อารมณ์ที่ไม่ดีหรือความเครียดมีอะไรบ้าง

ความหมาย อารมณ์แปรปรวน

Share:

อารมณ์แปรปรวน (Mood Swings) คืออาการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ที่รวดเร็ว โดยการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์นี้อาจเกิดขึ้นได้ตามธรรมชาติ หรือเกี่ยวข้องกับอาการเจ็บป่วย ความเปลี่ยนแปลงภายในร่างกายหรือแม้แต่โรคจิตเวชบางชนิด เช่น โรคไบโพลาร์ (Bipolar Disorder) โรคจิตอารมณ์ (Schizoaffective Disorder) นอกจากนี้ ยังมักเป็นอาการที่พบได้ในกลุ่มคนวัยทอง และสตรีวัยหมดประจำเดือนอีกด้วย ซึ่งหากเกิดอารมณ์แปรปรวนนั้นขึ้นเพียงเล็กน้อย ก็ไม่ถือว่าเป็นอันตราย แต่ถ้าแปรปรวนอย่างสุดขั้วจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันหรือกระทบต่อความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง อาจเป็นความผิดปกติที่ต้องไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย

อารมณ์ที่ไม่ดีหรือความเครียดมีอะไรบ้าง

อาการของอารมณ์แปรปรวน

อาการของอารมณ์แปรปรวนที่เห็นได้ชัด คือความเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ที่รวดเร็วจนผิดปกติ ผู้ที่มีอาการอาจมีหลากหลายอารมณ์ใน 1 วัน โดยอาจรู้สึกเศร้า รู้สึกมีความสุข หรืออาจร้องไห้โดยไม่มีสาเหตุ แต่ถ้าหากอาการรุนแรงขึ้น ผู้ป่วยจะมีอารมณ์ที่ค่อนข้างรุนแรงและตรงข้ามกัน และอาจมีภาวะซึมเศร้าร่วมด้วย

ทั้งนี้ หากอาการของผู้ป่วยเริ่มควบคุมไม่ได้ และแปรปรวนอย่างสุดโต่งเกินไปจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ผู้ป่วยควรรีบไปพบแพทย์ เพราะนั่นอาจเป็นสัญญาณของอาการป่วยทางจิตที่รุนแรงมากขึ้น

สาเหตุของอารมณ์แปรปรวน

อารมณ์แปรปรวนเกิดได้จากหลายสาเหตุ โดยอาจเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ หรือมีปัจจัยอื่น ๆ เป็นตัวกระตุ้น โดยสาเหตุส่วนใหญ่ได้แก่

ปัญหาทางจิต อารมณ์แปรปรวนถือเป็นอาการที่มักพบในผู้ป่วยที่มีปัญหาทางจิตซึ่งสามารถพบได้ในโรคทางจิตเวช เช่น

  • โรคไบโพลาร์ (Bipolar Disorder) ก่อให้เกิดอารมณ์แปรปรวนแบบสุดขั้ว ระหว่างอารมณ์ครื้นเครงและอารมณ์ซึมเศร้า
  • โรคไบโพลาร์แบบไม่รุนแรง (Cyclothymic Disorder) ผู้ป่วยมักจะมีอารมณ์แปรปรวน ระหว่างอารมณ์ครื้นเครงและอารมณ์ซึมเศร้าที่ไม่รุนแรง แต่ก็มากกว่าคนปกติทั่วไป
  • โรคซึมเศร้า (Major Depressive Disorder) ผู้ป่วยโรคนี้จะมีอารมณ์ซึมเศร้าที่มากผิดปกติ บางรายอาจมีความรู้สึกอยากฆ่าตัวตายร่วมด้วย
  • โรคประสาทซึมเศร้า (Dysthymia) ผู้ป่วยจะมีอาการซึมเศร้าเรื้อรัง
  • โรคความผิดปกติในการควบคุมอารมณ์ (Disruptive Mood Dysregulation Disorder) เป็นโรคที่เกิดขึ้นในเด็ก ทำให้เด็กมีอารมณ์ที่แปรปรวนผิดปกติ

นอกจากนี้ หากผู้ป่วยมีอาการของโรคจิตเภท และโรคสมาธิสั้น ก็อาจพบอาการของอารมณ์แปรปรวนได้เช่นกัน

ความผิดปกติของระดับฮอร์โมนในร่างกาย การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนมีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ เนื่องจากฮอร์โมนต่าง ๆ ส่งผลกับการทำงานของสมอง ซึ่งมักจะเกิดในวัยรุ่น สตรีมีครรภ์ ผู้ที่เข้าสู่วัยทอง รวมถึงสตรีที่มีประจำเดือน ทั้งนี้อาการอารมณ์แปรปรวนที่เกิดจากความผิดปกตินั้นสามารถรักษาให้หายได้ด้วยการปรับระดับฮอร์โมน

