การบริหารงานภาครัฐในปัจจุบัน

การบริหารงานภาครัฐในปัจจุบัน

การพัฒนาระบบราชการไทย

*** [ระบบบริหารราชการไทย]เอกสาร

*** ผศ.ดร.สถาพร วิชัยรัมย์ [อาจารย์ประจำหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต (รปม.)]

การบริหารงานภาครัฐในปัจจุบัน

บทนำ

ระบบบริหารราชการไทยมีวิวัฒนาการมาอย่างยาวนาน มีการเปลี่ยนแปลงทั้งในด้านการเมืองการปกครองและพฤติกรรมการบริหารราชการมาหลายยุคหลายสมัย แต่ละยุคสมัยก็มีลักษณะการบริหารราชการที่แตกต่างกัน มีสภาพปัญหาเกิดขึ้นในแต่ละช่วงเวลาก็มีลักษณะต่างกัน สภาพปัญหาดังกล่าว ยังรวมถึงความคาดหวังต่อการให้บริการประชาชนที่มากขึ้นด้วย ทำให้ระบบราชการไทยต้องมีการพัฒนาให้มีประสิทธิภาพ มีการบริหารจัดการที่ดี อีกทั้งในปัจจุบันกระแสแห่งการจัดการภาครัฐสมัยใหม่ได้ส่งผลให้การบริหารงานภาครัฐต้องมีการเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย ประเทศไทยก็ได้มีการจัดทำยุทธศาสตร์ในการพัฒนาระบบราชการไทยให้มีความทันสมัย มีประสิทธิภาพสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ในการพัฒนาประเทศ

ลักษณะของระบบบริหารราชการไทย

การบริหารงานภาครัฐในปัจจุบัน
ลักษณะของระบบบริหารราชการไทยมีวิวัฒนาการมาอย่างยาวนาน โดยในแต่ละช่วงเวลาจะมีลักษณะของระบบราชการที่แตกต่างกันไปและปัญหาของระบบราชการก็จะต่างกันไปด้วย

จะเห็นได้ว่า การบริหารราชการไทยได้มีการพัฒนาการบริหารมาอย่างต่อเนื่อง โดยการพัฒนาการบริหารที่ผ่านมามักจะให้ความสำคัญกับการปรับโครงสร้าง การจัดแบ่งส่วนราชการ และการจัดอัตรากำลังเป็นสำคัญ ส่วนการปรับบทบาท ภารกิจ วิธีการบริหารราชการ กฎหมาย งบประมาณ และวัฒนธรรมการบริหารเพิ่งได้รับความสำคัญในระยะหลังๆ โดยเฉพาะตั้งแต่มีการจัดทำแผนแม่บทการปฏิรูประบบราชการและแผนปฏิรูปการบริหารภาครัฐเป็นต้นมา

ระบบบริหารราชการไทยจึงมีลักษณะเป็นไปตามกฎหมายระเบียบบริหารราชการแผ่นดินที่กำหนดให้มีการบริหารราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น มีบทบาทภารกิจตามกฎหมาย มีองค์การ โครงสร้างที่เป็นแบบแผน มีระบบงานที่มีภารกิจในด้านต่าง ๆ มีบุคลากรของรัฐที่ทำหน้าที่ให้บริการประชาชน นอกจากนี้ภายใต้กฎระเบียบต่างๆ อาจทำให้เป็นอุปสรรคของการทำงานในด้านต่างๆ

ปัญหาของระบบราชการไทย

ระบบราชการไทย นับตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ทรงปฏิรูประบบราชการเป็นครั้งแรก หลังจากนั้นเป็นต้นมาจนถึงพ.ศ. 2545 จึงได้มีการปฏิรูปอีกครั้งซึ่งระหว่างนั้นมีเพียงการปรับปรุง เสริมแต่งเพียงเล็กน้อย นอกจากนี้แล้วในทางการเมือง รัฐบาลเกือบทุกสมัยมักมีนโยบายปรับปรุงประสิทธิภาพระบบราชการ แต่ทำไปทำมาก็ไม่มีอะไรที่เป็นรูปธรรมที่จะแสดงให้เห็นว่าระบบราชการมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น ข่าวคราวเกี่ยวกับการคอรัปชั่นในวงราชการก็มิได้ลดลง ในทางกลับกันกลับมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นจนกลายเป็นต้นทุนตัวหนึ่งในการพัฒนาเศรษฐกิจขอประเทศไปแล้ว

