ประเภทของวิทยุโทรทัศน์มีกี่ประเภท

ประเภทของวิทยุโทรทัศน์มีกี่ประเภท

1. รายการพูดคุยกับผู้ฟัง (Straight Talk Programme)

“straight talk” ก็คือการพูดคุยกับผู้ฟังโดยตรง (คือรายการที่มีผู้พูดเพียงคนเดียวพูดให้ผู้ฟังฟังโดยตรงนั่นเองไม่ใช่เป็นการพูดคุยกับคนอื่นให้ผู้ฟังฟัง) แต่การพุดคุยนั้นในการจัดทำรายการทางวิทยุกระจายเสียงนั้น จำเป็นต้องมีบท (script) straight talk programme จึงมิใช่ลักษณะการอ่านบท แต่เป็นการพูดตามบทที่ได้เตรียมมา ให้เป็นธรรมชาติ ซึ่งจะน่าฟังและดึงดูดความสนใจได้มากกว่า ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับลักษณะการพูดของผู้พูด (speaker) ด้วย ยิ่งพูดเป็นธรรมชาติมากเท่าใดยิ่งได้รับความสนใจมากขึ้นเท่านั้น

2. รายการสนทนา (Conversational Programme)

เป็นรายการทำนองพูดคุย แต่การพูดคุยมิได้พูดคุยโดยตรงกับผู้ฟัง หากแต่เป็นการสนทนากันระหว่างผู้ร่วมรายการตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป โดยมีคนใดคนหนึ่งเป็นผู้ดำเนินการสนทนาหรือดำเนินรายการทำหน้าที่ เป็นผู้คอยควบคุมให้การสนทนาเป็นไปตามแนวอยู่ในขอบเขต และคอยนำการสนทนาจากเรื่องหนึ่งไปอีกเรื่องหนึ่ง
จากหัวข้อหนึ่งไปสู่อีกหัวข้อหนึ่ง อย่างมีระเบียบและเป็นขั้นตอนไม่ให้สับสนวกวน และผู้ดำเนินการสนทนาอาจร่วมออกความคิดเห็น ร่วมสนทนาไปกับผู้ชมรายการด้วย นอกจากนั้นยังทำหน้าที่เชื่อมโยงการสนทนา และพูดคุยกับผู้ฟังโดยตรงด้วย เช่น การขึ้นต้น การสรุปข้อความการสนทนา เป็นต้น

       3. รายการสัมภาษณ์ (Interview Programme)

รายการซึ่งมีบุคคลตั้งแต่ 2 คน ขึ้นไป มาซักถามเรื่องราวปัญหา ข้อข้องใจให้ผู้ฟังฟัง โดยมีผู้สัมภาษณ์ (interviewer) 1 คน เป็นผู้ถาม ส่วนผู้ให้คำสัมภาษณ์ซึ่งเป็นผู้ตอบคำถามหรือผู้ตอบคำถามหรือผู้ถูกสัมภาษณ์ (interviewer) จะมีกี่คนก็ได้ สุดแล้วแต่ความเหมาะสมของเวลาในรายการ และเนื้อหาที่จะสัมภาษณ์ว่าควรจะเชิญใคร มาสัมภาษณ์บ้าง  ซึ่งอาจแบ่งลักษณะการสัมภาษณ์ได้ดังนี้
3.1 การสัมภาษณ์อย่างเป็นทางการ (Formal Interview) เช่น การเชิญบุคคลสำคัญ หรือ
ผู้มีชื่อเสียงมาสัมภาษณ์ โดยมีการนัดแนะวันเวลาและสถานที่ที่สัมภาษณ์อย่างเป็นทางการ  และมีจุดประสงค์ที่แน่นอน

             3.2 การสัมภาษณ์อย่างไม่เป็นทางการ (Informal Interview) เช่น สัมภาษณ์คนเดินถนน  มักเป็นการถามคำถามโดยไม่ได้เตรียมมาก่อน ถามปัญหาเฉพาะหน้า ถามความคิดเห็น  ถามความรู้สึก อารมณ์หรือสัมภาษณ์ผู้พบเห็นเหตุการณ์น่าตื่นเต้น เป็นต้น

4. รายการอภิปราย (Discussion Programme)

