การแสดงความคิดเห็นเป็นอย่างไร

มนุษย์ที่อยู่ร่วมกันในสังคมย่อมจะต้องมีการเจรจาพาที แสดงความคิดเห็นในประเด็นต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นทางการเมือง สังคม เศรษฐกิจ ศิลปะ วัฒนธรรม ฯลฯ ในความเป็นจริง การแสดงความคิดเห็นและการวิพากษ์วิจารณ์นั้นเป็นสิทธิขั้นมูลฐานของมนุษย์ และภายใต้ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นย่อมเป็นสิ่งที่ต้องเคารพโดยรัฐและโดยปัจเจกบุคคล ตราบเท่าที่ไม่เป็นการละเมิดต่อคนอื่น เช่น การหมิ่นประมาท หรือการละเมิดกฎหมาย

แต่การแสดงความคิดเห็นและวิพากษ์วิจารณ์นั้นบางครั้งอาจจะนำไปสู่ความขัดแย้งที่รุนแรงได้ ถ้าการแสดงความคิดเห็นและวิพากษ์วิจารณ์ดังกล่าวมีนัยแอบแฝง เช่น การโฆษณาชวนเชื่อทางการเมืองก็เป็นการแสดงความคิดเห็นและวิพากษ์วิจารณ์ แต่อาจจะเป็นลักษณะวิพากษ์และยั่วยุจนมีการตอบโต้จากฝ่ายตรงกันข้าม และอาจจะกระพือความร้อนแรงทางการเมืองมากยิ่งขึ้นตามลำดับ ซึ่งเป็นเรื่องที่เห็นกันอยู่ทั่วไปในสังคมที่มีการปกครองบริหาร หรือการต่อสู้กันระหว่างหน่วยการเมืองสองหน่วยโดยมีผลประโยชน์เป็นที่ตั้ง

ที่ชัดที่สุดคือในยุคสงครามเย็น ทั้งสองค่ายอันได้แก่ ค่ายโลกเสรีและคอมมิวนิสต์ต่างใช้วาทกรรมและโฆษณาชวนเชื่อเพื่อทำให้เกิดความไขว้เขวต่อฝ่ายศัตรู และทำให้เกิดความรู้สึกในทางลบที่มีต่อศัตรูของตน โดยมีประชากรเป้าหมายที่ถูกชักจูงคือประชาชนภายในประเทศของตนเอง หรือประชากรของมิตรประเทศ

แต่การแสดงความคิดเห็นและวิพากษ์วิจารณ์ในประเด็นปัญหาสังคม ไม่ว่าจะเป็นประเด็นการเมือง สังคม และเศรษฐกิจ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับทฤษฎีและการวิเคราะห์ในทางวิชาการ จะมีกฎเกณฑ์บางอย่างที่อาจจะแตกต่างจากการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง หรือวิพากษ์วิจารณ์ตามปกติของคนทั่วไป โดยในทางวิชาการนั้นการเสนอความคิดเห็นหรือวิพากษ์วิจารณ์ จะต้องพยายามให้มีลักษณะวัตถุวิสัย (objective) หลีกเลี่ยงการมีลักษณะจิตวิสัย (subjective) หรือพยายามไม่ใส่ค่านิยมในการวิเคราะห์หรือการแสดงความคิดเห็นหรือวิพากษ์วิจารณ์ ที่เรียกว่า value free หรือ value neutral โดยผู้แสดงความคิดเห็นดังกล่าวนั้นจะต้องสามารถวางตัวเป็นกลางได้อย่างเต็มที่

ตัวอย่างเช่น นักวิชาการที่พยายามวิพากษ์วิจารณ์ปัญหาของประเทศตนเอง แม้ตนจะเป็นสมาชิกของประเทศนั้นซึ่งจะต้องมีความรู้สึกชาตินิยมเมื่อเผชิญกับคนประเทศอื่น และต้องพยายามรักษาเกียรติภูมิและผลประโยชน์ของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการเจรจาต่อรอง แต่ถ้าจะวิเคราะห์วิพากษ์วิจารณ์ปัญหาเพื่อนำไปสู่การทราบสมมติฐานอย่างแท้จริง ก็ต้องวางตัวเป็นกลางอย่างวัตถุวิสัย มิฉะนั้นจะเกิดความผิดพลาดเนื่องจากการวิเคราะห์ผิด อันมีสาเหตุมาจากการไม่เป็นกลางและจิตไม่เที่ยง หรือจิตไม่ว่าง การแยกบทบาทดังกล่าวนี้นักวิชาการหลายคนสามารถกระทำได้

