ขอคืนเงินประกันสังคมได้ตอนไหน

สปส.เปิดทางออกผู้ใช้แรงงาน ม.33 หลังการปรับแก้ร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับใหม่ เพิ่มสิทธิประโยชน์ผู้ประกันตน “3 ขอ” สามารถ “ขอเลือก-ขอกู้-ขอคืน” เพื่อเป็นทางเลือกสิทธิประโยชน์ได้เองตามความต้องการ มั่นใจสถานะภาพกองทุนเพียงพอในการรองรับ


น.ส.ลัดดา แซ่ลี้ โฆษกสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เปิดเผยผ่านรายการ “เคลียร์คัด ชัดเจน” ทางช่อง NBT 2HD เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. 2565 ให้ข้อมูลถึงความเป็นไปได้ตามแนวทาง “3 ขอ” ใน ร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่...) พ.ศ. ... ฉบับใหม่ ที่อยู่ระหว่างการแก้ไข ตามที่ผู้ใช้แรงงานได้ออกมาเรียกร้องยัง สปส. เพื่อให้ผู้ประกันตนมีโอกาสได้รับทางเลือกและหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาวิกฤตทางการเงินของตนเองได้

น.ส.ลัดดา กล่าวว่า เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 สามารถเข้าไปตรวจสอบเงินของประกันสังคมว่ามียอดเท่าไร และทำให้เกิดเสียงข้อเรียกร้องต่างๆ จนเกิดเป็นแนวทาง “3 ขอ” ขึ้นมา ซึ่งประกอบด้วย 1.ขอเลือก ตามกฎหมายประกันสังคมฉบับเดิม กำหนดว่าผู้ที่ส่งเงินสมทบครบ 180 เดือน และเป็นผู้ที่ลาออกจากการเป็นผู้ประกันตนในอายุ 55 ปี จะได้สิทธิรับเงินบำนาญชราภาพรายเดือนตลอดชีวิต ส่วนผู้ที่ลาออกจากการเป็นผู้ประกันตนในอายุ 55 ปี แต่ส่งเงินสมทบไม่ครบ 180 เดือน จะได้สิทธิชราภาพในการรับเงินบำเหน็จ

อย่างไรก็ตามในส่วนนี้ทำให้ผู้รับเงินบำนาญบางราย ซึ่งมีความต้องการที่จะรับเงินเป็นบำเหน็จตามเหตุผลส่วนตัวของแต่ละราย ทางกระทรวงแรงงานจึงได้ให้ สปส. หาทางออกให้ผู้ประกันตนที่ส่งเงินสมทบครบ 180 เดือน สามารถรับเป็นบำเหน็จได้ตามความต้องการ

“ตามเจตนารมณ์ของ สปส. คืออยากให้เป็นบำนาญมากกว่า เพราะจะได้มีเงินใช้ได้ตลอดทุกเดือนไม่เป็นภาระให้กับลูกหลาน แต่ด้วยความจำเป็นของแต่ละคนไม่เหมือนกัน เราจึงจะออกกฎหมายฉบับนี้เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกันตนสามารถเลือกได้ตามเจตนารมณ์ของตนเอง” น.ส.ลัดดา กล่าว

ขอคืนเงินประกันสังคมได้ตอนไหน

2. ขอกู้ มาจากการที่ผู้ประกันตนเกิดความเดือดร้อน และมีคำถามถึงความต้องการกู้เงินของตนเองที่อยู่ในระบบประกันสังคมจะสามารถทำได้หรือไม่ แต่เนื่องจากประกันสังคมไม่มีการปล่อยกู้ ฉะนั้นในส่วนนี้จึงจะต้องทำ MOU กับธนาคารทั้งหมด ซึ่งหากมีธนาคารใดตอบรับข้อเสนอและมีข้อตกลงร่วมกันได้ ก็สามารถทำได้เลย โดยที่ธนาคารก็ต้องไม่คิดดอกเบี้ยแพง เพราะผู้ประกันตนสามารถกู้ได้โดยที่ สปส. เข้าไปสนับสนุนในเรื่องของการค้ำเงินกู้

