การเจริญสติปัฏฐาน 4 ประกอบด้วยอะไรบ้าง

ข้อปฏิบัติแห่งการฝึกสติ เพื่อความรู้แจ้งในกาย เวทนา จิต และธรรม ความเข้าใจตามเป็นจริงของสิ่งทั้งปวงโดยไม่ถูกกิเลสครอบงำ โดยใช้สติและความมุ่งมั่นแน่วแน่เป็นตัวนำ

สติปัฏฐาน เกิดจากคำ 2 คำ คือคำว่า สติ ซึ่งแปลว่า ความระลึกรู้ ความตระหนักรู้ และความไม่ลืม กับคำว่า ปัฏฐาน ซึ่งแปลว่า ความตั้งมั่น, ความแน่วแน่, ความมุ่งมั่นไม่ปล่อยเวลาให้เสียประโยชน์ เมื่อรวมเข้าด้วยกัน จึงหมายถึง การเข้าไปรู้เห็นในสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง เป็นการรับรู้สิ่งที่เกิดขึ้นกับกาย เวทนา จิต และธรรม ด้วยสติที่ตั้งมั่นและแน่วแน่

การเจริญสติปัฏฐาน 4 ประกอบด้วยอะไรบ้าง

สติปัฏฐาน 4 ประกอบไปด้วย
1. กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน หมายถึง การมีสติไม่ลืมว่ากายเป็นแค่ที่รวมของธาตุ 4 ได้แก่ ดิน น้ำ ลม ไฟ มาประชุมรวมกันเป็นร่างกาย ไม่มองกายด้วยความเป็นคน สัตว์ เรา เขา แต่มองแยกเป็น รูปธรรมหนึ่ง ๆ เท่านั้น อาศัยเหตุปัจจัยมากมายเกิดขึ้นเป็นวงจรปฏิจจสมุปบาท ก็จะเห็นความเกิดดับ และเห็นว่ากายล้วนไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา

2. เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน หมายถึง การมีสติไม่ลืมว่าเวทนาทั้งหลาย ทั้งสุข ทุกข์ อุเบกขา มีและไม่มีอามิส ล้วนเป็นนามธรรมอย่างหนึ่ง ไม่มองกายด้วยความเป็นคน สัตว์ เรา เขา แต่มองแยกเป็นแค่นามธรรมที่อาศัยเหตุปัจจัยมากมายเกิดขึ้นเป็นวงจรปฏิจจสมุปบาท ก็จะเห็นความเกิดดับ และเห็นว่าเวทนาล้วนไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา

3. จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน หมายถึง การมีสติไม่ลืมว่าจิตมีเหตุใกล้คือเจตสิกมากมายเป็นปัจจัยให้เกิดอยู่ ไม่มองจิตด้วยความเป็นคน สัตว์ เรา เขา คือไม่มองว่าเรากำลังคิด เรากำลังโกรธ หรือเรากำลังเหม่อลอย แต่มองแยกเป็นนามธรรมอย่างหนึ่ง ที่อาศัยเหตุปัจจัยมากมายเกิดขึ้นเป็นวงจรปฏิจจสมุปบาท ก็จะเห็นความเกิดดับ และเห็นว่าจิตล้วนไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา

4. ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน หมายถึง การมีสติไม่ลืมว่าโลกิยธรรมทั้งปวงเกิดจากเหตุปัจจัยมากมาย ไม่มองด้วยความเป็นคน สัตว์ เรา เขา แต่มองเป็นรูปธรรมและนามธรรม ที่อาศัยเหตุปัจจัยมากมายเกิดขึ้นเป็นวงจรปฏิจจสมุปบาทก็จะเห็นความเกิดดับ และเห็นว่าธรรมที่เกิดจากเหตุปัจจัยล้วนไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา

สติปัฏฐาน 4 นี้เป็นหลักการปฏิบัติในการฝึกสติที่พระองค์ท่านตรัสว่าเป็นทางสายเอก เป็น 1 ใน 7 หมวดในโพธิปักขิยธรรม ซึ่งเป็นธรรมอันเป็นฝักฝ่ายแห่งความตรัสรู้ หรือ เกื้อกูลแก่การตรัสรู้ และเกื้อหนุนแก่ธรรมของผู้ปฏิบัติให้สามารถเดินทางไปถึงที่สุดแห่งทุกข์ได้

