โครงงานหมายถึงอะไร มีกี่ประเภท

ประเภทและความสำคัญของโครงงาน

     โครงงานหมายถึง กิจกรรมที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ศึกษา ค้นคว้าและลงมือปฏิบัติด้วยตนเองตามความสามารถ ความถนัด และความสนใจ โดยอาศัยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ หรือกระบวนการอื่นใดไปใช้ในการศึกษาหาคำตอบในเรื่องนั้นๆ โดยมีครูผู้สอนคอยกระตุ้นแนะนำและให้คำปรึกษาแก่ผู้เรียนอย่างใกล้ชิด ตั้งแต่การเลือกหัวข้อที่จะศึกษา ค้นคว้า ดำเนินการ วางแผน กำหนดขั้นตอนการดำเนินงาน โดยทั่วๆ ไป การทำโครงงานสามารถทำได้ทุกระดับการศึกษา ซึ่งอาจทำเป็นรายบุคคลหรือเป็นกลุ่มก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับลักษณะของโครงงาน อาจเป็นโครงงานเล็กๆ ที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อนหรือเป็นโครงงานใหญ่ที่มีความยากและซับซ้อนขึ้นก็ได้

1. ประเภทของโครงงาน
โครงงานสามารถแบ่งตามลักษณะของกิจกรรมได้ ๔ ประเภท ดังนี้

1.1 โครงงานประเภทสำรวจ
     โครงงานประเภทสำรวจ เป็นโครงงานประเภทเก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อหาสาเหตุของปัญหาหรือสำรวจความคิดเห็น ข้อมูลที่รวบรวมได้บางอย่างอาจเป็นปัญหาที่นำไปสู่การทดลองหรือค้นพบสาเหตุของปัญหาที่ต้องหาวิธีแก้ไขปรับปรุงร่วมกัน เช่น โครงงานการสำรวจคำที่มักเขียนผิด โครงงานสำรวจการใช้คำคะนองในหนังสือพิมพ์ เป็นต้น

ที่มาภาพ : http://enn.co.th/content.php?cid=4972

1.2 โครงงานประเภทการทดลอง
     โครงงานประเภทการทดลอง เป็นโครงงานที่ต้องออกแบบทดลอง เพื่อการศึกษาผลการทดลองว่าเป็นไปตามที่ตั้งสมมติฐานไว้หรือไม่ โครงงานประเภทนี้ต้องสรุปความรู้หรือผลการทดลองเป็นหลักการหรือแนวทางการปฏิบัติไว้ เช่น โครงงานการทดลองยากันยุงจากพืชสมุนไพร โครงงานการทดลองปลูกพืชสวนครัวโดยใช้ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ เป็นต้น

โครงงานหมายถึงอะไร มีกี่ประเภท
ที่มาภาพ : http://beebee58.blogspot.com/2014/09/blog-post_22.html

1.3 โครงงานประเภทสิ่งประดิษฐ์
     โครงงานประเภทสิ่งประดิษฐ์ เป็นโครงงานที่ประยุกต์หลักการทางวิทยาศาสตร์เข้าสู่กระบวนการปฏิบัติ โดยอาศัยเครื่องมือ วัสดุ อุปกรณ์ เพื่อประดิษฐ์ชิ้นงานใหม่ อาจเป็นของใช้ เครื่องประดับจากวัสดุเหลือใช้ หรือนำวัสดุท้องถิ่นที่มีมากมายมาใช้ให้เกิดประโยชน์ เช่น โครงงานการประดิษฐ์เครื่องจักสานจากผักตบชวา โครงงานการประดิษฐ์เครื่องช่วยสอนวิชาภาษาอังกฤษ เป็นต้น

ที่มาภาพ : https://de.wikipedia.org/wiki/Datei:IRobot_PackBot_510_E.T..JPG

1.4 โครงงานประเภททฤษฎี
     โครงงานประเภททฤษฎี เป็นโครงงานที่มีลักษณะเป็นการหาความรู้ใหม่ โดยการรวบรวมข้อมูลและนำมาวิเคราะห์จากสถิติแล้วอภิปราย หรือเป็นโครงงานที่ศึกษาค้นคว้าข้อมูลที่เกิดจากข้อสงสัย อาจเป็นการนำบทเรียนมาขยายเพื่อศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมให้ได้ความรู้ในแง่มุมที่กว้างและลึกกว่าเดิม เช่น โครงงานการศึกษาคำซ้อนในวรรณคดีร้อยแก้ว โครงงานการศึกษาข้อคิดจากเรื่องพระมโหสถชาดก เป็นต้น

โครงงานหมายถึงอะไร มีกี่ประเภท
ที่มาภาพ :http://www.srp.ac.th/srp/index.php/2013-07-26-04-18-40/ict/1925-srp20256001

