Mlr กับ mrr ต่าง กัน ยัง ไง

Mlr กับ mrr ต่าง กัน ยัง ไง

ดอกเบี้ย MLR, MRR และ MOR ต่างกันอย่างไร

สำหรับคนที่ไม่คุ้นเคยกับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้บ้านเราอาจจะงงกับคำย่อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น MLR หรือ MRR (ซึ่งจริงๆ ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกเพราะในต่างประเทศก็มีคำย่อหลากหลายประมาณนี้เหมือนกัน เช่น LIBOR หรือ SIBOR) วันนี้ CheckRaka.com จะพามาดูกันค่ะว่า แต่ละ Rate คืออะไร เป็นอย่างไร

ดอกเบี้ยเงินกู้

โดยปกติ ดอกเบี้ยเงินกู้จะมีอยู่ 2 ประเภทหลักๆ คือ อัตราดอกเบี้ยคงที่ (Fixed Rate) ซึ่งก็คือ อัตราดอกเบี้ยที่กำหนดไว้เป็นตัวเลขเฉพาะ คงที่ตลอดอายุสัญญาหรือในช่วงเวลาที่กำหนด เช่น กำหนดให้ชำระดอกเบี้ย 5% ต่อปี เป็นระยะเวลา 4 ปี เป็นต้น และอัตราดอกเบี้ยลอยตัว (Floating rate) ซึ่งก็คือ อัตราดอกเบี้ยอ้างอิง (Reference Rate) ที่เปลี่ยนแปลงไปตามต้นทุนของธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่งในช่วงเวลาต่างๆ โดยแต่ละธนาคารก็จะประกาศอัตราใหม่กันเป็นครั้งคราว ซึ่งอัตราพวกนี้เราสามารถเข้าไปดูได้จากเว็บไซต์ หรือสาขาของแต่ละธนาคาร ตัวอย่างที่เราจะได้ยินกันบ่อยๆ ก็คือ MLR, MOR, MRR ซึ่งแบงก์ชาติได้ให้ความหมายไว้เป็นแนวทางคร่าวๆ ดังนี้

Mlr กับ mrr ต่าง กัน ยัง ไง

  • MLR (Minimum Loan Rate) คือ อัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บจากลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินกู้แบบมีระยะเวลา (Term Loan) เช่น มีประวัติการเงินที่ดี มีหลักทรัพย์ค้ำประกันอย่างเพียงพอ โดยส่วนใหญ่ใช้กับเงินกู้ระยะยาวที่มีกำหนดระยะเวลาที่แน่นอน เช่น สินเชื่อเพื่อการประกอบธุรกิจ เป็นต้น
  • MOR (Minimum Overdraft Rate) คือ อัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บจากลูกค้ารายใหญ่ชั้นดีประเภทเงินเบิกเกินบัญชี
  • MRR (Minimum Retail Rate) คือ อัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บจากลูกค้ารายย่อยชั้นดี เช่น สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อบัตรเครดิต เป็นต้น

นอกเหนือจาก 3 อัตราข้างต้นแล้ว ในชีวิตจริงเราอาจเจอมากกว่านั้นก็ได้ เช่น ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด จะมีอัตราดอกเบี้ยอื่นอีกหลายอย่าง เช่น Minimum Housing Rate (MHR) หรือ Housing Loan Rate (HLR) ซึ่งทางสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดก็ได้ให้คำจำกัดความ MHR ไว้ว่าคืออัตราดอกเบี้ยสินเชื่อเคหะสำหรับลูกค้าชั้นดี เป็นต้น ตามกฎแบงก์ชาตินั้น แบงก์ชาติไม่ได้มีการบังคับว่าแต่ละธนาคารจะต้องมีแค่ MLR, MRR หรือ MOR เท่านั้น ดังนั้น แต่ละธนาคารจึงมีอิสระที่จะกำหนดอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงใดก็ได้ เพียงแต่ว่าจะต้องให้คำจำกัดความชัดเจนว่า อัตราดอกเบี้ยที่ตั้งขึ้นมานั้นมีความหมาย และคำจำกัดความว่าอะไร แต่ในชีวิตจริงส่วนใหญ่แล้ว ธนาคารก็มักไม่ค่อยมีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยพิสดารอะไรมากนัก ดังนั้น เรามักจะเจอ MLR, MRR และ MOR บ่อยที่สุด และเป็นอัตราอ้างอิงแบบลอยตัวที่ธนาคารพาณิชย์ใช้กันมากที่สุดในธุรกรรมการให้สินเชื่อ