การบริหารงานภาครัฐในปัจจุบัน

ปัญหาของระบบบริหารราชการไทยจะเป็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับระบบราชการที่ยังมีความล่าช้า การขยายตัวของหน่วยงานราชการ มีโครงสร้างและภารกิจที่มีความซ้ำซ้อนขาดความชัดเจน การบริหารบุคคลยังมีระบบอุปถัมภ์ ทำให้บุคลากรขาดแรงจูงใจในการปฏิบัติหน้าที่นอกจากนี้ยังถูกแทรกแซงทางการเมือง

การปฏิรูประบบราชการภายใต้แนวคิดเกี่ยวกับการจัดการภาครัฐแนวใหม่

ภายใต้บริบทของโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาอันเรียกว่าโลกาภิวัตน์ทำให้เกิดแนวคิดเกี่ยวกับการจัดการสมัยใหม่ที่ถูกนำมาใช้ในองค์การต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนซึ่งมีส่วนสำคัญทำให้หน่วยงานต่างๆ ต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเพื่อให้เกิดการบริหารงานที่มีประสิทธิภาพเกิดผลลัพธ์ที่ต้องการ

การบริหารงานภาครัฐในปัจจุบัน

การบริหารงานภาครัฐ (Public Administration) ได้ให้ความสำคัญต่อการปฏิบัติตามกรอบแนวคิดหรือตัวแบบระบบราชการในอุดมคติซึ่งแนวคิดดังกล่าวถูกคิดค้นและพัฒนาขึ้นโดยนักสังคมวิทยาชาวเยอรมันที่ชื่อ Max Weber โดยหลักการแล้วการบริหารงานภาครัฐในแนวทางนี้เน้นให้ความสำคัญต่อโครงสร้างสายการบังคับบัญชา การสั่งการตามลำดับชั้นที่ชัดเจนและแน่นอน มีการแบ่งงานกันทำตามความเชี่ยวชาญชำนาญการ สร้างความมั่นคงแน่นอนในอาชีพการรับราชการการปฏิบัติงานเป็นไปตามระเบียบและแบบแผนมาตรฐานที่วางไว้อย่างเคร่งครัด เน้นความเสมอภาคเท่าเทียมกัน และไม่คำนึงถึงตัวบุคคลในการให้บริการประชาชน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและความยุติธรรม สามารถควบคุมการใช้อำนาจดุลพินิจและทุจริตประพฤติมิชอบ ป้องกันการแทรกแซงทางการเมืองและเล่นพรรคเล่นพวก

การบริหารจัดการภาครัฐแบบใหม่เกิดขึ้นมาจากสาเหตุของระบบบริหารราชการแบบดั้งเดิม ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีสภาพที่ยังไม่เอื้อต่อการตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป มีลักษณะล่าช้า ขาดความคล่องตัว มีการปฏิบัติงานโดยยึดหลักระเบียบที่เคร่งครัด ปัญหาเหล่านี้นำไปสู่การบริหารงานภาครัฐที่ขาดประสิทธิภาพ ซึ่งหลายประเทศได้ประสบปัญหาที่มีลักษณะเหมือนกัน การจัดการภาครัฐแบบใหม่ (New Public Management) ที่องค์การภาครัฐได้รับอิทธิพลจากแนวคิดของ Boston. ที่ได้อธิบายแนวคิดการจัดการภาครัฐแนวใหม่ที่มีจุดประสงค์หลักเพื่อให้การบริหารภาครัฐมีความทันสมัย มีประสิทธิภาพ และสามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก

การปฏิรูประบบราชการไทย

จากแนวคิดการจัดการภาครัฐแนวใหม่ที่มุ่งถึงการจัดระบบบริหารราชการให้มีประสิทธิภาพทำให้รัฐบาลไทยในสมัยต่างๆ ได้มีแนวคิดให้การพัฒนาระบบบริหารราชการให้มีประสิทธิภาพโดยการปฏิรูประบบบริหารในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้

ความจำเป็นในการปฏิรูประบบราชการไทย

การบริหารราชการไทยนอกเหนือจากการปฏิรูปเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนและภารกิจของราชการอันเป้าหมายหลักแล้วปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ สังคม การเมือง เทคโนโลยีและวิทยาการก็ล้วนก็ล้วนมีอิทธิพลที่ส่งผลให้องค์การต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนจำเป็นต้องมีการปฏิรูปเพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลง สำหรับประเทศไทยมีความจำเป็นในการปฏิรูประบบราชการ

    • การเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม ระบบบริหารราชการไทยจัดเป็นระบบหรือองค์ประกอบย่อยหนึ่งของสังคม เมื่อสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอกเปลี่ยนแปลงไป ระบบการบริหารราชการไทยย่อมต้องปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง ตลอดจนพัฒนาให้สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนภายใต้การเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพ และที่ผ่านมาระบบการบริหารราชการไทยยังมีปัญหาทางการบริหารหลาย ๆ ประการดังกล่าวไว้แล้ว
    • โครงสร้างขนาดใหญ่ทำให้งานล่าช้า ระบบราชการไทยจากอดีตมีขนาดใหญ่ มีความสลับซับซ้อน มีสายการบังคับบัญชามาก เป็นปัญหาที่ขาดการแก้ไขหรือปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลต่อการขาดประสิทธิภาพ ไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนได้อย่างน่าพอใจจำเป็นต้องมีการปฏิรูปให้เกิดประสิทธิภาพ มีขนาดองค์การที่เล็กลง สามารถให้บริการเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนได้มากขึ้น
    • ความล้าสมัยของกฎหมาย กฎ ระเบียบและข้อบังคับต่างๆ การบริหารราชการไทยที่ผ่านมา ยังไม่ได้มีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับต่าง ๆ โดยยังพบว่ากฎหมาย กฎระเบียบ และข้อบังคับต่าง ๆ หลายฉบับที่ใช้อยู่ยังเป็นอุปสรรคในการบริหารและการปฏิบัติงานอันอาจส่งผลให้เกิดความล่าช้าในการทำงาน และขาดประสิทธิภาพในการทำงาน
    • การมุ่งระเบียบวิธีมากกว่าการมุ่งเน้นผลงาน กระบวนการบริหารราชการไทยที่ผ่านมามุ่งเน้นระเบียบเป็นเป้าหมายในการปฏิบัติงานมากว่าผลของงาน จึงไม่สามารถตองสนองต่อความต้องการของประชาชนได้มากนัก การปฏิรูปการปฏิบัติงานโดยมุ่งเน้นผลงานจึงเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการบริหารราชการไทยยุคใหม่
    • พฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ พฤติกรรมการการบริหารของข้าราชการไทยที่ผ่านมามักถูกวิพากษ์วิจารณ์ในแง่ลบมาโดยตลอดโดยเฉพาะการถูกมองว่าปฏิบัติงานไม่คุ้มค่ากับภาษีอากรของประชาชน ทำงานแบบเช้าชามเย็นชาม ให้ความสำคัญกับกฎระเบียบและผู้บังคับบัญชามากกว่าประชาชน การปฏิรูปพฤติกรรมการทำงานของข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐจึงเป็นวาระเร่งด่วนสำหรับการบริหารราชการไทย
    • ขาดการนำเทคนิคเครื่องเมือการบริหารงานยุคใหม่มาประยุกต์ใช้ในการทำงานการบริหารราชการไทยที่ผ่านาขาดการนำเทคนิคการบริหารงานสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ส่งผลให้ไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และประหยัดเท่าที่ควร การปฏิรูปด้านการบริหารอาจนำเทคนิคการบริหารสมัยใหม่ เช่น การนำหลักการบริหารมุ่งผลสัมฤทธิ์มาประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงานภาคราชการ จึงเป็นวิธีหนึ่งในการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารราชการไทยได้
    • การใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ยังมีอยู่อย่างจำกัด การบริหารราชการไทยที่ผ่านมามีการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงานค่อนข้างน้อย ส่งผลให้การจัดเก็บข้อมูลที่เป็นระบบ ข้อมูลต่าง ๆ ที่มีอยู่ก็กระจัดกระจายไปส่วนราชการต่างๆ ทำให้ยากต่อการนำมาใช้ประโยชน์ทั้งในเชิงปฏิบัติการและเชิงบริหาร การปฏิรูปราชการไทยโดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการทำงานจึงจะช่วยให้การปฏิบัติงานและการตอบสนองความต้องการของประชาชนเป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
    • ผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงานภาครัฐจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง การที่จะทำให้ระบบการบริหารราชการไทยสามารถดำเนินงานบรรลุเป้าหมาย เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างพึงพอใจสูงสุดจำเป็นต้องพัฒนาความรู้ทางการบริหารของบุคคลภาคราชการ โดยเฉพาะตัวผู้บริหารให้มีความรู้และทักษะทางการบริหารเพิ่มมากขึ้น เพื่อนำความรู้และทักษะต่างๆ เหล่านั้นมาประยุกต์ใช้ในหน่วยงานให้ประสบความสำเร็จต่อไป

