กระบวนการและขั้นตอนการทําวิจัยอย่างง่าย

เรื่องที่ 2 กระบวนการและขั้นตอนการทำวิจัยอย่างง่าย

กระบวนการและขั้นตอนการทำวิจัยอย่างง่าย

 การทำวิจัย

1.  1. ขั้นตอนแรก มักจะเริ่มต้นจากผู้วิจัยอยากรู้อะไร มีปัญหาข้อสงสัยอะไร เป็นขั้นตอน การกำหนดคำถามวิจัย / ปัญหาวิจัย 

  • ตัวอย่างคำถามการวิจัย เช่น นักร้องในดวงใจวัยรุ่นคือใคร นักการเมืองในดวงใจวัยรุ่นคือใคร วัยรุ่นใช้เวลาว่างทำอะไร เป็นต้น
  • ตัวอย่างปัญหาวิจัย เช่น ปัญหาการติดเกมส์ของวัยรุ่น ปัญหาการใช้เวลาว่างของวัยรุ่น ฯลฯ เป็นต้น

2.   ขั้นตอนที่สอง คือ การเขียนโครงการวิจัย ซึ่งต้องเขียนก่อนการทำวิจัยจริง โดยเขียนให้ครอบคลุมว่า

  • จะทำวิจัยเรื่องอะไร ( ชื่อโครงการวิจัย )
  • ทำไมจึงทำเรื่องนี้ ( ความเป็นมาและความสำคัญ )
  • อยากรู้อะไรบ้างจากการวิจัย ( วัตถุประสงค์ของการวิจัย )
  • มีแนวทางขั้นตอนการดำเนินงานวิจัยอย่างไร ( วิธีดำเนินการวิจัย )
  • ระยะเวลาการวิจัยและแผนการดำเนินงาน ( ปฏิทินปฏิบัติงาน )
  • การวิจัยนี้จะเป็นประโยชน์อย่างไร ( ประโยชน์ของการวิจัยหรือผลที่คาดว่าจะได้รับ ) 

3. ขั้นตอนที่สาม คือการดำเนินงานวิจัยตามแผนที่กำหนดไว้ในโครงการวิจัย

กระบวนการและขั้นตอนการทําวิจัยอย่างง่าย

4. ขั้นตอนที่สี่ คือการเขียนรายงานการวิจัย ส่วนใหญ่ประกอบด้วยหัวข้อ คือ

1.       ชื่อเรื่อง

2.     ชื่อผู้วิจัย

3.     ความเป็นมาของการวิจัย

4.    วัตถุประสงค์ของการวิจัย

5.     วิธีดำเนินการวิจัย

6.     ผลการวิจัย

7.     ข้อเสนอแนะ 

8.     เอกสารอ้างอิง (ถ้ามี) 

5. ขั้นตอนสุดท้าย คือ 
การเผยแพร่ผลงานวิจัย เพื่อให้บุคคล หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำผลงานวิจัยนั้น ไปใช้ประโยชน์ต่อไป

สรุป กระบวนการและขั้นตอนการทำวิจัย อย่างง่าย เขียนเป็นแผนภูมิได้ ดังนี้

กระบวนการและขั้นตอนการทําวิจัยอย่างง่าย

การทำวิจัยให้มีคุณภาพนั้น ไม่ว่าจะเป็นการวิจัยทางสายไหนก็ต้องมีการวางแผนงานอย่างเป็นระบบ เป็นลำดับขั้นตอน ไม่เกิดความคลาดเคลื่อนของการวิจัยในแต่ละขั้นตอน รวมทั้งมีกำหนดระยะเวลาที่แน่นอน และเพื่อให้งานวิจัยดำเนินไปได้อย่างดีโดยไม่เกิดข้อผิดพลาดอันจะเป็นผลเสียหายต่องานวิจัย ผู้วิจัยจำเป็นจะต้องดำเนินการวิจัยไปตามลำดับขั้นของการวิจัยอย่างเป็นระเบียบ ซึ่งลำดับขั้นในการวิจัยที่สำคัญ ๆ(Major step) นั้น มีดังต่อไปนี้