ตัวอย่าง ตารางอัตราดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด ซึ่งมีความหมายหลากหลายพอสมควร ไม่จำกัดเฉพาะ MLR, MRR, หรือ MOR

ข้อควรรู้ และข้อแตกต่างโดยรวมของอัตราดอกเบี้ยต่างๆ

  • อัตราดอกเบี้ยเหล่านี้ แบงก์ชาติบังคับเป็นกฎเลยว่า แต่ละธนาคารจะต้องติดประกาศให้ชัดเจนที่สำนักงานใหญ่ และสาขาของแต่ละธนาคาร รวมถึงในเว็บไซต์ของแต่ละธนาคารนั้นๆ แต่หมายเหตุไว้นิดนึงว่า กฎของแบงก์ชาติไม่ได้บังคับใช้กับธนาคารรัฐ เช่น ธนาคารออมสิน เพราะธนาคารรัฐมีกฎหมายจัดตั้งเป็นพิเศษ เรื่องดอกเบี้ยจึงไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับของแบงก์ชาติ
  • อัตราดอกเบี้ยเหล่านี้ของแต่ละธนาคารจะไม่เท่ากัน เนื่องจากต้นทุนของแต่ละธนาคารไม่เท่ากัน ต้นทุนที่เกี่ยวข้องของแต่ละธนาคาร ก็จะมีตัวอย่างเช่น ดอกเบี้ยเงินฝาก จำนวนเงินฝาก ฐานะเงินกองทุน อัตราส่วนกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS ratio) ปริมาณเงินสำรอง จำนวนหนี้เสีย และสภาพคล่องของธนาคารนั้นๆ เป็นต้น โดยส่วนใหญ่ธนาคารขนาดใหญ่มักจะมีอัตราดอกเบี้ยพวกนี้โดยเฉลี่ยต่ำกว่าธนาคารที่เล็กกว่าเป็นปกติอยู่แล้ว
  • ลูกค้าสองคนเดินเข้าไปหาธนาคารเดียวกันเพื่อขอกู้สินเชื่อเหมือนกัน แต่อาจจะได้อัตราดอกเบี้ยที่แตกต่างกันได้ ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ นั่นเป็นเพราะธนาคารมองความเสี่ยงของลูกค้าแต่ละคนไม่เท่ากัน เช่น ส่วนต่างระหว่างรายรับกับรายจ่าย หรือรายได้สุทธิ ความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้าแต่ละรายที่มีไม่เท่ากัน ประเภทของหลักทรัพย์ที่นำมาใช้ค้ำประกันในการกู้ยืม (เช่น บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ บัญชีเงินฝากประจำ รถยนต์ หรือแม้แต่อสังหาริมทรัพย์) เป็นต้น ดังนั้น จึงเป็นคำอธิบายว่า บางคนอาจได้ MLR เฉยๆ แต่บางคนอาจได้ MLR + 1% หรือแม้กระทั่ง MLR + 2%

