การแบ งกล มผ ส งอาย ท ม ภาวะพ งพ ง

แค่ไม่ทำให้อายุสั้นกว่าที่ควรจะเป็น ก็อายุยืนแล้ว

เผยแพร่: 6 มี.ค. 2558 18:40 โดย: MGR Online

ณ บ้านพระอาทิตย์ โดย...ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

องค์ความรู้และงานวิจัยหลายชิ้นได้กำลังไหลบ่าเข้าสู่สายตาคนทั่วโลกมากขึ้น เพราะคนในยุคนี้นอกจากจะสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารผ่านระบบการค้นข้อมูลที่ทรงประสิทธิภาพอย่าง กูเกิล แล้ว ยังสามารถสื่อสารให้ข้อมูลที่ตัวเองรู้นั้นเผยแพร่ออกไปผ่านไปยังสังคมออนไลน์อย่าง เฟซบุ๊ก ไลน์ ทวิตเตอร์ ยูทูบ ฯลฯ

การแสธารแห่งข้อมูลที่มากมายมหาศาลได้พัฒนากลายเป็นความรู้ และความรู้ได้พัฒนากลายเป็นปัญญา จนอาจกล่าวได้ว่าในอนาคตข้อมูลสุขภาพแทบทุกเรื่องตราบใดที่เรามีความสนใจ ใฝ่รู้ เราก็สามารถหาข้อมูลเอาเองได้ แม้กระทั่งในระดับงานวิจัย

ในสมัยก่อนแม้เราจะมีงานวิจัยดีๆ และเป็นข้อมูลใหม่ ก็อยู่แต่ในห้องสมุดของแต่ละมหาวิทยาลัย จึงเป็นเรื่องยากที่จะไปตามหางานวิจัยแต่ละชิ้นมารวบรวมให้เกิดองค์ความรู้ได้ เพราะคนที่สนใจในเรื่องใดก็อาจจะไม่รู้ว่างานวิจัยที่ตัวเองสนใจนั้นอยู่ที่มุมใดในโลก ในขณะที่คนที่ทำวิจัยแต่ละมหาวิทยาลัยก็ไม่รู้ว่าใครต้องการข้อมูลของตัวเองเอาไปใช้ประโยชน์ เรื่องของคนทำวิจัย กับคนที่สนใจผลของงานวิจัยจึงไม่ได้มาเจอกันเสียที

ด้วยเหตุผลนี้ งานวิจัยหลายชิ้นที่ทำกันเมื่อประมาณหลายสิบปีที่แล้ว เรากลับเพิ่งมารับรู้ในวันนี้ ยังไม่นับงานวิจัยใหม่ๆ ที่กำลังทำให้เรามีความเข้าใจและความเป็นไปในโลกมากขึ้น

ไม่เว้นแม้แต่งานวิจัยด้านสุขภาพ !!!

ยกตัวอย่างเช่น คนทั้งโลกได้เคยกลัวคอเลสเตอรอล แต่วันนี้โรงพยาบาลเอกชนชั้นนำของประเทศไทยบางแห่ง ไม่ได้มองแต่คอเลสเตอรอลแต่เพียงอย่างเดียวอีกต่อไปแล้ว แต่ได้ประยุกต์ใช้จากผลการศึกษาของ Flamingham Study โดยนำคอเลสเตอรอลแล้วหารด้วย ไลโปโปรตีนหนาแน่นสูง หรือ HDL ที่คนมักเรียกว่าไขมันตัวดี ถ้าไม่เกิน 5.0 ให้ถือว่าปลอดภัย

พองานวิจัยจำนวนมากออกมาว่าคอเลสเตอรอลในระดับที่สูงเป็นอันตรายสำหรับคนที่อายุน้อยกว่า 50 ปีลงมา แต่สำหรับคนที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป เป็นสัญญาณบ่งบอกว่า ตับสังเคราะห์คอเลสเตอรอลมาใช้งานได้น้อยลง และเป็นดัชนีชี้วัดได้อย่างหนึ่งว่าเรากำลังเข้าสู่ความตายมากขึ้น และกำลังจะเจ็บป่วยด้วยโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดสมองมากขึ้น ซึ่งมันเป็นสิ่งที่พลิกความเชื่อเดิมๆที่เราเคยเข้าใจผิดกันมาตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา

