ประเทศใดไม่มีการผลิตข้าวในอาเซียน

จากการที่ประเทศไทยมีความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน (อาฟต้า) และจะเป็นความตกลงประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี)ปี 2558 สำหรับสินค้าข้าวไทยได้ลดภาษีลงเหลือ 0% มีผลตั้งแต่เดือนมกราคม 2553 เป็นต้นมา ซึ่งการลดภาษีนำเข้าสินค้าข้าวเหลือ 0%ให้กับสมาชิกอาเซียน แม้ว่าเวลานี้ผลกระทบเชิงลบยังไม่ชัดเจน แต่หลายฝ่ายเกิดความกังวลว่าอนาคตจะกระทบต่ออุตสาหกรรมข้าวไทยทั้งระบบ

  เมื่อเร็วๆ นี้ศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ซึ่งได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้เปิดเวทีสาธารณะเรื่อง "ทางรอดของข้าวไทยในอาเซียนและอาเซียน+3"

++ตำแหน่งข้าวไทยในอาเซียน:

  ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่าในด้านพื้นที่เพาะปลูกประเทศไทย มีพื้นที่เพาะปลูกอันดับสองของอาเซียน รองจากอินโดนีเซีย และอยู่อันดับสามอาเซียน+3 รองจากจีนอินโดนีเซียและเวียดนาม ขณะที่ผลผลิตข้าวเปลือกต่อไร่อยู่อันดับเจ็ดของอาเซียน และอันดับสิบอาเซียน+3 ส่วนผลผลิตข้าวสารอยู่อันดับสามของอาเซียน รองจากอินโดนีเซียและเวียดนาม อันดับสี่ในอาเซียน+3 โดยมีจีนอันดับหนึ่ง การบริโภคข้าวสารกัมพูชาเป็นประเทศที่บริโภคข้าวมากที่สุดในอาเซียนและอาเซียน+3 (ปี 2554 บริโภค 275 กิโลกรัมต่อคนต่อปี)รองลงมาเป็นเวียดนามและอินโดนีเซีย ส่วนการส่งออกข้าวประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกอันดับหนึ่ง เวียดนามอันดับสอง

++ข้อตกลงเปิดตลาดข้าว:

  รศ.สมพร อิศวาลานนท์ นักวิชาการอาวุโสสถาบันคลังสมองของชาติ กล่าวว่าความตกลงการเปิดตลาดข้าวของแต่ละประเทศในอาเซียน กลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนเดิมที่พร้อมลดภาษีเป็น 0% วันที่ 1 มกราคม 2553 ได้แก่ ไทย สิงคโปร์ บรูไน กลุ่มประเทศที่ทยอยลดภาษีข้าวลง แต่ยังไม่เป็นศูนย์ ได้แก่มาเลเซียลดจาก 40% เป็น 20% ในปี 2553 อินโดนีเซียลดจาก 30% มาเป็น 25%ในปี 2558 ฟิลิปปินส์จะลดจาก 40% เป็น 25% ปี 2558 กลุ่มสมาชิกใหม่เวียดนาม จะลดจาก 20% เป็น 0% ปี 2558 ลาว เขมร พม่า จะลดจาก 5% เป็น 0% ปี 2558

  ประเทศสมาชิกอาเซียนมีการค้าข้าวประมาณ 5 ล้านตัน อาเซียน+3 ประมาณ 6 ล้านตัน เพราะการผลิตข้าวของอาเซียนใช้ภายในประเทศเป็นส่วนใหญ่ กล่าวคืออาเซียนมีการผลิตข้าวสารรวมกัน 110 ล้านตันข้าวสาร บริโภค 94 ล้านตันข้าวสาร  หากรวมอาเซียน+3 มีการผลิตประมาณ 259 ล้านตันข้าวสาร ใช้บริโภคภายใน 242 ล้านตันข้าวสาร โดยประเทศผู้นำเข้าข้าวในอาเซียน ได้แก่ฟิลิปปินส์ 2.4 ล้านตัน อินโดนีเซีย 1.2 ล้านตัน มาเลเซียและสิงคโปร์ 1.5 ล้านตัน

++เวียดนามครองตลาดอาเซียน:

  สำหรับตลาดอาเซียนซึ่งมีประชากร 588 ล้านคน พบว่าปี 2552 ที่ผ่านมาเวียดนามซึ่งเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่อันดับสองของโลก รองจากไทย แต่เป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ไปตลาดอาเซียน โดยมีปริมาณการส่งออก 2.63 ล้านตัน ขณะที่ประเทศไทยซึ่งเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ของโลกมีการส่งออกไปตลาดอาเซียนเพียง 820,000 ตัน โดยเวียดนามส่งออกไปประเทศฟิลิปปินส์มากที่สุด 67.55% มาเลเซีย 23.29% สิงคโปร์ 8.10% อินโดนีเซีย 1.06% ขณะที่ไทยส่งออกไปยังอินโดนีเซียมากที่สุด 26.77% สิงคโปร์ 22.88% มาเลเซีย 19.65% ฟิลิปปินส์ 19.02% กัมพูชา 4.45% บรูไนดารุสซาลาม 3.92% ลาว 3.06% และเวียดนาม 0.24% ที่สำคัญเป็นที่น่าสังเกตว่าการส่งออกข้าวไทยไปตลาดอาเซียนปี 2552 ที่ผ่านมาขยายตัวลดลงทุกตลาด ขณะที่เวียดนามขยายตัวเพิ่มขึ้นทุกตลาด ยกเว้นตลาดอินโดนีเซีย (ดูรายละเอียดในตารางประกอบ)

  รศ.สมพร กล่าวว่าปัจจัยที่ทำให้ประเทศเวียดนามมีความได้เปรียบประเทศไทยคือ มีค่าจ้างแรงงานต่ำกว่าไทยคือวันละ 123 บาท ขณะที่ไทยค่าจ้างแรงงานวันละ 250 บาท ที่สำคัญเวียดนามมีความชัดเจนในนโยบายลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มกำไรให้กับเกษตรกร มีการพัฒนากลไกตลาดส่งออกและในประเทศ มีการแทรกแซงกลไกตลาดในระดับต่ำ ส่วนประเทศไทยมีความเสื่อมถอยทั้งประสิทธิภาพการผลิตและประสิทธิภาพของกลไกตลาด

++ทางรอดข้าวไทย:

  ด้านดร.อัทธ์ กล่าวถึงทางรอดข้าวไทยในอาเซียนและอาเซียน+3 ว่า ต้องยกระดับกันตั้งแต่ระดับชาวนา โรงสี ผู้ส่งออก สำหรับชาวนาควรจะมีการตั้งหอกระจายข้าวเพื่อส่งข่าวสารเรื่องเกี่ยวกับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ความเคลื่อนไหวข้อตกลงอาเซียนและสถานการณ์ค้าข้าวในอาเซียน ตั้งศูนย์ข้อมูลเตือนภัยให้กับชาวนา รวมถึงการตั้งสภาชาวนา เพื่อมุ่งสู่การเป็นผู้นำผลิตข้าวอาเซียน สร้างมาตรฐานข้าวไทย ให้ได้ตามมาตรฐานสุขอนามัยอาเซียน ที่สำคัญคือต้องลดต้นทุนการผลิต เพิ่มผลผลิตต่อไร่ เพื่อเพิ่มขีดแข่งขันอย่างยั่นยืน

  ระดับโรงสี แม้ว่าปัจจุบันธุรกิจโรงสีในประเทศไทยเรียกได้ว่าดีที่สุดในภูมิภาคอาเซียน แต่ควรจะได้มีการจัดทำแผนพัฒนาและการจัดการโรงสีให้สอดคล้องต่อกำลังผลิตข้าวและมีมาตรฐานเดียวกันทั้งในระดับประเทศและระดับภูมิภาค ลดต้นทุนการผลิตของโรงสี โดยเฉพาะต้นทุนค่าไฟฟ้า ค่าขนส่ง ส่งเสริมธุรกิจโรงสีข้าวให้ไปลงทุนในอาเซียน หรือโครงการจัดพี่เลี้ยงโรงสีข้าวในประเทศอาเซียน