ข้อกฎของทางใจ บังคับอยู่เต็มที่ว่า ถ้าคนเราเสียสติ ก็เป็นคนบ้าเท่านั้นเอง เท่าที่สติธรรมดาที่มีกันอยู่ทั่วไปนี้ เป็นสติพอป้องกันมิให้เราเป็นบ้ากันเท่านั้น

โดย...ภัทระ คำพิทักษ์

ข้อกฎของทางใจ บังคับอยู่เต็มที่ว่า ถ้าคนเราเสียสติ ก็เป็นคนบ้าเท่านั้นเอง เท่าที่สติธรรมดาที่มีกันอยู่ทั่วไปนี้ เป็นสติพอป้องกันมิให้เราเป็นบ้ากันเท่านั้น เพราะฉะนั้นสติจึงเป็นตัวเอก สำหรับการแก้ความบ้าที่ไม่รู้ตัวของพวกเราได้เป็นอย่างดีโดยพยายามปลูกสตินั้นเอง ให้มีขึ้นในตัวเราให้มากที่สุดจนสุดขีดที่เราจะสามารถปลูก ความบ้า ความหลง ก็คือสติไม่เต็ม ถ้าสติเต็มที่แล้ว ความบ้า ความหลง ทุกสิ่งก็พลันหายไป

พระบรมศาสดาทรงแสดงว่า การเจริญสติให้มั่นคงเป็นทางเดียวเท่านั้นที่ทำบุคคลผู้เจริญให้ถึงพระนิพพานได้ ทรงเรียกวิธีการนั้นว่า “สติปัฏฐาน” คือ การดำรงสติให้มั่นนั่นเอง การแสดงสติปัฏฐานนี้ พระองค์ทรงเห็นอำนาจประโยชน์นานาประการ ดังต่อไปนี้

1.สตฺตานํ วิสุทฺธิยา เพื่อความบริสุทธิ์ของสัตว์ทั้งหลาย

2.โสกปริเทวานํ สมติกฺกมาย เพื่อก้าวล่วงเสียซึ่งความโศกและความร่ำไร

3.ทุกฺขโทมนสฺสานํ อตฺถงฺคมาย เพื่อความอัสดงคตของความทุกข์และโทมนัส

4.ญายสฺส อธิคมาย เพื่อบรรลุธรรมเครื่องรู้

5.นิพฺพานสฺส สจฺฉิกิริยาย เพื่อทำพระนิพพานให้แจ้งใจ

การเจริญสติปัฏฐาน 4 ประกอบด้วยอะไรบ้าง

 

การดำรงสติที่ถูกต้อง พระองค์ทรงตรัสไว้ในฐาน 4 ประการ คือ

1.กาย คือ รูปร่าง รวมทั้งอวัยวะภายนอกภายในของตนและผู้อื่น

2.เวทนา ความเสวยอารมณ์ที่เป็นสุข เป็นทุกข์ มิใช่ทุกข์ มิใช่สุข ที่มีอยู่ในตนและผู้อื่น

3.จิต คือ ความคิด นึก ที่วิ่งไปในความดี และความชั่วของตน และผู้อื่น

4.ธรรม คือ สิ่งที่กั้นจิตมิให้บรรลุคุณความดี ทั้งที่มีในตนและผู้อื่น

การกำหนดในฐานทั้งสี่ประการนี้ มิได้หมายความว่าจะต้องรวมกำหนดทั้งสี่ แต่หมายความว่าต้องกำหนดไปทีละอาการ เช่น กายมีอาการ 32 ประการ มีผม เป็นต้น เราก็ต้องกำหนดตามไปในอาการเหล่านั้นตามลำดับไป แต่ถึงอย่างไรก็ตาม เราควรทราบไว้ว่า เบื้องต้นทีเดียวของการเจริญสติปัฏฐานต้องมุ่งเพื่อความสงบใจที่ฟุ้งซ่านเรียกว่า สมถะ เสียก่อน ลักษณะของสมถะ ก็คือ การกำหนดใจในฐานใดฐานหนึ่ง ให้ใจผูกแน่นในฐานนั้นๆ เรียกว่า “เอกคฺคตา” คือถึงความเป็นจิตเลิศดวงเดียว

