เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน คือ

การพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นเรื่องแห่งยุคนี้สมัยนี้ รัฐบาลต่างๆในโลก กำลังเจรจาหารือกัน เพื่อกำหนดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ในอีก 15 ปีข้างหน้า เพื่อรองรับกับความสำเร็จของการพัฒนาสหัสวรรษ ที่ใช้มาแล้วระหว่างปี 2000-2015 ที่กำลังการพัฒนาสหัสวรรษ ให้ความสำคัญ กับการขจัดความยากจนอย่างที่สุด รวมทั้งการขจัดความอดอยากและการป้องกันโรค เป็นเป้าหมายแห่งการพัฒนาที่สำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์ขององค์การสหประชาชาติ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ก็คงจะยังมุ่งต่อสู้กับความยากจนอย่างที่สุด แต่ได้เพิ่มความท้าทายในการที่จะทำให้เกิดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ อย่างทั่วถึง รวมทั้ง ความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป้าหมายในการที่จะลดการเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศโลกที่มีสาเหตุมาจากการกระทำของมนุษย์ด้วย

จุดเริ่มต้นของการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลกอันแสนจะแออัดของเรานั้น เกิดจากการที่เรามีประชากรถึง 7,200 ล้านคนบนโลกนี้ ทั้งๆที่เมื่อประมาณ ปีค.ศ. 1750 เรามีประชากรเพียงประมาณ 800 ล้านคน ในสมัยที่เราเกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมของโลก ต่อจากนั้นประชากรโลกได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องรวดเร็วถึงประมาณ 75 ล้านคนต่อปี และในอีกไม่ช้าโลกจะมีประชากรถึง 8 พันล้านคนภายในปี 2020 และประชากรเหล่านี้ต้องหาที่ยืนของตัวเองในระบบเศรษฐกิจของโลกนี้

เศรษฐกิจของโลกเป็นระบบที่ไม่เพียงแต่ใหญ่โต แต่ยังเติบโตอย่างรวดเร็วประมาณ 3 ถึง 4 เปอร์เซ็นต์ต่อปี แต่ก็เติบโตแบบไม่มีความเท่าเทียมกันในการกระจายรายได้ภายในประเทศและระหว่างประเทศ โลกของเรา เป็นโรคที่มีความมั่งคั่งอย่างล้นเหลือแต่ก็มีความยากจนอย่างที่สุด ประชากรหลายพันล้านคน มีอายุที่ยืนนาน มีสุขภาพดีอย่างไม่น่าเชื่อ ทว่าประชากรจำนวนประมาณ 1 พันล้านคนเป็นอย่างน้อยยังต้องอาศัยอยู่กับความยากจนและต่อสู้ดิ้นรนเพื่อจะให้มีชีวิตรอดไปวันๆ

เศรษฐกิจของโลก ไม่ได้เป็นระบบเศรษฐกิจที่เต็มไปด้วยความไม่เท่าเทียมแต่เพียงอย่างเดียว แต่มันยังสร้างวิกฤติทางสิ่งแวดล้อมให้เกิดขึ้นด้วย โดยการทำให้สุขภาวะของคนอีกหลายพันล้านคนต้องได้รับผลกระทบ รวมทั้งสิ่งมีชีวิตต่างๆบนโลกอีกหลายล้านชีวิต ต้องตกอยู่ในความเสี่ยง แม้กระทั่งชีวิตของพวกเราเองก็ตาม

ดังนั้น เมื่อเรากำลังย่างก้าวเข้าสู่ยุคแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืนแล้ว เราก็ควรจะพยายามที่จะประสานระบบที่ซับซ้อนทั้ง 3 ระบบเข้าด้วยกันนั่นก็คือระบบเศรษฐกิจของโลก ระบบสังคม และระบบสิ่งแวดล้อม เราจะประสานเศรษฐกิจของคน 7.2 พันล้านคนหรือเศรษฐกิจมูลค่า 90 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นผลผลิตของโลกนี้ได้อย่างไร จะจัดการสังคมของโลกที่เต็มไปด้วยความไม่เท่าเทียมกันทางด้านรายได้ ความมั่งคั่ง และโครงสร้างอำนาจจะทำได้อย่างไร และระบบเศรษฐกิจโลกจะเป็นอย่างไร เมื่อได้สร้างผลกระทบให้กับสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติไปด้วย