การบริหารงานภาครัฐในปัจจุบัน
แนวโน้มการบริหารราชการไทย

จากแนวคิดการบริหารจัดการภาครัฐแนวใหม่ และการปฏิรูประบบราชการไทยย่อมส่งผลให้ระบบราชการไทยในอนาคตจะมีสมรรถนะและมีลักษณะ ดังนี้

    • การให้บริการของภาครัฐแก่ประชาชนในอนาคตใช้กลไกตลาดมากขึ้น
    • การบริหารระบบราชการจะมีความยืดหยุ่นมากขึ้น
    • การบริหารราชการในอนาคตจะมีลักษณะของการบริหารแบบมีส่วนร่วมมากขึ้น
    • การให้บริการแก่ประชาชนในอนาคตจะต้องมีลักษณะเข้มข้น

จากแนวคิดการบริหารจัดการภาครัฐแนวใหม่ ส่งผลทำให้ระบบบริหารราชการไทยจำต้องมีการปฏิรูปตามยุทธศาสตร์ต่าง ๆ ดังได้กล่าวมาแล้ว ในอนาคตระบบบริหารราชการไทยก็จะมีลักษณะการบริหารงานที่ยืดหยุ่น มีระบบกลไกตลาดเข้ามาเกี่ยวข้อง องค์การราชการจะต้องมีการแข่งขันเพื่อเพิ่มประสิทธิภาการบริหารงาน มีข้าราชการที่มีสมรรถนะสูงเข้ามาปฏิบัติงาน รวมทั้งการเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารงานมากขึ้น ทั้งนี้ เพื่อเป้าหมายในการตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

หลักการพัฒนาระบบราชการไทย

การพัฒนาระบบราชการไทยมีวิวัฒนาการมาเป็นระยะเวลานานหลายยุคสมัย มียุคแห่งการพัฒนาการบริหารราชการได้เป็น 4 ยุคได้แก่ 1) ยุคก่อนการปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน พ.ศ. 2435 2) ยุคปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน พ.ศ. 2435 3) ยุคหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน พ.ศ. 2475 4) ยุคปฏิรูประบบราชการ พ.ศ. 2545  โดยเฉพาะในยุคล่าสุดนี้เป็นการพัฒนาระบบราชการเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากการบริหารราชการทั้งด้านโครงสร้าง ขั้นตอน กฎ ระเบียบ คำสั่ง พฤติกรรมการบริหารราชการอันเกิดจากบุคลากรของรัฐ ทำให้ภาคราชการไทยต้องมีการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้ทันกับกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกที่มุ่งพัฒนาการบริหารงานภาครัฐให้มีประสิทธิภาพภายใต้ชื่อว่าการจัดการภาครัฐแนวใหม่

