตสมรส  การมีคุณภาพชีวิตสมรสต่ำ และการทอดทิ้ง  ซึ่งคำเหล่านี้มีความสัมพันธ์กัน แต่มีมโนทัศน์ต่างกันในบางกรณี  เช่น ความล้มเหลวในชีวิตสมรส หมายถึง การหย่าร้างตามกฎหมาย หรือแยกทางกันอย่างถาวรตามความสมัครใจของคู่สมรส แต่ความล้มเหลวในอีกมโนทัศน์หนึ่งหมายถึง  การจากกันโดยไม่สมัครใจ ซึ่งเกิดจากการตายหรือการทอดทิ้งไปของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

สรุปได้ว่า  ความไม่มั่นคงในชีวิตสมรส  มีความสัมพันธ์กับปัจจัย 3 กลุ่ม คือ ปัจจัยทางประชากร  ปัจจัยทางเศรษฐกิจและสังคม และปัจจัยทางจิตวิทยา ซึ่งผลกระทบของแต่ละปัจจัยที่มีต่อคู่สมรส ย่อมแตกต่างกันไปตามสภาพแวดล้อมของปัจเจกบุคคลและสังคม

ปัจจัยที่มีผลต่อความสัมพันธ์ของครอบครัว  แบ่งเป็นกลุ่มปัจจัย 2 กลุ่ม คือ กลุ่มปัจจัยด้านความพึงพอใจในวิถีชีวิตของคู่สมรส  และกลุ่มปัจจัยที่เป็นผลจากการปฏิสัมพันธ์ระหว่างคู่สมรส  ฉันทนา วุฒิไกรจำรัส (2544: 6-10) มีรายละเอียดดังต่อไปนี้

1) ปัจจัยด้านความพึงพอใจในชีวิตของคู่สมรส  ปัจจัยด้านความพึงพอใจในวิถีชีวิตของคู่สมรสที่มีผลต่อคุณภาพชีวิตสมรส ได้แก่ สถานภาพทางเศรษฐกิจ  การทำงานนอกบ้านของภรรยา  ลักษณะโครงสร้างของครอบครัวและการที่บุคคลอื่น ๆ อาศัยอยู่ด้วยกัน และอิทธิพลของสังคมรอบตัว ดังนี้

- สถานภาพทางเศรษฐกิจ  สถานภาพทางเศรษฐกิจของคู่สมรสส่วนใหญ่จะหมายถึง รายได้ของครอบครัว  ซึ่งน่าจะเป็นรายได้รวมของทั้งสามีและภรรยา  และเป็นรายได้ที่นำมาใช้จ่ายเพื่อทำให้ครอบครัวมีความสุข มีความมั่นคง การวัดรายได้ของคู่สมรสนี้อาจจะไม่ได้หมายถึงความมากน้อยของจำนวนเงินที่ได้รับ

- แบบอย่างจากบิดามารดาของคู่สมรส  แบบอย่างจากบิดามารดาของคู่สมรส  หมายถึง  การที่คู่สมรสได้สัมผัสกับคุณภาพชีวิตสมรสของบิดามารดา และมีความประทับใจในบทบาทของพ่อและแม่ที่ตนได้เห็นมา บทบาทที่ฝ่ายชายควรได้เห็น คือ การที่พ่อของตนมีความรับผิดชอบต่อครอบครัว  เป็นผู้นำหรือฝ่ายหญิงจะได้เห็นคือ ความรับผิดชอบในการดูแลครอบครัว  เข้มแข็ง  เป็นกำลังใจให้แก่หัวหน้าครอบครัว  ได้เห็นความรักใคร่ ผูกพัน  อดทน  ประนีประนอมกันระหว่างการใช้ชีวิตร่วมกัน ได้เห็นการร่วมมือกันแก้ไขปัญหาของครอบครัว ฯลฯ  การที่ทั้งชายหญิงได้เห็นบทบาทที่เหมาะที่พ่อแม่ของตนกระทำต่อหน้าที่ในครอบครัวทั้งคู่ย่อมจะยึดมาเป็นแบบอย่าง  ทั้งในการคัดเลือกคนที่เหมาะสมมาเป็นคู่ชีวิตและการที่ตนจะได้ทำบทบาทหน้าที่นั้นๆ เมื่อถึงเวลาที่ตนมีชีวิตสมรสด้วย

- การสนับสนุนจากบุคคลนัยสำคัญ  การสนับสนุนจากบุคคลนัยสำคัญ  หมายถึง  การที่คู่สมรสได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนจากพ่อแม่แต่ละฝ่ายรวมไปถึงเครือญาติ  หรือแม้แต่เพื่อนฝูง คนใกล้ชิดอื่น ๆการที่บุคคลจะตัดสินใจเลือกใครสักคนมาเป็นคู่ครอง  หากมีเสียงคัดค้านจากคนรอบข้าง  หรือส่วนใหญ่แสดงความไม่เห็นด้วย  บุคคลนั้นย่อมเกิดความไม่แน่ใจ ไม่อบอุ่นใจ หากตัดสินใจเลือกคนดังกล่าวเป็นคู่ครองแล้ว พบว่าจะมีปัญหาภายหลัง  อาจจะทำให้เกิดการโทษตนเองที่ไม่ฟังความคิดเห็นจากครอบครัว  หรือแม้แต่คู่สมรสที่สามารถคู่ครองคู่อยู่กันไปได้แต่กลับห่างเหิน หรือยังแสดงการไม่ยอมรับ  ส่งผลให้คู่สมรสอาจเกิดความเครียด นำมาสู่ปัญหาการปรับตัวตามมาได้เช่นกัน 

- การทำงานนอกบ้านของภรรยา  ในอดีตผู้หญิงส่วนใหญ่ไม่นิยมหรือไม่มีความจำเป็นต้องทำงานนอกบ้าน  ภาระในการหารายได้เพื่อนำมาเลี้ยงครอบครัวเป็นหน้าที่ของสามี  ความคิดความเชื่อว่าผู้ชายเป็นผู้ทำงานนอกบ้านนี้มีมานาน  แม้ในปัจจุบันการที่ผู้หญิงออกไปทำงานนอกบ้านนับเป็นเรื่องปกติ อันเนื่องมาจากผู้หญิงมีการพัฒนาศักยภาพของตนเองมากขึ้น จนเป็นที่ยอมรับของสังคมทั่วไปแม้กระทั่งสามีก็ต้องยอมรับความจริงข้อนี้  แต่การที่ผู้หญิงต้องออกไปทำงานนอกบ้าน  มีผลกระทบมาถึงครอบครัวบางประการ  เพราะอย่างไรก็ตาม  ผู้หญิงก็ยังถูกคาดหวังว่าจะต้องทำหน้าที่ดูแลบ้านเลี้ยงดูลูก  ดูความเรียบร้อยในบ้านรวมไปถึงอาหารการกินด้วย  เช่น เมื่อผู้หญิงต้องออกไปทำงานนอกบ้านภาระในบ้านย่อมถูกกระทบกระเทือนไม่มากก็น้อย  เช่น  บ้านและลูกอาจถูกปล่อยปละละเลยไปบ้าง  โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องทำงานเหน็ดเหนื่อยเป็นสองเท่า  ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดความเครียด เกิดการกระทบกระทั่ง ขัดแย้งกับคู่สมรสได้

- โครงสร้างครอบครัว  ลักษณะโครงสร้างครอบครัว  หมายถึง  จำนวนที่อาศัยในครอบครัว  โดยเน้นเฉพาะที่เป็นผู้ใหญ่  ซึ่งส่วนใหญ่ควรจะเป็นบุคคลที่เป็นเครือญาติ  หรือญาติผู้ใหญ่  นักวิชาการด้านครอบครัวศึกษา  ได้เปรียบเทียบข้อดีและข้อเสีย ของครอบครัวที่ขนาดต่างกันได้ว่าครอบครัวขนาดเล็กหรือครอบครัวเดี่ยวที่ประกอบด้วยพ่อ แม่ ลูก มีข้อดี คือ สมาชิกในครอบครัวมีความใกล้ชิดกัน  สามีภรรยามีอิสระที่จะตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ ในครอบครัวเอง ฯลฯ แต่มีข้อเสีย คือ  มีความว้าเหว่ขาดความอบอุ่นเมื่อมีความขัดแย้งในครอบครัวหรือยามมีปัญหา  จะขาดญาติพี่น้องที่จะมาช่วยเหลือหรือไกล่เกลี่ย  ประนีประนอม ขณะที่ในครอบครัวที่มีญาติมาอาศัยอยู่ด้วยสามีภรรยา  จะขาดอิสระในการตัดสินใจ  หรือกระทั่งการแสดงออกซึ่งความรักใคร่ผูกพัน  แต่ในครอบครัวใหญ่  สามีภรรยาจะมีผู้ช่วยแบ่งเบาภาระบางอย่าง เช่น ดูแลบ้าน  เลี้ยงลูก  และเมื่อมีปัญหาความขัดแย้งกันอาจจะลดความรุนแรงได้ด้วยความเกรงใจผู้ใหญ่ในบ้าน

