กิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

กิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศสามารถกระทำได้หลายรูปแบบในพื้นที่ธรรมชาติที่มีระบบนิเวศต่าง ๆ กัน เช่นกลุ่มระบบนิเวศป่าเขาจะเน้นกิจกรรมที่อาศัยทรัพยากรนันทนาการประเภท ป่าไม้ สัตว์ป่า แหล่งน้ำ เช่น อ่างเก็บน้ำ ทะเลสาบ น้ำตกต่าง ๆ สภาพภูมิทัศน์ของลักษณะสัณฐานที่ดิน (Land Forms) และสัณฐานทางธรณีที่เป็นลักษณะเด่นแปลกตา หรือลักษณะเด่นที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ โบราณสถาน โบราณวัตถุ และวัฒนธรรมของชุมชนดั้งเดิมในพื้นที่เป็นหลักสำคัญ ส่วนกลุ่มระบบนิเวศแบบเกาะแก่งชายฝั่งมักจะได้รับความสนใจในด้านทรัพยากรทางทะเล (Marine Resources) ที่ยังคงสภาพธรรมชาติสมบูรณ์สวยงาม เช่น ปะการัง ปลาสวยงาม ชายหาดที่สวยงาม ส่วนสภาพป่าเขาหรือแหล่งน้ำต่าง ๆ จะได้รับความสนใจเป็นอันดับรองลงมา ดังนั้นกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์จะเน้นไปในส่วนที่เป็นชายฝั่ง (Wetland) กิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่ได้รับความนิยมมาก คือ การดูนกต่าง ๆ โดยเฉพาะ นกต่างถิ่นที่หาดูได้ยาก เป็นต้น

การจัดการท่องเที่ยวเชิงนิเวศนั้น ควรพิจารณาปัจจัยหลัก 2 ประการ กล่าวคือ

1)     ปัจจัยเกี่ยวกับพื้นที่และทรัพยากรนันทนาการในพื้นที่ที่จะรองรับการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ (Ecotourism Site) ทั้งนี้สภาพดั้งเดิมและคุณค่าที่มีอยู่ในตัวธรรมชาติเป็นหัวใจของกิจกรรมท่องเที่ยว เชิงนิเวศ ดังนั้นในแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติที่แม้จะมีความงดงาม แต่ถ้าหากมีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมอย่างมาก จนกระทั่งรูปลักษณ์เดิมสูญเสียเหล่านั้นจะไม่อยู่ในเกณฑ์ของการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ นอกจากนั้นกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงนิเวศจะต้องไม่ทำให้พื้นที่และทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่เสื่อมโทรมลงไปจนไม่สามารถฟื้นตัวได้อีก พื้นที่ธรรมชาติที่มีแนวโน้มที่จะเกิดผลกระทบต่อทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม เมื่อจัดให้มีกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เช่น แหล่งพืช สัตว์ป่าหายาก บริเวณที่สำคัญต่อการดำรงชีวิตของสัตว์ป่า ฯลฯ ควรที่จะละเว้นการส่งเสริมกิจกรรมท่องเที่ยวในบริเวณดังกล่าว

2)    ปัจจัยเกี่ยวกับกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่ควรส่งเสริมนอกจากมุ่งให้นักท่องเที่ยวได้รับความเพลิดเพลินพึงพอใจและใกล้ชิดกับธรรมชาติแล้ว ควรเป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวได้มีโอกาสเรียนรู้กับธรรมชาติไม่มากน้อยโดยผ่านทางโปรมแกรมสื่อความหมายธรรมชาติรูปแบบต่าง ๆ อย่างไรก็ดี การจัดกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศในพื้นที่ธรรมชาติอาจจำเป็นต้องพิจารณากิจกรรมการท่องเที่ยวอื่นๆ ที่ไม่ได้เน้นเรื่องของการเรียนรู้ธรรมชาติ / สิ่งแวดล้อมประกอบกันไป เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวและทำให้นักท่องเที่ยวได้รับความเพลิดเพลินมากขึ้น ซึ่งอาจเรียกว่ากิจกรรมท่องเที่ยวเพื่อเสริมกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ กล่าวคือ เป็นกิจกรรมที่กระทำในพื้นที่ธรรมชาติ มีการจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวต่อกลุ่มกิจกรรม เพื่อไม่สร้างผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมธรรมชาติ กิจกรรมเสริมดังกล่าวอาจจัดกลุ่มได้เป็นกลุ่มกิจกรรมท่องเที่ยวที่เน้นการใกล้ชิดชื่นชมธรรมชาติ (Appreciative Recreational Activities) และกลุ่มกิจกรรมท่องเที่ยวที่เน้นการผจญภัยตื่นเต้นท้าทายกับธรรมชาติ (Adventurous Recreational Activities) สำหรับกิจกรรมการท่องเที่ยวทั้ง 3 กลุ่ม ได้แก่ กิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ (กิจกรรมหลัก) กิจกรรมการท่องเที่ยวแบบชื่นชมธรรมชาติ (กิจกรรมเสริม) และกิจกรมผจญภัยตื่นเต้น (กิจกรรมเสริม) พอที่จะสรุปได้ดังนี้

กิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ (กิจกรรมหลัก)

