เปรียญธรรม 9 ประโยค ฆราวาส

เปรียญธรรม 9 ประโยค ฆราวาส

นิสิตสาว ปริญญาโท อักษรศาสตร์ จุฬาฯ แจงลงสอบบาลีศึกษาเปรียญธรรม 9 ประโยคจริง แต่จะเริ่มตรวจข้อสอบ วันนี้ (3 มี.ค.) และประกาศผลวันที่ 7 มี.ค. พร้อมระบุฆราวาสหญิงคนแรกที่ไม่ใช่แม่ชี และได้เปรียญธรรม 9 ประโยค เป็นทันตแพทย์หญิง สอบได้เมื่อปี 57

หลังจากที่มีการเผยแพร่ข่าวทางโซเชียลมีเดีย ว่า น.ส.สุกัญญา เจริญวีรกุล นิสิตปริญญาโท สาขา
ภาษาบาลี-สันสกฤตและพุทธศาสน์ศึกษา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เรียนพระปริยัติธรรมแผนกบาลี สำนักเรียนวัดสามพระยา สามารถสอบเปรียญธรรม 9 ประโยคได้สำเร็จ ถือเป็นฆราวาสหญิงคนแรกของไทยที่ได้เปรียญธรรม 9 นั้น น.ส.สุกัญญา ได้ชี้แจงผ่าน เฟซบุ๊ก “Sukanya Pema Dechen Chotso” ว่า ได้ทราบข่าวจากกัลยาณมิตรบางท่าน ว่า มีผู้เขียนถึงดิฉันว่าสอบได้บาลีศึกษา ขอบคุณทุกท่านสำหรับกำลังใจนะคะ ปี พ.ศ. 2561 นี้ ดิฉันลงสอบบาลีศึกษาประโยค 9 จริง แต่ขอชี้แจงว่า ในขณะนี้ (1 มีนาคม พ.ศ. 2561) ยังไม่มีการตรวจข้อสอบ ฉะนั้น จึงยังไม่มีการประกาศผลสอบโดยประการทั้งปวงค่ะ การตรวจข้อสอบจะเริ่มต้นขึ้นในวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2561 และประกาศผลสอบชั้นเปรียญเอกวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2561 ดูรายละเอียดข้อมูลจริงได้ที่เว็บไซต์ของสำนักงานแม่กองบาลีสนามหลวง www.infopali.net ป.ล. เข้า facebook มาเพื่อโพสต์ชี้แจงมิให้เข้าใจผิดบานปลายไปเท่านั้น ของดการติดต่อจนถึงวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2561

น.ส.สุกัญญา ยังได้โพสต์ข้อมูลอีกว่า ฆราวาสหญิงผู้สอบได้บาลีศึกษา 9 ประโยคท่านแรก (ที่ไม่ใช่แม่ชี) เท่าที่ทราบ ท่านแรกที่เป็นทั้งศิษย์เก่าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาและบัณฑิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คือ ทันตแพทย์หญิง ศิริพร ชุติปาโร สำนักเรียนวัดสามพระยา สอบได้ บ.ศ.9 พ.ศ. 2557 ส่วนท่านแรกในสมัยที่มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยจัดสอบ (ท่านแรกของประเทศไทย) คือ อุบาสิกาชนิดา จันทราศรีไศล สำนักศาสนศึกษาวัดพระธรรมกาย สอบได้ บ.ศ.9 พ.ศ. 2543 และท่านแรกในสมัยที่สำนักงานแม่กองบาลีสนามหลวงจัดสอบ คือ อุบาสิกาสิรินุช บุสโร สำนักศาสนศึกษาวัดพระธรรมกาย สอบได้ บ.ศ.9 พ.ศ. 2558

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับ น.ส.สุกัญญา เจริญวีรกุล สามารถสอบได้บาลีศึกษา 8 ประโยค จากการสอบจากการประกาศผลสอบบาลีสนามหลวงเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2560 ที่ผ่านมา