การบริหารงานภาครัฐในปัจจุบัน

แนวคิดการจัดการภาครัฐแนวใหม่เกิดมาจากการหลอมรวมแนวคิดที่แตกต่างกัน 2 กระแสโดยกระแสแนวคิดแรกคือเศรษฐศาสตร์สถาบันใหม่ (New Institutional Economics) ซึ่งเกิดมาจากทฤษฎีทางเลือกสาธารณะ (Public Choice Theory) ทฤษฎีผู้ว่าจ้าง-ตัวแทน (Principal-agent Theory) และทฤษฎีต้นทุน-ธุรกรรม (Transaction Theory) ซึ่งมองการเมืองเปรียบเสมือนปรากฏการณ์ทางการตลาดและอีกกระแสแนวคิดหนึ่งคือการจัดการนิยม (Managerialism) ซึ่งเป็นแนวคิดที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปการบริหารภาครัฐโดยนำเอาวิธีการหรือเทคนิคต่างๆของภาคธุรกิจเอกชนมาใช้หรือเป็นการบริหารงานที่เลียนแบบภาคธุรกิจเอกชนโดยมีลักษณะลดขั้นตอน ลดขนาดโครงสร้างองค์การ รวมทั้งพฤติกรรมการดำเนินงานโดยมุ่งผลลัพธ์สุดท้ายมากกว่าวิธีการทำงาน

สรุป

ผลของการปฏิรูปและการพัฒนาระบบราชการไทยภายใต้แนวคิดการจัดการภาครัฐแนวใหม่เป็นที่คาดหมายไว้ว่าจะมีระบบราชการที่มีคุณภาพ ประสิทธิภาพ สามารถตอบสนองพันธกิจและภารกิจในการให้บริหารแก่ประชาชน และประเทศชาติได้อย่างสมบูรณ์มีขนาดกะทัดรัด และโปร่งใสตรวจสอบได้ และยึดผลประโยชน์ของประชาชนเป็นศูนย์กลางภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบราชการไทย โดยใช้หลักการบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดีหรือหลักธรรมาภิบาล

อ่านเพิ่มเติมที่

http://dspace.bru.ac.th/xmlui/handle/123456789/7910[เอกสารประกอบการสอนรายวิชาระบบบริหารราชการไทย]

บทความก่อนหน้านี้

https://pa.bru.ac.th/2021/09/12/goodgovernance/ ธรรมาภิบาลในองค์การภาครัฐ

การบริหารงานภาครัฐในปัจจุบัน

ระบบคลังข้อมูลวิชาการ[เอกสารอิเลกทรอนิกส์]

