Tester ทํา อะไรบ้าง pantip

ตำแหน่งงาน Quality Assurance หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า QA อาจเป็นตำแหน่งที่ใครหลายๆ คนคิดว่า QA เป็นงานส่วนท้ายๆ ที่คอยทดสอบโปรแกรมหลังจาก Developer พัฒนาเสร็จ แต่จริงๆ แล้ว QA ต้องทำอะไรบ้าง จำเป็นต้องเขียน Code ไหม

Life at LINE MAN Wongnai บทความนี้จะพาทุกคนไปรู้จักกับคุณปอ ณัฐพร อ้นศิริ ซึ่งเป็น Senior Staff Engineer เพื่อรู้จักสายงาน QA กันให้มากขึ้น

แนะนำตัว

ชื่อปอนะคะ ตอนนี้เป็น Senior Staff Engineer ทำในส่วนของ Performance Test รวมถึงเป็นที่ปรึกษาหาทางออกเกี่ยวกับวิธีการทดสอบระบบให้ QA เป็นหลัก

เส้นทางการทำงาน

ตลอดชีวิตการทำงาน 15 ปี อยู่กับการเป็น QA มาตลอด สายงาน QA จะแบ่ง Career Path ได้ 2 สาย คือสายเทคนิค (Technical) รู้ลึกขึ้นไปเรื่อยๆ กับสายบริหารทีม (Management) เราชอบที่จะเรียนรู้เรื่องเทคนิคไปเรื่อยๆ ชอบเขียนโค้ด แต่ไม่ได้อยากอยู่ในสายงานพัฒนาซอฟต์แวร์ (Developer)

งานแรกเริ่มจากการทำ Automation คือการเขียนโค้ดเพื่อมาทดสอบระบบโปรแกรม ตอนนั้นทำเป็นระบบหลังบ้าน (Backend) ที่ไม่มีหน้าตาดีไซน์ให้ดู เวลาทดสอบต้องยิง API ขึ้นไปในระบบ แล้วดูผลลัพธ์จากตรงนั้น ทำให้ได้เรียนรู้เรื่อง Client-Server, Database เติมความรู้ด้านระบบหลังบ้าน (Backend) จนแน่น เราก็ขยับไปทำระบบหน้าบ้านบ้าง (Frontend) ทำให้ได้เรียนรู้เรื่องการทดสอบเว็บและดีไซน์ (UX/UI) เป็นฝั่งที่ใช้ความละเอียดสูง เข้าใจมุมของผู้ใช้งาน เราในฐานะคนทดสอบหน้าเว็บและแอป ถ้าการใช้งานไม่ราบรื่นหรือเข้าใจยาก เราควรให้ความเห็นกลับ เพราะการสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้ใช้ เป็นส่วนหนึ่งของงานเรา

เรามีประสบการณ์ 5 ปี จากระบบหลังบ้าน และประสบการณ์อีก 5 ปีจากระบบหน้าบ้าน พอเข้ามาทำ LINE MAN ที่ต้องรู้ทั้งระบบแบบครบลูป ทั้ง iOS, Android, LIFF (เว็บแอปใน LINE) รวมถึงระบบหลังบ้าน (Backend) ทำให้ได้ใช้ทักษะที่สะสมมาแบบเต็มที่

QA มีหน้าที่ต้องทำอะไรบ้าง

QA เป็นตัวแทนของทีมที่คอยเติมเต็มเรื่องคุณภาพเป็นหลัก ทั้งคุณภาพของแผนที่ระบุความต้องการ (Requirement) และตัวผลิตภัณฑ์จริง (Product) ที่จะส่งต่อให้ผู้ใช้งานว่าใช้งานได้จริง ไม่ติดปัญหา

ในมุมมองของ LINE MAN Wongnai หน้าที่ของ QA คือ

  • คนสร้างความมั่นใจ ว่าจะสามารถสร้างคุณภาพของระบบได้ตามที่ Product Manager และ Product Owner ต้องการ (Requirement)
  • คนวางแผนการทำงานและประเมินเวลาที่ต้องใช้ในการสร้างซอฟต์แวร์ (Planning)
  • คนสร้างความมั่นใจ ว่าซอฟต์แวร์จะสามารถใช้งานได้จริง ไม่เกิดข้อผิดพลาด (Testing)
  • คนสร้างความมั่นใจ ว่าทุกครั้งที่พัฒนาซอฟต์แวร์ ทุกฟีเจอร์เดิมจะยังสามารถใช้งานได้ปกติ (Regression Testing)
  • คนสร้างความมั่นใจ ว่าระบบจะสามารถใช้งานได้อย่างราบรื่นและรองรับผู้ใช้งานที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ได้ (Performance Testing)
QA ต่างจาก Tester อย่างไร ต้องเขียนโค้ดไหม

สิ่งที่ QA และ Tester ทำเหมือนกันคือการทำแผนการทดสอบ (Test Plan) เขียน Test Case เขียน Test Script จะเป็นแบบเขียนด้วยมือ (Manual Test) หรือเป็นชุดทดสอบอัตโนมัติ (Automate Test) ขึ้นอยู่แนวทางของบริษัทนั้นๆ

แต่สิ่งที่ QA ต้องมีเพิ่มขึ้นมา คือมีทักษะการบริหารจัดการ และการสื่อสาร เพราะเราต้องทำงานกับหลายฝ่าย ทั้ง Product Manager, UX/UI Designer และ Developer เพื่อปรับปรุงและพัฒนาระบบให้มีคุณภาพในวิธีการทำงานที่ดีที่สุด

