ข่าวการค้าระหว่างประเทศไทยกับจีน 2563

วันนี้ (วันพฤหัสบดีที่ 17 กันยายน 2563) เวลา 10.00 น. ณ ห้องรับรองรองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ) ชั้น 3 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล นายหยาง ซิน อุปทูตรักษาราชการสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทยได้เข้าเยี่ยมคารวะ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญการหารือ ดังนี้

รองนายกรัฐมนตรีกล่าวต้อนรับและยินดีที่ได้มีโอกาสพบอุปทูตฯ ซึ่งเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการดำเนินความสัมพันธ์ไทย-จีนอีกครั้ง ขอใช้โอกาสนี้แสดงความยินดีกับการครบรอบ 45 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับจีน ซึ่งนายกรัฐมนตรีไทยกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิงได้หารือกันทางโทรศัพท์ เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2563 และทั้งสองฝ่ายได้ตกลงที่จะเอาใจใส่ในมิตรภาพอันดีระหว่างกัน ด้านความท้าทายโควิด-19 ครั้งใหญ่นี้ส่งผลกระทบถึงประชาคมระหว่างประเทศ ไทยและจีนต่างให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันเพื่อช่วยบรรเทาสถานการณ์จนทำให้ปัจจุบัน ทั้งสองประเทศสามารถควบคุมสถานการณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สะท้อนถึงมิตรภาพที่แน่นแฟ้นระหว่างกันอย่างแท้จริง ส่งผลให้เห็นแนวทางการดำเนินความร่วมมือระหว่างกัน ที่มีการปรับเปลี่ยนไปบ้าง เพราะอยู่ในช่วงโควิด-19 แต่เห็นผลสำเร็จที่สำคัญ

อุปทูตรักษาราชการสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทยยินดีและเป็นเกียรติที่รองนายกรัฐมนตรีอนุญาตให้เข้าเยี่ยมคารวะ จีนให้ความสำคัญกับมิตรภาพระหว่างไทยจีนเป็นอย่างมาก ในช่วงเวลาที่จีนประสบกับความยากลำบาก ได้รับน้ำใจจากไทยซึ่งคนจีนไม่เคยลืม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เชิญสิ่งของพระราชทาน ได้แก่ อุปกรณ์ป้องกันตนเองสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ และประชาชนจีน รัฐบาลไทยส่งความช่วยเหลือให้รัฐบาลจีน นายกรัฐมนตรีไทยได้มีคลิปให้กำลังใจ ซึ่งถือได้ว่าจีนผ่านพ้นช่วงเวลาที่ยากลำบากมาส่วนหนึ่งจากน้ำใจของไทย ในโอกาสนี้ อุปทูตแจ้งว่าผู้นำจีนฝากความปรารถนาดีถึงรองนายกรัฐมนตรี

ทั้งสองฝ่ายยืนยันพร้อมมีความร่วมมือทั้งด้านการวิจัยและพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 รวมถึงการจัดหาวัคซีนในอนาคต รวมทั้งฝ่ายจีนพร้อมให้คำปรึกษาและแนะนำเพื่อสนับสนุนอุปกรณ์อำนวยความสะดวกเพื่อช่วยตรวจหาผู้ติดเชื้อ ซึ่งฝ่ายรองนายกรัฐมนตรีชื่นชมพัฒนาการของจีน และเจตนารมณ์ของจีนที่จะจัดให้วัคซีนเป็นสินค้าสาธารณะของโลก ตลอดจนทั้งสองฝ่ายยืนยันว่า จะสนับสนุนการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังสถานการณ์โควิด-19 ร่วมกัน

อุปทูตได้กล่าวถึงความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ การค้าระหว่างกันมีตัวเลขที่เพิ่มขึ้น ซึ่งในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2563 นี้ มีตัวเลขการค้าระหว่างกันเพิ่มร้อยละ 6.7 สินค้าการเกษตรของไทยได้รับความนิยมมากในจีน ซึ่งประเทศไทยได้ปรับการขายเป็นแบบออนไลน์ทำให้ชาวจีนได้รับสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพจากไทยอย่างรวดเร็ว การลงทุนซึ่งในช่วงครึ่งปีแรกนี้ มีโครงการจากจีนที่ขอรับการส่งเสริมจาก BOI ถึง 95 โครงการ นับเป็นเงินกว่าหนึ่งหมื่นเจ็ดพันล้านบาท ซึ่งรัฐบาลจีนต้องขอขอบคุณความร่วมมือของไทย

