ชิน-เอ ไฮเทค เขตอุตสาหกรรม สุร นารี

พนักงาน ‘ชินเอ ไฮเทค’ รวมตัวประท้วงนายจ้าง ยึดคืนสวัสดิการเพื่อลดรายจ่าย ทั้งยังจ้าง Sub-Contract เพิ่มขึ้น กล่าวหาจ้างนักกฎหมายเพื่อยุบสหภาพแรงงานบริษัทฯ สวัสดิการและคุ้มครองแรงงงานจังหวัดเร่งหาข้อยุติ นัดเปิดโต๊ะเจรจาทั้งสองฝ่ายอีกครั้งด้วยหลักแรงงานสัมพันธ์ หลังครั้งแรกลูกจ้างไม่เข้าร่วม


ตามที่เมื่อวันที่ ๒๖ เมษายน ๒๕๕๕ เวลา ๑๐.๐๐ น. พนักงานบริษัท ชินเอ ไฮเทค จำกัด กว่า ๑๐๐ คน จากเขตอุตสาหกรรมสุนารี และเขตประกอบการอุตสาหกรรมนวนคร นครราชสีมา ซึ่งผลิตชิ้นส่วนประกอบคอมพิวเตอร์ รวมตัวกันชุมนุมประท้วงการบริหารงานของบริษัทฯ ที่บริเวณสนามหน้าศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา เพื่อยื่นเรื่องให้นายชวน ศิรินันท์พร ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เจรจากับฝ่ายบริหารไม่ให้ดำเนินการยุบสหภาพแรงงานของบริษัท ชินเอ ไฮเทค จำกัด เพื่อเอื้อต่อการดำเนินธุรกิจด้านรายจ่าย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อพนักงานเก่าโดยตรงเกี่ยวกับสวัสดิการการทำงาน แต่เนื่องจากผู้ว่าฯ ติดภารกิจเดินทางไปต่างประเทศ เจ้าหน้าที่ของสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดนครราชสีมาจึงแจ้งให้ผู้ชุมนุมทราบว่า ขณะนี้นางอัษฎาลักษณ์ อินทรกำแหง ณ ราชสีมา สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดนครราชสีมา กำลังประชุมเพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาเรื่องนี้อยู่ 

นายจีรวัฒน์ พิทยาวิวัฒน์กุล นายทะเบียน บริษัท ชินเอ ไฮเทค จำกัด ซึ่งอยู่ระหว่างถูกคำสั่งพักงาน จากกรณีก้าวร้าวต่อผู้บริหาร เปิดเผยกับ “โคราชคนอีสาน” ว่า “พนักงานของบริษัท ชินเอ ไฮเทค จำกัด ที่ทำงานอยู่ในเขตอุตสาหกรรมสุรนารี และนวนคร นครราชสีมา รวมตัวกันตั้งแต่วันที่ ๒๔ เมษายน ๒๕๕๕ ซึ่งเข้าวันที่ ๔ ในการชุมนุมแล้ว แต่ยังไม่ได้พบผู้ว่าฯ ซึ่งเดินทางไปต่างประเทศ โดยปัญหาข้อพิพาทเกิดจากบริษัทฯ ไปจ้างนักกฎหมาย ซึ่งเป็นทนายความ คือนายวิบูลย์ แก้วกุลศรี มาทำหน้าที่ผู้จัดการฝ่ายบุคคล และดำเนินการสั่งพักงานกรรมการสหภาพแรงงานฯ จากกรณีพิพาทต่างๆ ทำให้ถูกกรรมการสหภาพแรงงานฯ และพนักงานกล่าวหาว่า ต้องการจะล้มสหภาพแรงงานนี้เพื่อเอื้อประโยชน์ในการทำธุรกิจ”