  • กิจกรรมการเดินป่า (Hiking/Trekking) เป็นการเดินป่าระยะใกล้ (2กิโลเมตรขึ้นไป)เป็นกิจกรรมที่ให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสกับธรรมชาติอย่างใกล้ชิด โดยการนำตัวเองไปสู่ธรรมชาติด้วยเส้นทางเดินเท้าที่ตัดผ่านเข้าไปในป่าที่มีจุดสวยงามดึงดูดความสนใจตามธรรมชาติรายทางนักท่องเที่ยวนอกจากจะได้ใกล้ชิดกับธรรมชาติแล้ว ยังมีโอกาสได้เรียนรู้สรรพสิ่งต่างๆ ในธรรมชาติจากไกด์นำทางที่มีความรู้ด้านนิเวศวิทยา (Ecology) และชำนาญพื้นที่เป็นอย่างดี กิจกรรมเดินป่ายังแบ่งเป็นสองลักษณะคือการเดินป่าที่สมบุกสมบัน มีจุดมุ่งหมายสร้างความตื่นเต้นให้แก่นักท่องเที่ยว เป็นการเดินป่าในเส้นทางที่ค่อนข้างยากลำบาก ท้าทายความสามารถของนักท่องเที่ยว เช่น การปีนป่าย หรือเดินขึ้นลงเขาที่สูงชัน ฯลฯ ส่วนกิจกรรมเดินป่าควรมีนักท่องเที่ยวมากที่สุดต่อกลุ่มไม่เกิน 15 คน และมีไกด์ท้องถิ่นที่คุ้นเคยกับท้องถิ่น ตลอดจนมีความรู้ด้านนิเวศวิทยา (Ecology) ที่จะให้ความรู้แก่นักท่องเที่ยวระหว่างทางได้เป็นอย่างดี กิจกรรมเดินป่าอาจมีการพักแรมในป่า สิ่งของอุปโภคทั้งหลายจะต้องนำออกจากป่าทั้งหมด รวมทั้งเศษขยะต่างๆ จากการอุปโภคบริโภคโดยเฉพาะของที่ไม่สามารถย่อยสลายได้ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีถุงหรือภาชนะที่จะเก็บขยะเหล่านั้นออกจากป่าให้หมดทุกครั้งไป การจัดเส้นทางเดินเท้าในป่าควรมีความกว้างขนาดหนึ่งหรือสองคนเดิน และคงสภาพเดิมไว้มากที่สุด ไม่ควรตัดต้นไม้กิ่งไม้ออกโดยไม่จำเป็น ไม่ควรตัดเส้นทางเดินเท้าผ่านจุดที่มีระบบนิเวศเปราะบาง หรือเป็นแหล่งพืช / สัตว์ป่าหายาก โดยเฉพาะบริเวณที่จำเป็นสำหรับสัตว์ป่าในการดำรงชีพและสืบพันธุ์ ซึ่งถ้ามนุษย์ผ่านเข้าไปแล้วจะรบกวนกิจกรรมทางธรรมชาติของสัตว์ป่าเหล่านั้นควรกำหนดเส้นทางผ่านหรือมีมุมมองเกี่ยวกับสภาพธรรมชาติที่น่าสนใจ สภาพภูมิทัศน์ที่งดงามและแหล่งน้ำ เพื่อนักท่องเที่ยวจะได้เพลิดเพลิน ไม่เบื่อหน่ายเส้นทาง เดินป่าไม่ควรตัดผ่านจุดที่อาจก่อให้เกิดอันตรายแก่นักท่องเที่ยว จุดเริ่มต้นและสิ้นสุดของเส้นทางเดินป่าควรมีสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานที่จำเป็นเช่น ห้องสุขา ที่นั่งพักผ่อน และป้ายสื่อความหายต่าง ๆ หน่วยงานเจ้าของพื้นที่ควรเป็นผู้กำหนดเส้นทางเดินป่าที่เหมาะสมและดูแลสภาพของเส้นทางเดินป่าให้ใช้การได้ ผู้ที่ควรมีบทบาทสำคัญในการรักษาเส้นทางเดินป่า คือ ไกด์นำเดินป่าและนักท่องเที่ยวที่จะต้องช่วยรักษาความสะอาดและไม่ทำลายสภาพธรรมชาติต่าง ๆ และเข้าใจถึงการปฏิบัติตนเมื่อท่องเที่ยวในพื้นที่ธรรมชาติเหล่านั้น
    • กิจกรรมศึกษาธรรมชาติ (Nature Education)  เป็นกิจกรรมท่องเที่ยวที่ได้สนับสนุนให้นักท่องเที่ยวนอกจากจะได้รับความเพลิดเพลินจากการได้มาเที่ยวในพื้นที่ธรรมชาติแล้ว ยังได้รับความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติในเรื่องต่าง ๆ ผ่านทางโปรแกรมสื่อความหมายธรรมชาติรูปแบบต่างๆ ที่จัดทำขึ้นในพื้นที่สิ่งอำนวยความสะดวกที่ส่งเสริมกิจกรรมท่องเที่ยวประเภทนี้ คือ ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว (Visitor Center) ป้ายชื่อความหมายธรรมชาติ ณ จุดต่าง ๆ ที่น่าสนใจ (Wayside Exhibit) นิทรรศการกลางแจ้ง (Outdoor Exhibit) ตลอดจนเส้นทางเดินเท้าที่จัดทำเพื่อให้นักท่องเที่ยวได้เข้าไปสัมผัสและเรียนรู้เรื่องราวต่าง ๆเกี่ยวกับธรรมชาติในพื้นที่ (Nature Interpretive