สติปัฏฐานในส่วนสมถะ ที่มั่นคงเป็นธรรมเอก ต้องประกอบด้วยลักษณะ 3 ประการ คือ

1.อาตาปี มีความพยายามมั่นคงมุ่งเพื่อทำลายกิเลส

2.สมฺปชาโน มีสัมปชัญญะ รู้ว่าตัวประกอบด้วยสติและมุ่งทำลายกิเลส

3.สติมา เป็นผู้มีสติบริสุทธิ์ประกอบด้วยอุเบกขา

ลักษณะทั้งสามประการนี้เป็นลักษณะของสมาธิ ชั้นเอกเป็นยอดของสมถะ ในส่วนเป็นไปเพื่อความรู้แจ้ง เห็นจริง ซึ่งเรียกว่า “ญาณทสฺสน” รวมคุณที่ประเสริฐของกำลังจิต ที่ประกอบด้วยธรรมเช่นนี้ 2 ประการ คือ

1.อภิชฺฌา ทำลายความเพ่งเล็งในผู้อื่นและสมบัติของผู้อื่น

2.โทมนสฺสํ ทำลายความมัวหมองของใจเสียได้

สติปัฏฐาน แสดงความดำเนินถึงความพ้นทุกข์ด้วยความเป็นผู้มีสติเป็นใหญ่ เป็นผู้บริบูรณ์ด้วยสติ ในข้อความที่ปรากฏอยู่นั้น แบ่งประเภทของการปฏิบัติได้เป็น 2 ประการ คือ

1.สติที่ดำรงอยู่ในองค์ของสติปัฏฐานแล้ว ทำใจให้สงบเป็นสมถะ

2.สติที่ประกอบกับใจสงบดีแล้ว กำหนดรู้ ตามฐานเหล่านั้นตามความเป็นจริงเป็นวิปัสสนา

ข้อความที่ปรากฏมาแล้ว ณ เบื้องต้นนั้น เรียกว่า “สมถะ” เพราะเป็นแต่เพียงจิตที่สงบ เตรียมตัวเพื่อความกำหนดรู้ หรือเพื่อความค้นคว้าเท่านั้น ต่อไปนี้ว่าด้วยการเจริญวิปัสสนาต่อของผู้เจริญสติปัฏฐานชั้นสมถะสำเร็จดีแล้ว เป็นการก้าวหน้าอีกต่อไป

การกำหนดตาม

เมื่อมีจิตประกอบด้วยสติและสัมปชัญญะบริสุทธิ์ดีแล้ว น้อมจิตไปเพื่อการกำหนดฐานทั้งสี่ คือ กาย เวทนา จิต ธรรม ให้รู้ความจริงทั้งหมดของฐานเหล่านั้น และต้องเข้าใจว่าการกำหนดตามนั้นต้องถือหลักที่ว่า กำหนดตามอาการอันหนึ่งในอาการทั้งหมดที่มีปรากฏอยู่เสมอไปทีละอาการ

1.กำหนดตามฐานที่เป็นภายใน

2.กำหนดตามฐานที่เป็นภายนอก

3.กำหนดเทียบกันทั้งภายในและภายนอกสกนธ์กายของเราเองได้ชื่อว่าภายใน สกนธ์กายของผู้อื่นได้ชื่อว่าภายนอก เมื่อกำหนดตามฐานทั้งสี่ คือ กาย เวทนา จิต ธรรม แต่ละอย่างๆ ที่มีอยู่ในสกนธ์ของตนดีแล้ว พึงกำหนดตามฐานทั้งสี่เหล่านั้น แต่ละอย่างๆ ที่มีอยู่ในสกนธ์กายของผู้อื่นต่อไป ครั้งกำหนดตาม 2 เงื่อนนี้บริสุทธิ์ดีแล้ว ให้น้อมเอาฐานเหล่านั้นทั้งที่ปรากฏในตนและผู้อื่นมาเทียบเคียงกันดู จนรู้ประจักษ์ชัดว่า มีความเป็นไปอย่างเดียวกัน คือ จะดูของเขาก็เหมือนของเรา ดูของเราก็เหมือนของเขา โดยเงื่อนเหล่านี้ประชุมลงในลักษณะ 3 ประการ คือ อนิจฺจํ ไม่เที่ยง ทุกฺขํ เป็นทุกข์ อนตฺตา มิใช่ตน ชื่อว่ากำหนดทั้งภายในและภายนอก