นายจีรวัฒน์ กล่าวต่อไปว่า นายวิบูลย์ดำเนินการอย่างแยบยลและเป็นรูปแบบ ซึ่งประวัติเคยทำงานในลักษณะนี้สำเร็จมาแล้วถึง ๒ สหภาพแรงงาน ซึ่งเป็นสหภาพแรงงานของบริษัท ชินเอ ไฮเทค จำกัด สาขาที่ตั้งอยู่ภายในนิคมอุตสาหกรรมโรจนะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา คือ บริษัท ซันแฟลก และบริษัทนิว เซ็นจูรี่ เท็คไทม์ โดยตั้งแต่นายวิบูลย์ได้รับการแต่งตั้งจากผู้บริหารให้เข้ามาทำหน้าที่ในบริษัทฯ เมื่อวันที่ ๒ มีนาคม ๒๕๕๕ การทำงานของลูกจ้างเป็นไปด้วยความยากลำบากมาก เกิดความวุ่นวายในการทำงาน โดยกล่าวหาว่าเหตุผลที่มาร้องเรียนในวันนี้ (๒๖ เม.ย. ๕๕) ไม่ใช่มาเพื่อข้อเรียกร้องของสหภาพแรงงานฯ แต่มาเพื่อสิ่งที่เกิดขึ้นกับบริษัทฯ และพนักงานทุกคน”

เมื่อสอบถามไปยังพนักงานบริษัทฯ ที่มารวมตัวชุมนุมรายหนึ่ง (ขอสงวนนาม) กล่าวกับ “โคราชคนอีสานว่า “เป็นเรื่องที่กระทบด้านสวัสดิการของพนักงานทุกคน เพราะบริษัทฯ จะทำการตัดสวัสดิการทิ้งไป โดยจะยึดสวัสดิการที่เคยให้กลับคืน พนักงานเก่าจะไม่มีสิทธิพิเศษกว่าพนักงานใหม่ เช่น รายได้ก็จะได้เท่ากัน ซึ่งตรงนี้ไม่ยุติธรรมกับพนักงานเก่า และโอกาสในการทำงานล่วงเวลา (Over time หรือ OT) ก็จะลดลง ซึ่งถ้าบริษัทฯ สามารถยุบสหภาพแรงงานฯ สำเร็จจะส่งผลต่อพนักงานเป็นอย่างมาก โดยขณะนี้บริษัทฯ ได้รับพนักงานประเภท Sub-Contract หรือพนักงานเสริมที่ทำงานเป็นช่วงตามสัญญา การรวมตัวกันชุมนุมครั้งนี้ถึงแม้จะส่งผลต่อการทำงานหรือตำแหน่งงาน แต่ก็คุ้มถ้าการต่อสู้แล้วได้รับชัยชนะ”

โดยกลุ่มผู้ชุมนุมในวันนี้ส่วนมากจะเป็นพนักงาน บริษัทฯ จากสาขาเขตประกอบการอุตสาหกรรมนวนคร นครราชสีมา อำเภอสูงเนิน และส่วนหนึ่งมาจากสาขาใหญ่ภายในเขตอุตสาหกรรมสุรนารี อำเภอเมืองนครราชสีมา โดยผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนมากันเป็นเวลา ๓ วันแล้ว ตั้งแต่วันที่ ๒๔-๒๖ เมษายน ซึ่งยอดผู้มาชุมนุมเฉลี่ยวันละประมาณ ๕๐๐ คน มีการกล่าวปราศรัย เล่นดนตรี ตลอดทั้งคืน และมีกลุ่มผู้ชุมนุมบางส่วนตั้งเต็นท์เป็นสถานที่พักผ่อนหลับนอนระหว่างการชุมนุม  โดยในช่วงเช้าของวันที่ ๒๖ เมษายน เกิดเหตุการณ์ข้อพิพาทอีกครั้งที่เขตอุตสาหกรรมสุรนารี เมื่อบริษัท ชินเอ ไฮเทค จำกัด ไม่เปิดประตูให้พนักงานออกมาชุมนุมประท้วงที่บริเวณสนามหน้าศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา ถึงขั้นต้องเปิดการเจรจา โดยมีตัวแทนนายจ้าง ลูกจ้าง เจ้าหน้าที่ตำรวจในท้องที่ พนักงานของบริษัทฯ รวมทั้งเจ้าหน้าที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดนครราชสีมาร่วมประนีประนอมด้วย   

