คลองที่ขุดเชื่อมคลองรอบกรุง

15 พ.ย. 2563 เวลา 9:06 น. 2.5k

ย้อนรอยประวัติ “คลองโอ่งอ่าง” จุดเริ่มต้นของคลองรอบกรุง สู่สะพานเหล็ก และเป็นถนนคนเดินในปัจจุบัน 

คลองโอ่งอ่าง” คลองเล็กๆ ที่เป็นเส้นแบ่งเขตระหว่างเขตพระนครกับเขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร ที่ในอดีตรู้จักกันในนามสะพานเหล็ก แหล่งขายเกมส์ แผ่นเกมส์ แผ่นหนัง โมเดลการ์ตูน และอุปกรณ์ไอที ชื่อดัง ที่ต้องรื้อสะพานเหล็ก และบูรณะให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ของกรุงเทพมหานคร  เป็นถนนคนเดิน จุดพายเรือคายัค สตรีทอาร์ตฯ

คลองที่ขุดเชื่อมคลองรอบกรุง

ฐานเศรษฐกิจ ตรวจสอบข้อมูล ประวัติและตำนาน คลองโอ่งอ่าง พบว่า คลองโอ่งอ่าง คือส่วนหนึ่งของคลองรอบกรุงที่ต่อจากคลองบางลำพู ตรงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ปลายคลองไปออกแม่น้ำเจ้าพระยาใกล้วัดบพิตรพิมุขวรวิหาร เป็นเส้นแบ่งเขตระหว่างเขตพระนครกับเขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ชมภาพ “คลองโอ่งอ่าง 2020” จำได้ไหมว่าที่นี่เคยเป็นสะพานเหล็ก

พายเรือ ชมคลอง ล่องย่านประวัติศาสตร์ ที่คลองโอ่งอ่าง

คลองที่ขุดเชื่อมคลองรอบกรุง

ประวัติคลองโอ่งอ่าง

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เมื่อพระองค์โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระบรมมหาราชวัง และขยายอาณาเขตพระนครให้กว้างออกไปนั้น ต่อมาในปี พ.ศ. 2326 ตรงกับปีเถาะ เบญจศก จุลศักราช 1144 พระองค์ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขุดคลองคูเมืองเดิม โดยเชื่อมแม่น้ำเจ้าพระยาตอนเหนือที่ตำบลบางลำพู ผ่านวัดบวรนิเวศวิหาร, วัดเทพธิดาราม วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร, วังบูรพาภิรมย์ ไปออกแม่น้ำเจ้าพระยาตอนใต้ เหนือวัดสามปลื้มหรือวัดจักรวรรดิราชาวาส เป็นระยะทาง 85 เส้น 13 วา (ประมาณ 3.426 กิโลเมตร) กว้าง 10 วา (ประมาณ 20 เมตร) ลึก 5 ศอก (ประมาณ 2.5 เมตร) 

ในการครั้งนั้นได้สร้างกำแพงประตูเมือง ป้อมปราการ เลียบแนวคลองด้านใน ตลอดทั้งคลอง ประตูเมืองและป้อมปราการเว้นระยะห่างกันเป็นช่วง ๆ ถึง 9 ช่วง เป็นคลองคูเมืองชั้นนอก เมื่อขุดคลองแล้วพื้นที่เมืองจึงกลายเป็นเกาะมีน้ำล้อมรอบ คือ ด้านตะวันตกเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา และด้านตะวันออกเป็นคลองรอบกรุง

คลองที่ขุดเชื่อมคลองรอบกรุง

คลองรอบกรุงนี้มีชื่อเรียกแตกต่างกันไปหลายชื่อ ส่วนที่เริ่มตั้งแต่แม่น้ำเจ้าพระยาตรงวัดสังเวชวิทยารามจนถึงสะพานผ่านฟ้าลีลาศตรงช่วงปากคลองมหานาคนิยมเรียกว่า "คลองบางลำพู" เมื่อผ่านสะพานหันเรียก "คลองสะพานหัน" เมื่อผ่านวัดเชิงเลนเรียก "คลองวัดเชิงเลน" และช่วงสุดท้ายก่อนบรรจบแม่น้ำเจ้าพระยาเรียก "คลองโอ่งอ่าง" เพราะเคยเป็นแหล่งค้าขายเครื่องดินเผาของชาวมอญและชาวจีน 