การกำหนดที่ถูกต้อง

1.ต้องมีสติกำหนดรู้ว่า สิ่งเหล่านั้นมีอยู่หรือไม่

2.ความรู้นั้นเป็นแต่สักว่า ความรู้ อย่าให้ไหวตามสิ่งใดๆ ทั้งสิ้น

3.สติก็เป็นแต่สักว่า สติ อย่าให้หลงฟันเฟือนตามอาการของทุกสิ่ง

4.ระวังใจไม่ให้อาศัยอยู่ติดอยู่ในสิ่งเหล่านั้น

5.ไม่ยึดมั่นสิ่งทั้งหมดว่าเป็นเรา หรือเป็นเรา

ทั้ง 5 ข้อนี้ นับว่าเป็นหลักใหญ่ของผู้เจริญวิปัสสนาตามหลักของสติปัฏฐาน

ความเข้าใจในสติปัฏฐาน

สติปัฏฐาน คือ การดำรงสติในฐาน 4 อย่าง คือ กาย เวทนา จิต ธรรม ถ้าหากเราดูแต่เพียงเผินๆ ก็จะเห็นว่าช่างยากเสียจริงๆ มีตั้ง 4 อย่าง ทำอย่างไรจึงจะหมดกันสักที แต่พึงเข้าใจว่าธรรมของพระพุทธเจ้า ที่พระองค์ทรงแสดงไว้แล้วนั้นแสดงไว้ให้พวกเราพากันดำเนินตาม ถ้าเป็นของที่มนุษย์เช่นพวกเราดำเนินตามไม่ได้แล้ว ธรรมของพระพุทธเจ้าก็เป็นแต่สักว่าธรรมเท่านั้น จะไม่พึงให้ผลเป็นนิยยานิกะ คือนำสัตว์ให้พ้นจากความทุกข์ได้

แต่ผู้ที่ดำเนินตามทางที่พระองค์ทรงแสดงนี้ได้ถึงความพ้นทุกข์ไปแล้วมากมาย ย่อมเป็นองค์พยานส่อให้เห็นว่าเป็นของไม่เหลือวิสัยเป็นแน่ และเราทุกคนก็ต้องดำเนินตามทางอันนี้เช่นเดียวกันไม่พึงท้อถอยแม้แต่น้อย

ฐานทั้งสี่ คือ กาย เวทนา จิต ธรรม เป็นของต่อเนื่องถึงกันเป็นลำดับ มิใช่เป็นของตั้งอยู่โดดเดี่ยว ซึ่งความจริงปรากฏว่า เมื่อรู้กายแล้วก็จักรู้เวทนา รู้เวทนาแล้วก็จักรู้จิต รู้จิตแล้วก็รู้ธรรม ฐานทั้งสี่นี้ละเอียดยิ่งขึ้นไปเป็นลำดับ ส่วนกายเป็นส่วนหยาบกว่าเพื่อนและเห็นได้ง่ายจึงจัดเป็นต้นทางของการเจริญสติปัฏฐาน

อบรมเพื่อสมถะ

ถ้าเรารู้จักกำหนดฐานทั้งสี่ได้โดยพร้อมมูลในขณะเดียวกัน จะเป็นความจริง เอกายนมรรค คือ เป็นทางอันเดียวมิใช่ 4 ทาง ถ้าเรารู้จักกำหนดได้พร้อมทั้งสี่แล้ว กำหนดแยกทีละอาการ ดังได้กล่าวแล้ว ณ เบื้องต้น เป็นความสำเร็จตามนัยที่กล่าวว่ามีทางเดียว

หัวใจ นับว่าเป็นหลักสำคัญของการเจริญสติปัฏฐาน คือหัวใจเป็นศูนย์กลางของฐานทั้งสี่ว่าโดยกาย หัวใจก็จัดเป็นกายส่วนหนึ่ง ว่าโดยเวทนา ใจก็เป็นผู้กำหนดรู้ความเสวยอารมณ์ทั้งหมด ว่าโดยจิต ใจก็เป็นต้นเหตุของความคิดนึกว่าโดยธรรม ใจก็เป็นตัวตั้งเป็นประธานของธรรม เพราะฉะนั้นหลักโดยย่อมของการเจริญสติปัฏฐานจึงมีแต่เพียงว่า “พึงกำหนดใจให้อยู่ที่ใจ” เท่านั้นเอง

เมื่อใจกำหนดอยู่ที่ใจดีแล้ว จักกำหนด รู้ กาย เวทนา จิต ธรรมได้โดยชอบ และโดยง่าย เนื้อความที่กล่าวไว้ในตอนต้นว่า “ให้กำหนดไปทีละอาการ” นั้นยังไม่แจ่มดี ขอให้เข้าใจว่า ถ้าสติกับใจไม่ประกอบกันเสียก่อนแล้วการระลึกในฐานต่างๆ คือ กาย เวทนา จิต ธรรม แต่ละอย่างๆ ทีละอาการ ก็จะพลอยเป็นอันเสียไปด้วย ความตั้งมั่นของสติก็จะไม่มี รวมความว่า ถ้าไม่ทำใจให้อยู่ที่ใจเสียก่อนจะไปหยิบเอาอย่างอื่นมาทำก่อน ประโยชน์ที่จะพึงได้ไม่คุ้มกับเวลาที่ล่วงไป

