ก อสร างโกด ง ม เคร องจ กรได หร อไม

จาก “ขบด.” ที่เป็น “ขบถ”ถึงฐานะใหม่ของ จกร.

เผยแพร่: 15 ก.พ. 2550 16:20 โดย: สปาย หมายเลขหก

นายกรัฐมนตรี-พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ พูดถึงยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้ ว่าจะต้องเข้าสู่การสร้างความเข้าใจในระดับหมู่บ้าน การร่วมมือกับรัฐบาลมาเลเซีย เพราะปัญหานี้ก็เป็นปัญหาทางตอนเหนือของมาเลเซียด้วย และ “การได้พูดจากัน...”

“ลึก-หกสิบ, ลับ-สี่สิบ”

นี้, มีรายงานมาก่อนหน้านี้มาหลายตอนในประเด็นรวมคือ “การได้พูดจากัน...” โดยชี้ว่าเป็นสิ่งที่มีการทำอยู่ และพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นคนลงมือเองในการพูดจากันนั้น รายงานของเราออกจะก้าวหน้าไปไกลในจุดนี้ เพราะถือว่าเป็น “โชคดี” ที่มีข้อมูลมากพอในการจัดมาทำเป็นรายงานได้ จึง “เกาะติด” อยู่กับประเด็นนี้ที่ “โชคดี” เหมือนกัน เมื่อทราบว่า การพูดจากันนั้น มีความคืบหน้าถึงกับได้วางโครงสร้างของความต้องการออกมาแล้ว ว่าอยากจะเห็น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นอย่างไร? ภายใต้กรอบการพูดจาอย่างสำคัญ คือการแก้ไขปัญหาร่วมกัน โดยถือเป็นปัญหาภายใน

ที่สำคัญที่สุด คือไม่ใช่ความต้องการที่จะแยกดินแดนรัฐปัตตานีเป็นเอกราช

นายอับดุลลาห์ อาหมัด บาดาวี

นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ที่เพิ่งเสร็จสิ้นการเยือนไทยอย่างเป็นทางการ ได้สัมภาษณ์ที่กัวลาลัมเปอร์ว่า มาเลเซียมีศักยภาพและความสามารถที่จะเป็นคนกลางไกล่เกลี่ยปัญหาความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย และย้ำว่า-เรารู้จักกลุ่มพวกแบ่งแยกดินแดนในแง่ที่ว่าพวกเขาต่างก็เป็นมุสลิม และเป็นคนเชื้อสายมลายู และนายมาดาวี ได้ยอมรับที่จะเป็นคนกลางไกล่เกลี่ยโดยที่ไทยเชิญให้ทำหน้าที่นี้อย่างเป็นทางการ

นั่นเป็น “อย่างเป็นทางการ” ของมาเลเซีย, แต่การปฏิบัตินั้นเริ่มแล้ว และเริ่มไปมากแล้ว โดยทางฝ่ายไทย โดยใช้พื้นฐานทางสังคมที่มีอยู่ และมีความคืบหน้าเป็นอย่างมาก ซึ่งอาจจะยังไม่มีคนเห็นหรือรู้ เพราะว่าแฟ้มของการปฏิบัติงานนั้น ยังมีตรา “ลับ” อยู่ แต่ถ้าหากว่านำเรื่องราวที่ไม่เกี่ยวกับชั้นความลับใดๆ เป็นสิ่งที่มีช่วงเวลาห่างจากการปฏิบัติจริงในช่วงนี้ คือเกินกว่า 15 ปี ก็เป็นสิ่งที่เปิดเผยได้ หรือความลับที่มีการเคยถูกเปิดเผยไปแล้วก็ไม่เป็นความลับ, ดังนั้น “ลึก-หกสิบ, ลับ-สี่สิบ” จะใช้ลักษณะอย่างหลังสุด 2 ข้อนี้มากล่าวถึงกัน โดยไม่ถือว่าเป็นการเปิดเผยความลับใดๆ คือ-การกล่าวถึง “โครงการไทยมุสลิมแก้ปัญหาไทยมุสลิม” ซึ่งเป็นโครงการเก่าที่ได้ผลอย่างมีประสิทธิภาพ แต่ขาดความต่อเนื่อง เพราะปัญหาภายใน และปัญหาการเมืองของเราเองเป็นต้นเหตุ หากว่าโดยการนี้มีความต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้-จะมีแต่สันติสุข ปัญหาความรุนแรงทั้งหลายจบลงไปนานแล้ว

