โครงงานคอมพิวเตอร์มีอยู่ 5 ประเภท อะไรบ้าง

เสริมสร้างประสบการณ์ให้ผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติจริง   ส่งผลทำให้เกิดความริเริ่มสร้างสรรค์ในการทำโครงงานใหม่ๆที่จะนำไปสู่โลกของงานอาชีพและการศึกษา อีกทั้งโครงงานที่ตนเองสนใจยังก่อให้เกิดองค์ความรู้ที่กว้างขวาง เป็นการประสานงานทางวิชาการระหว่างกลุ่มสาระการเรียนรู้ต่างๆ

 ตัวบ่งชี้การเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ

ศูนย์พัฒนาการเรียนการสอนสำนักงานการศึกษาแห่งชาติ  ได้พัฒนาตัวบ่งชี้การเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ กำหนดตัวบ่งชี้การเรียนของผู้เรียน 9  ข้อและตัวบ่งชี้การสอนของครู 10 ข้อดังนี้


ตัวบ่งชี้การเรียนของผู้เรียน

1.  ผู้เรียนมีประสบการณ์ตรงสัมพันธ์กับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

2.   ผู้เรียนฝึกปฏิบัติจนค้นพบความถนัดและวิธีการของตนเอง

3.   ผู้เรียนทำกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากกลุ่ม

4.   ผู้เรียนฝึกคิดหลากหลายและสร้างสรรค์จินตนาการ ได้แสดงออกอย่างชัดเจนและมีเหตุผล

5.   ผู้เรียนได้รับการเสริมแรงให้ค้นคว้าหาคำตอบ  แก้ปัญหาทั้งด้วยตนเองและร่วมกับเพื่อนๆ

6.   ผู้เรียนได้ฝึกค้นคว้า  รวบรวมข้อมูลและสร้างสรรค์ความรู้ด้วยตนเอง

7.   ผู้เรียนเลือกทำกิจกรรมตามความสามารถ  ความถนัด  ความสนใจอย่างมีความสุข

8.   ผู้เรียนฝึกตนเองให้มีวินัยและมีความรับผิดชอบในการทำงาน

9.   ผู้เรียนฝึกประเมิน  ปรับปรุงตนเองและยอมรับผู้อื่น  และสนใจใฝ่หาความรู้อย่างต่อเนื่อง

ตัวบ่งชี้การสอนของครู

1. ครูเตรียมการสอนทั้งเนื้อหาและวิธีการ

2. ครูจัดสิ่งแวดล้อมและบรรยากาศที่ปลุกเร้า  จูงใจและเสริมแรงให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้

3. ครูเอาใจใส่นักเรียนเป็นรายบุคคลและแสดงความเมตตาต่อนักเรียนอย่างทั่วถึง

4. ครูจัดกิจกรรมและสถานการณ์ให้ผู้เรียนได้แสดงออกและคิดอย่างสร้างสรรค์

5. ครูส่งเสริมให้ผู้เรียนฝึกคิด  ฝึกทำและฝึกปรับปรุงตนเอง

6. ครูส่งเสริมกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากกลุ่มสังเกตข้อดีและปรับปรุงข้อด้อยของผู้เรียน

