ข้อ ใด เป็น ผู้ ใช้ ความ รู้ ด้าน การ พูด ใน การ ประกอบ อาชีพ

ภาษาเป็นเครื่องมือในการสื่อสารระหว่างผู้ส่งสาร (ผู้พูด ผู้เขียน) กับผู้รับสาร (ผู้ฟัง ดู ผู้อ่าน) ที่มนุษย์ใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวัน โดยเริ่มตั้งแต่วัยเด็กที่เริ่มหัดพูด เพื่อสื่อสารกับพ่อแม่ พี่น้อง บุคคลใกล้เคียง ต่อมาเมื่ออยู่ในวัยเรียน เริ่มเข้าสู่ระบบโรงเรียนตั้งแต่อนุบาล ระดับประถมศึกษา ระดับมัธยมศึกษา ผู้เรียนในวัยนี้เริ่มใช้ภาษาที่มีระบบระเบียบ มีหลักเกณฑ์การใช้ภาษาที่สลับซับซ้อน ยากง่าย ตามระดับการศึกษา ซึ่งสิ่งที่ผู้เรียนได้เรียนรู้เกี่ยวกับภาษาไทยนี้ จะเป็นการปูพื้นฐานความรู้ให้ผู้เรียน มีความรู้ ความเข้าใจ เกิดความซาบซึ้งและ มีความคิดสร้างสรรค์ของงานที่เกิดจากการเรียนภาษาไทย เช่น มีผู้เรียนที่เรียนอยู่ในระดับมัธยมศึกษา แต่เป็น ผู้ใฝ่รู้ รักการอ่าน รักการจดบันทึกเรื่องราวต่าง ๆ เริ่มจดบันทึกจากสิ่งที่ใกล้ตัว คือ การจดบันทึกกิจวัตรประจำวัน จดบันทึกเหตุการณ์ที่ได้ประสบพบเห็นในแต่ละวัน เช่น พบเห็นเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งยิ่งใหญ่ในกรุงเทพมหานคร พบเห็นชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนเมื่อประสบภัยน้ำท่วม ฯลฯ โดยผู้เรียนคนนี้ปฏิบัติเช่นนี้เป็นประจำทุก ๆ วัน เมื่อผู้เรียนคนนี้เป็นคนที่ชอบเขียน ชอบบันทึกเรื่องราวต่าง ๆ และแทนที่ผู้เรียนคนนี้จะ จดบันทึกเรื่องราวต่าง ๆ และเก็บไว้เป็นข้อมูลส่วนตัวเท่านั้น แต่ผู้เรียนคนนี้ จะนำเรื่องราวที่บันทึกไว้เผยแพร่ในเว็บไซต์ เป็นการบอกเล่าเหตุการณ์ที่ได้ประสบพบเห็นมาให้ผู้อื่นได้รับรู้ บังเอิญมีสำนักพิมพ์ที่ได้อ่านผลงานเขียนของผู้เรียนคนนี้ เกิดความ พึงพอใจ และขออนุญาตนำไปจัดพิมพ์เป็นรูปเล่มและจัดจำหน่าย โดยผู้เรียนจะได้รับค่าตอบแทนในการเขียนด้วย

อีกกรณีหนึ่ง ผู้เรียนคนหนึ่งเป็นนักพูด เวลาโรงเรียนมีการจัดกิจกรรมหรือมีการจัดงานใด ๆ ก็ตาม ผู้เรียนคนนี้จะอาสาคอยช่วยเหลือโรงเรียนโดยเป็นผู้ประกาศบ้าง ผู้ดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ บ้าง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ จะเป็นพื้นฐานให้ผู้เรียนคนนี้ ได้เรียนรู้ในระดับที่สูงขึ้น โดยอาจจะเป็นผู้ทำหน้าที่พิธีกร เป็นนักจัดรายการวิทยุ เป็น นักพากย์การ์ตูน ฯลฯ ที่สามารถสร้างรายได้ให้กับตนเองได้
ฉะนั้น จากตัวอย่างที่กล่าวมาตั้งแต่ต้น จะเห็นได้ว่าการเรียนรู้ภาษาไทย ก็สามารถนำความรู้
ที่ได้รับไปสร้างงาน สร้างอาชีพเลี้ยงตนเอง เลี้ยงครอบครัวได้ เช่นเดียวกับการเรียนรู้ในสาระวิชาความรู้อื่น ๆ ก่อนที่ผู้เรียน กศน. จะตัดสินใจใช้ความรู้ภาษาไทยไปประกอบอาชีพ ผู้เรียนจะต้องวิเคราะห์ศักยภาพตนเองก่อนว่าผู้เรียนมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับวิชาภาษาไทยที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการฟัง การดู การพูด การอ่าน การเขียน หลักการใช้ภาษา วรรณคดีและวรรณกรรม ลึกซึ้งถูกต้องหรือยัง หากวิเคราะห์แล้วคิดว่าผู้เรียนยังไม่แม่นยำในเนื้อหาความรู้วิชาภาษาไทยก็จะต้องกลับไปทบทวนให้เข้าใจ จากนั้น จึงวิเคราะห์ตนเองว่ามีใจรักหรือชอบที่จะเป็นนักพูดหรือนักเขียน ส่วนเนื้อหาเกี่ยวกับการฟัง การดู การอ่าน หลักการใช้ภาษาและวรรณคดีและวรรณกรรมเป็นข้อมูลความรู้ประกอบในการเป็นนักพูดที่ดี หรือนักเขียนที่ดีได้
ต่อไปนี้จะขอนำเสนอข้อมูลและตัวอย่างของการประกอบอาชีพนักพูด และนักเขียนพอสังเขป ดังนี้

การประกอบอาชีพนักพูด