เพราะร่างกายมนุษย์สามารถสังเคราะห์คอเลสเตอรอลได้เองเป็นส่วนใหญ่ เพราะคอเลสเตอรอลเป็นวัตถุดิบที่สังเคราะห์โดยตับ เพื่อเอามาสังเคราะห์ต่อเป็นฮอร์โมนเพศ ฮอร์โมนต้านความเครียด ฮอร์โมนต้านการอักเสบ เยื่อหุ้มเซลล์ ฉนวนหุ้มปลายประสาท วิตามินดี น้ำดี ฯลฯ จึงไม่ควรแปลกใจว่าถ้าร่างกายเราสังเคราะห์ได้น้อยลงเมื่ออายุมากขึ้นก็หมายความว่าเรามีวัตถุดิบที่จะมาสังเคราะห์ต่อได้น้อยลง จึงทำให้เราแก่เร็ว เข้าสู่ความเสื่อมโทรมของอวัยวะต่างๆ ป่วยงาน และใกล้ความตายเข้าไปทุกขณะ

ตัวอย่างเรื่องคอเลสเตอรอลเพียงเรื่องเดียวก็ได้ทำให้เราหลงทาง และเดินทางผิดมาหลายทศวรรษโดยที่เราไม่รู้ตัว

ยังมีอีกตัวอย่างหนึ่งก็คือจากเดิมที่เข้าใจว่าการที่เราอ้วนเพราะกินอาหารที่มีไขมันมาก แต่ความจริงในยุคนี้ทำให้เราเข้าใจมากขึ้น และชัดเจนมากขึ้นว่า แท้ที่จริงแล้วเราอ้วนเพราะกินคาร์โบไฮเดรต และน้ำตาลมาก และเป็นภัยยิ่งกว่าไขมันเสียอีก

นอกจากนี้จากเดิมที่เราเข้าใจว่าไขมันจากสัตว์เป็นอันตรายจึงกลัวการกินเนย ชีส แล้วหันไปกินเนยเทียมหรือมาร์การีน เพราะเข้าใจว่าปลอดภัยกว่า แต่ในวันนี้ด้วยข้อมูลข่าวสารจึงทำให้เราเข้าใจมากขึ้นว่าไขมันไมอิ่มตัวของเมล็ดพืชแล้วมายิงไฮโดรเจนเพื่อเลียนแบบไขมันอิ่มตัวให้คล้ายเนยนั้น เป็นอันตรายอย่างยิ่ง เพิ่มความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคมะเร็ง

เช่น เดียวกัน ไขมันอิ่มตัว เนย ชีส แม้แต่น้ำมันมะพร้าว ซึ่งเคยถูกตราหน้าว่าเป็นอันตรายในระบบหลอดเลือดเพราะเป็นไขมันอิ่มตัวมาหลายสิบปี เพิ่งปี พ.ศ. 2557 นิตยสารไทม์ กลับตีพิมพ์เผยแพร่พลิกความเชื่อเดิมกลายเป็นว่าไขมันอิ่มตัวกลายเป็นของดี และไขมันไม่อิ่มตัวที่โดนความร้อนแล้วกลายสภาพเป็นไขมันทรานส์ก็ย่อมอันตรายอย่างยิ่ง แต่กว่าเราจะเข้าใจมันเช่นนั้น ได้ มนุษยชาติก็ต้องสังเวยชีวิตไปอย่างมากมายมหาศาลในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมาด้วยโรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคมะเร็งจากไขมันที่เป็นอันตรายเหล่านั้น