  ระดับผู้ส่งออก จัดตั้งสภาข้าวไทย เป็นองค์กรอิสระ ประกอบด้วยกรรมการจากภาคส่วนต่างๆ ที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับข้าวไทย ทั้งชาวนา โรงสี ผู้ส่งออกข้าว เพื่อเป็นสื่อกลางในการดูแลข้าวไทยทั้งระบบ  สร้างตราสินค้าข้าวไทย การอำนวยความสะดวกด้านการส่งออก ประชาสัมพันธ์ข้าวไทยในตลาดอาเซียนให้มากขึ้น

++กูรูแนะทางรอด:

  ขณะที่กูรูวงการค้าข้าวแนะทางรอดข้าวไทยในอาเซียนและอาเซียน+3 รศ.สมพร สรุปสั้นแต่ชัดเจนว่าทางรอดข้าวไทยมีอยู่ทางเดียวคือทำอย่างไรให้ข้าวไทยห่างไกลจากการเป็นพืชเสพติดทางการเมือง นายปราโมทย์ วานิชานนท์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่าตลาดข้าวคุณภาพสูงในอาเซียนยังมีโอกาสเจาะเข้าไปอีกมาก อยู่ที่กลยุทธ์การเจรจา แต่ไม่อยากให้พุ่งเป้าไปที่ปริมาณว่าประเทศไทยจะส่งออกข้าวได้ 10 ล้านตัน ประมาณ 8 ล้านตันเศษถือว่าเหมาะสม ที่ส่งออกได้ 10 ล้านตัน อีก 2 ล้านตันเป็นสต๊อกข้าวรัฐบาล ที่สำคัญยังมีประเทศในภูมิภาคอาเซียนมาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เลื่อนลดภาษีเหลือ 0% ปี 2558 จะต้องเจรจาให้ลดลงให้ได้อย่าให้เลื่อนออกไปอีก หากเลื่อนออกไปประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนก็เกิดขึ้นไม่ได้

  นางสาวกอบสุข เอี่ยมสุรีย์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า หากเปิดเออีซีหรือประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน จะเกิดการไหลอย่างเสรีของสินค้าและบริการรวมถึงข้าวด้วย รวมถึงการลงทุนด้วย ซึ่งการลงทุนน่ากลัวกว่า เพราะเปิดเสรีข้าวเรามีมาตรการเพื่อป้องกันไม่ให้ข้าวต่างชาติเข้า แต่ความจริงเข้ามาอยู่แล้ว การลงทุนน่ากลัวเพราะต้องเปิดให้ประเทศที่มีทุนหนามาลงทุนเกษตรบ้านเราซึ่งทุกวันนี้ก็มีนอมินีเข้ามาอยู่แล้ว เราห้ามเขามาลงทุนแล้วประเทศอื่นเขาจะให้เอาไปลงทุนหรือไม่ ซึ่งเออีซียังมีความน่าสงสัยอยู่ในแง่ความจริงใจ ปฏิบัติได้จริงหรือ? แต่สำหรับราคาข้าวไม่คิดว่าเวียดนามจะลดราคาลงต่ำกว่าไทย เพราะถ้าเขาต่ำใกล้ไทย ข้าวไทยจะมีขีดแข่งขันที่ดีขึ้น เนื่องจากคุณภาพเราดีกว่า

  นายวิเชียร พวงลำเจียก อุปนายกสมาคมชาวนาไทย กล่าวว่าวันนี้ต้นทุนผลิตข้าวสูงขึ้น แต่ผลผลิตลดลง เพราะประสบปัญหาเพลี้ยระบาด และเป็นปัญหาใหญ่ของชาวนา ที่อยากให้รัฐบาลช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนเลย

  กระนั้นก็ดีผู้ร่วมสัมมนาเวทีสาธารณะอภิปรายในทิศทางที่สอดคล้องกันว่าไม่ว่าจะมีมาตรการใดๆ ที่จะรับมือการแข่งขันการค้าข้าวในตลาดอาเซียน แต่สิ่งที่จะต้องให้ความสำคัญและมองข้ามไม่ได้ก็คือการลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มผลิตต่อไร่ให้สูงขึ้น เพราะจะเป็นหนทางที่จะแข่งขันได้อย่างยั่งยืน