ผู้เรียนที่ได้วิเคราะห์ศักยภาพตนเองแล้วว่าเป็นผู้ที่มีความสนใจและรักที่จะเป็นนักพูด จะต้องเป็น ผู้ที่มีความรู้ ความสามารถหรือคุณสมบัติอย่างไรบ้าง โดยขอนำเสนอข้อมูลพอเป็นสังเขปได้ ดังนี้
ก. นักจัดรายการวิทยุ
ผู้เรียนที่สนใจจะเป็นนักจัดรายการวิทยุ เริ่มแรกผู้เรียนอาจจะเป็นนักจัดรายการวิทยุระดับชุมชน เสียงตามสาย ฯลฯ จนผู้เรียนมีทักษะประสบการณ์มากขึ้น จึงจะเป็นนักจัดรายการวิทยุระดับจังหวัด หรือระดับประเทศต่อไป
หน้าที่ของนักจัดรายการวิทยุ แบ่งได้ 4 ประการ คือ
1. เพื่อบอกกล่าว เป็นการรายงาน ถ่ายทอดสิ่งที่ได้ประสบ พบเห็นให้ผู้ฟังได้รับรู้ อย่างตรงไปตรงมา
2. เพื่อโน้มน้าวใจ เป็นการพยายามที่จะทำให้ผู้ฟังมีความเห็นคล้อยตาม หรือโต้แย้ง
3. เพื่อให้ความรู้ เป็นความพยายามที่จะให้ผู้ฟังเกิดความพึงพอใจ มีความสุขใจ
ลักษณะของนักจัดรายการวิทยุ (รู้จักตนเอง) มีดังนี้
1. เป็นผู้มีจิตใจใฝ่รู้
2. ว่องไวต่อการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร
3. มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี
4. มีจิตใจกว้างขวาง เห็นอกเห็นใจผู้อื่น
5. มีความอดทนต่อแรงกดดันต่าง ๆ
ข. พิธีกร – ผู้ประกาศ
ในการทำหน้าที่พิธีกร หรือผู้ประกาศ การใช้เสียงและภาษาจะต้องถูกต้อง ชัดเจน เช่น การออกเสียงตัว ร ล การอ่านเว้นวรรคตอน การออกเสียงควบกล้ำ การออกเสียงสูง ต่ำ นอกจากจะต้องมีความรู้ในเรื่องของภาษาแล้ว ผู้ที่ทำหน้าที่พิธีกร – ผู้ประกาศ จะต้องพัฒนาบุคลิกภาพ การแต่งหน้า ตลอดจนเรียนรู้การทำงานของพิธีกร – ผู้ประกาศอย่างชัดเจนด้วย
คุณลักษณะของผู้ทำหน้าที่พิธีกร – ผู้ประกาศ มีดังนี้
1. บุคลิกภาพภายนอกต้องดูดี มีความโดดเด่น ดูน่าประทับใจ มีลักษณะที่เป็นมิตร เนื่องจากการเป็นพิธีกร – ผู้ประกาศ จะต้องพบปะกับผู้คนหรือผู้ฟัง
2. น้ำเสียงนุ่มนวล น่าฟัง การใช้น้ำเสียงเป็นสิ่งสำคัญ การใช้อักขระจะต้องถูกต้อง ออกเสียงดังฟังชัด การเว้นวรรคตอน คำควบกล้ำ จะต้องสม่ำเสมอ น้ำเสียงน่าฟัง ไม่แข็งกระด้าง เวลาพูดหรืออ่านข่าว ควรมีสีหน้ายิ้มแย้มและน้ำเสียงที่ชวนฟังเพื่อให้ผู้ฟังรู้สึกสบายเมื่อได้ฟัง
3. ภาพลักษณ์ที่ดี ควรเป็นตัวอย่างที่ดีน่าเชื่อถือ สำหรับผู้ฟังหรือผู้ชม การปรากฎตัวในงานต่าง ๆ ควรมีการแต่งกายที่สุภาพเรียบร้อยเหมาะสมกับสถานการณ์นั้น ๆ
4. ความรู้รอบตัว ผู้ที่จะทำหน้าที่พิธีกร – ผู้ประกาศจะต้องเป็นผู้ที่สนใจใฝ่รู้เรื่องราว ข่าวสารข้อมูลที่ทันสมัย เกาะติดสถานการณ์ว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้าง กับใคร ที่ไหน ที่สำคัญต้องเป็นผู้ที่พร้อมจะเรียนรู้เรื่องราวใหม่ ๆ อยู่เสมอ รู้จักวิเคราะห์ข่าวสารที่ได้รับฟังมาให้เข้าใจก่อนที่จะเผยแพร่ให้ผู้อื่นได้รับรู้
5. ตรงต่อเวลา การตรงต่อเวลาถือว่าเป็นเรื่องสำคัญมากทั้งผู้ที่ทำหน้าที่พิธีกร – ผู้ประกาศ จะต้องมีเวลาให้ทีมงานได้ให้ข้อมูล อธิบายประเด็นเนื้อหาสาระ กระบวนการขั้นตอนต่าง ๆ ถ้าไม่พร้อม หลังพลาดพลั้งไป ทีมงานคนอื่น ๆ จะเดือดร้อนและเสียหายตามไปด้วย
6. รู้จักแก้ปัญหาเฉพาะหน้า การเป็นพิธีกร – ผู้ประกาศ ถึงแม้ว่าจะมีการเตรียม ความพร้อมที่เรียบร้อยดีแล้ว แต่เหตุการณ์เฉพาะหน้าบางครั้งอาจจะเกิดขึ้นได้ โดยที่ไม่ได้คาดหมายไว้ พิธีกร – ผู้ประกาศ จะต้องมีปฏิภาณไหวพริบในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้
ค. ครูสอนภาษาไทยกับประชาคมอาเซียน
ภายในปี พ.ศ. 2558 ประเทศไทยจะก้าวสู่ประชาคมอาเซียน ฉะนั้น ประชาชนคนไทยจำเป็นต้องเตรียมความพร้อม หรือปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว จะก่อให้เกิดประโยชน์และการเปลี่ยนแปลงในด้านต่าง ๆ ดังนี้