Mlr กับ mrr ต่าง กัน ยัง ไง

  • คำว่า MLR แม้ธนาคารส่วนใหญ่จะให้ความหมายว่าสำหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ซึ่งฟังดูเหมือนลูกค้าประเภทบริษัท หรือลูกค้ารายใหญ่ ที่มีประวัติทางการเงินที่ดี มีหลักทรัพย์ค้ำประกันเพียงพอเท่านั้น แต่ในชีวิตจริง ธนาคารส่วนใหญ่ก็เสนออัตรา MLR นี้ให้กับลูกค้าได้แทบจะทุกประเภทไม่จำกัดเฉพาะรายใหญ่ ในกรณีที่การขอสินเชื่อนั้นเป็นสินเชื่อระยะยาวที่มีกำหนดระยะเวลาที่แน่นอน
  • โดยทั่วๆ ไป MRR จะสูงที่สุดเสมอตามมาด้วย MOR และสุดท้ายคือ MLR จะต่ำที่สุด (ดูตัวอย่างอัตราล่าสุดตามรูปข้างล่าง ณ วันที่ 6 สิงหาคม 2556 จากเว็บไซต์ของแบงค์ชาติ) แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าการที่เราได้ดอกเบี้ยในอัตรา MLR จากธนาคารแล้วเราจะดีใจว่าเราได้อัตราที่ต่ำสุด เพราะบางทีถ้าอีกธนาคารเสนออัตราดอกเบี้ย MRR แต่มีลบด้วย X% ซึ่งพอคำนวณออกมาแล้ว จำนวนดอกเบี้ยอาจต่ำกว่า MLR (แบบไม่มีลบอะไรเลย) ก็ได้

Mlr กับ mrr ต่าง กัน ยัง ไง

  • การคาดเดาทิศทาง หรืออัตราดอกเบี้ย MLR และ MRR นั้นเป็นเรื่องที่ยากโดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเราจะกู้ระยะยาวเราไม่ควรคิดว่าส่วนต่างระหว่าง MRR และ MLR จะเหมือนเดิมตลอดตั้งแต่วันแรกไปจนวันสุดท้าย ตัวอย่างเช่น เมื่อ 2-3 ปีก่อน MRR อาจสูงกว่า MLR ประมาณ 0.50% (หรือ 50basis point) แต่ปัจจุบันส่วนต่างของหลายๆธนาคารอาจมากขึ้นเป็นประมาณ 1.0% (หรือ 100 basis point) เป็นอย่างน้อย จากสถิติที่ผ่านมาสำหรับธนาคารรายใหญ่ ยิ่ง MLR สูงขึ้นไปเรื่อยๆ ช่องว่างระหว่าง MLR และ MRR จะมากขึ้นเรื่อยๆ (MRR สูงกว่า MLR มากขึ้นเรื่อยๆ) และถ้า MLR ต่ำลงช่องว่างระหว่าง MLR และ MRR ก็จะแคบลง
  • MOR ส่วนใหญ่มักจะใช้กับกรณี สินเชื่อเงินเงินทุนหมุนเวียน ซึ่งก็คือ วงเงินเบิกเกินบัญชี (Overdraft หรือ O/D) ที่ทำผ่านบัญชีกระแสรายวัน และส่วนใหญ่ใช้เช็คในการเบิกถอน ซึ่งการมีวงเงิน O/D ทำให้เราสามารถเบิกเงินได้มากกว่าจำนวนที่ฝากไว้ในบัญชีกระแสรายวัน แต่ต้องไม่เกินวงเงินที่ได้รับอนุมัติ และการคิดดอกเบี้ยจะคิดในส่วนที่เกินจากจำนวนเงินฝากที่มีอยู่ในบัญชี (ในกรณีที่ธนาคารเห็นว่าผู้กู้มีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้น อาจขอลดวงเงินได้)
  • การที่ดอกเบี้ย MOR (ดอกเบี้ย O/D) สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อแบบมีกำหนดระยะเวลา (MLR) เนื่องจากเป็นสินเชื่อไม่จำกัดวัตถุประสงค์ มีความไม่แน่นอนในการเบิกถอน ทำให้ธนาคารต้องเตรียมเงินสำรองไว้ตลอดเวลา จึงต้องคำนวณความเสี่ยง และความไม่แน่นอนพวกนี้เข้าไปในอัตรา MOR ด้วย
  • สินเชื่อเงินสดประเภทบัตรกดเงินสด จะใช้อัตราดอกเบี้ยสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภค ซึ่งแบงก์ชาติจะกำหนดให้สูงสุดไม่เกิน 28 % ต่อปี ซึ่งแต่ละธนาคารจะกำหนดอัตราดอกเบี้ยแตกต่างกัน บางธนาคารอัตราดอกเบี้ยจะขึ้นอยู่กับฐานรายได้ของลูกค้า แต่บางธนาคารจะขึ้นอยู่กับวงเงินที่ลูกค้าได้รับ หรือแล้วแต่โปรโมชั่นในแต่ละช่วงที่ลูกค้าสมัครสินเชื่อนั้นๆ