นางชมมณี ศรีไชยรัตน์ นิติกรชำนาญการ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรง งานฯ พยายามเจรจาให้ทั้งสองฝ่ายตกลงกันให้ได้โดยเร็วที่สุด ขณะนี้มีการดูแลกลุ่มผู้ชุมนุมอย่างใกล้ชิด ซึ่งข้อพิพาทที่เกิดขึ้นนั้นทั้งนายจ้างและลูกจ้างต่างมีข้ออ้างทั้งสองฝ่าย ซึ่งยังคงถกเถียงกันอยู่ โดยจะมีการนัดเจรจาไกล่เกลี่ยในวันที่ ๒๗ เมษายนนี้ เวลา ๑๓.๓๐ น. ที่สำนักงานแรงงานจังหวัดนครราชสีมา โดยจะมีพนักงานประนอมข้อพิพาทของสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดนครราชสีมาเข้าไกล่เกลี่ยด้วย”

ความคืบหน้าเมื่อวันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๕๕ นาง อัษฎาลักษณ์ อินทรกำแหง ณ ราชสีมา สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผย “โคราชคนอีสาน” ว่า “ขณะนี้กำลังอยู่ในช่วงที่ทำการเจรจาตกลงระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง ซึ่งเมื่อวันที่ ๒๗ เมษายนที่ผ่านมา มีการนัดเจรจาไกล่เกลี่ยกันที่สำนักงานแรงงานจังหวัดนครราชสีมา แต่ฝ่ายลูกจ้างไม่ได้เข้าร่วมเจรจาด้วย พนักงานประนอมข้อพิพาทฯ จึงนัดเจรจาอีกครั้งในวันที่ ๒ พฤษภาคมที่จะถึงนี้ ซึ่งเป็นฝ่ายนายจ้างที่ขอให้นัดเจรจาในครั้งนี้ โดยพนักงานประนอมข้อพิพาทฯ จะทำการประสานงานกับฝ่ายลูกจ้างต่อไป โดยสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดนครราชสีมาจะพยายามหาข้อยุติของเรื่องนี้ โดยใช้หลักแรงงานสัมพันธ์เพื่อให้เกิดความสมานฉันท์ แต่ก็ต้องใช้ระยะเวลาช่วงหนึ่งเพื่อให้เรื่องคลี่คลายไปด้วยดี”

อนึ่ง บริษัท ชินเอ ไฮเทค จำกัด ตั้งฐานการผลิตชิ้นส่วนประกอบคอมพิวเตอร์ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ๒ แห่ง คือ ที่เขตอุตสาหกรรมสุรนารี มีพนักงานประมาณ ๑,๒๐๐ คน และเขตประกอบการอุตสาหกรรมนวนคร นครราชสีมา มีพนักงานประมาณ ๑,๘๐๐ คน ส่วนฐานการผลิตที่นิคมอุตสาหกรรมโรจนะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีพนักงานประมาณ ๘๐๐ คน โดยสหภาพแรงงานชินเอ ไฮ-เทค จดทะเบียนสหภาพประเภทนายจ้างคนเดียวกัน ระดับเดียวกัน เหตุการณ์ข้อพิพาทระหว่างพนักงานและบริษัทฯ สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ ๒ เมษายน ๒๕๕๕ สหภาพแรงงานฯ ยื่นข้อเรียกร้องต่อบริษัทฯ ขอเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง ๓๕ ข้อ ต่อมาวันที่ ๓ เมษายน บริษัทฯ ยื่นข้อเรียกร้องสวนทาง ให้ตรวจสอบคุณสมบัติของสมาชิกสหภาพฯ ว่า เป็นลูกจ้างระดับพนักงานหรือไม่ กระทั่งวันที่ ๔ เมษายน ทั้งสองฝ่ายเจรจาไม่สามารถตกลงกันได้ จากนั้นเมื่อวันที่ ๑๐ เมษายน สหภาพแรงงานฯ จึงแจ้งเป็นข้อพิพาทแรงงานต่อนายจ้างและพนักงานประนอมข้อพิพาท แต่ต่อมาทั้งสองฝ่ายก็ไม่สามารถเจรจาตกลงกันได้ จึงนำมาซึ่งการชุมนุมเรียกร้องดังกล่าวของพนักงาน