เป็นรายการพูดคุยอีกลักษณะหนึ่ง คือไม่ใช่การพูดคุยกับผู้ฟังโดยตรง แต่เป็นการพูดคุยออกความคิดเห็นกันในหัวข้อใดหัวข้อหนึ่งหรือเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แต่ผู้มาร่วมอภิปรายนั้นต่างความคิดเห็น ต่างทรรศนะกัน  จึงมาร่วมกันแลกเปลี่ยนความ คิดเห็น  การแสดงความคิดเห็นจะเป็นไปทีละคน อย่างมีระเบียบ  โดยมีผู้ดำเนินการอภิปรายเป็นผู้ควบคุมให้รายการดำเนินไปตามแนวและขอบเขตที่วางไว้ผู้ดำเนินการอภิปรายจะทำหน้าที่เพียงผู้นำการอภิปรายและเน้นหรือสรุปความคิดเห็นของผู้ร่วมอภิปรายและเน้นหรือสรุปความคิดเห็นของผู้ร่วมอภิปรายในโอกาสอันควรเท่านั้น

5. รายการสารคดี (Documentary Feature Programme)

เป็นรายการที่เสนอข้อเท็จจริง เพียงเรื่องเดียวโดยให้รายละเอียดอย่างลึกซึ้ง รายการสารคดีเป็นลักษณะรูปแบบรายการที่ให้ สาระความรู้ลึกลงไปในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง (one subject หรือ one topic) แต่การนำเสนอรายการสารคดีนั้นอาจทำได้หลายลักษณะ เพื่อไม่ให้ผู้ฟังเบื่อและดึงดูดความ สนใจผู้ฟังให้มากที่สุดด้วย ดังนั้น รายการสารคดีจึงต้องมีทั้งความหลาก (variety) และต้องมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันหรือเอกภาพ (unity) ด้วยเพื่อเกี่ยวหรือโยงความหลากนั้นไว้ให้เป็นรายการเดียวกัน

6. รายการนิตยสารทางอากาศ (Magazine Programme)

 คำว่า “Magazine” ที่เป็นสิ่งพิมพ์ ใช้คำว่า  “นิตยสาร”  เพราะเป็นสิ่งพิมพ์ที่มีเรื่องราวหลายเรื่องหลายรส  หลายรูปแบบ รวมกันอยู่ในเล่มเดียวกัน  เมื่อเป็นรายการวิทยุกระจายเสียง  เรียกว่า  “นิตยสารทางอากาศ”  จึงหมายความถึง รายการที่มีหลายรส หลายเรื่อง หลายรูปแบบรวมกันอยู่ในรายการเดียวกัน

7. รายการข่าว (News Programme)

หมายถึง รายการที่จัดทำขึ้นเพื่อรายงานเหตุการณ์สำคัญ ๆ ที่เกิดขึ้นแล้วในวันหนึ่ง ๆ เพื่อให้ผู้ฟังได้รู้ว่าใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไร ทำไม และอย่างไร  รายการข่าวทางวิทยุกระจายเสียงควรมีลักษณะสั้น ๆ ชัดเจน เข้าใจง่ายมีหัวข้อข่าวนำให้รู้ว่าเป็นเรื่องอะไร  และมีรายละเอียดครอบคลุมให้ชัดเจนว่า ใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไร และอย่างไร รายการข่าวอาจแยกย่อยลงได้หลายประเภท เช่น ข่าวการเมือง ข่าวอาชญากรรม ข่าวต่างประเทศ  ข่าวเศรษฐกิจ ข่าวสังคม ข่าวกีฬา ข่าวการศึกษา และข่าวบันเทิง เป็นต้น

8. รายการบรรยายเหตุการณ์ (Commentary)

เป็นการรายงานเหตุการณ์อีกลักษณะหนึ่ง  ซึ่งต่างจากการรายงานข่าว คือ เป็นการรายงานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและรายงานในขณะที่เหตุการณ์นั้นกำลังเกิดขึ้นหรือ เหตุการณ์นั้นกำลังดำเนินอยู่ แล้วผู้บรรยายถ่ายทอด เหตุการณ์นั้นเป็นผู้บรรยาย  หรือเล่าถ่ายทอดให้ฟัง โดยอาจมีเสียงประกอบจริงจากสถานที่เกิดเหตุนั้นด้วยเป็นการบรรยาย สิ่งที่เห็นและบางครั้งมีการวิจารณ์เพื่อให้ผู้ฟังพลอยเห็นภาพตามไปด้วย

9.รายการตอบปัญหา (Quiz Programme)

