เงินทดแทนตามพระราชบัญญัตินี้คืออะไร

เงินทดแทนตามพระราชบัญญัตินี้คืออะไร

หากพูดถึงข้อกฎหมายที่ลูกจ้างและผู้รับทำบัญชีควรรู้นอกจากกองทุนประกันสังคมแล้ว “กองทุนเงินทดแทน” ถือเป็นอีกหนึ่งกองทุนที่มีบทบาททั้งต่อนายจ้างและลูกจ้างแต่จะมีความแตกต่างกันกับประกันสังคมในการนำไปใช้งานในกรณี อีกทั้งยังมีการระบุถึงกิจการที่ต้องดำเนินการจ่ายเงินทดแทนและประโยชน์ที่ได้รับรวมไปถึงข้อกฏหมายต่าง ๆ เพื่อให้ลูกจ้างไม่ถูกเอาเปรียบจากการทำงาน โดยวันนี้เราได้รวบรวมเนื้อหาเกี่ยวกับกองทุนเงินทดแทนมาฝากแแก่ทุกคนเพื่อไขข้อสงสัยในหัวข้อดังต่อไปนี้

สารบัญ

Add a header to begin generating the table of contents

กองทุนเงินทดแทนคืออะไร

กองทุนเงินทดแทน คือกองทุนที่จัดตั้งขึ้นเพื่อจ่ายเงินทดแทนให้แก่ลูกจ้างในกรณีที่ลูกจ้างประสบอันตราย เจ็บป่วย สูญหาย หรือถึงแก่ความตายอันเนื่องมาจากการทำงานให้แก่นายจ้าง โดยนายจ้างจะเป็นผู้จ่ายเงินสมทบเพียงฝ่ายเดียวเท่านั้นซึ่งการจ่ายเงินสมทบจะเก็บจากนายจ้างตามลักษณะกิจการที่มีความเสี่ยงต่างกัน อาทิเช่น 

  • กิจการที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับขายอาหารจะจ่ายเงินสมทบที่ 0.2% ของค่าจ้าง
  • กิจการที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการก่อสร้างจะจ่ายเงินสมทบที่ 1.0% ของค่าจ้าง

สะท้อนให้เห็นได้ว่า กิจการใดมีความเสี่ยงมากอย่างการก่อสร้างย่อมจะต้องจะจ่ายเงินสมทบในอัตราที่สูงขึ้นตามลักษณะความเสี่ยง 

ดังนั้น ในกรณีที่นายจ้างจ่ายเงินสมทบครบ 4 ปี ในปีที่ 5 อัตราการจ่ายเงินสมทบจะเพิ่ม หรือลดขึ้นอยู่กับค่าอัตราการสูญเสียจากการเก็บบันทึกข้อมูลด้านสถิติโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ 

กิจการใดบ้างที่ต้องจ่ายเงินทดแทน

ตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561[1]บล ซึ่งเป็นพรบ.ฉบับล่าสุดที่ได้ถูกประกาศออกมาโดยมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 9 ธันวาคม 2561 ซึ่งได้กำนหนดกิจการทุกประเภทที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไปจะต้องจ่ายเงินสมทบได้แก่ ลูกจ้างเอกชน ลูกจ้างราชการ (ไม่รวมข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ) องค์กรไม่แสวงหากำไรและบุคคลที่ได้รับจ้างงานในต่างประเทศของเอกอัคราชฑูตและองค์กรระหว่างประเทศ อีกทั้งยังไม่รวมถึงพนักงานเอกชนตามพรบ. องค์การมหาชน พ.ศ.2549 มาตรา 38 [2]

[1] พระราชบัญญัติเงินทดแทน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561 เป็นพระราชบัญญัติฉบับล่าสุดโดยมีการแก้ไขเพิ่มเติมว่าด้วยเงินทดแทน

[2] กิจการขององค์การมหาชนไม่อยู่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน กฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ กฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม และกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน ทั้งนี้ ผู้อำนวยการ เจ้าหน้าที่ และลูกจ้างขององค์การมหาชนต้องได้รับประโยชน์ตอบแทนไม่น้อยกว่าที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน กฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม และกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน

กองทุนเงินทดแทนต่างกับประกันสังคมอย่างไร

มาถึงประเด็นที่หลายคนสงสัยกับความแตกต่างระหว่างกองทุนเงินทดแทนและประกันสังคมซึ่งเราจะแยกประเด็นออกเป็น 3 ประเด็นหลัก ๆ ด้วยกันดังนี้ 

