สถานการณ์ปัจจุบันและสังคมโลก 2022



ปี 2022 นับเป็นอีกหนึ่งปีที่โลกต้องเผชิญกับปรากฏการณ์ใหญ่ๆ หลายด้าน ตั้งแต่ไฟสงคราม การลุกฮือประท้วง เรื่อยไปจนถึงการสูญเสียบุคคลสำคัญ และนี่คือ 10 เหตุการณ์เด่นที่เกิดขึ้นรอบโลกในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา


- ควีนเอลิซาเบธสวรรคต

สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งอังกฤษเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 8 ก.ย. ณ พระตำหนักบัลมอรัลในสกอตแลนด์ ขณะมีพระชนมายุได้ 96 พรรษา นำมาซึ่งความโศกเศร้าครั้งใหญ่ทั้งต่อพสกนิกรชาวอังกฤษและผู้คนทั่วโลก

การจากไปของพระองค์ถือเป็นจุดสิ้นสุด 70 ปีแห่งรัชสมัยซึ่งนับว่ายาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์สหราชอาณาจักร และยังทรงเป็นหนึ่งในพระประมุขที่ครองราชย์ยาวนานที่สุดในโลกด้วย

สมเด็จพระราชินีนาถทรงมีพระอาการประชวรด้วยพระโรคชรา ขณะที่เจ้าชายฟิลิป ดยุคแห่งเอดินบะระ พระราชสวามีได้สิ้นพระชนม์ไปก่อนเมื่อวันที่ 6 ก.พ. ปี 2021 ก่อนที่จะทรงมีพระชนมายุครบ 100 พรรษาเพียงแค่ 2 เดือน

พระองค์ทรงได้รับยกย่องว่าเป็นหนึ่งในกษัตริย์อังกฤษที่มีพระจริยวัตร “คูล” ที่สุด โดยขณะที่ยังทรงเป็น “เจ้าหญิงเอลิซาเบธ” ทรงเคยฝึกเป็นคนขับรถบรรทุกทหารและซ่อมเครื่องยนต์ในช่วงเดือนท้ายๆ ก่อนที่สงครามโลกครั้งที่ 2 จะสิ้นสุด และยังทรงทำภารกิจสายลับร่วมกับนักแสดงหนุ่ม แดเนียล เคร็ก เจ้าของบท “เจมส์ บอนด์” ในวิดีโอพิธีเปิดกีฬาโอลิมปิกที่กรุงลอนดอนเมื่อปี 2012 ด้วย


- โลกมีประชากรทะลุ 8,000 ล้านคน

องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) รายงานตัวเลขประชากรทั่วโลกพุ่งแตะหลัก 8,000 ล้านคนเมื่อวันที่ 15 พ.ย. ที่ผ่านมา โดยมี “อินเดีย” เป็นผู้สนับสนุนหลักด้วยจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นถึง 177 ล้านคน และมีแนวโน้มจะพุ่งแซงจีนเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลกภายในปี 2023

วีนิซ มาบันซัง (Vinice Mabansang) ทารกเพศหญิงซึ่งเกิดที่เขตทอนโด (Tondo) ในกรุงมะนิลา ถูกประกาศให้เป็นประชากรโลกคนที่ 8,000 ล้าน “ในเชิงสัญลักษณ์” 

UN ชี้ว่า โลกใช้เวลา 11 ปีกว่าจะมีประชากรเพิ่มจาก 7,000 เป็น 8,000 ล้านคน โดย 70% เป็นเด็กที่เกิดในกลุ่มประเทศรายได้น้อย-ปานกลาง ขณะที่อัตราการเพิ่มของประชากรมีแนวโน้มลดลงอย่างช้าๆ ทำให้คาดการณ์ว่าหลังจากนี้อาจต้องใช้เวลาถึง 15 ปี กว่าโลกจะมีประชากรถึง 9,000 ล้านคน และกว่าจะทะลุหลัก 10,000 ล้านคนก็อาจต้องรอไปจนถึงปี 2080 เลยทีเดียว

ในช่วงหลายทศวรรษหน้าจนถึงปี 2050 ยูเอ็นคาดว่ากว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนประชากรที่จะเพิ่มขึ้นนั้นจะอยู่ใน 8 ประเทศ ได้แก่ สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก, อียิปต์, เอธิโอเปีย, อินเดีย, ไนจีเรีย, ปากีสถาน, ฟิลิปปินส์ และแทนซาเนีย