7. ครูใช้สื่อเพื่อฝึกการคิด  การแก้ปัญหา  และการค้นพบความรู้

8. ครูให้แหล่งเรียนรู้ที่หลากหลายและเชื่อมโยงกับประสบการณ์จริง

9. ครูฝึกฝนกิริยามารยาทและวินัยตามวิถีวัฒนธรรมไทย

10. ครูสังเกตและประเมินพัฒนาการของผู้เรียนอย่างต่อเนื่อง


2.ความหมายของโครงงานคอมพิวเตอร์
โครงงานคอมพิวเตอร์ 
     หมายถึง กิจกรรมการเรียนที่นักเีรียนมีอิสระในการเลือกศึกษาปัญหาที่ตนเองสนใจ โดยจะต้องวางแผนการดำเนินงาน ศึกษา พัฒนาโปรแกรม โดยใช้ความรู้ทางกระบวนการวิศวกรรมซอฟต์แวร์ เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนทักษะพื้นฐานในการพัฒนาโครงงาน เรื่องที่นักเรียนสนใจและคิดจะทำโครงงาน ซึ่งอาจมีผู้ศึกษามาก่อน หรือเป็นเรื่องที่นักพัฒนาโปรแกรมได้เคยค้นคว้าและพัฒนาแล้ว นักเรียนสามารถทำโครงงานเรื่องดังกล่าวได้ แต่ต้องคิดดัดแปลงแนวทางในการศึกษา การวิเคราะห์ข้อมูล การพัฒนาโปรแกรม หรือศึกษาเพิ่มเติมจากผลงานเดิมที่มีผู้รายงานไว้ จุดมุ่งหมายสำคัญของการทำโครงงานเป็นการเปิดโอกาสให้นักเรียนได้รับประสบการณ์ตรงในการใช้ระบบคอมพิวเตอร์แก้ปัญหา ประดิษฐ์คิดค้น หรือค้นคว้าหาความรู้ต่างๆ ใช้คอมพิวเตอร์ในการพัฒนาสื่อการเรียนรู้เพื่อการศึกษา ประดิษฐ์ฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ หรืออุปกรณ์ใช้สอยต่างๆ พัฒนาโปรแกรมประยุกต์ต่างๆ ตลอดจนการพัฒนาเกมคอมพิวเตอร์ เพื่อฝึกให้นักเรียนเป็นบุคคลที่ใฝ่เรียนใฝ่รู้ การพัฒนาความคิดใหม่ๆ ความมีคุณธรรมจริยธรรม เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ให้กับเพื่อนมนุษย์ และอยู่ในสังคมอย่างมีความสุข

3.ประเภทของโครงงานคอมพิวเตอร์

ประเภทของโครงงานคอมพิวเตอร์
     คอมพิวเตอร์ เป็นเครื่องมือที่ใช้ในงานวิจัยในทุก ๆ สาขาวิชา ดังนั้นโครงงานคอมพิวเตอร์จึงมีความหลากหลายเป็นอย่างมาก ทั้งในลักษณะของเนื้อหา กิจกรรม และลักษณะของประโยชน์หรือผลงานที่ได้ ซึ่งอาจแบ่งเป็นประเภทใหญ่ ๆ ได้ 5 ประเภท คือ

     1. โครงงานพัฒนาสื่อเพื่อการศึกษา (Educational Media)
     2. โครงงานพัฒนาเครื่องมือ (Tools Development)
     3. โครงงานประเภทจำลองทฤษฎี (Theory Experiment)
     4. โครงงานประเภทการประยุกต์ใช้งาน (Application)
     5. โครงงานพัฒนาเกม (Game Development)

โครงงานคอมพิวเตอร์มีอยู่ 5 ประเภท อะไรบ้าง

1.โครงงานพัฒนาสื่อเพื่อการศึกษา (Educational Media)

     เป็นโครงงานที่ใช้คอมพิวเตอร์ในการผลิตสื่อเพื่อการศึกษา โดยการสร้างโปรแกรมบทเรียน หรือหน่วยการเรียน ซึ่งอาจจะต้องมีภาคแบบฝึกหัด บททบทวน และคำถามคำตอบไว้พร้อม ผู้เรียนสามารถเรียนแบบรายบุคคลหรือรายกลุ่ม การสอนโดยใช้คอมพิวเตอร์ช่วยนี้ ถือว่าเครื่องคอมพิวเตอร์เป็นอุปกรณ์การสอน ไม่ใช่เป็นครูผู้สอน ซึ่งอาจเป็นการพัฒนาบทเรียนแบบ Online ให้นักเรียนเข้ามาศึกษาด้วยตนเองก็ได้
     โครงงานประเภทนี้สามารถพัฒนาขึ้นเพื่อใช้ประกอบการสอนในวิชาต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสาขาคอมพิวเตอร์ วิชาคณิตศาสตร์ วิชาวิทยาศาสตร์ วิชาสังคม วิชาชีพอื่น ๆ ฯลฯ โดยนักเรียนอาจคัดเลือกหัวข้อที่นักเรียนทั่วไปที่ทำความเข้าใจยาก มาเป็นหัวข้อในการพัฒนาโปรแกรมบทเรียน ตัวอย่างเช่น โปรแกรมสอนวิธีการใช้งาน ระบบสุริยะจักรวาล โปรแกรมแบบทดสอบวิชาต่าง ๆ
         
2.โครงงานพัฒนาเครื่องมือ (Tools Development)
         
     เป็นโครงงานเพื่อพัฒนาเครื่องมือมาใช้ช่วยสร้างงานประยุกต์ต่าง ๆ ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะเป็นในรูปซอฟต์แวร์ ตัวอย่างของเครื่องมือช่วยงาน เช่น ซอฟต์แวร์วาดรูป ซอฟต์แวร์พิมพ์งาน ซอฟต์แวร์ช่วยการมองวัตถุในมุมต่าง ๆ เป็นต้น สำหรับซอฟต์แวร์เพื่อการพิมพ์งานนั้นสร้างขึ้นเป็นโปรแกรมประมวลผลภาษา ซึ่งจะเป็นเครื่องมือให้เราใช้งานในงานพิมพ์ต่าง ๆ บนเครื่องคอมพิวเตอร์เป็นไปได้โดยง่าย ซึ่งรูปที่ได้สามารถนำไปใช้งานต่าง ๆ ได้มากมาย สำหรับซอฟต์แวร์ช่วยในการมองวัตถุในมุมต่าง ๆ ใช้สำหรับช่วยในการออกแบบสิ่งของต่าง ๆ เช่น โปรแกรมประเภท 3D
         