ก่อนหน้านี้ น.ส.สุกัญญา เคยให้สัมภาษณ์ว่า สาเหตุที่เรียนภาษาบาลีจริงจัง เพราะชอบมาตั้งแต่วัยเยาว์ และอยากเข้าใจคำสอนของพระพุทธเจ้า จึงเริ่มเรียนไวยากรณ์ที่สำนักเรียนวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ และต่อยอดการเรียนในประโยคที่สูงขึ้นที่สำนักเรียนวัดสามพระยา

“ประโยชน์ของการเรียนภาษาบาลีในโรงเรียนพระปริยัติธรรม คือ ได้ศึกษาโครงสร้างของภาษาและได้สืบทอดพระพุทธศาสนา ที่สำคัญ การเรียนภาษาบาลีในทางธรรมช่วยเกื้อกูลกับสาขาวิชาทางโลก แม้การเรียนทั้ง 2 รูปแบบไวยากรณ์จะไม่ต่างกันมาก แต่มิติของภาษาจะช่วยให้เข้าใจกฎเกณฑ์ภาษามากขึ้น การเรียนภาษาบาลีอาจยากสำหรับฆราวาส แต่ถ้าผู้เรียนมีความมุ่งมั่นและพยายามทำความเข้าใจ เชื่อว่าทุกคนสามารถเรียนได้” น.ส.สุกัญญา ระบุ

"เปรียญธรรม 9 ประโยค" ไขข้อข้องใจ ทำไม "ฆราวาส-อุบาสิกา" สอบเปรียญแบบพระได้ เปิดที่มา "สุกัญญา เจริญวีรกุล" ยังไม่ใช่ มหาเปรียญหญิงคนแรก

จากกรณีที่มีการเปิดประวัติของ"สุกัญญา เจริญวีรกุล" อุบาสิกา หรือหญิงไทยที่สามารถสอบ "เปรียญธรรม 9 ประโยค" ได้ตั้งแต่อายุเพียง 25 ปี โดยใช้เวลา 10 ปีเท่านั้น นอกจากนี้ พบว่า ยังมีอุบาสิกาอีก 3 คน ที่สามารถสอบเปรียญธรรม 9 ประโยคได้ ไล่เรียงลำดับกันมา ดังนี้

  • บ.ศ.9 คนแรกของประเทศไทย แม่ชีสมศรี จารุเพ็ง บ.ศ.9 วัดชนะสงคราม สอบได้ พ.ศ.2528
  • บ.ศ.9 คนแรกที่ไม่ใช่แม่ชี อุบาสิกาชนิดา จันทราศรีไศล บ.ศ.9 วัดพระธรรมกาย สอบได้ พ.ศ.2543
  • บ.ศ.9 คนแรกในสมัยที่กองบาลีสนามหลวงจัดสอบบาลีศึกษาอุบาสิกาสิรินุช บุสโร บ.ศ.9 วัดพระธรรมกาย สอบได้ พ.ศ.2559
  • บ.ศ.9 คนแรกของสำนักเรียนวัดสามพระยา ทันตแพทย์หญิงศิริพร ชุติปาโร บ.ศ.9 วัดสามพระยา สอบได้ พ.ศ.2557
  • บ.ศ.9 สุกัญญา เจริญวีรกุล สำนักเรียนวัดสามพระยา สอบได้ พ.ศ.2563 

จากการสอบ"เปรียญธรรม" ของอุบาสิกา จึงเป็นที่มาของคำถามว่า ฆราวาส โดยเฉพาะผู้หญิง สามารถสอบเปรียญธรรม เฉกเช่นเดียวกับพระภิกษุ สามเณรได้ด้วยหรือ จากประเด็นนี้ พระสุทธิพงษ์ อภิปุญฺโญ เคยโพสต์ข้อความ ไขข้อข้องใจไว้ว่า "ฆราวาส" สามารถสมัครเรียนได้ทุกคนตามวัดที่เป็นสำนักเรียน ไม่จำกัดแค่พระ หรือเณร ฆราวาสก็สามารถเรียนได้ ถ้าทนได้ ปัญญาดี เพราะการเรียนปริยัติธรรมเป็นเรื่องยาก ต้องท่องจำจนแตกฉาน โดยการเรียนปริยัติธรรม มีสองแผนก คือ สายธรรม กับสายบาลี สายธรรมจะจบที่นักธรรมชั้นเอก สายบาลีจะจบที่ เปรียญธรรม 9 ประโยค 
  