การที่เรียกชื่อแตกต่างกันมีมาตั้งแต่สมัยไหนนั้นไม่สามารถค้นหลักฐานได้ จากหนังสือเก่าซึ่งพิมพ์ในสมัยรัชกาลที่ 5 ก็มีการเรียกชื่อคลองโอ่งอ่างกับคลองบางลำพูแล้ว เนื่องในโอกาสสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ พ.ศ. 2525 คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2525 ให้เรียกชื่อคลองนี้ให้ถูกต้องว่า "คลองรอบกรุง" ตลอดทั้งสาย

ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2558 กรุงเทพมหานคร โดยมติของรัฐบาลได้ทำการรื้อถอนอาคารร้านค้าต่าง ๆ บริเวณริมคลองโอ่งอ่างที่ถูกบดบังทัศนียภาพมานานกว่า 40 ปี เพื่อทำการปรับภูมิทัศน์ให้เป็นถนนคนเดินที่ร่มรื่นรวมถึงมีร้านค้า และมีความสวยงามทางศิลปะเพื่อให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมคล้ายกับคลองช็องกเยช็อน ในประเทศเกาหลีใต้

คลองที่ขุดเชื่อมคลองรอบกรุง

เมื่อแล้วเสร็จจากทางเดินริมคลองจะสามารถมองเห็นสะพานข้ามคลองที่เรียงกัน 5 สะพาน คือ สะพานดำรงสถิต (สะพานเหล็ก), สะพานภาณุพันธ์, สะพานหัน, สะพานบพิตรพิมุข และสะพานโอสถานนท์ บริเวณเชิงสะพานพระปกเกล้า อันเป็นเส้นแบ่งเขตระหว่างเขตพระนครกับเขตสัมพันธวงศ์ รวมถึงการปรับปรุงสภาพน้ำในคลองและบูรณะสะพานที่ข้ามคลองโอ่งอ่างทั้ง 5 ด้วย


คลอง เป็นวิถีชีวิตของคนไทยมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เมืองที่มีแม่น้ำ ๓ สายมาบรรจบกันและมีคลองซอยออกไปมากมาย ชาวยุโรปที่เข้ามาเห็นจึงให้สมญานามว่า “เวนิชตะวันออก” เพราะมีคลองมากเหมือนกรุงเวนิชในอิตาลี คลองเหล่านี้นอกจากใช้ในการสัญจรไปมาแล้ว ยังใช้ในการอุปโภคบริโภค คมนาคม และการเกษตร รวมทั้งเป็นถังขยะ สาดสิ่งปฏิกูลและสิ่งของที่ไม่ต้องการลงไปในคลอง

คลองบางคลองยังมีความสำคัญในทางยุทธศาสตร์ อย่าง “คูขื่อหน้า” ซึ่งเป็นคลองลัดจากแม่น้ำลพบุรีที่ตำบลหัวรอมาออกแม่น้ำเจ้าพระยาที่หน้าวัดพนัญเชิง เมื่อตอนกรุงแตกครั้งแรก พม่าได้ขนศพทหารมาถมในคูนี้จนสามารถเหยียบข้ามมาประชิดกำแพงพระนครได้ หลังสงครามครั้งนั้น สมเด็จพระมหาธรรมราชาจึงโปรดให้ขุดขยายออกไปเป็นกว้าง ๑๐ วา ลึก ๓ วา กรุงศรีอยุธยาจึงกลายเป็นเกาะ ทำให้ข้าศึกต้องข้ามน้ำลำบากกว่าจะเข้าถึงกำแพงพระนครได้

หรืออย่าง “คลองมหานาค” ที่อยุธยาขุดขึ้นในปี ๒๐๙๒ สมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ เมื่อทรงทราบว่าพระเจ้าหงสาวดียกทัพเข้ามาทางกาญจนบุรี จึงตรัสสั่งให้พระยาจักรีถือพล ๑๕,๐๐๐ ออกไปตั้งค่ายคอยรับศึกที่ทุ่งลุมพลี พระภิกษุรูปหนึ่งนามว่า “มหานาค” บวชอยู่ที่วัดภูเขาทอง ทุ่งลุมพลี ต้องการจะช่วยทางราชการป้องกันบ้านเมือง จึงได้สึกออกมาชักชวนชาวบ้านตั้งค่ายตั้งแต่วัดภูเขาทองลงมาจนถึงวัดป่าพลู ทั้งยังชวนญาติโยมขุดคลองขึ้นป้องกันค่ายไว้อีกชั้นหนึ่ง เรียกกันว่า “คลองมหานาค” ต่อมาในฤดูน้ำหลาก ยามว่างศึก ชาวบ้านนิยมมาเล่นเพลงเรือกันในคลองนี้

ในการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก มีพระราชประสงค์จะถ่ายแบบให้ใกล้เคียงกรุงศรีอยุธยามากที่สุด “คลองมหานาค” ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่โปรดให้สร้างขึ้น เพื่อให้กรุงรัตนโกสินทร์มีให้เหมือนกรุงศรีอยุธยา คลองมหานาคของกรุงรัตนโกสินทร์ถือได้ว่าเป็นคลองที่มีจุดประสงค์ในการขุดต่างจากคลองทั้งหลาย ไม่ใช่เป็นคลองเพื่อยุทธศาสตร์หรือการคมนาคม แต่เพื่อประเพณีความบันเทิงแบบกรุงศรีอยุธยายามว่างศึก โดยโปรดให้ขุดแยกจากคลองรอบกรุงที่เหนือวัดสะแกหรือวัดสระเกศในปัจจุบัน เป็นเส้นตรงไปทางทิศตะวันออก พระราชทานนามว่า “คลองมหานาค” โปรดให้ราษฎรไว้ใช้เล่นเพลงเรือสักวาในฤดูน้ำหลากเช่นเดียวกับคลองมหานาคที่กรุงศรีอยุธยา

ต่อมามีการขุดคลองบางกะปิเชื่อมกับคลองมหานาค และเชื่อมกับคลองหัวหมากกับคลองตัน เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯโปรดให้ขุดคลองแสนแสบเชื่อมกับคลองตันไปออกแม่น้ำบางปะกง ใช้เป็นคลองยุทธศาสตร์ คลองมหานาคจึงกลายเป็นต้นทางของคลองยุทธศาสตร์ไปด้วย มีสถานีขนยุทโธปกรณ์และกำลังพลที่ปากคลองด้านป้อมมหากาฬ

ส่วนคลองยุทธศาสตร์ของกรุงรัตนโกสินทร์ ที่ถือว่าเป็นคูเมืองป้องกันพระนคร คลองแรกก็คือคลองที่เป็นคูเมืองมาตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี คลองนี้นับว่ามีความสับสนในเรื่องชื่อ ในปี ๒๔๕๑ สมัยรัชกาลที่ ๕ มีประกาศให้เรียกชื่อแบ่งเป็น ๓ ตอน คือ ทางปากคลองด้านเหนือ ให้เรียกว่า “คลองโรงไหมวังหน้า” ตรงกลางจากปากคลองวัดราชนัดดารามถึงปากคลองวัดราชบพิธ เรียกว่า “คลองหลอด” ส่วนปากคลองด้านใต้ ให้เรียกว่า “คลองตลาด” จนมี “ตลาดปากคลองตลาด” อยู่ในปัจจุบัน แต่ในบัญชีคลองแนบท้ายพระราชกฤษฎีกาให้ใช้พระราชบัญญัติรักษาคลอง รัตนโกสินทร์ศก ๑๒๑ หรือ พ.ศ.๒๔๘๔ ให้เรียกว่า “คลองหลอด” ตลอดคลอง จนกระทั่งในวันที่ ๗ ธันวาคม ๒๕๒๕ ตอนจะมีงานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ ๒๐๐ ปี คณะรัฐมนตรีจึงมีมติให้เรียกชื่อคลองนี้อย่างเป็นทางการ ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ว่า “คลองคูเมืองเดิม”

เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ขึ้น โดยย้ายพระราชวังข้ามมาอยู่ฝั่งตะวันออก ก็ยังอยู่ในเขตคูเมืองเดิมของกรุงธนบุรี และชุมชนก็ไม่ได้ย้ายตามมาด้วย ขุนนางข้าราชการส่วนใหญ่ยังคงอยู่ฝั่งธนบุรีตามริมแม่น้ำเจ้าพระยา คลองบางกอกใหญ่ คลองบางกอกน้อย ซึ่งไปมากับกับพระราชวังได้สะดวกด้วยการคมนาคมทางน้ำ ทั้งพระบรมวงศานุวงศ์ก็ยังอยู่ฝั่งธนบุรีกันมาก เหมือนยังเป็นเมืองเดียวกันที่แยกกันไม่ออก