3. โครงงานประเภทจำลองทฤษฎี (Theory Experiment)
 
     เป็นโครงงานใช้คอมพิวเตอร์ในการจำลองการทดลองของสาขาต่าง ๆ เป็นโครงงานที่ผู้ทำต้องศึกษารวบรวมความรู้ หลักการ ข้อเท็จจริงและแนวความคิดต่าง ๆ อย่างลึกซึ้งในเรื่องที่ต้องการศึกษา แล้วเสนอเป็นแนวคิด แบบจำลอง หลักการ ซึ่งอาจอยู่ในรูปของสมการ สูตร หรือคำอธิบายก็ได้ พร้อมทั้งนำเสนอวิธีการจำลองทฤษฎีด้วยคอมพิวเตอร์ การทำโครงงานประเภทนี้มีจุดสำคัญอยู่ที่ผู้ทำต้องมีความรู้เรื่องนั้น ๆ เป็นอย่างดี ตัวอย่าง เช่น การทดลองเรื่องการไหลของเหลว การทดลองเรื่องพฤติกรรมของปลาอโรวาน่า ทฤษฎีการแบ่งแยกดีเอ็นเอ เป็นต้น
 
4. โครงงานประเภทการประยุกต์ใช้งาน(Application)

     เป็นโครงงานที่ใช้คอมพิวเตอร์ในการสร้างผลงานเพื่อประยุกต์ใช้งานจริงในชีวิตประจำวัน เช่น ซอฟต์แวร์สำหรับการออกแบบและตกแต่งอาคาร ซอฟต์แวร์สำหรับการผสมสี ซอฟต์แวร์สำหรับการระบุคนร้าย เป็นต้น โครงงานงานประเภทนี้จะมีการประดิษฐ์ฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ หรืออุปกรณ์ใช้สอยต่าง ๆ ซึ่งอาจจะสร้างใหม่หรือปรับปรุงดัดแปลงของเดิมที่มีอยู่แล้วให้มี ประสิทธิภาพสูงขึ้นก็ได้ โครงงานลักษณะนี้จะต้องศึกษาและวิเคราะห์ความต้องการของผู้ใช้ก่อน แล้วนำข้อมูลที่ได้มาใช้ในการออกแบบ และพัฒนาสิ่งของนั้น ๆ ต่อจากนั้นต้องมีการทดสอบการทำงานหรือทดสอบคุณภาพของสิ่งประดิษฐ์แล้วปรับปรุงแก้ไขให้มีความสมบูรณ์ โครงงานประเภทนี้นักเรียนต้องใช้ความรู้เกี่ยวกับเครื่องคอมพิวเตอร์ ภาษาโปรแกรม และเครื่องมือต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งอาจใช้วิธีทางวิศวกรรมฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ในการพัฒนาด้วย

5. โครงงานพัฒนาเกม (Game Development)
         
     เป็นโครงงานพัฒนาซอฟต์แวร์เกมเพื่อความรู้ และ/หรือ ความเพลิดเพลิน เช่น เกมหมากรุก เกมหมากฮอส เกมการคำนวณเลข ซึ่งเกมที่พัฒนาขึ้นนี้น่าจะเน้นให้เป็นเกมที่ไม่รุนแรง เน้นการใช้สมองเพื่อฝึกคิดอย่างมีหลักการ โครงงานประเภทนี้จะมีการออกแบบลักษณะและกฎเกณฑ์การเล่น เพื่อให้น่าสนใจเก่ผู้เล่น พร้อมทั้งให้ความรู้สอดแทรกไปด้วย ผู้พัฒนาควรจะได้ทำการสำรวจและรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับเกมต่าง ๆ ที่มีอยู่ทั่วไปและนำมาปรับปรุงหรือพัฒนาขึ้นใหม่เพื่อให้ป็นเกมที่แปลกใหม่ และน่าสนใจแก่ผู้เล่นกลุ่มต่าง ๆ

4.ขั้นตอนการพัฒนาโครงงานคอมพิวเตอร์

ขั้นตอนการพัฒนาโครงงาน

                    การจัดทำโครงงานคอมพิวเตอร์ ถือเป็นกระบวนการในการทำงานที่้ต้องดำเนินการอย่างเป็นลำดับขั้นตอน เพื่อให้เกิดประโยชน์มากที่สุดต่อการพัฒนาโครงงานคอมพิวเตอร์ โดยมีขั้นตอนดังต่อไปนี้