เมื่อพยายามมองให้ลึกซึ้งเป็นธรรม การพัฒนาที่ยั่งยืน ควรจะดำเนินไปเพื่อสนองความต้องการของสังคมหรือเป้าหมายของสังคมที่โลกจะต้องทำร่วมกัน โดยประเทศต่างๆในโลกกำลังจะประกาศใช้ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินกิจการทางเศรษฐกิจสังคมและสิ่งแวดล้อมของโลกกันต่อไปโดยที่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเรียกร้องให้เกิดความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสังคมและสิ่งแวดล้อมไปอย่างสอดคล้องกัน การที่จะสามารถไปถึงเป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้ง 3 มิติดังกล่าวได้ ต้องมีเป้าหมายในมิติที่ 4 ก่อนนั่นก็คือธรรมาภิบาล รัฐบาลของประเทศต่างๆ จะต้องปกครองด้วยธรรมาภิบาลในการดูแลด้านสังคม สุขภาพและการศึกษา โดยมีสาธารณูปโภคเช่น ถนน ท่าเรือ และพลังงาน รวมถึงการปกป้องชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน การส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การมีมาตรการในการป้องกันรักษาสิ่งแวดล้อม และในโลกเราทุกวันนี้ธรรมาภิบาลไม่ได้หมายถึงการกระทำของรัฐบาลเพียงอย่างเดียว แต่ยังหมายถึง บริษัทภาคเอกชนที่ทรงพลังทั้งหลายในโลกนี้ที่ควรจะใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติ ด้วยการให้ความช่วยเหลือชุมชน ที่บริษัทเหล่านี้ เข้าไปเกี่ยวข้อง เพื่อช่วยลดความยากจนอย่างที่สุดลงได้

ดังนั้น การพัฒนาที่ยั่งยืน ต้องมีเสาหลัก 4 ประการนี้ เพื่อสังคมที่ดีและประชาคมโลกที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้แก่ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ความยั่งยืนทางด้านสิ่งแวดล้อม และธรรมาภิบาลโดยหน่วยงานหลักต่างๆของสังคมรวมทั้งรัฐบาลและภาคธุรกิจ มันไม่ใช่เรื่องที่มากเกินไปเลยที่จะขอให้เกิดการปฏิบัติจริง เพื่อให้การพัฒนาที่ยั่งยืนบรรลุผลไปได้ แต่ว่าเราก็ต้องแลกด้วยสิ่งสำคัญหลายหลายอย่าง เพราะว่าการพัฒนาที่ยั่งยืนที่สำเร็จได้บนโลก ที่เต็มไปด้วยความไม่เท่าเทียมกัน และเต็มไปด้วยสิ่งแวดล้อมที่กำลังแย่ลงนี้ ตกอยู่ในความรับผิดชอบของคนรุ่นนี้ ดังนั้น การพัฒนาที่ยั่งยืน จึงจะต้องเป็นการพัฒนาเพื่ออนาคตของโลกใบนี้ตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไปจนถึงกลางศตวรรษนี้

รัฐบาล ของประเทศต่างๆในโลกที่เป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติ กำลังหารือกันเพื่อจะกำหนดกรอบการทำงานของมนุษยชาติ ในขณะที่เรากำลังเผชิญวิกฤตด้านสิ่งแวดล้อมอย่างหนักเพราะการกระทำของเราเอง ปีนี้จึงเป็นปีที่สำคัญที่สุด ทางการทูตเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในสิบห้าปีต่อไปในอนาคต สำหรับปีหน้าจะมีการประชุมสุดยอดที่สำคัญ 3 การประชุมได้แก่ การประชุมเกี่ยวกับการให้เงินสนับสนุนด้านการพัฒนาที่จะจัดขึ้นที่กรุง แอดิส อาบาบา ประเทศ เอธิโอเปีย ในเดือนกรกฎาคม การประชุมเพื่อประกาศใช้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่สำนักงานใหญ่ องค์การสหประชาชาติ ในนิวยอร์ก และท้ายที่สุดคือการประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศของโลก หรือ COP21 ในกรุงปารีส ในเดือนธันวาคม การประชุม ทั้ง 3 นี้ต้องประสบผลสำเร็จภายใต้กรอบการนำขององค์การสหประชาชาติในการประสานให้รัฐบาลของประเทศต่างๆได้ร่วมกัน ตั้งเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลก และร่วมกันทำให้เป้าหมายเหล่านั้นนำไปสู่การปฏิบัติจริง ในอนาคตต่อไป