ประโยชน์ที่จะได้รับ
1. ประชากรเพิ่มขึ้น ทำให้เพิ่มศักยภาพในการบริโภค เพิ่มอำนาจการต่อรองในระดับโลก
2. การผลิต (ยิ่งผลิตมาก ยิ่งต้นทุนต่ำ)
3. มีแรงดึงดูดเงินลงทุนที่อยู่นอกอาเซียนสูงขึ้น
สิ่งที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงในด้านต่าง ๆ
1. การศึกษาในภาพใหญ่ของโลก มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง
2. บุคลากรและนักศึกษา ต้องเพิ่มทักษะทางด้านภาษาอังกฤษให้สามารถสื่อสารได้
3. ปรับปรุงความเข้าใจทางประวัติศาสตร์ เพื่อลดข้อขัดแย้งในภูมิภาคอาเซียน
4. สร้างบัณฑิตให้สามารถแข่งขันได้ในอาเซียน เพิ่มโอกาสในการทำงาน
ดังนั้น จะเห็นได้ว่าตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 เป็นต้นไป ประชาชนอาเซียนจะเดินทางเข้าออกประเทศไทยเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นแม่ค้า พ่อค้า นักธุรกิจ นักท่องเที่ยว ฯลฯ ฉะนั้น เราในฐานะเจ้าของประเทศ เจ้าของภาษาไทย ทำอย่างไรจึงจะทำให้ประชาชนอาเซียนที่เข้ามาประกอบอาชีพในประเทศไทยได้เรียนรู้ภาษาไทย วัฒนธรรมไทย เพื่อเป็นพื้นฐานในการสื่อสารที่เข้าใจกัน ในที่นี้จึงขอเสนออาชีพ ที่ผู้เรียนที่สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายแล้ว สามารถประกอบอาชีพ สร้างรายได้ให้กับตนเอง นั่นก็คือ ครูสอนภาษาไทยให้กับประชาชนอาเซียน ภาษาไทยที่สอนนี้เป็นภาษาไทยพื้นฐาน ที่ประชาชนอาเซียนเรียนรู้แล้ว สามารถสื่อสารกับคนไทยแล้วเข้าใจ สามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้ เช่น พ่อค้า แม่ค้า นักท่องเที่ยว ฯลฯ
คุณลักษณะของครูผู้สอนภาษาไทยกับประชาชนอาเซียน
1. มั่นใจในความรู้ภาษาไทยดีพอ
2. มีใจรักในการถ่ายทอดความรู้
3. เป็นผู้มีความรู้ในภาษาอาเซียน อย่างน้อย 1 ภาษา
เนื้อหาความรู้ภาษาไทยที่ประชาชนอาเซียนควรเรียนรู้
1. ทักษะการฟัง การดู การพูด
2. หลักการใช้ภาษา ระดับพื้นฐาน ได้แก่ พยัญชนะ สระ วรรณยุกต์
3. ทักษะการอ่าน
4. ทักษะการเขียน
5. ทักษะการอ่าน เขียนเลขไทย อารบิค
การจัดกลุ่มผู้เรียน
1. แสวงหากลุ่มผู้เรียน ตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป (จำนวนขึ้นอยู่กับศักยภาพของครูผู้สอน)
2. กำหนดแผนการสอน (วัน เวลา/สถานที่นัดพบ)
3. เตรียมเนื้อหา สาระ สื่ออุปกรณ์การจัดกิจกรรมการเรียนรู้
4. มีการวัดและประเมินผลความก้าวหน้าของผู้เรียน

การประกอบอาชีพนักเขียน
จากตัวอย่างข้างต้นที่กล่าวถึงผู้ที่จะเป็นนักเขียนมืออาชีพ จะต้องเป็นผู้รู้จักจดบันทึก ใฝ่รู้ ใฝ่แสวงหาความรู้อย่างต่อเนื่อง หรือแม้แต่เป็นนักอ่าน เพราะเชื่อว่าการเป็นผู้อ่านมากย่อม รู้มาก มีข้อมูลในตนเองมาก เมื่อตนเองมีข้อมูลมาก จะสามารถดึงความรู้ข้อมูลในตนเองมาใช้ใน การสื่อสารให้ผู้อ่านหรือผู้รับสารได้รับรู้หรือได้ประโยชน์ ตัวอย่างของอาชีพนักเขียน ได้แก่ การเขียนข่าว การเขียนโฆษณา การแต่งคำประพันธ์ การเขียนเรื่องสั้น การเขียนสารคดี การเขียนบทละคร การเขียนบทวิทยุ-โทรทัศน์ การแต่งเพลง ฯลฯ ซึ่งตัวอย่างเหล่านี้ ล้วนแต่ผู้เขียนสามารถสร้างชิ้นงานให้เกิดรายได้ทั้งสิ้น เพียงแต่ผู้เขียนจะมีความรัก ความสนใจที่จะเป็นนักเขียนหรือไม่

คุณสมบัติของนักเขียนที่ดี
การจะเป็นนักเขียนมืออาชีพที่ดีได้ จะต้องเริ่มต้นทีละขั้นหรือเริ่มจาก 0 ไป 1 2 3 และ 4 โดยไม่คิดกระโดดข้ามขั้น ซึ่งมีวิธีการ ดังนี้