 1.  การคัดเลือกหัวข้อโครงงาน

         หัวข้อส่วนใหญ่ที่นำมาพัฒนาเป็นโครงงานคอมพิวเตอร์ มักจะได้มาจากปัญหา คำถาม หรือความสนใจในเรื่องต่าง ๆ การสังเกตต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบคอมพิวเตอร์หรือสิ่งต่าง ๆ รอบตัว

       ปัญหาที่นำมาพัฒนาโครงงานคอมพิวเตอร์นั้นได้จากแหล่งที่ต่างกัน ได้แก่ การอ่านค้นคว้าจากหนังสือ เอกสาร หนังสือพิมพ์ หรือวารสารต่าง ๆ การไปเยี่ยมชมสถานที่ต่าง ๆ การฟังบรรยายทางวิชาการ รายการทางวิทยุและโทรทัศน์ ข้อมูลข่าวสารจากอินเทอร์เน็ต รวมทั้งการสนทนา อภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างเพื่อนนักเรียนหรือกับบุคคลอื่น ๆ กิจกรรมการเรียนการสอนในโรงเรียน งานอดิเรกของนักเรียน การเข้าชมงานนิทรรศการหรืองานประกวดโครงงานคอมพิวเตอร์

  2. การศึกษาค้นคว้าจากเอกสารและแหล่งข้อมูล

     การศึกษาจากเอกสารและแหล่งข้อมูล รวมถึงการขอความปรึกษาจากผู้ทรงคุณวุฒิจะช่วยให้เกิดแนวคิดในการกำหนดขอบเขตของเรื่องที่จะศึกษาได้เฉพาะเจาะจงมากยิ่งขึ้นและได้ความรู้เพิ่มเติมในเรื่องที่จะศึกษา จนสามารถใช้ออกแบบและการวางแผนดำเนินการทำโครงงานได้อย่างเหมาะสม

      ในการศึกษาค้นคว้าจากเอกสารและแหล่งข้อมูลจะต้องได้คำตอบว่า จะทำอะไร ทำไมต้องทำ ต้องการให้เกิดอะไร ทำอย่างไร ใช้ทรัพยากรอะไร ทำกับใคร และจะเสนอผลงานอย่างไร

 3. การจัดทำข้อเสนอโครงงาน

 การจัดทำข้อเสนอโครงงานเป็นการจัดทำเค้าโครงของโครงงานเพื่อเสนอครูที่ปรึกษา โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้

  3.1 ศึกษาค้นคว้าเอกสารอ้างอิง และรวบรวบรวมข้อมูลที่ได้จากผู้ทรงคุณวุฒิ

  3.2 วิเคราะห์ข้อมูล เพื่อกำหนดขอบเขตและลักษณะของโครงงานที่จะพัฒนา

  3.3 ออกแบบการพัฒนา มีการกำหนดลักษณะของเครื่องคอมพิวเตอร์ ซอฟต์แวร์และตัวแปลภาษาโปรแกรม และอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ต้องใช้

  3.4 กำหนดตารางการปฏิบัติงานของการจัดทำเค้าโครงของโครงงาน ลงมือทำโครงงานและสรุปรายงานโครงงาน โดยกำหนดช่วงเวลา
  อย่างกว้าง

  3.5 ทำการพัฒนาโครงงานขั้นต้น เพื่อศึกษาความเป็นไปได้เบื้องต้น โดยอาจจะทำการพัฒนาส่วนย่อย ๆ บางส่วน ตามที่ได้ออกแบบไว้แล้ว นำผลจากการศึกษาในช่วงนี้ไปปรับปรุงแผนการทดลองที่ออกแบบไว้ในครั้งแรกให้เหมาะสมมากยิ่งขึ้น

  3.6 เสนอเค้าโครงของโครงงานคอมพิวเตอร์ต่อครูทึ่ปรึกษา เพื่อขอคำแนะนำปรับปรุงแก้ไข เพราะในการวางแผนการศึกษา ความคิดของนักเรียนอาจจะไม่ครอบคลุมทุกด้านเนื่องจากยังขาดประสบการณ์ จึงควรถ่ายทอดความคิดที่ได้ศึกษาและบันทึกไว้ให้ครูทราบเพื่อรับคำแนะนำ และนำไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์