 1. เลือกหัวข้อปัญหาที่จะทำการวิจัย (Selecting a topic of research) เพื่อเป็นการกำหนดขอบเขตหรือขอบข่ายของงาน

 2. ศึกษาค้นคว้ารวบรวมความรู้พื้นฐาน และทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัย (Review literature and related research) เพื่อให้ผู้วิจัยมองเห็นวิวัฒนาการของความรู้หรือทฤษฎีนั้น ๆ ว่ามีพัฒนาการมาอย่างไร ใครเป็นคนต้นคิด มีใครตรวจสอบวิจัยมาบ้างแล้ว มีตัวแปรใดบ้างที่เข้ามาเกี่ยวข้อง แบบแผนการวิจัยทั่ว ๆ ไปเป็น เช่นใด ฯลฯ สิ่งต่าง ๆเหล่านี้จะช่วยให้ผู้วิจัยมองเห็นปัญหาแจ่มชัดขึ้น

 3. ให้คำจำกัดความหัวข้อปัญหาที่จะทำการวิจัย (Formulating research problem) ในขั้นนี้ผู้วิจัยจะต้องเขียนบรรยายถึงความเป็นมาของปัญหาที่จะวิจัย ทฤษฎีพื้นฐาน ความมุ่งหมายของการวิจัย ความสำคัญของการวิจัย ขอบเขตของการวิจัย ข้อตกลงเบื้องต้นคำนิยามศัพท์เฉพาะ วิธีดำเนินการ กลุ่มตัวอย่าง เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย สถิติที่ใช้วิเคราะห์ข้อมูล รวมทั้งเอกสารการวิจัยที่เกี่ยวข้อง

4. สร้างสมมติฐาน (Formulating research hypothesis) การสร้างสมมติฐานเป็นการคาดคะเนคำตอบของปัญหาที่จะทำการวิจัยว่า ควรจะเป็นไปในลักษณะใด โดยอาศัยหลักของเหตุผลซึ่งอาจได้มาจากประสบการณ์หรือเอกสารงานวิจัยที่ค้นคว้ามาอนุมาน (Deductive) ว่าปัญหานั้นควรจะตอบได้เช่นไร คำตอบที่ได้จากการเดาหรือคาดคะเนนี้เรียกว่า สมมติฐาน ในขั้นนี้ผู้วิจัยจะต้องพิจารณาด้วยว่าปัญหาและสมมติฐานในการวิจัยมีความสอดคล้องกัน และสมเหตุสมผลพอที่จะตรวจสอบได้หรือไม่ด้วย

 5. พิจารณาแหล่งที่มาของข้อมูล (Source of data) คือผู้วิจัยจะต้องระลึกอยู่เสมอว่ากำลังทำวิจัยเรื่องอะไร ข้อมูลที่จะทำการวิจัยคืออะไร อยู่ที่ไหน กลุ่มตัวอย่างเป็นใคร จะได้มาอย่างไร และเลือกกลุ่มตัวอย่างโดยวิธีใด เป็นต้น

 6. สร้างเครื่องมือที่จะใช้ในการวิจัย (Formulating research instrument) คือการเตรียมอุปกรณ์ในการที่จะเก็บรวบรวมข้อมูลให้พร้อมก่อนที่จะทำการวิจัย โดยพิจารณาจากรูปแบบของการวิจัยและความต้องการประเภทของข้อมูลเป็นสำคัญ เพื่อที่ผู้วิจัยจะได้กำหนดและเลือกเครื่องมือให้เหมาะสมกับงานวิจัยได้มากที่สุด งานในขั้นนี้ผู้วิจัยควรจะได้มีการตรวจสอบคุณภาพของเครื่องมือว่ามีความเที่ยงตรงและเชื่อถือได้หรือไม่ ซึ่งเราเรียกลักษณะการทำงานอย่างนี้ว่า Pilot study คือทดลองใช้กับกลุ่มย่อย ๆ เพื่อหาข้อบกพร่องและฝึกการแก้ปัญหา และเป็นการประเมินงานวิจัยเบื้องต้นว่าจะมีคุณค่าคุ้มกับเวลา ค่าใช้จ่าย กำลังกายและกำลังสมองที่จะทำต่อไปหรือไม่