Trail) ลักษณะเส้นทางเดินเท้าดังกล่าวควรเดินได้อย่างไม่ลำบากมากนักตัดผ่านจุดที่น่าสนใจและสามารถให้ความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติให้นักท่องเที่ยวได้ อาจจัดให้มีป้ายสื่อความหมายธรรมชาติเพื่ออธิบายและ / หรือให้ความรู้ที่ไม่ยากแก่การเข้าใจแก่นักท่องเที่ยวทั่วไปตลอดเส้นทาง หรือจัดทำเป็นเอกสารแผ่นพับให้นักท่องเที่ยวได้ศึกษาด้วยตนเอง (Self – Guided Trail) เส้นทางเดินเท้าดังกล่าวไม่ควรมีระยะทางไกลนัก (ประมาณ 1-2กิโลเมตร) ควรจัดเส้นทางเป็น loop (เข้า – ออกทางเดียว) การดูแลบำรุงรักษาศูนย์บริการนักท่องเที่ยวและนิทรรศการกลางแจ้งเป็นหน้าที่ของหน่วยงานเจ้าของพื้นที่ ทั้งนี้การจัดโปรแกรมสื่อความหมายประเภทต่างๆ ในศูนย์บริการนักท่องเที่ยวอาจได้รับการสนับสนุนจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และภาคเอกชน การดูแลรักษาเส้นทางเดินเท้าศึกษาธรรมชาติควรเป็นหน้าที่ของหน่วยงานเจ้าของพื้นที่ ร่วมกับนักท่องเที่ยวตลอดจนไกด์นำเที่ยว (ถ้ามี) หน่วยงานเจ้าของพื้นที่มีหน้าที่รับผิดชอบให้เส้นทางเดินเท้าดังกล่าวอยู่ในสภาพที่ใช้การได้ดีไม่ทรุดโทรม ดูแลเรื่องความสะอาด เช่น จัดเตรียมถังขยะไว้ตามจุดที่เหมาะสมและมีการกำจัดขยะอย่างสม่ำเสมอ นักท่องเที่ยวมีหน้าที่ปฏิบัติตามกฎระเบียบของพื้นที่ รักษาความสะอาด และไม่กระทำพฤติกรรมเชิงทำลายต่างๆ เช่น ถอนป้ายทิ้งขีดฆ่า/เขียนสิ่งต่างๆ ลงบนป้าย หิน หรือต้นไม้ รวมทั้งไม่ส่งเสียงดังหรือนำเครื่องเสียง เครื่องดนตรีต่าง ๆ ไปเปิดรบกวนความสงบตามธรรมชาติไกด์นำเที่ยวมีหน้าที่ให้ความรู้แก่นักท่องเที่ยวก่อนที่จะเข้าไปทำกิจกรรมเกิดผลกระทบต่อพื้นที่การควบคุมดูแลความเป็นระเบียบของนักท่องเที่ยวขึ้นกับหน่วยงานเจ้าของพื้นที่ที่ต้องดูแลรับผิดชอบ
    • กิจกรรมถ่ายรูปธรรมชาติ บันทึกเทปวิดีโอ เทปเสียงธรรมชาติ (Nature Photography, Video Taping and Sound of Nature Audio Taping) เป็นการถ่ายรูปและการบันทึกเทปวิดีโอวิวธรรมชาติ และสิ่งที่น่าสนใจอันเป็นรายละเอียดอยู่ในธรรมชาติ เช่น ดอกไม้ป่า พืชหายาก และรอยเท้าสัตว์ป่า เป็นต้น การบันทึกเสียงธรรมชาตินิยมทั้งเสียงน้ำตก น้ำไหล เสียงนก แมลง และสัตว์ป่าต่าง ๆ สิ่งอำนวยความสะอาดที่ควรจัดเตรียมสำหรับกิจกรรมประเภทนี้คือ เส้นทางที่จะนำนักท่องเที่ยวเข้าไปถ่ายรูปธรรมชาติและบันทึกเสียงข้อมูลเกี่ยวกับแหล่งหรือจุดที่บันทึกได้ดี และ/หรือสามารถจะถ่ายรูปได้สวยงาม ช่วงระยะเวลาที่ควรถ่ายรูปตลอดจนรายละเอียดหรือประวัติที่น่าสนใจของสิ่งที่ควรบันทึกภาพ/เสียงไว้แนวทางในการดูแลรักษาเส้นทางเดินเท้าเพื่อกิจกรรมประเภทนี้เป็นไปในลักษณะเดียวกับการดูแลรักษาเส้นทางเดินเท้า เพื่อการศึกษาธรรมชาติ
    • กิจกรรมส่อง / ดูนก (Bird Watching) เป็นกิจกรรมเฉพาะสำหรับผู้มีความสนใจในเรื่องนกสิ่งดึงดูดที่สำคัญ คือ นกชนิดต่างๆ ทั้งที่เป็นนกประจำถิ่น นกอพยพ และนกหายาก เส้นทางเดินเท้าที่รองรับกิจกรรมประเภทนี้ควรมีขนาดกว้าง 2 คนเดิน ไม่ควรมีการพัฒนาใดๆ นอกจากจุดหยุดพักบางจุด เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้จดบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับนกต่าง ๆ ที่ได้พบเห็น กลุ่มนักดูนกไม่ควรมีขนาดใหญ่มากนัก ทั้งนี้ไม่ควรเกิน 5 คน ต่อกลุ่ม ควรมีมัคคุเทศก์นำทางที่มีความรู้เกี่ยวกับนกและธรรมชาติของนกที่มีในพื้นที่สำหรับกลุ่มนักท่องเที่ยวที่ไม่มีความชำนาญในกิจกรรมประเภทนี้มาก่อน ตลอดจนมีกล้องสองตาดูนก และคู่มือดูนก (Bird Guides) เตรียมไว้ให้กลุ่มและเก็บเงินค่าธรรมเนียมในการยืมเพื่อใช้ในกิจการด้านการอนุรักษ์นกและถิ่นที่อยู่อาศัยของนก ประการสำคัญ การกำหนดเส้นทางเดินเท้าไม่ควรผ่านบริเวณทำรังหรือวางไข่ของนก ตลอดจนควรมีการควบคุมเข้มงวดไม่ให้มีการท่องเที่ยวในช่วงเวลาที่ไม่ควรรบกวนนก เช่น ฤดูวางไข่ ผสมพันธุ์ เป็นต้น