การติดสารเสพติด สารเสพติดไม่ว่าจะเป็นแอลกอฮอล์หรือยาเสพติด สามารถส่งผลกระทบต่อสุขภาพ และการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์อย่างรุนแรง จนนำไปสู่ปัญหาทางจิตต่าง ๆ หากผู้ป่วยติดสารเสพติดอย่างเรื้อรังเป็นเวลานาน ๆ โดยไม่ทำการรักษา สารพิษก็อาจทำลายสมองได้ด้วยเช่นกัน

ปัญหาสุขภาพอื่น ๆ โรคที่เกี่ยวข้องกับสมองและระบบประสาท เป็นอีกสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้ป่วยเกิดอารมณ์แปรปรวน ทว่าอาการป่วยบางชนิด เช่น โรคเกี่ยวกับระบบหัวใจและหลอดเลือด โรคของต่อมไทรอยด์ และโรคที่ส่งผลกระทบต่อปอด ก็ทำให้ผู้ป่วยมีอารมณ์แปรปรวนได้เช่นกัน

นอกจากนี้ อารมณ์แปรปรวนยังอาจเกิดจากปัจจัยอื่น ๆ ได้แก่

  • บุคลิกภาพ
  • การรับประทานอาหาร เช่น อาหารที่มีน้ำตาลสูง
  • ความเครียด
  • การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในชีวิต
  • พฤติกรรมการนอนหลับ
  • การใช้ยาในการรักษาโรคหรืออาการบางชนิด
  • พันธุกรรม

การวินิจฉัยอารมณ์แปรปรวน

ในเบื้องต้น ผู้ป่วยสามารถสังเกตอาการได้เอง โดยถ้าหากพบว่าตนเองมีความเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ที่ผิดปกติ เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย โดยไม่ทราบสาเหตุ และการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์นั้นส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน คารไปปรึกษาแพทย์เพื่อทำการตรวจสุขภาพ และทำแบบทดสอบเกี่ยวกับสุขภาพจิต

ทั้งนี้เมื่อไปพบแพทย์ จะต้องใช้แพทย์ที่มีความชำนาญในด้านต่าง ๆ ร่วมกัน โดยในการตรวจคัดกรองสุขภาพจิตจะประกอบไปด้วยขั้นตอนดังนี้

  • การซักประวัติ แพทย์จะสอบถามผู้ป่วยเกี่ยวกับเรื่องต่าง ๆ เพื่อดูปฏิกิริยาของผู้เข้ารับการตรวจว่าเป็นอย่างไร ซึ่งผู้ที่เข้ารับการตรวจอาจถูกถามถึงเรื่องอาการที่เกิดและความวิตกกังวลที่มี และหากผู้เข้ารับการตรวจมีการจดบันทึกเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ด้วยก็จะช่วยให้แพทย์วินิจฉัยได้ง่ายขึ้น
  • ตรวจสุขภาพ ในขั้นตอนนี้แพทย์จะทำการตรวจเช็กสุขภาพในเบื้องต้น และอาจมีการซักถามประวัติในการรักษาและหรือยาที่ใช้ นอกจากนี้ยังอาจมีการตรวจอื่น ๆ เช่น ความยืดหยุ่นของร่างกาย ความสมดุล และประสาทสัมผัสต่าง ๆ ได้แก่ การตรวจการได้ยิน ตรวจวัดสายตา ตรวจการได้กลิ่นและการรับรส รวมถึงการตรวจปฏิกิริยาตอบโต้จากการสัมผัส
  • การทำแบบทดสอบข้อเขียนหรือถาม-ตอบ ในการทำแบบทดสอบ แพทย์อาจให้ผู้ป่วยตอบคำถามด้วยปากเปล่าหรือเป็นแบบข้อเขียน โดยผู้เข้ารับการตรวจจะต้องตอบว่า ใช่ หรือ ไม่ ส่วนใหญ่แล้วจะมีคำถามประมาณ 20-30 ข้อ จากนั้นแพทย์จะนำคำตอบที่ได้ไปคำนวณคะแนนและวิเคราะห์ต่อไป

ทั้งนี้หากแพทย์สงสัยว่าผู้เข้ารับการตรวจอาจมีความผิดปกติทางอารมณ์ที่เกิดจากระบบประสาทแพทย์จะสั่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่ม โดยการตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ การเอกซเรย์ และการตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง บางครั้งแพทย์อาจสั่งตรวจการทำงานของไทรอยด์ด้วยเช่นกัน

การรักษาอารมณ์แปรปรวน

เมื่อแพทย์วินิจฉัยว่าผู้ป่วยมีอารมณ์แปรปรวนอันเนื่องมาจากสาเหตุใด สิ่งที่สำคัญที่สุดในการเริ่มต้นการรักษาคือ ผู้ป่วยจะต้องเข้าใจและยอมรับตัวเองให้ได้เสียก่อน และต้องเข้าใจด้วยว่าอารมณ์แปรปรวนนั้นไม่ใช่ความผิดของผู้ป่วย และเป็นสิ่งที่สามารถรักษาให้หายได้ อีกทั้งควรได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน เพราะหากปล่อยทิ้งไว้เป็นเวลานาน จะส่งผลเสียต่อตัวเองและคนรอบข้าง กระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ป่วยอย่างรุนแรง อีกทั้งยังอาจร้ายแรงจนกลายเป็นโรคจิตเภทได้อีกด้วย