"สายธรรม" หากเป็นพระ หรือเณร สอบได้ จะเรียกนักธรรม ชั้นตรี โท หรือเอก หากฆราวาสสอบได้ จะเรียกธรรมศึกษา ชั้นตรี โท หรือเอก 
"สายบาลี" หากเป็นพระ หรือเณรสอบได้ จะเรียก ประโยค 1-2 ถึง ประโยค 9 หากฆราวาสสอบได้ จะเรียกบาลีศึกษา ประโยค 1-2 ถึงประโยค 9 การเรียนรวมกันกับพระ เรียนเหมือนกัน สอบด้วยกัน รับพระราชทานพัดยศแบบเดียว และที่เดียวกัน ส่วนพัดยศของพระหรือเณร เมื่อรับแล้วจะนำไปใช้งานได้ ส่วนของฆราวาสนั้น ให้เพื่อเป็นที่ระลึก เพื่อให้รู้ว่ามีคุณสมบัติชั้นนั้น จึงขอสรุปว่า ประชาชนและฆราวาสทั่วไปเรียนได้
 

ส่วนพัดยศนั้น หากเป็นผู้ชาย และเป็นพระ หรือเณร พัดที่ได้รับจะเป็นพัดสีเหลืองด้ามดำ เหมือนที่พระถืออยู่ด้านหลัง หากเป็นสตรี จะเป็นพัดสีขาว

เปรียญธรรม 9 ประโยค ฆราวาส

อย่างไรก็ตาม การสอบพระปริยัติธรรม ถือเป็นการวัดความรู้ชั้นสูงของคณะสงฆ์ไทย สืบทอดมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ตราบจนถึงปัจจุบัน การศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกบาลี มี 8 ระดับ คือ การศึกษาระดับประโยค 1-2 และเปรียญธรรม 3 ประโยค เรียกว่า เปรียญตรี คือ ผู้ที่จะมีสิทธิสอบประโยค 1-2 ขึ้นไปจะต้องสอบได้นักธรรมชั้นตรีก่อน
    

  • ระดับเปรียญธรรม 4-6 ประโยค เรียกว่า เปรียญโท คือ ผู้ที่จะมีสิทธิสอบเปรียญธรรม 4 ประโยค ขึ้นไปจะต้องสอบได้นักธรรมชั้นโทก่อน
  • ระดับเปรียญธรรม 7-9 ประโยค เรียกว่า เปรียญเอก คือ ผู้ที่จะมีสิทธิสอบเปรียญธรรม 7 ประโยคขึ้นไปจะต้องสอบได้นักธรรมชั้นเอกก่อน 

ทั้งนี้ พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.9) ราชบัณฑิต และเจ้าอาวาสวัดราชโอรสาราม ได้ให้ความหมายของคำว่า "เปรียญ" (อ่านว่า ปะเรียน) บาเรียน ก็เรียก เป็นคำใช้เรียกภิกษุสามเณรผู้ศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมแผนกบาลี และสอบไล่ได้ตามหลักสูตรตั้งแต่ 3 ประโยค ขึ้นไปจนถึง 9 ประโยค เรียกว่า พระเปรียญ หรือพระเปรียญธรรม สามเณรเปรียญ หรือสามเณรเปรียญธรรม มีอักษรย่อว่า ป. หรือ ป.ธ.
     

สันนิษฐานว่ามาจากการผสมคำว่า บาลี + เรียน = บาเรียน หมายถึง "พระที่ได้ศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมบาลี" หรือ "พระนักเรียนบาลี" นั่นเอง 

ต่อมา สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงเปลี่ยนคำว่า บาเรียน เป็น เปรียญ ปัจจุบันจึงใช้เรียกหลักสูตรการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลีของคณะสงฆ์ไทยว่า "หลักสูตรเปรียญ" 

ขอบคุณที่มา : สมาคมมหาเปรียญและคนเรียนบาลี, Sundarīkanyā Pema Charoenwerakul