    • กิจกรรมศึกษา / เที่ยวถ้ำ (Cave Exploring / Visiting) เป็นกิจกรรมที่นักท่องเที่ยวได้มีโอกาสในการศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องของถ้ำ เช่น กระบวนการเกิดถ้ำ ลักษณะของหิน/แร่ และสัณฐานธรณี ประเภทของถ้ำ สิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในถ้ำ การดูแลรักษาถ้ำ ฯลฯ นอกจากนั้นนักท่องเที่ยวยังได้รับความเพลิดเพลินและตื่นตากับความงามแปลกเด่นที่เป็นเอกลักษณ์ของถ้ำอีกด้วย การเที่ยวถ้ำ โดยเฉพาะถ้ำที่มีแสงสว่างไม่เพียงพอและเป็นถ้ำที่ลึกและวกวน จำเป็นต้องมีมัคคุเทศก์นำทางเพื่อความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวการจัดการถ้ำเพื่อรองรับการท่องเที่ยวควรจัดสิ่งอำนวยความสะดวกที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยว และช่วยในการดูแลรักษาถ้ำ เช่น การทำทางเดินเท้ายกระดับในกรณีที่ถ้ำมีน้ำท่วมขัง เป็นต้น มีโปรแกรมสื่อความหมายให้คำแนะนำเรื่องการเที่ยวถ้ำ และให้ความรู้เกี่ยวกับถ้ำแก่นักท่องเที่ยวในบริเวณนอกตัวถ้ำ การสำรวจถ้ำ จัดทำแผนโปรแกรมสื่อความหมายธรรมชาติ ตลอดจนสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เป็นหน้าที่ของหน่วยงานเจ้าของพื้นที่ซึ่งอาจประสานขอความร่วมมือจากนักวิชาการ หน่วยงานอื่นๆ และภาคเอกชน นอกจากนั้นหน่วยงานเจ้าของพื้นที่ยังมีหน้าที่ควบคุมดูแลให้นักท่องเที่ยวปฏิบัติตามกฎระเบียบ รักษาความปลอดภัยแก่นักท่องเที่ยวอีกด้วย
    • กิจกรรมศึกษาท้องฟ้าและดาราศาสตร์ (Sky Interpretation)  เป็นกิจกรรมที่นักท่องเที่ยวได้มีโอกาสในการศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องของท้องฟ้าและดาราศาสตร์ ชนิดของดาวและกลุ่มดาว รูปร่าง ตำแหน่ง และวงโคจร ตลอดจนประวัติและตำนานพื้นบ้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง พื้นที่ธรรมชาติที่จัดกิจกรรมประเภทนี้ได้ดี ได้แก่ บริเวณที่โล่ง และ/หรือบนที่สูง เช่น เกาะแก่ง ชายหาดที่โล่งทุ่งหญ้าที่อยู่บนเขาที่ไม่มีต้นไม้บดบังท้องฟ้า เป็นต้น ฤดูที่เหมาะต่อกิจกรรมประเภทนี้คือฤดูหนาว ท้องฟ้าไม่มีเมฆหมอกบดบัง กิจกรรมประเภทนี้จำเป็นต้องอาศัยผู้ชำนาญในการให้ความรู้แก่นักท่องเที่ยวตลอดจนมีอุปกรณ์ เช่นกล้องดูดาว และแผนที่ดาว เป็นต้น
    • กิจกรรมล่องเรือศึกษาธรรมชาติ (Boat Sightseeing)  เป็นกิจกรรมที่ให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสและเรียนรู้ธรรมชาติ จำเป็นจะต้องมี มัคคุเทศก์ในการให้ความรู้ ความเพลิดเพลิน การล่องเรือทำได้ทั้งในลำน้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติ ทะเล หรืออ่างเก็บน้ำที่ยังคงมีสภาพธรรมชาติแวดล้อมอยู่ สิ่งที่ควรระมัดระวังจากการกระทำกิจกรรมประเภทนี้ ได้แก่ น้ำมันปนเปื้อนลงในแหล่งน้ำ ขยะเสียงรบกวนจากเครื่องยนต์ การรบกวนบริเวณวางไข่ / ผสมพันธุ์ของสัตว์น้ำ ซึ่งเป็นหน้าที่ของผู้ประกอบการและนักท่องเที่ยวที่จะต้องระมัดระวัง และช่วยกันดูแลรักษาแหล่งท่องเที่ยวตลอดจนความรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่ในการควบคุมการท่องเที่ยวไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจนกระทั่งสภาพธรรมชาติเสื่อมโทรมลง นอกจากนั้นการพัฒนาพื้นที่ที่จำเป็น เช่น จุดขึ้น – ลงเรือ จะต้องออกแบบให้ผสมผสานกลมกลืนกับสภาพธรรมชาติ
