มาตรา 86 แห่งประมวลรัษฎากร

เลขที่หนังสือ

กค 0702/6659

ข้อกฎหมาย

มาตรา 86/4 มาตรา 86/4 (3) มาตรา 86/6 และมาตรา 90(12) แห่งประมวลรัษฎากร

ข้อหารือ

          บริษัท ส. จำกัด (บริษัทฯ) หารือเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการออกใบกำกับภาษีอย่างย่อตามมาตรา 86/6 แห่งประมวลรัษฎากร โดยมีข้อเท็จจริงว่า บริษัทฯ เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ประกอบกิจการผลิต จำหน่ายวุ้นเส้น แป้งถั่วเขียว ทั้งค้าส่งและค้าปลีก สินค้าที่ผลิตจะมีรูปลักษณ์และขนาดบรรจุหลายแบบให้เหมาะสมกับการใช้งานของผู้บริโภคในแต่ละโอกาส โดยสินค้าที่ขายจะมีการบรรจุเป็นห่อย่อยๆ รวมบรรจุเป็นกล่องเพื่อสะดวกในการขนส่ง น้ำหนักต่อกล่องขึ้นอยู่กับความต้องการของลูกค้าแต่ละรายไม่เท่ากัน ตัวอย่าง-วุ้นเส้นขนาด 500 กรัม กล่องละ 10 กิโลกรัม ประกอบด้วยห่อย่อยๆ 20 ห่อต่อกล่อง - วุ้นเส้นขนาด 160 กรัม กล่องละ 9.6 กิโลกรัม ประกอบด้วยห่อย่อยๆ 60 ห่อต่อกล่อง - วุ้นเส้นขนาด 80 กรัม กล่องละ 9.6 กิโลกรัม ประกอบด้วยห่อย่อยๆ 120 ห่อต่อกล่อง - วุ้นเส้นขนาด 40 กรัม กล่องละ 9.6 กิโลกรัม ประกอบด้วยห่อย่อยๆ 240 ห่อต่อกล่อง การขายส่งจะขายไปตามร้านค้าส่ง ร้านค้าปลีก (ร้านแผงลอย , ร้านสะดวกซื้อ และห้างสรรพสินค้าทั่วไป) การขายส่งดังกล่าวจะขายเป็นกล่องให้ลูกค้าเพื่อนำไปขายส่งต่อ หรือขายปลีกให้ผู้บริโภคต่อไป ส่วนการขายปลีกจะขายให้ผู้บริโภคโดยตรง เช่น การออกงานแสดงสินค้าและงานเทศกาลต่างๆ การขายหน่วยรถเงินสดที่ทำกิจกรรมแนะนำสินค้าในพื้นที่ที่มียอดขายน้อยและการขายสินค้าให้พนักงาน ณ สถานที่ทำงาน การขายปลีกดังกล่าวจะแบ่งขายเป็นห่อย่อยๆ ในจำนวน 1-100 ห่อ ให้ผู้ซื้อซึ่งเป็นผู้บริโภคโดยตรง บริษัทฯ จึงขอทราบว่า บริษัทฯ สามารถออกใบกำกับภาษีอย่างย่อสำหรับการขายปลีกได้หรือไม่

แนววินิจฉัย

          

1.กรณีบริษัทฯ ขายวุ้นเส้น แป้งถั่วเขียวดังกล่าว หากเป็นการขายที่บริษัทฯ ทราบโดยชัดแจ้งว่า เป็นการขายให้แก่ผู้ซื้อซึ่งเป็นผู้บริโภคโดยตรง และได้ขายในปริมาณซึ่งตามปกติวิสัยของผู้บริโภคนั้นจะนำสินค้าไปบริโภค หรือใช้สอยโดยมิได้มีวัตถุประสงค์ที่จะนำไปขายต่อไปจึงเข้าลักษณะเป็นการประกอบกิจการขายสินค้าในลักษณะขายปลีกซึ่งเป็นกิจการค้าปลีกตามมาตรา 86/6 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2(1) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 32) เรื่อง กำหนดลักษณะ และเงื่อนไขของการประกอบกิจการขายสินค้าในลักษณะขายปลีกหรือประกอบกิจการให้บริการในลักษณะบริการรายย่อยแก่บุคคลจำนวนมาก ให้เป็นกิจการค้าปลีกตามมาตรา 86/6 แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2535 บริษัทฯ มีสิทธิออกใบกำกับภาษีอย่างย่อซึ่งต้องมีรายการอย่างน้อยตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 86/6 แห่งประมวลรัษฎากร