ส่วนคูเมืองฝั่งธนบุรี ขุดแยกจากคลองบางกอกน้อย ที่อยู่ฝั่งตรงข้ามกับปากคลองคูเมืองเดิมด้านเหนือ ไปทะลุคลองบางกอกใหญ่ ที่อยู่ตรงข้ามกับปากคลองตลาด มีชื่อเรียกเป็นช่วงๆตามสถานที่ผ่านไปว่า คลองบ้านขมิ้น คลองบ้านช่างหล่อ คลองบ้านหม้อ คลองวัดท้ายตลาด ปัจจุบันคลองประวัติศาสตร์แห่งนี้หมดความสำคัญ และถือได้ว่าหมดสภาพคลอง เป็นเสมือนท่อน้ำทิ้ง

คลองคูเมืองเดิมสมัยที่ยังไม่มีประตูน้ำทั้งสองด้านอย่างปัจจุบัน เป็นเส้นทางสัญจรที่มีเรือผ่านไปมา หรือนำสินค้ามาจอดขาย ในสมัยตลาดนัดสวนจตุจักรยังอยู่ที่สนามหลวง ชาวสวนฝั่งธนก็ขนผลไม้และต้นไม้มาขายตามริมคลอง สมัยผู้เขียนเป็นวัยรุ่นอยู่แถวบ้านหม้อ ก็ลงเล่นน้ำในคลองคูเมืองเดิมเป็นประจำ เพราะน้ำยังเหมือนน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ผ่านเข้ามาในคลองตามน้ำขึ้นน้ำลง ไม่ดำสนิทเหมือนตอนที่มีประตูน้ำ

ก้นคลองคูเมืองเดิมที่เป็นโคลนนั้น นับได้ว่าเป็นขุมทองที่ฝังสมบัติมีค่าไว้ไม่น้อย มีคนดำน้ำร่อนหากันตลอดคลอง และได้ของเก่าขึ้นมาขายอย่างไม่หมดง่ายๆ สมัยก่อนเห็นร่อนหากันทุกวัน โดยเฉพาะช่วงจากสะพานหัวตะเข้ หรือสะพานอุบลรัตน์ ตรงวังบ้านหม้อ ไปถึงปากคลองตลาด จะมีคนร่อนมุ่งหาเศษทองในโคลน ก็เพราะถนนบ้านหม้อซึ่งขนานกับถนนอัษฎางค์ที่เลียบคลอง แถวหน้าโรงเรียนเสาวภา มีร้านทำทองเรียงรายอยู่หลายร้าน แม้จะอยู่ห่างจากคลองคูเมืองคนละถนน แต่ท่อน้ำทิ้งจากร้านพวกนี้ก็พาเศษทองจากการทำทองรูปพรรณไหลมาลงคลองด้วย ส่วนฝุ่นตามหน้าร้านนั้นเทศบาลไม่ต้องเป็นภาระ จะมีคนเอาแปลงขนนุ่มมาบรรจงกวาดฝุ่นบนทางเท้า รวมทั้งขอบๆผิวจราจร ใส่ถุงเอาไปร่อนหาเศษทอง ซึ่งก็คงได้กันพอควรจึงเห็นมีคนกวาดกันอยู่เป็นประจำจนเป็นถนนปลอดฝุ่น ตอนนั้น สุเทพ วงศ์กำแหง ยังเป็นช่างเขียนอยู่ในร้านทำบล็อกแถวเดียวกับร้านทำทอง ตอนเริ่มดังก็ยังเห็นนั่งเขียนแบบอยู่ตรงนั้น ได้เห็นคนกวาดฝุ่นทองที่หน้าร้านทุกวัน ดีที่ไม่ได้ตื่นทองกับเขาด้วย เลยไปดังทางร้องเพลงจนเป็นศิลปินแห่งชาติ

เมื่อสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์แล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯโปรดฯให้ขุดคูเมืองขยายออกไปตามแนวเดิมอีกชั้นหนึ่ง คือคลองรอบกรุง หรือที่เรียกกันว่าคลองบางลำพูและคลองโอ่งอ่าง ที่เล่าไปเมื่อวันก่อน

