พื้นฐานทางอารมณ์จิตใจมีอะไรบ้าง

พัฒนาการ “อารมณ์” และ “สังคม” ของวัยอนุบาล อยากให้แม่รู้ว่าสำคัญ

วัยอนุบาล เป็นวัยที่มีความเปลี่ยนแปลงสูงมาก นอกจากร่างกายที่คุณแม่เห็นลูกน้อยเติบโตขึ้นทุกวันแล้ว ทางด้านจิตใจ ซึ่งก็คือพัฒนาการทางด้านอารมณ์ และสังคม เป็นอีกปัจจัยที่สำคัญไม่แพ้กัน เราจึงอยากแนะนำให้คุณมารู้จักกับพัฒนาการทั้งสองด้านนี้ ที่มีความสำคัญไมแพ้กันเลยค่ะ

พัฒนาการทางอารมณ์และสังคมของเด็กๆ ในวัยอนุบาลนั้นแทบจะเกิดขึ้นพร้อมๆ กัน และมีความเกี่ยวข้องกันมาก เนื่องจากเด็กๆ วัยนี้จะก้าวออกมาเผชิญกับ “สังคม” ใหม่ นอกจาก “คอบครัว” นั่นคือโรงเรียน เด็กจะได้เรียนรู้เรื่องของอารมณ์จากเพื่อนในวัยเดียวกัน และเรียนรู้การอยู่ในสังคมที่ซับซ้อนขึ้นจากโรงเรียน พัฒนาการทั้งสองด้านของลูกในวัยนี้ จึงเป็นพื้นฐานสำคัญ ที่จะหล่อหลอมให้ลูกเป็นผู้ใหญ่ที่ดีได้ต่อไป

พัฒนาการทางอารมณ์ของวัยอนุบาล

เด็กวัยอนุบาลจะแสดงออกด้านอารมณ์เด่นชัดขึ้น มีความสนใจในเรื่องต่างๆ ค่อนข้างสั้น เวลาดีใจ เสียใจ โกรธ หรือกลัว ก็จะแสดงอารมณ์ออกมาเต็มที่ ได้แก่ กระโดด กอด ตบมือ โวยวาย ร้องไห้เสียงดัง ทุบตี ขว้างปาสิ่งของ ไม่พอใจเมื่อถูกห้าม ฯลฯ เพียงชั่วครู่ก็จะหายไป อารมณ์ที่เกิดขึ้นกับเด็กวัยนี้มีดังนี้

อารมณ์ด้านบวก

  • รักเมื่อเด็กรู้สึกมีความสุข จะแสดงออกด้วยการกอด ยิ้ม หัวเราะ อยากอยู่ใกล้ชิดกับบุคคลหรือสิ่งที่รัก และอาจติดสิ่งของบางอย่าง เช่น ตุ๊กตา หมอน ผ้าห่ม
  • สนุกสนาน เกิดจากความสุข การประสบความสำเร็จในกิจกรรมที่ทำ หรือได้รับสิ่งใหม่ๆ เด็กจะแสดงออกด้วยการตบมือ ยิ้ม หัวเราะ กระโดด กอด ฯลฯ

อารมณ์ด้านลบ

  • โกรธ เมื่อถูกขัดใจ ถูกแย่งของเล่น ถูกห้ามไม่ให้ทำพฤติกรรมบางอย่าง เด็กจะแสดงออกด้วยการทุบตี กัด ข่วน หรือแสดงวาจาโกรธเกรี้ยว
  • กลัวกลัวถูกทอดทิ้ง กลัวคนแปลกหน้า กลัวความมืด กลัวผี ซึ่งมักจะมาจากจินตนาการของเด็กเอง
  • อิจฉา เมื่อมีน้องใหม่ และเด็กไม่เข้าใจ อาจแสดงความโกรธ ก้าวร้าว หรือพฤติกรรมเบี่ยงเบนอื่นๆ เช่น ดูดนิ้ว ปัสสาวะรดที่นอน
  • เศร้า เสียใจ เกิดขึ้นเมื่อเด็กรู้สึกสูญเสียสิ่งที่รักหรือสิ่งที่มีความสำคัญ เช่น ของเล่น จึงแสดงออกด้วยอาการที่เศร้าซึม ไม่ยอมเล่น ไม่รับประทานอาหาร หรือรับประทานได้น้อยลง