“ตามกฎหมายลูกที่กำลังอยู่ในช่วงระหว่างการดำเนินการนี้ คาดว่าจะสามารถกู้ได้ไม่เกิน 30% ของเงินสมทบของผู้ประกันตน หรือไม่เกิน 3 ล้านบาท ซึ่งหากเกิดการผิดนัดชำระ จนธนาคารยืนยันว่าผู้ประกันตนไม่ชำระแล้ว และลาออกจากงาน ทางประกันสังคมก็จะส่งเงินให้ธนาคารตามยอดที่เหลือ ซึ่งก็จะทำให้เงินชราภาพของเขาต้องถูกหักในส่วนนี้ไปด้วย” น.ส.ลัดดา กล่าว

3. ขอคืน (บางส่วน) เป็นการขอคืนเงินบางส่วนจากเงินสมทบที่ส่งมายังประกันสังคมทุกเดือน ซึ่งจะต้องเป็นผู้ประกันตนที่ส่งเงินสมทบมาแล้วไม่ต่ำกว่า 60 เดือน และมีเงื่อนไขว่าต้องเกิดเหตุการณ์วิกฤตในประเทศ หรือพื้นที่นั้นๆ ออกมาประกาศชัดเจน เช่น วิกฤตทางเศรษฐกิจ วิกฤตภัยพิบัติ หรือโรคระบาด ที่ทำให้ผู้ประกันตนไม่สามารถออกมาทำงานได้อย่างปกติ แต่หากเป็นวิกฤติเรื่องส่วนตัวจะไม่สามารถขอคืนได้

น.ส.ลัดดา กล่าวว่า ปัจจุบันมีแรงงานที่ใช้ ม.33 ประมาณ 11 ล้านคน ซึ่งประกันสังคมจะรวมเงินไว้อยู่ในถังเดียวกัน ดังนั้นการขอคืนไปบางส่วนจะทำให้ สปส. เสียโอกาสในการนำเงินไปลงทุน ฉะนั้นหากจะต้องคืนเงิน ก็ต้องคืนค่าเสียโอกาสนั้นให้ สปส. ด้วยเช่นกัน เพราะผู้ที่ไม่ได้กู้หรือขอคืนเงินจะได้รับเงินที่นำไปลงทุนกลับมา เพื่อเป็นสิทธิประโยชน์ของพวกเขาบวกจากในส่วนนี้ไปด้วย

“การแก้กฎหมายไม่ใช่เป็นการเปลี่ยนเจตนารมณ์ พ.ร.บ.ประกันสังคม แต่อย่างใด แต่เป็นการเพิ่มช่องทางเลือกให้กับผู้ประกันตน เปิดโอกาสให้ผู้ที่มีความจำเป็นต่างๆ หรือมีความเดือดร้อน สามารถจัดการตัวเองได้” น.ส.ลัดดา กล่าว

น.ส.ลัดดา กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ ทางกระทรวงการคลังได้ให้ สปส. เข้าไปชี้แจงถึงสถานภาพทางกองทุน ว่าการออกกฎหมาย “3 ขอ” นี้จะทำให้กองทุนมีปัญหาหรือไม่ ซึ่งทาง สปส. มีกฎหมายรองที่คอยดูแลอยู่แล้วว่าจะสนับสนุนตนเองอย่างไรไม่ให้เสียศูนย์ มีข้อระเบียบและข้อบังคับจากผู้ประกันตนที่ชัดเจน จึงมั่นใจได้ว่าจะไม่มีปัญหาเรื่องกองทุนอย่างแน่นอน