ในขณะที่เขียนบทความหรือสอนหนังสือก็ว่าไปตามเนื้อผ้าอย่างวัตถุวิสัย มีทฤษฎีและข้อมูลมาสาธยายให้แจ่มแจ้ง ไม่ปนเปกับฐานะของตนในองค์กรใดองค์กรหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นประชาชนของประเทศใด สมาชิกขององค์กรใด หรือแม้การอยู่ในศรัทธาความเชื่อของศาสนาใด การใฝ่หาความรู้และวิเคราะห์อย่างวัตถุวิสัยนั้น ถือเป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญอย่างสูงสุดสำหรับนักวิชาการที่มีความเคารพตนเอง

แต่ปัญหาในหลายสังคมก็คือ คนจำนวนมากไม่สามารถจะเข้าถึงสัจธรรมดังกล่าวได้ และมองทุกอย่างเป็นความถูกความผิด เป็นขาวเป็นดำ เป็นฝักเป็นฝ่าย จนทำให้เกิดการแสดงความคิดเห็น การวิพากษ์วิจารณ์ที่เต็มไปด้วยอคติ เป็นฝักเป็นฝ่าย และบ่อยครั้งจะมีลักษณะเป็นการประฌาม (condemn) ยกตนข่มท่าน (condescending) และบางครั้งก็ใช้วิธีคุกคามข่มขู่โดยใช้มาตรฐานศีลธรรม (moral blackmail) เช่น เริ่มต้นด้วยการประฌามในบางอาชีพว่าเป็นคนเลว หรือเริ่มต้นโดยการประฌามเผ่าพันธุ์บางเผ่าพันธุ์ว่าเห็นแก่ตัว โดยวิธีการดังกล่าวนั้นผสมผสานกับเจตนาที่ไม่บริสุทธิ์ด้วยการพยายามทำลายความน่าเชื่อถือของคนที่ตนไม่ชอบ (character assassination) เช่น การกุเรื่องว่าเป็นคนทุจริต ฉ้อราษฎร์บังหลวง หรือเป็นคนขาดศีลธรรม คุณธรรม เพื่อคลายความเคารพนับถือของผู้อื่นที่มีต่อบุคคลผู้นั้น ในอดีตก็คือการใช้วิธีกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ เป็นต้น

จากสภาพดังกล่าวทำให้เกิดการแสดงความคิดเห็นและวิพากษ์วิจารณ์ที่ไม่สร้างสรรค์ ไม่ประเทืองปัญญา ก่อให้เกิดความรู้สึกที่ไม่เป็นมิตรต่อกัน ในบางครั้งก็นำไปสู่การแตกแยกในสังคม เช่น การใช้ภาษาดูถูกดูแคลนคนบางเชื้อสายโดยไม่มี ความยุติธรรม เปรียบเทียบว่าร้ายกาจกว่างู เป็นต้น

การแสดงความคิดเห็นและวิพากษ์วิจารณ์ที่กล่าวมาเบื้องต้น มีสาเหตุดังต่อไปนี้

1. ผู้แสดงความคิดเห็นและวิพากษ์วิจารณ์ ขาดข้อมูลข่าวสาร จึงแสดงความคิดเห็นอย่างผิดๆ เป็นต้นว่า มีการกล่าวยืนยันว่าการฆ่าหมู่ของกองทัพจักรพรรดิญี่ปุ่นที่นครนานกิงมีคนตายเพียงไม่กี่ร้อยคน ทั้งๆ ในความเป็นจริงมีหลักฐานพิสูจน์ได้ว่า มีคนถูกข่มขืนและถูกกระทำชำเราถึง 3 แสนคน ข้อมูลที่ผิดๆ เหล่านี้ฝ่ายขวาของญี่ปุ่นพยายามที่จะทำให้เกิดขึ้นด้วยการเขียนตำราเรียนในชั้นมัธยมใหม่ เพื่อไม่ให้คนญี่ปุ่นรุ่นหลังมีข้อมูลที่ถูกต้อง หรือบิชอปผู้หนึ่งกล่าวว่า การสังหารหมู่คนยิวโดยนาซีไม่เป็นความจริง