- COP27 บรรลุข้อตกลงตั้งกองทุนชดเชยความเสียหาย ‘โลกร้อน’

ที่ประชุมอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 27 (COP27) ที่เมืองชาร์ม เอล ชีค ของอียิปต์ บรรลุข้อตกลงตั้งกองทุนชดเชยความเสียหายโลกร้อนให้กับกลุ่มประเทศยากจน ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่บรรดาชาติร่ำรวยซึ่งก่อมลพิษมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลกยอมที่จะแสดงความรับผิดชอบด้วยการจ่ายเงินช่วยเหลือชาติเปราะบางซึ่งได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ภัยแล้ง คลื่นความร้อน ความอดอยาก และลมพายุที่รุนแรง จากผลของการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

รัฐบาลอินเดียออกมาชื่นชมข้อตกลงในการประชุม COP27 ว่าถือเป็นความสำเร็จ “ครั้งประวัติศาสตร์” และชี้ว่า “โลกรอคอยสิ่งนี้มานานมากแล้ว” ทว่าผลการเจรจาในประเด็นสำคัญอื่นๆ เช่น ข้อเรียกร้องของอินเดียที่ให้ทุกประเทศลดใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ยังไม่มีความคืบหน้ามากนัก

ที่ประชุมได้เห็นพ้องให้มีการตั้งคณะกรรมการชุดเปลี่ยนผ่าน (transitional committee) เพื่อกำหนดวงเงินชดเชย รวมถึงประเทศที่จะมีส่วนร่วมสนับสนุนเงินทุนดังกล่าว ซึ่งข้อเสนอแนะต่างๆ นั้นจะถูกนำเสนอต่อที่ประชุม COP28 ในปีหน้า


- อีลอน มัสก์ ซื้อกิจการ ‘ทวิตเตอร์’

อีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีคนดังเจ้าของบริษัทรถยนต์ไฟฟ้าเทสลา (Tesla) และบริษัทขนส่งอวกาศสเปซเอ็กซ์ (SpaceX) บรรลุข้อตกลงซื้อกิจการทวิตเตอร์ด้วยวงเงิน 44,000 ล้านดอลลาร์เมื่อวันที่ 27 ต.ค. และได้เข้าควบคุมงานบริหารแพลตฟอร์มโซเชียลยอดนิยมแห่งนี้หลังจากที่ “ไล่” ผู้บริหารเก่าออกไปถึง 5 คน

มัสก์ ทวีตข้อความหลังซื้อทวิตเตอร์สำเร็จว่า หลังจากนี้จะเป็น “ช่วงเวลาดีๆ” ทว่าพนักงานทวิตเตอร์กับต้องเจอประสบการณ์สุดเลวร้าย หลังจากที่ มัสก์ ประกาศเลย์ออฟพนักงานกว่า "ครึ่ง" บริษัทในช่วงต้นเดือน พ.ย. โดยอ้างว่าเป็นมาตรการปรับลดรายจ่าย ขณะที่บางรายงานบอกว่า มัสก์ เคยมีแผนจะลดพนักงานทวิตเตอร์ลงถึง 75% ด้วยซ้ำ

มัสก์ ยังจุดกระแสวิจารณ์ด้วยการประกาศเก็บค่าธรรมเนียมยืนยันตัวตนด้วยเครื่องหมายถูกสีฟ้าหรือ Twitter Blue และโชว์การสนับสนุน “เสรีภาพในการแสดงออก” โดยคืนบัญชีให้พวกนักการเมืองขวาจัดที่เคยถูกแบนอย่างอดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แต่กลับ “ระงับบัญชี” นักข่าวหลายคนด้วยข้ออ้างที่ฟังไม่ขึ้น

นโยบายที่สร้างความสับสนอลหม่านของ มัสก์ ส่งผลให้ผู้ใช้ทวิตเตอร์จำนวนไม่น้อยเลือกเปลี่ยนไปใช้บริการแพลตฟอร์มอื่นแทน ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า มัสก์ อาจต้องเผชิญปัญหาอื่นๆ ตามมาในอนาคต ทั้งในแง่ของการดึงดูดกลุ่มคนหัวกะทิให้มาร่วมงานกับทวิตเตอร์ และยังต้องทำให้พนักงานที่เหลืออยู่รู้สึกมั่นคงปลอดภัยในอาชีพด้วย