ต่อมาในรัชกาลที่ ๔ โปรดฯให้ขุดคูเมืองรอบนอกขยายออกไปอีกชั้นคือ คลองผดุงกรุงเกษม เป็นคลองที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯมีพระราชดำริให้ขุดขึ้นในปีแรกที่ครองราชย์ เพื่อขยายเมืองให้กว้างออกไป ซึ่งก็ได้พื้นที่เพิ่มขึ้นมาอีกเท่าตัว หรือประมาณ ๕,๕๕๒ ไร่ โดยจ้างแรงงานคนจีนขุด เริ่มต้นจากแม่น้ำเจ้าพระยาที่ใต้วัดเทวราชกุญชร เทเวศม์ ตัดผ่านคลองมหานาค เป็น “สี่แยกมหานาค” ผ่านทุ่งหัวลำโพง ไปออกแม่น้ำเจ้าพระยาที่เหนือวัดแก้วแจ่มฟ้าเดิม มีความยาว ๑๓๗ เส้น กว้าง ๑๐ วา ลึก ๖ ศอก สิ้นค่าจ้างขุดเป็นเงิน ๒๗,๕๐๐ บาท พระราชทานนามว่า “คลองผดุงกรุงเกษม” แล้วสร้างกำแพงเมืองตามแนวคลอง มีป้อมเป็นระยะห่างกันประมาณ ๑๒ เส้น รวม ๘ ป้อม ต่อมาป้อมเหล่านี้พร้อมกำแพงพระนครหมดความสำคัญ กลายเป็นสิ่งกีดขวางถนนและบ้านเรือน มีผู้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตรื้อออกทีละป้อม จนเหลือเพียงป้อมเดียว คือป้อมป้องปัจจามิตร ที่ปากคลองสาน ฝั่งธนบุรี

คลองนี้เป็นย่านการค้าที่สำคัญของกรุงเทพฯตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน มีเรือขนสินค้ามาส่งตามย่านของสินค้าริมฝั่งคลอง เช่น ปากคลองด้านเทเวศร์เป็นตลาดข้าวและวัสดุก่อสร้าง รวมทั้ง อิฐ กรวด หิน กระเบื้อง ไม้เสา และไม้กระดาน ย่านสะพานเทวกรรมมีชาวมอญนำโอ่งดินจากสามโคก ปทุมธานี มาวางขาย จนเรียกย่านนี้ว่า “อีเลิ้ง” ซึ่งเป็นภาษามอญแปลว่า “โอ่ง” ต่อมาคนไทยเห็นว่าไม่สุภาพ เลยเรียกกันใหม่ว่า “นางเลิ้ง” ส่วนย่านสี่แยกมหานาคเป็นแหล่งผลิตผลทางการเกษตร ทั้งผักและผลไม้ ที่หัวลำโพงก็มีโกดังสินค้าที่ขนมาทางรถไฟ ปากคลองมีโรงน้ำแข็งของบริษัทนายเลิศ ทั้งยังมีโรงสี โรงเลื่อยอยู่หลายแห่งริมคลอง ซึ่งทั้งคนอยู่และคนผ่านต่างก็นิยมใช้คลองเป็นถังขยะด้วยกันทั้งนั้น คลองผดุงกรุงเกษมจึงเป็นคลองที่ตื้นเขินเร็ว ต้องขุดลอกอยู่เป็นประจำ ปัจจุบันไม่มีการคมนาคม ใช้เพียงเป็นที่ระบายน้ำ และถูกตกแต่งอย่างสวยงาม มีเขื่อนคอนกรีตตลอดคลอง และมีถนนขนาบทั้ง ๒ ข้าง

คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ ๑๓ มิถุนายน ๒๕๑๐ ให้คลองผดุงกรุงเกษมเป็นคลองที่ต้องอนุรักษ์ และกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานสำคัญของชาติในปี ๒๕๑๙

ยังมีคลองเล็กๆ อีก ๒ คลองที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ โปรดให้ขุดขึ้นหลังจากขุดคลองรอบกรุง เป็นคลองซอยเชื่อมคลองคูเมืองเดิมกับคลองรอบกรุง มีลักษณะเล็กและตรงเหมือนหลอดดูดน้ำ จึงเรียกว่า “คลองหลอด” โปรดให้ขุดขึ้น ๒ คลอง คลองแรกขุดที่ข้างวัดบุรณศิริมาตยารามไปเชื่อมกับคลองรอบกรุงที่ข้างวัดเทพธิดารามวรวิหาร เรียกว่า “คลองหลอดวัดเทพธิดาราม” อีกคลองหนึ่งขุดจากคลองคูเมืองเดิมที่ข้างวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ไปเชื่อมกับคลองรอบกรุงที่ข้างสวนรมณีย์นาถ เรียกว่า “คลองหลอดวัดราชบพิธ” ในอดีต คลองทั้งสองนี้มีประโยชน์ในทางคมนาคม ใช้เป็นคลองลัดระหว่างคลองคูเมืองทั้ง ๒ แต่เมื่อมีประตูน้ำเกิดขึ้นในคลองคูเมืองแล้ว คลองหลอดทั้ง ๒ คลองจึงเป็นแต่คลองระบายน้ำ