โครงการนี้เป็นโครงการเก่าตั้งแต่ พ.ศ. 2513 ขณะที่ พล.อ.สายหยุด เกิดผล เป็น ผู้บังคับศูนย์อำนวยการและประสานงาน กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (ผบ.ศอป.กอ.รมน.) โดยใช้ยุทธวิธี “มุสลิมส่วนใหญ่ที่ไม่มีปัญหา-แก้ปัญหาให้กับมุสลิมส่วนน้อยที่มีปัญหา” ด้วยการนำเอาโครงสร้างทางสังคมของไทยอิสลามมาศึกษาและวิเคราะห์/พัฒนาสำหรับโครงการที่ดำเนินการอย่างมีระบบ เข้าสู่การชี้นำอย่างมีระบบของโครงการซึ่ง กอ.รมน.เป็นพี่เลี้ยงดูอยู่ห่างๆ ในฐานะเป็นผู้สนับสนุน มิได้เป็นผู้นำทาง มีการนำปัญหามาพิจารณาทีละอย่าง และแก้ไขไปตามปัญหานั้น โดยเฉพาะความรู้สึก ขัดแย้ง/ต่อต้าน แต่แบ่งลักษณะออกเป็น “ขัดแย้ง” อย่างหนึ่งว่าเป็นการขัดแย้งเพราะอะไร แก้ไขด้วยวิธีเช่นใด จึงจะแก้ไขความขัดแย้ง และความขัดแย้งก็จะไม่นำไปสู่ปัญหาที่ใหญ่กว่าซึ่งจะตามมาคือ “ต่อต้าน” จากปัญหาขัดแย้ง โดยมีการแยกการต่อต้านเป็นหลายลักษณะ เช่น การต่อต้านทางความคิด ต่อต้านโดยวิธีการหรือกระบวนการ ไปถึงการต่อต้านที่กลายเป็นการต่อสู้ด้วยอาวุธและความรุนแรง

การดำเนินงานทางด้านจิตวิทยา ดำเนินไปอย่างมีประสิทธิผล ได้รับความสนใจจากประชาชนในพื้นที่มาก เพราะผู้ที่เข้ามาศึกษาและแก้ปัญหาเป็นมุสลิมเช่นเดียวกัน และมีผู้นำทางศาสนาในภาคอื่นๆ เข้ามาสู่พื้นที่อย่างเป็นกลุ่มก้อน ชี้ให้เห็นว่า คนไทยอิสลามในภาคอื่นๆ ก็อยู่ร่วมกับคนไทยที่นับถือพุทธศาสนา และศาสนาอื่นๆ อย่างมีความสุข มีคำถามที่คนในพื้นที่ตอบยาก หรือไม่ได้ตอบเลยว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นโดยศาสนา หรือว่ามีคนมาสร้างความเชื่อที่ผิดว่า มุสลิมจะต้องอยู่ร่วมหรือมีสังคมอยู่เฉพาะในกลุ่มมุสลิมเท่านั้น

โครงการให้มุสลิมส่วนใหญ่ที่ไม่มีปัญหา-แก้ปัญหาให้กับมุสลิมส่วนน้อยที่มีปัญหานี้ดำเนินอยู่ตลอดเวลาที่ พล.อ.สายหยุด เกิดผล เป็นผู้บังคับศูนย์อำนวยการและประสานงาน กอ.รมน. จนกระทั่งเมื่อ พล.อ.สายหยุด พ้นหน้าที่จากกองทัพบกไปเป็นรองเสนาธิการทหาร, เสนาธิการทหารและผู้บัญชาการทหารสูงสุด ต้องพ้นจากตำแหน่งใน กอ.รมน.ไปด้วย ความต่อเนื่องก็ขาดตอน ผู้ที่เป็นคณะทำงานที่มาปฏิบัติการถูกทิ้งไว้กลางคัน อีกทั้งปัญหาทางการเมืองที่มีการเปลี่ยนแปลงใหญ่เกิดขึ้นเข้ามามีส่วนให้โครงการนี้ต้องหยุดด้วย

