พร บ การศึกษาแห่งชาติ (ฉบับที่ 3 สรุป)

สวัสดีค่ะ วันนี้ครูอัพเดตดอทคอม มีบทความที่น่าสนใจเกี่ยวกับ สรุป พรบ.การศึกษาแห่งชาติ (ฉบับร่าง) แค่ 10 บรรทัด เข้าใจ! มาฝากทุกท่านค่ะ โดนบทความนี้ เขียนโดย บวร เทศารินทร์

#เตรียมรับการปรับเปลี่ยนการจัดการศึกษา

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ให้มีการปฏิรูประเทศด้านต่างๆ รวมทั้งด้านการศึกษาด้วย โดยกำหนดมีกฎหมายการศึกษาชาติ เพื่อเป็นกฎหมายแม่บทในการบริหารจัดการศึกษาของประเทศ

ถึงวันนี้ ร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ….. ที่คณะกรรมการกฤษฎีกา(คณะพิเศษ) ได้พิจารณาและส่งกลับมาที่รัฐบาล พร้อมจะเสนอคณะรัฐมนตรี และรัฐสภาเพื่อพิจารณาและตราเป็นกฎหมายบังคับใช้ต่อไป

สาระสำคัญของร่างกฎหมายดังกล่าว สรุปได้ สิบบรรทัด(ยาว) ดังนี้

#บรรทัดที่หนึ่ง กำหนดวัตถุประสงค์การจัดการศึกษา และเป้าหมายที่ต้องการให้เกิดอย่างชัดเจนตามระดับช่วงวัย(7 ช่วงวัย) นักเรียนขั้นพื้นฐานอายุ 3-15 ปี อยู่ในช่วงวัยที่ 3-ช่วงวัยที่ 5 ก็มีเป้าหมายเฉพาะจงเพื่อเตรียมพร้อม เรียนรู้ สามารถเลือกเส้นทางศึกษาต่อ หรือเส้นทางอาชีพ หรือการทำงานได้

#บรรทัดที่สอง กำหนดให้มีการศึกษา 3 ระบบ คือ การศึกษาเพื่อเพิ่มคุณวุฒิตามระดับ เพื่อพัฒนาตนเอง และการศึกษาเพื่อการเรียนรู้ ซึ่งแต่ละระบบมีลักษณะเฉพาะ วัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันไป แต่สามารถเชื่อมโยง เทียบโอนผลการเรียนได้

#บรรทัดที่สาม กำหนดนอกเหนือจากรัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแล้ว ให้เป็นหน้าที่และสิทธิของบิดา มารดา บุพการรี ผู้ปกครอง บุคคล นิติบุคคล หรือองค์กรอื่นในการจัดการศึกษาระดับใดๆ ตามกฎหมายกำหนดให้ โดยเฉพาะการจัดการศึกษาของเอกชน กฎหมายนี้ให้ความสำคัญมาก ทุกหน่วยที่จัดรัฐต้องเข้าไปช่วยเหลือ สนับสนุน

#บรรทัดที่สี่ กำหนดและให้ความสำคัญกับสถานศึกษาโดยเฉพาะของรัฐ มีหลักการพื้นฐาน หลักความเป็นอิสระในการจัดการศึกษา ภารกิจหน้าที่สถานศึกษา การจัดทำหลักสูตรสถานศึกษา การจัดการเรียนการสอนเชิงรุก (Active Learning) กรรมการบริหารสถานศึกษา การได้มาและการใช้จ่ายซึ่งงบประมาณสถานศึกษา โดยกำหนดไว้อย่างละเอียด นั่นหมายถึงกรอบความรับผิดชอบ ซึ่งจะช่วยเร่งให้เกิดประสิทธิภาพ บรรลุเป้าหมายการศึกษาได้เร็วขึ้น

#บรรทัดที่ห้า กำหนดให้มีหลักสูตรฯ ต้นแบบ คู่มือ แนวการจัดการเรียนการสอน การประเมินผล จัดทำโดยสถาบันหลักสูตรและการเรียนรู้ (ระยะแรกให้ สสวท.ทำหน้าที่) ให้สถานศึกษานำไปใช้และหรือเป็นแนวจัดทำหลักสูตรสถานศึกษาเฉพาะเพื่อพัฒนาการศึกษา ให้หน่วยงานรัฐเข้าไปสนับสนุน ช่วยเหลือ นำหลักสูตรฯสู่การปฏิบัติเพื่อให้บรรลุผล