เอกสารอ้างอิง

  1. กระมล ทองธรรมชาติ และพรศักดิ์ ผ่องแผ้ว. (2551). ข้าราชการไทยความสำนึกและอุดมการณ์. (พิมพ์ครั้งที่ 4). กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
  2. โกลด์สมิท, สตีเฟ่น. (2552). การบริหารงานภาครัฐแบบเครือข่าย : มิติใหม่ของภาครัฐ. กรุงเทพฯ :เอ็กซเปอร์เน็ท.
  3. ไกรยุทธ์ ธีรตยาคีนันท์. (2534). ทฤษฎีว่าด้วยความล้มเหลวของรัฐ เศรษฐศาสตร์ ภาครัฐ : รวมบทความ. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
  4. จุมพล หนิมพานิช. (2550). การบริหารจัดการภาครัฐใหม่ : หลักการ แนวคิด และกรณีตัวอย่างของไทย. (พิมพ์ครั้งที่2). นนทบุรี : มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.
  5. เฉลิม ศรีผดุง และอิศเรศ ศันนีย์วิทยกุล. (2559). เอกสารการสอนชุดวิชาการจัดการเชิงกลยุทธ์ในภาครัฐกิจ หน่วยที่ 1-8. (พิมพ์ครั้งที่ 3). นนทบุรี : มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.
  6. ทศพร ศิริสัมพันธ์. (2557). ประมวลสาระชุดวิชาแนวคิดทฤษฎีและหลักการรัฐประศาสนศาสตร์. (พิมพ์ครั้งที่ 10). นนทบุรี : มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.
  7. ทิพาวดี เมฆสวรรค์. (2540). การปฏิรูปภาคราชการสู่สภาพที่พึงปรารถนา: ทำอย่างไร ใครรับผิดชอบ. วารสารข้าราชการ. 42(2), หน้า 24-43.
  8. เทพศักดิ์ บุณยรัตพันธุ์. (2557). ประมวลสาระชุดวิชาแนวคิดทฤษฎีและหลักการรัฐประศาสนศาสตร์. (พิมพ์ครั้งที่ 10). นนทบุรี : มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.
  9. นพรัฐพล ศรีบุญนาค. (2551). เอกสารการสอนชุดวิชาการบริหารการพัฒนาและการพัฒนาการบริหาร หน่วยที่ 8-15. (พิมพ์ครั้งที่ 4). นนทบุรี : มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.
  10. นราธิป ศรีราม. (2551). เอกสารการสอนชุดวิชาการบริหารราชการไทย หน่วยที่ 9-15. (พิมพ์ครั้งที่ 5). นนทบุรี : มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.
  11. นราธิป ศรีราม. (2559). เอกสารการสอนชุดวิชาการบริหารราชการไทย หน่วยที่ 8-15. นนทบุรี : มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.
  12. บุญเกียรติ การะเวกพันธุ์ และคณะ. (2560). ยุทธศาสตร์การพัฒนาระบอบบริหารราชการไทย. สืบค้นเมื่อ 4 มกราคม 2560, จาก http://wiki.kpi.ac.th/index.php
  13. ปรัชญา เวสารัชช์. (2539). การปฏิรูปราชการเพื่ออนาคต: ยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนา. งานวิจัยภายใต้โครงการปรับภาคราชการเข้าสู่โลกาภอวัฒน์ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ) การสัมมนาวิชาการประจำปี 2539 เรื่อง “การปฏิรูปราชการเพื่ออนาคต” 13-15 มีนาคม 2539 โรงแรมแอมบาสเดอร์ จอมเทียน ชลบุรี.
  14. พิทยา บวรวัฒนา. (2557). ประมวลสาระชุดวิชาแนวคิดทฤษฎีและหลักการรัฐประศาสนศาสตร์. (พิมพ์ครั้งที่ 10). นนทบุรี : มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.
  15. รัชยา ภักดีจิตต์. (2555). ธรรมาภิบาลเพื่อการบริหารภาครัฐและเอกชน. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
  16. วรเดช จันทรศร. (2541). ปรัชญาการบริหารภาครัฐ. (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ : สหายบล็อกและการพิมพ์.
  17. สมาน รังสิโยกฤษฏ์. (2546). การบริราชการในอดีต ปัจจุบันและอนาคต. (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ : บรรณกิจ 1991.
  18. สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน. (2545). แนวทางการบริหารราชการยุคใหม่ของรัฐมนตรี ปลัดกระทรวง หัวหน้ากลุ่มภารกิจและอธิบดี. กรุงเทพฯ : สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน.
  19. สุรศักดิ์ ชะมารัมย์. (2560). การบริหารจัดการภาครัฐแนวใหม่: กระแสหลักของการเปลี่ยนแปลงในการบริหารงานภาครัฐ. สืบค้นเมื่อ 9 มกราคม 2560, จากwww.lppreru.com/…/download.php
  20. Bozeman, Barry. (2000). Bureaucracy and Red Tape. New Jersey : Prentice Hall.
  21. Denhardt, Robert B. and Grubbs, Joseph W. (2003). Public Administration: An Action Orientation. 6th ed. USA: Wadsworth/Thomson
  22. Osborne, David and Gaebler, Ted. (1992). Reinventing Government How the Entrepreneurial Spirit is Transforming the Public Sector. Massachusetts : Addison-Wesley.
  23. Peters, B.G. (1995). Governance in Chancing Environment. London : Queen’s University Press.
  24. Willson, Janes Q. (1989). Bureaucracy : What Government Agencies Do and Why They Do It ?. New York : Basic Books.
  25. Yamamoto, Hiromi. (2003). New Public Management-Japan’s Practice. Japan : Institute for International Policy Studies Publications.