    • กิจกรรมพายเรือแคนนู (Canoeing) / เรือคายัค (Kayak) / เรือบด (Browbeating) / เรือใบ (Sailing)  เป็นกิจกรรมที่ให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสและเรียนรู้ธรรมชาติ ทั้งยังให้นักท่องเที่ยวได้ใช้ความสามารถในการบังคับเรือและได้ออกกำลังกาย เป็นกิจกรรมที่ทำได้ทั้งในลำน้ำ ในแหล่งน้ำธรรมชาติ ทะเล หรืออ่างเก็บน้ำที่ยังคงมีสภาพธรรมชาติแวดล้อมอยู่ สิ่งที่ควรระมัดระวังจากการกระทำกิจกรรมประเภทนี้ ได้แก่ จำนวนเรือต่อหน่วยพื้นที่ ขยะ และการรบกวนบริเวณวางไข่/ผสมพันธุ์ของสัตว์น้ำ ซึ่งเป็นหน้าที่ของนักท่องเที่ยวที่จะต้องระมัดระวังและช่วยกันดูแลรักษาแหล่งท่องเที่ยวตลอดจนความเข้มงวดของเจ้าหน้าที่ในการควบคุมให้การท่องเที่ยวไม่เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจนกระทั่งสภาพธรรมชาติเสื่อมโทรมลง สำหรับกิจกรรมการพายเรือ ควรมีสัดส่วนในการใช้พื้นที่เพื่อไม่ให้เกิดความแออัด เช่น เรือแคนู คายัค เรือบด 1 ลำ ต่อความยาวลำน้ำ 2.4กิโลเมตร  เรือใบ 1 ลำ ต่อ 0.004 ตารางกิโลเมตร
    • กิจกรรมดำน้ำชมปะการังน้ำตื้น (Snorkel Skin Diving)  เป็นกิจกรรมที่ให้ความเพลิดเพลินและใกล้ชิดกับธรรมชาติใต้ทะเลที่มีสีสันสวยงาม นักท่องเที่ยวทีโอกาสที่จะได้เรียนรู้เกี่ยวกับพืชและสัตว์ใต้น้ำ โดยไม่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจมีเพียงหน้ากาก (Snorkel) บริเวณที่ควรจัดกิจกรรมประเภทนี้จะต้องเป็นน้ำตื้นที่มีความลึกไม่เกิน 0.9 เมตร เป็นแหล่งของปะการังหลายชนิดที่ยังอุดมสมบูรณ์และสวยงาม มีพืชและสัตว์ใต้น้ำประเภทอื่น ๆ ประกอบกระแสน้ำไม่รุนแรง และน้ำใสสะอาด ควรจัดให้มีการทำเส้นทางดำน้ำใต้ทะเล (Undersea Self – Guided Trail) และมีคู่มือศึกษาทรัพยากรใต้ทะเลให้แก่นักท่องเที่ยว สิ่งสำคัญที่ควรคำนึงถึงในการจัดกิจกรรมประเภทนี้คือ เรือที่นำนักท่องเที่ยวไปดำน้ำอาจทำลายปะการังใต้น้ำเมื่อน้ำลดหรือเมื่อทอดสมอเรือลงไป จึงควรหมายแนวเขตที่มีปะการัง ความลึกต่ำสุดและสูงสุดของน้ำ พร้อมทั้งควรจัดทุ่นจอดเรือให้เป็นระเบียบ นอกจากนั้นควรควบคุมไม่ให้เรือปล่อยน้ำมันเรือ และทิ้งขยะลงน้ำ นอกจากนั้นปะการังอาจถูกทำลายจากการประมง เช่นการระเบิดปลา และอวนลากได้ จึงควรมีการห้ามการประมงหรือระเบิดปลาในบริเวณแนวปะการัง กิจกรรมดำน้ำนี้อาจเสนอแนะให้มีกิจกรรมในการอนุรักษ์ /ฟื้นฟูทรัพยากรใต้ทะเลไปด้วยกันได้ เช่น ให้นักท่องเที่ยวมีโอกาสช่วยดำน้ำเก็บขยะ และปลูกปะการัง เป็นต้น ซึ่งจะทำให้นักท่องเที่ยวมีความรู้สึกมีส่วนร่วมในการช่วยรักษาทรัพยากรธรรมชาติใต้น้ำ และเกิดความรู้สึกภาคภูมิใจที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวม
    • กิจกรรมดำน้ำลึก (Scuba Diving)  เป็นกิจกรรมที่ให้ความเพลิดเพลินและใกล้ชิดกับธรรมชาติใต้ทะเลที่มีสีสันสวย งามเช่นเดียวกับกิจกรรมดำน้ำตื้น กิจกรรมดำน้ำลึกนี้นักดำน้ำต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ บริเวณที่ควรจัดกิจกรรมดำน้ำเพื่อนันทนาการควรมีความลึกประมาณไม่เกิน 30 เมตร เป็นแหล่งของปะการังหลายชนิดที่ยังอุดมสมบูรณ์และสวยงาม โดยมีพืชและสัตว์ใต้ทะเลประเภทอื่นๆ เป็นส่วนประกอบ กระแสน้ำไม่รุนแรงและน้ำใสสะอาด ควรจัดให้มีการทำเส้นทางดำน้ำใต้ทะเล (Undersea Self – Guided Trail) และมีคู่มือศึกษาทรัพยากรใต้ทะเลให้แก่นักท่องเที่ยวสิ่งสำคัญที่ควรคำนึงถึงคือ การจัดกิจกรรมลักษณะเดียวกันกับกิจกรรมดำน้ำตื้นแต่ควรเอาใจใส่เกี่ยวกับความปลอดภัยมากกว่า                                                             