- อิทธิพลของสังคมรอบตัว  สังคมรอบตัวของคู่สมรส ได้แก่  ญาติ เพื่อน รวมไปถึงบุคคลที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ เช่น เพื่อนร่วมงาน เพื่อนบ้าน ฯลฯ  หากกลุ่มคนเหล่านี้ให้การยอมรับคู่สามีภรรยาเป็นอย่างดี  ยอมรับว่าเป็นคู่สมรสที่เหมาะสม  หรือยอมรับบุคคลทั้งคู่  ไม่รังเกียจฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง  ย่อมทำให้คู่สมรสมีความ   พึงพอใจในชีวิตสมรสได้  หรือการที่คู่สมรสได้มีโอกาสร่วมกิจกรรมในชุมชนมาก (หมายถึง  การที่ทั้งคู่ได้รับการยอมรับจากชุมชน) จะทำให้คู่สมรสมีความพึงพอใจในชีวิตสมรสได้เช่นกัน

2)  ปัจจัยที่เป็นผลจากการปฏิสัมพันธ์ระหว่างคู่สมรส

ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อคุณภาพชีวิตที่เป็นกลุ่มปัจจัยที่สำคัญที่สุด  น่าจะเป็นปฏิสัมพันธ์ระหว่างคู่สมรส  เนื่องจากชีวิตสมรส คือ การใช้ชีวิตคู่ของคนสองคน  ปฏิสัมพันธ์ในแง่บวกระหว่างทั้งสองมีมากเท่าใด ความมั่นคงในชีวิตสมรสก็มีมากเท่านั้น  ในทางกลับกันหากคู่สมรสมีปฏิสัมพันธ์กันไม่ดี  การอยู่ร่วมกันย่อมไม่ราบรื่น แม้มีปัจจัยแวดล้อมเหมาะสมหรือเอื้ออำนวยให้คู่สมรสได้อยู่ร่วมกันอย่างดีเพียงใดก็ตาม  สิ่งที่ตามมาอาจจะเป็นความจำยอมในการอยู่ด้วยกันหรือในที่สุดอาจจะถึงกับแยกทางกันเดินก็ได้

การปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันของคู่สมรสสามารถดูได้จากการแสดงออกหรือผลของการปฏิสัมพันธ์ในหลาย ๆ แง่มุม เช่น การยอมรับกันและกันในทุกๆ ด้าน (สรีระร่างกาย จิตใจ เพศสัมพันธ์ ความเชื่อ ค่านิยม ฯลฯ)  ความสนิทเสน่หาที่มีต่อกัน  การสื่อสารกันอย่างมีประสิทธิภาพ การมีบทบาทที่สอดคล้อง(ความสมานฉันท์ทางบทบาท)  และการมีความสัมพันธ์กันแบบเพื่อนคู่ชีวิตซึ่งรายละเอียดของปฏิสัมพันธ์เหล่านั้น มีดังนี้

- การยอมรับกันและกัน  เป็นสิ่งสำคัญเบื้องต้นของการที่คู่สมรสจะอยู่ด้วยกันได้  เพราะการสมรสย่อมหมายถึงการต้องใช้ชีวิตร่วมกันตลอดชีวิต  ต้องเห็นหน้ากันทุกวัน ต้องมีกิจกรรมร่วมกัน ต้องปรึกษาหารือกัน แก้ปัญหาร่วมกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การยอมรับกันในแง่มุมทำให้ทั้งคู่อยู่ด้วยกัน โดยไม่มีความขัดแย้งทางความคิดและอารมณ์ ไม่รำคาญกัน ไม่เบื่อกัน ไม่ดูถูกกัน  ไม่เกลียดกัน ลักษณะการยอมรับกันและกัน มีตัวชี้วัดต่าง ๆ เช่น การมองอีกฝ่ายหนึ่งในแง่ดี พอใจในคู่ชีวิตทั้งรูปร่างหน้าตา สติปัญหา ความคิดเห็นและจิตใจ ซึ่งจะทำให้ทั้งคู่สื่อสารกันได้อย่างราบรื่น  แม้การตอบสนองทางเพศสัมพันธ์ที่คู่สมรสมอบให้  ยอมรับในตัวตนรวมไปถึงค่านิยมต่าง ๆของอีกฝ่ายหนึ่ง เป็นต้น

- ความสนิทเสน่หาต่อกัน  ความสนิทเสน่หาต่อกันเป็นปัจจัยด้านอารมณ์ที่จะทำให้คู่สมรสรู้สึกผูกพันกันอย่างลึกซึ้ง  ซึ่งเป็นเรื่องของการแสดงออกซึ่งความรักใคร่  ความต้องการทางเพศและรสนิยมทางเพศที่สอดคล้องกัน มีความสุขในการมีเพศสัมพันธ์ร่วมกัน  รวมไปถึงการสนับสนุนส่งเสริมเป็นที่พึ่งทางใจ  มีความเสมอภาคกัน (ไม่มีการได้เปรียบเสียเปรียบหรือกดขี่ทางเพศ)  ขณะเดียวกันก็ไม่ละเมิดสิทธิส่วนตัวของกันและกัน  ให้เกียรติกัน เคียงข้างกันออกสังคม  ให้สังคมยอมรับและชื่อชมในการเคียงคู่กันของทั้งสอง ฯลฯ

- การสื่อสารกันอย่างมีประสิทธิภาพ หมายถึง  การที่คู่สมรสสื่อสารกันได้มีความเข้าใจกัน พูดคุยกันในเรื่องหลากหลาย  มีเวลาพูดคุยกัน และที่สำคัญคือ  เห็นความสำคัญของการพูดคุยกัน

-  การมีบทบาทที่สอดคล้องกัน  หรือความสมานฉันท์ทางบทบาท หมายถึง ความเห็นที่สอดคล้องกันระหว่างสามีภรรยาว่าใครควรจะมีบทบาทใด  ซึ่งครอบคลุมการแสดงออกต่าง ๆ เช่น การสามารถตอบสนองความต้องการของอีกฝ่ายได้อย่างสมบูรณ์ที่สุด การทำหน้าที่ตามควรแห่งบทบาทของตน (การเป็นสามี  ภรรยา เป็นหัวหน้าครอบครัวดูแลรักษาบ้านทรัพย์สินฯลฯ) ได้อย่างดี  และทำบทบาทได้ใกล้เคียงกับบทบาทที่คาดหวังให้ได้มากที่สุด  แบ่งบทบาทกันทำอย่างยุติธรรม (ร่วมกันรับผิดชอบด้านเศรษฐกิจ  การทำงานบ้าน  การเลี้ยงลูก เป็นผู้เลี้ยงดูลูก อบรมสั่งสอน  แม้แต่การลงโทษลูก ฯลฯ)  การมีบุคลิกภาพที่คล้ายคลึงกัน มีการปรองดองกันสูง ฯลฯ

- การมีความสัมพันธ์กันแบบเพื่อนคู่ชีวิต  หมายถึง การที่คู่สมรสมีการพึ่งพาอาศัยกันและกันในแง่ของอารมณ์และความคิด  มีการทำกิจกรรมร่วมกัน  มีการไปไหนมาไหนด้วยกันและร่วมกันแก้ปัญหาของครอบครัว อาจรวมถึงมีการวัดความเป็นเพื่อนคู่ชีวิตครอบคลุมการวัดกิจกรรมที่ทำเป็นประจำ เช่น การพูดคุยกัน  การเข้าใจในกันและกัน  การไปเยี่ยมเพื่อนฝูงด้วยกัน หรือไปพักผ่อนด้วยกัน เป็นต้น