คลองหลอดทั้ง ๒ นี้ถูกเรียกชื่อต่างกันไปตามสถานที่ผ่าน อย่างคลองหลอดวัดเทพธิดา ตอนผ่านวัดมหรรณพาราม ก็เรียกกันว่า คลองวัดมหรรณ์ ส่วนคลองหลอดวัดราชบพิธ ตอนผ่านข้างวัดสุทัศน์ กลับเรียกกันว่า คลองสะพานถ่าน เพราะเป็นแหล่งที่มีคนนำถ่านมาวางขาย เมื่อสมัย ๖๐-๗๐ ปีก่อน ย่านนี้เป็นที่รู้จักของผู้ชายในกรุงเทพฯเป็นอย่างดี แต่ไม่ได้สนใจจะไปซื้อถ่าน หากเป็นย่านโสเภณีที่โด่งดัง

นอกจากนี้ยังมีคลองประวัติศาสตร์อีกคลองหนึ่งทางฝั่งพระนคร ที่ถือว่าเป็นคลองยุทธศาสตร์ ก็คือ คลองแสนแสบ ขุดขึ้นในปี ๒๓๘๐ สมัยรัชกาลที่ ๓ ขณะไทยทำสงครามยืดเยื้อนานถึง ๑๔ ปีกับญวนที่เข้ายึดครองเขมร เพื่อใช้ในการขนส่งเสบียง ยุทธปัจจัย ตลอดจนกำลังพลให้สะดวกขึ้น จ้างแรงงานคนจีนขุดคลองเชื่อมแม่น้ำเจ้าพระยากับแม่น้ำบางปะกงโดยขุดต่อจากคลองตันที่เชื่อมคลองหัวหมาก คลองบางกะปิ และคลองมหานาคอยู่แล้ว ผ่าทุ่งบางกะปิไปออกแม่น้ำบางปะกงที่บางขนาก เมืองฉะเชิงเทรา มีความยาว ๑,๓๓๗ เส้น ๑๙ วา ๒ ศอก หรือประมาณ ๕๓.๕๒ กิโลเมตร กว้าง ๖ วา หรือ ๑๒ เมตร ลึก ๔ ศอก หรือ ๒ เมตร ค่าจ้างขุดเส้นละ ๗๐ บาท ใช้เวลาขุดนาน ๓ ปี เมื่อขจัดอิทธิพลญวนออกจากเขมรได้แล้ว คลองนี้จึงกลายเป็นเส้นทางคมนาคมที่สำคัญ ทำให้การเดินทางจากบางกอกไปเมืองแปดริ้วและเมืองปราจีนสะดวกรวดเร็วขึ้นมาก ต่อมาก็มีผู้คนอพยพมาอยู่ตามแนวชายคลอง ขยายพื้นที่ทางการเกษตรออกไป