 3 ข้อง่ายๆ ให้คุณแม่ส่งเสริมพัฒนาการทางอารมณ์ของลูก

  1. ให้ความรักดูแลใกล้ชิด พ่อแม่มีส่วนช่วยพัฒนาลูกด้านอารมณ์ได้ ด้วยการให้เวลา ดูแลเอาใจใส่ ใกล้ชิด แสดงความรักและความเข้าใจ รับฟังและพูดคุยโต้ตอบกับลูก ทำกิจกรรมต่างๆร่วมกัน
  2. เป็นแบบอย่างที่ดีจำไว้เสมอว่าคุณคือต้นแบบของลูก เพราะไม่เพียงลูกจะซึมซับและเลียนแบบการกระทำของพ่อแม่เท่านั้น แต่ บุคลิกภาพ ท่าทาง นิสัย ทุกอย่างรวมถึง “อารมณ์” ล้วนเกิดขึ้นจากคนที่ใกล้ชิดเด็กๆ มากที่สุดนั่นคือพ่อแม่
  3. สร้างความภาคภูมิใจให้ลูก คุณแม่ลองสังเกตว่าลูกมีความสุขในการทำกิจกรรมใดและสนับสนุนให้ทำกิจกรรมนั้น พร้อมให้รางวัลด้วยคำชม คือการตอบสนองต่อพฤติกรรมที่ดีของลูก จะทำให้ลูกรับรู้ว่า การกระทำนั้นๆ เป็นสิ่งที่ดีและควรทำต่อไป เป็นการส่งเสริมอารมณ์ทางด้านบวกของลูก

พื้นฐานทางอารมณ์จิตใจมีอะไรบ้าง

พัฒนาการทางสังคมของวัยอนุบาล

ในช่วงวัยอนบาล 3-6 ปี เด็กๆ มีพัฒนาการทางสังคมมากขึ้น จากการเรียนรู้ทักษะทางสังคมจากสมาชิกในครอบครัว ก็เปลี่ยนมาเรียนรู้จากเพื่อนๆและครูในโรงเรียนมากขึ้นพัฒนาการทางสังคมของลูกจึงมีการพัฒนามากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เราขอจัดไว้เป็น 2 ช่วง ดังนี้

เด็กวัย 3 -4 ปี  

เด็กจะเริ่มรับประทานอาหารเองได้ มีการเล่นแบบคู่ขนาน คือ เล่นของเล่นชนิดเดียวกัน แต่ต่างตนต่างเล่น ชอบเล่นบทบาทสมมุติ เป็นเจ้าหญิง เจ้าชาย  เปลี่ยนจินตนาการมาเป็นการแสดงออกมากขึ้น เริ่มรู้การรอคอย  แต่งตัวได้ด้วยตนเอง ไปห้องน้ำได้เอง จากนั้นเมื่อปรับตัวกับโรงเรียนได้ เด็กจะเริ่มเล่นร่วมกับคนอื่นได้ เรียนรู้ทักษะทางสังคมกับวัยเดียวกัน เช่น การรอคอยตามลำดับก่อนหลัง แบ่งของให้คนอื่น เก็บของเล่นเข้าที่ได้

