เครื่องหมายการค้าจดทะเบียนตาม พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า

  • เครื่องหมายการค้าจดทะเบียนตาม พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า

กรณีที่มีการจดทะเบียน

ในกรณีที่เจ้าของเครื่องหมายการค้าได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้ ก็ย่อมได้รับความคุ้มครองในสิทธิต่างๆ คือ สิทธิในการใช้เครื่องหมายการค้าสำหรับสินค้าในการที่ได้จดทะเบียนไว้มีสิทธิเด็ดขาดแต่เพียงผู้เดียว ผู้ใดจะแอบอ้าง อาศัยสิทธินั้นไม่ได้ สิทธิในการทำสัญญาอนุญาตให้ผู้อื่นใช้เครื่องหมายการค้า

สิทธิในการโอนเครื่องหมายการค้า สิทธิในการฟ้องร้องและเรียกค่าสินไหมทดแทนในกรณีที่มีผู้ละเมิดสิทธิในเครื่องหมาย จะเห็นได้ว่าเมื่อได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้า เจ้าของเครื่องหมายการนั้นย่อมได้รับการคุ้มครองจากกฎหมาย

กรณีที่ไม่มีการจดทะเบียน

ในกรณีที่เจ้าของเครื่องหมายการค้าไม่ได้จดทะเบียน ย่อมมิได้รับความคุ้มครองตามพ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 และแก้ไขเพิ่มเติมแต่อย่างใด

ในกรณีที่เจ้าของเครื่องหมายการค้าที่เป็นผู้คิดค้นออกแบบเครื่องหมายการค้าตัวเอง และนำเครื่องหมายนั้นไปใช้โดยที่ไม่ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้ ในทางกฎหมายก็จะไม่มีสิทธิใช้เครื่องหมายการค้านั้นแต่เพียงผู้เดียว ซึ่งหากมีบุคคลอื่นนำเครื่องหมายการค้าไปจดทะเบียนก่อน จะส่งผลให้เจ้าของเครื่องหมายการค้าผู้คิดค้นไม่สามารถเป็นผู้ที่มีสิทธิมากกว่าได้เลย แม้ตนจะเป็นผู้คิดค้นก็ตาม

ตัวอย่างเช่น นายตั้มคิดค้นแบรนด์ TOM ขึ้นมาซึ่งเป็นแบรนด์น้ำหอม แต่ไม่ได้นำไปจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ต่อมานางสาวมินนี่นำไปจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเป็นของตัวเองก่อนนายตั้ม ทำให้นายตั้มผู้คิดค้นไม่สามารถเป็นผู้มีสิทธิมากกว่านางสาวมินนี่ แม้นายตั้มจะเป็นผู้คิดค้นก็ตาม นางสาวมินนี่จึงเป็นผู้มีสิทธิดีกว่านายตั้ม

อย่างไรก็ดี แม้ยังไม่ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้า แต่เจ้าของเครื่องหมายการค้าก็ยังได้สิทธิในการใช้เครื่องหมายการค้าได้เสมอ ทั้งนี้โดยพิจารณาจากบทบัญญัติของพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 และคำพิพากษาศาลฎีกาดังนี้

1. สิทธิในการใช้เครื่องหมายการค้านั้น ผู้เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้ามีสิทธิในการใช้เครื่องหมายการค้ากับสินค้าของตนเองเสมอ เว้นแต่จะมีการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่มีลักษณะเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้านั้นให้แก่บุคคลอื่น ซึ่งเจ้าของที่แท้จริงจะต้องดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนดเพื่อพิสูจน์ความเป็นเจ้าของสิทธิที่ดีกว่าต่อไป แต่หากในขณะนั้นไม่มีการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้นให้แก่ผู้ใด เจ้าของเครื่องหมายการค้าสามารถแสดงความเป็นเจ้าของและใช้เครื่องหมายการค้าของตนได้โดยชอบธรรม

2. สิทธิในการขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า เจ้าของเครื่องหมายการค้า สามารถขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่ตนได้ใช้มาโดยสุจริต ไม่ว่าจะบุคคลอื่นได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าดังกล่าวไว้แล้วสำหรับสินค้าจำพวกเดียวกันหรือต่างจำพวกกัน ที่นายทะเบียนเห็นว่ามีลักษณะอย่างเดียวกันหรือไม่ก็ตามมาตรา27 กำหนดให้นายทะเบียนใช้ดุลยพินิจพิจารณาว่าจะเห็นสมควรรับจดทะเบียนโดยมีเงื่อนไขหรือข้อจำกัดเกี่ยวกับวิธีการใช้และเขตแห่งการใช้เครื่องหมายการค้านั้น หรือเงื่อนไขและข้อจำกัดอื่นที่เห็นสมควรด้วยก็ได้ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 804/2537)

3. สิทธิคัดค้านการขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของผู้อื่น เจ้าของเครื่องหมายการค้ามีสิทธิร้องคัดค้านการขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของผู้อื่นตาม มาตรา 35 โดยอ้างว่าตนมีสิทธิดีกว่าผู้ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารายนั้น อันเนื่องมาจากการที่ตนได้ใช้เครื่องหมายดังกล่าวมาก่อนผู้ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า โดยเฉพาะหากว่าเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ยื่นคัดค้านนั้น ได้ยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้ด้วยแล้ว หากมีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดว่าผู้คัดค้านมีสิทธิดีกว่า มาตรา 41 กำหนดให้นายทะเบียนจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้นให้แก่ผู้คัดค้านนั้นด้วย

4. สิทธิขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของผู้อื่น ตามมาตรา 67 กำหนดให้เจ้าของเครื่องหมายการค้าในฐานะผู้มีส่วนได้เสีย อาจร้องขอต่อศาลให้สั่งเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารายใดก็ได้ ภายในห้าปีนับแต่วันที่นายทะเบียนมีคำสั่งให้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้น หากแสดงได้ว่าตนมีสิทธิในเครื่องหมายการค้านั้นดีกว่าซึ่งอาจเนื่องมาจากการที่ได้ใช้เครื่องหมายการค้านั้นมาก่อนผู้ซึ่งได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าดังกล่าวนั้น

5. สิทธิในการต่อสู้คดีเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้าเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ไม่ได้จดทะเบียนสามารถยกเอาเหตุจากการที่ตนได้ใช้เครื่องหมายการค้ามาก่อนโดยสุจริตมาเป็นข้อต่อสู้ในคดีที่ถูกฟ้องว่ากระทำการเลียนเครื่องหมายการค้าของผู้อื่น (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1129/2501 และ 2277/2520)

6. สิทธิฟ้องคดีเกี่ยวกับการลวงขาย มาตรา 46 วรรค 2 เจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ไม่ได้จดทะเบียนมีสิทธิที่จะฟ้องบุคคลใดซึ่งเอาสินค้าของตนไปทำการลวงขายว่าเป็นสินค้าของเจ้าของเครื่องหมายการค้านั้น และหากว่าการลวงขายอันไม่ชอบด้วยกฎหมายได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าของเครื่องหมายการค้า ย่อมถือว่าเป็นการละเมิด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 ซึ่งเป็นผลให้เจ้าของเครื่องหมายการค้ามีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากผู้ทำละเมิดได้อีกด้วย

7. สิทธิดำเนินคดีอาญาตามกฎหมายซึ่งคุ้มครองเจ้าของเครื่องหมายการค้า ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ที่ได้บัญญัติความผิดที่เกี่ยวข้องกับเครื่องหมายใด ๆที่ใช้ในทางการค้า และเครื่องหมายการค้าที่ไม่ได้จดทะเบียนไว้ ดังนี้

7.1 มาตรา 271 “ผู้ใดขายของโดยหลอกลวง ด้วยประการใด ๆให้ผู้ซื้อหลงเชื่อในแหล่งกำเนิด สภาพ คุณภาพ หรือปริมาณแห่งของนั้นอันเป็นเท็จ ถ้าการกระทำนั้นไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินหกพันบาทหรือจำทั้งปรับ”

 มาตรานี้เป็นการกำหนดความผิดและโทษสำหรับการกระทำต่างๆอันรวมถึงการกระทำในลักษณะลวงขายโดยเอาสินค้าของผู้กระทำผิดไปขายโดยหลอกลวงว่าเป็นสินค้าของเจ้าของเครื่องหมายการค้า กล่าวคือเป็นการขายของโดยการหลอกลวงให้ผู้ซื้อหลงเชื่อในแหล่งกำเนิดแห่งของนั้นอันเป็นเท็จ โดยอาจมีการหลอกลวงด้วยการใช้เครื่องหมายการค้าของผู้อื่นที่สินค้าของผู้กระทำผิดก็ได้

7.2 มาตรา272 บัญญัติว่า“ผู้ใด                                                                                           

                                 (1) เอาชื่อ รูป รอยประดิษฐ์หรือข้อความใดๆในการประกอบการค้าของผู้อื่นมาใช้ หรือทำให้ปรากฏที่สินค้า หีบ ห่อ วัตถุที่ใช้หุ้มห่อ แจ้งความ รายการแสดงราคา จดหมายเกี่ยวกับการค้าหรือสิ่งอื่นทำนองเดียวกัน เพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นสินค้าหรือการค้าของผู้อื่นนั้น

                              ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ  ความผิดตามมาตรานี้เป็นความผิดอันยอมความได้”

ความผิดตามมาตรา 272(1) นี้หมายถึงการนำเอาสิ่งที่อยู่ในความหมายของคำว่า “เครื่องหมาย”ในมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ซึ่งได้แก่ ชื่อ รูป รอยประดิษฐ์ ของผู้อื่นมาใช้หรือทำให้ปรากฏที่สินค้า เพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นสินค้าของผู้อื่นนั้น ไม่ว่าจะได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวไว้หรือไม่ก็ตามรวมทั้งกรณีจดทะเบียนไว้กับสินค้าจำพวกอื่นที่ไม่ตรงกับตัวสินค้านั้นด้วย

7.3 มาตรา 275 “ผู้ใดนำเข้าในราชอาณาจักร จำหน่ายหรือเสนอจำหน่าย ซึ่งสินค้าอันเป็นสินค้าที่มีชื่อ รูป รอยประดิษฐ์หรือข้อความใด ๆ ดังบัญญัติไว้ในมาตรา ๒๗๒ (๑) ……………ต้องระวางโทษดังที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้น ๆ”

มาตรานี้ได้กำหนดความผิดและโทษไว้แก่ผู้กระทำผิดโดยอ้อม ในลักษณะการหาประโยชน์จากสินค้าอันเกิดจากการกระทำผิดตามมาตรา 272(1) ได้แก่ การนำเข้าในราชอาณาจักร การจำหน่าย หรือเสนอจำหน่าย ซึ่งสินค้าอันเป็นสินค้าที่มีชื่อ รูป หรือรอยประดิษฐ์ซึ่งเป็นสิ่งที่อยู่ในความหมายของเครื่องหมายการค้าด้วย


ที่มา: มนต์ชัย วัชรบุตร,/29 กันยายน 2558,/สิทธิในการใช้เครื่องหมายการค้า,/สืบค้นเมื่อ9 มกราคม 2563./จากเว็บไซต์ : https://www.dsi.go.th