รองนายกรัฐมนตรีได้หารือกับฝ่ายจีนเพื่อวางแนวทางแก่ไทยเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน และลดความเหลื่อมล้ำ สร้างงาน ให้ประชาชนมีรายได้ เป็นความเข้มแข็งมั่นคงของประเทศต่อไป รวมทั้งได้ปรึกษาแนวทางเพื่อแก้ไขปัญหาด้านการบริหารน้ำอย่างเป็นระบบ การบูรณาการการใช้น้ำร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งฝ่ายจีนรับปากที่จะให้ความร่วมมือกับไทยซึ่งเป็นมิตรประเทศสำคัญเป็นอย่างดี

เมื่อวันที่ 14 ม.ค. 2565 สำนักงานศุลกากรจีน (GACC) เผยว่า ในปี 2564 การค้าระหว่างประเทศของจีนเติบโตร้อยละ 21.4 จากปี 2563 โดยมีมูลค่าอยู่ที่ 39.1 ล้านล้านหยวน หรือ 6.05 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ถือเป็นสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์และเป็นครั้งแรกที่การค้าระหว่างประเทศของจีนมีมูลค่ามากกว่า 6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมูลค่าการนำเข้าอยู่ที่ 17.37 ล้านล้านหยวน เติบโตร้อยละ 21.5 และมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 21.73 ล้านล้านหยวน เติบโตร้อยละ 21.2 ซึ่งการส่งออกสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เติบโตร้อยละ 20.4 มีมูลค่า 12.83 ล้านล้านหยวน คิดเป็นร้อยละ 59 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของจีน ในขณะเดียวกัน การค้ากับคู่ค้าหลักเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมูลค่าการค้ากับคู่ค้า 5 อันดับแรก ได้แก่ อาเซียน สหภาพยุโรป สรอ. ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ เติบโตร้อยละ 19.7 ร้อยละ 19.1 ร้อยละ 20.2 ร้อยละ 9.4 และร้อยละ 18.4 ตามลำดับ 

ในขณะเดียวกัน ปี 2564 ถือเป็นปีครบรอบ 8 ปีของข้อริเริ่ม Belt and Road Initiative (BRI) โดยมูลค่าการค้าระหว่างจีนกับประเทศตามเส้นทาง BRI อยู่ที่ 11.6 ล้านล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 23.6 จากปี 2563 และคิดเป็นร้อยละ 29.7 ของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศทั้งหมดของจีน เพิ่มขึ้นจากระดับร้อยละ 25 ในปี 2556 ซึ่งสินค้าหลักที่จีนส่งออกไปประเทศตามเส้นทาง BRI เช่น ชิ้นส่วนรถยนต์ ผลิตภัณฑ์สิ่งทอ และแบตเตอรี่ลิเธียม ส่วนสินค้าหลักที่จีนนำเข้าจากประเทศตามเส้นทาง BRI เช่น น้ำมันดิบ สินค้าเกษตร แร่โลหะ และก๊าซธรรมชาติ นอกจากนี้ ในปี 2564 มูลค่าการค้าระหว่างจีนกับ 14 ประเทศสมาชิก RCEP อยู่ที่ 12.07 ล้านล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.1 จากปี 2563 และคิดเป็นร้อยละ 30.9 ของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศทั้งหมดของจีน ในจำนวนดังกล่าว มูลค่าการนำเข้าจาก 14 ประเทศสมาชิก RCEP ของจีนอยู่ที่ 6.43 ล้านล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.2 และมูลค่าการส่งออกไปยัง 14 ประเทศสมาชิก RCEP ของจีน อยู่ที่ 5.64 ล้านล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.8 จากปี 2563

ทั้งนี้ ในปี 2564 มูลค่าการค้า Cross-Border E-Commerce (CBEC) ของจีนอยู่ที่ 1.98 ล้านล้านหยวน ขยายตัวร้อยละ 15 จากปี 2563 และเพิ่มขึ้นประมาณ 10 เท่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ปัจจุบัน จีนมีคลังสินค้าในต่างประเทศมากกว่า 2,000 แห่ง รวมทั้งมีบริษัทที่ให้บริการด้านการค้า CBEC มากกว่า 1,500 แห่ง ทั้งนี้ จีนจะสนับสนุนการสร้างคลังสินค้าในต่างประเทศต่อไป รวมทั้งเพิ่มความสะดวกของการค้า CBEC โดยเฉพาะรูปแบบการค้า “market procurement trade” ซึ่งเป็นการจัดซื้อและส่งออกสินค้า (ในมูลค่าไม่เกิน 150,000 ดอลลาร์สหรัฐ) จากตลาดค้าส่งสินค้าในจีนที่รัฐบาลจีนกำหนด