กิจกรรมท่องเที่ยวประเภทชื่นชมธรรมชาติ และกิจกรรมท่องเที่ยวประเภทตื่นเต้นผจญภัย (กิจกรรมเสริม)

  • กิจกรรมชมทิวทัศน์ธรรมชาติในบรรยากาศที่สงบ (Relaxing) เป็นกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวได้ชื่นชมและใกล้ชิดกับธรรมชาติ ซึ่ง เป็นกิจกรรมเสริมกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงนิเวศอื่น ๆ ที่กล่าวแล้วข้างต้น การชมทิวทัศน์อาจทำได้ในลักษณะการเดินเล่นตามเส้นทางที่จัดไว้ให้และ/หรือตามชายหาดต่างๆ หรือเป็นจุดอยู่กับที่ โดยนักท่องเที่ยวได้หยุดชมธรรมชาติ ณ จุดต่างๆ ทั้งนี้คุณค่าความงามของธรรมชาติและความสงบเป็นทรัพยากรนันทนาการที่สำคัญสำหรับกิจกรรมประเภทนี้ กล่าวกันว่าการได้ชื่นชมใกล้ชิดกับธรรมชาติเป็นโอกาสหนึ่งที่ทำให้นักท่องเที่ยว ได้เข้าใจถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ธรรมชาติ ณ จุดที่จัดให้ การชมธรรมชาติควรมีป้ายสื่อความหมายเกี่ยวกับธรรมชาติที่อยู่รอบตัวของนักท่องเที่ยวเพื่อให้การท่องเที่ยวมีคุณค่ามากขึ้น นอกจากนั้นการชมทิวทัศน์ธรรมชาติอาจกระทำในลักษณะของการนั่งรถยนต์ไปตามทางที่ผ่านธรรมชาติที่สวยงาม (Sight Seeing) และมีจุดพักชมวิวทิวทัศน์เป็นระยะตามความเหมาะสม ซึ่งควรจัดให้มี Wayside Exhibit ณ จุดพักต่างๆ สิ่งที่เป็นทรัพยากรนันทนาการที่สำคัญสำหรับกิจกรรมนี้คือ สภาพภูมิทัศน์ที่สวยงามแปลกตา ตลอดจนลำดับของสภาพภูมิทัศน์สองข้างทางที่มีความหลากหลาย (Sequences of Landscape) กิจกรรมประเภทนี้ควรเน้นคุณภาพของการท่องเที่ยวที่ให้ความเคารพกับความเป็นธรรมชาติ เช่น ไม่ก่อให้เกิดเสียงดังรบกวนความสงบ การรักษาความสะอาด 
  • กิจกรรมขี่จักรยานตามเส้นทางธรรมชาติ (Terrain / Mountain Biking) เป็นกิจกรรมที่ต้องอาศัยอุปกรณ์คือ จักรยานภูเขา (Mountain Biking) เส้นทางขี่จักรยานไม่ควรเป็นเส้นทางเดียวกับเส้นทางเดินเท้าเพื่อกิจกรรมเดินป่า หรือศึกษาธรรมชาติ หรือดูนก มีความลาดชันในระดับต่างๆ กันตลอดเส้นทาง ตั้งแต่ 0 – 20% หลักเกณฑ์ในการเลือก
    กเส้นทางเป็นเช่นเดียวกับการพัฒนาเส้นทางเดินเท้าคือ ไม่ควรผ่านบริเวณที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ สืบต่อพันธุ์ของสัตว์ป่า สภาพภูมิประเทศควรมีลักษณะต่าง ๆ เพื่อความท้าทายและไม่น่าเบื่อตลอดจนมีจุดสนใจและความงดงามตามธรรมชาติ  การพัฒนาเส้นทางจักรยาน ควรเน้นให้เข้ากับสภาพธรรมชาติ ไม่มีการตัดต้นไม้ใหญ่ไม่จำเป็นต้องทำเส้นทางด้วยวัสดุก่อสร้าง อาจมีการทำร่องระบายน้ำ หรือสะพานไม้อย่างง่ายในบริเวณที่ลุ่มและร่องน้ำ หน่วยงานเจ้าของพื้นที่มีหน้าที่ในการดูแลเส้นทางขี่จักรยานให้อยู่ในสภาพใช้การได้และดูแลรักษาความสะอาด ตลอดจนกวดขันให้นักท่องเที่ยวปฏิบัติตามกฎระเบียบ เช่น ขี่จักรยานในเส้นทางที่จัดเตรียมให้ รวมทั้งให้ความช่วยเหลือตามความจำเป็นเมื่อนักท่องเที่ยวต้องการ นักท่องเที่ยวมีหน้าที่เคารพกฎระเบียบของพื้นที่ รักษาความสะอาดด้วยการไม่ทิ้งขยะตามเส้นทางตลอดจนไม่ส่งเสียงอึกทึกในระหว่างขี่จักรยาน
  • กิจกรรมปีน / ไต่เขา (Rock / Mountain Climbing) เป็นกิจกรรมที่มุ่งตอบสนองความต้องการของมนุษย์ในแง่การท้าทายความยากลำบากที่ธรรมชาติสร้างไว้ บริเวณที่อนุญาตให้มีการไต่เขา หรือปีนเขาควรมีความปลอดภัยในระดับหนึ่ง และไม่ก่อให้เกิดความเสียหายกับธรรมชาติ ทั้งในและนอกขอบเขตที่จัดไว้ให้ในเส้นทางปีน/ไต่เขา
  • กิจกรรมพักแรมด้วยเต็นท์ (Tent Camping) การพักแรมแบบกางเต็นท์มีหลายรูปแบบ ตั้งแต่พักแรมแบบเต็นท์ที่มีการพัฒนาแล้วในเขตบริเวณต่างๆ จนกระทั่งพักแรมกลางป่าที่ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกใดๆ อย่างไรก็ดี กิจกรรมพักแรมด้วยเต็นท์มุ่งให้นักท่องเที่ยวได้อยู่กับธรรมชาติและสัมผัสธรรมชาติอย่างใกล้ชิด โดยไม่อาศัยสิ่งอำนวยความสะดวกในการอยู่อาศัยเกินความจำเป็นเป็นกิจกรรมที่กระทำร่วมกับกิจกรรมอื่นๆ เช่น การเดินป่า ศึกษาธรรมชาติ ส่อง/ดูนก ฯลฯ หน่วยงานเจ้าของพื้นที่มีหน้าที่ดูแลให้บริเวณที่กางเต็นท์สะอาดเรียบร้อย ในกรณีที่กางเต็นท์ในเขตบริการควรจะเตรียมสิ่งอำนวยความสะอาดที่จำเป็นเช่น ลานกางเต็นท์ ถังขยะ ห้องน้ำ ห้องสุขารวมบริเวณที่ชำระล้าง เช่น ที่ซักผ้า ล้างจาน บริเวณที่ประกอบอาหาร และลานแค้มป์ไฟรวม ตลอดจนจัดกิจกรรมแค้มป์ไฟให้นักท่องเที่ยวได้เรียนรู้เกี่ยวกับธรรมชาติหรือพฤติกรรมที่เหมาะสมในการท่องเที่ยวพื้นที่ธรรมชาติ กิจกรรมพักแรมด้วยเต็นท์ควรเน้นให้นักท่องเที่ยวได้ใกล้ชิดธรรมชาติมากกว่ามาสนุกสนานด้วยการรวมกลุ่มกันร้องเพลง ดื่มของมึนเมา จนทำลายความสงบของพื้นที่ บริเวณที่กางเต็นท์ของนักท่องเที่ยวแต่ละกลุ่มควรแยกห่างจากกันและมีความเป็นส่วนตัวพอสมควร กิจกรรมพักแรมด้วยเต็นท์นี้เป็นการนำตัวเองใกล้ชิดธรรมชาติและแสวงหาความสงบที่เมืองให้ไม่ได้มากกว่าเป็นกิจกรรมที่กระทำเพื่อความสนุกสนานเฮฮา จนกระทั่งรบกวนความสงบของพื้นที่ดังนั้น นักท่องเที่ยวจึงควรมีส่วนช่วยดูแลรักษาพื้นที่บริเวณกางเต็นท์ให้สะอาดและเรียบร้อยด้วยการทิ้งขยะให้ถูกที่ ไม่ควรใช้สิ่งที่ทำให้เกิดขยะที่ย่อยสลายไม่ได้หรือย่อยสลายได้ยากหากจำเป็นต้องใช้ก็ควรนำออกไปจากพื้นที่ด้วย
  • กิจกรรมเครื่องร่อนขนาดเล็ก (Hang Glider)  เป็นกิจกรรมที่อาศัยเครื่องร่อนที่ไม่ใช้เครื่องยนต์แต่อาศัยหลัก Aerodynamicเป็นตัวบังคับให้เครื่องร่อนบินชมธรรมชาติจากที่สูง สิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็นคือ บริเวณส่งเครื่องร่อน ที่หน้าผาแต่กิจกรรมประเภทนี้ก่อให้เกิดมลภาวะทางสายตาได้ ถ้ามีมากจนเกินไป
  • กิจกรรมล่องแพยาง / แพไม้ไผ่ (White Water Rafting) เป็นกิจกรรมที่มุ่งเน้นให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสธรรมชาติ และได้รับความตื่นเต้นสนุกสนานเร้าใจจากความเร็วของกระแสน้ำ ความต่างระดับของลำน้ำและสภาพภูมิทัศน์ของสองฝั่ง การล่องเรือยาง/แพ ควรมีไกด์ที่มีความสามารถในการล่องเรือ/แพ และความรู้ด้านธรรมชาติวิทยา จำนวนนักท่องเที่ยวต่อเรือยาง/แพ ประมาณ 4-6 คน ขึ้นกับขนาดของเรือ /แพ จำนวนแพต่อพื้นที่นั้น ใช้เกณฑ์เดียวกับกิจกรรมพายเรือแคนู ก่อนการประกอบกิจกรรมควรมีการแนะนำเกี่ยวกับลักษณะของกิจกรรม การปฏิบัติตน และอื่นๆ เพื่อนักท่องเที่ยวจะได้รับความปลอดภัยและประสบการณ์ที่ดีจากการประกอบกิจกรรมอาจจัดให้มีกิจกรรมพักแรมริมฝั่งเสริมจากกิจกรรมล่องเรือ/แพ กิจกรรมนี้จำเป็นจะต้องจัดให้มีจุดขึ้น – ลงเรือ/แพ
  • กิจกรรมพักผ่อนรับประทานอาหาร (Picnicking) เป็นกิจกรรมพักผ่อนโดยการนำอาหารมารับประทานหรือซื้อจากร้านค้าใกล้เคียงในบริเวณที่จัดไว้ให้ เป็นกิจกรรมที่มักกระทำร่วมกับกิจกรรมประเภทอื่น ๆ เช่น การเที่ยวน้ำตก การเดินป่า เดินชมธรรมชาติ ฯลฯ ควรจัดให้มีสถานที่ที่นั่งพักผ่อนรับประทานอาหารในพื้นที่กิจกรรมท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ที่มีบรรยากาศสงบ และนักท่องเที่ยวได้ชื่นชมกับธรรมชาติ มากกว่าบรรยากาศที่ให้มีเครื่องดนตรีที่เสียงดัง หน่วยงานเจ้าของพื้นที่จำเป็นต้องจัดพื้นที่ไว้สำหรับกิจกรรมนี้ ประกอบด้วยชุดสิ่งอำนวยความสะดวก ได้แก่ โต๊ะ ม้านั่ง ถังขยะ ที่ล้างมือ ห้องสุขา และอาจมีเตาย่างอาหาร บริเวณที่จัดควรเป็นที่ร่ม มองเห็นน้ำและมีสภาพภูมิทัศน์สวยงามไม่เป็นแหล่งที่เปราะบางทางนิเวศน์ ควรจัดให้มีเส้นทางเดินเท้า
    ที่ไม่ไกลจากที่จอดรถ นักท่องเที่ยวจำเป็นต้องรักษาความสะอาด ระมัดระวัง เรื่องไฟ และไม่ให้อาหารแก่สัตว์ป่า หรือทิ้งอาหารไว้โดยไม่มีผู้ใดดูแลหลังจากเสร็จสิ้นจากการรับประทานอาหาร ภาชนะเครื่องใช้ ต่างๆ ที่จะทิ้งเป็นขยะควรเป็นสิ่งที่ย่อยสลายได้ง่าย หากเป็นบริเวณพื้นที่ธรรมชาติที่ไม่มีการกำจัดขยะควรนำขยะกลับไปด้วย
  • กิจกรรมเที่ยวน้ำตก (Waterfall Visits / Exploring) เป็นกิจกรรมที่นิยมที่สุดสำหรับการเที่ยวป่าเขาที่มีน้ำตกเป็นองค์ประกอบสำคัญของแหล่งท่องเที่ยว การเที่ยวน้ำตกอาจมีกิจกรรมหลายอย่างประกอบกัน เช่น เล่นน้ำตก เดินสำรวจน้ำตก นั่งรับประทานอาหาร หรือชมทิวทัศน์บริเวณน้ำตกซึ่งควรจัดโปรแกรมสื่อความหมายธรรมชาติให้แก่นักท่องเที่ยวได้รับความรู้เกี่ยวกับน้ำตกและสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ ที่น่าสนใจควบคู่ไปด้วย ควรเน้นกิจกรรมที่ไม่ทำลายความสงบตามธรรมชาติและจัดเขตปลอดอาหารและเครื่องดื่มบริเวณน้ำตก เพื่อรักษาสภาพแวดล้อมของน้ำตก นักท่องเที่ยวควรช่วยกันดูแลรักษาไม่ส่งเสียงอึกทึกรบกวนผู้อื่นและปฏิบัติตนเพื่อความปลอดภัยของตัวเอง หน่วยงานเจ้าของพื้นที่ควรดูแลเรื่องความสะอาด ดูแลให้ท่องเที่ยวปฏิบัติตามระเบียบและรักษาความปลอดภัยให้แก่นักท่องเที่ยว
  • กิจกรรมวินด์เซิร์ฟ (Wind Surfing) เป็นกิจกรรมทางน้ำที่ให้ความสนุกสนานตื่นเต้น ตลอดจนความพึงพอใจความสามารถของตนเองในการบังคับที่เล่นวินด์เซิร์ฟได้บริเวณที่เหมาะสำหรับ กิจกรรมนี้ควรเป็นแหล่งน้ำที่กว้างโล่ง มีกระแสลมแต่ไม่ปั่นป่วน(Turbulence) รอบข้างมีสภาพภูมิทัศน์ที่สวยงาม

กิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศเหล่านี้สามารถพิจารณาส่งเสริมได้ในพื้นที่ท่องเที่ยวธรรมชาติที่มีศักยภาพสูง อย่างไรก็ดีการส่งเสริมกิจกรรมใดจำเป็นต้องพิจารณาให้รอบคอบถึงความเป็นไปได้ในการรองรับของพื้นที่ และขีดจำกัดในการจัดการดูแลมิให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จากการกระทำกิจกรรมดังกล่าวตามมาเพื่อให้การจัดการท่องเที่ยวเชิงนิเวศในพื้นที่ธรรมชาติบรรลุเจตนารมณ์ของการท่องเที่ยวเชิงนิเวศและเหมาะสมกับประเทศไทย

การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ มีที่ไหนบ้าง

พิกัดสีเขียว 8 ที่เที่ยวธรรมชาติเชิงอนุรักษ์ ถ่ายรูปสวย ไม่ไกล....
2.ศูนย์ศึกษาพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ, จันทบุรี ... .
3.เอเดนฟาร์ม, นครนายก ... .
4.สะพานทุ่งนามุ้ย, นครนายก ... .
5.พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาเกาะและทะเลไทย, ชลบุรี ... .
6.ศูนย์ศึกษาเรียนรู้ระบบนิเวศน์ป่าชายเลนสิรินาถราชินี, ประจวบคีรีขันธ์.

ประเภทของแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศมีกี่ประเภทอะไรบ้าง

สถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย ระบุว่านักท่องเที่ยวเชิงนิเวศสามารถจ าแนกได้เป็น 4 ประเภทด้วยกัน คือ ประเภทที่ 1 นักท่องเที่ยวแบบหัวกะทิ (Hard Core Nature Tourists) เป็นนักท่องเที่ยว ที่เน้นความส าคัญในการศึกษาค้นคว้าขณะเที่ยวชมธรรมชาติ

องค์ประกอบหลักของการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ มีอะไรบ้าง

การท่องเที่ยวเชิงนิเวศมีองค์ประกอบสำคัญที่ควรพิจารณาอยู่ 3 ประการ คือ การสร้างจิตสำนึกเกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ความพึงพอใจของนักท่องเที่ยว และการมีส่วนร่วมของชุมชนการสร้างจิตสำนึกเกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญของแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติและระบบ ...

การท่องเที่ยวเชิงนิเวศทางทะเล มีอะไรบ้าง

แหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศทางทะเล.
เกาะพะลวย.
เกาะเสร็จ.
หาดสำเร็จ.
หมู่เกาะอ่างทอง.
แหลมซุย หรือแหลมโพธิ์.
หาดละไม.
จุดชมวิวลาดเกาะ.
หินตา หินยาย.