โครงการในลักษณะเดียวกันนี้, กำลังมีการใช้อยู่ในปัจจุบัน แต่ดูเหมือนจะยากกว่าเพราะสถานการณ์ของความขัดแย้งต่อต้านมาเป็นการต่อสู้แล้ว พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ประธาน คมช. ผู้บัญชาการทหารบกได้มาเป็น ผอ.กอ.รมน. รับผิดชอบด้วยตนเอง และตัว พล.อ.สนธิ หรือแม้แต่ นายอารีย์ วงศ์อารยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงหมาดไทย ได้ถูกนำมาเป็น “พรีเซนเตอร์” ในฐานะที่เป็นไทยมุสลิม ซึ่งชี้ให้เห็นถึงความไม่แตกต่าง ที่ไทยมุสลิมก็สามารถอยู่ในตำแหน่งระดับสูงนี้ได้ เป็นการปฏิบัติการจิตวิทยาแบบเป็นรูปธรรมและมีตัวตน, อีกทั้งมีการปฏิบัติตามแนวทางเดิม ซึ่ง กองพลทหารราบที่ 5 (พล.ร. 5) ค่ายเสนาณรงค์ ได้เคยจัดคณะทำงานไทยมุสลิมในพื้นที่ซึ่งเดิมมี 6 โครงการ เพิ่มเป็น 8 โครงการ, รื้อฟื้นการปฏิบัติของโครงการเพื่อความหวังใหม่ (ฮารัปปันปารู) ที่เคยมีเมื่อ พ.ศ. 2532 เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต พัฒนาด้านสังคมจิตวิทยา โดยกองอำนวยการโครงการเพื่อความหวังใหม่ในพื้นที่มีหลักดำเนินการ 7 ประการ โดยผสมผสานการพัฒนาและการป้องกันปราบปรามเข้าด้วยกัน มี ศอบต. เป็นแม่งาน และหน่วยลูกมือคือฝ่ายปกครอง มีหน่วยทักษิณพัฒนา (นทพ.) หน่วยพิทักษ์ประชาชนและทรัพยากร (นพช.) หน่วยพัฒนาโครงการพื้นฐาน (นพฐ.) สำหรับพื้นที่ล่อแหลมอันตราย จะแยกมีหน่วยพิทักษ์ประชาชน (นพป.) ขึ้นมาโดยเฉพาะ ซึ่งของเดิมมี นพป.อยู่เพียง 30 หน่วย แต่จะเพิ่มตามยุทธศาสตร์ใหม่เป็น 120 หน่วยเป็นอย่างน้อย ภายใต้วัตถุประสงค์ 7 ข้อ นโยบาย 15 ข้อ ที่ครอบคลุมทั้งหมดของปัญหา

ในยุทธศาสตร์การ “เกาะติด” จะต้องเกาะติด 1. สถานการณ์ 2. ประชาชน 3. ฝ่ายตรงข้าม, โดยการเกาะติดที่ 3 อย่างนี้ การเกาะติดประชาชนจะอยู่ภายใต้ยุทธการปฏิบัติจิตวิทยาเชิงรุก การเกาะติดสถานการณ์ก็ปรับเป็นเชิงรุก และการเกาะติดฝ่ายตรงข้ามก็เป็นเชิงรุกด้วยเช่นกัน

