ภาษาที่ใช้ในชีวิตประจำวันเป็นภาษาระดับใด

ระดับของภาษา

ภาษาที่ใช้ในชีวิตประจำวันเป็นภาษาระดับใด

การสื่อสารด้วยการพูดนั้น  ต้องคำนึงถึงระดับของภาษา  เนื่องจากสังคมไทยมีการเคารพและยกย่องกันตามอาวุโส และตำแหน่งหน้าที่  ภาษาที่เราใช้สนทนากับเพื่อนสนิท อาจนำไปสนทนากับครูอาจารย์ไม่ได้  เนื่องจากคำอาจไม่สุภาพเหมาะสม  หรือภาษาที่เราใช้สนทนากับคนในครอบครัวก็อาจไม่เหมาะสมที่จะสนทนากับคนแปลกหน้า  เป็นต้น  นอกจากนี้การสื่อสารกับบุคคลเดียวกันแต่ต่างโอกาสหรือต่างสถานที่กัน ก็ต้องเปลี่ยนระดับภาษาให้เหมาะสม ภาษาบางระดับคนบางคนอาจจะไม่มีโอกาสใช้เลย เช่น ภาษาระดับพิธีการ   บางระดับต้องใช้กันอยู่เสมอในชีวิตประจำวันการเรียนรู้เรื่องระดับภาษา จึงเป็นเรื่องจำเป็น ถึงแม้บางระดับเราไม่ได้ใช้แต่ อย่างน้อยก็ทำให้เรารับรู้ว่าภาษามีระดับ เมื่อถึงคราวที่จะต้องใช้ก็จะใช้ได้อย่างถูกต้อง ไม่ต้องถูกใครมาตำหนิว่าพูดจาไม่เหมาะสม
ดังนั้นการใช้ภาษาจึงต้องเลือกให้เหมาะสมกับบุคคลและโอกาสเป็นสำคัญโดยคำนึงถึงมารยาท และ ความสุภาพเหมาะสม  

 ภาษาแบ่งออกเป็น ๕ ระดับ  ดังนี้

             1) ภาษาระดับพิธีการ

             2) ภาษาระดับทางการ

             3) ภาษาระดับกึ่งทางการ

             4) ภาษาระดับสนทนาทั่วไป

             5) ภาาระดับกันเอง

             การแบ่งระดับภาษาดังกล่าวนี้ โอกาสและบุคคลเป็นสิ่งที่ต้องพิจารณามากกว่าเรื่องอื่นๆ

                                       1) ภาษาระดับพิธีการ

              ภาษาระดับพิธีการเป็นภาษาที่ใช้ในงานระดับสูงที่จัดขึ้นเป็นพิธีการ เช่น การกล่าวสดุดี

กล่าวรายงาน กล่าวปราศรัยกล่าวเปิดพิธี ผู้กล่าวมักเป็นบุคคลสำคัญ บุคคลระดับสูงในสังคมวิชาชีพหรือวิชาการผู้รับสารเป็นแต่เพียงผู้ฟังหรือผู้รับรู้ไม่ต้องโต้ตอบเป็นรายบุคคล หากจะมีก็จะเป็นการตอบอย่างเป็นพิธีการในฐานะผู้แทนกลุ่ม การใช้ภาษาระดับนี้ต้องมีการเตรียมล่วงหน้าเป็นลายลักษณ์อักษรซึ่งเรียกว่า วาทนิพนธ์ก็ได้ ในการแต่งสารนี้มีคำต้องเลือกเฟ้น ถ้อยคำให้รู้สึกถึงความสูงส่ง ยิ่งใหญ่จริงจังตามสถานภาพของงานนั้น

                          2) ภาษาระดับทางการ

              ภาษาระดับทางการ ใช้ในงานที่ต้องรักษามารยาท ในการใช้ภาษาค่อนข้างมาก

อาจจะเป็นการรายงาน การอภิปรายในที่ประชุม การปาฐกถา ซึ่งต้องพูดเป็นการเป็นงาน  อาจจะมีการใช้ศัพท์เฉพาะเรื่องหรือศัพท์ทางวิชาการบ้างตามลักษณะของเนื้อหาที่ต้องพูดหรือเขียน

                          3) ภาษาระดับกึ่งทางการ 

              ภาษาระดับกึ่งทางการเป็นภาษาที่ใช้ในระดับเดียวกับภาษาทางการที่ลดความเป็นงานเป็นการลงผู้รับและผู้ส่งสารมีความใกล้ชิดกันมากขึ้น มีโอกาสโต้ตอบกันมากขึ้น ภาษาระดับนี้มักใช้ในการประชุมกลุ่ม การบรรยายในชั้นเรียน การให้ข่าว การเขียนข่าว หรือบทความในหนังสือพิมพ์ ซึ่งนิยมใช้ถ้อยคำ สำนวน ที่แสดงความคุ้นเคยกับผู้อ่านหรือผู้ฟังด้วย

                          4) ภาษาระดับสนทนาทั่วไป      

          
              ภาษาระดับสนทนาทั่วไป เป็นภาษาระดับที่ใช้ในการพูดคุยกันธรรมดา แต่ยังไม่เป็นการส่วนตัวเต็มที่ยังต้องระมัดระวังเรื่องการให้เกียรติคู่สนนา เพราะอาจจะไม่เป็นการพูดเฉพาะกลุ่มพวกของตนเท่านั้นอาจมีบุคคลอื่นอยู่ด้วย หรืออาจมีบุคคลต่างระดับร่วมสนทนากัน  จึงต้องคำนึงถึงความสุภาพมิให้เป็นกันเองจนกลายเป็นการล่วงเกินคู่สนทนา

              5) ภาษาระดับกันเอง หรือระดับภาษาปาก

  
              ภาษาระดับกันเองเป็นภาษาที่ใช้สื่อสารกับผู้คุ้นเคยสนิทเป็นกันเอง ใช้พูดจากันในวงจำกัดอาจจะเป็นกลุ่มเพื่อนฝูง ครอบครัว    สถานที่ใช้ก็มักเป็นส่วนตัว เป็นสัดส่วนเฉพาะกลุ่ม เฉพาะพวก ได้แก่ ภาษาถิ่น ภาษาสแลง ภาษาที่ใช้ติดต่อในตลาดในโรงงาน ร้านค้า ภาษาที่ใช้ในการละเล่น หรือการแสดงบางอย่างที่มุ่งให้ตลกขบขัน เช่น จำอวด ฯลฯ

              การใช้ภาษาทุกระดับไม่ว่าจะเป็นภาษาระดับสนทนาหรือระดับกันเอง ผู้ใช้ควรคำนึงถึงมารยาทซึ่งเป็นทั้งการให้เกียรติผู้อื่นและการรักษาเกียรติของตนเอง เพราะเป็นเครื่องแสดงว่า บุคคลนั้นเป็นผู้ได้รับการอบรมสั่งสอนมาดี เป็นผู้มีสมบัติผู้ดี และมีจิตใจดี

ภาษาที่ใช้ในชีวิตประจำวันเป็นภาษาระดับใด

 (ขอบคุณข้อมูลจากเว็บครูภาทิพ)