- อังกฤษได้นายกฯ เชื้อสายอินเดียคนแรก

ปี 2022 เรียกได้ว่าเป็นปีแห่งความพลิกผันสุดขั้วสำหรับแวดวงการเมืองอังกฤษเลยก็ว่าได้ เพราะนอกจากจะสูญเสียสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แล้ว อังกฤษยังมีการเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีถึง 3 คนในปีเดียว

ดราม่าการเมืองเริ่มต้นขึ้นหลังจากที่อดีตนายกฯ บอริส จอห์นสัน เผชิญกรณีอื้อฉาวหลายเรื่องจนต้องยอมสละเก้าอี้เมื่อวันที่ 7 ก.ค. นำมาสู่ศึกเลือกตั้งผู้นำพรรคคอนเซอร์เวทีฟคนใหม่ และเป็น “ลิซ ทรัสส์” ที่สามารถเอาชนะคู่แข่งเบอร์ 2 อย่าง “ริชี ซูแน็ก” นักการเมืองเชื้อสายอินเดียได้
 
ทรัสส์ เข้ากุมบังเหียนรัฐบาลเมื่อวันที่ 6 ก.ย. ด้วยคำมั่นสัญญาลดภาษี ทว่าแผนงบประมาณของเธอกลับสร้างความกังวลต่อนักลงทุน และทำให้ตลาดการเงินสั่นคลอนอย่างหนัก จน ส.ส.ในพรรคหลายคนหันมาต่อต้านเธอ และแม้ว่า ทรัสส์ จะพยายามประคองรัฐนาวาให้ไปต่อด้วยการสั่งปลด “ควาซี ควาร์เทง” รัฐมนตรีกระทรวงการคลังซึ่งเป็นผู้ช่วยคนสนิทของเธอเอง รวมถึงดึง เจเรมี ฮันต์ มานั่งตำแหน่งนี้แทน แต่สุดท้ายก็ทนกระแสกดดันไม่ไหวและต้องยอมลาออกจากนายกรัฐมนตรีในเดือน ต.ค. รวมเวลาที่อยู่ในตำแหน่งผู้นำอังกฤษเพียงแค่ 44 วัน
 
ซูแน็ก วัย 42 ปี คว้าตำแหน่งหัวหน้าพรรคคอนเซอร์เวทีฟคนใหม่ด้วยเสียงสนับสนุนเป็นเอกฉันท์ตามความคาดหมาย และเข้าพิธีสาบานตนเมื่อวันที่ 25 ต.ค. โดยถือเป็นนายกฯ อังกฤษคนแรกในประวัติศาสตร์ที่มีเชื้อสายอินเดีย และยังเป็นนายกฯ ที่อายุน้อยที่สุดของอังกฤษนับตั้งแต่ปี 1812 ด้วย


- ชาวอิหร่านลุกฮือต้านมาตรการบังคับสวมฮิญาบ

ชาวอิหร่านในหลายเมืองทั่วประเทศได้ลุกฮือประท้วงต่อต้านรัฐมาตั้งแต่เดือน ก.ย. โดยมีชนวนเหตุมาจากกรณีของ มะห์ซา อามินี (Mahsa Amini) หญิงอิหร่านเชื้อสายเคิร์ดวัย 22 ปี ซึ่งเสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 16 ก.ย. หลังถูกตำรวจศีลธรรมอิหร่านควบคุมตัวฐานคลุมฮิญาบไม่เรียบร้อย

การชุมนุมเรียกร้องความยุติธรรมให้ อามินี ได้ลุกลามบานปลายจนกลายเป็นกระแสลุกฮือต่อต้านรัฐบาลจากทุกๆ ภาคส่วนของสังคม และทำให้ฐานอำนาจของผู้ปกครองทางศาสนาในอิหร่านถูกสั่นคลอนมากที่สุดนับตั้งแต่เกิดการปฏิวัติอิสลามขึ้นเมื่อปี 1979

ชาวอิหร่านจำนวนมากออกมาเดินขบวนป่าวร้องสโลแกน “ผู้หญิง, ชีวิต, เสรีภาพ” ขณะที่สตรีหลายคนแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ด้วยการตัดผมในที่สาธารณะและเผาฮิญาบ