ดังนั้นในแนวคิดทางการศึกษาคู่สมรสไทยจึงน่ารวมไปถึงการมีความสอดคล้องในแง่การนับถือศาสนา การปฏิบัติตนตามแนวทางศาสนาร่วมกัน เช่น ทำความดี  ละเว้นความชั่ว  ยึดหลักฆราวาสธรรม รวมไปจนถึงการทำบุญไปวัด ฯลฯ ด้วยกัน

8. ผลงานวิจัยภายในประเทศ[top]

ในการศึกษาเรื่อง โครงการสำรวจความเสี่ยงของครอบครัวไทย  คณะผู้วิจัยได้มีการศึกษาผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่ศึกษาดังกล่าว  ดังต่อไปนี้

โสภา  ชปิลมันน์ และคณะ (2534:4/28-30)  ได้ศึกษาเกี่ยวกับรูปแบบครอบครัวไทยที่พึงปรารถนาในสังคมเมืองในประเทศไทย  โดยสอบถามเรื่องทัศนคติจากกลุ่มตัวอย่างถึงลักษณะคู่สมรสที่คิดว่าจำเป็นต้องมี พบว่า ร้อยละ 69.2 เห็นว่าต้องเข้ากับพ่อแม่พี่น้องได้ ร้อยละ 59.7  เห็นว่าต้องมีอาชีพที่แน่นอน  ร้อยละ 54.6 เห็นว่าต้องช่วยรับภาระครอบครัวได้ ร้อยละ 53.8 เห็นว่า ต้องมีสุขภาพสมบูรณ์  ร้อยละ 27.1 และ 21.3 เห็นว่าต้องมีอายุที่ไล่เลี่ยกัน และต้องมีบ้านอยู่อาศัยของตนเอง เป็นลำดับ

สำหรับความคิดเห็นของกลุ่มตัวอย่างในเรื่องปัจจัยที่มีผลต่อความมั่นคงในครอบครัว พบว่าร้อยละ 81.7 เห็นว่าเป็นความเข้าใจกันระหว่างสามีและภรรยา ร้อยละ 70.4 เห็นว่าเงิน ร้อยละ 61.8 เห็นว่าบ้านและที่ดิน ร้อยละ 6.09 เห็นว่าความรักของพ่อแม่และลูก ร้อยละ 49.6 และ 24.9 เห็นว่าตำแหน่งหน้าที่การงาน และการช่วยเหลือดูแลของญาติตามลำดับ  นอกจากนี้เมื่อสอบถามถึงลักษณะครอบครัวของคู่สมรสที่ประสบความสำเร็จ พบว่าร้อยละ 85.2 เห็นว่าครอบครัวควรจะแยกเป็นครอบครัวเดี่ยว ส่วนร้อยละ 10.7 และ 4.1 เห็นว่าอยู่กับพ่อแม่ และอยู่กับพ่อแม่และญาติ ตามลำดับ

สุมิตรา  รัฐประสาท (2527:96-97) ได้ศึกษาปัจจัยที่สัมพันธ์กับความมั่นคงในชีวิตสมรสของครูสังกัดกรมสามัญศึกษา ในกรุงเทพมหานคร โดยศึกษาปัจจัยที่เกี่ยวข้องด้านประชากร ด้านสังคมเศรษฐกิจและปัจจัยด้านจิตวิทยา พบว่า ครูมีความมั่นคงในชีวิตสมรส  ทั้งด้านความรู้สึก และพฤติกรรมอยู่ในระดับสูง ซึ่งปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับความมั่นคงในชีวิตสมรสมากที่สุด คือ ความเป็นเพื่อนคู่ชีวิต   มีความสัมพันธ์ทางบวกกับความมั่นคงในชีวิตสมรส และปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับความมั่นคงในชีวิตสมรส รองลงมา คือ การสนับสนุนทางสังคมจากครอบครัวเดิม ส่วนปัจจัยอื่น ๆ ได้แก่ เพศ จำนวนบุตร อายุของบุตรคนสุดท้อง ความคล้ายคลึงของภูมิหลังทางสังคมด้านการศึกษาและอาชีพ การพึ่งตนเองได้เชิงเศรษฐกิจของภรรยา ภาระหนี้สินของครอบครัว  ความแตกต่างด้านอายุของคู่สมรสและความพึงพอใจในด้านเพศสัมพันธ์  ไม่มีความสัมพันธ์กับความมั่นคงในชีวิตสมรส

วรรณาภรณ์  โภคภิรมย์ (2545: บทคัดย่อ) ศึกษาการดำรงชีวิตสมรสที่ยั่งยืน  ในทัศนะของผู้ที่เคยแต่งงานแล้วพบว่า ทัศนะต่อการดำรงชีวิตสมรสของผู้ให้ข้อมูลที่สำคัญ พบว่าในการดำรงชีวิตสมรสนั้น  คู่สมรสต้องมีความเอื้ออาทรห่วงใยกัน  คอยดูแลทุกข์สุขซึ่งกันและกัน มีความรักความเข้าใจกัน  มีความซื่อสัตย์ต่อกัน เชื่อใจกัน  มีความอดทน มีความรับผิดชอบ รู้จักบทบาทหน้าที่ของตน โดยผู้ให้ข้อมูลที่สำคัญมีทัศนะว่า ถ้าคู่สมรสทุกคู่มีหลักเช่นนี้แล้ว ชีวิตคู่ก็จะดำรงอยู่อย่างราบรื่น  พฤติกรรมการดำรงชีวิตสมรสให้ยั่งยืน  พบว่าผู้ให้ข้อมูลที่สำคัญส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับพฤติกรรมการปรับตัวเข้าหากันโดยมีการประนีประนอมกัน  และรองลงมาคือการแสดงออกซึ่งความคิด  ควรมีเหตุผลในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆใช้สติและต้องมีการแสดงออกซึ่งความรัก ความห่วงใยกัน  คอยถามไถ่ทุกข์สุขกัน และต้องมีการทำกิจกรรมร่วมกัน แนวทางส่งเสริมให้ครอบครัวเข้มแข็งนั้น คู่สมรสจะต้องมีพื้นฐานความรักความเข้าใจที่ดีต่อกัน เพราะเมื่อมีความรักความเข้าใจต่อกันแล้ว  ปัญหาต่าง ๆที่เกิดขึ้นในครอบครัวก็จะเป็นเรื่องไม่สำคัญและเห็นว่าความซื่อสัตย์ความจงรักภักดีต่อกันก็เป็นแนวทางสำคัญที่ทำให้ครอบครัวเข้มแข็ง

กลุ่มงานวิเคราะห์และพยากรณ์สถิติเชิงสังคม สำนักสถิติพยากรณ์ (2549: 2-3) สำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้จัดทำบทความสรุปสถานการณ์การสูบบุหรี่ของประเทศไทย เป็นการต่อเนื่องจากวันงดสูบบุหรี่โลก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอให้เห็นถึงแนวโน้ม สถานการณ์ ลักษณะของผู้สูบบุหรี่ และพฤติกรรมการสูบบุหรี่ของประชากรไทย ผลสรุปที่สำคัญดังนี้

แนวโน้มของประชากรที่สูบบุหรี่  ตั้งแต่ปี 2519 – 2547 แสดงให้เห็นอัตราการสูบบุหรี่ของประชากรไทยมีแนวโน้มลดลง โดยปี 2519 มีผู้สูบบุหรี่ประมาณร้อยละ 30.1 และได้ลงลงเหลือ ร้อยละ 17.9 ในปี 2547 อัตราการสูบบุหรี่ลดลงทั้งชายและหญิง

ลักษณะของผู้ที่สูบบุหรี่และพฤติกรรมการสูบบุหรี่ พบว่า ประชากรอายุ 15 ปี ขึ้นไปที่สูบบุหรี่ มีจำนวน 11.4 ล้านคน หรือร้อยละ 23.0 ในจำนวนนี้  มีผู้ที่สูบบุหรี่เป็นประจำหรือสูบทุกวัน 9.6 ล้านคนหรือร้อยละ 19.5 และสูบนาน ๆ ครั้ง(สูบไม่สม่ำเสมอหรือกำหนดระยะเวลาที่แน่นอนไม่ได้) 1.7 ล้านคน หรือร้อยละ 3.5  นอกจากนี้ ประชากรในวัยทำงานอายุ 25 – 59 ปี  สูบบุหรี่เป็นประจำสูงที่สุด คือ สูบบุหรี่ร้อยละ 22.8 ของประชากรในวัยเดียวกัน รองลงมา คือ ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป สูบร้อยละ 17.7 และเยาวชนอายุ 15 -24 ปี  สูบร้อยละ 11.2 อัตราการสูบบุหรี่เป็นประจำในปี 2547  ลดลงจากปี 2544 ทุกกลุ่มอายุ  โดยกลุ่มเยาวชนมีอัตราร้อยละของการสูบบุหรี่เป็นประจำลงลงน้อยกว่ากลุ่มอายุอื่นๆ

