การลงทุนในประเทศไทย มีอะไรบ้าง

ประเทศไทยเป็นหนึ่งในแหล่งลงทุนที่สำคัญในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงปี 2547 – 2555 การออกไปลงทุนในต่างประเทศของไทยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดดจาก 7.73 ล้านเหรียญสหรัฐ มาอยู่ที่ 12,868.80 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่งผลให้โครงสร้างของเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศมีความสมดุลมากขึ้น จนประเทศไทยกลายเป็นประเทศผู้ลงทุนทางตรงที่มีบทบาทในหลายประเทศ ซึ่งการออกไปลงทุนมีแรงจูงใจที่ต่างกันออกไปของผู้ประกอบการแต่ละราย โดยเริ่มตั้งแต่เพื่อหาตลาดใหม่ในการขายสินค้า หาทรัพยากรเพื่อนำมาใช้ในการผลิต หรือเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต เป็นต้น โดยการขยายตัวมาจากการส่งเสริมการลงทุนต่างประเทศของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ที่ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยอนุญาติให้บริษัทไทยออกไปลงทุนในต่างประเทศได้อย่างเสรี ตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา ประกอบกับการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยที่มีความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้นและมีการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจเพื่อสร้างเสรีการค้าในภูมิภาคร่วมด้วย

ดังนั้นในบทความนี้เราจึงศึกษาถึงปัจจัยที่กำหนดการลงทุนในต่างประเทศของผู้ประกอบการไทย โดยพิจารณาจำแนกตามภาคการผลิต ตั้งแต่ภาคการผลิตขั้นปฐมภูมิ (Primary Sector) ภาคการผลิตขั้นทุติยภูมิ (Secondary Sector) และภาคบริการ (Service Sector) ในประเทศกำลังพัฒนา และประเทศที่พัฒนาแล้ว เพื่อให้นักลงทุนไทยเห็นแนวโน้มและสามารถตัดสินใจลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพในอนาคต

ทำความเข้าใจ การออกไปลงทุนในต่างประเทศ กับ ปัจจัยผลักดันและดึงดูด

การลงทุนทางตรงในต่างประเทศเป็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นเนื่องจากผู้ประกอบธุรกิจต้องการสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน (Competitive Advantage) และต้องการเปิดธุรกิจของตนให้กว้างขึ้นด้วยการทำสัมพันธ์กับประเทศอื่น ซึ่งจะขึ้นอยู่กับปัจจัยการลงทุน 2 กลุ่มด้วยกัน ได้แก่ ปัจจัยผลักดัน (Push Factor) สำหรับผู้ลงทุน และ ปัจจัยดึงดูด (Pull Factor) สำหรับประเทศผู้รับเงินทุน

ปัจจัยผลักดันประกอบไปด้วย ปัจจัยแวดล้อมด้านตลาดและการค้า ต้นทุนการผลิต ข้อจำกัดสำหรับปัจจัยการผลิต ปัจจัยแวดล้อมของภายในประเทศ และนโยบายของรัฐบาลภายในประเทศผู้ลงทุน
ปัจจัยดึงดูด เป็นปัจจัยสะท้อนกับปัจจัยผลักดันของประเทศผู้ลงทุน โดยปัจจัยแวดล้อมด้านตลาดเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการดึงดูดเงินลงทุนจากต่างประเทศ  ซึ่งประเทศที่พัฒนาแล้วจะเป็นตลาดที่น่าสนใจในการขยายฐานการค้ามากกว่าเนื่องจากตลาดมีขนาดใหญ่  แต่สำหรับปัจจัยแวดล้อมทางด้านต้นทุนการผลิต ประเทศกำลังพัฒนาจะเป็นประเทศที่น่าสนใจเนื่องจากมีค่าแรงที่ถูกหรือมีทรัพยากรที่ผู้ประกอบการต้องการ นอกจากนั้นปัจจัยดึงดูดยังรวมถึง นโยบายของประเทศนั้น ๆ ที่มีความเอื้ออำนวยต่อการลงทุนด้วย

เข้าใจแนวคิดแรงจูงใจในการออกไปลงทุนในต่างประเทศg

การพิจารณาการลงทุนทางตรงแค่จากปัจจัยการผลักดันและดึงดูดนั้นยังไม่เพียงพอ จึงต้องพิจารณาถึงแรงจูงใจของธุรกิจในการออกไปลงทุนด้วย ซึ่งมีด้วยกัน 4 ประเภท โดยมีรายละเอียด ดังนี้

