อนาถบิณฑักเศรษฐีมีคุณธรรมอย่างไร

อนาถบิณฑิกเศรษฐี มีนามเดิมว่า“สุทัตตะ”ก่อนที่จะมอบศรัทธาแด่พระพุทธศาสนานั้น ท่านเศรษฐีเคยนับถือนักบวชปริพาชกมาก่อน จนวันหนึ่งท่านเดินทางไปหาสหาย ณ ต่างเมือง แล้วพบว่าบริวารของสหายต่างสาละวนตระเตรียมภัตตาหารสำหรับถวายพระพุทธเจ้าและพระสงฆ์ผู้ติดตาม ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีจึงเริ่มมีจิตเคารพในบารมีของพระพุทธเจ้าตั้งแต่บัดนั้น

ความเลื่อมใสที่มีต่อพระพุทธเจ้าทำให้ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีไม่อาจข่มตาให้หลับลงได้ จึงตัดสินใจเดินเท้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้า และมีโอกาสได้ฟังธรรมจากพระโอษฐ์ ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีจึงเกิดดวงตาเห็นธรรมบรรลุเป็นพระโสดาบันในคืนนั้นเอง

ด้วยศรัทธาที่มีต่อพระธรรมที่ได้สดับฟัง ท่านเศรษฐี จึงปวารณาตนเป็นพุทธมามกะ ตั้งใจอุทิศทั้งกำลังกายและกำลังทรัพย์เพื่อทำนุบำรุงพระศาสนาอย่างสุดกำลัง ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีประสงค์จะสร้างวัดในเขตเมืองสาวัตถีที่ตนอาศัยอยู่ เพื่อจะได้อัญเชิญพระพุทธเจ้าเสด็จมาประทับ แม้ว่าเจ้าเชตราชกุมารเจ้าของที่ดินจะมีเงื่อนไขว่าท่านเศรษฐีต้องนำเงินกหาปณะ(มาตราเงินในสมัยโบราณ 1 กหาปณะเท่ากับ 4 บาท) มาปูลาดให้เต็มพื้นที่ที่จะใช้สร้างวัดทั้งหมด

แต่ถึงกระนั้นศรัทธาของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีก็มิได้โยกคลอน ท่านทำตามเงื่อนไขที่ว่านั้นอย่างเต็มใจในที่สุดเมืองสาวัตถีจึงมีวัดที่สงบสงัดเหมาะจะใช้ต้อนรับพระพุทธเจ้าและพระสาวกอนาถบิณฑิกเศรษฐีตั้งชื่อวัดนี้ว่า “วัดพระเชตวันมหาวิหาร”เพื่อเป็นเกียรติแก่เจ้าเชตราชกุมาร

การสร้างวัดครั้งนั้น ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีสละทรัพย์สินไปจำนวนมหาศาล แต่ภารกิจที่ท่านปวารณาตนเพื่อพุทธศาสนานั้นยังไม่สิ้นสุด ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐียังคงเดินหน้ารับใช้พระศาสนาอย่างเต็มที่ ท่านมีดำริจะสร้างกัปปียกุฎี (เรือนเก็บของ) วัจกุฎี (ส้วม) สระโบกขรณี (สระบัว) แม้แต่ศาลารายที่พระสงฆ์ใช้สำหรับค้างแรมในยามจาริกเดินทาง ก็ถือเป็นภารกิจที่ท่านเศรษฐีน้อมรับอย่างเต็มใจ

แม้ทรัพย์สมบัติจะพร่องไปจากเดิม หนำซ้ำท่านยังถูกพ่อค้าต่างเมืองโกงทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก แต่นั่นมิได้ทำให้ความใจบุญสุนทานของท่านเศรษฐีลดน้อยถอยลงองค์ทานของท่านยังคงมีจำนวนเท่าเดิม แต่ลดคุณภาพลงบ้างตามกำลังทรัพย์ แต่จิตใจของท่านยังคงตั้งมั่นในการบำเพ็ญทานอย่างเสมอต้นเสมอปลาย ในที่สุดเทวดาที่สถิตในซุ้มประตูที่เคยไม่เห็นด้วยกับการให้ทานของท่านเศรษฐีก็เข้าใจในเจตนาของท่าน และจำแลงกายไปทวงเงินคืนให้แก่ท่านเศรษฐี เพื่อเป็นการไถ่โทษที่เคยพยายามขัดขวางการให้ทานของท่านเศรษฐี