   เมื่อผู้เรียนได้ศึกษาเอกสารอ้างอิงต่าง ๆ และเลือกเรื่องที่จะทำโครงงานคอมพิวเตอร์รวมทั้งวางแผนการทำโครงงานทุกขั้นตอนเรียบร้อยแล้ว จึงทำการเขียนเค้าโครงของโครงงานเพื่อใช้เป็นกรอบแนวคิดและแนวทางในการทำโครงงานคอมพิวเตอร์

  นอกจากจะต้องใช้หลักการทางวิชาการในการวางแผนทำโครงงานแล้ว ยังต้องมีข้อตกลงและเงื่อนไขต่าง ๆ เช่น การขออนุญาตใช้ห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ การจัดหาซอฟต์แวร์ที่มีลิขสิทธิ์ เครื่องมือและตัวแปลภาษาโปรแกรม เพื่อช่วยให้การทำโครงงานดำเนินไปอย่างราบรื่น โดยมีองค์ประกอบเค้าโครงของโครงงานคอมพิวเตอร์ ดังนี้

       1.  ชื่อโครงงาน  ต้องสื่อว่าทำอะไรกับใคร เพื่ออะไร เช่น โครงงานพัฒนาสื่อเพื่อการศึกษา โครงงานพัฒนาเครื่องมือ

       2. ชื่อผู้จัดทำ  ระบุถึงผู้รับผิดชอบโครงงานอาจเป็นรายกลุ่มหรือรายบุคคลก็ได้

       3. ครูที่ปรึกษา ระบุชื่อ สกุลของครูที่ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาควบคุมการทำโครงงานของนักเรียน

       4. ระยะเวลาดำเนินงาน  ให้ระบุเวลาตั้งแต่เริ่มทำโดยใช้ซอฟต์แวร์ที่ช่วยในการบริหารจัดการเพื่อใช้วางแผนควบคุมการทำงาน

       5. แนวคิด ที่มา อธิบายถึงสาเหตุที่เลือกทำโครงงาน กล่าวถึงความต้องการและความคาดหวังที่จะเกิดผล

       6. วัตถุประสงค์ ระบุสิ่งที่ต้องการให้เกิดขึ้นเมื่อสิ้นสุดโครงงานนี้ในเชิงกระบวนการและผลลัพธ์ที่ได้

       7. หลักการทฤษฎี อธิบายหลักการและทฤษฎีที่เกี่ยวข้องที่นำมาใช้ในโครงงาน

       8. วิธีดำเนินงาน กล่าวถึงกิจกรรมหรือขั้นตอนการดำเนินงาน

       9. ขั้นตอนปฏิบัติ กล่าวถึงวันเวลาและการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ตั้งแต่เริ่มต้นจนเสร็จสิ้น

       10. ผลที่คาดว่าจะได้รับ  ระบุถึงสภาพของผลที่ต้องการให้เกิด รวมถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น

       11. เอกสารอ้างอิง ระบุชื่อเอกสารข้อมูลที่ได้จากแหล่งต่าง  ๆ ที่นำมาใช้ในการดำเนินงาน

  4. การพัฒนาโครงงาน

      เมื่อเค้าโครงของโครงงานได้รับความเห็นชอบของครูที่ปรึกษาแล้ว ขั้นตอนต่อไปจึงเป็นการลงมือพัฒนาโครงงานตามขั้นตอนที่วางไว้ เช่น จัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์ให้พร้อม รวมทั้งการกำหนดหน้าที่ ความรับผิดชอบของสมาชิกในกลุ่มให้ชัดเจน แล้วจึงดำเนินการทำโครงงาน ขณะเดียวกันต้องมีการทดสอบ ตรวจสอบ ปรับปรุงแก้ไข เพื่อพัฒนาโครงงานเป็นระยะ ๆ เพื่อให้แน่ใจว่าผลงานที่พัฒนาขึ้นนั้น ทำงานได้ถูกต้องตรงกับความต้องการที่ระบุไว้ในเป้าหมายและเกิดประสิทธิภาพตามขั้นตอนดังนี้

      4.1 การเตรียมการ ต้องเตรียมเครื่องคอมพิวเตอร์ ซอฟต์แวร์และวัสดุอื่น ๆ ที่ใช้ในการพัฒนาให้พร้อมและควรเตรียมสมุดบันทึกหรือบันทึกเป็นแฟ้มข้อความไว้ในระบบคอมพิวเตอร์ สำหรับบันทึกการทำกิจกรรมต่าง ๆ ระหว่างทำโครงงาน ได้แก่ การดำเนินการเป็นอย่างไร ได้ผลอย่างไร มีปัญหาและแก้ไขได้หรือไม่อย่างไร รวมทั้งข้อสังเกตต่าง ๆ ที่พบ