1)การลงทุนเพื่อแสวงหาตลาด (Market-seeking FDI) คือนักลงทุนจะถูกดึงดูดด้วยขนาดของตลาด รายได้ต่อหัว และการเติบโตของตลาดประเทศนั้น เนื่องจากนักลงทุนต้องการมองหาลูกค้าใหม่ ๆ ซึ่งการลงทุนในลักษณะนี้สำหรับสินค้าทั่วไปมักเกิดในประเทศขนาดใหญ่มากกว่า

2)การลงทุนเพื่อแสวงหาทรัพยากรธรรมชาติ (Natural resource-seeking FDI) คือนักลงทุนตัดสินใจลงทุนเพื่อการเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นวัตถุดิบที่สำคัญ เช่น ผลผลิตทางการเกษตร แร่ธาตุ แรงงานไร้ฝีมือ เพื่อที่จะนำทรัพยากรนั้นมาเป็นฐานรองรับการผลิต

3)การลงทุนเพื่อแสวงหาประสิทธิภาพ (Efficiency-seeking FDI) คือนักลงทุนมีเป้าหมายเพื่อลดต้นทุนการผลิตเป็นหลักจึงต้องการเพิ่มประสิทธิภาพตั้งแต่ระดับกลไก โดยมีลักษณะคือ เพื่อช่วยพัฒนาการแบ่งงานกันทำระหว่างประเทศจนเกิดเครือข่ายการผลิต, เพื่อช่วยให้สามารถเข้าถึงตลาดและแหล่งวัตถุดิบได้, เพื่อช่วยสนับสนุนการรวมกลุ่ม (Clusters) ของตลาดแรงานที่มีความชำนาญเฉพาะและการประหยัดจากการรวมกลุ่มการผลิต, เพื่อช่วยเพิ่มมาตรฐานคุณภาพสินค้าให้สามารถต่อสู้กับคู่ค้าในประเทศได้, เพื่อช่วยในการปรับโครงสร้างของอุตสาหกรรม

4)การลงทุนเพื่อแสวงหาสินทรัพย์เชิงกลยุทธ์ (Strategic asset-seeking FDI) คือนักลงทุนตัดสินใจออกไปลงทุนเพื่อรักษาความได้เปรียบของบริษัทของตนหรือเพื่อลดความได้เปรียบของคู่แข่ง เช่น ไปลงทุนในประเทศที่มีจำนวนการจดสิทธิบัตรในระดับสูง ซึ่งในรูปแบบนี้มีไม่มากนักในประเทศกำลังพัฒนา แต่มักจะเกิดในประเทศจีนบ่อยครั้ง เพื่อแสวงหาทรัพย์สินเชิงกลยุทธ์ซึ่งเป็นรูปแบบที่สำคัญสำหรับบางอุตสาหกรรม เช่น ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ บริการทางด้านเคมีและโครงสร้างพื้นฐาน เป็นต้น ซึ่งรูปแบบนี้มักจะเกิดขึ้นร่วมกับการแสวงหาตลาดหรือการแสวงหาประสิทธิภาพในการผลิต