          2.กรณีบริษัทฯ ขายส่งวุ้นเส้น แป้งถั่วเขียวในลักษณะขายส่ง บริษัทฯ จะต้องออกใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปเท่านั้น ซึ่งต้องมีรายการอย่างน้อยตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร หากบริษัทฯ ออกใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปโดยไม่ระบุชื่อที่อยู่ของผู้ซื้อสินค้า ตามมาตรา 86/4(3) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองพันบาท ทั้งนี้ ตามมาตรา 90(12) แห่งประมวลรัษฎากร

วันที่เอกสาร

20 มีนาคม 2543

เลขที่หนังสือ

กค 0811/2154

ข้อกฎหมาย

มาตรา 86/4, คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.86/2542 ฯ

ข้อหารือ

กรณีบริษัท อ. จำกัด ได้ออกใบกำกับภาษีให้แก่บริษัท จ. (ประเทศไทย) จำกัด ตั้งแต่
เดือนพฤษภาคม 2541 เป็นต้นไป ต่อมาบริษัทฯได้รับแจ้งว่า ชื่อที่ถูกต้องตามที่ได้จดทะเบียน
ภาษีมูลค่าเพิ่มตามแบบ ภ.พ.20 คือ “บริษัท จ. (ไทยแลนด์) จำกัด” จึงหารือว่า คำว่า “
ประเทศไทย” และ “ไทยแลนด์” เป็นสาระสำคัญในใบกำกับภาษีหรือไม่และอนุโลมให้นำใบกำกับภาษี
ดังกล่าวไปถือเป็นภาษีซื้อได้หรือไม่ นอกจากนี้ หากบริษัทฯระบุชื่อลูกค้าโดยมีการเว้นวรรค แสดง
เครื่องหมาย จุด หรือลูกน้ำ ไม่ถูกต้องตามที่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ ถือเป็นสาระสำคัญหรือไม่
และอนุโลมให้นำใบกำกับภาษีดังกล่าวไปถือเป็นภาษีซื้อได้หรือไม่

แนววินิจฉัย

1. กรณีบริษัท อ. จำกัด ออกใบกำกับภาษีให้แก่ลูกค้า ซึ่งมีชื่อตามที่ได้จดทะเบียน
ภาษีมูลค่าเพิ่มตามแบบ ภ.พ.20 ว่า “บริษัท จ. (ไทยแลนด์) จำกัด” แต่บริษัทฯ ได้ระบุชื่อลูกค้าว่า “
บริษัท จ. (ประเทศไทย) จำกัด”ซึ่งเป็นที่เห็นได้อย่างชัดเจนว่าไม่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่าเป็น
ผู้ประกอบการรายอื่น ทั้งนี้ ตามมาตรา 86/4(3) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 4(3) ของ
คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.86/2542 เรื่อง หลักเกณฑ์การจัดทำใบกำกับภาษี ตามมาตรา 86/4 และ
มาตรา 86/5 แห่งประมวลรัษฎากร เฉพาะที่มีลักษณะเป็นแบบเต็มรูป ลงวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ.
2542 ดังนั้น หากใบกำกับภาษีมีรายการอื่นถูกต้องครบถ้วนตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร
บริษัท จ. (ไทยแลนด์) จำกัด มีสิทธินำใบกำกับภาษีดังกล่าวไปถือเป็นภาษีซื้อในการคำนวณ
ภาษีมูลค่าเพิ่มได้แต่การออกใบกำกับภาษีในคราวต่อไป บริษัทฯต้องระบุชื่อลูกค้าตามที่ได้จดทะเบียน
ภาษีมูลค่าเพิ่ม
2. กรณีบริษัทฯ ระบุชื่อผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการโดยตัวสะกด สระ วรรณยุกต์ การันต์
ผิดพลาด แต่เป็นที่เห็นได้อย่างชัดเจนโดยไม่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่าเป็นผู้ประกอบการรายอื่น ถือว่า
บริษัทฯระบุชื่อครบถ้วนแล้ว ตามมาตรา 86/4(3) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 4(3) ของ
คำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.86/2542 เรื่องหลักเกณฑ์ การจัดทำใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4 และ
มาตรา 86/5 แห่งประมวลรัษฎากร เฉพาะ ที่มีลักษณะเป็นแบบเต็มรูป ลงวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ.
2542

กรมสรรพากรแก้ไขล่าสุด

22 พฤษภาคม 2563