1. ตั้งใจ นักเขียนต้องมีความตั้งใจและรับผิดชอบในทุกข้อความที่ตนเองได้เขียนถ่ายทอดออกมาไม่ใช่เพียงตัวอักษร ที่เรียงร้อยออกมาเป็นเนื้อหาเท่านั้น แม้แต่ย่อหน้าหรือเว้นวรรคก็นับว่าเป็นส่วนหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจของนักเขียน ที่นักอ่านจะสามารถมองเห็นได้เช่นกันจุดประสงค์ของการเป็นนักเขียนไม่ใช่เป็นเพื่อเขียนอะไรสักเรื่องให้จบแล้วเลิกราไป แต่นักเขียนควรใส่ใจทุ่มเทในสิ่งที่เขียนและ ลงมือถ่ายทอดเรื่องราวในจินตนาการนั้นอย่างสุดความสามารถ หากมีความตั้งใจจริงคนอ่านจะรับรู้ได้ทันที
2. รับฟัง นักเขียนต้องรู้จักที่จะรับฟังคำวิจารณ์ของเพื่อนนักเขียนด้วยกันอย่างใจกว้าง เพราะ
ไม่ว่านักเขียนจะมีฝีมือระดับใด ก็สามารถมีข้อผิดพลาดได้เช่นกัน แม้แต่ความคิดเห็นของนักอ่านก็มีส่วนช่วยให้นักเขียนปรับปรุงแก้ไขให้ดียิ่งขึ้นได้ เพราะโดยส่วนมากนักอ่านมักจะเห็นข้อบกพร่องในบทความของนักเขียนมากกว่าตัวนักเขียนเอง
3. ใฝ่รู้ นักเขียนต้องรู้จักค้นคว้าหาความรู้ ข้อมูลหรือแหล่งอ้างอิงที่ถูกต้อง เพื่อพัฒนาการเขียนของตนเอง การเขียนเนื้อหาโดยปราศจากข้อมูลจะทำให้เนื้อหาปราศจากสาระและแก่นสาร คนอ่าน
จะไม่รู้สึกสนุก
4. จรรยาบรรณ ไม่ว่าอาชีพใด ๆ จำเป็นต้องมีจรรยาบรรณเป็นของตนเอง นักเขียนก็เช่นกัน นักเขียนที่มีจรรยาบรรณ ต้องไม่ลอกของคนอื่นมาแอบอ้างชื่อเป็นของตนเอง นี่คือสิ่งที่ร้ายแรงที่สุดสำหรับนักเขียน
5. ความรับผิดชอบ ไม่ว่าอาชีพใด ๆ ความรับผิดชอบเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งในที่นี้ หมายถึง ความรับผิดชอบต่อทุกถ้อยคำในเนื้อหา ก่อนจะแสดงผลงานให้ผู้ใดได้อ่านไม่ว่าผู้เขียนจะตั้งใจหรือ ไม่ตั้งใจก็ตาม
6. ความสุข หลายคนอาจแอบคิดอยู่ในใจว่าการเป็นนักเขียนไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่ว่าอาชีพใด ๆ ต้องมีจุดง่ายจุดยากด้วยกันทั้งสิ้น แล้วเหตุใดการเป็นนักเขียนต้องมีความสุข เพราะถ้าหากนักเขียน เขียนด้วยความทุกข์ไม่รู้สึกมีความสุขกับการเขียน ก็แสดงว่านักเขียนผู้นั้นไม่เหมาะกับการเป็นนักเขียน
นักเขียน คือ ผู้ที่แสดงความคิดเห็น ด้วยการเขียนเป็นหนังสือหรือลายลักษณ์อักษร ซึ่งอาจแสดงออกในรูปแบบเรียงความ บทความ เรื่องสั้น นวนิยาย ฯลฯ คนที่จะเอาดีด้านงานเขียน จะต้องเป็น คนช่างฝัน มีพรสวรรค์ และต้องเรียนรู้ พยายามเขียนตามที่ตนถนัด รู้จักอยู่ในโลกแห่งจินตนาการ จึงจะเขียนให้ผู้อ่านหัวเราะ ร้องไห้และรอคอย ถือว่าเป็นหัวใจหลักของนักเขียน นอกจากนี้ต้องเป็นนักอ่าน นักเขียนต้องมีอารมณ์อ่อนไหว รู้สึกไวต่อสิ่งเร้าทั้งหลาย นอกจากนี้ยังต้องเป็นคนช่างคิด ช่างสังเกต

ตัวอย่าง การนำความรู้ภาษาไทยไปประกอบอาชีพนักเขียน
1. นักข่าว
เป็นการเขียนข่าวที่ใช้กระบวนการทางความคิดของผู้สื่อข่าวที่สามารถนำไปสู่การปฏิบัติงานข่าว ในขั้นตอนการเขียน บอกเล่าข้อเท็จจริง เพื่อให้เกิดประโยชน์ ในการรับใช้ หรือสะท้อนสังคม
ซึ่งแตกต่างไปจากการเขียนของนักเขียนทั่วๆ ไป เพราะการเขียนข่าวของผู้สื่อข่าวมีความสำคัญต่อการแสวงหาความจริง ของสังคม ที่ต้องอาศัยรูปแบบ โครงสร้างของการเขียนข่าวมาช่วยนำเสนอข้อเท็จจริงอย่างมีระบบ
อะไรเป็นข่าวได้บ้าง
ข่าว คือ เหตุการณ์ ความคิด ความคิดเห็น อันเป็นข้อเท็จจริง ที่ได้รับการหยิบยกขึ้นมารายงาน ผ่านช่องทางสื่อที่เป็นทางการ
นักหนังสือพิมพ์ที่มีชื่อเสียงท่านหนึ่งชื่อ จอห์น บี โบการ์ท กล่าวว่า “เมื่อสุนัขกัดคนไม่เป็นข่าว เพราะเป็นเหตุการณ์ปกติที่เกิดขึ้นบ่อย ๆ แต่เมื่อคนกัดสุนัข นั่นคือข่าว” คำกล่าวนี้แสดงให้เห็นว่าเรื่องราวที่ปกติไม่มีความน่าสนใจมากพอที่จะเป็นข่าว แต่ถ้าเป็นเรื่องที่นาน ๆ กว่าจะอุบัติขึ้นสักครั้งหนึ่ง ก็จะเป็นข่าวได้ง่าย
