ตัวอย่างงานวิจัยเป็นภาษาอังกฤษ

การศึกษาระดับประถมศึกษาเป็นการศึกษาภาคบังคับ ที่มุ่งวางรากฐานที่ให้ผู้เรียนได้พัฒนาคุณลักษณะที่พึงประสงค์นั้นในด้านคุณธรรมจริยธรรม ความรู้และความสามารถพื้นฐานและให้สามารถคงการอ่านออก เขียนและคำนวณได้ ดังนั้นจุดหมายสำคัญของการจัดการศึกษาระดับประถมศึกษา โดยเฉพาะชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 เป็นชั้นสุดท้ายในระดับประถมศึกษานั้นก็คือการพัฒนาเด็กวัย 6-12 ปี ให้มีคุณภาพตามหลักสูตร เพื่อเป็นพื้นฐานการดำรงชีวิตและการพัฒนาประเทศให้บรรลุผลที่ตั้งไว้ จำเป็นต้องมีการจัดกระบวนการเรียนการสอนอย่างมีระบบให้ผู้เรียนเข้าใจ และรู้จักคิดแบบวิทยาศาสตร์และเอื้อให้ผู้เรียนใฝ่หาความรู้ รู้จักคิดริเริ่มรวมทั้งมีความสามารถในการคิดวิเคราะห์และสังเคราะห์ การใช้ภาษานับเป็นหลักการสำคัญประการหนึ่งที่จำเป็นต่อการจัดกระบวนการจัดการเรียนการสอนรวมทั้งภาษาต่างประเทศยิ่งมีความสำคัญในยุคที่มีการเปลี่ยนแปลง ความก้าวหน้าทางด้านอุตสาหกรรมวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี มีความรวดเร็วในการติดต่อสื่อสาร คมนาคม โดยเฉพาะภาษาอังกฤษเป็นภาษาต่างประเทศที่สำคัญและมีการใช้กันอย่างแพร่หลายมากที่สุด แทบจะกล่าวได้ว่าแทบทุกประเทศในโลกเรียนภาษาอังกฤษเป็นภาษาต่างประเทศ รวมทั้งประเทศไทยได้มีการเรียนการสอนภาษาอังกฤษเป็นเวลานาน แต่ก็ยังไม่สามารถบรรลุจุดหมายที่ตั้งไว้ โดยเฉพาะการเน้นให้ผู้เรียนสามารถใช้ภาษาที่เรียนในการสื่อสารได้นั้น ผู้เรียนไม่สามารถสื่อสารกับชาวต่างประเทศได้เลย จึงได้มีการเสนอแนวการสอนแบบใหม่ขึ้นมาคือ การสอนเพื่อการสื่อสาร (The Communication Approach) ขึ้นมา แต่ครูก็ขาดพฤติกรรมในทางปฏิบัติที่จะให้บรรลุตามแนวทางการสอนที่ได้ระบุไว้ การออกแบบการสอนอย่างมีระบบรูปแบบขบวนการที่นำคน วิธีการและวัสดุอุปกรณ์ มาปฏิสัมพันธ์กันอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ผู้เรียนเรียนรู้ได้ดี โดยเป็นการสอนที่เน้น “การเรียนรู้ของผู้เรียน” มากกว่า “เทคนิคการสอน” การออกแบบการสอนจึงนับว่าเป็นสิ่งสำคัญในการประกันคุณภาพการสอนของครูได้ดี ผู้วิจัยได้ตระหนักถึงความสำคัญดังกล่าวและเห็นว่าการที่จะนำการออกแบบการสอนอย่างมีระบบมาใช้ในสถาบันการศึกษาในระดับใดระดับหนึ่ง ในแต่ละสาขาวิชาย่อมมีลักษณะเฉพาะตน การนำการออกแบบการสอน ที่เป็นสากลมาใช้อาจไม่เหมาะสมกับสภาพเป็นจริงดังนั้นจึงต้องมีการวิจัยและพัฒนาเพื่อหารูปแบบที่เหมาะสม หารูปแบบการออกแบบการสอนวิชาภาษาอังกฤษอย่างมีระบบที่เหมาะสม สำหรับครูที่สอนชั้นประถมศึกษา สังกัดสำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดกาฬสินธุ์ เพื่อให้เป็นต้นแบบการสอนที่มีประสิทธิภาพต่อไป

 2) แนวคิด ทฤษฎีที่ใช้เป็นฐานในการวิจัยหรือกรอบแนวคิดเชิงทฤษฎี

ผู้วิจัยศึกษารูปแบบการออกแบบการสอนอย่างมีระบบ ที่เป็นที่ยอมรับของสากล 6 รูปแบบดังนี้ คือ

1. รูปแบบของเกอร์ลัชและอีลี

2. รูปแบบของ HBEP

3. รูปแบบของ Kemp

4. รูปแบบของ บราวน์และคณะ

5. รูปแบบการสอนของสถาบันพัฒนาการสอน (IDI)

6. รูปแบบของนักเทคโนโลยีการศึกษาที่เป็นที่ยอมรับในประเทศไทย คือ รูปแบบของ

ดร.เปรื่อง กุมุท

3) วัตถุประสงค์ของการวิจัย

วัตถุประสงค์ของการวิจัยครั้งนี้ คือ เพื่อศึกษาหารูปแบบการออกแบบการสอนอย่างมีระบบเหมาะสมในการพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนวิชาภาษาอังกฤษระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โดยอาศัยความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญนักวิชาการและครูประจำการของสำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดกาฬสินธุ์