พฤติกรรมการสูบบุหรี่ขณะอยู่ในบ้านกับสมาชิกในครัวเรือน  ร้อยละ 87.9 ของผู้ที่สูบบุหรี่เป็นประจำ  จะสูบบุหรี่ขณะอยู่ในบ้านกับสมาชิกในครัวเรือน อัตราร้อยละนี้เปลี่ยนแปลงลงลงจากปี 2544  เล็กน้อย (ปี 2544  มีอัตราร้อยละ 88.5)

โดยสรุป  จากข้อมูลการสำรวจพฤติกรรมการสูบบุหรี่ของประชากร จะเห็นว่า พฤติกรรมการสูบบุหรี่ของประชากรไทยมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างช้า ๆ ในทางที่ดีขึ้น ทั้งนี้ เป็นผลมาจากความร่วมมือของทุกฝ่ายทั้งภาครัฐและเอกชน  ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมารัฐบาลได้ออกกฎหมายควบคุมการบริโภคยาสูบและมาตรการที่สำคัญ ๆ หลายเรื่อง และที่สำคัญยิ่ง คือ จากกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงห่วงใยเยาวชนไทยเกี่ยวกับปัญหาของบุหรี่ ทำให้หน่วยงานต่าง ๆ ได้เพิ่มการรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ อย่างไรก็ตาม  การรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ควรจะมีการดำเนินอย่างต่อเนื่องและมีการสร้างแบบอย่างที่ดีในสังคมผู้ใหญ่ควรเป็นตัวอย่างที่ดีแก่เด็กและเยาวชน  ส่งเสริมให้มีการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติและกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัดด้วยมาตรการเหล่านี้ ก็น่าจะทำให้สังคมไทยเป็นสังคมที่ปลอดบุหรี่และมีความน่าอยู่มากยิ่งขึ้น

สำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (2549: 1-3)   ได้จัดทำ บทความพฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพของประชากรไทย มีวัตถุประสงค์ที่สำคัญ คือ เพื่อให้คนไทยทุกคนตระหนักถึงความสำคัญของพฤติกรรมเสี่ยงที่มีต่อสุขภาพเพื่อจะได้ดำเนินชีวิตด้วยความไม่ประมาท ข้อมูลที่นำมาใช้ได้มาจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงแรงงาน โดยได้นำเสนอพฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพที่สำคัญ ดังนี้

การสูบบุหรี่ จากผลการสำรวจเกี่ยวกับพฤติกรรมการสูบบุหรี่ของสำนักงานสถิติแห่งชาติครั้งล่าสุดในปี 2549  พบว่า อัตราการสูบบุหรี่ของประชากรมีแนวโน้มลดลงในช่วงระหว่าง ปี 2544 – 2549 โดยในปี 2547 ร้อยละ 19.5 และร้อยละ 18.9  ในปี 2549  สำหรับอายุเฉลี่ยเมื่อเริ่มสูบบุหรี่โดยรวมของปี 2549 เป็นประมาณ 19 ปี ชายเริ่มสูบบุหรี่เร็วกว่าหญิง โดยชายเริ่มสูบเมื่ออายุ ประมาณ 18 ปี  และหญิงเริ่มสูบเมื่ออายุ ประมาณ 23 ปี

การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์  ร้อยละของประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป ที่ดื่มสุราเป็นร้อยละ 31.6  ลดลงเล็กน้อยจากปี 2547  ชายดื่มสุรามากกว่าหญิง คือ ชายร้อยละ 54.6 และหญิงร้อยละ 10.0 ซึ่งพบว่าในกลุ่มอายุ 25 -59 ปี มีผู้ดื่มสุรามากที่สุดคิดเป็นร้อยละ 36.8

          จะเห็นว่า พฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพของประชากรไทย  มีผลอย่างมากต่อความเสี่ยงปัญหาครอบครัวไทย เพราะกลุ่มคนเหล่านี้ เป็นส่วนหนึ่งของสมาชิกครอบครัว จึงทำให้การศึกษาในพฤติกรรมเสี่ยงดังกล่าว ถือเป็นเรื่องที่ควรให้ความสำคัญ เนื่องจากมีผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของสมาชิกอื่น ๆ ในครอบครัว อันอาจนำไปสู่ความขัดแย้งและความรุนแรงได้  นอกจากนั้นยังอาจมีผลต่อการเลียนแบบของบุตรหลาน และก่อให้เกิดผลกระทบต่อความเพียงพอและการได้ออมรายได้ของครอบครัวอีกด้วย

อ้วน  เจียรบุตร (2543:บทคัดย่อ) ศึกษาคุณภาพชีวิตด้านครอบครัวและชุมชนของประชาชนไทยพุทธ ในชุมชนชนบท: ศึกษาเฉพาะกรณี บ้านพรุ ตำบลลำพะยา อำเภอเมือง จังหวัดยะลา พบว่าประเด็นด้านคุณภาพครอบครัว  ภาพรวมอยู่ในระดับสูง  และหากแยกรายตัวชี้วัด พบว่า ตัวชี้วัดอยู่ในระดับสูง มี 3 ตัว คือ 1) ความสัมพันธ์ในครอบครัว 2)  การดำรงชีวิตในครอบครัว 3) การมีส่วนตัดสินใจในกิจกรรมของครอบครัว  ตัวชี้วัดที่อยู่ในระดับค่อนข้างสูง มี 3 ตัว 1) ความพร้อมในการสร้างครอบครัว 2) สภาพครอบครัวและ 3) การแสดงบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบของสมาชิก  และตัวชี้วัดที่อยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ มี 1 ตัวชี้วัด คือ การรับรู้ข่าวสารของครอบครัว

วริษา  โทณะวณิก (2545: บทคัดย่อ)  ได้ศึกษาเรื่องความมั่นคงในครอบครัวของนักศึกษาสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ พบว่า  นักศึกษามีความมั่นคงในครอบครัวระดับสูง  ปัจจัยด้านครอบครัวของนักศึกษาที่มีผลต่อความมั่นคงในครอบครัว ได้แก่ ความสัมพันธ์ของสมาชิกในครอบครัว และการใช้เวลาในครอบครัว

ฉันทนา วุฒิไกรจำรัส (2543:บทคัดย่อ)  ได้ทำการวิจัยเรื่อง การศึกษาปัจจัยก่อนการสมรส  ปัจจัยการเลือกคู่ครอง  และทัศนคติต่อการสมรสระหว่างแรงงานที่จดทะเบียนสมรสและไม่จดทะเบียนสมรส :ศึกษากรณีแรงงานในนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง  จังหวัดชลบุรี  ผลการศึกษาพบว่า  กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นหญิงซึ่งมีแบบแผนการสมรสแบบไม่จดทะเบียนสมรส ปัจจัยก่อนการสมรส กลุ่มที่ไม่จดทะเบียนสมรสมีอายุแรกสมรสต่ำกว่า และใช้ระยะเวลาคบคุ้นกับเพื่อนต่างเพศไม่นาน  ขณะที่กลุ่มที่มีแบบแผนการสมรสแบบจดทะเบียนสมรส  มีอายุแรกสมรสสูงกว่า และใช้ระยะเวลาคบคุ้นเคยนานกว่า  ด้านการสนับสนุนจากบุคคลนัยสำคัญ กลุ่มจดทะเบียนสมรสได้รับการสนับสนุนจากพ่อแม่มากกว่า แต่กลุ่มไม่ได้จดทะเบียนสมรสพ่อแม่มักจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับการสมรส ปล่อยให้ตัดสินใจเอง  การเลือกคู่ครอง  กลุ่มที่จดทะเบียนสมรสเลือกคู่ครองจากความคล้ายคลึงกันทางทัศนคติ รองลงมา  คือ ความคล้ายคลึงกันทางสังคม ส่วนกลุ่มที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสเลือกคู่ครองจากความคล้ายคลึงกันทางกายภาพ  ด้านเกณฑ์การเลือกคู่ครอง กลุ่มจดทะเบียนสมรสจะเลือกเกณฑ์ในการมีความรัก ความเข้าใจซึ่งกันและกัน ส่วนกลุ่มที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสใช้เกณฑ์ความประพฤติดีและนิสัยดี  ในการเลือกคู่ครอง