ประเด็น กองทุนเงินทดแทน ประกันสังคม
การดูแล การเจ็บป่วยอันเนื่องมาจากการทำงานให้นายจ้าง สิทธิการดูแลที่ไม่ได้มาจากการเจ็บป่วยจากการทำงาน
การจัดเก็บเงินสมทบ นายจ้างเพียงฝ่ายเดียว รัฐบาล นายจ้างและลูกจ้าง
การเข้ารับการรักษา โรงพยาบาลใดก็ได้แต่ต้องสำรองจ่ายไปก่อน โรงพยาบาลที่เลือกใช้สิทธิ์

หน้าที่ของนายจ้าง

  1. จากข้อความข้างต้นจะเห็นได้ว่ากองทุนเงินทดแทนนายจ้างจะเป็นผู้รับผิดชอบเพียงฝ่ายเดียวเท่านั้นอีกทั้งนายจ้างยังมีหน้าที่ ดังต่อไปนี้ 

    • ขึ้นทะเบียนนายจ้างเมื่อมีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป 
    • จ่ายเงินสมทบประจำปี 
    • รายงานเงินเดือนของลูกจ้างในปีที่ผ่านมา (ภายในเดือนกุมภาพันธ์)
    • แจ้งเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงของนายจ้างภายใน 30 วันและแจ้งผลหากลูกจ้างประสบอันตราย หรือบาดเจ็บภายใน 15 วัน 

ประโยชน์ที่ได้รับจากกองทุนเงินทดแทน

มาต่อกันที่ประโยชน์ที่ลูกจ้างจะได้รับจากกองทุนเงินทดแทนซึ่งจะแบ่งเป็นค่ารักษาพยาบาล ค่าทดแทน ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงานและค่าทำศพโดยมีรายละเอียด ดังนี้ 

  • ค่ารักษาพยาบาล 

ใช้ในกรณีที่ลูกจ้างประสบอุบัติเหตุ หรือเจ็บป่วยจากการทำงานโดยได้รับการช่วยเหลือทั้งค่ารักษาพยาบาล ค่าใช้จ่ายและค่าอุปกรณ์ต่าง ๆ รวมถึงวัสดุที่นำมาใช้แทนอวัยวะต่าง ๆ อันเกิดจากการทำงานโดยมีอัตรากำหนดสูงสุดไม่เกิน 2 ล้านบาท 

  • ค่าทดแทน

สำหรับค่าทดแทนจะแบ่งออกเป็น 4 กรณี ดังนี้

  • กรณี 1 ไม่สามารถทำงานได้ ลูกจ้างได้มีการหยุดพักรักษาตั้งแต่ 1 วันขึ้นไปแต่ไม่เกิน 1 ปี จะได้รับค่าชดเชยร้อยละ 70 ของเงินเดือน (ต้องมีใบรับรองแพทย์ยืนยัน)
  • กรณี 2 สูญเสียสมรรถภาพในการทำงานของร่างกาย ลูกจ้างจะได้รับค่าทดแทนร้อยละ 70 ของเงินเดือนซึ่งมีระยะเวลาไม่เกิน 10 ปี สำหรับการประเมินสมรรถภาพในการทำงานของร่างกาย ลูกจ้างจะต้องได้รับการรักษาจนสิ้นสุดและอวัยวะไม่มีการเปลี่ยนแปลง หรือเมื่อพ้นระยะเวลาที่กำหนด 1 ปี 
  • กรณี 3 ทุพพลภาพ ลูกจ้างจะได้รับค่าทดแทนร้อยละ 70 ของเงินเดือนไปตลอดชีวิตโดยมีการประเมินการสูญเสียอวัยวะลูกจ้างจะต้องได้รับการรักษาจนสิ้นสุดและอวัยวะไม่มีการเปลี่ยนแปลง หรือเมื่อพ้นระยะเวลาที่กำหนด 1 ปี
  • กรณี 4 เสียชีวิต หรือสูญหายอันเนื่องมาจากการทำงาน ผู้มีสิทธิตามกฎหมาย อาทิ มารดา บิดา และบุตรจะได้รับค่าทดแทนร้อยละ 70 ของเงินเดือนเป็นระยะเวลา 10 ปี โดยจะได้รับในอัตราส่วนที่เท่า ๆ กัน 
  • ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพ

ลูกจ้างที่ประสบอุบัติเหตุและได้รับการรักษาพยาบาลสิ้นสุดลง แต่ทั้งนี้สภาพร่างกายและจิตใจไม่เหมือนเดิมจึงจำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟู ดังนี้

  • ด้านอาชีพ จะเป็นค่าใช้จ่ายเฉพาะการฝึกอาชีพตามหลักสูตรที่หน่วยงานประกันสังคมดำเนินการไม่เกิน 24,000 บาท 
  • ด้านการแพทย์ ในการทำเวชศาสตร์ฟื้นฟูโดยเป็นค่ากายภาพบำบัดไม่เกินวันละ 200 บาท และค่าเดินทาง 100 บาท ซึ่งรวมแล้วไม่เกิน 24,000 บาท 
  • ด้านการบำบัดและผ่าตัด เพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงานไม่เกิน 40,000 บาท โดยหากมีความจำเป็นสามารถจ่ายเพิ่มได้ไม่เกิน 110,000 บาท (ขึ้นอยู่กับการพิจารณา)
  • ด้านวัสดุและอุปกรณ์ รวมแล้วไม่เกิน 160,000 บาท (ไม่เกินอัตราตามที่กระทรวงการคลังกำหนด)