องค์กรสิทธิมนุษยชนกล่าวหาเจ้าหน้าที่ความมั่นคงอิหร่านว่ามีการใช้ทั้งกระสุนจริง กระสุนลูกปรายขนาดเล็ก และแก๊สน้ำตา อีกทั้งยังมีการทุบตีและจับกุมประชาชนด้วย ขณะที่กลุ่ม Human Rights Activists รายงานข้อมูลล่าสุดเมื่อช่วงกลางเดือน ธ.ค. ว่า มีผู้ประท้วงถูกสังหารแล้วไม่ต่ำกว่า 494 ราย มีคนถูกจับอีกกว่า 18,000 คน ขณะที่เหตุปะทะยังทำให้เจ้าหน้าที่ความมั่นคงเสียชีวิตไม่ต่ำกว่า 62 นาย


- ‘สี จิ้นผิง’ ครองเก้าอี้ผู้นำจีนสมัยที่ 3

สี จิ้นผิง สร้างประวัติศาสตร์ใหม่ด้วยการก้าวขึ้นเป็นผู้นำที่ทรงอำนาจสูงสุดของจีนถัดจากประธานเหมา เจ๋อตง หลังได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีน (CPC) ต่อเนื่องเป็นสมัยที่ 3 เมื่อวันที่ 23 ต.ค. ซึ่งเท่ากับรั้งตำแหน่งประธานาธิบดีไปด้วยโดยปริยาย

นับจากขึ้นเป็นผู้นำจีนเมื่อทศวรรษที่แล้ว สี ประสบความสำเร็จในการรวมศูนย์อำนาจแบบที่ไม่มีผู้นำจีนคนใดในยุคสมัยใหม่นอกเหนือจากประธาน เหมา เคยทำได้ นอกจากนี้เขายังยกเลิกข้อจำกัดการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเพียง 2 สมัยเมื่อปี 2018 เพื่อปูทางให้ตัวเองสามารถปกครองประเทศจีนได้ “ตลอดชีวิต” หากว่าต้องการ

อย่างไรก็ตาม การที่ สี จะดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคต่ออีกสมัยนาน 5 ปี ก็เป็นเรื่องที่หลายฝ่ายจับตาดูด้วยความไม่สบายใจนัก เพราะเท่ากับเป็นการนำจีนถอยกลับสู่ระบบผู้กุมอำนาจเพียงคนเดียว หลังจากใช้ระบบกระจายอำนาจในหมู่ชนชั้นนำมาหลายทศวรรษ

การครองอำนาจเบ็ดเสร็จของ สี จิ้นผิง ยังมีส่วนกระพือสถานการณ์ตึงเครียดระหว่างจีนกับบางประเทศในเอเชีย-แปซิฟิก ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นชัดคือการที่ สี เอ่ยปากตำหนินายกรัฐมนตรี จัสติน ทรูโด แห่งแคนาดาในการประชุมซัมมิต G20 ที่บาหลี หลังข้อมูลซึ่งหารือกันแบบปิดลับรั่วไหลออกไปถึงสื่อมวลชน รวมถึงกรณีเหตุปะทะรอบใหม่ระหว่างทหารอินเดียกับทหารจีนที่เมืองตาวังในรัฐอรุณาจัลประเทศซึ่งอินเดียครอบครองอยู่ ทว่าจีนก็อ้างกรรมสิทธิ์ทับซ้อน โดยเรียกว่าเป็นดินแดน “ทิเบตใต้”


- วิกฤตเศรษฐกิจ ‘ศรีลังกา’

ศรีลังกาเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจครั้งเลวร้ายที่สุดในรอบ 70 ปี อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการระบาดของโควิด-19 โดยตั้งแต่ช่วงกลางปี 2021 เป็นต้นมา สภาพเศรษฐกิจศรีลังกาเริ่มฝืดเคืองลงเรื่อยๆ ชาวศรีลังการาว 22 ล้านคนต้องเผชิญวิกฤตขาดแคลนทั้งเชื้อเพลิง อาหาร และสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น หลังเงินทุนสำรองระหว่างประเทศซึ่งจำเป็นต่อการนำเข้าสินค้าร่อยหรอลงเป็นประวัติการณ์

ชาวศรีลังกาหลายแสนคนลุกฮือประท้วงเพื่อเรียกร้องให้ประธานาธิบดี โคฐาภยะ ราชปักษะ แสดงความรับผิดชอบกับภาวะเศรษฐกิจล่มสลาย และมีการบุกเข้าไปในบ้านพักประธานาธิบดีเมื่อวันที่ 9 ก.ค. จนสุดท้าย ราชปักษะ ต้องอาศัยการคุ้มกันจากทหารหลบหนีออกนอกประเทศ และยอมสละตำแหน่งผู้นำในที่สุด