นอกจากนี้ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐียังสนับสนุนให้ลูกเมียและญาติมิตรบริวารถืออุโบสถศีล และพยายามออกอุบายให้บุตรชายที่มีจิตใจห่างเหินจากพระพุทธศาสนาได้มีโอกาสเข้าถึงรสพระธรรม ผู้คนที่แวดล้อมเศรษฐีท่านนี้ จึงได้อยู่ในวงล้อมแห่งบุญที่ท่านบำเพ็ญอยู่เป็นนิจไปด้วย

เรื่องราวของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีน่าจะทำให้หลายคนฉุกคิดว่า แม้จะมีชีวิตร่ำรวยหรูหรา แต่ท่านเศรษฐีก็มิได้ลุ่มหลงไปกับลาภยศสรรเสริญ หากพิจารณาจากศรัทธาที่ท่านมอบแด่พุทธศาสนาและน้ำจิตน้ำใจที่ท่านมีให้เพื่อนมนุษย์จะพบว่า ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีได้น้อมนำหลักธรรม เช่น การประกอบสัมมาอาชีพและการให้ทานมาปฏิบัติเพื่อให้ชีวิตทางโลกสุขสงบได้อย่างแท้จริง

เรื่อง อิสระพร บวรเกิด


บทความที่น่าสนใจ

ไข 7 ข้อคาใจเกี่ยวกับการทำบุญ

หลักการให้ทาน 3 ประการ ที่ทำให้ทานสมบูรณ์แบบ

1 บาท รักษาทุกโรค! คุณสุรัตน์ วงศ์ชาญศิลป์

7 คมความคิดของแจ็ค หม่า มหาเศรษฐีผู้ประสบความสำเร็จระดับโลก

จอห์น พอล โจนส์ เดอโจเรีย จากคนไร้บ้านสู่มหาเศรษฐีพันล้าน

กว่าจะมีวันนี้ “ โจว ฉุนเฟย ” เศรษฐีจีน ผู้เป็นต้นแบบของความเพียร

7 วลีเด็ดสู่ความสำเร็จของ มหาเศรษฐีฟอร์บส

10 แนวคิดโดนใจจาก วอร์เรน บัฟเฟตต์ มหาเศรษฐีระดับโลก

กชพรรณ วิรุฬห์รักษ์สกุล จากแม่ค้าเร่สู้ชีวิต สู่เศรษฐีร้อยล้าน

 

Secret คือแรงบันดาลใจ
สั่งซื้อนิตยสารหรือสมัครสมาชิก Secret ได้ที่ 0-2423-9889
ทาง Naiin.com : https://www.naiin.com/magazines/title/SC/

ธรรมะ

Secret Magazine Thailand ซีเคร็ต มหาสาวก มหาอุบาสก วัดพระเชตวันมหาวิหาร อนาถบิณฑิกเศรษฐี เศรษฐีสมัยพุทธกาล

ประวัติอนาถบิณฑิกะ



                        อนาถบิณฑิกะ เดิมมีชื่อว่า “สุทัตตะ” เป็นบุตรชายของเศรษฐีชื่อสุมนะ ในเมืองสาวัตถี ซึ่งเป็นเมืองหลวงของแคว้นโกศล ส่วนมารดาไม่ปรากฏนาม คำว่า “อนาถบิณฑิกะ” เป็นชื่อที่เกิดจากคุณธรรมของท่าน เนื่องจากท่านเป็นคนใจบุญสุนทาน โดยได้ตั้งโรงทานให้ทานแก่ยาจกวณิพกเป็นประจำ คนทั้งหลายจึงเรียกว่าอนาถบิณฑิกะ แปลว่า ผู้มีก้อนข้าวเพื่อคนอนาถา ภายหลังต่อมาท่านได้รับแต่งตั้งจากทางราชการสมัยนั้นให้อยู่ในตำแหน่งเศรษฐี โดยการสืบทายาทจากบิดาของท่าน ท่านจึงได้รับการเรียกชื่อว่า อนาถบิณฑิกเศรษฐี