          วีระศักดิ์ มโนวรรณ์ (2547:บทคัดย่อ)  จากการศึกษาคุณภาพชีวิตของประชาชนตอนกลางลุ่มแม่น้ำอิง ด้านความมั่นคงในการดำเนินชีวิตในครอบครัวและชุมชน : กรณีศึกษา อำเภอขุนตาล จังหวัดเชียงราย พบว่า  คุณภาพชีวิตด้านความมั่นคงในการดำเนินชีวิตครอบครัวภาพรวมอยู่ในระดับสูง  ตัวชี้วัดคุณภาพชีวิตที่มีระดับค่าเฉลี่ยสูง คือ สภาพบ้านที่อยู่อาศัย  ส่วนตัวชี้วัดคุณภาพชีวิตที่มีระดับค่าเฉลี่ยต่ำ คือ สถานะการเงินของครอบครัว เพราะมีรายจ่ายมากกว่ารายรับ  ส่วนคุณภาพชีวิตด้านความมั่นคงในการดำเนินชีวิตในชุมชน  ภาพรวมอยู่ในระดับสูง ตัวชี้วัดคุณภาพชีวิตที่มีระดับค่าเฉลี่ยสูง คือ  ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน  ตัวชี้วัดคุณภาพชีวิตที่ระดับค่าเฉลี่ยต่ำ คือ การรับรู้ข้อมูล ข่าวสารด้านสิ่งแวดล้อม

          สุรีรัตน์ จุลานุพันธ์ (2549:บทคัดย่อ) จากการศึกษาความคาดหวังเกี่ยวกับรูปแบบครอบครัวที่พึงปรารถนา กรณีศึกษา สถานสงเคราะห์เด็กหญิงบ้านราชวิถีและสถานสงเคราะห์เด็กชายบ้านมหาเมฆ  พบว่า  สภาพปัญหาครอบครัว เป็นลักษณะที่บิดามารดาไม่พร้อมต่อการมีบุตร  สังเกตได้จากสาเหตุอันดับหนึ่งที่ผู้ให้ข้อมูลที่สำคัญมาอยู่ที่สถานสงเคราะห์  นอกจากนี้ยังมีปัญหาอื่นๆ เช่น ปัญหาการหย่าร้าง  ปัญหาที่เกิดจากบิดามารดามีสามีหรือภรรยาใหม่  ปัญหาการถูกทารุณกรรมทางเพศ  ปัญหาที่เกิดจากบิดามารดาติดคุกหรือติดยา  ปัญหาเกิดจากบิดามารดาเสียชีวิตและปัญหาที่เกิดจากครอบครัวฐานะยากจน  ส่วนรูปแบบครอบครัวที่พึงปรารถนา ของผู้ให้ข้อมูลที่สำคัญพบว่า  ต้องการรูปแบบที่บิดามารดาและบุตรอยู่พร้อมหน้าพร้อมตาอย่างอบอุ่น  นอกจากนั้นยังต้องการรูปแบบครอบครัวที่มีความรักความผูกพันและรูปแบบครอบครัวที่ทุกคนในครอบครัวต่างใช้เหตุผลเป็นหลัก ไม่ใช้อารมณ์และความรุนแรง

          เพ็ญจันทร์ ประดับมุข (2550)  ได้ทำการวิจัยเรื่อง ความรุนแรงในครอบครัว โดยได้รับการสนับสนุนจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) พบว่า ในอดีตสังคมไทยมีอุดมคติว่า สถาบันครอบครัวเป็นสถาบันที่ปลอดภัย สงบสุข  แต่ปัจจุบันพบว่าสังคมไทยมีแนวโน้มของความรุนแรง การบาดเจ็บ และเสียชีวิต จากการทำร้ายกันเพิ่มมากขึ้น โดยข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ กรมตำรวจ กระทรวงสาธารณสุข ได้ระบุตรงกันว่า ปัจจุบันเด็กหลายคนถูกพ่อแม่ทอดทิ้ง และเด็กถูกทำร้ายจากในบ้านมากกว่านอกบ้าน ทั้งจากผู้เป็นพ่อแม่ คนรู้จัก หรือสามีภรรยาที่อยู่ร่วมกัน  นอกจากนี้ กรณีที่สามีตบตีภรรยาว่าเป็นการทำทารุณกรรมในรูปแบบที่สามัญที่สุดในครอบครัว และพบเห็นได้มากที่สุด ซึ่งความรุนแรง อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ถูกกระทำโดยตรง ทั้งการบาดเจ็บทางร่างกาย จิตใจ จนบางรายอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ และอาจจะส่งผลระยะยาวต่อสุขภาพกาย สุขภาพจิต และการปรับตัว รวมทั้งค่าใช้จ่ายด้านการรักษาในอนาคต

          นอกจากนี้ ผลการศึกษายังพบว่า  ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวประกอบด้วยหลายปัจจัย ดังนี้ 1) ระดับบุคคล เกิดจากความเจ็บป่วยทางจิตของผู้ลงมือกระทำ  การใช้สารเสพติด  การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 2) สังคมจิตวิทยา เกิดจากโครงสร้างครอบครัวที่เปลี่ยนเป็นครอบครัวเดี่ยวเพิ่มมากขึ้น  เด็กขาดการดูแลเอาใจใส่ อบรมพฤติกรรมที่ถูกต้อง ส่งผลให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบเมื่อโตขึ้น  หรืออาจเกิดจากความเครียดเรื่องความยากจน ครอบครัวล้มเหลว และ 3) สังคมวัฒนธรรม เนื่องจากโครงสร้างทางสังคมที่เอื้อต่อการเกิดความรุนแรง ความไม่เป็นธรรมของโครงสร้างทางสังคมที่ยึดถือกัน ตั้งแต่ในอดีตว่าผู้ชายเป็นใหญ่  กลายเป็นวัฒนธรรมที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้  ทั้งนี้เพราะสังคมไทยเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วจากสังคมเกษตรกรรม มาเป็นอุตสาหกรรมและกลายเป็นสังคมยุคเทคโนโลยี  ซึ่งส่งผลกระทบต่อโครงสร้างครอบครัว  เช่น การอพยพของแรงงานเข้าสู่เขตเมืองมากขึ้น  สมาชิกในครอบครัวมีเวลาในแก่กันน้อยลง  อัตราการหย่าร้างมากขึ้น  ปัญหาเรื่องโรคระบาดและยาเสพติดเพิ่มมากขึ้น  เป็นต้น  ซึ่งปัจจัยเหล่านี้มีผลกระทบต่อการพัฒนาเด็กและเยาวชน  สำหรับแนวทางการแก้ไข คือ การแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง  และวัฒนธรรม สังคมต้องตระหนักและเห็นความสำคัญ โดยไม่คิดว่าเป็นปัญหาเฉพาะสมาชิกในครอบครัวเท่านั้น ซึ่งจะช่วยลดปัญหาความรุนแรงในครอบครัวไทยได้ในการเฝ้าระวังความรุนแรงที่เกิดขึ้นได้ เพราะที่ผ่านมาสังคมไทยมองว่า เรื่องความรุนแรงในครอบครัวเป็นเรื่องส่วนตัวจึงไม่มีบุคคลภายนอกเข้าไปช่วยเหลือได้