แม้แต่เนย ชีส นม โยเกิร์ต นมเปรี้ยว ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อระบบหลอดเลือด ช่วยลดความเสี่ยงโรคเกี่ยวกับระบบหลอดเลือด ทั้งโรคหลอดเลือดหัวใจและโรคหลอดเลือดสมองโดยอาศัยฮอร์โมนจากนมวัวคือ เอสโตรเจน และ Insulin Like Growth Factor-1 แต่กลับกลายเป็นว่าฮอร์โมนทั้ง 2 ชนิดนี้ในผลิตภัณฑ์นมยุคปัจจุบัน เป็นปัญหาอย่างยิ่งในการกระตุ้นมะเร็งทางเพศ ทั้งชายและหญิง ทั้งมะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ มะเร็งปากมดลูก มะเร็งอัณฑะ และมะเร็งต่อมลูกหมาก ทำให้เราเข้าใจได้ว่าผลิตภัณฑ์นมเหมาะสำหรับคนบางกลุ่ม แต่ในขณะเดียวกันอาจเป็นอันตรายสำหรับคนบางกลุ่มเช่นกัน

จากงานวิจัยพบว่าผลิตภัณฑ์จากสัตว์ก่อให้เกิดความเสี่ยงโรคมะเร็งได้มากกว่า เพราะสารพิษจำนวนมากที่ทำลายรหัสพันธุกรรมสามารถละลายได้อยู่ในรูปของไขมันสัตว์ เช่น ไดออกซิน มลพิษจากอุตสาหกรรม ยาฆ่าแมลง ฯลฯ

ด้วยองค์ความรู้มากมายทำให้เราเข้าใจได้มากขึ้นว่าการแก่ของคนเรา นอกจากจะเป็นเพราะอนุมูลอิสระจากสิ่งแวดล้อม อาหาร และจิตใจแล้ว เรายังมีปฏิกิริยาทางเคมีที่เกิดขึ้นคือ ไกลเคชั่น และ ปฏิกิริยาเชื่อมข้ามสายโมเลกุล (Cross Linking) ซึ่งจะเกิดขึ้นมากเมื่อเรากินน้ำตาลมาก หรืออาหารที่มีค่าดัชนีน้ำตาลสูงๆ เป็นประจำ (โดยเฉพาะข้าวขาวหอมมะลิ) ส่งผลทำให้เราแก่เร็ว เหี่ยวง่าย ตาเสื่อมลง และอวัยวะต่างๆทรุดโทรมลงอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ยังทำให้หางของโครโมโซมที่เรียกว่าเทโลเมียร์สั้นลงด้วย หมายถึงอายุขัยจะสั้นลงเร็วเมื่อกินอาหารที่มีค่าดัชนีน้ำตาลสูง

จากเดิมที่เราเข้าใจว่าการกินมากคือการบำรุง แต่งานวิจัยจำนวนมากกลับบอกว่าการอดอาหาร หรือบริโภคน้อยคือเส้นทางในการชะลอวัยและขยายอายุขัยได้อย่างน่าอัศจรรย์ รวมถึงการอดอาหารยังทำให้เกิดการซ่อมยีน และสร้างสารต้านอนุมูลอิสระได้อีกด้วย

ความเครียดเป็นปัจจัยที่ทำให้ร่างกายทรุดโทรม ประเด็นเรื่องฮอร์โมนจะเป็นเรื่องที่มีความสำคัญต่อไปในการทั้งชะลอวัย และการขยายอายุขัย เราเริ่มมีความรู้ว่าคนที่มีฮอร์โมนเมลาโทนินน้อย เพราะทำงานกลางคืน หรือนอนเปิดไฟเวลากลางคืนจะทำให้อายุสั้นในระดับรหัสพันธุกรรม

แม้แต่การบริหารความเครียดงานวิจัยในช่วงหลังยังได้มาสู่หนทางตะวันออกมากขึ้นว่า โยคะ ชี่กง และการนั่งสมาธิ รวมถึงการสวดมนต์คือหนทางหนึ่งในการขยายอายุขัยและการชะลอวัยได้จริง

แม้แต่การรับแสงแดดตอนเช้าเพื่อให้ร่างกายนำคอเลสเตอรอลมาสังเคราะห์เป็นวิตามินดี ก็ทำให้เกิดการหมุนเวียนฮอร์โมน IGF-1 แล้วทำให้อายุขัยในระดับรหัสพันธุกรรมยาวขึ้นได้ด้วย

ข้อมูลเหล่านี้ทำให้เราเข้าใจได้มากขึ้นว่า ด้วยพลังอำนาจของข้อมูลข่าวสารเพียงแค่ไม่ปฏิบัติตัวให้อายุสั้น ก็อายุยืนได้แล้ว