2. ขั้นตอนการทำโครงงาน การทำโครงงานมีขั้นตอนการปฏิบัติ ดังนี้

2.1. การคิดและการเลือกหัวเรื่อง
      ผู้เรียนจะต้องคิด และเลือกหัวเรื่องของโครงงานด้วยตนเองว่าอยากจะศึกษาอะไร ทำไมจึงอยากศึกษา หัวเรื่องของโครงงานมักจะได้มาจากปัญหา คำถามหรือความอยากรู้อยากเห็นเกี่ยวกับเรื่องต่างๆ ของผู้เรียนเอง หัวเรื่องของโครงงานควรเฉพาะเจาะจงและชัดเจน เมื่อใครได้อ่านชื่อเรื่องแล้วควรเข้าใจและรู้เรื่องว่าโครงงานนี้ทำจากอะไร การกำหนดหัวเรื่องของโครงงานนั้นมีแหล่งที่จะช่วยกระตุ้นให้เกิดความคิดและความสนใจหลายแหล่งด้วยกัน เช่น จากการอ่านหนังสือ เอกสาร บทความ การเยี่ยมชมสถานที่ต่างๆ การฟังบรรยายทางวิชาการ การเข้าชมนิทรรศการหรืองานประกวดโครงงานทางวิทยาศาสตร์ การสนทนากับบุคคลต่างๆ หรือจาการสังเกตปรากฏการณ์ต่างๆ รอบตัว เป็นต้น นอกจากนี้ ควรคำนึงถึงประเด็นต่อไปนี้
     - ความเหมาะสมของระดับความรู้ ความสามารถของผู้เรียน
     - วัสดุ อุปกรณ์ ที่ใช้
     - งบประมาณ
     - ระยะเวลา
     - ความปลอดภัย
     - แหล่งความรู้

2.2. การวางแผน
      การวางแผนการทำโครงงาน จะรวมถึงการเขียนเค้าโครงของโครงงาน ซึ่งต้องมีการวางแผนไว้ล่วงหน้า เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างรัดกุมและรอบคอบ ไม่สับสน แล้วนำเสนอต่อผู้สอนหรือครูที่ปรึกษาเพื่อขอความเห็นชอบก่อนดำเนินการขั้นต่อไป การเขียนเค้าโครงของโครงงาน โดยทั่วไป เขียนเพื่อแสดงแนวคิด แผนงาน และขั้นตอนการทำโครงงาน ซึ่งควรประกอบด้วยหัวข้อต่อไปนี้
     1) ชื่อโครงงาน ควรเป็นข้อความที่กะทัดรัด ชัดเจน สื่อความหมายได้ตรง
     2) ชื่อผู้ทำโครงงาน
     3) ชื่อที่ปรึกษาโครงงาน
     4) หลักการและเหตุผลของโครงงาน เป็นการอธิบายว่าเหตุใดจึงเลือกทำโครงงานเรื่องนี้ มีความสำคัญอย่างไร มีหลักการหรือทฤษฎีอะไรที่เกี่ยวข้อง เรื่องที่ทำเป็นเรื่องใหม่หรือมีผู้อื่นได้ศึกษาค้นคว้าเรื่องนี้ไว้บ้างแล้ว ถ้ามีได้ผลอย่างไร เรื่องที่ทำได้ขยายเพิ่มเติม ปรับปรุงจากเรื่องที่ผู้อื่นทำไว้อย่างไร หรือเป็นการทำซ้ำเพื่อตรวจสอบผล
     5) จุดมุ่งหมายหรือวัตถุประสงค์ควรมีความเฉพาะเจาะจง และสามารถวัดได้ เป็นการบอกขอบเขตของงานที่จะทำได้ชัดเจนขึ้น
     6) สมมติฐานของการศึกษาค้นคว้า (ถ้ามี) สมมติฐานเป็นคำตอบหรือคำอธิบายที่คาดไว้ล่วงหน้า ซึ่งอาจจะถูกหรือไม่ก็ได้ การเขียนสมมติฐานควรมีเหตุมีผลมีทฤษฎีหรือหลักการรองรับ และที่สำคัญ คือ เป็นข้อความที่มองเห็นแนวทางในการดำเนินการทดสอบได้ นอกจากนี้ควรมีความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรอิสระและตัวแปรตามด้วย
     7) วิธีดำเนินงานและขั้นตอนการดำเนินงาน จะต้องอธิบายว่า จะออกแบบการทดลองอะไรอย่างไร จะเก็บข้อมูลอะไรบ้างรวมทั้งระบุวัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็นต้องใช้ มีอะไรบ้าง
     8) แผนปฏิบัติงาน อธิบายเกี่ยวกับกำหนดเวลาตั้งแต่เริ่มต้นจนเสร็จสิ้นการดำเนินงานในแต่ละขั้นตอน
     9) ผลที่คาดว่าจะได้รับ
     10) เอกสารอ้างอิง