            บุญเสริม หุตะแพทย์ (มปป.)  ศึกษาลักษณะการให้บริการของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องกับปัญหาความรุนแรงในครอบครัว  พบว่า  การจัดบริการที่หน่วยงานภาครัฐและเอกชนส่วนใหญ่เน้นการแก้ไขปัญหามากกว่าการป้องกัน   ประเภทและลักษณะของการบริการที่จัดให้มากที่สุด คือการให้คำปรึกษา การบริการด้านกฎหมาย   ด้านอาชีพ   ด้านสุขภาพ   ด้านการเงิน  และยังมีการบริการอื่น ๆ ได้แก่   การบริการที่พัก   เครื่องอุปโภคบริโภค  และกิจกรรมนันทนาการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ มีการประสานงานกันตามภาระหน้าที่หลักในด้านการคุ้มครอง การฝึกอาชีพ  การบำบัดฟื้นฟู  และด้านกฎหมาย มีการติดตามผลผู้รับบริการทั้งที่ยังพักอยู่ในสถานที่ที่หน่วยงานจัดให้ และผู้ที่กลับคืนสู่ครอบครัวแล้ว การบริการของหน่วยงานสามารถแก้ไขปัญหาได้บางส่วน แต่ยังไม่สามารถแก้ไขสาเหตุของปัญหาได้  ขาดกฎหมายที่จะเอาผิดกับพ่อแม่ที่กระทำความรุนแรงต่อลูก และการป้องกันการถูกกระทำซ้ำ

(ที่มา:http://www.women-family.go.th/women2/bibliology)

            นิลาวรรณ ฉันทะปรีดา และคณะ (2545) ศึกษาความรุนแรงระหว่างพี่น้องในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  พบว่า  ความรุนแรงระหว่างพี่น้องมีทั้งความรุนแรงทางด้านร่างกาย ด้านอารมณ์/จิตใจ  และด้านเพศ พฤติกรรมความรุนแรงแต่ละด้านส่วนใหญ่ ได้แก่  ตี  หรือตบ ด่าทอหรือแกล้งให้โกรธและอาย และเปิดเผยร่างกายหรือถอดเสื้อผ้า  ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ความรุนแรง ได้แก่  ความเสี่ยงส่วนบุคคลและครอบครัว การศึกษา  ชนิดของครอบครัว  อายุของผู้ถูกกระทำ จำนวนพี่น้อง และจำนวนเด็กอื่นในครอบครัว โดยผู้ที่ถูกกระทำต่างกันจะมีการจัดการกับความรุนแรง และรับรู้การตอบสนองของพ่อแม่ และผลกระทบแตกต่างกัน   วิธีการจัดการของพ่อแม่  ส่วนใหญ่พยายามลดความรุนแรงด้วยคำพูด ส่วนผู้ถูกกระทำมักใช้วิธีการทำอารมณ์ให้ดีขึ้นโดยมีผลกระทบตามมาในปัจจุบันนี้ เช่น กลัวผู้กระทำ กลัวเรื่องเพศ นอนฝันร้าย อยากทำร้ายตนเอง ใช้สารเสพติด โกรธ และมีความห่างเหินระหว่างพี่น้อง

(ที่มา: http://www.women-family.go.th/women2/bibliology)

          สำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (2547) ได้จัดทำรายงานสถานการณ์ทางสังคม พบว่า แนวโน้มของสถานการณ์ครอบครัว เกิดจากอิทธิพลของกระแสโลกาภิวัตน์ และภาวะความทันสมัยที่เน้นปัจเจกบุคคลและค่านิยมในการบริโภคและวัตถุนิยมมากขึ้น  ส่งผลให้สังคมมีการแข่งขัน ประกอบกับความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี  อุตสาหกรรมและกระแสเศรษฐกิจของประเทศและโลก ส่งผลต่อค่าครองชีพและแบบแผนของครอบครัว  ผลกระทบดังกล่าวส่งผลให้ครอบครัวมีแนวโน้มประสบปัญหา ดังนี้

          1) โครงสร้างของครอบครัวทั้งในเมืองและในชนบทที่เป็นครอบครัวเดี่ยว จะมีแนวโน้มที่ขนาดของครอบครัวเล็กลง  และรูปแบบของครอบครัวจะมีหลากหลายมากขึ้นตามการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

          2)โครงสร้างของครอบครัวที่ประกอบด้วยบุคคลสองวัย  คือ ผู้สูงอายุและเด็กจะมีมากขึ้น โดยเฉพาะในชนบทเนื่องจาก การที่หนุ่มสาววัยแรงงานอพยพเข้าไปหางานทำในเมืองใหญ่ เมื่อมีครอบครัวและมีบุตร โดยไม่มีความพร้อม  ประกอบกับปัญหาค่าครองชีพสูงก็จะส่งลูกไปให้ปู่ย่าตายายช่วยเลี้ยงดู จึงทำให้ครอบครัวในชนบทมีโครงสร้างเพียงบุคคลสองวัย คือ วัยสูงอายุและเด็กมากขึ้น

          3) ผู้สูงอายุในชนทบที่เคยมีบทบาทในการถ่ายทอดคุณธรรมและวัฒนธรรมให้แก่ลูกหลาย และเป็นวัยที่ควรจะได้รับการดูแล  เอาใจใส่ลูกหลาน จะถูกปรับเปลี่ยนบทบาทและรับภาระมากขึ้นในการทำหน้าที่แทนพ่อแม่เด็ก โดยจะต้องรับภาระในการเลี้ยงดูเด็กทั้งทางกายภาพและจิตใจ โดยเฉพาะหนุ่มสาวที่อพยพมาจากชนบทและแสวงหางานทำในเมือง  เมี่อมีบุตรก็จะส่งลูกให้ปู่ย่า ตายาย ช่วยเลี้ยงดูแทน  สำหรับผู้ที่มีความรับผิดชอบก็จะมีการติดต่อ ส่งเสียเงินทองเป็นค่าเลี้ยงดู  ผู้สูงอายุจะไม่ต้องรับภาระในการหารายได้เพื่อเลี้ยงดูหลาน  แต่ในกรณีที่พ่อแม่เด็กไม่รับผิดชอบและห่างเหินการติดต่อ ก็จะทำให้ ผู้สูงอายุต้องรับภาระหนักขึ้นทั้งในการหารายได้เพื่อเลี้ยงดูครอบครัว  ในขณะเดียวกันก็ต้องให้การอบรม สั่งสอนเด็กด้วย  ซึ่งภาระดังกล่าว ส่งผลต่อภาวะสุขภาพของผู้สูงอายุทั้งสุขภาพร่างกายและจิตใจอีกด้วย

          4) ครอบครัวที่มีสามีและภรรยาอยู่ร่วมกัน โดยไม่มีการจดทะเบียนสมรสมีมากขึ้น เนื่องจากค่านิยมในการรักอิสระ และไม่ต้องการพึ่งพิงซึ่งกันและกัน

          5) ครอบครัวที่มีพ่อหรือแม่เลี้ยงลูกตามลำพังมีมากขึ้น เนื่องจากอัตราการหย่าร้างที่มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง การแยกกันอยู่ของครอบครัว และจากการเสียชีวิตของคู่สมรส โดยเฉพาะครอบครัวที่มีแม่เป็นหัวหน้าครอบครัวและเลี้ยงลูกตามลำพังจะมีแนวโน้มสูงขึ้น  การที่ครอบครัวมีผู้ปกครองที่เป็นพ่อหรือแม่คนเดียว ทำให้ต้องแบกความรับผิดชอบทั้งของตนเอง ครอบครัว และบุตรเพิ่มมากขึ้น ครอบครัวที่มีผู้ปกครองคนเดียวต้องรับภาระหนักด้านเศรษฐกิจ  ประสบปัญหาความเครียดและความว้าเหว่ ทำให้ไม่มีเวลาในการอบรมสั่งสอนและการช่วยเหลือลูกในด้านการเรียนอย่างเหมาะสม

          6) การเลี้ยงดูเด็กของครอบครัว  พ่อแม่จะมีระยะเวลาการเลี้ยงลูกและการอยู่กับลูกสั้นลง เนื่องจากปัญหาทางเศรษฐกิจและการให้ความสำคัญกับบทบาททางหน้าที่การงานมากกว่าครอบครัว เด็กเล็กจะถูกเลี้ยงดูในลักษณะ ดังนี้

                   (1) ปู่ย่า ตายายเลี้ยงดูแทน  สำหรับครอบครัวที่ฐานะทางเศรษฐกิจไม่มั่นคงและมีถิ่นฐานอยู่ในชนบท เมื่อคลอดบุตรและเลี้ยงดูได้ระยะหนึ่งก็จะส่งให้ปู่ย่า ตายายช่วยเลี้ยงดูแทน พ่อแม่จะอยู่กันตามลำพัง