รานิล วิกรมสิงเห ก้าวขึ้นเป็นประธานาธิบดีศรีลังกาคนใหม่ ขณะที่ ราชปักษา เดินทางกลับประเทศเมื่อต้นเดือน ก.ย. ท่ามกลางเสียงเรียกร้องจากชาวศรีลังกาที่ต้องการให้รัฐจับกุมและดำเนินคดีกับผู้นำฉาวรายนี้


- โศกนาฏกรรม ‘อิแทวอน’

นับเป็นอีกหนึ่งโศกนาฏกรรมช็อกโลกในปีนี้ หลังเกิดเหตุนักท่องเที่ยวเหยียบกันตายที่ย่านอิแทวอน (Itaewon) หนึ่งในแหล่งชอปปิ้งและสถานบันเทิงชื่อดังของกรุงโซลเมื่อวันที่ 29 ต.ค. โดยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มวัยรุ่นและหนุ่มสาวที่ต่างหลั่งไหลไปท่องเที่ยวผ่อนคลายแบบ “ไร้หน้ากาก” ในช่วงเทศกาลฮาโลวีนซึ่งถูกจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปี

เหตุการณ์ชุลมุนเริ่มขึ้นเมื่อเวลาราว 22.00 น. เมื่อนักท่องเที่ยวต่างกรูเข้าไปที่ซอยเล็กข้างๆ โรงแรมแฮมิลตัน (Hamilton Hotel) ที่กว้างแค่ราวๆ 3.2 เมตร และเป็นทางลาดชัน 20-30 องศา ต่อมาผู้คนหลายร้อยที่เบียดเสียดกันแน่นเริ่มเกิดการดันกันจนคนข้างหลังซึ่งอยู่ในที่สูงกว่าล้มลงมาทับคนข้างหน้าต่อๆ กันเป็นโดมิโน ส่งผลให้มีคนขาดอากาศหายใจและเสียชีวิตด้วยอาการหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันเป็นจำนวนมาก

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้สังคมเกาหลีใต้ตั้งคำถามเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจ รวมถึงมาตรการควบคุมฝูงชนที่เรียกได้ว่า “ล้มเหลว” อย่างสิ้นเชิง


- รัสเซียส่งทหารรุกรานยูเครน

เหตุการณ์สำคัญที่ส่งผลกระทบต่อโลกมากที่สุดในปี 2022 คงจะหนีไม่พ้นสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน โดยประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน ซึ่งรู้สึกว่าการที่เคียฟหันไปผูกสัมพันธ์ใกล้ชิดกับฝ่ายตะวันตกกำลังเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของรัสเซียมากขึ้นเรื่อยๆ ได้สั่งการให้กองทัพส่งกำลังพลบุกข้ามพรมแดนเมื่อวันที่ 24 ก.พ. โดยอ้างว่าเป็น “ปฏิบัติการพิเศษทางทหาร” ที่มีจุดประสงค์เพื่อ “ปลดอาวุธและทำลายความเป็นนาซี” ในยูเครน

ด้วยเงินทุนและอาวุธที่สหรัฐฯ และชาติตะวันตกทยอยส่งมอบให้อย่างต่อเนื่องทำให้ยูเครนซึ่งมีแสนยานุภาพด้อยว่ามอสโกหลายเท่าสามารถยืดหยัดต่อกรกับกองทัพรัสเซียมาได้นานเกือบ 1 ปี และยังสามารถทวงดินแดนบางส่วนกลับคืนมาได้ เช่น คาร์คิฟ และ เคียร์ซอน เป็นต้น ขณะที่ประธานาธิบดี โวโลดิมีร์ เซเลนสกี ซึ่งเป็นอดีตนักแสดงตลกก็กลายเป็น “วีรบุรุษสงคราม” ในสายตาผู้คนทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม ผลพวงจากสงครามครั้งนี้ส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทาน ทำให้ราคาสินค้าและพลังงานพุ่งสูงขึ้น และกระพือปัญหาขาดแคลนอาหาร ซึ่งแม้ว่าทิศทางของสงครามในช่วงปลายปี 2022 จะยังไม่เห็นทางออก แต่ผู้คนทั่วโลกก็คงคาดหวังไม่ต่างกันว่าในปี 2023 น่าจะมี “ข่าวดี” และได้เห็นความพยายามของทุกฝ่ายในการฟื้นฟูสันติภาพมากกว่าที่เป็นอยู่