ส่วน คลองเปรมประชากร เป็นคลองที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯให้ขุดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๑๓ ทั้งนี้ได้เสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานพระกฐินที่อยุธยาในปีนั้น ทรงเห็นว่าแม่น้ำเจ้าพระยาคดเคี้ยวทำให้เสียเวลาเดินทางมาก และอาจมีอันตรายในฤดูน้ำหลาก จึงมีพระราชดำริให้ขุดคลองลัด ซึ่งจะทำให้ให้ผู้คนอพยพเข้ามาอยู่เพื่อทำกสิกรรมด้วย ทำให้พื้นที่แถบนี้ซึ่งเป็นเขตทุ่งหลวงด้านตะวันตกที่ยังเป็นป่ารก ไม่มีผู้คนเข้าไปอาศัย จะได้มีความเจริญขึ้น เช่นเดียวกับเขตทุ่งหลวงด้านตะวันออกซึ่งมีคลองแสนแสบอยู่แล้ว โปรดเกล้าฯให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน เป็นผู้อำนวยการเจ้าพระยาสุรวงษ์ไวยวัฒน์ ที่สมุหพระกลาโหมเป็นแม่กอง พระชลธารวินิจฉัย เป็นผู้ปักหมายกรุยแนวคลองและจ้างแรงงานคนจีนขุดเริ่มจากแม่น้ำเจ้าพระยาจากตำบาลเชียงรากน้อย อำเภอบางปะอิน พระนครศรีอยุธยา ลงมาทางใต้ ผ่านดอนเมือง หลักสี่ บางเขน บางซื่อ บรรจบคลองผดุงกรุงเกษมที่หน้าวัดโสมนัสวิหาร เป็นระยะทาง ๑,๒๗๑ เส้น ๓ วา หรือ ๕๐,๘๔๖ เมตร สิ้นพระราชทรัพย์ ๒,๕๔๔ ชั่งกับอีก ๘ บาท หรือ ๒๐๓,๕๒๘ บาท พระราชทานนามว่า “คลองสวัสดิเปรมประชากร” แต่ต่อมาคำว่า “สวัสดิ” ก็เลือนหายไป เรียกกันตามสะดวกว่า “คลองเปรมประชากร”

คลองนี้ได้ย่นระยะการเดินทางจากอยุธยา-กรุงเทพฯลงมาก ทั้งยังปลอดภัยกว่า จึงเป็นเสมือน “คลองด่วน” แต่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ราษฎรใช้โดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมผ่านคลองเหมือนคลองภาษีเจริญ

คลองสำคัญของกรุงเทพฯอีกคลองหนึ่งก็คือ คลองประเวศบุรีรมย์ ขุดในสมัยรัชกาลที่ ๕ เช่นกันทรงโปรดเกล้าฯให้ขุดต่อจากคลองพระโขนงไปเชื่อมกับคลองด่าน ออกสู่แม่น้ำบางปะกงที่จังหวัดฉะเชิงเทราพระราชทานเงินทุนจากกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ๘๐,๐๐๐ บาท และเงินจากราษฎรร่วมกันออกอีก ๓๒,๗๕๒ บาท เป็นค่าขุดคลอง โดยให้ราษฎรที่มีส่วนร่วมได้รับผลประโยชน์จากการจับจองที่ดินสองฝั่งคลองเป็นค่าตอบแทน

ด้วยวิธีนี้ ทำให้ที่ดินริมคลองประเวศบุรีรมย์ไม่เพียงพอกับความต้องการของราษฎร จึงได้ช่วยกันออกเงินขุดคลองแยกอีก ๔ คลอง คือ คลองหนึ่ง คลองสอง คลองสาม และคลองสี่ เริ่มขุดตั้งแต่ปี ๒๔๒๑แล้วเสร็จในปี ๒๔๒๓ มีความยาวทั้งสิ้น ๔๖ กม.

พระราชประสงค์ของการขุดคลองประเวศบุรีรมย์ ก็เพื่อการคมนาคมระหว่างเมืองสมุทรปราการกับเมืองฉะเชิงเทรา และเพื่อเปิดพื้นที่เพาะปลูกบริเวณสองฝั่งคลองเพิ่มขึ้น ซึ่งถือได้ว่าเป็นการพัฒนาที่ดินที่ประสบความสำเร็จในการบุกเบิกพื้นที่ทางการเกษตร ซึ่งยุคนั้นมุ่งในการปลูกข้าวสนองความต้องการของตลาดโลก
คลองเก่าแก่อีกคลองของกรุงเทพฯ ก็คือ คลองสามเสน มีมาตั้งแต่เมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐาน แต่ในเพลงยาว “อนุสรณ์เจ้าฟ้าเหม็น” กล่าวว่าเจ้าฟ้าสุพันธุวงศ์ หรือเจ้าฟ้าเหม็น พระราชโอรสพระเจ้ากรุงธนบุรี ประสูติแต่พระมารดาซึ่งเป็นพระธิดาของสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ซึ่งต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระราชทานพระนามใหม่ให้เป็น เจ้าฟ้าอไภยธิเบศ ได้ปฏิสังขรณ์วัดอไภทาราม ปลายคลองสามเสนขึ้นในปีพุทธศักราช ๒๓๔๑ ซึ่งก็คือ วัดอภัยธาราม ที่ข้างโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าในปัจจุบัน แสดงว่าคลองสามเสนมีมาตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ แล้ว