      4.2 การลงมือพัฒนา เป็นการปฏิบัติตามแผนที่วาง ไว้ในเค้าโครง ซึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มเติมได้ หากพบว่าจะช่วยทำให้ผลงานพัฒนาได้ดีขึ้น โดยจัดระบบการทำงานโดยทำส่วนที่เป็นหลักสำคัญให้เสร็จก่อน จึงค่อยทำส่วนที่เป็นส่วนประกอบหรือส่วนเสริม เพื่อให้โครงงานมีความสมบูรณ์มากขึ้น และถ้ามีการแบ่งงานกันทำให้ตกลงรายละเอียดในการเชื่อมต่อชิ้นงานที่ชัดเจนด้วย รวมทั้งต้องพัฒนาระบบงานด้วยความละเอียดรอบคอบ บันทึกข้อมูลอย่างเป็นระบบและครบถ้วน

       4.3 การทดสอบผลงานและแก้ไข เป็นการตรวจสอบความถูกต้องของผลงาน เพื่อให้แน่ใจว่าผลงานที่พัฒนาขึ้น ทำงานได้ถูกต้องตรงกับความต้องการที่ระบุไว้ในเป้าหมายและมีประสิทธิภาพ

       4.4 การอภิปรายและข้อเสนอแนะ เมื่อพัฒนาผลงงานเรียบร้อยแล้ว ให้จัดทำสรุปด้วยข้อความที่สั้นกะทัดรัดครอบคลุมหัวข้อโครงงาน เพื่อช่วยให้ผู้อ่านได้เข้าใจถึงสิ่งที่ค้นพบจากการทำโครงงานและทำการอภิปรายผล เพื่อพิจารณาข้อมูลและผลที่ได้ พร้อมกับนำไปหาความสัมพันธ์กับหลักการ ทฤษฎี หรือผลงานที่ผู้อื่นได้ศึกษาไว้แล้ว ทั้งนี้ยังรวมถึงการนำหลักการ ทฤษฎีหรือผลงานของผู้อื่นมาใช้ประกอบการอภิปรายผลที่ได้

        4.5 แนวทางการพัฒนาโครงงานในอนาคตและข้อเสนอแนะ เมื่อทำโครงงานเสร็จสิ้นลงแล้ว นักเรียนอาจพบข้อสังเกต ประเด็นที่สำคัญหรือปัญหา ซึ่งสามารถเขียนเป็นข้อเสนอแนะสำหรับผู้สนใจจะนำไปพัฒนาผลงานให้เกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

    5. การเขียนรายงานโครงงาน

        การเขียนรายงานโครงงาน เป็นวิธีการสื่อความหมายเพื่อให้ผู้อื่นได้เข้าใจความคิด วิธีการดำเนินการศึกษา ค้นคว้าหาข้อมูลที่ได้ ตลอดจนข้อสรุปและข้อเสนอแนะต่าง ๆ เกี่ยวกับโครงงานนั้น โดยในการเขียนรายงานนั้น ควรใช้ภาษาที่อ่านง่าย ชัดเจน กระชับ ตรงไปตรงมา รวมทั้งให้ผู้จัดทำคู่มือการใช้งาน ซึ่งประกอบด้วยรายละเอียด ดังนี้

     5.1 ชื่อโครงงาน

     5.2 ความต้องการของระบบคอมพิวเตอร์ ระบุรายละเอียดของคอมพิวเตอร์ที่ต้องมีเพื่อจะใช้กับโครงงานนั้น

     5.3 ความต้องการของซอฟต์แวร์ ระบุรายชื่อซอฟต์แวร์ที่ต้องใช้กับเครื่องคอมพิวเตอร์เพื่จะให้โครงงานนั้นทำงานได้อย่างสมบูรณ์

     5.4 คุณลักษณะของโครงงาน ซึ่งอธิบายว่าผลงานนั้นทำหน้าที่อะไรบ้าง รับอะไรเป็นข้อมูลขาเข้า และอะไรที่ออกมาเป็นข้อมูลขาออก

     5.5 วิธีการใช้งานของแต่ละฟังก์ชัน อธิบายว่าจะต้องกดคำสั่งใด หรือกดปุ่มใด เพื่อให้ผลงานทำงานในฟังก์ชั่นหนึ่ง  ๆ 