สิ่งที่จะเป็นข่าวได้คือ สิ่งที่มีลักษณะ ดังนี้
ความทันด่วนของข่าว
ผลกระทบของข่าว
มีความเด่น
ความใกล้ชิดของข่าวต่อผู้อ่านหรือผู้ชม ทั้งทางกายและทางใจ
เรื่องราวหรือเหตุการณ์ที่กำลังอยู่ในกระแสความสนใจของสาธารณชน หรือเรียกว่า
“ประเด็นสาธารณะ”
2. นักเขียนบทวิทยุ – โทรทัศน์ มีคุณสมบัติโดยทั่วไป ดังนี้
2.1 ช่างคิด เป็นคุณสมบัติสำคัญของนักเขียน ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์เป็นพรสวรรค์ของ แต่ละบุคคล ความช่างคิดในที่นี้หมายถึง ความสามารถในการสร้างเรื่องที่สมบูรณ์จากเหตุการณ์เล็ก ๆ เพียงเหตุการณ์เดียว นักเขียนบทละครผู้ซึ่งเล่นกับถ้อยคำสำนวนจะใช้ความพยายามอย่างมากที่จะ เรียงร้อยถ้อยคำให้สามารถสร้างจินตนาการตามที่เขาต้องการ
2.2 อยากรู้อยากเห็น นักเขียนจะต้องศึกษาเรื่องต่าง ๆ ที่ผู้สื่อข่าวได้รายงานข่าวไว้ แล้วนำมาคิดใคร่ครวญว่า อะไร ทำไม สาเหตุจากอะไร อย่างไร ที่ทำให้เกิดเหตุการณ์หรือสถานการณ์เช่นนั้นขึ้น และเมื่อเดินทางไปยังพื้นที่ต่าง ๆ นักเขียนจะต้องมีความพยายามทุกวิถีทางที่จะปฏิบัติตนให้คุ้นเคยกับคน ของท้องถิ่นนั้น ๆ ว่าเขามีชีวิตความเป็นอยู่ที่แท้จริงอย่างไร
2.3 มีวินัย วิทยุและโทรทัศน์เป็นสื่อที่มีเวลาเป็นเครื่องกำหนดที่แน่นอน นักเขียนควรกำหนดจุดเป้าหมายของตนเองว่าจะเขียนให้ได้อย่างน้อยกี่คำต่อวัน ผู้ที่ยึดอาชีพนี้จะต้องมีวินัยในการเขียน
เป็นอย่างมาก เพื่อให้สามารถส่งบทได้ตรงเวลา และผลิตบทออกมาอย่างสม่ำเสมอเพื่อการยังชีพ
2.4 รู้จักการใช้ภาษา นักเขียนบทจะต้องเป็นผู้ที่สามารถสร้างคำต่างๆ ขึ้นมาได้โดยอาศัย แหล่งข่าวสารข้อมูลต่าง ๆ ฟังคำพูดของบุคคลต่างๆ ศึกษาจากการอ่านหนังสือ นิตยสาร หนังสือพิมพ์ การเข้าเรียนในห้องเรียน ฟังวิทยุกระจายเสียง ดูโทรทัศน์ ภาพยนตร์ นอกจากนี้หนังสือจำพวกพจนานุกรม ศัพทานุกรม เป็นสิ่งที่มีค่าสำหรับนักเขียน เพราะสามารถช่วยในการตรวจสอบหรือค้นหาคำได้ การเขียนสำหรับสื่อประเภทวิทยุโทรทัศน์มีกุญแจดอกสำคัญคือ “ความง่าย” เพื่อผู้รับจะได้เข้าใจ ได้ง่ายและเข้าใจได้เร็ว
2.5 รู้จักสื่อ นักเขียนบทต้องรู้ถึงการทำงานของเครื่องมือของสื่อนั้น ๆ โดยการดู เพื่อที่จะเรียนรู้ อ่านจากหนังสือที่อธิบายถึงกระบวนการออกอากาศ หรือเยี่ยมชมและสังเกตการเสนอรายการต่าง ๆ อบรมระยะสั้น ๆ กับมหาวิทยาลัยต่าง ๆ หรือศึกษาดูงาน เป็นต้น
2.6 มีความเพียร อาชีพนักเขียนต้องมีความมานะอดทน มีความเพียรพยายามที่จะทำให้ได้ และอาจจะต้องเขียนบทจำนวนมากกว่าจะมีคนยอมรับสักเรื่อง
แหล่งข้อมูลสำหรับการเขียนบทวิทยุโทรทัศน์
1. หนังสือพิมพ์ นักเขียนบทสามารถนำเนื้อหาของข่าวสารต่างๆ มาพัฒนาเป็นโครงสร้างของ บทได้อย่างดี แม้กระทั่งข่าวซุบซิบ ข่าวสังคมในหนังสือพิมพ์ ก็สามารถนำมาพัฒนาบุคลิกของตัวละคร แต่ละตัวในเรื่องที่เขียนได้
2. นิตยสาร เรื่องราวต่าง ๆ ในนิตยสารแต่ละประเภทเป็นข้อมูลที่ดีเยี่ยมสำหรับนักเขียนบท ในด้านข้อมูล ข้อเท็จจริง ตลอดจนการสืบเสาะไปสู่แหล่งข้อมูลเบื้องต้นได้อย่างดี ปัจจุบันนิตยสารมีหลายประเภทและแยกแยะ เน้นผู้อ่านที่สนใจเฉพาะเรื่องนั้น ๆ ยิ่งทำให้นักเขียนบทแสวงหาข้อมูลที่เจาะจงได้ ง่ายขึ้น
3. รายงานการวิจัย ในการเขียนบทบางครั้งผลงานวิจัยเข้ามามีบทบาทสำคัญในการประกอบ การเขียนบท สถานีวิทยุโทรทัศน์บางแห่ง หรือบริษัทผลิตรายการวิทยุโทรทัศน์ จะมีแผนกวิจัยไว้ โดยเฉพาะเพื่อทำหน้าที่วิจัยหาข้อมูลมาประกอบการเขียนบท