ตัวอย่าง ตารางอัตราดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภค (Consumer Loan) ของธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด

  • สินเชื่อประเภทบ้านแลกเงิน มักจะใช้อัตราดอกเบี้ยในลักษณะเดียวกับสินเชื่อบ้าน บางธนาคารจะแยกเป็นวงเงินกู้ (Loan) และวงเงินเบิกเกินบัญชี (O/D) เช่น สินเชื่อยูโอบี แคช ทูโฮม ธนาคารยูโอบี กำหนดอัตราดอกเบี้ยวงเงินกู้ (Loan) เท่ากับ MLR-0.5% ต่อปี ส่วนวงเงิน O/D อัตราดอกเบี้ย เท่ากับ MOR และสินเชื่อบ้านทวีทรัพย์ ธนาคารกสิกรไทย กำหนดอัตราดอกเบี้ยวงเงินกู้ (Loan) เท่ากับ MLR-0.5% ในปีแรก หลังจากนั้นคิด MLR ตลอดอายุสัญญา ส่วนวงเงิน O/D คิดอัตราดอกเบี้ย MRR+0.5% ต่อปี (ข้อมูลตัวอย่าง ณ วันที่ 9 ส.ค.56) เป็นต้น ซึ่งลูกค้าสามารถของกู้เพียงวงเงินสินเชื่อ Loan หรือ O/D เพียงอย่างเดียวก็ได้
  • สินเชื่อบ้าน มักจะใช้อัตรา MLR และ MRR เพราะเป็นสินเชื่อที่มีกำหนดระยะเวลาที่แน่นอน ซึ่งหากเทียบข้ามธนาคารบางที MRR ของบางธนาคารใหญ่ อาจเท่ากับ MLR ของบางธนาคารขนาดกลาง หรือเล็กได้ เช่น ตามตารางข้างบน MRR ของธนาคารกรุงเทพเท่ากับ MLR ของธนาคารเมกะสากลพาณิชย์ คือ 8.00% โดยทั่วไปแล้วธนาคารส่วนใหญ่จะใช้ MLR เป็นหลักสำหรับสินเชื่อบ้าน จะมียกเว้นบางธนาคารที่ใช้ MRR เป็นหลักเช่น ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และธนาคารไทยพาณิชย์

วิธีคิดดอกเบี้ยเงินกู้

ทีนี้พอเราเริ่มเห็นภาพอัตราดอกเบี้ยแต่ละแบบแล้ว เราลองมาทำความรู้จักกับวิธีการคิดดอกเบี้ยสินเชื่อเพิ่มเติมกันดีกว่าค่ะ ว่าการคิดดอกเบี้ยแต่ละวิธี เอาไปใช้สำหรับเงินกู้ประเภทไหนบ้าง และใช้อย่างไร โดยทั่วไปการคิดดอกเบี้ยเงินกู้จะมีด้วยกัน 2 วิธี ดังนี้