ก่อนหน้านี้มีประเด็นสำคัญที่ "ผู้ประกันตน ม.33" ได้เฮกันยกใหญ่ เมื่อ "ประกันสังคม" อัปเกรดใหม่ เพิ่มสิทธิประโยชน์กรณี "เงินชราภาพ" ที่จะให้สิทธิ "3 ขอ" ได้แก่ ขอเลือกบำเหน็จ/บำนาญ, ขอคืนเงินสะสมชราภาพ, ใช้เป็นหลักประกันเพื่อการกู้เงิน

แต่ทั้งนี้ บางคนอาจยังมีข้อสงสัยในหลายๆ ประเด็นเกี่ยวกับ "เงินชราภาพ" หนึ่งในนั้นคือปัญหาที่ว่า หากลาออกจากงาน และสิ้นสถานะการเป็นผู้ประกันตน ม.33 แล้ว ยังจะมีสิทธิได้เงิยชดเชย หรือเงินออมชราภาพอยู่หรือไม่?

เรื่องนี้มีคำตอบจาก "ประกันสังคม" ที่ได้เผยแพร่ผ่านเพจ "สำนักงานประกันสังคม" ระบุรายละเอียดไว้ดังนี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

1. ลาออกจากงาน และสิ้นสุดการเป็นผู้ประกันตน ม.33 จะได้เงินชราภาพไหม?

เงินสมทบในส่วนของ "เงินออมชราภาพ" สามารถยื่นเรื่องขอรับคืนได้เมื่ออายุครบ 55 ปีบริบูรณ์เป็นต้นไป แม้ว่าจะไม่ได้เป็นผู้ประกันตนแล้วก็ตาม 

หมายความว่า หากลาออกจากงานแล้ว ไม่สามารถยื่นขอเงินที่เคยส่งเป็นเงินสมทบเข้าประกันสังคมไปก่อนหน้านั้นได้ทันที แต่จะต้องรอจนถึงอายุเกษียณตามกำหนดของประกันสังคม นั่นคือ อายุ 55 ปีบริบูรณ์ก่อน จึงจะยื่นขอเงินคืนได้ โดยขึ้นอยู่กับข้อกำหนดและระยะเวลาในการส่งเงินสมทบ

แต่ทั้งนี้ ล่าสุด.. ประกันสังคมเพิ่งจะมีการปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์กรณี "เงินชราภาพ" ในหัวข้อ "การขอคืนเงินสะสมชราภาพได้บางส่วน" จากหลักการ "3 ขอ" (ประมาณ 20-30% ของเงินที่สะสมไว้) ทำให้ผู้ประกันสังคมอาจจะยื่นขอเงินชราภาพออกมาใช้ได้ก่อนอายุ 55 ปีบริบูรณ์ อย่างไรก็ตาม จะต้องรอประกาศใช้คำสั่งนี้อย่างเป็นทางการอีกครั้ง 

อยากรู้ว่าตนเองได้สะสม "เงินชราภาพ" มาเป็นเวลากี่เดือนแล้ว? และมียอดเงินสะสมอยู่จำนวนเท่าไร? สามารถดูวิธีเช็กข้อมูลได้ที่นี่ : วิธีดูยอดเงินสะสม "ประกันสังคม" คำนวณเงินชราภาพง่ายๆ รู้เลยได้กี่บาท? 

2. เงื่อนไขการยื่นขอ "เงินชราภาพ" กรณีเงินบำนาญ

  • ต้องมีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์
  • ไม่เป็นผู้ประกันตน ทั้งมาตรา 33 และมาตรา 39
  • ผู้ประกันตนจะต้องจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 180 เดือน ไม่ว่าระยะเวลา 180 เดือนจะติดต่อกันหรือไม่ก็ตาม

โดยจะมี "สิทธิประโยชน์" ที่ผู้ประตนมาตรา 33 ต้องรู้ กรณีเลือกขอเป็นเงินบำนาญชราภาพ มีดังนี้