 7. การเก็บรวบรวมข้อมูล (Collecting data) คือการนำเอาเครื่องมือไปใช้กับกลุ่มตัวอย่างจริง ๆ ในการวิจัย ถ้าเป็นการวิจัยแบบทดลองก็เริ่มลงมือทดลองนั่นเอง

8. การจัดกระทำข้อมูลและการวิเคราะห์ข้อมูล (Scrutinizing data and Analysis of data) เป็นการเลือกสรรข้อมูล จัดประเภทข้อมูลหรือจัดหมวดหมู่ของข้อมูล เพื่อให้สะดวกต่อการที่จะนำไปวิเคราะห์ในอันที่จะนำไปตรวจสอบสมมติฐานตลอดจนพิจารณาเลือกใช้สถิติที่จะวิเคราะห์ให้เหมาะสมกับลักษณะของข้อมูล เมื่อวิเคราะห์ข้อมูลแล้วก็คิดหาวิธีการนำเสนอค่าสถิติที่ได้ว่าควรจัดเสนอแบบใดจึงจะเหมาะสมและมีความหมายมากที่สุด เพื่อประโยชน์ในการเขียนรายงานการวิจัย 

9. ตีความผลการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อหาข้อสรุป (Interpretation of data) ในทางปฏิบัติมีวิธีตีความหรือให้ความหมายข้อมูลอยู่ 2 วิธี ซึ่งทั้ง 2 วิธีนี้มีผู้นิยมใช้พอ ๆ กัน คือวิธีหนึ่งจะอธิบายเฉพาะผลการวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากการวิจัยเท่านั้น ไม่นำข้อคิดเห็นส่วนตัวหรือทฤษฎีหรือผลการวิจัยที่เกี่ยวข้องมาประกอบข้อสรุป กล่าวคือให้ตัวเลขหรือผลที่ได้จากการวิเคราะห์ข้อมูลเท่านั้นเป็นสิ่งแสดงข้อเท็จจริง ผู้อ่านจะเป็นผู้วินิจฉัยเอง ส่วนอีกวิธีหนึ่งจะอธิบายผลการวิเคราะห์ข้อมูลโดยสอดแทรกความคิดเห็น ข้อเสนอแนะที่อ้างอิงมาจากทฤษฎีและผลการวิจัยที่เกี่ยวข้องมาประกอบเข้ากับผลของการวิเคราะห์ที่ได้จากการวิจัยครั้งนี้ โดยเชื่อว่าจะช่วยให้การตีความผลการวิเคราะห์ข้อมูลมีน้ำหนักมากยิ่งขึ้น 

10. การเขียนรายงานการวิจัยและการจัดพิมพ์ (Research report and publishing) เป็นการรายงานข้อเท็จจริงที่ค้นพบเพื่อประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น ผู้วิจัยจะต้องเขียนด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย ชัดเจน และรัดกุม แล้วตรวจดูความถูกต้องอีกครั้งหนึ่งก่อนที่จะจัดพิมพ์ต่อไป 

ลำดับขั้นของการวิจัยทั้ง 10 ขั้นนี้ ผู้วิจัยจะต้องวางแผนงานให้รอบคอบ โดยกำหนดเวลาของการทำงานแต่ละขั้นให้ชัดเจน แล้วพยายามทำให้ทันตามเวลาที่กำหนดไว้ในแต่ละขั้น ถ้างานขั้นใดกระทำควบคู่กันไปได้ก็ทำควบคู่กันไป งานขั้นใดจะต้องทำก่อนหรือหลังก็ต้องทำตามแผนที่วางไว้ ทั้งนี้เพื่อให้งานวิจัยเสร็จตามกำหนดเวลาที่ต้องการ 

ที่มา : ขั้นตอนในการทำงานวิจัย