แต่เพียงการอบรมใจให้สงบ เป็นสมถะ ตามหลักของสติปัฏฐาน ก็ไม่มากมายอะไรนัก ขณะใดเรากำหนด กาย เวทนา จิต ธรรม ได้ในขณะเดียวกัน ขณะนั้นใจก็จะตั้งสงบมั่นเป็นสัมมาสมาธิ คือเป็นสมาธิที่ถูกต้อง กำจัดอภิชฌาและโทมนัสได้โดยไม่ยาก ถ้ายังหลงไล่ทีละอาการอยู่ ถึงใจจะสงบก็ยังกำจัดอภิชฌาและโทมนัสมิได้ การกำหนดฐานทั้งสี่ด้วยใจในขณะเดียวของสมถะก็คือ

1.รู้ว่าตนกำลังบำเพ็ญธรรมอยู่ด้วยอิริยาบถใด

2.เวลานั้นเสวยเวทนาอะไรก็รู้

3.เวทนานั้นจิตบริสุทธิ์ ก็รู้ว่าจิตบริสุทธิ์

4.รู้ว่าตนมีจิตปราศจากเครื่องห้าม เช่น กามฉันท์ คือ ความพอใจในกาม เป็นต้น

สมถะที่เป็นไปเช่นนี้ จัดเป็นสมถะชั้นเอก มีความเข้มแข็งเตรียมพร้อมเพื่อเข้าสู่สนามรบทำสงครามกับกิเลสและค้นคว้าหาข้าศึกที่แอบแฝงอยู่ในบริเวณของตน พึงอบรมให้เกิดมีขึ้นตนเสียก่อน อย่าด่วน “สุกก่อนห่าม” จะลำบากใจ

อบรมเพื่อวิปัสสนา

เมื่อการอบรมเพื่อสมถะเป็นไปโดยเรียบร้อยแล้ว ต่อจากนั้นจะต้องเป็นวาระของการค้นคว้าฐานะทั้งสี่ให้เข้าใจชัดตามเหตุและผลที่เป็นจริง การรวบรวมกำลังใจที่เป็นองค์สมถะ คือ สงบรวมกันเป็นองค์อันเดียว ให้มีอยู่เสมอตลอดเวลาของการค้นคว้านั้น ย่อมเป็นของประเสริฐ เพราะเมื่อจิตมีกำลังมาก การค้นคว้าย่อมไม่รู้สึกลำบาก และย่อมเป็นเหตุให้เราค้นคว้าหาเหตุผลที่เป็นจริงได้โดยไม่เคลื่อนคลาดจากความจริง

หลักของความจริงที่จะต้องค้นคว้าให้ประจักษ์ ชัดแก่ใจมีอยู่เพียง 3 ประการ คือ

1.สพฺเพ สงฺขารา อนิจฺจา สังขารทั้งหมดไม่เที่ยง

2.สพฺเพ สงฺขรา ทุกฺขา สังขารทั้งหมดเป็นทุกข์

3.สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ธรรมทั้งหมดเป็นอนัตตา

การค้นคว้าเป็นกิจสำคัญอย่างยิ่ง ผู้ค้นคว้าต้องมีความเพียรปรารภมั่นคง จึงจะสามารถเข้าใจลักษณะทั้งสามประการ‌ดังกล่าวแล้วได้ชัดเจน กายเป็นส่วนต้องถูกค้น‌ก่อนฐานะใดๆ ทั้งหมด เพราะเป็นส่วนหยาบ‌ที่ปกปิดส่วนละเอียดไว้ พึงพินิจให้รู้ชัดว่า กาย‌นี้มีความเกิดขึ้นแล้วจักมีความดับไปเป็นที่สุด‌แล้ว พึงกำหนดใจให้เป็นเครื่องบังคับกายนั้น‌ว่า“จงทำลายไป”เมื่อปรากฏว่ากายทำลายไป‌ตามอำนาจของความกำหนดเช่นนั้นแล้ว เรา‌ก็จักพิจารณาเห็นฐานอื่นๆ ที่เหลืออยู่ คือ‌เวทนา จิต ธรรม ตามลำดับโดยน้อมใจไปว่า‌แม้สิ่งต่างๆ ที่เหลืออยู่ก็มีความดับไปเป็น‌ธรรมดา จนประจักษ์ชัดว่าดับไปจริงไม่มีอะไร‌เหลืออยู่ และเกิดความรู้ขึ้นในธรรมเหล่านั้น‌ว่า“สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา‌สิ่งนั้นทั้งหมดมีความดับไปเป็นธรรมดา”เมื่อ‌เป็นเช่นนั้นความรู้สึกก็พึงมีว่า“สิ่งทั้งหมดไม่พึงยึดมั่นไม่ว่าจะเป็นส่วนที่ล่วงแล้วหรือ‌ปัจจุบัน หรือยังไม่มาถึง”