                     อนาถบิณฑิกเศรษฐีได้มาพบและได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าที่เมืองราชคฤห์ เมืองหลวงของแคว้นมคธ เหตุที่ได้เข้าเฝ้าเนื่องจากท่านได้มาทำกิจธุระเกี่ยวกับการค้าขายที่นี้และได้พักกับเพื่อนสนิทคนหนึ่งที่มีฐานะเป็นเศรษฐีเหมือนกัน และวันนั้นท่านได้เห็นคนในบ้านตระเตรียมอาหารเพื่อถวายแด่พระพุทธเจ้าและภิกษุสงฆ์ในวันรุ่งขึ้น จึงสอบถามเมื่อได้ฟังเรื่องราวจากเศรษฐีผู้เป็นเพื่อนแล้ว ก็เกิดความรู้สึกดีใจที่ได้ทราบว่ามีพระพุทธเจ้าบังเกิดขึ้นแล้ว ได้ไปเฝ้าพระพุทธเจ้าซึ่งขณะนั้นพระองค์ทรงประทับอยู่ที่สีตวัน หรือป่าไม้สีเสียดใกล้กับพระเวฬุวัน ได้ฟังธรรมของพระพุทธเจ้า จนสำเร็จมรรคผลเป็นอริยบุคคลขั้นโสดาบัน ประกาศตนเป็นอุบาสกนับถือพระรัตนตรัยด้วยศรัทธามั่นคง

                อนาถบิณฑิกเศรษฐีได้กราบทูลอาราธนาพระพุทธเจ้าให้เสด็จไปยังเมืองสาวัตถี เพื่อประกาศพระศาสนา พระพุทธเจ้าทรงรับคำทูลอาราธนา เมื่อท่านกลับมายังเมืองสาวัตถีแล้วได้วางแผนเตรียมการใหญ่ในการที่จะถวายการต้อนรับพระพุทธเจ้าพร้อมภิกษุสงฆ์ที่จะเสด็จไปเมืองสาวัตถี การวางแผนนั้นมี 2 ประการ คือ
1. สร้างที่พักค้างคืนระหว่างทางจากเมืองราชคฤห์ ถึงเมืองสาวัตถีไว้เป็นระยะ ๆ พร้อมกับเตรียมอาหารไว้ถวายทุกแห่งด้วย
2. เตรียมสร้างที่ประทับถาวรไว้ที่เมืองสาวัตถี โดยการขอซื้อสวนของเจ้าชายองค์หนึ่งที่เมืองสาวัตถี นามว่า เจ้าเชต ซึ่งมีบริเวณกว้างใหญ่ ซึ่งเจ้าเชตได้ตกลงขายสวนป่าแห่งนี้แก่อนาถบิณฑิกเศรษฐี เมื่อซื้อได้แล้ว ท่านได้สร้างเสนาสนะคือที่อยู่อาศัยสำหรับพระพุทธเจ้าและพระสงฆ์ อาคารที่พักทั้งหมดเรียกว่า วิหาร แปลว่า วัด และตั้งชื่อวัดนี้ว่า “เชตวัน”