ในราวปี ๒๔๙๕ ผู้เขียนยังมีโอกาสได้เห็นความบริสุทธิ์ช่วงสุดท้ายของคลองสามเสน น้ำในคลองใสสะอาดน่าดำผุดดำว่าย ในฤดูน้ำเต็มฝั่งคลอง ตกเย็นหนุ่มสาวจะพายเรือเล่นกันอย่างสนุกสนาน ปลาสร้อยที่ลอยหัวเต็มแม่น้ำเจ้าพระยาในฤดูน้ำ ก็จะลอยหัวเต็มคลองสามเสนเช่นกัน แต่ถ้าวันใดโรงเหล้าเชิงสะพานเทพหัสดินที่ถนนพิชัยปล่อยน้ำออกมา ปลาตัวใหญ่ก็จะเมาส่าเหล้าลอยหัวด้วย ตอนค่ำถ้าเอาไฟฉายส่องตามริมตลิ่ง จะเห็นตาแดงๆของกรุงนางที่เมาส่าเหล้าเกยหัวเป็นแถว แต่พอมีประตูน้ำเกิดขึ้น ธรรมชาติอันสดใสเหล่านี้ก็กลายเป็นอดีต น้ำเสียจากบ้านเรือนไหลลงมาเป็นน้ำเน่าในคลอง ก่อนที่จะมีการปรับปรุงให้ดีขึ้นในปัจจุบัน

ยังมีคลองที่สำคัญอีก ๒ คลองซึ่งไม่ใช่เป็นคลองที่ขุดขึ้น แต่เป็นแม่น้ำเจ้าพระยาสายเดิมที่ไหลวกอ้อมไปเป็นรูปโค้งเกือกม้าหรือกระเพาะหมู ต้องใช้เวลาเดินเรือช่วงอ้อมนี้ถึงวันเต็มๆ จนราว พ.ศ.๒๐๘๐ สมเด็จพระไชยราชาธิราช จึงโปรดเกล้าฯให้ขุดคลองลัดในช่วงนี้เพื่อย่นระยะการเดินทางทำให้ทุ่นเวลาไปหนึ่งวันเต็มๆ แต่เมื่อน้ำเดินสะดวกพุ่งตรงไม่ต้องไหลโค้ง จึงเซาะตลิ่งคลองที่ขุดให้กว้างขึ้นเรื่อยๆ ขณะเดียวกันส่วนโค้งของแม่น้ำที่น้ำไหลเข้าน้อยลงก็ตื้นเขินขึ้นทุกทีจนเรียกกันว่าคลอง ซึ่งก็คือ คลองบางกอกน้อย คลองบางระมาด หรือคลองชักพระ และคลองบางกอกใหญ่ในปัจจุบัน แม่น้ำเจ้าพระยาช่วงที่ขุดใหม่นี้ จากปากคลองบางกอกน้อยที่สถานีรถไฟธนบุรี ถึงปากคลองบางกอกใหญ่ที่ป้อมวิไชยประสิทธิ์ เดี๋ยวนี้ก็ยังแคบกว่าแม่น้ำเจ้าพระยาช่วงที่เหนือและใต้ลงไป
คลองบางกอกน้อยและคลองบางกอกใหญ่ เป็นคลองที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์และการเจริญเติบโตของกรุงรัตนโกสินทร์ คณะรัฐมนตรีจึงประกาศให้เป็นคลองที่ต้องอนุรักษ์ไว้ เมื่อวันที่ ๑๓ มิถุนายน ๒๕๑๐ แต่คลองที่ต้องอนุรักษ์นี้ ก็อย่าคิดว่าจะเป็นคลองอมตะนิรันดร อย่างคลองอรชร ที่ขนานถนนอังรีดูนังด์มาตลอด จากข้างสภากาชาดมาจนถึงสยามสแควร์ ซึ่งอยู่ในบัญชีอนุรักษ์นี้ด้วย ก็ถูกถมเป็นถนนไปเรียบร้อยหลายปีแล้ว ในยุคที่ถนนสำคัญกว่าคลอง
ทุกวันนี้คลองลดความสำคัญลงไปมากแล้ว ส่วนถนนกลับเป็นสิ่งสำคัญของบ้านเมือง แต่ก็ยังดีที่ยังมีสะพานไว้ให้ข้ามคลอง ไม่ถมไปเสียทั้งหมด

คลอง ถนน สะพาน จึงเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงแห่งยุคสมัย

คลองที่ขุดเชื่อมคลองรอบกรุง