  6. การนำเสนอและแสดงโครงงาน

     เป็นขั้นตอนสุดท้ายหลังจากการพัฒนาโครงานเสร็จเรียบร้อยตามเป้าหมาย และวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ โดยเป็นการนำเสนอรายงานสรุปผลการดำเนินการในการจัดทำโครงงาน และโปรแกรมที่ได้พัฒนาขึ้นมาให้กับคณะกรรมการและผู้เกี่ยวข้องของโครงงานนั้น จึงจัดเป็นขั้นตอนที่สำคัญอีกขั้นตอนหนึ่งของการทำโครงงาน เพื่อแสดงออกถึงผลผลิต ความพยายามในการทำงานที่ผู้ทำโครงงานได้ทุ่มเท และเป็นวิธีทำให้ผู้อื่นได้รับรู้และเข้าใจถึงผลงานนั้น

https://sites.google.com/site/khrujun/khan-txn-kar-phathna-khorng-ngan

5.การจัดรูปเล่มรายงานการพัฒนาโครงงาน

รายงานเสนอโครงงานวิศวกรรมประกอบด้วยส่วนสำคัญ 5 ส่วน คือ

-       ส่วนนำ

-       ส่วนเนื้อความ

-       ส่วนอ้างอิง

-       ภาคผนวก (อาจมีหรือไม่มีก็ได้)

-       ประวัติผู้จัดทำโครงงาน

2.2 ส่วนนำ

ในส่วนนำนี้ จะประกอบด้วยส่วนต่างๆ ตามลำดับดังนี้

-       ปกหน้า ให้ใช้ปกแข็งสีเลือดหมู ประกอบด้วยชื่อโครงงานภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ชื่อผู้ทำโครงงาน ชื่อปริญญา คณะ มหาวิทยาลัย และปีการศึกษาที่ได้รับอนุมัติ

-       ปกใน ประกอบด้วยชื่อโครงงานภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ชื่อผู้ทำโครงงาน รหัสประจำตัวนิสิต ชื่อปริญญา คณะ มหาวิทยาลัย และปีการศึกษาที่ได้รับอนุมัติ

-       หน้าอนุมัติ

-       บทคัดย่อภาษาไทย

-       บทคัดย่อภาษาอังกฤษ

-       กิตติกรรมประกาศ

-       สารบัญ เป็นส่วนแจ้งถึงตำแหน่งหน้าของเนื้อหาในรายงาน โดยเริ่มหมายเลขหน้าตั้งแต่สารบัญจนถึงหน้าสุดท้าย ชื่อบทและหัวข้อที่ปรากฏในสารบัญจะต้องตรงกับที่ปรากฏในเนื้อหา

-       สารบัญรูป (ถ้ามี) เป็นส่วนแจ้งตำแหน่งหน้าของรูปภาพหรือแผนภูมิ

-       สารบัญตาราง (ถ้ามี) เป็นส่วนแจ้งตำแหน่งของตารางในโครงงาน

-       คำอธิบายสัญลักษณ์และคำย่อ สัญลักษณ์และคำย่อทุกตัว ต้องมีการระบุคำอธิบาย สัญลักษณ์และค่าทางฟิสิกส์ทุกตัวต้องมีการระบุหน่วยทุกครั้ง


2.3 ส่วนเนื้อหา

ในส่วนนี้บรรจุรายละเอียดของโครงงาน โดยแยกออกเป็นบทและกำกับด้วยหมายเลขพร้อมชื่อบท โดยแบ่งโครงสร้างตามลำดับต่อไปนี้

2.3.1 บทที่ 1 บทนำ

ประกอบด้วยหัวข้อและเนื้อหาหลักๆดังต่อไปนี้

-       หัวข้อ 1.1 ความสำคัญและที่มาของปัญหา

-       หัวข้อ 1.2 วัตถุประสงค์ของโครงงาน

-       หัวข้อ 1.3 ขอบเขตการศึกษา

-       หัวข้อ 1.4 ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ

-       หัวข้อ 1.5 ความรู้ที่นำมาประยุกต์ใช้

2.3.2 บทที่ 2 ทฤษฎีและหลักการที่เกี่ยวข้อง

บทที่ 2 กล่าวถึงทฤษฎีพื้นฐาน และ การทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้อง (Literature review) ซึ่งเป็นส่วนที่สรุปข้อมูลหรือผลงานที่มีผู้ทำมาแล้วและมีความสัมพันธ์ต่อโครงงาน เช่น ในกรณีที่โครงงานเป็นการพัฒนาโปรแกรม ในบทนี้ให้กล่าวถึงลักษณะทั่วไปของระบบงานเดิม หรือหากเป็นการสร้างชิ้นงานที่พัฒนาจากของเดิม ให้กล่าวถึงลักษณะทั่วไป ข้อดีและข้อเสียของชิ้นงานเดิม ในบทนี้การแบ่งจำนวนหัวข้อให้แบ่งตามความเหมาะสม

การอ้างถึงวรรณกรรมหรือทฤษฏีที่เกี่ยวข้องทุกครั้งจะต้องระบุที่มาโดยอ้างอิงให้ตรงกับเอกสารอ้างอิงในส่วนหลัง