เด็กวัย 5 -6 ปี

เด็กๆ จะเริ่มปฏิบัติกิจวัตรประจำวันได้ด้วยตนเอง เช่นใส่เสื้อผ้า ล้างหน้า แปรงฟัน ฯลฯ รวมถึงการเล่นหรือทำงานโดยมีจุดมุ่งหมายร่วมกับคนอื่นได้  เด็กๆ จะเริ่มเล่นเป็ฯกลุ่ม ทำงานเป็นกลุ่มได้ ยอมรับกติกาข้อตกลง เข้าใจความรู้สึกของผู้อื่นมากขึ้น ผ่านการเล่นเกมส์ที่มีกติการ รวมถึงเรียนรู้เรื่องมารยาททางสังคมอย่างง่าย เช่น รู้จักไหว้ ทำความเคารพ รู้จักขอบคุณ เมื่อรับของจากผู้ใหญ่

5 ข้อง่ายๆ ให้คุณแม่ส่งเสริมพัฒนาการทางสังคมให้ลูก

  1. ฝึกให้ลูกหัดควบคุมจิตใจตนเอง  ลูกจะต้องเรียนรู้ที่จะควบคุมความต้องการของตนเอง เด็กจะได้ทุกอย่างตามใจต้องการไม่ได้ เพราะสังคมมีกฎระเบียบเงื่อนไขต่างๆ เพื่อให้ทุกคนปฏิบัติตาม
  2. ให้ลูกฝึกการอยู่ร่วมกับผู้อื่น  ให้ลูกได้เรียนรู้ว่ายังมีสังคมที่นอกเหนือจากในครอบครัวที่มีแค่พ่อแม่ ผ่านกิจกรรมที่จัดให้ลูกเรียนรู้ที่จะอยู่ในสังคมจากการปฏิบัติต่อกันในชีวิตประจำวัน เช่น การรับประทานอาหารร่วมกัน การช่วยพ่อแม่หยิบของใช้ การช่วยเลี้ยงน้อง เล่นกับน้องหรือเพื่อน ช่วยให้อาหารสัตว์เลี้ยง ช่วยรดน้ำต้นไม้ เป็นต้น
  3. ฝึกด้านจริยธรรม ถึงแม้ว่าเด็กวัยนี้จะไม่เข้าใจแนวคิดทางนามธรรมทั้งหมด แต่จริยธรรมเบื้องต้นสำหรับเด็ก ก็เป็นพื้นฐานทัศนคติที่ดีต่อการใช้ชีวิตในสังคมต่อไป วิธีที่ง่ายที่สุดคือให้เด็กเรียนรู้จากตัวแบบทางอ้อม เช่น จากตัวละครในนิทาน
  4. ฝึกให้เด็กพึ่งตนเอง  คุณพ่อคุณแม่ควรฝึกให้ลูกช่วยเหลือตนเองได้เหมาะสมกับวัย เช่น วัยเด็ก 3-6 ปี จะต้องแต่งตัว อาบน้ำ รับประทานอาหารได้เอง หยิบของเล่นได้เอง และรู้จักเก็บให้เรียบร้อย รวมทั้งช่วยพ่อแม่ทำงานบ้านง่ายๆได้ เช่น รดน้ำตนไม้ ให้อาหารสัตว์เลี้ยง เป็นต้น
  5. ฝึกให้รู้จักสภาพชุมชนรอบตัว  การให้เด็กๆ ได้เรียนรู้สังคมรอบข้างได้รู้จักถิ่นที่อยู่ของตัวเอง ลูกจะได้รู้เห็นว่าสังคมประกอบด้วยอะไร โลกรอบตัวเขากว้างแค่ไหน มีสิ่งที่เกิดขึ้นเกี่ยวข้องกับเขาอย่างไร เป็นพื้นฐานทักษะทางสังคมที่จะเพิ่มมากขึ้นต่อไป

ที่มา

taamkru.com/th

taamkru.com/th2

th.theasianparent.com/ลูกมีพัฒนาการทางอารมณ์ตามวัยหรือไม่/

[Sassy_Social_Share]

พื้นฐานทางอารมณ์จิตใจมีอะไรบ้าง