สำหรับยุทธศาสตร์แก้ปัญหาที่มีอยู่เดิม และการปรับใช้ใหม่นี้ มีข้อมูลจากแหล่งข่าวว่าได้พบว่า เมื่อ พ.ศ. 2535 ได้มีการเจรจากันกับฝ่ายก่อการ จนถึง พ.ศ. 2537 การเจรจาได้เกิดขึ้นมา 2 ครั้ง มีความคืบหน้ามาก แต่เป็นด้วยมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและนโยบายใน พ.ศ. 2538 ได้ขาดตอนการติดต่อนั้น ทางกองทัพบกเองก็ไม่ได้ดำเนินการต่อ เพราะต้องรอดูนโยบายของรัฐบาล โดยที่การเจรจานี้ เป็นยุทธการที่ต่อเนื่องมาจากยุทธการชื่อ “ยุทธชัย 2533” ที่มีต่อเนื่องกันมาถึง พ.ศ. 2534 โดยขณะนั้นมีพื้นที่เป้าหมายมีการเคลื่อนไหวของโจรก่อการร้ายใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ รวม 14 อำเภอ 1 กิ่งอำเภอที่เต็มพื้นที่ และอีกส่วนหนึ่งไม่เต็มพื้นที่แยกเป็น 32 ตำบล, การเจรจา 2 ครั้งนั้น เมื่อต้องหยุดหรือเหมือนกับการเลิกล้มเจรจาเพราะปัญหาทางการเมืองที่ปรับเปลี่ยนนโยบาย ทำให้ “คู่เจรจา” โกรธเคืองมาก ถือว่าทางทหาร “หักหลัง” คือนำเอาการเจรจามาเป็นเครื่องหลอกล่อให้แกนนำระดับสูงของเขาต้อง “ปรากฏตัว” ไม่สามารถปิดลับอำพรางตัวเองได้อีก

ทางทหารซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติอยู่ในช่วงนั้น ก็พบกับความอึดอัดใจมาก เพราะความเชื่อถือ ความไว้เนื้อเชื่อใจกันหมดลงแล้ว ถึงกับมีนายทหารชั้นผู้ใหญ่ พูดในที่ประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ว่า นโยบายของการเจรจาต้องเป็นไปอย่างต่อเนื่องจริงจัง ต้องเป็นนโยบายที่ทุกรัฐบาล หรือใครมาเป็นรัฐบาลต้องยอมรับว่าเป็นพันธะหน้าที่ มีการกล่าวว่า “ถ้าหากมีนโยบายที่ไม่ดีพอ หรือไม่มีความชัดเจนพอ ก็อย่ามีนโยบายออกมาเลยจะดีกว่า”

วันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2540 การประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ได้มีมติในนโยบายความมั่นคงของไทยและมาเลเซียรวม 2 ข้อ คือ 1. ให้ความสัมพันธ์ทุกด้านเป็นไปอย่างใกล้ชิดบนพื้นฐานผลประโยชน์ร่วมกัน 2. ในพื้นที่ชายแดนไทย-มาเลเซีย มีความมั่นคง เจริญก้าวหน้า โดยมีมติรองรับการปฏิบัติดังกล่าวรวม 14 ข้อ ซึ่งใน 14 ข้อนี้ ได้มีการรองรับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต คือ “การเจรจา” ไว้ด้วย โดยให้ถือว่า อยู่ในระดับสูงสุดของนโยบายความมั่นคง ที่เมื่อดำเนินการแล้วจะต้องก้าวหน้าและคืบหน้า รัฐบาลจะมากำหนดนโยบายแบบชักเข้าชักออกไม่ได้ โดยต้องมีความมั่นคงในนโยบายการเจรจา และมีความจริงใจต่อการเจรจานั้นด้วย

รายงานข้างต้นคือ การเกาะติดสถานการณ์และการเกาะติดประชาชน

ส่วนการเกาะติดอีกอย่างหนึ่ง คือการเกาะติดฝ่ายตรงข้าม ซึ่งเป็นหน้าที่โดยตรงของทหารและตำรวจนั้น ก็ต้องมองย้อนกลับไปในอดีตว่า การเกาะติดนั้นเป็นอย่างไรบ้าง