ความเหมาะสมในการออกไปลงทุนในต่างประเทศของแต่ละประเทศ

จากการศึกษาเส้นทางการพัฒนาการลงทุนจึงสามารถบอกได้ว่าในแต่ละประเทศจะมีความเหมาะสมในการลงทุนแตกต่างกันขึ้นอยู่กับความพร้อมและลักษณะของเงินลงทุนระหว่างประเทศที่ไหลเข้า – ออกในแต่ละช่วง โดยจะดูความเหมาะสมตามระดับการพัฒนาประเทศ โดยช่วงที่หนึ่ง สำหรับประเทศเริ่มต้นการพัฒนาซึ่งเศรษฐกิจจะขึ้นอยู่กับทรัพยากรธรรมชาติ เป็นช่วงที่ยังไม่มีการออกไปลงทุนในต่างประเทศ ในช่วงที่สองเศรษฐกิจภายในประเทศนั้น ๆ เริ่มขับเคลื่อนด้วยการลงทุน จะทำให้เริ่มเหมาะสมมีการออกไปลงทุนในต่างประเทศเล็กน้อย ต่อมาในช่วงที่สามประเทศมีระบบเศรษฐกิจแบบพึ่งพานวัตกรรมแล้ว ก็จะเป็นช่วงที่มีความเหมาะสมต่อการออกไปลงทุนในต่างประเทศเพิ่มสูงขึ้นซึ่งจะมีปริมาณมากกว่าการลงทุนที่เข้ามาในประเทศ เนื่องจากมุ่งเน้นการแสวงหาสินทรัพย์เชิงกลยุทธ์มาต่อยอดเพิ่มขีดความสามารถทางธุรกิจภายในประเทศของผู้ประกอบการแต่ละราย จนเข้าสู่ช่วงที่สี่และช่วงที่ห้า ซึ่งเป็นช่วงที่ระบบเศรษฐกิจขึ้นอยู่กับองค์ความรู้ (Knowledge) และบริการ (Service) หรือที่เราเรียกว่าช่วง Knowledge Economy ซึ่งเป็นช่วงที่เงินลงทุนทางตรงจากต่างประเทศจะมีมูลค่าสูงขึ้นและมากกว่าเงินทุนไหลเข้า เพื่อเน้นการออกไปแสวงหาประสิทธิภาพและสินทรัพย์เชิงกลยุทธ์ ในระดับภูมิภาคหรือระดับโลกต่อไป และเริ่มมีการควบรวมกิจการมากขึ้น จนเกิดการพัฒนาเติบใหญ่ ซึ่งหลายประเทศที่กำลังอยู่ในระยะกำลังพัฒนาแต่สามารถออกไปลงทุนในต่างประเทศได้เร็วกว่าช่วงเวลาที่เหมาะสมอย่างที่ควรจะเป็น ก็อาจจจะเป็นผลมาจากโลกาภิวัตน์ได้

การลงทุนในประเทศไทย มีอะไรบ้าง

ภาพรวมการลงทุนในต่างประเทศของไทย

ในปัจจุบันพบว่าภาพรวมในไทยยังคงมีระดับเงินลงทุนไหลเข้าที่สูงกว่าการออกไปลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งประเทศไทยเริ่มต้นเป็นแหล่งลงทุนของต่างประเทศมาตั้งแต่เดิม จนกระทั่งในช่วงปี 2521 ประเทศไทยเริ่มมีการออกไปลงทุนในต่างประเทศเพิ่มขึ้น ซึ่งในช่วงแรกเน้นการลงทุนในสถาบันการเงินเป็นหลักเท่านั้น  โดยเลือกลงทุนที่ประเทศสิงคโปร์ และฮ่องกง จนกระทั่งในช่วงก่อนการเกิดวิกฤต ปี 2540 ประเทศไทยจึงมุ่งเน้นการลงทุนไปที่ภาคการผลิตพื้นฐานเป็นหลักโดยเน้นที่ภูมิภาคอาเซียน  ภายหลังการเกิดวิกฤตทำให้การลงทุนลดลงมาถึงร้อยละ 37.34 จากช่วงปีก่อนหน้าและเกิดการทรงตัวเป็นระยะเวลานาน ซึ่งส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจของประเทศไทยเป็นอย่างมาก จนกระทั่งประเทศไทยเริ่มกลับมาฟื้นตัวหลังจากปี 2548 ทำให้การลงทุนทางตรงในต่างประเทศของไทยมีมูลค่าสูงขึ้นมาก โดยเพิ่มสูงถึงร้อยละ 638.20 เป็นจำนวนเงินกว่า 529.49 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และแน่นอนว่าเมื่อเกิดวิกฤตอีกครั้งในปี 2554 เนื่องจากเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ในประเทศไทยทำให้การลงทุนทางตรงต่างประเทศลงลงมาก จนมาในปัจจุบันนี้แม้ว่าจะกลับมาสู่สภาวะปกติมากขึ้นแต่คงต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจไทยหดตัวลงมาก จึงทำให้ภาพรวมของไทยเกิดลักษณะการลงทุนขาเข้ามากกว่าขาออกอย่างที่ได้กล่าวไป