2.3 การดำเนินงาน
     เมื่อที่ปรึกษาโครงงานให้ความเห็นชอบเค้าโครงของโครงงานแล้ว ต่อไปก็เป็นขั้นลงมือปฏิบัติงานตามขั้นตอนที่ระบุไว้ ผู้เรียนต้องพยายามทำตามแผนงานที่วางไว้ เตรียมวัสดุอุปกรณ์และสถานที่ให้พร้อมปฏิบัติงานด้วยความละเอียดรอบคอบ คำนึงถึงความประหยัดและปลอดภัยในการทำงาน ตลอดจนการบันทึกข้อมูลต่างๆ ว่าได้ทำอะไรไปบ้าง ได้ผลอย่างไร มีปัญหาและข้อคิดเห็นอย่างไร พยายามบันทึกให้เป็นระเบียบและครบถ้วน

2.4 การเขียนรายงาน
     การเขียนรายงานเกี่ยวกับโครงงาน เป็นวิธีสื่อความหมายวิธีหนึ่งที่จะให้ผู้อื่นได้เข้าใจถึงแนวคิด วิธีการดำเนินงาน ผลที่ได้ ตลอดจนข้อสรุปและข้อเสนอแนะต่างๆ ที่เกี่ยวกับโครงงานนั้น การเขียนโครงงานควรใช้ภาษาที่อ่านแล้วเข้าใจง่าย ชัดเจนและครอบคลุมประเด็นสำคัญๆ ทั้งหมดของโครงงาน

2.5 การนำเสนอผลงาน
     การนำเสนอผลงาน เป็นขั้นตอนสุดท้ายของการทำโครงงานและเข้าใจถึงผลงานนั้น การนำเสนอผลงานอาจทำได้หลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมต่อประเภทของโครงงาน เนื้อหา เวลา ระดับของผู้เรียน เช่น การแสดงบทบาทสมมติ การเล่าเรื่อง การเขียนรายงาน สถานการณ์จำลอง การสาธิต การจัดนิทรรศการ ซึ่งอาจมีทั้งการจัดแสดงและการอธิบายด้วยคำพูด หรือการรายงานปากเปล่า การบรรยาย สิ่งสำคัญคือ พยายามทำให้การแสดงผลงานนั้นดึงดูดความสนใจของผู้ชม มีความชัดเจน เข้าใจง่าย และมีความถูกต้องของเนื้อหา

โครงงานหมายถึงอะไร มีกี่ประเภท

ที่มาของภาพ :http://portal.tahupedia.com/content/show/3215/Cara-Membuat-Poin-Penting-Dalam-Presentasi-Tanpa-Bisa-Dilihat-Orang-Lain

โครงงาน 4 ประเภทมีอะไรบ้าง

โครงงานที่เป็นการสำรวจ รวบรวมข้อมูล.
โครงงานที่เป็นการค้นคว้า ทดลอง.
โครงงานที่เป็นการศึกษาทฤษฎี หลักการ หรือแนวคิดใหม่ๆ.
โครงงานที่เป็นการประดิษฐ์ คิดค้น.

ความหมายของโครงงานคืออะไร

โครงงานคืออะไร โครงงาน เป็นการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือหลายๆสิ่งที่อยากรู้คำตอบให้ลึกซึ้ง หรือเรียนรู้ในเรื่องนั้นๆให้มากขึ้น โดยใช้กระบวนการ วิธีการที่ศึกษาอย่างมีระบบ เป็นขั้นตอน มีการวางแผนในการศึกษาอย่างละเอียด ปฏิบัติงานตามแผนที่วางไว้ จนได้ข้อสรุปหรือผลสรุปที่เป็นคำตอบในเรื่องนั้นๆ

โครงงานประเภทสํารวจ มีอะไรบ้าง

โครงงานประเภทสำรวจ เป็นโครงงานประเภทเก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อหาสาเหตุของปัญหาหรือสำรวจความคิดเห็น ข้อมูลที่รวบรวมได้บางอย่างอาจเป็นปัญหาที่นำไปสู่การทดลองหรือค้นพบสาเหตุของปัญหาที่ต้องหาวิธีแก้ไขปรับปรุงร่วมกัน เช่น โครงงานการสำรวจคำที่มักเขียนผิด โครงงานสำรวจการใช้คำคะนองในหนังสือพิมพ์ เป็นต้น

โครงงานประกอบไปด้วยอะไรบ้าง

1. ส่วนประกอบของการเขียนเค้าโครงโครงงาน ๑. ชื่อโครงงาน ๒. แนวคิด / ที่มา/ ความสำคัญ ๓. วัตถุประสงค์ของการศึกษาค้นคว้า ๔. สมมุติฐานของการศึกษาค้นคว้า(ถ้ามี) ๕. ขั้นตอนการดำเนินงาน ๖. ผลที่คาดว่าจะได้รับ ๗. รายชื่อผู้รับผิดชอบโครงงาน ๘. อาจารย์ที่ปรึกษา ๙. ความคิดเห็น / ข้อเสนอแนะของผู้อนุมัติโครงงาน