4. ห้องสมุด นักเขียนบทบางท่านทำงานอยู่ในสถานีที่ไม่มีแผนกวิจัย จึงต้องหาข้อมูลจากห้องสมุดที่มีอยู่ในท้องถิ่น ซึ่งเป็นแหล่งข้อมูลที่ดีอีกแห่งหนึ่งของนักเขียนบทวิทยุโทรทัศน์
5. หน่วยงานราชการ เมื่อได้รับมอบหมายให้เขียนบทให้กับหน่วยงานราชการต่าง ๆ นักเขียนบทจะแสวงหาข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนั้น ๆ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง เช่น เขียนเรื่องเกี่ยวกับป่าไม้ ก็แสวงหาข้อมูลจากกรมป่าไม้ เป็นต้น
นอกจากข้อมูลจากแหล่งใหญ่ ๆ ทั้ง 5 แหล่งแล้ว นักเขียนบทสามารถหาข้อมูลได้ด้วยตนเอง จากการคุยกับเพื่อน ๆ ในวงวิชาชีพต่าง ๆ จากการไปอยู่ในสถานที่นั้น ๆ ไปได้พบได้เห็นได้ยินมาด้วยตนเอง นักเขียนบทสามารถบันทึกไว้ในคลังสมองของตนเอง แล้วนำมาใช้ได้ทันทีเมื่อต้องการ

รูปแบบและประเภทของบทวิทยุโทรทัศน์
บทวิทยุโทรทัศน์ประกอบด้วยองค์ประกอบที่จำเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนของภาพและส่วนของเสียง การให้ข้อมูลที่สมบูรณ์ทั้งด้านภาพและเสียงจะทำให้รายการสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี ดังนั้น นักเขียนบทวิทยุโทรทัศน์ควรทราบข้อกำหนดในการวางรูปแบบโทรทัศน์ และประเภทของบทวิทยุโทรทัศน์ เพื่อจะทำให้ง่ายและสะดวกต่อการทำงานของฝ่ายผลิตรายการ
1. การวางรูปแบบบทวิทยุโทรทัศน์
ส่วนภาพ การวางรูปแบบบทวิทยุโทรทัศน์โดยทั่วไปนั้น นิยมเขียนโดยส่วนของภาพจะอยู่ ครึ่งหน้ากระดาษทางซ้าย และส่วนของเสียงจะอยู่ทางขวาของคอลัมน์ภาพ เพื่อผู้เขียนต้องการเขียนข้อแนะนำเครื่องหมายของช็อต (shot) ที่สำคัญคือ ตัวหนังสือ ภาพและสิ่งที่จำเป็นที่สำคัญที่เกี่ยวกับ ภาพโทรทัศน์ให้เขียนสิ่งเหล่านี้ไว้ใน “ส่วนภาพ” ทั้งนี้ ผู้เขียนต้องเข้าใจศัพท์ทางด้านโทรทัศน์พอสมควร และพยายามใช้คำศัพท์ด้านภาพและด้านเทคนิคที่ตนเข้าใจเป็นอย่างดี หลีกเลี่ยงการใช้ศัพท์เทคนิคที่ผู้เขียนเองยังไม่เข้าใจความหมายที่แท้จริงของคำนั้น ๆ
ส่วนเสียง ผู้เขียนจะใส่คำบรรยาย เพลง เสียงประกอบใน “ส่วนเสียง” เช่นเดียวกับการอธิบายสิ่งต่าง ๆ ให้กับตัวแสดง ผู้แสดงแบบ ผู้บรรยาย เช่น อธิบายการเคลื่อนไหว หรืออารมณ์ เป็นต้น จะไม่ใช้ ส่วนภาพสำหรับอธิบายสิ่งต่าง ๆ ให้กับตัวแสดงไม่ว่าจะอยู่หลังกล้องหรือหน้ากล้อง
คำอธิบายและรายการซึ่งควรเขียนไว้ก่อนบท ได้แก่ คำอธิบายเกี่ยวกับลักษณะผู้แสดง (character) ฉาก (setting) และอุปกรณ์ที่ใช้ประกอบฉาก ตลอดจนงานด้านกราฟฟิกภาพที่ใช้ประกอบ เอาไว้หน้าเดียวหรือหลายหน้าก็ได้ จะไม่มีการเขียนสิ่งเหล่านี้ไว้ในบท เพราะอาจทำให้เกิดการสับสนและเป็นสาเหตุของความผิดพลาด ขณะที่อ่านบทอย่างรวดเร็วระหว่างการผลิต
2. ประเภทของบทวิทยุโทรทัศน์
2.1 บทวิทยุโทรทัศน์แบบสมบูรณ์ บทประเภทนี้จะบอกคำพูดทุกคำพูดที่ผู้พูดจะพูดในรายการตั้งแต่ต้นจนจบ พร้อมกันนั้นก็จะบอกรายละเอียดเกี่ยวกับคำสั่งทางด้านภาพและเสียงไว้
โดยสมบูรณ์ รายการที่ใช้บทประเภทนี้ได้แก่ รายการละคร รายการตลก รายการข่าว และรายการโฆษณาสินค้าสำคัญ ๆ
ประโยชน์ของการเขียนบทวิทยุโทรทัศน์แบบสมบูรณ์ คือ เราสามารถมองภาพของรายการได้ตั้งแต่ต้นจนจบก่อนที่จะมีการซ้อม ทำให้เราสามารถกำหนดมุมกล้อง ขนาดภาพและขนาดของเลนส์ที่ใช้ ตลอดจนกำหนดเวลาการเคลื่อนไหวของกล้องได้อย่างถูกต้องแน่นอน
ข้อเสียเปรียบของบทวิทยุโทรทัศน์แบบนี้ คือ เราจะปฏิบัติตามบทอย่างเคร่งครัด ถ้าทุกสิ่ง ทุกอย่างเป็นไปตามบท รายการก็จะดำเนินไปด้วยดีและสมบูรณ์ แต่หากมีอะไรไม่เป็นไปตามบท ผู้กำกับรายการและผู้ร่วมทีมงานก็จะเกิดความสับสนและต้องพยายามแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้นให้ได้