  • หากจ่ายเงินสมทบครบ 180 งวดเดือน จะได้รับเป็นบำนาญรายเดือนไปตลอดชีวิต โดยจ่ายให้ในอัตราร้อยละ 20 ของฐานค่าจ้าง (แต่ไม่เกิน 15,000 บาท) เฉลี่ย 60 เดือนสุดท้ายก่อนความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง
  • หากมีการจ่ายเงินสมทบเกินกว่า 180 เดือน จะปรับเพิ่มอัตราเงินบำนาญชราภาพ จากอัตราร้อยละ 20 เพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 1.5 ต่อระยะเวลาการจ่ายเงินสมทบครบทุก 12 เดือน

*หมายเหตุ : กรณีผู้ประกันตนรับบำนาญชราภาพ ต่อมาเสียชีวิตภายใน 60 เดือน นับแต่เดือนที่มีสิทธิได้รับเงินบำนาญชราภาพ ให้จ่ายเงินบำเหน็จชราภาพแก่ทายาทตามกฎกระทรวงใหม่ คือ

จากเดิมให้ 10 เท่าของเงินบำนาญชราภาพรายเดือนที่ได้รับครั้งสุดท้ายก่อนถึงแก่ความตาย ปรับใหม่เป็น ให้เงิน “จำนวนเท่ากับจำนวนเงินบำนาญชราภาพที่ได้รับเดือนสุดท้ายก่อนถึงแก่ความตาย x จำนวนเดือนที่เหลือหลังจากผู้รับเงินบำนาญชราภาพถึงแก่ความตายจนครบ 60 เดือน เช่น หากผู้ประกันตนเคยได้เงินบำนาญชราภาพ 5,000 บาทต่อเดือน มาแล้ว 20 เดือน ก่อนเสียชีวิต ทายาทจะได้เงินที่เหลือคือ 5,000 x (60-20) = 200,000 บาท เป็นต้น

อ่านเพิ่ม : เงินช่วยเหลือทายาท ผู้ประกันตน ม.33 ม.39 เดิมได้ 5 หมื่นเปลี่ยนเป็น 2 แสนบาท

3. เงื่อนไขการยื่นขอ "เงินชราภาพ" กรณีเงินบำเหน็จ

  • มีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ หรือเป็นผู้ทุพพลภาพ หรือถึงแก่ความตาย
  • ไม่เป็นผู้ประกันตน ทั้งมาตรา 33 และมาตรา 39
  • จ่ายเงินสมทบไม่ครบ 180 เดือน

โดยจะมี "สิทธิประโยชน์" ที่ผู้ประตนมาตรา 33 ต้องรู้ กรณีเลือกขอเป็นเงินบำเหน็จชราภาพ (จ่ายเป็นก้อนครั้งเดียว) มีดังนี้

  • หากจ่ายเงินสมทบกรณีชราภาพมาไม่ครบ 12 เดือน จะได้รับเฉพาะส่วนที่ผู้ประกันตนจ่าย
  • หากจ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 12 เดือนขึ้นไปแต่ไม่ครบ 180 เดือน จะได้รับส่วนของผู้ประกันตน ส่วนของนายจ้างและผลประโยชน์ตอบแทนประจำปี

*หมายเหตุ : เงินบำเหน็จชราภาพ หากผู้ประกันตนเสียชีวิต ทายาทจะมีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จชราภาพคืน โดยจ่ายให้แก่ทายาทผู้มีสิทธิ เช่น บุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย, สามี-ภรรยาที่ถูกต้องตามกฎหมาย, บิดา-มารดาที่จดทะเบียนสมรสกัน หากไม่ได้จดทะเบียนสมรสจะได้เฉพาะมารดา หรือ บุคคลอื่นที่ผู้ประกันตนทำหนังสือระบุไว้ให้ได้รับร่วมกับทายาทผู้มีสิทธิ

ทั้งนี้ เงื่อนไขการได้รับสิทธิ ผู้ประกันตนมาตรา 33 และมาตรา 39 จะได้รับสิทธิเมื่อจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 เดือน ภายในระยะเวลา 6 เดือนก่อนถึงแก่ความตาย