การลงทุนในต่างประเทศของไทย

โดยเราจะกล่าวถึง 3 ส่วนด้วยกัน ได้แก่ ประเทศผู้รับเงินทุนหลักจากประเทศไทย ภาคการผลิตหลักที่ไทยออกไปลงทุนในต่างประเทศ และภาคการผลิตและประเทศผู้รับเงินลงทุน

ประเทศผู้รับเงินลงทุนหลักจากประเทศไทย โดยแบ่งเป็นกลุ่มประเทศ ซึ่งผู้รับหลักคือกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา คิดเป็นเลขเฉลี่ยถึงร้อยละ 80 ของเงินทุนทั้งหมดที่ไทยไปลงทุนในประเทศกลุ่มดังกล่าว แต่ก็ยังมีความผันผวนตามเวลา และเมื่อนำมาแบ่งแยกเป็นภูมิภาคจะพบว่า แหล่งลงทุนหลักคือ ภูมิภาคเอเชีย ไม่รวมกลุ่มอาเซียน รองลงมาคือภูมิภาคอาเซียน และตามมาด้วยประเทศอเมริกาเหนือ ยุโรป และออสเตรเลีย ซึ่งหากพิจารณาการลงทุนทางตรงในภูมิภาคเอเชียอย่างเดียวทั้งหมดนั้น จะพบว่ามีสัดส่วนเฉลี่ยสูงถึงร้อยละ 55.87 โดยมีปัจจัยหลักที่ทำให้ธุรกิจไทยเข้าไปลงทุนในภูมิภาคอาเซียนมากขึ้น คือ การมีเงินสดในระดับสูงและความต้องการสร้างความเข้มแข็งให้กับเครือข่ายในภูมิภาคเพื่อขยายฐานตลาดลูกค้า อีกทั้งยังสามารถหาแรงงานราคาถูกสำหรับการผลิตที่เน้นใช้แรงงานเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันอีกด้วย

ถ้าหากนำมาพิจารณาเป็นรายประเทศ จะพบว่า ประเทศที่ไทยเข้าไปลงทุนโดยเฉลี่ยมากที่สุดในช่วงก่อนหน้าที่ผ่านมาคือ ประเทศสิงคโปร์ คิดเป็นร้อยละ 11 และรองลงมาคือ ประเทศสหรัฐอเมริกา คิดเป็นร้อยละ 6 ตามาด้วย ประเทศจีนและเมียนมาร์ คิดเป็นร้อยละ 5 และ 3 ตามลำดับ

ภาคการผลิตหลักที่ไทยออกไปลงทุนในต่างประเทศ จะพบว่าในภาพรวมประเทศมีแนวโน้มการลงทุนทางตรงสูงขึ้นในทุกภาคการผลิตในช่วงก่อนหน้าที่ผ่านมา ซึ่งสามารถนำมาจัดลำดับได้ว่า ไทยลงทุนในภาคอุตสาหกรรมการผลิตมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 36.57 รองลงมาคือภาคกิจกรรมทางการเงินและประกันภัย คิดเป็นร้อยละ 19.85 และภาคการทำเหมืองแร่และเหมืองหินเป็นอันดับที่สาม คิดเป็นร้อยละ 16.26 ซึ่งภาคที่มีการลงทุนน้อยที่สุด คือ ภาคเกษตรกรรม การป่าไม้และการประมง โดยมีสัดส่วนอยู่เพียง ร้อยละ 0.08 เท่านั้น แต่ต่อมาได้ขยายการลงทุนเพิ่มมากขึ้นใน ภาคการทำเหมืองแร่และเหมืองหิน การผลิต และการขายส่งขายปลีก ภาคการซ่อมยานยนต์และจักรยานยนต์

