ธรรมนูญสูงสุดในพระพุทธศาสนาคืออะไร

ปุจฉา : ทำไมพระสงฆ์ ผู้ได้ชื่อว่าเป็นผู้สละขาดจากโลก แต่ยังออกมายุ่งเกี่ยวกับการบ้านการเมือง เรื่องของชาวโลก ดังข่าวที่เป็นอยู่...

วิสัชนา : เจริญพรสาธุชนผู้มีศรัทธาในพระพุทธศาสนา ก่อนจะตอบคำถาม ขอนำสาธุชนเข้าสู่การเรียนรู้พระพุทธศาสนาในเบื้องต้น ด้วยความหมายของ พุทธะ คือ รู้ ตื่น เบิกบาน และปลุกให้ผู้อื่นตื่นตามได้...

...พุทโธ – ผู้รู้ นั้นคือ รู้อริยสัจ ซึ่งเป็นธรรมอันตรัสรู้โดยปัญญาอันชอบของพระพุทธเจ้า

...พุทโธ – ผู้ตื่น นั้นคือ ตื่นจากหลับใหลเพราะกิเลสครอบงำ

...พุทโธ – ผู้เบิกบาน นั้นคือ จิตที่เบิกบานเพราะสิ้นแล้วซึ่งความเศร้าหมอง แจ่มใสเหมือนพระจันทร์ในวันเพ็ญที่ปราศจากเมฆหมอก

...พุทโธ – ปลุกให้ตื่น หรือ โพเธตา นั้นคือ ปลุกให้สัตว์โลกตื่นจากหลับด้วยอำนาจของกิเลส

มีคำกล่าวว่า... พระพุทธเจ้า ผู้ตรัสรู้ด้วยปัญญาอันชอบในอริยสัจ ซึ่งเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานแล้วนั้น เป็นเหมือนผู้บอกทางอันประเสริฐ ...เหมือนนายเรือผู้ฉลาด ..เหมือนดอกปทุมที่แย้มบานแล้ว !

ส่วนพระธรรมคำสั่งสอนของพระองค์นั้น จึงเปรียบเหมือน ...เส้นทางที่ราบเรียบและภูมิภาคที่ปลอดภัย ...เหมือนเรือข้ามฟาก ...เหมือนรสหวานที่เกิดจากดอกปทุมนั้น

ในส่วนพระสงฆ์ จึงเปรียบเหมือน ...ผู้เดินทางไปตามหนทางนั้น ...เหมือนคนที่ต้องข้ามฝั่งด้วยเรือ ...เหมือนหมู่ตัวผึ้งซึ่งกินน้ำผึ้งนั้น

ดังนั้น พระสงฆ์...หมู่สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น จึงต้องเป็นผู้ถือปฏิบัติดำเนินตามพระธรรมวินัย อันพระผู้มีพระภาคเจ้าแสดงไว้ดีแล้ว จะไม่สามารถออกนอกแนวได้เลย

พระธรรมวินัย จึงเปรียบดุจกฎหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา ซึ่งหมู่สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าจะต้องปฏิบัติตนอยู่ภายใต้คำสั่ง (พระวินัย)... และคำสอน (พระธรรม) นี้ ...พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงมอบพระพุทธศาสนาไว้ให้อยู่ในการกำกับดูแลของพระธรรมวินัย ดุจเป็นศาสดาแทนพระองค์ ก่อนเสด็จดับขันธปรินิพพาน

ต่อมา เมื่อโลกเริ่มเข้ามาผสมผสาน ด้วยอ้างความศรัทธาเลื่อมใส จึงต้องมีระบอบการปกครองคณะสงฆ์ขึ้น โดยอ้างหลักกฎศาสนา (พระวินัย) กฎหมาย กฎสังคม (จารีตประเพณี) แต่ทั้งนี้จะต้องไม่ขัดแย้งกับพระธรรมวินัย อันอยู่ภายใต้พระโอวาทปาติโมกข์ ที่เป็นดุจธรรมนูญแม่บทในพระพุทธศาสนา

พระพุทธศาสนา จึงให้ความเสมอภาค ...ความมีสิทธิเสรีภาพภายใต้พระธรรมวินัย โดยยึดหลักเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์ตัดสินปัญหา แต่จะต้องเป็นเสียงข้างมากที่อิงพระธรรมวินัย ที่ถือหลักการเป็นสำคัญ มีธรรมเป็นใหญ่ โดยมีความถูกต้องชอบธรรมเป็นศูนย์รวมจิตใจ