จริงๆ QA ไม่จำเป็นต้องเขียนโค้ด ไม่จำเป็นต้องรู้จักทุกภาษา แต่จะดีกว่าถ้าเราสามารถอ่านโค้ดได้เข้าใจ และสิ่งสำคัญที่สุดคือต้องรู้รายละเอียดว่า “ระบบทำงานอย่างไร” ทำให้สั่งสมประสบการณ์ได้มากขึ้นเรื่อยๆ ในแต่ละโปรเจกต์ที่ทำ จนสามารถทำให้เป็นที่ปรึกษาที่ดีให้กับทีมได้

คนแบบไหนเหมาะกับการเป็น QA

เป็นคนขี้สงสัย ช่างถาม สามารถคิดคำถามแทนผู้ใช้ในหลากหลายมุมมองตามการใช้งานจริงอย่างเป็นระบบ ยกตัวอย่างคำถาม เช่น

  • ถ้าเปลี่ยนวิธีการใช้งาน (Flow) เป็นแบบนี้ จะสร้างความสับสนให้ผู้ใช้งานหรือเปล่า (User Experience)
  • เมื่อคลิกปุ่มนี้ สามารถแสดงผลให้เร็วกว่านี้ได้หรือไม่ หากไม่ได้ สามารถขึ้นสัญลักษณ์ให้ผู้ใช้งานรู้ว่ากำลังประมวลผลได้หรือไม่ (User Experience)
  • เราจะเก็บข้อมูลอะไรบ้างและเก็บอย่างไร เพื่อให้ทีม Data นำไปใช้ได้อย่างสะดวก
  • ระบบจะต้องรองรับจำนวนผู้ใช้งานเท่าไหร่ และต้องตอบสนองเร็วมากแค่ไหน (Load and Performance)

ชอบลองอะไรใหม่ๆ และลงมือทำ เนื่องจากมีเทคโนโลยีเกิดขึ้นใหม่เสมอ และสามารถสื่อสารกับคนในทีม และเขียน Action Plan ได้ว่าเราคาดหวังอะไรในมุมมองคุณภาพของซอฟต์แวร์

ตัวอย่าง Checklist เพื่อตรวจสอบว่าเราเป็น QA ที่ดีแล้วหรือยังพัฒนาตัวเองอย่างไรบ้าง

หน้าที่ของเราต้องตรวจสอบและอนุมัติก่อนก่อนปล่อยระบบให้ผู้ใช้งานเข้ามาใช้ สิ่งที่ทำให้เราพัฒนาตัวเองได้เร็วและเข้าใจระบบได้ดี คือ เราอ่านแทบทุกโค้ดที่มีการเปลี่ยนแปลง เพราะเราต้องการเข้าใจการทำงานของระบบทั้งหมด และตั้งคำถามเพื่อให้เข้าใจเนื้องานโดยละเอียดอยู่เสมอ เช่น ฟีเจอร์นี้ผู้ใช้จะเข้ามาจากทางไหนบ้าง ถ้าระบบหลังบ้านมีปัญหา หน้าจอต้องแสดงผลว่าอะไร เพื่อให้ทุกคนเข้าใจภาพรวมที่ตรงกัน

ส่วนการพัฒนาความรู้ในเชิงเทคนิค นอกเหนือจากการพยายามหาข้อมูลและศึกษาด้วยตนเองแล้ว เราจะปรึกษาเพื่อนร่วมงานที่มีความรู้ด้านนี้ นอกจากช่วยให้เราเข้าใจเรื่องนั้นๆ มากขึ้น ยังมีคำแนะนำที่ทำให้เราสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ด้วย

ชอบอะไรในการทำงานที่ LINE MAN Wongnai

เราทุกคนเคารพกันและกันอยู่เสมอ ไม่ว่าอยู่ตำแหน่งไหนก็ตาม น้องหรือเพื่อนร่วมงานบางคน อาจจะขาดความมั่นใจในเรื่องงานหรือกังวลกับความผิดพลาด แต่ที่ LINE MAN Wongnai เรามี #RespectEveryone เป็น Core Value ที่เรายึดถือ เราไม่โทษกันและกัน พอมีปัญหาจะช่วยกันหาทางแก้ มากกว่าหาคนทำผิด เพราะความผิดพลาดเป็นเรื่องปกติ และแก้ไขได้

เราช่วยกันแนะนำวิธีการทำงาน กล่าวชมหรือขอบคุณเมื่อเค้าช่วยเหลือเราเล็กๆ น้อยๆ และไม่ลืมที่จะกล่าวถึงเพื่อนร่วมงานที่มีส่วนช่วยให้เราทำงานนั้นๆ สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี Core Value ข้อนี้ทำให้ทุกคนทำงานร่วมกันอย่างมีความสุขและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

อ่านต่อเรื่อง วิวัฒนาการ Core Values ของ LINE MAN Wongnai

นี่เป็นเรื่องราวของหญิงเก่งมากประสบการณ์แห่งทีม Engineering ที่ LINE MAN Wongnai แม้ว่าปัจจุบัน Tech Industry มีสัดส่วนของผู้หญิงน้อยกว่า แต่ก็มากด้วยคุณภาพและประสบการณ์

หากสนใจงานสาย Software Engineer in Test หรือตำแหน่งอื่นๆ ใน Engineering Team ตอนนี้เรามี LINE MAN Wongnai Tech Fast Track Virtual Recruitment Program

สมัครก่อนรู้ผลก่อน ! สัมภาษณ์เร็วภายใน 7 วันทำการ Feedback Coding Test ทุกฉบับ !

สมัครได้ตั้งแต่วันนี้ ถึง 20 มีนาคม 2565 เปิดรับกว่า 250 อัตรา

ดูรายละเอียดและสมัครได้ที่ https://careers.lmwn.com/development

สัมภาษณ์และเรียบเรียงโดย Pawika Kanchanathammarong (Wow) — Senior Employer Branding and Social Media Strategist