#บรรทัดที่หก กำหนดความสำคัญ บทบาททั้งครู หัวหน้า ผู้ช่วยหัวหน้าสถานศึกษา และบุคลากรทางการศึกษาอื่นในสถานศึกษา อันเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาการศึกษา โดยเฉพาะครูกำหนดให้มีภารกิจหน้าที่ คุณลักษณะทั่วไปและคุณลักษณะเฉพาะตามช่วงวัยที่สอนอย่างชัดเจน รวมถึง กำหนดการพัฒนา ระบบติดตาม ประเมินประสิทธิภาพประสิทธิผลของครูบุคลากรด้วย อนึ่ง สิทธิของครูในใบอนุญาตฯยังคงอยู่ ถึงชื่อจะเปลี่ยนเป็นใบรับรองการประกอบวิชาชีพครู ผู้บริหารสถานศึกษา บทบาทหน้าที่ ความก้าวหน้า เงิน สิทธิหรือประโยชน์ตอบแทนยังคงเดิมถึงชื่อจะเปลี่ยนไปเป็นหัวหน้าหรือรองหัวหน้าสถานศึกษา

#บรรทัดที่เจ็ด กำหนดให้มีหน่วยงานในการกำกับ ส่งเสริม สนับสนุนการจัดการศึกษาของสถานศึกษา ทั้งในพื้นที่(ส่วนภูมิภาค ส่วนกลางที่ตั้งในภูมิภาค) ทั้งส่วนกลาง ซึ่งมีลักษณะโครงสร้างที่บูรณาการกัน (ไม่เป็นแท่ง) และกำหนดให้มีขึ้นซึ่งหน่วยงานในลักษณะดังกล่าวภายใน 2 ปี (ในระดับพื้นที่อาจยังคงเขตพื้นที่การศึกษา หรือ ศึกษาธิการจังหวัดในปัจจุบัน รวมถึงตำแหน่งผู้บริหารการศึกษา บุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค(2)ด้วย หรือกำหนดเป็นอย่างอื่น ) แต่กฎหมายยังคงสิทธิให้ได้รับเงินฯ ประโยชน์ตอบแทนต่อไป ส่วนศึกษานิเทศก์นั้นกำหนดให้มีและคงสิทธิ์ไว้เหมือนเดิม

#บรรทัดที่แปด กำหนดให้มีระบบข้อมูลสารสนเทศ (BIG DATA ทั้งข้อมูลผู้เรียน ครู บุคลากร สถานศึกษา หน่วยงาน กระบวนงาน) และเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการบริหารเพื่อประโยชน์ในการวางแผนการศึกษา พัฒนาการศึกษา ติดตามตรวจสอบประเมินผลการบริหารและจัดการศึกษา

#บรรทัดที่เก้า กำหนดให้มีซูปเปอร์บอร์ด เรียกว่า คณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติ มีหน้าที่ดั่งเป็น ครม.การศึกษา มีอำนาจหน้าที่ ตั่งแต่การเสนอแนะนโยบายการศึกษา เสนอปรับแก้กฎหมาย เห็นชอบแผนการศึกษาแห่งชาติ แผนปฏิบัติการตามแผนการศึกษาชาติ หลักสูตรต้นแบบ แนวทางพัฒนาคุณภาพการศึกษา(การประกันคุณภาพ) การประเมินคุณภาพ (ประเมินภายใน ภายนอก) กำหนดงบประมาณ อัตรากำลัง แนวทางการพัฒนาข้อมูลสารสนเทศเพื่อการบริหาร กำกับดูแลการศึกษา รวมไปถึงหวดหัวหน้าส่วนราชการหากไม่ปฏิบัติตามนโยบาย แนวทาง หรือมติที่ออกไป

#บรรทัดที่สิบ กฎหมายสำคัญที่ต้องปรับแก้ ปรับปรุง ให้สอดคล้องกับ พรบ.การศึกษาแห่งชาตินี้ เช่น พรบ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ตำแหน่ง ระบบความก้าวหน้า) พรบ.ระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ (โครงสร้าง) พรบ.สภาครูและบุคลากรทางการศึกษา (สภาครู จรรยาบรรณ ใบวิชาชีพ) หรือ พรบ.เงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง และเงินวิทยฐานะ (แท่งเงินเดือน ค่าตอบแทน) เป็นต้น ซึ่งต้องแก้ไขฯภายในสองปี (ขยายได้รวมไม่เกิน3ปี) ในระหว่างนี้ ก็มีหน่วยงาน การคงอยู่ของสถานะตำแหน่ง หน้าที่ สิทธิ หรือประโยชน์ตอบแทน เดิมไปจนกว่าจะเปลี่ยนแปลง

จากกล่าวมา หากพิจารณาเชิงระบบและต่อเนื่อง บรรทัดที่แปดถึงสิบเป็นต้นน้ำ บรรทัดที่สองถึงเจ็ดเป็นกลางน้ำ และบรรทัดที่หนึ่งคือปลายน้ำ

เมื่อต้นน้ำเป็นน้ำสะอาด น้ำแรง แจ๋วใส เห็นเด่นชัด? กลางน้ำไม่มีคดเคียว แยกหลายสาขา จึงสันนิฐานว่า ดอกผล คือปลายน้ำ น่าจะเป็นน้ำดีอย่างแน่นอน !!!