กระบวนการพัฒนาคน สังคม บ้านเมือง โดยอำนาจธรรมจึงเกิดขึ้นด้วยหลักคำสั่งสอนในพระพุทธศาสนา ดังเช่น หากจะพิจารณาการกระทำใดๆ ว่ามีโทษหรือไม่... ให้ยึดธรรมเป็นใหญ่ ดังบางเรื่องผิดกฎหมาย ...บางเรื่องไม่ผิดกฎหมาย แต่ผิดกฎสังคม (จารีตประเพณี) ...บางเรื่องไม่ผิดกฎหมาย กฎสังคม (จารีตประเพณี) แต่ผิดศีล และบางเรื่อง ไม่ผิดกฎหมาย ไม่ผิดกฎสังคม (จารีตประเพณี) ไม่ผิดศีล แต่ผิดธรรม ...ทั้งนี้ ในที่สุดให้คำนึงถึงธรรมเป็นหลักสำคัญที่สุด

...และหลักธรรมในศาสนานี้ คือ การแสดงความจริงของโทษทุกข์ภัย อันเกิดจากการเข้าไปเกี่ยวข้องกับโลก ดังที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงความเป็นกลางๆ ตามธรรมชาติ คือ ตามสภาวะที่สิ่งทั้งหลาย มันเป็นของมันเองตามเหตุปัจจัย อันเป็นไปเพื่อเกิดทุกข์-ดับทุกข์ เรียกหลักธรรมดังกล่าวว่า มัชเฌนธรรม โดยมีหลักปฏิบัติที่เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา (ข้อปฏิบัติในท่ามกลาง) เพื่อความไม่เกี่ยวข้องกับโลก เพื่อการทำโลก (ความทุกข์) ให้สิ้นไป

ดังนั้น พระภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ จึงไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับโลกดุจดังชาวบ้านทั้งหลาย หากแต่สามารถสงเคราะห์โลกด้วยธรรมได้ และธรรมนั้นจะต้องเป็นไปเพื่อการออกจากโลก ดังที่กล่าวความหมายของ  ที่แสดงรูปลักษณ์ของพระธรรมวินัยในพระพุทธศาสนา ซึ่งสาธุชนพึงควรเข้าใจ...

โอวาทปาติโมกข์ ธรรมนูญของพุทธศาสนา

เผยแพร่: 26 ก.พ. 2564 17:06   ปรับปรุง: 26 ก.พ. 2564 17:06   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"ฝั่งขวาเจ้าพระยา"
"โชกุน"

วันมาฆบูชาปีนี้ ตรงกับวันศุกร์ที่ 26 กุมภาพันธ์

วันมาฆบูชา หมายถึง การบูชาในวันเพ็ญเดือนมาฆะ คือเดือน 3 หรือเดือน 4 ในปีที่มีอธิกมาส เนื่องในโอกาสคล้ายวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์

นับตั้งแต่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ ตั้งแต่วันเพ็ญเดือน 6 ได้เริ่มออกสั่งสอนแก่ผู้แสวงหาทางหลุดพ้นจากทุกข์ สอนครั้งแรกคือ ไปโปรดปัญจวัคคีย์ เมื่อวันอาสาฬหบูชา คือวันเพ็ญเดือน 8 ในปีเดียวกับที่ตรัสรู้ จนถึงวันเพ็ญเดือน 3 ของปีถัดมา มีพระภิกษุที่เป็นพระสาวกขณะนั้นกว่า 1,300 รูป ซึ่งพระสาวกเหล่านี้ พระพุทธองค์ได้ทรงส่งออกไปเผยแพร่พระพุทธศาสนาที่ทรงค้นพบไปยังเมืองต่างๆ ส่วนพระองค์ประทับอยู่ ณ วัดเวฬุวัน หรือป่าไผ่ กรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ ที่พระเจ้าพิมพิสารถวาย และถือเป็นวัดแห่งแรกในพุทธศาสนา

ในวันเพ็ญเดือน 3 ซึ่งห่างจากวันที่ตรัสรู้ 9 เดือน พระสาวกเหล่านี้ เดินทางมาเฝ้าพระพุทธเจ้า ณ วัดเวฬุวันโดยมิได้นัดหมายถึง 1,250 รูป จึงได้กำหนดเรียกวันนี้ว่า วันจาตุรงคสันนิบาต คือวันประชุมใหญ่ครั้งแรกและเป็นครั้งพิเศษ ด้วยเป็นวันที่ประกอบด้วยองค์ 4 คือ

1. พระภิกษุสงฆ์จำนวน 1,250 รูป มาประชุมพร้อมกันโดยมิได้นัดหมาย

2. พระสาวกเหล่านี้ ล้วนเป็นเอหิภิกขุอุปสัมปทา คือพระพุทธเจ้าทรงประทานอุปสมบทด้วยพระองค์เอง