รายการรูปแบบนี้อาจทำได้หลายลักษณะ คือ เชิญผู้ตอบมาร่วมรายการ โดยตอบปัญหาในห้องส่ง   ในลักษณะแข่งขันกัน หรือเปิดโอกาสให้ผู้ฟังได้มีโอกาสร่วมรายการ (audience-participation) โดยถามปัญหาแล้วเปิดโอกาสให้ผู้ฟังตอบปัญหากลับมาทางโทรศัพท์  เป็นการใช้สื่อวิทยุกระจายเสียงสื่อสารกัน 2 ทาง (two way communication) ทำให้รู้ผลสะท้อนกลับได้ทันทีทันใดรายการตอบปัญหา นี้มักเป็นรายการประเภทความรู้   เพื่อให้ผู้ฟังเกิดความรู้ ซึ่งเป็นการใช้สื่อวิทยุกระจายเสียงที่ให้ประโยชน์อย่างยิ่ง

             10. รายการเพลง (Music Programme)

รายการเพลงเป็นรายการที่มีความสำคัญ และได้รับความสนใจ จากผู้ฟังอย่างมาก ซึ่งความสนใจและความนิยมได้มีมานานแล้ว เพราะรายการเพลงเป็นรายการที่มุ่งให้ความบันเทิงอย่างแท้จริง ในสมัยก่อนนี้สถานีวิทยุกระจายเสียงหลายสถานี ออกอากาศรายการเพลงเป็นส่วนใหญ่ โดยมีข่าวประกอบบ้างเล็กน้อย แม้ปัจจุบันนี้มีสถานี ส่วนใหญ่ก็ออกอากาศรายการเพลงในอัตราส่วนที่มากกว่ารายการประเภทอื่นอยู่เป็นจำนวนมาก

11. รายการละครวิทยุ (Radio Drama หรือ Radio Play)

เป็นการเสนอรายการในรูปแบบ ของการแสดงบทบาทที่สมมติขึ้น โดยสอดแทรกเนื้อหาวิชาความรู้และความบันเทิงด้วยศิลปะ ต่าง ๆ ของการใช้เสียง เพื่อให้ผู้ฟังเกิดความเข้าใจ เกิดอารมณ์ ความรู้สึกคล้อยตาม โดยอาศัยบทเจรจา (dialogue) และการบรรยาย (narrator) รวมทั้งเพลงและเสียงประกอบ (sound effects) เป็นองค์ประกอบสำคัญเพื่อให้รายการทั้งหมดฟังแล้วสมจริงสมจัง

12. รายการปกิณกะ (Variety)

 เป็นรายการที่ประสมรายการหลายรูปแบบรวมอยู่ในรายการเดียวกันที่เรียกว่า “Combination” เป็นเพียงการเสนอเนื้อหา และรูปแบบหลาย ๆ รูปแบบมาผสมปนเปกัน มีแต่ความหลากหลายแต่ไม่ มีความเป็นอันหนึ่ง อันเดียวหรือเอกภาพ รายการพวกนี้ส่วนใหญ่จะเน้นความบันเทิง อาจจะมีเนื้อหาทาง ความรู้หรือให้ข่าวสารบ้างผสมปนเปกัน  เป็นจำพวกสัพเพเหระ จึงมักเรียกเป็นรายการปกิณกะ เช่น รายการประเภทเกมโชว์ รายการตลก แข่งขันทายปัญหา และรีวิว เป็นต้น

13. รายการสาระละคร (Docu-Drama)

เป็นรูปแบบรายการที่นิยมทำกันเพื่อมุ่งให้ความรู้ และความบันเทิงพร้อม ๆ กันเป็นรายการที่ใช้รูปแบบของละครวิทยุผสมกับรูปแบบสาระคดี โดยช่วงแรกจะเสนอรายการด้วยรูปแบบของละคร ในเนื้อหาของละครอาจจะยกประเด็นปัญหา มาโต้ตอบกันด้วยเทคนิคของละครวิทยุ     โดยการผูกเรื่องให้ผู้ฟังตระหนัก  ว่าสิ่งนั้นคือปัญหา สาเหตุของปัญหาเป็นอย่างไร รายการสาระละครที่ดีควรจะแสดงประเด็นปัญหาให้เด่นชัด และเปิดทางให้ผู้ฟังรู้สึกว่ามีวิธีแก้ปัญหานั้นได้หลายวิธี ต่อจากนั้นก็จะเป็นช่วงของการแก้ปัญหา โดยการเชิญผู้ทรงคุณวุฒิหลาย ๆ คน มาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหานั้น ซึ่งอาจทำได้หลายรูปแบบ เช่น  การเสนอสาระเชิงวิชาการ การบรรยาย การสรุป การวิจารณ์ หรือการอภิปรายประกอบ

Advertisement

Share this:

  • Twitter
  • Facebook

Like this:

Like Loading...