2.2 บทวิทยุโทรทัศน์กึ่งสมบูรณ์ มีข้อแตกต่างกับบทโทรทัศน์แบบสมบูรณ์ ตรงที่คำพูด คำบรรยายหรือบทสนทนาไม่ได้ระบุหมดทุกตัวอักษร บอกไว้เพียงแต่หัวข้อเรื่อง หรือเสียงที่จะพูดโดยทั่วไปเท่านั้น บทดังกล่าวใช้กับรายการประเภทรายการ เพื่อการศึกษา รายการปกิณกะและรายการที่ผู้พูด ผู้สนทนา หรือผู้บรรยายพูดเองเป็นส่วนใหญ่ ไม่มีระบุในบท
สิ่งสำคัญของบทวิทยุโทรทัศน์แบบกึ่งสมบูรณ์ คือ ต้องระบุคำสุดท้ายของคำพูดประโยคสุดท้าย
ที่จะให้เป็นสัญญาณบอกผู้กำกับรายการว่า เมื่อจบประโยคนี้จะตัดภาพไปยังภาพยนตร์ สไลด์ หรือภาพนิ่ง ซึ่งใช้ประกอบในรายการ หรือตัดภาพไปยังโฆษณา หรือตัดภาพไปฉากอื่น
2.3 บทวิทยุโทรทัศน์บอกเฉพาะรูปแบบ จะเขียนเฉพาะคำสั่งของส่วนต่าง ๆ ที่สำคัญในรายการ ฉากสำคัญ ๆ ลำดับรายการที่สำคัญ ๆ บอกเวลาของรายการแต่ละตอน เวลาดำเนินรายการ บทโทรทัศน์แบบนี้ มักจะใช้กับรายการประจำสถานี อาทิ รายการสนทนา รายการปกิณกะ รายการอภิปราย
2.4 บทวิทยุโทรทัศน์อย่างคร่าว ๆ บทประเภทนี้จะเขียนเฉพาะสิ่งที่จะออกทางหน้าคำสั่งทางด้านภาพและด้านเสียง โดยทั่วไปแล้วผู้กำกับรายการจะต้องนำบทอย่างคร่าว ๆ นี้ไปเขียนกล้องโทรทัศน์เท่านั้นและบอกคำพูดที่จะพูดประกอบสิ่งที่ออกหน้ากล้องไว้อย่างคร่าว ๆ ไม่มีตบแต่งใหม่ ให้เข้าอยู่ในรูปของบทวิทยุโทรทัศน์เฉพาะรูปแบบเสียก่อน เพื่อให้ผู้ร่วมงานทั้งหมดได้รู้ว่าควรจะทำงานตามขั้นตอนอย่างไร

หลักการเขียนบทวิทยุโทรทัศน์
การเขียนบทวิทยุโทรทัศน์ควรคำนึงถึงสิ่งต่อไปนี้
1. เขียนโดยใช้สำนวนสนทนาที่ใช้สำหรับการพูดคุย มิใช่เขียนในแบบของหนังสือวิชาการ
2. เขียนโดยเน้นภาพให้มาก รายการวิทยุโทรทัศน์จะไม่บรรจุคำพูดไว้ทุก ๆ วินาที แบบรายการวิทยุกระจายเสียง
3. เขียนอธิบายแสดงให้เห็นถึงสิ่งที่กำลังพูดถึง ไม่เขียนและบรรยายโดยปราศจากภาพประกอบ
4. เขียนเพื่อเป็นแนวทางให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างผู้ชมแต่ละกลุ่ม ผู้ซึ่งเป็นเป้าหมาย
ในรายการของท่าน มิใช่เขียนสำหรับผู้ชมโทรทัศน์ส่วนใหญ่
5. พยายามใช้ถ้อยคำสำนวนที่เข้าใจกันในยุคนั้น ไม่ใช้คำที่มีหลายพยางค์ ถ้ามีคำเหมือน ๆ กันให้เลือก ให้เลือกใช้คำที่เข้าใจได้ง่ายกว่า
6. เขียนเรื่องที่น่าสนใจและต้องการเขียนจริง ๆ ไม่พยายามเขียนเรื่อง ซึ่งน่าเบื่อหน่าย เพราะความน่าเบื่อจะปรากฏบนจอโทรทัศน์
7. เขียนโดยพัฒนารูปแบบการเขียนของตนเอง ไม่ลอกเลียนแบบการเขียนของคนอื่น
8. ค้นคว้าวัตถุดิบต่าง ๆ เพื่อจะนำมาใช้สนับสนุนเนื้อหาในบทอย่างถูกต้องไม่เดาเอาเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีข้อเท็จจริงเข้าไปเกี่ยวข้อง
9. เขียนบทเริ่มต้น ให้น่าสนใจและกระตุ้นให้ผู้ชมอยากชมต่อไป
10. เขียนโดยเลือกใช้อารมณ์แสดงออกในปัจจุบัน ไม่เป็นคนล้าสมัย
11. ไม่เขียนเพื่อรวมจุดสนใจทั้งหมดไว้ในฉากเล็ก ๆ ในห้องที่มีแสงไฟสลัว ผู้ชมต้องการมากกว่านั้น
12. ใช้เทคนิคประกอบพอควร ไม่ใช้เทคนิคประกอบมากเกินไปจนเป็นสาเหตุให้สูญเสียภาพ ที่เป็นส่วนสำคัญที่ต้องการให้ผู้ชมได้เข้าใจได้เห็น
13. ให้ความเชื่อถือผู้กำกับรายการว่าสามารถแปลและสร้างสรรค์ภาพได้ตามคำอธิบายและคำแนะนำของผู้เขียน ผู้กำกับจะตัดทอนบทให้เข้ากับเวลาที่ออกอากาศ และไม่ต้องแปลกใจ ถ้าบรรทัด แรก ๆ ของบทถูกตัดออก หรืออาจผิดไปจากช่วงต้น ๆ ที่เขียนไว้ ต้องให้ความเชื่อถือผู้กำกับรายการและ ไม่พยายามจะเป็นผู้กำกับรายการเสียเอง
14. ไม่ลืมว่าผู้กำกับจะแปลความเร้าใจของผู้เขียนบทออกมาได้จากคำอธิบายและคำแนะนำที่ผู้เขียนเขียนเอาไว้ในบท