2. การขาดความรู้ การขาดความรู้เป็นสิ่งอันตรายอย่างยิ่ง เช่น การขาดความรู้ในเรื่องกฎหมายทำให้เกิดเห็นดีเห็นชอบกับกระบวนการออกกฎหมายที่ผิดหลักการสากล หรือการขาดความรู้เรื่องระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยก็จะนำไปสู่การแสดงความคิดเห็นและวิพากษ์วิจารณ์ที่ในสังคมถือเป็นเรื่องตลกไร้สาระ

3. ความมี อคติเป็นฝักเป็นฝ่าย ทำให้ไม่สามารถวางตัวเป็นกลาง มองประเด็นอย่างวัตถุวิสัยได้ ใครที่ไม่ได้อยู่ฝ่ายตนจะเป็นคนผิดและคนเลวด้วยการด่วนสรุป

4. การมี ปมด้อย ทำให้การแสดงความคิดเห็น และการวิพากษ์วิจารณ์จะออกมาในลักษณะข้างๆ คูๆ ไม่สามารถจะวิพากษ์วิจารณ์ในเนื้อหาของความคิดเห็น แต่จะใช้สีข้างเข้าถูโดยจะโจมตีเรื่องส่วนตัว ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาของความคิดเห็นดังกล่าว หรือมิฉะนั้นก็ด่วนสรุปว่าความเห็นที่แสดงมาไม่น่าเชื่อถือ แต่ไม่สามารถหาเหตุผลใดที่ทำให้เกิดความกระจ่างชัดได้ บางครั้งก็กล่าวขึ้นลอยๆ ว่า ไม่รู้เรื่องเพราะผู้เขียนเขียนวกวน เนื่องจากไม่สามารถจะเข้าใจประเด็นต่างๆ ซึ่งลึกซึ้งเกินกว่าความรู้และภูมิปัญญาของตน

5. การมี ระเบียบวาระซ่อนเร้น ประเด็นเรื่องความมีเหตุมีผลถูกต้องของความคิดเห็นที่ได้ฟังหรืออ่านมานั้นไม่ใช่ประเด็นหลัก ประเด็นหลักคือมีระเบียบวาระซ่อนเร้นที่ต้องทำลายความน่าเชื่อถือของผู้แสดงความคิดเห็น ดังนั้น จึงมีการแสดงออกในลักษณะที่สรุปแบบไร้เหตุไร้ผล (non sequitur) จาบจ้วง ยกตนข่มท่าน โดยไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาเพราะไม่สามารถจะพูดตรงจุดได้

ในบางสังคมเมื่อมีประเด็นความคิดเห็นหรือการวิพากษ์วิจารณ์เกิดขึ้นมักจะจบลงด้วย 6 ประการ ดังต่อไปนี้ คือ

1. เล่าเรียนศึกษาในเรื่องใดก็จะยกประเด็นความรู้ที่เรียนมาอันจำกัดนั้นวิเคราะห์หรือวิพากษ์วิจารณ์ เช่น เรียนมาทางการศึกษาก็จะแสดงความคิดเห็นว่าปัญหาในสังคมทั้งหมดเกิดจากการศึกษาตัวเดียวเท่านั้น ถ้าเป็นนักกฎหมายก็จะพูดประเด็นเดียวคือตัวแปรที่เป็นกฎหมาย ถ้าเป็นผู้ซึ่งฝักใฝ่ทางศาสนาก็จะใช้หลักการของคุณธรรม จริยธรรม เป็นตัวแปรเดียว ลักษณะอย่างนี้เรียกว่า การวิเคราะห์โดยสรุปรวบยอดด้วยตัวแปรตัวเดียว (reductionism) จนมีลักษณะตื้นเขินและผิวเผิน (cursory, simple-mindness)

2. ใช้สามัญสำนึกซึ่งเป็นสิ่งที่เห็นกันอยู่ทั่วไปทั้งสิ้น (truism) แต่ไม่เกิดประโยชน์อันใด เช่น คนเราเกิดมาต้องตาย หรือในโลกนี้มีทั้งคนดีและคนไม่ดี และบางครั้งก็พูดลักษณะวนเป็นวัฏจักร (circular concept) ไม่มีทางผิดได้ เช่น ถ้านาย ก. ร่างกายไม่แข็งแรงอาจต้องตายภายใน 2 วันจากโรคที่เป็นอยู่ แต่ถ้าไม่ตายก็แปลว่านาย ก. แข็งแรง ซึ่งทั้งขึ้นทั้งล่องจะไม่มีทางพิสูจน์ว่าผิดได้เลย การพูดอย่างนี้ไม่มีประโยชน์ในการแก้ปัญหาเพราะวนเป็นวงกลม เป็นสามัญสำนึกที่ใครๆ ก็พูดได้