2.3.3 บทที่ 3 วิธีดำเนินการโครงงาน

อธิบายถึงขั้นตอนการลงมือดำเนินการโครงงาน โดยเริ่มตั้งแต่รายละเอียดการออกแบบ อุปกรณ์ที่นำมาใช้ในการจัดทำโครงงาน ทั้งเครื่องมือที่เป็นฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ ตลอดจนการลงมือสร้างชิ้นงานอย่างละเอียด (ควรมีภาพประกอบ)

2.3.4 บทที่ 4 ผลการทดลอง

อธิบายการทดสอบชิ้นงานหรือตัวโปรแกรมที่ได้ออกแบบ (ในกรณีไม่ได้สร้างชิ้นงาน) การวางแผนการทดสอบเพื่อเปรียบเทียบประสิทธิภาพของงาน และการนำผลที่ได้ไปเปรียบเทียบกับทางทฤษฎี หรือค่าที่ออกแบบไว้ว่าได้ผลตรงตามทฤษฎีหรือไม่ อย่างไร

2.3.5 บทที่ 5 สรุปผลและข้อเสนอแนะ

นำผลการทดสอบที่ได้มาสรุปประสิทธิภาพของงาน ปัจจัยที่มีผลต่อการออกแบบและการสร้างชิ้นงาน ตลอดจนให้ข้อเสนอแนะถึงความผิดพลาดในการทำงาน และให้แนวทางการนำผลงานไปใช้เพื่อพัฒนาต่อไปในอนาคต

2. 4 ส่วนท้าย

ส่วนท้ายนี้ เป็นส่วนที่ตามหลังส่วนเนื้อหา ประกอบไปด้วย เอกสารอ้างอิง ภาคผนวก และ ประวัติผู้จัดทำโครงงาน

2.4.1 เอกสารอ้างอิง

เอกสารอ้างอิงหรือบรรณานุกรม ในส่วนนี้ให้บรรจุชื่อเอกสารที่ได้อ้างอิงไว้ในโครงงาน ซึ่งจะต้องเขียนให้ถูกต้องตามหลักการที่กำหนดของแต่ละมหาวิทยาลัย

การเขียนรายงานแต่ละประโยคนั้น จำเป็นต้องมีรายชื่อเอกสารที่นำข้อมูลมาใช้อ้างอิง หรือใช้ประกอบการเขียนแนบท้าย เพื่อเป็นหลักฐานแสดงว่าบทความหรือรายงานนั้นมีเหตุผล สาระที่เชื่อถือได้ และเอกสารที่นำมาอ้างจะต้องให้ข้อมูลรายละเอียด ชัดเจนเพียงพอที่ผู้สนใจในรายงานนั้น สามารถติดตามค้นหาข้อมูลที่อ้างถึงหรือเกี่ยวข้องได้ถูกต้อง แม้แต่การนำรูป แผนที่ หรือตารางมาใช้ในรายงานก็ต้องอ้างถึงและใส่ไว้ในเอกสารอ้างอิง

การจัดทำรายชื่อเอกสารอ้างอิงท้ายเรื่องมีหลายรูปแบบ ส่วนจะเลือกใช้แบบใดขึ้นอยู่กับข้อกำหนดของสถาบันการศึกษา หรือวารสารของแต่ละสถาบัน ที่สำคัญคือ เมื่อเลือกใช้แบบใดแล้ว ต้องใช้แบบนั้นอย่างสม่ำเสมอโดยตลอด และเขียนให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด พร้อมทั้งให้ข้อมูลอย่างครบถ้วนและชัดเจน

2.4.2 ภาคผนวก

ภาคผนวกเป็นส่วนที่ให้รายละเอียดเพิ่มเติม โดยเฉพาะอย่างยิ่งรายละเอียดข้อมูลที่ผู้จัดทำรายงานไม่ได้ทำขึ้นเอง เช่น การพิสูจน์สมการ ขั้นตอนวิธีการติดตั้งระบบ วิธีการใช้โปรแกรม ข้อมูลหรือแผนที่ ที่ใช้ในการดำเนินการโครงงาน เป็นต้น สามารถภาคผนวกหลายบท หรือมีหลายภาคผนวกได้ เช่น ภาคผนวก ก, ภาคผนวก ข เป็นต้น

2.4.3 ประวัติผู้จัดทำโครงงาน

ประกอบไปด้วยชื่อ-ประวัติของอาจารย์ที่ปรึกษา และชื่อ-ประวัติของคณะผู้จัดทำโครงงาน หากมีหลายคนให้เรียงตามลำดับตัวอักษร