เมื่อผู้ป่วยเข้าใจถึงจุดนี้แล้ว แพทย์จะแนะนำการรักษาในเบื้องต้นด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต ดังนี้

  • วางแผนในแต่ละวัน และทำตามแผนที่วางไว้ให้ได้
  • ออกกำลังกายเป็นประจำ เพราะการออกกำลังกายจะทำให้รู้สึกผ่อนคลายมากขึ้น
  • นอนหลับให้เพียงพอ การนอนหลับที่เพียงพอจะส่งผลให้ผู้ป่วยมีอารมณ์ที่คงที่มากขึ้น
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ อารมณ์แปรปรวนสามารถเกิดจากอาหารที่รับประทานได้ ดังนั้นการปรับเปลี่ยนอาหารให้มีประโยชน์ต่อสุขภาพจะส่งผลดีต่ออารมณ์ได้เช่นกัน
  • ฝึกจิตใจให้สงบ ด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น การทำสมาธิ หรือการเล่นโยคะ
  • หลีกเลี่ยงความเครียด ความเครียดคือตัวแปรสำคัญที่ทำให้เกิดอารมณ์แปรปรวน
  • หาวิธีการแสดงออกอย่างสร้างสรรค์ การแสดงออกทางอารมณ์หากแสดงออกตรง ๆ อาจส่งผลกระทบต่อตนเองและรอบข้างได้ ดังนั้นจึงควรหาวิธีในการแสดงออกที่สร้างสรรค์ เพื่อผ่อนคลายท่าทีที่รุนแรง เช่น การวาดภาพ เป็นต้น
  • หาที่ปรึกษา การระบายความรู้สึกนึกคิดกับคนที่ไว้ใจ เช่น เพื่อน คนในครอบครัว หรือผู้เชี่ยวชาญด้านให้คำปรึกษา จะช่วยให้ผู้ป่วยมีอาการที่ดีขึ้น และสามารถจัดการกับอารมณ์ของตนเองได้

สำหรับผู้ป่วยที่มีอารมณ์แปรปรวนอันเนื่องมาจากปัญหาสุขภาพ หรือปัญหาทางจิต แพทย์จะทำการส่งต่อไปยังผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อทำการรักษา หากสาเหตุเกิดจากเปลี่ยนแปลงทางฮอร์โมน เช่น กลุ่มผู้ป่วยในวัยมีประจำเดือน หรือแพทย์อาจให้ผู้ป่วยใช้ยาเพื่อปรับระดับฮอร์โมนควบคู่กับการปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหารและการใช้ชีวิตต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยมีอาการที่ดีขึ้น แต่ถ้าหากมีอาการที่รุนแรงหรือเกิดจากปัญหาทางจิต ผู้ป่วยอาจจะต้องรับประทานยาหรือรักษาด้วยวิธีจิดบำบัด (Psychotherapy)

ส่วนผู้หญิงที่มีอารมณ์แปรปรวนเนื่องจากการตั้งครรภ์ แพทย์ผู้ดูแลจะแนะนำให้ผู้ป่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่าง เพื่อให้ว่าที่คุณแม่ผ่อนคลายจากความเครียดต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงตั้งครรภ์ เพราะหากมีอาการเครียดและภาวะอารมณ์แปรปรวนสะสมก็อาจทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าหลังคลอดได้

ภาวะแทรกซ้อนของอารมณ์แปรปรวน

หากผู้ป่วยที่มีอารมณ์แปรปรวนไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง และปล่อยเรื้อรังเป็นเวลานาน จะยิ่งทำให้อาการรุนแรงขึ้นและกลายเป็นปัญหาทางจิตที่ต้องทำการรักษา อย่างเช่น โรคไบโพลาร์ ซึ่งโรคนี้จะส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน อาจก่อให้เกิดอาการคลุ้มคลั่ง ภาวะซึมเศร้า และอารมณ์แปรปรวนจนไม่สามารถควบคุมตนเองได้ หากไม่รักษาก็จะนำไปสู่โรคจิตเภทอื่น ๆ ที่อาจร้ายแรงจนทำให้ผู้ป่วยมีความคิดฆ่าตัวตายได้ด้วยเช่นกัน ดังนั้นจึงควรรีบรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อความปลอดภัย

การป้องกันอารมณ์แปรปรวน

ผู้ป่วยที่มีอารมณ์แปรปรวน ควรเข้าใจตนเอง หลีกเลี่ยงความเครียด และทำจิตใจให้ผ่อนคลาย หากรู้สึกว่าตนเองไม่สบายใจ หรือมีความขุ่นเคืองใด ๆ ก็ควรหาที่ปรึกษาจะดีที่สุด เพื่อที่จะได้มีคนคอยช่วยแก้ปัญหาและช่วยให้ตัวเองสงบจิตใจลงได้ ทั้งนี้หากเริ่มรู้สึกว่าตนเองมีอารมณ์ที่ผิดปกติ ควรเริ่มจดบันทึกความเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ และนำไปปรึกษาแพทย์เพื่อหาทางแก้ต่อไป