โดยทั้งนี้ ลูกจ้างจะได้รับค่าฟื้นฟูสมรรถภาพการทำงานก็ต่อเมื่อเข้ารับการฟื้นฟูที่ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงานสำนักงานประกันสังคมเท่านั้น 

  • ค่าทำศพ

ในส่วนของค่าทำศพผู้จัดการทำศพของลูกจ้างจะได้รับเป็น 100 เท่าของอัตราสูงสุดของค่าจ้างรายวันขั้นต่ำ[3]ตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน

[3] ค่าแรงในแต่ละจังหวัดจะมีอัตราสูงสุดที่แตกต่างกันออกไป 

วิธีการแจ้งการประสบอันตราย หรือเจ็บป่วยทำอย่างไร

  1. นายจ้าง หรือผู้มอบอำนาจต้องแจ้งแบบกท.16[4]โดยกรอกรายละเอียดตามแบบฟอร์มและนำส่งสำนักงานประกันสังคม หรือทางไปรษณีย์ภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันที่ทราบว่าลูกจ้างประสบอันตราย หรืออุบัติเหตุ หรือลูกจ้างสามารถยื่นคำร้องขอเงินทดแทนได้ภายใน 180 วัน นับตั้งแต่วันที่ประสบอันตรายและหากเจ็บป่วยสิ้นสภาพการเป็นลูกจ้างให้ยื่นคำร้องได้ภายในระยะเวลา 2 ปีนับตั้งแต่ทราบผลและหากนายจ้าง หรือลูกจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาลไปก่อนสามารถนำมาเบิกได้ภายใน 90 วัน

    [4] แบบแจ้งการประสบอันตราย เจ็บป่วย หรือสูญหาย และคำร้องขอรับเงินทดแทน ตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537

หลักฐานที่ใช้แจ้งการประสบอันตรายและการขอรับเงินทดแทน

    1. แบบแจ้งการประสบอันตราย เจ็บป่วย หรือสูญหาย (กท.16)
    2. แบบส่งตัวลูกจ้างเข้ารับการรักษาพยาบาล กท.44[5] 
    3. การประสบอุบัติเหตุที่ไม่ชัดเจน อาทิ อุบัติเหตุจากรถยนต์ หรืออุบัติเหตุนอกสถานที่ซึ่งจำเป็นต้องมีหลักฐานเพิ่ม เช่น การลงเวลาทำงาน แผนที่เกิดเหตุ หรือบันทึกประจำวันของตำรวจ 
    4. ใบเสร็จรับเงิน (กรณีสำรองจ่าย)
    5. กรณีเสียชีวิต หรือสูญหาย ต้องมีหลักฐานมาแสดง เช่น ใบมรณะบัตร ใบชันสูตรศพ หรือใบลงบันทึกประจำวันของตำรวจ (ถ้ามี) 

กรณีใดบ้างที่สิทธิไม่คุ้มครอง

หากมีการตรวจสอบและพบว่าการประสบอันตราย หรือการเจ็บป่วยมีสาเหตุมาจากของมึนเมา หรือสารเสพติด รวมไปถึงการจงใจให้เกิดอุบัติเหตุและการบาดเจ็บ ลูกจ้างจะไม่ได้รับสิทธิ์ในการดูแลจากกองทุนเงินทดแทนแต่อย่างใด 

บทสรุป

กองทุนเงินทดแทนจึงถือเป็นผลประโยชน์ของลูกจ้างที่ควรรู้และควรศึกษาเพื่อปกป้องสิทธิ์และเพื่อได้รับความเท่าเทียมไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบจากการทำงาน ตามพรบ.ว่าด้วยกองทุนเงินทดแทนฉบับล่าสุดปี 61 ซึ่งได้รวบรวมและตอบคำถามที่น่าสนใจไว้ครบตั้งแต่การทำความรู้จักกองทุนเงินไปจนถึงเงื่อนไขสิทธิประโยชน์และการคุ้มครองในกรณีต่าง ๆ รวมไปถึงการแจ้งเรื่องและยื่นเอกสารขอรับสิทธิซึ่งทางเราหวังว่าบทความนี้จะช่วยให้ลูกจ้างเข้าใจข้อมูลเกี่ยวกับกองทุนเงินทดแทนได้ดีมากยิ่งขึ้น