เมื่อ พ.ศ. 2521 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้กองทัพบก ดำเนินการตามโครงการทหารพรานในภาคใต้ โดยมีการจัดตั้งขึ้นมาครั้งแรกได้ 13 กองร้อย ในพ.ศ. 2524 และกองทัพบกโดยให้กองทัพภาคที่ 4 เป็นหน่วยบังคับบัญชาเอง เป็นหน่วยเฉพาะกิจอาสาสมัครทหารพราน (ฉก.อส.ทพ.) และพ.ศ. 2526 เปลี่ยนเป็นกองกำลังทหารพราน กองทัพภาคที่ 4 (กกล.ทพ.ทภ. 4) รวมทั้งหมด 36 กองร้อย โดยทหารพรานชุดแรกๆ นั้นมีภารกิจในการต่อสู้กับ ผกค. และเมื่อสถานการณ์นั้นยุติ ก็มีการลดกำลังลงตามลำดับ จนมีอยู่ 15 กองร้อย คือลดลงมามากกว่าครึ่ง และเข้าปฏิบัติการในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งบางอำเภอของสงขลา ภายใต้การดูแลอย่างใกล้ชิดของ “กองอำนวยการรักษาความสงบภาคใต้” (กอ.รสต.) ซึ่งต่อมาหน่วยนี้ก็ถูกสั่งยุบ โดยปัญหาทางการเมือง ถ้าหากว่า กอ.รสต. ยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยกองทัพภาคที่ 4 เป็นผู้ดำเนินการ สถานการณ์ก็จะไม่เกิดช่องว่างที่ทำให้ขบวนการแบ่งแยกดินแดนขยายตัวได้อย่างเกือบเป็นอิสระ การเกาะติดฝ่ายตรงข้ามก็จะไม่ขาดช่วงตอน

กลุ่มแบ่งแยกดินแดนก็มีการเกาะติดในลักษณะทั้ง 3 เช่นเดียวกัน โดยทางราชการได้มองรายละเอียดของการเกาะติดนี้ โดยเฉพาะทางด้านมวลชน เห็นว่าการที่มีการเรียกว่า ขบวนการแบ่งแยกดินแดน หรือ “ขบด.” ที่เรียกกันมาแต่เดิมนั้น แม้ว่าอักษรย่อ ขบด. จะอ่านว่าเป็น ขบถ (กบฏ) ซึ่งตรงกับความหมายและการกระทำ แต่ก็เป็นการยอมรับโดยทางราชการเอง ว่ามีการแบ่งแยกดินแดนอยู่ภายในประเทศ จะเป็นการเสริมพฤติกรรมให้มีความหนักแน่นเปล่าๆ ดังนั้น, เมื่อวันที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2515 จึงเรียกเสียใหม่ว่า เป็น ขบวนการโจรก่อการร้าย หรือ ขจก. และเปลี่ยนมาเป็น โจรก่อการร้าย เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2538 โดยตัดคำว่า “ขบวนการ” ออกเสีย เพราะมีลักษณะของการยอมรับว่าเป็นองค์กร สำหรับคำล่าสุดที่เรียกคือ โจรก่อการร้ายนั้นมีคำย่อว่า จกร. และวันนี้-ก็ยังเรียกคำนี้อยู่, การเรียกขานโดยเป็นคำทางราชการนี้ ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่อยู่ในบทต้นๆ ของการ “พูดจากัน” อย่างเงียบๆ นี้ โดยโจรก่อการร้าย ต้องการให้ “คู่เจรจา” ยอมรับฐานะของเขาให้เหนือกว่าการเป็นโจรก่อการร้าย หรือ จกร. มีการเรียกร้องขอให้อยู่ในฐานะที่มีแต่แรกคือ “ขบวนการแบ่งแยกดินแดน” ดังเดิม, แต่ทางฝ่ายราชการไม่ยินยอมในข้อนี้ เพราะเกรงจะเป็นการ “เข้าทาง” และนำไปสู่การเป็นสากลได้ แต่ขอให้ทางคู่เจรจาทำใจให้กว้าง อย่าผูกพันหรือยึดเอาชื่อของกลุ่มเป็นใหญ่ ได้เสนอว่าควรจะใช้คำอย่างมีเกียรติ และมีความหมายคือ “กลุ่มผู้สร้างสันติสุข 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้” โดยไม่มีคำว่า โจร หรือ ก่อการร้าย หรือคำในทำนองที่เป็นศัตรูกันมาปะปนอยู่ด้วย โดยที่ยังไม่มีการตอบรับถึงฐานะเช่นนี้อย่างเป็นเรื่องเป็นราว-แต่การพูดคุยก็ยังดำเนินต่อไป