ภาคการผลิตและประเทศผู้รับเงินลงทุน ในส่วนนี้จะเป็นการพิจารณาการลงทุนตามแต่ละภาคการผลิตว่าประเทศไทยตัดสินใจไปลงทุนที่ประเทศใด ตัวอย่างเช่น ภาคเกตรกรรม การป่าไม้และการประมง ส่วนใหญ่จะลงทุนในประเทศกำลังพัฒนาเป็นหลัก คือ อินเดีย เวียดนาม และกัมพูชา ภาคการทำเหมืองแร่และเหมืองหิน เน้นลงทุนในประเทศกำลังพัฒนาเป็นหลัก แต่จำแนกเป็นประเทศหลัก ๆ ได้คือ ประเทศสิงคโปร์ ออสเตรเลีย เมียนมาร์ และแคนาดา การลงทุนในภาคอุตสาหกรรมการผลิต ประเทศหลักที่ไทยเข้าไปลงทุนคือ สิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา และสหราชอาณาจักร การลงทุนในภาคกิจกรรมทางการเงินและการประกันภัย มีการลงทุนในประเทศกำลังพัฒนาเป็นหลัก โดยมีประเทศที่เข้าไปลงทุนเป็นหลัก คือ สิงคโปร์ สปป.ลาว อินโดนีเซีย เป็นต้น รวมไปถึง ภาคการขายส่งและการขายปลีก การซ่อมยานยนต์และจักรยานยนต์ ที่พักและอาหาร ก็เช่นกันเป็นการลงทุนหลักในประเทศกำลังพัฒนา โดยภาพรวมจะเห็นได้ว่า ภาคการผลิตของไทย เน้นการลงทุนกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะในกลุ่มอาเซียน และอินเดีย มีเพียงกิจกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์เท่านั้นที่เน้นการลงทุนในประเทศพัฒนาแล้ว

การลงทุนในประเทศไทย มีอะไรบ้าง

ทั้งหมดนี้ทำให้เห็นภาพรวมได้ว่า ส่วนใหญ่ที่นักลงทุนไทยตัดสินใจลงทุนมักจะเป็นกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านที่มีภูมิภาคใกล้เคียงกันโดยเฉพาะในกลุ่มอาเซียนเนื่องจากข้อได้เปรียบทางภูมิศาสตร์และสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษี ความสะดวกในการทำธุรกรรมที่เอื้อต่อการลงทุนทางตรง ต่อมาจึงขยายเพิ่มไปภูมิภาคเอเชีย แล้วจึงไปสู่ฝั่งยุโรปและอเมริกา ซึ่งประเทศไทยยังมีแนวโน้มในการลงทุนทางตรงในต่างประเทศสูงขึ้นเกือบทุกภาคการผลิต ยกเว้นภาคการไฟฟ้า ก๊าซ ไอน้ำและระบบปรับอากาศ

หากแบ่งตามภาคการผลิตตามระดับแล้วนั้น จะพบว่า ขั้นปฐมภูมิและภาคบริการมีสัดส่วนการออกไปลงทุนในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาสูงกว่าภาคการผลิตขั้นทุติยภูมิที่เน้นเข้าไปลงทุนทั้งกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาและพัฒนาแล้วอย่างกระจายกัน ซึ่งจะพบว่าปัจจัยหลักที่กำหนดการลงทุนต่างประเทศที่สำคัญ คือ การหาตลาดอการหาวัตถุดิบและแรงงาน เพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ การหารายได้หรือกำไรที่ได้จากต่างประเทศให้ส่งกลับมาในประเทศ โดยขึ้นอยู่กับบรรยากาศการลงทุนของประเทศเจ้าบ้าน เช่น ความชัดเจนของระเบียบข้อบังคับ นโยบายการส่งเสริมการลงทุนและความพร้อมของโครงสร้างร่วมด้วย ดังนั้นเราควรที่จะมีการกำหนดทิศทาง อุตสาหกรรม และกลุ่มประเทศที่มีการสนับสนุนการออกไปลงทุนในต่างประเทศให้ชัดเจนมากขึ้น ซึ่งครอบคลุมไปถึงบทบาทการสนับสนุนจากภาครัฐในส่วนการเปิดเสรี และการอำนวยความสะดวกในการออกไปลงทุนและคุ้มครองนักลงทุน โดยที่ทุกความร่วมมือกันจะมีส่วนช่วยพัฒนาเศรษฐกิจไทยให้เติบโตและพัฒนาไปได้อย่างดี

อ้างอิงข้อมูลจาก

โครงการวิจัย “ปัจจัยกำหนดการลงทุนทางตรงในต่างประเทศของไทยรายภาคการผลิต”

หัวหน้าโครงการ : สินีนาฏ เสริมชีพ
สนับสนุนโดย : สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)

เรียบเรียง เพ็ญวดี ศิริบุรภัทรกราฟิก เพ็ญวดี ศิริบุรภัทรพิสูจน์อักษรและตรวจทาน วริศรา ศรีสวาท