3. พระภิกษุสงฆ์ทั้งหมดเป็นพระอรหันต์ผู้ได้อภิญญา 6 ได้แก่ แสดงฤทธิ์ได้ ระลึกชาติได้ ตาทิพย์ หูทิพย์ กำหนดรู้ใจคนอื่นได้ และบรรลุ อาสวักขยญาณ คือญาณหยั่งรู้ธรรมที่เป็นที่สิ้นแห่งอาสวะหรือกิเลสทั้งหลาย

4. วันนั้นเป็นวันเพ็ญ เดือนมาฆะ พระจันทร์เสวยมาฆฤกษ์ ซึ่งเป็นเวลาที่ดีที่สุดคือ เป็นเวลากลางคืน อากาศไม่ร้อน ท้องฟ้าแจ่มใส...

พระพุทธเจ้าจึงเห็นเป็นโอกาสเหมาะที่จะให้การมาครั้งนี้ของพุทธสาวกเป็นการประชุมพิเศษในการแสดงโอวาทปาติโมกข์เพื่อประกาศหลักการ อุดมการณ์ และวิธีการปฏิบัติในการเผยแพร่พุทธศาสนาให้นำไปใช้ได้ในทุกสังคม ซึ่งเปรียบเสมือนธรรมนูญแห่งพุทธศาสนา ที่ชาวพุทธทั้งหลายจะได้ยึดถือเป็นแม่บทสำหรับประพฤติปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์ และยังเป็นแม่บทในการเผยแพร่พระพุทธศาสนามาจนทุกวันนี้

โอวาทปาติโมกข์ ที่ทรงแสดง ถือเป็นหลักธรรมคำสอนที่สำคัญ หรือเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนาเลยทีเดียว หลักธรรมดังกล่าวแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ หลักธรรม 3 อุดมการณ์ 4 และ วิธีการ 6

หลักการ 3 ได้แก่
1. การไม่ทำบาปทั้งปวง ไม่ว่าจะด้วยกาย วาจา และใจ
2. การทำกุศลให้ถึงพร้อม ได้แก่ การทำความดีทุกอย่าง
3. การทำจิตใจให้ผ่องใส ด้วยการละบาปทั้งปวง ถือศีลและบำเพ็ญกุศลให้ถึงพร้อมด้วยการปฏิบัติสมถะและวิปัสสนา จนถึงขั้นบรรลุอรหันตผล อันเป็นความผ่องใสที่แท้จริง

อุดมการณ์ 4 ได้แก่
1. ความอดทน คือการอดกลั้น ไม่ทำบาปทั้งกาย วาจา ใจ
2. ความไม่เบียดเบียน คือ การงดเว้นจากการทำร้าย รบกวนหรือเบียดเบียนผู้อื่น
3. ความสงบ คือ ปฏิบัติตนให้สงบทั้งทางกาย วาจา และใจ
4. นิพพาน คือ การดับทุกข์ที่เป็นเป้าหมายสูงสุดในพุทธศาสนา ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อดำเนินชีวิตตามมรรคมีองค์แปด

วิธีการ 6 ประกอบด้วย
1. ไม่ว่าร้าย คือ ไม่กล่าวให้ร้ายหรือโจมตีใคร
2. ไม่ทำร้าย คือ ไม่เบียดเบียนผู้อื่น
3. สำรวมในปาติโมกข์ คือ ความเคารพระเบียบวินัย กติกา กฎหมาย ขนบธรรมเนียมประเพณีที่ดีงามของสังคม

4. รู้จักประมาณ คือ รู้จักพอดี พอกินพออยู่
5. อยู่ในสถานที่ที่สงัด คือ อยู่ในสถานที่ที่สงบและมีสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม
6. ฝึกหัดจิตใจให้สงบ คือการฝึกจิต หมั่นทำสมาธิภาวนา
หลักการ 3 ถือได้ว่าเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา เป็นการสอนหลักในการดำเนินชีวิตที่ถูกต้องแก่พุทธศาสนิกชน

ส่วนอุดมการณ์ 4 และวิธีการ 6 นั้น อาจจะเรียกได้ว่าเป็นหลักครูหรือหลักของผู้สอนคือ วิธีการที่จะนำไปปรับปรุงตัวให้เป็นกัลยาณมิตรทั้งต่อตนเองและผู้อื่น ซึ่งผู้ใดปฏิบัติได้นอกจากจะเป็นแบบอย่างที่ดีแล้ว ยังจะช่วยเผยแพร่พระศาสนาให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น