โดยนัยนี้สามัญลักษณะ คือลักษณะทั่วไป‌ของธรรมได้ปรากฏแก่ปัญญาจักษุของผู้ค้นคว้าซึ่งลักษณะนั้นมีว่า สิ่งเหล่านี้ทั้งหมดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นของใช่ตน

ฐานทั้ง 4 เหล่านี้ กายเป็นส่วนรูปขันธ์‌เวทนา จิต เป็นส่วนนามขันธ์ รวมกาย เวทนา‌จิต เข้าด้วยกันเป็นส่วนธรรมขันธ์ ในพระบาลี‌ท่านจัดเอานิวรณ์ 5 เป็นธรรมในบทนี้ แต่เมื่อเรามาพินิจพิเคราะห์ให้แน่ชัดด้วยใจแล้ว ก็จะ‌พึงเห็นได้ดังนี้ นิวรณ์ 5 นั้นเกิดมีขึ้นครอบงำ‌จิตก็เพราะความไม่รู้เท่าฐานะ 3 คือ กาย‌เวทนา จิต ถ้าเราเพิกถอนสิ่งเหล่านี้ออกให้‌ประจักษ์แล้วรู้เท่าตามความเป็นจริง นิวรณ์ก็‌ไม่มีเพ่งโดยนัยนี้ กาย เวทนา จิต ตามธรรมดา‌เป็นที่ประชุมเกิดของนิวรณ์ และยิ่งกว่านั้นจะ‌เรียกว่านิวรณ์เสียเลยก็ดูเหมือนจะได้อยู่โดย‌เนื้อความ คือนิวรณ์แปลว่าเครื่องห้าม ถ้าเรา‌ไม่รู้กาย เวทนา จิต แน่ชัดก็ย่อมเป็นเครื่อง‌ห้ามอยู่ดี เพราะเมื่อไม่รู้ก็หลง หลงตามกาย‌ตามเวทนา ตามจิต เป็นบ่อเกิดของความฉิบหายจากความดี ความเป็นจริง เมื่อเราแยกกายออกพิจารณ์เห็นชัดแล้ว ก็จักเห็นเวทนา เมื่อเห็นเวทนาแล้วก็จักเห็นจิต เมื่อ‌ความเห็นในฐานทั้งสาม คือ กาย เวทนา จิต‌บริสุทธิ์ดีแล้ว ก็เห็นธรรมเท่านั้นเอง

คำว่าเห็นธรรมนั้นพูดได้ 2 นัย นัยหนึ่งว่า‌เห็นฐานทั้งสามว่าเป็นธรรม เครื่องห้ามในเมื่อ‌ไม่รู้เท่าอีกนัยหนึ่ง คำว่าธรรมแบ่งออกเป็น 2‌ประเภท คือ

1.สังขตธรรม คือ ธรรมที่เป็นไปด้วยความ‌ปรุงแต่ง

2.อสังขตธรรม คือ ธรรมที่ไม่ต้องการ‌ความปรุงแต่ง

กาย เวทนา จิต เป็นสังขตธรรม เพราะ‌เป็นสิ่งที่ปัจจัยปรุงแต่ง เมื่อเห็นสังขตธรรม‌แล้วก็จะเห็นอสังขตธรรม โดยธรรมทั้งสองนี้‌บังคับอยู่ในตัว เมื่อทำลายสังขตธรรมให้‌ปรากฏแก่ปัญญาจักษุแล้ว ก็เป็นอันเปิดประตู‌ของอสังขตธรรมด้วย ฉะนั้นคำว่า เห็นธรรม‌คือ เห็นทั้งสังขตธรรม และอสังขตธรรม