1. การคิดดอกเบี้ยเงินกู้แบบเงินต้นคงที่ (Flat Rate) ส่วนมากจะใช้กับการเช่าซื้อรถยนต์ หรือรถจักรยานยนต์โดยเริ่มคิดดอกเบี้ยจากเงินต้นทั้งจำนวน และระยะเวลาการผ่อนชำระทั้งหมด จากนั้นผู้ให้สินเชื่อจะนำดอกเบี้ยที่คำนวณได้มารวมกับเงินต้น แล้วหารด้วยจำนวนงวดที่จะผ่อนชำระ ซึ่งเงินที่ผ่อนชำระจะเท่ากันทุกงวด เช่นเดียวกับจำนวนเงินต้นและดอกเบี้ยก็จะคงที่ทุกๆ งวดด้วย อัตราดอกเบี้ยเงินกู้แบบเงินต้นคงที่จะมีข้อดี คือ คิดง่าย เข้าใจง่าย แต่ก็ต้องจ่ายดอกเบี้ยมากกว่าการคิดแบบลดต้นลดดอกข้างล่างเมื่อเทียบอัตราดอกเบี้ย เงินต้น และระยะเวลาที่เท่ากัน เพราะจำนวนเงินที่ต้องจ่ายเป็นดอกเบี้ยจะไม่ลดลงแม้เราจะเหลือเงินต้นน้อยลงไปเรื่อยๆ ก็ตาม

การแปลงอัตราดอกเบี้ยจากอัตราดอกเบี้ยเงินกู้แบบเงินต้นคงที่ เป็นแบบลดต้นลดดอกทำได้คร่าวๆ โดยใช้ 1.8 คูณกับอัตราดอกเบี้ยแบบเงินต้นคงที่ เช่น 2% ต่อปี จะคิดเป็นแบบลดต้นลดดอกได้เท่ากับ 3.6% (1.8 x 2) ต่อปี โดยประมาณ

Mlr กับ mrr ต่าง กัน ยัง ไง

2. การคิดดอกเบี้ยเงินกู้แบบลดต้นลดดอก (Effective Rate) เป็นการคำนวณดอกเบี้ยในสินเชื่อเกือบทุกประเภทนอกเหนือจากพวกที่ยกตัวอย่างใน Flat Rate ข้างบน การคิดดอกเบี้ยวิธีนี้ จะคิดทีละงวดจากฐานเงินต้นที่ทยอยลดลงตามการชำระหนี้ ซึ่งถ้าเราชำระหนี้ในแต่ละงวดเท่าๆกัน ในอัตราดอกเบี้ยเท่าเดิม จะพบว่า เงินที่จ่ายไปในงวดแรกๆ ส่วนใหญ่จะถูกจ่ายเป็นค่าดอกเบี้ย เนื่องจากจำนวนเงินต้นยังสูงอยู่นั่นเอง แต่เมื่อผ่อนไปสักระยะ ดอกเบี้ยจะค่อยๆ ลดลงตามจำนวนเงินต้นที่ค่อยๆ ลดลง

Mlr กับ mrr ต่าง กัน ยัง ไง

สุดท้ายนี้ CheckRaka.com หวังว่าเมื่อได้ไอเดียในเรื่องดอกเบี้ยนี้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นทั้งเรื่องของอัตรา และวิธีการคิดคำนวณ พวกเราจะตัดสินใจกู้ธนาคารกันได้อย่างรอบคอบ และมั่นใจได้มากขึ้น และมองภาพออกว่าอัตราดอกเบี้ยที่แต่ละธนาคารเสนอกันมาเมื่อคำนวณดูแล้วของธนาคารไหนสูง หรือต่ำกว่ากันเมื่อคำนวณออกมาตลอดระยะเวลากู้แล้ว (ไม่ใช่แค่ช่วงโปรโมชั่น 3 เดือน หรือ 3 ปีแรก) โชคดีกันทุกคนค่ะ