3. ใช้หลักศีลธรรม จริยธรรมและหลักศาสนาเท่าที่รู้ในการวิเคราะห์ประเด็น เป็นต้นว่า ป่วยการที่จะพูดถึงธรรมาภิบาล หนีไม่พ้นเบญจศีลเบญจธรรม เพราะมีความรู้เท่านั้น หรือทุกอย่างเป็นอนิจจัง เพราะเป็นสิ่งที่ได้ยินมาตลอดชีวิต

4. ใช้ความรู้สึกเผ่าพันธุ์นิยม วัฒนธรรมนิยม หรือชาตินิยม ในการสรุปปัญหา เช่น วัฒนธรรมจีนดีที่สุดในโลกและไม่จำเป็นต้องเลียนแบบฝรั่ง หรือภาษาอังกฤษไม่ใช่ภาษาพ่อแม่เราไม่จำเป็นต้องเรียนภาษาอังกฤษ หรือเอาแบบไทยๆ เป็นประชาธิปไตยแบบไทยๆ เป็นต้น

5. การแสดงความคิดเห็นและวิพากษ์วิจารณ์อาจจะออกมาในลักษณะของการดันทุรัง ยืนกรานเป็นกระต่ายขาเดียวโดยไม่สามารถแสดงเหตุผลอันใดได้ ตัวอย่างเช่น ไม่เห็นด้วยกับที่พูดมา แต่เมื่อถูกถามว่าไม่เห็นด้วยในส่วนไหนก็จะตอบว่า ไม่เห็นด้วยและไม่จำเป็นต้องขยายความ เมื่อถูกถามบ่อยครั้งเข้าก็จะบันดาลโทสะเป็นข้อที่ 6

6. ท้าตีท้าต่อยโดยใช้กำลังเพราะไม่สามารถถกเถียงต่อไปได้

ที่กล่าวมาคือลักษณะที่พบกันบ่อยครั้งในสังคมที่ด้อยพัฒนา ที่ระบบการศึกษาและวัฒนธรรมไม่สอนให้คนคิดวิเคราะห์ คนไม่รักการอ่าน ศึกษาหาความรู้ แต่อยากแสดงความสามารถในการแสดงความคิดเห็นและวิพากษ์วิจารณ์โดยไม่รู้ตัวว่าสร้างความเข้าใจผิดกับผู้อ่าน และสร้างความไม่ยุติธรรมให้เกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการแสดงความคิดเห็นที่ไม่เปิดเผยตัว ทำให้นึกถึงคำพูดของนักปราชญ์บางคนที่กล่าวถึงผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์เพลโต้ว่า “The wicked and the fool have no right to praise men like Plato” (คนชั่วและคนโง่ไม่มีสิทธิแม้กระทั่งชมคนอย่างเพลโต้) ซึ่งหมายความว่า อย่าว่าแต่ตำหนิเลย ชมก็ยังไม่มีสิทธิจะชม

การแสดงความคิดเห็นซึ่งสะท้อนถึงความเขลาเนื่องจากขาดข้อมูลและความรู้ และอคตินั้น ถูกมองว่าเป็นการแสดงออกถึงความโง่เขลาเบาปัญญา ซึ่งเป็นคุณลักษณะของมนุษย์จำนวนไม่น้อยในสังคมโลก ทำให้เราทุกคนต้องระมัดระวังเป็นอย่างยิ่งในการแสดงความคิดเห็นหรือวิพากษ์วิจารณ์

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าการแสดงความคิดเห็นหรือวิพากษ์วิจารณ์ที่มิได้กระทำอย่างวัตถุวิสัย หรือมีลักษณะที่จาบจ้วงยกตนข่มท่าน มีระเบียบวาระซ่อนเร้น อคติ เป็นฝักเป็นฝ่าย เพราะจะแสดงออกถึงความด้อยในความคิดและภูมิปัญญา ดังที่ อัลเบิร์ต ไอนส์สไตน์ ได้กล่าวไว้ว่า “Only two things are infinite, the universe and human stupidity and I’m not sure about the former.” (มีเพียงสองสิ่งเท่านั้นที่หาจุดสิ้นสุดไม่ได้ คือ จักรวาลกับความโง่ของมนุษย์ แต่ข้าพเจ้าไม่ค่อยมั่นใจนักกับสิ่งแรก