                   (2) มีผู้ช่วยดูแลเด็กโดยการว่าจ้างบุคคลมาช่วยเลี้ยงดูที่บ้านแทน พ่อแม่จะออกไปทำงานนอกบ้าน  เด็กจะอยู่กันตามลำพังกับผู้ช่วยดูแล  ซึ่งเด็กจะต้องอยู่กับผู้ช่วยดูแลทั้งวัน หากบุคคลที่ได้มีคุณภาพจะทำให้เด็กมีการพัฒนาการที่ดี หรือหากมีผู้สูงอายุที่เป็นปู่ย่า ตายายอยู่ด้วยจะช่วยควบคุมการเลี้ยงดูได้ด้วย  ในทางกลับกันหากผู้ช่วยดูแลเด็กไม่มีคุณภาพและคุณธรรมก็จะมีผลต่อพัฒนาการและพฤติกรรมของเด็กต่อไป

                   (3) การจ้างสถานรับเลี้ยงเด็ก ซึ่งมีทั้งเช้าไป – เย็นกลับ  และรับกลับสัปดาห์ละครั้ง

          สำหรับเด็กที่ถูกเลี้ยงดูในลักษณะที่ (2) และ (3)  เมื่อเด็กมีอายุได้ 2 – 3 ปี จะถูกส่งเข้าสถานรับเลี้ยงเด็กก่อนวัยเรียนหรือโรงเรียนอนุบาล ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวจะมีผลต่อพัฒนาการของเด็กทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ

          7) เด็กกำพร้าพ่อหรือแม่หรือทั้งพ่อและแม่ อันเนื่องมาจากพ่อแม่เสียชีวิตจากการติดเชื้อเอดส์ มีจำนวนมากขึ้น (2547)

9. ผลงานวิจัยต่างประเทศ[top]

          Gaspar Pereira, Hilda Maria จากมหาวิทยาลัย Hokusei Gakuen University ได้ทำการศึกษาเรื่อง ความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวชาวญี่ปุ่น (Japanese Family Filial) พบว่า ความขัดแย้งภายในครอบครัวของชาวญี่ปุ่นนั้น ได้รับการพิจารณาว่าเป็นความรุนแรงในกลุ่มอันดับแรกๆ ประเภทของความรุนแรงภายในครอบครัวในประเทศญี่ปุ่นและเป็นหนึ่งในปัญหาหลักในสังคมญี่ปุ่นมาตั้งแต่ช่วงแรกของปี 1970 รูปแบบของความรุนแรงภายในครอบครัว จะเป็นลักษณะลูกต่อต้านพ่อแม่ ซึ่งปฏิกิริยาตอบกลับต่อความกดดันจากความเป็นพ่อแม่คือ การประสบความสำเร็จในการศึกษาของลูก  แม่เป็นตัวแทนที่ตกเป็นเหยื่อหลักผู้ที่ได้รับความทุกข์จากการกระทำที่สุด คือ ความรุนแรงจากลูกชาย  ระบบการศึกษาที่แข่งขันในประเทศญี่ปุ่นได้นำมาซึ่งตัวอย่างของการเป็นแม่ที่ทุ่มเทในเรื่องการศึกษาของลูก  สามารถกล่าวได้ว่า ประเด็นการศึกษาที่ผู้เป็นแม่สนับสนุนจะเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างเต็มที่ในการเตรียมตัวการสอบเข้าโรงเรียนของลูก ระหว่างแม่กับลูกชายหลังจากการเริ่มเข้าสู่วัยหนุ่มในสังคมญี่ปุ่น พ่อค่อนข้างที่จะไม่อยู่บ้าน แม่ก็จะต้องดูแลลูกชายอย่างเต็มตัว ทำให้แม่มีบทบาทที่สำคัญและรู้สึกถึงความกดดัน  แต่ก็มีส่วนที่เป็นประโยชน์หรือข้อดี คือ ความผูกพัน หรือสายสัมพันธ์ระหว่างแม่กับลูกชาย  การเติมเต็มของแม่คือ ความสำเร็จทางอ้อมโดยดูได้จากการประสบความสำเร็จของลูกชายและประโยชน์ของลูกที่ได้รับจากการสนับสนุนของผู้เป็นแม่   โดยในวิธีการศึกษาเรื่องนี้ จะเน้นการมองที่ประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่นและเบื้องหลังทางด้านวัฒนาธรรมภายใต้บทบาทของหญิงและชาย ซึ่งจะทำให้เข้าใจความขัดแย้งภายในครอบครัว  ซึ่งทำให้เป็นประโยชน์ในการสรุปผลการศึกษาถึงสถานการณ์ที่แสดง รูปแบบของอาชญากรรมหรือความรุนแรงภายในครอบครัวตั้งแต่ปี 1970 ซึ่งความรุนแรงภายในครอบครัวนั้น ได้เป็นปัญหายืดเยื้อของสังคมญี่ปุ่นมาจนถึงปัจจุบัน ตามรายงานของทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ  จำนวน 37 ราย ที่ได้พยายามฆ่าตัวเองและฆ่าพ่อแม่ในห้าปีหลัง มากถึงสิบรายในแต่ละปี ซึ่งผลของสถานการณ์ทำให้ปัญหาดังกล่าวกลายเป็นปัญหาที่สำคัญของสังคมญี่ปุ่น

          Lee, Romeo ได้ศึกษา เรื่อง “Support for Action Research on Males’ Perspectives on Gender and Family Violence” ในประเทศฟิลิปปินส์   พบว่ารายงานการวิจัย “ชายฟิลิปปินส์และความรุนแรงในระดับครอบครัว (MENDOV)” เกิดจากคำถามที่ว่า หาก ผู้ชายเป็นแหล่งที่มาของความรุนแรง ทำไมพวกเขาถึงไม่ถูกเข้าข่าย ความรุนแรงระดับครอบครัว  ซึ่งผลการศึกษานี้มีระยะเวลา 24 เดือน (สิงหาคม 1998 – กรกฎาคม 2000 ) ในเมือง Davao and เมือง Iloilo โดยการประสานงานกับองค์การระดับชุมชน แผนต้นแบบมีลักษณะเป็นงานที่สนับสนุนและรองรับงานวิจัย โดยครอบคลุมส่วนประกอบต่างๆในสังคมอย่างกว้างขวาง ส่วนประกอบในงานวิจัยร่วม 10 เดือน ในระยะทำงาน 2 ปี เป็นการทำความเข้าใจในบริบทของชายที่อยู่ในกลุ่มที่มีพฤติกรรมความรุนแรง ซึ่งพบว่า การรับรู้ ทัศนคติ ประสบการณ์ และความรู้สึก เป็นตัวแปรที่เกี่ยวข้องกับ การแต่งงาน, ชีวิตครอบครัว, ปมในจิตใจของแต่ละคน และโอกาสในการมีพฤติกรรมความรุนแรง  นอกจากนี้ได้มีการจัดทำ Workshop และ ติดตามผล เยี่ยมชมแหล่งชุมชนและสถานที่ทำงานในระยะเวลา 3 สัปดาห์  ผลของการจัดทำ Workshop พบว่า ทฤษฎีนิเวศวิทยาส่งผลถึงความรุนแรงของผู้ชาย นั้นเป็นบ่อเกิดของปัญหา ซึ่งอ้างอิงได้ว่า ระบบสังคมขนาดเล็กมีพลังและตัวแปรที่มีอิทธิพลอยู่เสมอในความรุนแรงระดับครอบครัว ระบบย่อยที่เป็นส่วนประกอบในระบบสังคมหลักที่ประกอบด้วย ครอบครัว,ศาสนา,การเมือง , เศรษฐกิจ,สาธารณสุข, กฎหมาย, สื่อหรือข่าวสาร และการศึกษา รวมทั้งระบบย่อยอื่นๆ ที่เป็นความจำเป็นส่วนบุคคล ในระดับของสังคมทั้งมีรูปแบบและไม่มีรูปแบบ โดยใช้systemic approach ในการทดสอบกับระบบย่อยทั้งหลาย และ แกนของผู้มีอำนาจในระบบสังคมที่จะเข้าใจในวิธีการขับเคลื่อนทางสังคมเพื่อการป้องกันความรุนแรงในครอบครัว