 4) วิธีการดำเนินการวิจัย

4.1 ระเบียบวิธีวิจัยหรือรูปแบบของการวิจัย

การวิจัยเชิงปริมาณ การวิจัยเชิงบรรยาย

4.2 ตัวแปร และนิยามปฏิบัติการและ/หรือวิธีการวัดตัวแปร

1. ตัวแปรอิสระ คือ รูปแบบการออกแบบการสอนอย่างมีระบบที่เหมาะสมในการพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนภาษาอังกฤษระดับประถมศึกษาปีที่ 6 ที่ผ่านการวิเคราะห์ว่าเหมาะสมในการพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนภาษาอังกฤษชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 สังกัดสำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดกาฬสินธุ์ โดยความเห็นชอบจากผู้เชี่ยวชาญ และนักวิชาการ ตามขั้นตอนการพัฒนาครบทุกขั้นตอน

2. ตัวแปรตาม คือ ความคิดเห็นของครูที่สอนวิชาภาษาอังกฤษ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 สังกัดสำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดกาฬสินธุ์ ในปีการศึกษา 2536 ที่มีต่อรูปแบบการออกแบบการเรียนการสอนอย่างมีระบบที่ผู้วิจัยได้สร้างขึ้นและผ่านการวิเคราะห์จนได้รับความเห็นชอบจากผู้เชี่ยวชาญ และ นักวิชาการ ตามขั้นตอนการพัฒนาครบทุกขั้นตอน

4.3 เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย

แบบสอบถามและการสัมภาษณ์

4.4 ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง

กลุ่มประชากรคือ ครูสอนวิชาภาษาอังกฤษ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 สังกัดสำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดกาฬสินธุ์ ในปีการศึกษา 2538 จากโรงเรียนที่มีการสอนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ทั้งหมด 547 โรงเรียน จำนวน 646 คนกลุ่มตัวอย่างที่นำมาทำการศึกษาวิจัยครั้งนี้คือ ครูสังกัดสำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดกาฬสินธุ์ ที่สอนวิชาภาษาอังกฤษ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ในปีการศึกษา 2538 ได้มาโดยการสุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอน (Multi-stage sampling) ได้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 242 คน

4.5 วิธีการรวบรวมข้อมูล

เก็บรวบรวมข้อมูลด้วยตัวเองโดยการใช้แบบสอบถาม

4.6 วิธีประมวลผลและวิเคราะห์ข้อมูล

ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน

5. สรุปผลการวิจัย

1. ครูผู้สอนส่วนใหญ่ (ร้อยละ 97.52) มีความเห็นด้วยกับแบบการสอนที่ผู้วิจัยนำเสนอ ว่ามีความเหมาะสมในการนำไปใช้ในการสอนเพื่อพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนวิชาภาษาอังกฤษ

2. ครูสอนที่นำรูปแบบไปทดลองสอน มีความเห็นว่า รูปแบบการสอนที่เหมาะสมจะต้องใช้วิธีการระบบ (Systems Approach) โดยมีการกำหนดขั้นตอน องค์ประกอบและความสัมพันธ์ขององค์ประกอบอย่างชัดเจน และมีการประเมินที่มีคุณภาพ ตลอดจนการนำผลที่ได้เป็นข้อมูลย้อนกลับ (feedback) เพื่อการพัฒนาระบบการดำเนินการต่อไป

6. ข้อเสนอแนะจากการวิจัย

1. ข้อเสนอแนะในการนำผลการวิจัยไปใช้

1.1 สำหรับครูผู้สอนที่จะดำเนินการสอนเพื่อพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนวิชาภาษาอังกฤษ ควรได้ศึกษารูปแบบการสอนดำเนินการที่นำเสนอ เพื่อเป็นพื้นฐานในการดำเนินการหรืออาจปรับแต่งตามความเหมาะสม เช่น อาจคำนึงถึงจำนวนนักเรียน สภาพแวดล้อม วัฒนธรรม ระดับความรู้ของนักเรียน

1.2 ในการทดลองสอนตามรูปแบบควรมีการตรวจสอบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนประกอบด้วย

1.3 ควรมีการสัมภาษณ์นักเรียนหลังการทดลองสอนตามรูปแบบที่ออกแบบว่ามีความพอใจหรือไม่ และมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรหลังจากเรียนแล้ว

1.4 ในขั้นการประเมินผลควรมีการประเมินด้วยความเที่ยงตรง หรือให้ครูผู้สอนวิชาภาษาอังกฤษชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนอื่น เป็นผู้ทดสอบประเมินผลเพื่อไม่ให้เกิดความลำเอียง

2. ข้อเสนอแนะสำหรับการวิจัยครั้งต่อไป

2.1 ควรมีการศึกษารูปแบบระบบการสอนที่เหมาะสมสำหรับวิชาภาษาอังกฤษในระดับชั้นอื่นด้วย

2.2 ศึกษารูปแบบระบบการสอนที่เหมาะสมสำหรับวิชาภาษาอังกฤษในเขตการศึกษาและจังหวัดอื่น ๆ ซึ่งมีสภาพที่แตกต่างกัน

2.3 ควรมีการวิจัยเพื่อหารูปแบบระบบการสอนที่เหมาะสมสำหรับวิชาอื่น ๆ นอกจากวิชาภาษาอังกฤษ

1.1 ควรมีการศึกษาถึงผลของการสอนที่เกิดกับตัวนักเรียนด้วย โดยศึกษาจากประชากรนักเรียนในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 อาจใช้ผลสัมฤทธิ์เป็นตัวกำหนด

1.2 ควรได้ศึกษาถึงรูปแบบระบบการสอนอื่น ๆ โดยเฉพาะ โดยไม่ผูกติดกับการออกแบบการสอน จะทำให้ได้ภาพที่ชัดเจนในรายละเอียดของการสอนและถูกต้องยิ่งขึ้น