15. ผู้เขียนบทต้องแจ้งให้ทราบถึงอุปกรณ์ที่ต้องใช้เป็นพิเศษ ซึ่งจำเป็นและอาจหาได้ยาก เวลาเขียนควรคำนึงด้วยว่าอุปกรณ์ที่ใช้ประกอบนั้นเป็นอุปกรณ์ซึ่งไม่สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายมากจนเกินไป และอุปกรณ์นั้นต้องหาได้

ขั้นตอนการเขียนบทวิทยุโทรทัศน์
การเขียนบทวิทยุโทรทัศน์มีขั้นตอนง่าย ๆ 3 ขั้น ได้แก่ การกำหนดวัตถุประสงค์และกลุ่มเป้าหมาย การกำหนดระยะเวลาและรูปแบบของรายการ และการกำหนดหัวข้อเรื่อง ขอบข่ายเนื้อหา ค้นคว้า และลงมือเขียน
1. กำหนดวัตถุประสงค์และกลุ่มเป้าหมาย
สิ่งแรกที่ควรคำนึงก่อนลงมือเขียน คือ วัตถุประสงค์ของการเขียน ว่าเขียนเพื่ออะไร เขียนเพื่อใคร ต้องกำหนดให้แน่นอนว่า ผู้เขียนต้องการให้รายการที่กำหนดให้อะไรแก่ผู้ชม เช่น ให้ความรู้ ให้ความบันเทิง ปลูกฝังความสำนึกที่ดีงาม เป็นต้น จากนั้นจึงดูกลุ่มเป้าหมาย ว่าผู้เขียนต้องการผู้ชมเพศใด อยู่ในช่วงอายุ การศึกษา สถานภาพทางสังคม สถานภาพทางเศรษฐกิจแบบใด เป็นต้น
2. การกำหนดระยะเวลาและรูปแบบของรายการ
ผู้เขียนต้องรู้ว่าเวลาในรายการมีระยะเวลาเท่าไร เพื่อจะได้กำหนดรูปแบบของรายการ ให้เหมาะสมกับระยะเวลาของรายการ รูปแบบของรายการสามารถจัดแบ่งออกได้หลายแบบ ได้แก่ รายการข่าว รายการพูดกับผู้ชม รายการสัมภาษณ์ รายการสนทนา รายการตอบปัญหา รายการแข่งขัน รายการอภิปราย เกม รายการสารคดี รายการปกิณกะ รายการดนตรีและละคร
3. การกำหนดหัวข้อเรื่อง ขอบข่ายเนื้อหา ค้นคว้าและลงมือเขียน
เมื่อทราบเงื่อนไขต่าง ๆ ดังที่กล่าวมาในตอนต้นแล้ว จะทำให้ผู้เขียนกำหนดหัวข้อเรื่องและขอบข่ายเนื้อหาได้ง่ายขึ้น จากนั้นจึงเริ่มค้นคว้าเพิ่มเติมเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องที่สุดแล้วจึงลงมือเขียน โดยคำนึงถึงข้อควรคำนึงหลักการเขียนบทวิทยุโทรทัศน์ 15 ข้อที่กล่าวมาแล้วข้างต้น หลังจากนั้น ควรตรวจสอบข้อเท็จจริง สำนวนและเขียนอีกเพื่อพัฒนาบท แก้ไขปรับบทวิทยุโทรทัศน์เพื่อให้ได้บทวิทยุโทรทัศน์ที่ดีที่สุด

3. นักเขียนนิทาน
เป็นเรื่องของจินตนาการ ผู้เขียนจะต้องมีศิลปะในการเขียนเพื่อให้ความสนุกสนานปลูกฝังคุณธรรม คติแง่คิดมุมมองต่าง ๆ แก่ผู้อ่าน
องค์ประกอบของนิทาน
1. แนวคิด แก่นสาร หรือสาระที่จุดประกายให้เกิดเรื่องราว เช่น แม่กระต่ายผู้รักลูกสุดหัวใจ ยอมสละชีวิตตัวเองเพื่อแลกกับลูก หรือลูกสี่คนคิดปลูกฟักทองยักษ์ให้แม่ หรือลูกไก่ 7 ตัวที่ยอมตาย
ตามแม่ หรือโจรใจร้ายชอบทำร้ายผู้หญิงวันหนึ่งกลับทำร้ายแม่ตัวเองโดยไม่ตั้งใจ หรือลูกหมูสามตัว ไม่เชื่อแม่ทำให้เป็นเหยื่อของหมาป่า
2. โครงเรื่องของนิทาน โครงเรื่องและเนื้อหาต้องไม่ซับซ้อน สั้น ๆ กระทัดรัด เป็นลักษณะ เรื่องเล่าธรรมดา มีการลำดับเหตุการณ์ก่อนหลัง
3. ตัวละคร ขึ้นอยู่กับจินตนาการของผู้เขียน เช่น คน สัตว์ เทพเจ้า แม่มด เจ้าชาย นางฟ้า
แต่ไม่ควรมีตัวละครมากเกินไป
4. ฉาก สถานที่เกิดเหตุ เช่น ในป่า กระท่อมร้าง ปราสาท บนสวรรค์ แล้วแต่ความคิดสร้างสรรค์ของผู้เขียน
5. บทสนทนา การพูดคุยของตัวละคร ควรใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย กระชับ สนุกสนาน ไม่ใช้ คำหยาบ
6. คติสอนใจ เมื่อจบนิทาน ผู้อ่านควรได้แง่คิด คติสอนใจเพื่อเป็นการปลูกฝังคุณธรรมกล่อมเกลาจิตใจ
สรุป การที่จะเป็นนักเขียน หรือนักพูดประเภทใด ๆ ก็ตาม หัวใจสำคัญของนักเขียน หรือนักพูด ก็คือ ความรู้ที่นักเขียน หรือนักพูดได้ถ่ายทอดให้กับผู้ฟัง หรือผู้อ่าน (ผู้รับสาร) ได้เข้าใจในประเด็น หรือสิ่งที่ได้นำเสนอ