          โดยสรุป จะเห็นได้ว่า การศึกษาความเสี่ยงของครอบครัวไทย จำเป็นจะต้องศึกษาทั้งช่วงก่อนการมีครอบครัว และระหว่างการมีครอบครัว ได้แก่ ความพร้อมในด้านวุฒิภาวะ การวางแผนในการมีครอบครัว ความมั่นคงในอาชีพที่สามารถทำให้ชีวิตครอบครัวดำเนินไปได้อย่างราบรื่น และความสัมพันธ์ระหว่างที่ยังเป็นคู่รักกัน รวมทั้งการยอมรับของพ่อแม่ผู้ปกครอง ซึ่งมีผลต่อการครองชีวิตคู่ต่อไปด้วย  ถัดมาเป็นการดำรงชีวิตเมื่อมีครอบครัวแล้ว  อันได้แก่ การทำกิจกรรมต่างๆ ของสมาชิกในครอบครัว  ระดับความขัดแย้งและความรุนแรงในครอบครัว  การเลี้ยงดูอบรมบุตรหลาน รวมทั้งการทำตัวเป็นแบบอย่าง  และการปรับตัวให้ทันการเปลี่ยนแปลงทางสังคม  นอกจากนั้นปัจจัยด้านเศรษฐกิจก็นับเป็นปัจจัยที่สำคัญต่อการดำรงชีวิตครอบครัว อันได้แก่ อาชีพ และความพอเพียงด้านรายได้รายจ่าย และการเก็บออมเพื่ออนาคต

10. บรรณานุกรม[top]

กรมประชาสงเคราะห์.2536.การกำหนดเครื่องชี้วัดผู้ด้อยโอกาสทางสังคม.เอกสารทางวิชาการ.กรุงเทพฯ: กองวิชาการ.

ไกรวุฒิ  ช่วยสถิต.2541.คุณภาพชีวิตด้านครอบครัวและชุมชนของชาวไทยมุสลิมในชุมชนเมือง:ศึกษากรณีชุมชนบ้านหัวสะพานเตงและชุมชนกำปงหาโงย อำเภอเมือง จังหวัดยะลา.ภาคนิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต  สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์.

คณะกรรมการส่งเสริมและประสานงานสตรีแห่งชาติ.2537. เอกสารประกอบการประชุมสมัชชาแห่งชาติด้านครอบครัว “ร่างนโยบายและแผนงานในการพัฒนาสถาบันครอบครัว”.วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2537 ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล.

คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์.2549.รายงานการสำรวจ

            ความเสี่ยงของผู้สูงอายุไทย.กรุงเทพฯ:ศูนย์การเฝ้าระวังและเตือนภัยทางสังคม สำนักงานปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์.

ฉันทนา วุฒิไกรจำรัส. 2544. การศึกษาปัจจัยก่อนสมรส ปัจจัยการเลือกคู่ครอง และทัศนคติต่อการสมรสระหว่างแรงงานที่จดทะเบียนสมรส และไม่จดทะเบียนสมรส: ศึกษากรณี         แรงงานในนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี.วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ.

ทวีรัสมิ์   ธนาคม.2518.ตำราครอบครัวสัมพันธ์. กรุงเทพฯ : มปท.

โชคสมาน  สีลาวงษ์และคณะ.2548. คุณภาพชีวิตของหญิงไทยที่สมรสกับชาวต่างชาติในเขตอำเภอหนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี.ภาคนิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์.

บุญประคอง ภาณุรัตน์.2531.ปัจจัยทีมีผลต่อความมั่นคงในชีวิตสมรส: ศึกษากรณีสตรีที่สมรสภาครัฐบาล รัฐวิสาหกิจ และเอกชน. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์.

บุญลือ วันทายนต์.2520.ครอบครัวและวงศ์วาน.กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยรามคำแหง.

ประสบสุข บุญเดช.2531.คำอธิบายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 เรื่อง ครอบครัว. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์รุ่งเรืองธรรม.

พรรณทิพย์ ศิริวรรณบุศย์. 2538.จิตวิทยาครอบครัว. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์

          มหาวิทยาลัย.

พิริยา  ธนาธรพิสุทธิกุล.2529.หนูดีเพราะแม่เฝ้าสอน.กรุงเทพฯ : สหมิตรออฟเซท.

ศรีทับทิม  พาณิชพันธ์.2527. ประมวลบทความวิทยุเกี่ยวกับการบริหารสวัสดิภาพครอบครัวและเด็ก. กรุงเทพฯ:โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

ศรีสว่าง  พั่ววงค์แพทย์.2537. “ ครอบครัวไทย: ปัญหาและแนวทางแก้ไข”. วารสารการ

            ประชาสงเคราะห์.ปีที่ 37 ฉบับที่ 6(พ.ค. – ธ.ค.2537).

ศศิพัฒน์  ยอดเพชร.2540.สถาบันครอบครัว มุมมองนักสวัสดิการสังคม.สมาคมนักสังคม

          สงเคราะห์แห่งประเทศไทย.

สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว  มหาวิทยาลัยมหิดล.2545.โครงการศึกษาเพื่อพัฒนาตัวชี้วัด “ครอบครัวอยู่ดีมีสุข” กรุงเทพฯ: สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการ

          เศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ.

สนิท  สมัครการ.2538.มีเงินก็นับว่าน้อง  มีทองก็นับว่าพี่ ระบบครอบครัวและเครือญาติของไทย. กรุงเทพฯ:สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์.

สมพงษ์  ธนธัญญา.2540.แนวทางการเสริมสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัวเพื่อส่งเสริมการศึกษาของนักเรียน ศึกษาเฉพาะกรณี: โรงเรียนปทุมคงคา.วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต.       มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

สมพร เทพสิทธา.2538. ครอบครัวไทยในยุคโลกาภิวัตน์.สภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย.

สุพัตรา  สุภาพ .2540. สังคมวิทยา. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช.  

สุมิตรา  รัฐประสาท.2537.ปัจจัยที่สัมพันธ์กับความมั่นคงในชีวิตสมรสของครู สังกัดกรมสามัญศึกษา.วิทยานิพนธ์ มหาวิทยาลัยมหิดล.กรุงเทพฯ:มปท.

สุรีรัตน์  จุลานุพันธ์ .2549.  ความคาดหวังเกี่ยวกับรูปแบบครอบครัวที่พึงปรารถนา กรณีศึกษาสถานสงเคราะห์เด็กหญิงบ้านราชวิถีและสถานสงเคราะห์เด็กชายบ้านมหาเมฆ.ภาคนิพนธ์ ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์.

โสภา  ชปิลมันน์ และคณะ.2534.รูปแบบครอบครัวไทยที่พึงประสงค์ในสังคมเมืองในประเทศไทย.กรุงเทพฯ:สภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์.

วรรณาภรณ์  โภคภิรมย์.2545. การดำรงชีวิตสมรสที่ยั่งยืนในทัศนะของผู้ที่เคยแต่งงานมาแล้ว. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต  สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์.

วริษา  โทณะวณิก.2545.ความมั่นคงในครอบครัวของนักศึกษาสถาบันบัณฑิตพัฒน บริหารศาสตร์. ภาคนิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต  สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์.

วีระศักดิ์  มโนวรรณ์.2547.คุณภาพชีวิตของประชาชนตอนกลางลุ่มแม่น้ำอิง ด้านความมั่นคงในการดำเนินชีวิตในครอบครัวและชุมชน : กรณีศึกษา อำเภอขุนตาล จังหวัดเชียงราย. ภาคนิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต  สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์.

อรุณี  ไพศาลพาณิชย์กุล.2541.ความมั่นคงในชีวิสมรส: ศึกษากรณีเจ้าหน้าที่สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข.ภาคนิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์.

อ้วน  เจียรบุตร.2543.คุณภาพชีวิตด้านครอบครัวและชุมชนของประชาชนไทยพุทธในชุมชนชนบท: ศึกษาเฉพาะกรณี บ้านพรุ  ตำบลลำพะยา  อำเภอเมือง จังหวัดยะลา. ภาคนิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต   สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์.

อุบลรัตน์  พิชญ์ชยะนนท์.2531.คุณภาพชีวิตสมรส:ศึกษากรณีข้าราชการสังกัด กรุงเทพมหานคร. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต  คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

Acock, Alan C. and Demo, David H. 1994.Family Diversity and Well-Being.California: SAGE Publication, Inc.