                  เมื่องานทุกอย่างเสร็จแล้ว อนาถบิณฑิกเศรษฐีได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปกราบทูลพระพุทธเจ้าและพระสงฆ์ พระพุทธเจ้าได้เสด็จไปยังเมืองสาวัตถีพร้อมด้วยพระสงฆ์สาวกจำนวนมาก อนาถบิณฑิกเศรษฐีพร้อมด้วยชาวเมืองได้รับเสด็จพระพุทธเจ้าและพระสงฆ์สาวกอย่างยิ่งใหญ่ ได้ถวายอาหารบิณฑบาตแด่พระสงฆ์ทุกวัน นอกจากนี้อนาถบิณฑิกเศรษฐียังได้รับเชิญไปให้คำแนะนำและจัดการงานบุญกุศลที่ชาว เมืองสาวัตถีเขาจัดทำเป็นประจำ เมื่อท่านไม่อยู่บ้านก็มอบหมายให้สุภัททาซึ่งเป็นลูกสาวคนโตช่วยจัดการถวายทานที่บ้านแทน เมื่อลูกสาวคนโตแต่งงานไปอยู่บ้านสามี ก็มอบหมายให้จูฬสุภัททาลูกสาวคนรองรับหน้าที่แทน ครั้นลูกสาวคนรองแต่งงานไปอยู่บ้านสามี ก็มอบให้สุมนาลูกสาวคนเล็กรับหน้าที่สืบแทน
อนาถบิณฑิกเศรษฐีได้ทำตนเป็นผู้อุปัฏฐากบำรุงพระพุทธศาสนาเป็นเวลานาน ท่านจึงเป็นคนที่ได้รับประทานของอร่อยด้วยมือตนเองก่อน แล้วก็ต้องการให้บุคคลอื่นได้รับประทานของอร่อยด้วยเช่นนั้นบ้าง จึงได้พยายามเชิญชวน ชักชวนเพื่อนฝูงที่คุ้นเคยสนิทสนมกันให้มาสนใจฟังธรรมะ ปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนาเป็นจำนวนมาก จนคนเหล่านั้นได้ประพฤติปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบอำนวยผลให้มีความสุขโดยทั่วกัน
อนาถบิณฑิกเศรษฐีได้รับการยกย่องจากพระพุทธเจ้าว่าเป็น “อัครสาวก” ในบั้นปลายชีวิต ท่านป่วยหนัก ได้ให้คนไปนิมนต์
 พระสารีบุตรมาเทศน์โปรด พระสารีบุตรได้แสดงธรรมะระดับวิปัสสนากรรมฐาน เพื่อให้ท่านเกิดความปีติปราโมทย์ในชีวิตของท่าน และเข้าใจความจริงของชีวิตทุกชีวิตที่เกิดมาว่าจะต้องเป็นอย่างนี้เอง ทำให้ท่านลดความเจ็บปวดของโรคไปได้ เพราะไม่ให้ความสำคัญแก่โรคที่กำลังเสียดแทงท่านอยู่ และจิตใจของท่านมาจดจ่ออยู่ที่ธรรมะ เมื่อพระเถระลากลับไปแล้ว อนาถบิณฑิกเศรษฐีก็ถึงแก่นธรรมด้วยอาการสงบ

                   คุณธรรมที่ควรถือเป็นแบบอย่าง

1. เป็นผู้มั่นคงในการทำบุญ อนาถบิณฑิกเศรษฐีเป็นผู้มีความมั่นคงในการทำบุญตั้งแต่ยังเยาว์วัย เป็นคนใจบุญสุนทานมาก ชอบทำบุญกุศลโดยเฉพาะการให้ทานและฟังธรรมเป็นประจำ
2. เป็นทายกตัวอย่าง ท่านเป็นผู้ที่ทำหน้าที่ของชาวพุทธได้อย่างยอดเยี่ยม กล่าวคือ การอุปถัมภ์บำรุงพระสงฆ์ การชักชวนมหาชนให้ทำบุญกุศล ด้วยการให้ทาน และเมื่อบ้านใดมีกิจการงานบุญเกิดขึ้น ท่านมักจะได้รับการเชื้อเชิญให้ไปร่วมงานบุญนั้น ๆ อยู่เสมอ ๆ นอกจากนั้น ท่านยังชักชวนให้เพื่อนสนิทมิตรสหายตลอดจนบริวารให้หมั่นสดับตรับฟังธรรมะ เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติให้เกิดผล แห่งการปฏิบัติอย่างแท้จริง นับว่าเป็นทายกที่เป็นแบบอย่างคนหนึ่ง