เป้าหมายการพัฒนาสหัสวรรษได้ทำให้ชีวิตของคนบนโลกเปลี่ยนไปอย่างมหาศาล โดยเฉพาะในที่ที่มีความยากจนอย่างที่สุดบนโลก เช่น แถบ Sub Sahara ของประเทศในแอฟริกา มันทำให้เราได้เรียนรู้และปรับใช้ในการออกแบบเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไปได้ ในฐานะที่เป็นที่ปรึกษาพิเศษของเลขาธิการสหประชาชาติ โคฟี่ อันนัน เรื่องการพัฒนาสหัสวรรษ ผมได้เรียนรู้ว่ารัฐบาลต่างๆของประเทศในแอฟริกา ได้นำเป้าหมายไปปฏิบัติใช้อย่างไร และมีการกำหนดลำดับความสำคัญอย่างไร มีการประสานระหว่างผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องและยกระดับความตระหนักของประชาชนและแรงบันดาลใจของประชาชนอย่างไร รวมถึงการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีส่วนร่วมรับผิดชอบอย่างเต็มที่อย่างไร และในที่สุดองค์การสหประชาชาติและประเทศที่มีรายได้สูงที่เป็นผู้บริจาคให้กับประเทศที่ยากจน ต่างก็เริ่มทยอยใช้เป้าหมายการพัฒนาสหัสวรรษเพื่อช่วยในการทำงานพัฒนาของตนในประเทศแถบแอฟริกาได้อย่างดีด้วย เป้าหมายการพัฒนาสหัสวรรษไม่ได้เป็นปัจจัยเดียวที่ทำให้เกิดการพัฒนาขึ้นตั้งแต่ ปี 2000 เป็นต้นมา ทว่าก็มีบทบาทเป็นอย่างสูงที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น

ในขณะที่ประเทศสมาชิกองค์การสหประชาชาติกำลังกำหนดเป้าหมายใหม่ในการพัฒนา เราก็ควรที่จะเรียนรู้จากเป้าหมายการพัฒนาสหัสวรรษได้ด้วย ประการแรก เป้าหมายต่างๆ ไม่ควรเอยะมากเกินไปและไม่ควรมีมากกว่า 10 ข้อ เพราะว่าจะช่วยให้จำได้ง่ายในการรวบรวมระดมความสนับสนุน ประการที่สอง รัฐบาลไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลที่มั่งมีหรือยากจนจะต้องมีส่วนร่วมในการนำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนไปปฏิบัติจริง ประการที่ 3 เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนนั้นควรนำพื้นฐานของเป้าหมายการพัฒนาสหัสวรรษมาปรับใช้ เพราะว่าเป้าหมายการพัฒนาสหัสวรรษช่วยลดความยากจนอย่างที่สุดลงมากกว่าครึ่ง ดังนั้น เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ควรจะพยายาม มุ่งไปที่การขจัดความยากจนโดยสิ้นเชิงโดยเฉพาะความยากจนด้านอาหารให้ได้ ท้ายที่สุด เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนควรเร่งระดมความเชี่ยวชาญจากกลุ่มต่างๆที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยมีกระบวนการให้คำปรึกษาและแก้ปัญหา เกี่ยวกับประเด็นที่สำคัญเช่น พลังงานคาร์บอนต่ำ การเกษตรกรรมที่ยั่งยืน เมืองที่มีภูมิคุ้มกัน และการประกันสุขภาพที่เท่าเทียมกัน

เมื่อ 50 ปีที่แล้วประธานาธิบดี จอห์น เอฟ เคเนดี ได้ประกาศว่า “หากเราทำให้เป้าหมายของเราชัดเจน จัดการได้ง่ายและไม่ไกลตัวจนเกินไป เราก็จะสามารถช่วยให้คนอื่นเข้าใจเป้าหมายเหล่านั้นได้ด้วย และจะสามารถสร้างความหวัง จากสิ่งเหล่านั้นและจะก่อขบวนเคลื่อนไปด้วยกันได้” เป้าหมายการพัฒนาสหัสวรรษได้แสดงบทบาทดังนั้นไปแล้วในการต่อสู้ความยากจน ดังนั้นเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนจะต้องทำได้เหมือนกัน ถึงแม้จะมีความท้าทายที่ซับซ้อนมากกว่าก็ตาม